โทษประหารชีวิตในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษประหารชายและห้องประหารชีวิต

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย เป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดขั้นสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญาไทย ในปี พ.ศ. 2567 ไทยเป็นหนึ่งใน 53 ประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ[note 1] ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนมีกัมพูชาและฟิลิปปินส์ที่บัญญัติให้การประหารชีวิตขัดกฎหมาย ในขณะที่ลาวและบรูไนไม่มีประหารชีวิตในทางพฤตินัย[1]

แม้ประเทศไทยยังคงโทษประหารชีวิตในกฎหมาย แต่ดำเนินการบังคับใช้โทษดังกล่าวเป็นระยะ ๆ เท่านั้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกประหารชีวิต 326 คน แบ่งเป็นการประหารด้วยการยิงเป้า 319 คน[note 2] และการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาให้ตาย 7 คน[2] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ต้องขัง 325 คนต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตและอยู่ในเรือนจำ[3]

กฎหมายไทยอนุญาตให้ลงโทษประหารชีวิตแก่อาชญากรรม 35 รูปแบบ ซึ่งรวมถึงการกบฏ ฆาตกรรม และการค้าสารเสพติด[4]

ความเป็นมาและวิธีการ[แก้]

การประหารชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[แก้]

กฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นประมวลกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมกฎหมายนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีไว้ด้วยกัน ได้กล่าวถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ประหารชีวิตผู้ต้องโทษตามลักษณะความผิดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น

พระไอยการลักษรโจร ได้ระบุว่าผู้ลักพระพุทธรูปเอาไปล้างหรือเผาสำรอกเอาทอง หรือเอาพระบท (พระคัมภีร์) ไปสำรอกแช่น้ำ หรือเอาไปเผา ให้ต้องโทษประหารโดยนำผู้นั้นใส่เตาเพลิงสูบเผาไฟ ถ้าขุดทำลายพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์บ่อยครั้ง ให้นำผู้นั้นไปตระเวนบก 3 วัน ตระเวนเรือ 3 วัน แล้วตัดศีรษะและผ่าอก [5]

ส่วนในพระไอยการกระบดศึกตอนหนึ่ง ระบุว่าผู้ต้องที่รุนแรง เช่น กบฏ, ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์, ปล้นเผาเมือง จวน พระราชวัง ยุ้งฉาง คลังหลวง หรือวัด, ทารุณกรรมต่อพระและชาวบ้าน, ฆ่าบิดา มารดา ครู พระอุปัชณาย์, เหยียบย่ำทำลามกต่อพระพุทธรูป, ตัดมือตัดเท้าตัดคอเด็กเพื่อเอาเครื่องประดับ จะต้องถูกประหารโดยสถานใดสถานหนึ่งในลักษณะโทษทวะดึงษกรรมกร 32 ประการ เฉพาะในสถานที่มีโทษถึงตาย 21 สถาน ดังนี้[5][note 3]

