การปฏิวัติฝรั่งเศส
การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793 | |
วันที่ | 5 พฤษภาคม 1789 – 9 พฤศจิกายน 1799 (10 ปี 6 เดือน 4 วัน) |
---|---|
ผล |
|
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ |
---|
ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส |
หัวเรื่อง |
เส้นเวลา |
สถานีย่อยประเทศฝรั่งเศส |
การปฏิวัติฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Révolution française เรวอลูว์ซียง ฟร็องเซ) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 เมื่อกองกำลังร่วมกันล้มล้างระบอบเก่าเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ นำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลาชั่วคราว และแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ถูกล้มล้างโดยสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 ราชอาณาจักรฝรั่งเศสแปรสภาพเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง ตามด้วยการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1793 และความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนานหลายปี ความวุ่นวายเหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อนายพลนโปเลียนได้ก่อรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ และตั้งตนเองเป็นกงสุลเอกเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 หลักการหลายประการในปัจจุบันได้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมสมัยใหม่
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1700 และ ค.ศ. 1789 ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ขยายตัวจาก 18 ล้านคนเป็น 26 ล้านคน นำไปสู่คนว่างงานจำนวนมาก พร้อมกับการเพิ่มขึ้นราคาสิ้นค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดมาจากการเก็บเกี่ยวที่แย่มาหลายปี ความทุกข์ยากทางสังคมได้กว้างขวางอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การเรียกประชุมสภาฐานันดรในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1614 ในเดือนมิถุนายน สภาฐานันดรถูกแปรสภาพเป็นสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งทำการขจัดจารีตและรอบอบที่มีอยู่เดิมด้วยมาตรการที่รุนแรง ไม่ว่าการยกเลิกระบอบศักดินาสวามิภักดิ์, การยกเลิกสิทธิ์พิเศษของนักบวช, การยึดศาสนสถานคาทอลิกเป็นของรัฐ, การบังคับให้นักบวชคือผู้ที่รับเงินเดือนจากรัฐ, การให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ชายฝรั่งเศสถ้วนหน้า เป็นต้น
ประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น ออสเตรีย, บริเตนใหญ่ และปรัสเซีย มองว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศสเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ของตนเอง จึงรวมหัวกันกดดันคณะปฏิวัติฝรั่งเศสให้ทำการปล่อยตัวพระเจ้าหลุยส์ แต่ก็ไม่เป็นผล คณะปฏิวัติฝรั่งเศสประหารพระเจ้าหลุยส์ ก่อตั้งสาธารณรัฐที่หนึ่ง และประกาศสงครามกับต่างประเทศ
ในช่วงต้นของการปฏิวัติ อำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ รวมอยู่ในองค์กรเดียวที่ชื่อว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มฌีรงแด็ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มฌีรงแด็งดำเนินนโยบายหลายประการซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน ท้ายที่สุด กลุ่มฌีรงแด็งก็ไม่เหลือพันธมิตร กองกำลังประชาชนร่วมกับนักการเมืองกลุ่มลามงตาญ จึงร่วมมือกันโค่นล้มกลุ่มฌีรงแด็งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1793 เมื่อกลุ่มลามงตาญครองอำนาจก็เข้าสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวภายใต้การนำของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ รัฐธรรมนูญถูกระงับใช้ คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งในสมัยดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาหรือต้องสงสัยว่า "ต่อต้านการปฏิวัติ" จะถูกจับกุมขึ้นศาลอาญาปฏิวัติ และถูกจำคุกหรือถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน
ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเศษที่รอแบ็สปีแยร์ครองอำนาจ มีผู้ถูกประหารชีวิตกว่า 16,000 รายในกรุงปารีสและต่างจังหวัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ปฏิกิริยาเดือนแตร์มีดอร์" ที่นักการเมืองรวมหัวกันออกมติปลดรอแบ็สปีแยร์กลางสภา และออกมติให้จับกุมรอแบ็สปีแยร์และพวก ถือเป็นสิ้นจุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว หลังจากนั้น สภาก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ค.ศ. 1795 ซึ่งแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ออกจากกัน ฝ่ายบริหารมีชื่อว่าคณะดีแร็กตัวร์ แม้ว่าคณะดีแร็กตัวร์ประสบความสำเร็จทางทหาร แต่ต้นทุนสงครามก็ได้นำไปสู่ความซบเซาทางเศรษฐกิจและความแตกแยกภายในประเทศ และแล้วคณะดีแร็กตัวร์ก็ถูกรัฐประหารโดยนายพลนโปเลียน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดสิ้นสุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส
สัญลักษณ์ของการปฏิวัติมากมาย เช่นเพลง ลามาร์แซแยซ และวลี "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" (Liberté, égalité, fraternité) ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในการปฏิวัติอื่น ๆ เช่น การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 ในอีกสองศตวรรษข้างหน้า หลักการสำคัญ เช่น ความเท่าเทียม จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มีการรณรงค์เพื่อการเลิกทาสและสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ค่านิยมและสถาบันนั้นมีอิทธิพลต่อการเมืองฝรั่งเศสจนถึงทุกวันนี้ และนักประวัติศาสตร์หลายคนได้ถือว่า การปฏิวัติเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์
