ข้ามไปเนื้อหา

อุโมงค์ขุนตาน

พิกัด: 18°29′N 99°16′E / 18.483°N 99.267°E / 18.483; 99.267
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุโมงค์ขุนตาน
ข้อมูลทั่วไป
สาย     สายเหนือ
ที่ตั้งอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
พิกัด18°29′N 99°16′E / 18.483°N 99.267°E / 18.483; 99.267
สถานะเปิดให้บริการ
ลอดผ่านอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล
การดำเนินงาน
ผู้ดำเนินงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
ลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก
ข้อมูลทางเทคนิค
วิศวกรออกแบบเอมีล ไอเซินโฮเฟอร์
ความยาว1,352.10 เมตร
ช่วงกว้างราง1 เมตร
ระยะห่างอุโมงค์5.50 เมตร
ความกว้าง5.20 เมตร

อุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์ทางรถไฟตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล บนเส้นทางรถไฟสายเหนือระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีความยาว 1,352.10 เมตร กว้าง 5.20 เมตร สูง 5.50 เมตร เป็นอุโมงค์ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว อุโมงค์ด้านเหนือสูงกว่าด้านใต้ประมาณ 14 เมตร[1] ขุนตานเคยเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเป็นเวลา 106 ปี ก่อนถูกทำลายสถิติโดยอุโมงค์ผาเสด็จที่เปิดให้บริการใน พ.ศ. 2567

ด้านหนึ่งของอุโมงค์ขุนตาน คือ สถานีรถไฟขุนตาน บังกะโลรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย[2] และอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล

การก่อสร้างอุโมงค์ในอดีต

[แก้]

ในอดีตบริเวณบ้านขุนตานยังเป็นถิ่นทุรกันดาร เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ภูมิประเทศเป็นป่าทึบ และโขดเขาสูง การก่อสร้างจึงต้องใช้ความอุตสาหะพากเพียรอย่างยิ่ง เครื่องมือและสัมภาระต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างต้องใช้ช้างและเกวียนบรรทุกไป พอถึงบริเวณที่ที่เป็นภูเขาต้องใช้วิธีชักรอกขึ้นเขาลงเขาอย่างทุลักทุเล

กรรมวิธีในการขุดเจาะอุโมงค์ เริ่มด้วยการเจาะรูเล็ก ๆ โดยใช้สว่าน หรือใช้แรงคนตอกสกัด เมื่อมีรูลึกเข้าไปจึงเอาดินระเบิดไดนาไมต์ฝังเข้าไปในรูนั้นเพื่อระเบิดให้เป็นอุโมงค์ใหญ่ ถ้าหินก้อนใหญ่มากไม่สะดวกในการระเบิดให้แตกเป็นก้อนเล็ก ๆ ก็ใช้วิธีสุมไฟให้ก้อนหินร้อนจัดแล้วราดน้ำลงไป หินนั้นก็จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ การขนดิน และหินออกจากอุโมงค์ก็ใช้คนงานขนออกมาการขุดเจาะเริ่มจากปลายอุโมงค์ทั้ง 2 ข้าง เข้ามาบรรจบกันตรงกลาง ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี อุโมงค์จึงทะลุถึงกันได้ และใช้เวลาอีก 3 ปีเพื่อผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง และหลังคาเพื่อความแข็งแรง และป้องกันน้ำรั่วซึมเมื่ออุโมงค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังวางรางรถไฟจากลำปางไปยังปากอุโมงค์ไม่ได้เพราะระหว่างทางต้องผ่านเหวลึกถึงสามแห่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้จึงต้องใช้วิธีทำสะพานทอดข้ามระยะทาง 8 กิโลเมตร[3]

อุโมงค์ขุนตานเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2461 โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมีล ไอเซินโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 11 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,362,050 บาท

อ้างอิง

[แก้]
  1. "อุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-24. สืบค้นเมื่อ 2012-01-13.
  2. "บังกะโลขุนตาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-08.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-26. สืบค้นเมื่อ 2009-10-26.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]