  1. สถานหนึ่งคือให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสียแล้ว เอาคิมคีบก้อนเหลกแดงใหญ่ใส่ลง ให้มันสะหมองศีศะพลุ่งฟูขึ้นดั่งม่อเคี่ยวน้ำส้มพะอูม
  2. สถานหนึ่งคือให้ตัดแต่หนังจำระเบื้องหน้าถึงไพรปากเบื้องบนทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงหมวกหู ทั้งสองข้างเปนกำหนด ถึงเกลียวคอชายผมเบื้องหลังเปนกำหนด แล้วให้มุ่นกระหมวดผมเข้าทั้งสิ้น เอาท่อนไม้สอดเข้าข้างละคนโยกคลอนสั่น เพิกหนังทั้งผมนั้นออกเสียแล้วเอากรวดทรายหยาบขัดกระบานศีศะชำระให้ขาวเหมือนพรรณศรีสังข์
  3. สถานหนึ่งคือให้เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วให้ตามประทีปไว้ในปาก ไนยหนึ่ง เอาปากสิ่วอันคมนั้นแสะแหวะผ่าปากจนหมวกหูทังสองข้าง แล้วเอาขอเกี่ยวให้อ้าปากไว้ให้โลหิตไหลออกเตมปาก
  4. สถานหนึ่งคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันให้ทั่วร่างกายแล้วเอาเพลิงจุด
  5. สถานหนึ่งคือเอาผ้าชุบน้ำมันพันนิ้วทัง ๑๐ นิ้วแล้วเอาเพลิงจุด
  6. สถานหนึ่งคือเชือดเนื้อให้เปนแร่งเปนริ้วอย่าให้ขาดเนื่องด้วยหนังตั้งแต่ใต้ฅอลงไปถึงข้อเท้าแล้วเอาเชือกผูกจำ ให้เดิรเหยียบริ้วเนื้อริ้วหนังแห่งตน ให้ฉุดคร่าตีจำให้เดิรไปกว่าจะตาย
  7. สถานหนึ่งคือเชือดเนื้อให้เนื่องด้วยหนังเป็นแร่งเป็นริ้วแต่ใต้ฅอลงมาถึงเอวแล้วเชือดแต่เอวให้เป็นแร่งเป็นริ้วลงมาถึงข้อเท้า กระทำเนื้อเบื้องบนนั้นให้เปนริ้วคลุมลงมาเหมือนนุ่งผ้าคากรอง
  8. สถานหนึ่งคือให้เอาหว่งเหลกสวมข้อสอกทังสองข้างข้อเข่าทังสองข้างให้หมั้นแล้วเอาหลักเหลกสอดในวงเหลกแย่งขึงตรึงลงไว้กับแผ่นดินอย่าให้ไหวตัวได้ แล้วเอาเพลิงลนให้รอบตัวจนกว่าจะตาย
  9. สถานหนึ่งคือให้เอาเบดใหญ่ที่มีคมสองข้างเกี่ยวทั่วกาย เพิกหนังเนื้อแลเอนน้อยเอนใหญ่ให้หลุดขาดออกมากว่าจะตาย
  10. สถานหนึ่งคือให้เอามีดที่คมเชือดเนื้อให้ตกออกจากกาย แต่ทิละตำลึงจนกว่าจะสิ้น
  11. สถานหนึ่งคือให้แล่สับฟันทั่วกายแล้วเอาแปรงหวีชุบน้ำแสบกรีดครูดขุดเซาะหนังแลเนื้อแลเอนน้อยเอนใหญ่ให้ลอกออกมาให้สิ้นให้อยู่แต่ร่างกระดูก
  12. สถานหนึ่งคือให้นอนลงโดยข้าง ๆ หนึ่งแล้วให้เอาหลาวเหลกตอกลงไปโดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดินแล้วจับขาทั้งสองข้างหันเวียนไปดังบุคทลทำบังเวียน
  13. สถานหนึ่งคือทำมิให้เนื้อพังหนังขาด แล้วเอาลูกศีลาบดทุกกระดูกให้แหลกย่อยแล้วรวบผมเข้าทังสิ้น ยกขึ้นหย่อนลงกระทำให้เนื้อเปนกองเปนลอม แล้วพับห่อเนื้อหนังกับทั้งกระดูกนั้นทอดวางไว้ ทำดั่งตั่งอันทำด้วยฟางซึ่งเอาไว้เชดเท้า
  14. สถานหนึ่งคือเคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่าน แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย
  15. สถานหนึ่งคือให้กักขังสูนักร้ายทังหลายไว้ ให้อดอาหารหลายวันให้เตมหยาก แล้วปล่อยให้กัดทึ้งเนื้อหนังกินให้เหลือแต่ร่างกระดูกเปล่า
  16. สถานหนึ่งคือให้เอาขวานผ่าอกทังเปนแหกออกดั่งโครงเนื้อ
  17. สถานหนึ่งคือให้แทงด้วยหอกทีละน้อย ๆ กว่าจะตาย
  18. สถานหนึ่งคือให้ขุดหลุมฝังเพียงเอว แล้วเอาฟางปกลงคลอกด้วยเพลิงภอหนังไหม้ แล้วไถด้วยไถเหลกให้เปนท่อนน้อยท่อนใหญ่เป็นริ้วน้อยริ้วใหญ่
  19. สถานหนึ่งคือให้เชือดเนื้อล่ำออกทอดด้วยน้ำมันเหมือนทอดขนมให้กินเนื้อตนเอง
  20. สถานหนึ่งคือให้ตีด้วยตะบองสั้นตะบองยาวเปนต้น
  21. สถานหนึ่งคือทวนด้วยไม้หวายทังหนาม