สาเหตุ
[แก้]มูลเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศสมีความซับซ้อนและยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ชี้ไปที่เหตุการณ์ และปัจจัยภายในต่าง ๆ ของระบอบเก่า (Ancien Régime) จำนวนหนึ่งว่าเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจรวมถึงความหิวโหยและทุพโภชนาการในประชากรกลุ่มที่ยากแค้นที่สุด อันเนื่องมาจากราคาขนมปังที่สูงขึ้น หลังจากการเก็บเกี่ยวธัญพืชที่ให้ผลไม่ดีหลายปีติดต่อกัน ซึ่งบางส่วนเกิดจากสภาพอากาศผิดปกติจากสภาพความหนาวเย็นผิดฤดู ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมของภูเขาไฟที่ลากีและกริมสวอทน์ใน 1783-1784 ประกอบกับราคาอาหารที่สูงขึ้น และระบบการขนส่งที่ไม่เพียงพอซึ่งขัดขวางการส่งสินค้าอาหารปริมาณมากจากพื้นที่ชนบทไปยังศูนย์กลางประชากรขนาดใหญ่ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้สังคมฝรั่งเศสขาดเสถียรภาพในช่วงก่อนการปฏิวัติอย่างยิ่ง[1][2]
สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ภาวะใกล้จะล้มละลายของรัฐบาลจากค่าใช้จ่ายในสงครามที่ฝรั่งเศสเข้าร่วมรบจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกา สงครามใหญ่เหล่านี้ก่อหนี้จำนวนมหาศาลให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากการสูญเสียการครอบครองพื้นที่อาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ และการครอบงำทางพาณิชย์ของบริเตนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งระบบการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพและล้าสมัยของฝรั่งเศสก็ไม่สามารถจัดการกับหนี้สาธารณะได้ ทางรัฐบาลพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ลักษณะการเก็บภาษีเป็นแบบถดถอย (regressive) กล่าวคือยิ่งมีรายได้มากภาระการจ่ายภาษียิ่งลดลง วิธีการเก็บภาษีดังกล่าวนอกจากจะล้าสมัยแล้ว ยังทวีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก[3][4] เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการคลังเช่นนี้ กษัตริย์ฝรั่งเศสจึงทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรขึ้นตามคำแนะนำของสภาอภิชนในปี 1787
สำหรับปัจจัยทางการเมือง เยือร์เกิน ฮาเบอร์มาส นักปรัชญาชาวเยอรมันอธิบายว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของ "พื้นที่สาธารณะ" ที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสและยุโรปในช่วง ศ.ที่หนึ่ง8[5] โดยก่อนหน้านี้ (ศตวรรษที่หนึ่ง7) ฝรั่งเศสมีจารีตประเพณีการปกครองที่แยกชนชั้นปกครองออกจากชนชั้นที่ถูกปกครองอย่างชัดเจน ฝ่ายชนชั้นปกครองของฝรั่งเศสเป็นผู้ยึดกุมพื้นที่สาธารณะอย่างสิ้นเชิง และมุ่งจะแสดงออกถึงอำนาจทางการเมืองผ่านทางวัตถุ โดยการสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะที่ใหญ่โต หรูหรา และมีราคาแพง[6] เช่น พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งถูกสร้างให้อาคันตุกะต้องมนต์ของความงดงามอลังการ และเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจที่เกรียงไกรของราชอาณาจักรฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่พอถึงศตวรรษที่ 18 ประชาชนเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การรู้หนังสือในหมู่ราษฎรมีเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจเอกสารสิ่งพิมพ์มีความคึกคัก มีการพบปะพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นและข่าวสารตามร้านกาแฟ ร้านหนังสือพิมพ์ และโรงช่างฝีมือในกรุงปารีส จนเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะนอกการควบคุมของรัฐ และมีศูนย์กลางอยู่ที่ปารีสแทนที่จะเป็นแวร์ซาย[7] กรณีพิพาทบูฟง (Querelle des Bouffons) ในปี 1750 เป็นเหตุการณ์แรก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความเห็นของสาธารณะมีความสำคัญ แม้แต่ในเรื่องรสนิยมทางดนตรีซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นสูง หลังจากนั้นความเชื่อว่าทัศนะของสาธารณชน (แทนที่จะเป็นราชสำนัก) มีสิทธิที่จะตัดสินปัญหาทางวัฒนธรรมก็พัฒนาไปสู่ความต้องการของสาธารณะที่จะชี้ขาดปัญหาทางการเมืองในเวลาต่อมา
เหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติ
[แก้]วิกฤติการคลัง
[แก้]ปี 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชบัลลังก์ท่ามกลางวิกฤติการคลัง ฝรั่งเศสประสบภาวะขาดดุลงบประมาณติดต่อกันจนรัฐบาลเกือบล้มละลาย[8] ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีส่วนในสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกา[9] ขุนคลังเอก ฌัก ตูร์โก (Jacques Turgot) พยายามแก้ปัญหาได้บ้าง แต่เนื่องจากไปแตะเรื่องเอกสิทธิ์มากเกินไปจึงถูกพวกในราชสำนักรวมหัวบีบให้เขาลาออกเมื่อพฤษภาคม 1776 จนกระทั่งในปีต่อมา ฌัก แนแกร์ (Jacques Necker) นายธนาคารชาวสวิสได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการพระคลังหลวง เนื่องจากแนแกร์นับถือโปรเตสแตนท์ ขณะที่ราชสำนักฝรั่งเศสนับถือโรมันคาทอลิก แนแกร์จึงดำรงตำแหน่งขุนคลังเอกเต็มตัวไม่ได้[10]
แนแกร์ตระหนักดีว่าระบบอัตราภาษีแบบถดถอยสร้างภาระหนักหนาต่อชนชั้นล่างเกินไป[10] ขุนนางและพระได้รับการยกเว้นภาษีมากมายไปหมด[11] แนแกร์เห็นว่าประเทศไม่สามารถเก็บเพิ่มอัตราภาษีสูงกว่านี้แล้ว ควรลดรายการภาษีที่ได้รับการยกเว้นของขุนนางและพระ และยังเสนอให้ราชสำนักทำการกู้เงินเพื่อผ่านวิกฤติการคลังครั้งนี้ เขาตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งเพื่อสนับสนุนความคิดนี้ และเสนอให้ลดอำนาจของกลุ่มสภาอำมาตย์ที่เรียกว่า ปาร์เลอมง (Parlements)[10] สภาอำมาตย์เหล่านี้มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินคดีความต่างๆ และยังมีอำนาจรับรองนโยบายของรัฐบาลให้เป็นกฎหมาย
นโยบายการปฏิรูปของแนแกร์ถูกต่อต้านและขัดขวางโดยราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ แนแกร์ต้องการตำแหน่งนี้สูงกว่านี้ และร้องขอให้ทรงแต่งตั้งเขาเป็นขุนคลังเอกเต็มตัว พระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิเสธ ท้ายที่สุด แนแกร์จึงลาออกในเดือนพฤษภาคม 1781 จนกระทั่งราชสำนักได้มือดีอย่างอาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน (Calonne) มาในปี 1783[10] ในช่วงแรกกาลอนมีท่าทีใจกว้างต่อราชสำนัก แต่ไม่นานเขาก็ตระหนักถึงสถานการณ์ความเลวร้ายทางด้านการคลัง และเสนอประมวลกฎหมายภาษีฉบับใหม่[12] เนื่องจากร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่จะทำให้ขุนนางและพระเสียภาษีที่ดิน จึงตกเป็นที่ต่อต้านโดยสภาอำมาตย์ กาลอนนำเรื่องเข้าสภาอภิชนแต่ถูกต่อต้านและทำให้ตัวกาลอนตกอยู่ในสถานะลำบากเสียเอง เหล่าขุนนางเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วย ดังนั้นสภาที่ควรจะตัดสินเรื่องนี้จึงควรเป็นสภาฐานันดร (États généraux)
กาลอนตัดสินใจลาออกในเดือนพฤษภาคม 1787 และผู้มาแทนที่คือบรีแยน (Brienne) ร่างกฎหมายที่บรีแยนเสนอต่อสภาอภิชน (Assemblée des notables) นั้นแทบไม่แตกต่างจากของกาลอนเลย ต่างแต่มีการยกเว้นภาษีเหนือที่ดินโบสถ์เท่านั้น แน่นอนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกโดยสภาอภิชน บรีแยนพยายามอุทธรณ์ร่างกฎหมายนี้ไปยังสภาอำมาตย์ปารีส แม้ว่าสภาอำมาตย์ปารีสเห็นชอบในหลักการ แต่ก็พูดเหมือนสภาอภิชนว่ามีเพียงสภาฐานันดรเท่านั้นที่มีอำนาจผ่านร่างกฎหมายที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดนี้
ในเดือนสิงหาคม 1788 พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกแนแกร์มารับตำแหน่งในราชสำนัก เชื่อกันว่าพระนางมารีอ็องตัวแน็ตมีส่วนช่วยให้แนแกร์กลับมามีอำนาจ[13] แนแกร์ยืนกรานขอตำแหน่งขุนคลังเอก (Contrôleur général des finances) พระเจ้าหลุยส์ทรงยอมตาม และยังตั้งแนแกร์เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี)
การประชุมสภาฐานันดร
[แก้]สภาฐานันดรประกอบด้วยผู้แทนจากสามชนชั้นได้แก่ พระสงฆ์, ขุนนาง และไพร่ ในวันที่ 24 มกราคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาฐานันดรอย่างเป็นทางการ (การประชุมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1614) จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนชนชั้นไพร่ในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนคือชายชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นผู้พำนักในท้องที่ในวันเวลาเลือกตั้งและต้องเป็นผู้มีประวัติการเสียภาษี
สภาฐานันดรประกอบด้วยสมาชิก 1,201 คน มาจากชนชั้นพระสงฆ์ 303 คน, ชนชั้นขุนนาง 291 คน, และชนชั้นไพร่ 610 คน ฐานันดรที่หนึ่งเป็นผู้แทนของพระสงฆ์และนักบวชราวหนึ่งแสนคนทั่วฝรั่งเศส ศาสนจักรถือกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินราว 10% ของประเทศ และยังได้สิทธิ์จัดเก็บภาษีจากชาวไร่ที่ใช้ประโยชน์เหนือที่ดิน ที่ดินเหล่านี้ถูกควบคุมโดยเหล่ามุขนายกและอธิการอาราม[14] ฐานันดรที่สองเป็นผู้แทนของขุนนางซึ่งมีจำนวนราวสี่แสนคน ชนชั้นขุนนางถือกรรมสิทธิ์ที่ดินราว 25% ของประเทศ และได้รับสิ่งบรรณาการและค่าเช่าจากชาวไร่เป็นการตอบแทน ฐานันดรที่สามเป็นผู้แทนของไพร่ซึ่งมีจำนวนราว 28 ล้านคน กว่าครึ่งของผู้แทนฐานันดรที่สามเป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือนักกฎหมายผู้มีการศึกษา[15][16]
พิธีเปิดประชุมจัดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายในวันที่ 5 พฤษภาคม 1789 ที่ประชุมเสนอให้ใช้ระบบลงคะแนนทั้งสภามีเพียงสามเสียง แต่ละฐานันดรมีเพียงหนึ่งเสียง นั่นทำให้ฐานันดรที่สามที่แม้จะมีจำนวนสมาชิกมากสุด แต่กลับมีสิทธิ์ออกเสียงเพียงหนึ่งในสามของสภา วิธีการลงคะแนนนี้ทำให้ฐานันดรที่สามไม่มีทางชนะสองฐานันดรแรก ผู้แทนฐานันดรที่สามชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมดังกล่าวและเสนอให้ลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงแทน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้แทนฐานันดรที่สามไม่พอใจอย่างมากจึงถอนตัวจากการประชุมและไปตั้งสภาของตนเองแยกต่างหาก
ชนชั้นไพร่จัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ
[แก้]กลุ่มผู้แทนฐานันดรที่สามรวมตัวกันที่โถงเดตาต์ในพระราชวังแวร์ซายเพื่อจัดตั้งสภาใหม่ที่เรียกว่า สมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) พวกเขาร่วมกันประกาศคำยืนยันอำนาจที่เป็นอิสระจากองค์กรอื่น และประกาศว่าสภาของตนเท่านั้นที่มีอำนาจตราหรือแก้ไขกฎหมายภาษี เนื่องจากไม่ไว้วางใจการทำงานของราชสำนักที่สนับสนุนแต่นักบวชและขุนนาง สมัชชาแห่งชาติประกาศยกเว้นการเก็บภาษีเป็นการชั่วคราว เหล่านายทุนเกิดความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนสมัชชาแห่งชาติ