ผู้ก่อการกบฏ คิดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ สอดแนมแก่อริราชศัตรู ต้องด้วยอุกฤษฏ์โทษ 3 สถาน คือ ริบราชบาตรฆ่าทั้งตระกูล ริบราชบาตรฆ่าเจ็ดชั่วโคตร และริบราชบาตรแล้วฆ่าทั้งตระกูล โดยการประหารชีวิตให้กระทำถึง 7 วันจนถึงแก่ชีวิตแล้วลอยแพลงแหล่งน้ำไม่ให้เลือดหรือร่างต้องแผ่นดิน[5]

ในขณะเดียวกัน ความผิดบางสถานหรือผู้ต้องโทษในสถานะอื่นกฎหมายมิได้ระบุวิธีการประหารชีวิตไว้ หรืออาจะระบุให้ลงโทษด้วยวิธีอื่นก่อนนำตัวไปประหาร

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์[แก้]

การสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์เป็นวิธีการประหารชีวิตที่สงวนไว้เฉพาะพระราชวงศ์โดยใช้ท่อนจันทน์ปลงพระชนม์ ไม่ปรากฎชัดว่าเริ่มมีการใช้วิธีการดังกล่าวเมื่อใด แต่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยกฎมณเทียรบาล[6] วิธีการนี้ถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณอาญา โดยกำหนดให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเพียงวิธีเดียว[7]

การประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ[แก้]

ศีรษะนักโทษประหารถูกเสียบประจานหลังการประหารชีวิต ในช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว

การประหารด้วยการตัดศีรษะ บ้างก็เรียกว่า การกุดหัว เป็นวิธีการที่ใช้มาอย่างยาวนาน แต่ยังมิอาจค้นพบได้ว่าเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยใด พบการกล่าวถึงการประหารด้วยวิธีการนี้ในทางกฎหมายครั้งแรกในกฎหมายลักษณะอาญา[7] กระทั่งได้เลิกวิธีการประหารนี้ไปในปี พ.ศ. 2478

ขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติ[แก้]

กฎหมายลักษณะอาญาได้บัญญัติว่าเมื่อมีการพิพากษาโทษประหารชีวิตผู้ใด เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องนำความดังกล่าวขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย หากทรงมีพระบรมราชานุญาต เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงจะดำเนินการประหารชีวิตได้[7]

เมื่อมีกำหนดจะประหารชีวิต เจ้าพนักงานจะเตรียมปะรำพิธีสำหรับกระทำพิธีทางศาสนา และลานประหาร โดยมากมักใช้พื้นที่ของวัด กลางลานมีหลักไม้สูงพอจับคนนั่งยึดติดได้ เบื้องหลังมีประตูป่าผูกทำขึ้นด้วยไม้หลัก 3 ไม้ที่ปักลงบนพื้นดินจนแน่นและสุมด้วยกิ่งไม้จนไม่เห็นทางเข้า หลังประตูมีอาสนะยกพื้นสูงสำหรับพระสงฆ์นั่งและวางบาตรบรรจุน้ำมนต์ธรณีสารใหญ่ 2 บาตร ล้อมลานประหารด้วยสายมงคลกันวิญญาณผีตายโหงที่ต้องใช้มีดที่ทำขึ้นเฉพาะตัดสายนี้เท่านั้น ตั้งศาลเพียงตาขึ้นสองขึ้นติดกัน ชั้นบนวางอาหารสำหรับสังเวย สำหรับหนึ่งประกอบด้วยถาดทองเหลืองมีเชิงและวาดลาย ชุดถ้วยกระเบื้องบรรจุอาหารเครื่องเซ่น ได้แก่ หัวหมู เป็ด ไก่ ปลาแป๊ะซะพร้อมน้ำจิ้ม บายศรี กล้วยน้ำไทย มะพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมอื่น ๆ เหล้าโรง ดอกไม้พร้อมธูปซองหนึ่งและเทียน 9 เล่ม อีกสำรับเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของนักโทษประหารจัดวางในชุดถ้วยดินเคลือบเผา ทั้งสองสำรับครอบด้วยฝาชี ชั้นล่างวางดาบประหาร ครูเพชฌฆาตทำพิธีบวงสรวงเทพยดาและภูตผีปีศาจจนเสร็จสิ้นการบริกรรม เพชฌฆาตเข้าร่วมพิธีบวงสรวง ครูเพชฌฆาตเจิมหน้าเพชฌฆาตด้วยแป้งกระแจะแล้วมอบดาบให้เพชฌฆาต[8]

เมื่อถึงเวลาเช้ามืด เจ้าหน้าที่เบิกตัวผู้ต้องโทษไปเฆี่ยน 3 ยก ยกละ 30 ที รวม 90 ที จากนั้นจัดกระบวนแห่นักโทษที่อยู่ในลักษณะจองจำครบ 5 ประการ[note 4]โดยเพชฌฆาตรั้งท้ายขบวนจากคุกไปยังลานประหาร เมื่อถึงลานนั้นแล้ว จัดอาหารมื้อสุดท้ายให้นักโทษรับประทานและประกอบศาสนกิจ ในกรณีที่ผู้นั้นเป็นพุทธศาสนิกชนจะนิมนต์พระสงฆ์มาโปรดเทศนา เจ้าหน้าที่ผูกปิดตานักโทษ เพชฌฆาตเข้าขออโหสิกรรม แล้วนำตัวนักโทษไปตรึงให้นั่งติดกับด้วยหลักไม้ในท่ากาจับหลัก นำดินเหนียวอุดหูและปาก และกำหนดจุดที่จะตัดศีรษะบริเวณต้นคอด้วยดินเหนียวหรือปูนเคี้ยวหมาก เพชฌฆาตกระทำมนต์พิธีและสะกดดวงวิญญาณผีตายโหงตามความเชื่อหลังประตูป่า เมื่อได้เวลาแล้วพระธามรงค์แจ้งผู้แทนพระองค์ในการเริ่มพิธีการตัดศีรษะ ปี่หลวงบรรเลงเพลงไหว้ครูในลักษณะที่โหยหวน เพชฌฆาตสำรอง (ดาบสอง) เข้ามายังลานประหารแล้วรำดาบหน้าผู้ต้องโทษเพื่อสงบจิตใจโดยวนไปซ้ายตามความเชื่อให้เกิดความอัปมงคลแก่ตัวผู้รับโทษ เพชฌฆาตหลัก (ดาบที่หนึ่ง) แหวกประตูป่าดู ตั้งจิตใจจนมั่นคงแล้วพุ่งเข้ามาในลักษณะย่างสามขุมอย่างแผ่วเบาและเงื้อดาบขึ้นจนสุดเพื่อตัดศีรษะจากข้างหลังผู้ต้องโทษไปข้างหน้า หากศีรษะไม่ขาดจากตัวเพชฌฆาตสำรอง (ดาบสองและดาบสามตามลำดับ) จะลงดาบอีกครั้งหรือจิกศีรษะนั้นขึ้นเพื่อเชือดคอจนศีรษะหลุดจากบ่า เพชฌฆาตดาบหนึ่งกระทืบเท้าหนึ่งครั้ง ยกดาบขึ้นและเลียเลือดปลายดาบเพื่อข่มวิญญาณ แล้วหันหลังวิ่งเข้าประตูป่าอย่างระวังและรวดเร็ว ห้ามหันกลับไปมองผู้ถูกตัดคอ เมื่อเพชฌฆาตพ้นประตูป่าแล้วพระสงฆ์รดน้ำมนต์สองบาตรแก่เพชฌฆาต[9] ส่วนเจ้าหน้าที่ในการประหารนำตรวจข้อเท้าออกจากผู้ถูกประหารชีวิตโดยใช้มีดตัดส้นเท้าหรือไขกุญแจตรวจเท้า แล้วนำศีรษะนั้นไปเสียบประจานและแล่เนื้อส่วนอื่นให้สัตว์[8] หากมีญาติมารับศพให้มอบศพนั้นไปและห้ามจัดการศพนั้นอย่างเอิกเกริก[7]