พระเจ้าหลุยส์ไม่พอใจ จึงบัญชาให้ทหารหลวงปิดโถงเดตาต์ สถานที่ใช้ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ และในเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เหล่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่างตกตะลึงเมื่อพบว่าห้องโถงถูกลงกลอนและเฝ้ายามโดยทหารหลวง พวกเขาจึงพากันไปรวมตัวที่สนามเฌอเดอโปมและร่วมกันประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิสไว้ว่า "จะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่าธรรมนูญแห่งอาณาจักรจะถูกตราขึ้น"[17] ความพยายามของพระเจ้าหลุยส์ที่จะให้สภานี้เป็นโมฆะประสบความล้มเหลว พระองค์เริ่มยอมรับอำนาจของสมัชชาแห่งชาติในวันที่ 27 มิถุนายน[18] สมัชชาแห่งชาติได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวปารีสและเมืองอื่นๆของฝรั่งเศส[19]
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงยอมรับสถานะของสมัชชาแห่งชาติ ทรงขอให้อีกสองฐานันดรเข้าร่วมประชุมกับสมัชชาแห่งชาติ ไม่นานหลังจากนั้น เกินครึ่งของฐานันดรที่หนึ่งก็ยอมเข้าร่วมประชุมกับสมัชชาแห่งชาติ ขณะที่ผู้แทนฐานันดรที่สองยอมเข้าร่วมเพียง 47 คน ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมัชชาแห่งชาติถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (Assemblée nationale constituante) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในองค์กรเดียว[18]
เหตุการณ์ช่วงต้นการปฏิวัติ
[แก้]การทลายคุกบัสตีย์
[แก้]พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้รับแรงกดดันอีกครั้งจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นมเหสี และเคานต์แห่งอาร์ตัว (Comte d'Artois) ผู้เป็นอนุชา (ต่อมาคือพระเจ้าชาร์ลที่ 10) พระเจ้าหลุยส์จ้างกองทหารต่างชาติเข้ามาประจำการในกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซาย นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ยังทรงปลดฌัก แนแกร์ (ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของฐานันดรที่สาม) ลงจากตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม 1789 กองทัพหลวงฝรั่งเศสมีทหารรับจ้างต่างชาติอย่างสวิสและเยอรมันประจำการอยู่ในสัดส่วนที่ไม่น้อยเลย เนื่องจากราชสำนักมองว่าทหารต่างชาติสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าทหารฝรั่งเศส ในการลงมือกับคนชาติเดียวกัน[20] ในเดือนกรกฎาคม 1789 คาดว่าทหารต่างชาติที่ตรึงกำลังในปารีสและแวร์ซายนี้มีจำนวนถึง 25,000 นาย[21]
ข่าวการปลดแนแกร์สะพัดทั่วกรุงปารีสในบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม ชาวปารีสรู้สึกเดือดดาล มองว่านี่คือการก่อรัฐประหารเงียบโดยกลุ่มอำนาจเก่า นอกจากนี้ การที่ทหารหลวงตรึงกำลังในหลายจุด ทั้งที่วังแวร์ซาย, ลานช็องเดอมาร์ส และแซ็ง-เดอนี ทำให้ประชาชนมองว่าพระเจ้าหลุยส์คิดจะใช้กำลังทหารล้มล้างสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ประชาชนชาวปารีสนับหมื่นออกมาชุมนุมกันที่ลานหน้าพระราชวังหลวง นักสื่อสารมวลชนกามีย์ เดมูแล็ง (Desmoulins) ประกาศว่า: "ราษฎรทั้งหลาย! จะมัวเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว สำหรับผู้รักชาติ การปลดแนแกร์มันก็คือเสียงระฆังลางร้ายของวันเซนต์บาโทโลมิวนี่เอง คืนนี้ ทหารสวิสและเยอรมันทั้งหมดจะเคลื่อนพลออกจากลานช็องเดอมาร์สมาฆ่าพวกเราตายหมด ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ คือจับอาวุธ!"[22]
เช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ชาวเมืองปารีสบุกเข้าไปยังออแตลเดแซ็งวาลีด (Hôtel des Invalides) คลังแสงของกองทัพ และยึดปืนยาวราว 30,000 กระบอกแต่ไม่มีกระสุนและดินปืน ผู้ดูแลออแตลเดแซ็งวาลีดสั่งให้ขนดินปืน 250 ถังไปเก็บไว้ที่คุกบัสตีย์ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นแล้ว[23] ชาวเมืองจึงพากันไปชุมนุมรอบคุกบัสตีย์ในช่วงสาย พวกเขายื่นคำขาดให้คุกยอมจำนน ให้คุกรื้อถอนปืนใหญ่บนกำแพงและมอบอาวุธและดินปืนทั้งหมดแก่กองกำลังประชาชน[23] เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธจนถึงเวลา 17:30 นาฬิกาก็สามารถปลดสะพานข้ามคูลงมาได้[24] ประชาชนจึงกรูเข้าไปในคุกเพื่อเอาอาวุธและดินปืน และพากันกลับไปตั้งมั่นที่ออแตลเดแซ็งวาลีด กองทหารต่างชาติซึ่งตรึงกำลังที่ช็องเดอมาร์สไม่ได้เข้าแทรกแซงแต่ประการใดเลย
ประชาชนตั้งนครบาลปารีส
[แก้]เช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ทราบข่าวการทลายคุกจากดยุกเดอลาโรฌฟูโก ทรงถามดยุกว่า "เขาจะกบฏกันเหรอ?" ดยุกตอบว่า "มิใช่พะยะค่ะ มิใช่การกบฏ แต่เป็นการปฏิวัติ"[25] พระเจ้าหลุยส์กลัวความรุนแรงจากฝูงชน จึงทรงแต่งตั้งวีรบุรุษสงครามปฏิวัติอเมริกาอย่างนายพล เดอ ลา ฟาแย็ต เป็นผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ (Garde Nationale) เพื่อรักษาความเป็นระเบียบภายใต้อำนาจสภา อีกด้านหนึ่ง ผู้แทนชาวปารีส 144 คนนำโดยฌ็อง ซีลแว็ง บายี[26] จัดตั้งคณะปกครองกรุงปารีสที่ชื่อว่านครบาลปารีส (Commune de Paris) โดยยินยอมจะเชื่อฟังสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกแนแกร์มาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม แนแกร์ได้พบกับประชาชนที่ออแตลเดอวีล (l'Hôtel de Ville) ซึ่งถูกประดับไปด้วยธงไตรรงค์ แดง-ขาว-น้ำเงิน วันเดียวกันนั้น เคานต์แห่งอาร์ตัวก็ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ถือเป็นพระญาติองค์แรก ๆ ที่หนีออกนอกประเทศในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์เสด็จเยือนปารีสพร้อมสมาชิกสภานับร้อยคนในวันที่ 17 กรกฎาคม พระองค์ยอมรับธงไตรรงค์เป็นธงชาติฝรั่งเศส เกิดความสมานฉันท์ขึ้นชั่วคราว พระองค์ได้รับยกย่องเป็น หลุยส์ที่ 16 พระบิดาแห่งฝรั่งเศสและกษัตริย์แห่งเสรีชน[27]