อนึ่ง มีการระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องโทษนั้นมีอาคมแกร่งกล้าจนไม่สามารถตัดศีรษะด้วยดาบได้ เจ้าพนักงานจะนำน้ำผสมสิ่งอัปมงคลแล้วราดใส่นักโทษนั้นก่อนตัดศีรษะอีกครั้ง หากไม่สำเร็จเจ้าหน้าจะใช้ไม้รวกสวนทวารก่อนประหารซ้ำ หากยังไม่ถึงแก่ความตายอีกจะตอกนักโทษด้วยตะลุมพุกหรือนำตัวไปต้มในน้ำเดือดจนตาย[9]

เพชฌฆาตตัดศีรษะ[แก้]

เหรียญ เพิ่มกำลังเมือง ในเครื่องแบบเพชฌฆาตและถือดาบสำหรับประหารชีวิต
เหรียญ เพิ่มกำลังเมือง ในเครื่องแบบเพชฌฆาตและถือดาบสำหรับประหารชีวิต

เพชฌฆาตเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแก่ผู้ที่มีความเหมาะสมทั้งในทางโหราศาสตร์ โดยโหราจารย์จะต้องนำดวงชะตาผู้นั้นไปคำนวณอย่างละเอียด มีความชำนาญในทักษะของดาบ เช่น ความรู้เรื่องดาบ การใช้ดาบ เพลงดาบ ตลอดจนมีความรู้ด้านมนต์คาถา เช่น คาถาสวดวิญญาณผีตายโหง อาคมก่อนหยิบดาบเพชฌฆาต การแก้อาถรรพณ์ผู้ถูกประหารที่มีคาถาคุ้มกันชีวิต เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งดังกล่าว ด้วยความเชื่อว่าการฆ่าคนเป็นกรรมหนัก ผู้ทำหน้าที่ต้องเป็นผู้ที่สามารถคุ้มกันชะตาตนเองได้ เมื่อมีกำหนดการให้ประหารชีวิตจะอยู่ประจำเรือนจำและเตรียมความพร้อมในการประหารชีวิต รวมถึงการเชิญดาบไปยังลานประหาร[9]

เพชฌฆาตมีเครื่องแบบที่เด่นชัด คือ เสื้อทรงกั๊กลงยันต์อำนาจมหาเดช นุ่งผ้าอย่างหยักรั้ง อาจผูกผ้าคาดศีรษะที่ลงยันต์ไว้ด้วยก็ได้ ทั้งหมดนี้ทำด้วยผ้าเตี่ยวสีแดงสด[9]

เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่ประหารชีวิตครั้งหนึ่งมี 3 คน คือ ดาบที่หนึ่ง และสำรองอีก 2 คน คือ ดาบสอง และดาบสาม โดยเพชฌฆาตลำดับรองจะลงดาบในกรณีที่เพชฌฆาตดาบแรกตัดศีรษะไม่หลุดจากบ่า[8]

ดาบเพชฌฆาต[แก้]

ดาบเพชฌฆาตของเหรียญ เพิ่มกำลังเมือง เพชฌฆาตตัดศีรษะของสยาม ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์

ดาบเพชฌฆาตเป็นดาบที่ใช้ในการตัดศีรษะเพื่อประหารชีวิต มีทั้งแบบปลายแหลม หัวตัด หรือหัวปลาไหล สุดแท้แต่เพชฌฆาตจะเลือกใช้[8] ทำด้วยด้วยเหล็กน้ำพี้อย่างดี ตีดาบขึ้นในฤกษ์เพชฌฆาต ขึ้นรูปในให้ได้ตามลักษณะที่เหมาะสมและคมดาบ นิยมถือยามยมขันธ์[note 5]เป็นหลัก ในเวลาปกติดาบได้รับการรักษาในห้องพิเศษในคุกหลวงอย่างดี งดการสัมผัสโดยไม่มีเหตุอันควร และจัดการบวงสรวงสังเวยดาบด้วยเหล้าและไก่ต้มทุกวันเสาร์ มีความเชื่อว่าหากดาบสั่นเหมือนถูกเขย่าจะต้องเกิดการประหารชีวิตภายใน 7 วัน ดาบนี้ยกเลิกการใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการบันทึกการใช้ดาบในการประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่ามีผู้ถูกตัดศีรษะด้วยดาบนับพันราย[9]