ในเดือนสิงหาคม แอมานุแอล โฌแซ็ฟ ซีเยแย็ส กับออนอเร มีราโบ เป็นบุคคลหลักที่ยกร่างประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ซึ่งปรับเอาจากต้นร่างของนายพล เดอ ลา ฟาแย็ต กับทอมัส เจฟเฟอร์สัน ประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเมื่อ 26 สิงหาคม 1789 มาตราที่หนึ่งบัญญัติว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์มหาชนร่วมกันเท่านั้น”[28]
การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย
[แก้]5 ตุลาคม 1789 ชาวปารีสราว 7,000-9,000 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรี เดินขบวนจากปารีสไปยังพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขนมปังจากกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์รับปากว่าจะแจกจ่ายอาหารจากหลังหลวงให้ ทำให้ส่วนหนึ่งเดินทางกลับปารีส แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อคำสัญญาจึงยังคงปักหลักที่พระราชวัง พระองค์จึงทรงประกาศยอมรับกฤษฎีกาสิงหาคม (กฎหมายเลิกระบบศักดินา) และทรงยอมรับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม วันต่อมาเกิดความรุนแรงขึ้นในพระราชวังและมีการปะทะกันถึงขั้นเสียชีวิต นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต ผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ ทูลเชิญพระเจ้าหลุยส์ย้ายไปประทับถาวรยังพระราชวังตุยเลอรีในปารีส เขาหวังว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นหากกษัตริย์อยู่ใกล้ชิดประชาชน ภายหลังเหตุการณ์นี้ พระเจ้าหลุยส์มีอารมณ์เศร้าหมองเหมือนเป็นอัมพาตทางจิตใจ ราชการแผ่นดินจึงตกอยู่ในการตัดสินใจของราชินีมารี อ็องตัวแน็ต
การปฏิรูปครั้งใหญ่
[แก้]นอกจากประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ซึ่งรับรองความเท่าเทียมของมนุษย์ สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติยังผ่านมติให้ยกเลิกการถวายเงินทศางค์แก่โบสถ์ และบังคับให้ที่ดินและอาคารโบสถ์ทั้งหมดตกเป็นของรัฐ เพื่อที่รัฐจะนำที่ดินและอาคารเหล่านี้ไปค้ำประกันหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ สภายังผ่านมติให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของขุนนางในวันที่ 19 มิถุนายน 1790 แต่อนุญาตให้ขุนนางแต่ละคนครองบรรดาศักดิ์ตามเดิม ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน 1790 สภาผ่านมติยุบเลิกการปกครองโดยสภาอำมาตย์ (parlements) ซึ่งมีอยู่ 13 แห่งทั่วประเทศ และแบ่งการปกครองเป็น 83 จังหวัด
ในวันที่ 24 สิงหาคมปีเดียวกัน ยังมีการตรากฎหมายที่ชื่อว่าธรรมนูญว่าด้วยบรรพชิต (Constitution civile du clergé) ยุบสังฆมณฑลทั่วประเทศจาก 135 แห่งเหลือเพียง 84 แห่ง ยุบสมณศักดิ์ของนักบวชให้เหลือน้อยลง กำหนดให้นักบวชทั้งหมดในประเทศคือผู้รับเงินเดือนจากรัฐ อยู่ในกำกับของเทศบาลแต่ละแห่ง และบีบบังคับให้นักบวชกล่าวสาบานความภักดีต่อประเทศฝรั่งเศส กฎหมายฉบับนี้ทำให้พระสันตะปาปาทรงพิโรธ และบัญญาห้ามนักบวชในฝรั่งเศสปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ทำให้นักบวชในฝรั่งเศสแตกแยกเป็นสองฝ่าย
องค์กษัตริย์เสด็จหนีและถูกจับที่วาแรน
[แก้]มิถุนายน 1791 มีข่าวลือสะพัดหนาหูว่า พระนางมารี อ็องตัวแน็ต แอบติดต่อกับจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐา เพื่อจะให้ทรงยกทัพมาตีฝรั่งเศสและคืนอำนาจให้ราชวงศ์ พระเจ้าหลุยส์ตัดสินใจจะไม่หนีออกนอกประเทศหรือรับความช่วยเหลือ แต่จะทรงหนีไปตั้งมั่นที่เมืองม็งต์เมดิ (Montmédy) ติดกับชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่นั่น นายทหารผู้จงจักภักดีอย่างนายพลบูเย จะให้ความช่วยเหลือแก่พระองค์
องค์กษัตริย์และองค์ราชินีก็เสด็จออกจากพระราชวังตุยเลอรีในคืนวันที่ 20 มิถุนายน 1791 แต่ในในวันต่อมา ก็ทรงถูกจับได้ที่เมืองวาแรน ส่งผลให้ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อพระองค์นั้นลดลงฮวบฮาบ พระองค์ถูกนำตัวกลับมากักบริเวณในพระราชวังตุยเลอรี
รัฐธรรมนูญบังคับใช้
[แก้]แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยังคงปรารถนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าระบอบสาธารณรัฐก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] แต่ในขณะนั้น พระเจ้าหลุยส์ก็ไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าหุ่นเชิด พระองค์ถูกบังคับให้ปฏิญาณตนต่อรัฐธรรมนูญ และให้ยอมรับเงื่อนไขที่ว่า หากกระทำการใด ๆ ที่จะชักนำให้กองทัพต่างชาติมาโจมตีฝรั่งเศส หรือกระทำสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติโดยอัตโนมัติ
กรกฎาคม 1791 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติมีมติว่า พระเจ้าหลุยส์จะได้คืนพระราชอำนาจหากทรงยอมรับรัฐธรรมนูญ มตินี้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวปารีส ส่งผลให้นักสื่อสารมวลชนนามว่าฌัก ปีแยร์ บรีโซ ร่างประกาศโจมตีพระเจ้าหลุยส์ ว่าพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้วตั้งแต่เสด็จหนีจากพระราชวังตุยเลอรี ฝูงชนห้าหมื่นคนเข้ามาในลานช็องเดอมาร์สเพื่อพยายามลงนามในใบประกาศดังกล่าว (แต่ทันลงนามเพียงหกพันคน) สภาร้องขอให้นครบาลปารีสช่วยรักษาความสงบ นายกเทศมนตรีฌ็อง ซีลแว็ง บายี ประกาศกฎอัยการศึกแต่ก็ไม่สามารถยุติสถานการณ์ ในที่สุด บายีจึงสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้ฝูงชนถูกสังหารหลายสิบคน เรียกเหตุการณ์นี้ว่าการสังหารหมู่ที่ช็องเดอมาร์ส ซึ่งหลังจากการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทางการก็ดำเนินการปราบปรามพวกสมาคมสาธารณรัฐนิยมรวมทั้งหนังสือพิมพ์ของพวกนี้ เช่นหนังสือพิมพ์ เพื่อนประชาชน (L'Ami du Peuple) ของฌ็อง-ปอล มารา บุคคลที่มีแนวคิดแบบนี้เช่นมาราและกามีย์ เดมูแล็ง ต่างพากันหลบซ่อนตัว ส่วนทางด้านฌอร์ฌ ด็องตง หลบหนีไปอังกฤษ
รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับแรกบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1791 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติแปรสภาพเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Assemblée nationale législative)
สถาปนาสาธารณรัฐที่ 1 และการประหารหลุยส์ที่ 16
[แก้]ขณะที่ภายในฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย เหล่าราชวงศ์ของยุโรปนำโดยพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย, จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ร่วมมือกันออกคำประกาศของดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ โดยมีเป้าหมายคือให้พระเจ้าหลุยส์มีอิสรภาพสมบูรณ์และให้ยุบสภา ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก็จะส่งกองทัพโจมตีฝรั่งเศสเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ชาวฝรั่งเศสไม่สนใจคำประกาศดังกล่าวและเตรียมการต่อต้านอย่างแข็งขัน
คำประกาศของดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ยิ่งทำให้สถานการณ์ของฝ่ายเจ้าในฝรั่งเศสเลวร้ายลง นครบาลปารีสไม่เชื่อฟังสภานิติบัญญัติอีกต่อไป และนำกลุ่มฝูงชนบุกเข้าพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 10 สิงหาคม 1792 พระบรมวงศ์ต้องไปหลบภัยที่สภา และในสามวันถัดมา พระองค์ถูกประกาศจับกุมอย่างเป็นทางการและถูกส่งตัวไปจองจำที่หอคอยต็องเปลอ (Square du Temple) ป้อมปราการเก่าในปารีส และในวันที่ 21 กันยายน สภานิติบัญญัติมีมติให้ล้มเลิกระบอบกษัตริย์ และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ในวันที่ 22 กันยนยน 1792 พร้อมกำหนดให้ปีนั้นเป็นปีที่ 1 ของระบบปฏิทินแบบใหม่ที่หนึ่งปีมีสิบเดือน ฐานันดรและพระอิสริยยศถูกถอดถอน พระองค์ได้ชื่อใหม่ว่า นายหลุยส์ กาเป อีกด้านหนึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติเปลี่ยนชื่อเป็นที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ (Convention nationale)
พฤศจิกายน 1792 เกิดเหตุอื้อฉาวพบตู้นิรภัยในห้องพระบรรทมซึ่งภายในบรรจุเอกสารลับมากมายที่เขียนติดต่อกับต่างชาติ ชื่อเสียงของอดีตกษัตริย์ยิ่งย่ำแย่ลง ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 15 มกราคม 1793 ว่าอดีตกษัตริย์มีความผิดจริงฐาน "สมคบประทุษร้ายต่อเสรีภาพปวงชนและความมั่นคงแห่งรัฐ" (conspiration contre la liberté publique et la sûreté générale de l'État) วันต่อมา ที่ประชุมชนะโหวตกำหนดบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตในทันที อดีตกษัตริย์อุทธรณ์โทษประหารชีวิต แต่แพ้โหวตในสภา อดีตกษัตริย์จึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ณ ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง กรุงปารีส ในวันที่ 21 มกราคม 1793
เหตุการณ์ช่วงสงคราม
[แก้]ประกาศสงคราม
[แก้]การประหารหลุยส์ที่ 16 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านโดยบรรดาเจ้าผู้ครองอาณาจักรในทวีปยุโรป ซึ่งเกรงกลัวว่ากระแสการปฏิวัติจะแพร่ขยายมาสู่ประเทศของตนเอง ประเทศบริเตนใหญ่, ประเทศสเปน, ประเทศเนเธอร์แลนด์, ประเทศนาโปลี และประเทศตอสคานา (ปัจจุบันนี้คือ อิตาลี) ประกาศต่อต้านการปฏิวัติในฝรั่งเศส สภากงว็องซียงแห่งชาติของฝรั่งเศสจึงประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1793 และไม่นานหลังจากนั้นก็ประกาศต่อสเปนเช่นกัน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงประกาศสงครามต่อฝรั่งเศสในวันที่ 23 มีนาคมของปีเดียวกัน ถือเป็นการเปิดฉากสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ[29]
นักการเมืองกลุ่มฌีรงแด็ง (Girondin) เชื่อว่าสงครามจะทำให้คนในรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขาพยายามใช้สงครามเป็นข้อแก้ตัวเกี่ยวกับปัญหาสินค้าขาดแคลนและราคาแพง แต่ข้อแก้ตัวดังกล่าวไม่ได้ผลและทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าแห่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนเสียเอง เกิดการลุกฮือในกรุงปารีสและหัวเมืองต่างๆในเดือนกุมภาพันธ์ 1793 มิหนำซ้ำ กองทัพฝรั่งเศสยังพ่ายแพ้กองทัพออสเตรียในยุทธการที่เนียร์วินเดิน ในขณะนั้น หลายคนมองว่าระบอบสาธารรัฐของฝรั่งเศสคงจะล่มสลายในไม่ช้า[30]
กลุ่มฌีรงแด็งสิ้นอำนาจ กลุ่มลามงตาญครองอำนาจ
[แก้]วิกฤตการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม (Comité de salut public) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1793 ซึ่งเป็นคณะบริหารที่ขึ้นตรงต่อสภากงว็องซียงแห่งชาติ[31] กลุ่มฌีรงแด็งทำสิ่งผิดมหันต์โดยการฟ้องร้องศาลอาญาปฏิวัติ ให้ลงโทษนายฌ็อง-ปอล มารา ซึ่งเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่เดือนกันยายน 1792 มาราเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของชนชั้นซ็อง-กูว์ล็อต (sans-culottes) แม้ว่าคดีนี้ถูกยกฟ้อง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ชนชั้นซ็อง-กูว์ล็อตไม่สนับสนุนกลุ่มฌีรงแด็งอีกต่อไป ในวันที่ 31 พฤษภาคม กลุ่มลามงตาญร่วมมือกับกองอารักษ์ชาติพยายามจะกำจัดกลุ่มฌีรงแด็ง นอกสภามีการยิงปืนใหญ่จากกองอารักษ์ชาติเพื่อข่มขู่สภา ส่วนในสภามีการอภิปรายโจมตีกลุ่มฌีรงแด็ง แต่ความพยายามในวันนี้ก็ไม่สำเร็จ จึงมีการเกณฑ์กองทัพประชาชนเพื่อสร้างความกดดันต่อสภา ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน อาคารสภาถูกปิดล้อมโดยฝูงชนแปดหมื่นคนที่มาเรียกร้องขนมปังราคาถูก, เงินสงเคราะห์ว่างงาน, การปฏิรูปการเมือง ตลอดจนสิทธิ์ในการถอดถอนสมาชิกสภา[32] ในที่สุด กรรมการสิบคนของกลุ่มฌีรงแด็ง รวมถึงบรรดาผู้นำกลุ่มฌีรงแด็ง 31 คนก็ทยอยถูกจับกุมโดยทหารอารักษ์ชาติ จนกระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน กลุ่มลามงตาญ (La Montagne) ก็กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม[33]
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำกลุ่มลามงตาญ มอบหมายหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แก่หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ ซึ่งก็ร่างเสร็จในเวลาเพียงแปดวัน และได้รับสัตยาบันโดยสภาในวันที่ 24 มิถุนายน 1793 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการปฏิรูปแบบสุดโต่ง ทั้งการให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ชายโดยถ้วนหน้า, ยกเลิกระบบทาสทั้งหมดในอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อฌ็อง-ปอล มารา ถูกลอบสังหารโดยสมาชิกกลุ่มฌีรงแด็งชื่อว่าชาร์ล็อต กอร์แด ในเดือนกรกฎาคม กลุ่มลามงตาญจึงยกย่องมาราเป็นมรณสักขีแห่งการปฏิวัติ กรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมจึงใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างในการควบคุมอำนาจรัฐ
สภาอนุญาตให้ปราบปรามศัตรูภายในประเทศได้โดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ออกกฎหมายให้อำนาจการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายเป็น "ผู้ก่ออาชญากรรมต่อเสรีภาพ" เมื่อวันที่ 17 กันยายน ทั้งยังจัดตั้ง "รัฐบาลปฏิวัติ" เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกระงับใช้ชั่วคราว[34] ซึ่งในอีกหกวันต่อมา อดีตราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ก็ถูกประหารชีวิตตามสวามี
สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
[แก้]รอแบ็สปีแยร์ผู้กลายเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างราบคาบ เรียกช่วงเวลานี้ว่า "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" ประมาณการว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนถึงสี่หมื่นคน เป็นชนชั้นสูงร้อยละ 8 นักบวชร้อยละ 6, ชนชั้นกลางร้อยละ 14, ชนชั้นล่างร้อยละ 70 นอกจากนี้ พระศาสนาถูกเบียดเบียนในระดับรุนแรง มีการปิดและทำลายศาสนสถาน มีการออกกฎหมายปิดโรงเรียนสอนศาสนาและสั่งห้ามสอนศาสนา มีการเพิกถอนสถานะความเป็นนักบวช มีการประหารมรณสักขีแห่งกงเปียญ
ขณะเดียวกัน ชัยชนะในแนวรบกับออสเตรียก็ทำให้รอแบ็สปีแยร์กลายเป็นเผด็จการมากขึ้น ท้ายที่สุด สมาชิกสภาก็หวาดระแวงว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อของเครื่องกิโยตีน จึงรวมหัวกันอภิปรายโจมตีและลงมติปลดรอแบ็สปีแยร์กลางสภาในวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 รอแบ็สปีแยร์กับพวกสามารถหลบหนีจากสภาไปกบดานที่ออแตลเดอวีล (ศาลาว่าการกรุงปารีส) ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองอารักษ์ชาติที่ภักดีต่อเขา กองทหารที่ภักดีต่อสภาจึงบุกโจมตีในคืนนั้น รอแบ็สปีแยร์พยายามยิงตัวตายแต่ไม่สำเร็จ เขาถูกนำตัวไปประหารชีวิตในวันรุ่งขึ้น ถือเป็นจุดจบของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
ผลของการปฏิวัติในช่วงต้น
[แก้]ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
[แก้]ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des droits de l'homme et du citoyen) เป็นคำประกาศที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาในยุคเรืองปัญญา และคำประกาศนี้ได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา คำประกาศนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1789 มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"
ในขณะนั้นมีข่าวลือในหมู่ประชาชนว่าจะมีการยึดอำนาจคืนของฝ่ายนิยมระบอบเก่าเมื่อชาวปารีสรู้ข่าวก็มีการตื่นตัวกันขนานใหญ่ ดังนั้นประชาชนชาวปารีสซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงได้เดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซาย และเชิญพระเจ้าหลุยส์พร้อมทั้งราชวงศ์มาประทับในกรุงปารีส ในวันที่ 5-6 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยมีสมาชิกสภาร่างธรรมนูญที่อนุรักษนิยมตามเสด็จกลับกรุงปารีสด้วย สำหรับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในขณะนั้นประกอบด้วยสมาชิกที่หัวก้าวหน้าเป็นส่วนมาก แต่มีภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภาคือการดำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ ดังนั้นจึงยังไม่มีการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น
การเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย
[แก้]ปลายเดือนกรกฎาคม 1789 มีรายงานว่าชาวไร่ผู้ก่อจลาจลกำลังมุ่งหน้าเข้ากรุงปารีสจากทั่วทุกทิศของประเทศ สภาจึงตัดสินใจที่จะปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเสียใหม่เพื่อหวังลดอุณหภูมิทางการเมืองและจะนำไปสู่การปรองดอง ในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 1789 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้มีมติล้มเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายทั้งปวง ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และยกเลิกเอกสิทธิได้รับการงดเว้นภาษีของนักบวช รวมทั้งให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ นักประวัติศาสตร์ ฟร็องซัว ฟูเร (François Furet) ระบุต่อเหตุการณ์นี้ไว้ว่า: "สังคมแบบเจ้าขุนมูลนายตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด ถูกพวกเขาทำลายไปพร้อมอภิสิทธิ์และโครงสร้างที่ว่าคนต้องมีสังกัด พวกเขาแทนที่โครงสร้างเหล่านี้ด้วยสิ่งที่ใหม่กว่า นั่นคือความเป็นปัจเจกบุคคล มีเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย...ดังนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติในช่วงแรก คือความเชื่อแบบปัจเจกนิยมจากระดับรากฐาน"[35]
เขตการปกครองของสภาอำมาตย์ (parlements) ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศถูกระงับในเดือนพฤศจิกายน 1789 และล้มเลิกอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 1790 สถาบันเสาหลักแบบเก่าถูกโค่นล้มลงทั้งหมด
การปฏิรูปที่สำคัญ
[แก้]รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศสมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 1789 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้
- ตำแหน่งต่าง ๆ ในราชการไม่สามารถตกทอดไปยังลูกหลาน
- ยุบมณฑลต่าง ๆ แบ่งประเทศออกเป็น 83 จังหวัด (départements)
- ก่อตั้งศาลประชาชน
- ปฏิรูปกฎหมายฝรั่งเศส
- การเวนคืนที่ธรณีสงฆ์ แล้วนำมาค้ำประกันพันธบัตร ที่ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน มาแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศ
การปฏิรูปสถานะของนักบวช
[แก้]นอกจากที่ธรณีสงฆ์จะถูกเวนคืนแล้ว การปกครองคริสตจักรในประเทศฝรั่งเศสก็ยังถูกเปลี่ยนแปลง ตามกฎหมายการปกครองคริสตจักรฉบับใหม่ที่ออกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1790 โดยใช้การปกครองประเทศเป็นแม่แบบ คือกำหนดจำนวนมุขนายก (évêque) ไว้มุขมณฑลละ 1 ท่าน และให้เมืองใหญ่แต่ละเมืองมีอัครมุขนายก (archévêque) 1 ท่าน โดยมุขนายกและอัครมุขนายกแต่ละท่านจะถูกเลือกโดยสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นนักบวชในทุกระดับจะต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศอีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Tilly, Louise A. "Food entitlement, famine, and conflict". Journal of Interdisciplinary History (1983): 333–49.
- ↑ Hufton, Olwen. "Social conflict and the grain supply in eighteenth-century France". Journal of interdisciplinary history (1983): 303–31.
- ↑ Marshall, Thomas H. Citizenship and social class. Vol. 11. Cambridge, 1950.
- ↑ Lichbach, Mark Irving. "An evaluation of 'does economic inequality breed political conflict?' studies". World Politics 41.04 (1989): 431–70.
- ↑ Blanning, T.C.W. (1998). The French Revolution: Class War or Culture Clash?. London: Macmillan. p. 26.
- ↑ Blanning 1998, p. 26.
- ↑ Blanning 1998, p. 27.
- ↑ Frey, p. 3
- ↑ "France's Financial Crisis: 1783–1788". สืบค้นเมื่อ 26 October 2008.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Hibbert, pp. 35, 36
- ↑ Frey, p. 2
- ↑ Doyle, The French Revolution: A very short introduction, p. 34
- ↑ John Hardman (2016) The life of Louis XVI
- ↑ William Doyle, The Oxford History of the French Revolution (1989) p. 59
- ↑ Doyle, The Oxford History of the French Revolution (1989) pp. 99–101
- ↑ Albert Soboul, The French Revolution 1787–1799 (1975) pp. 127–29.
- ↑ Thompson, Marshall Putnam (1914). "The Fifth Musketeer: The Marquis de la Fayette". Proceedings of the Bunker Hill Monument Association at the annual meeting. p. 50. สืบค้นเมื่อ 10 February 2011.
{{cite book}}
: CS1 maint: postscript (ลิงก์) - ↑ 18.0 18.1 Paul R. Hanson (23 February 2007). The A to Z of the French Revolution. Scarecrow Press. p. 14. ISBN 978-1-4617-1606-8.
- ↑ Schama 2004, p. 312
- ↑ Munro Price, p. 76 The Fall of the French Monarchy, ISBN 0-330-48827-9
- ↑ Jaques Godechot. "The Taking of the Bastille July 14th, 1789", p. 258. Faber and Faber Ltd 1970.
- ↑ Mignet 1824, §Chapter I
- ↑ 23.0 23.1 Simon Schama, p. 399 Citizens: A Chronicle of the French Revolution, ISBN 0-670-81012-6
- ↑ Schama (1989), p. 403
- ↑ Guy Chaussinand-Nogaret, La Bastille est prise, Paris, Éditions Complexe, 1988, p. 102.
- ↑ François Furet and Mona Ozouf, eds. A Critical Dictionary of the French Revolution (1989), pp. 519–28.
- ↑ Schama 1989, pp. 423–424.
- ↑ ปิยบุตร แสงกนกกุล. ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (20) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2560
- ↑ Holland 1911, Battle of Valmy.
- ↑ Shusterman 2013, pp. 143–173.
- ↑ Shusterman 2013, pp. 271–312.
- ↑ Schama 1989, p. 724.
- ↑ Schama 1989, pp. 725–726.
- ↑ Kennedy 2000, p. 53.
- ↑ Furet, Critical Dictionary of the French Revolution, p. 112