การยิงเป้าประหารชีวิต[แก้]

เมื่อปี พ.ศ. 2477 มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญาโดยเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการตัดศีรษะเป็นการยิงด้วยปืน และเปลี่ยนผู้มีอำนาจการสั่งโทษจากพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่[note 6] โดยประกาศใช้กฎหมายนั้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2478[11] ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี พ.ศ. 2499 ยังคงให้ใช้การยิงด้วยปืนเป็นวิธีการประหารชีวิต[12] กระทั่งมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี พ.ศ. 2546 จึงเป็นอันยุติการประหารชีวิตด้วยการยิง[13]

ขั้นตอนการประหารชีวิต[แก้]

ตามแนวปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ เมื่อเรือนจำกลางบางขวางในฐานะหน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการประหารชีวิตได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้ใด[note 7] ฝ่ายทะเบียนประวัติตรวจสอบชื่อผู้ที่จะถูกประหารชีวิตกับแฟ้มข้อมูลที่เก็บรักษาไว้เพื่อตรวจพิสูจน์บุคคล จากนั้นเรือนจำแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบหัวหน้าชุด เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องโทษ (พี่เลี้ยง) 3 คนเป็นอย่างน้อย เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พลเล็งปืน และเพชฌฆาต เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ พร้อมทั้งเชิญกรรมการพยาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด อัยการจังหวัด อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่ และเชิญเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร่วมตรวจพิสูจน์บุคคลผู้ต้องโทษ โดยจะต้องปกปิดคำสั่งและการปฏิบัติงานเป็นความลับไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องทราบก่อนเพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ อาจจะนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนามาประกอบพิธีทางศาสนาด้วยก็ได้[note 8]

เมื่อถึงเวลาดำเนินการ พี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบิกตัวผู้รับโทษจากห้องขังไปยังสถานที่ธุรการเพื่อตรวจสอบประวัติ ตำหนิแผลเป็น และพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลระหว่างผู้ถูกเบิกตัวกับทะเบียนประวัติที่เรือนจำกับทะเบียนประวัติของตำรวจ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าตรงกัน เจ้าหน้าที่อาวุโสอ่านคำสั่งประหารชีวิต นักโทษลงนามหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบคำสั่งนั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ต้องโทษเขียนจดหมายหรือทำพินัยกรรมได้ตามความต้องการ พร้อมขอช่องทางการติดต่อญาติผู้ต้องโทษเพื่อประสานงานภายหลังการประหารชีวิต จากนั้นเจ้าหน้าที่นำอาหารมื้อสุดท้ายมาให้รับประทาน[note 9] แล้วนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำศาสนามาประกอบศาสนกิจแก่ผู้ต้องโทษหรืออนุญาตให้ผู้นั้นประกอบศาสนพิธีได้ตามสมควร[note 10]

เมื่อเสร็จพิธีพี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำตัวผู้ต้องโทษไปยังสถานที่ประหารชีวิต[note 11] แล้วนำผ้าด้ายดิบผูกผิดตาผู้รับโทษ พยุงผู้นั้นเข้าหลักประหาร นั่งคร่อมเดือยไม้ให้เท้าลอยเหนือพื้น หันหลังให้แท่นวางปืน หันหน้าเข้าหลักไม้ แขนกางไปตามกางเขนแล้วพับศอกเข้าในท่าพนมมือ ผูกผ้าด้ายดิบที่ศอกและแขนทั้งสองข้าง อก และเอวตรึงกับหลักไม้ และผูกมือให้อยู่ในท่าพนมมือกำดอกไม้ธูปเทียน เมื่อพันธนาการผู้นั้นจนแน่นดีแล้วเจ้าหน้าที่กำหนดจุดยิงโดยใช้ชอล์กขีดบนเสื้อตำแหน่งที่ตรงหัวใจของผู้รับโทษจากข้างหลัง นำฉากกั้นที่ขึงผ้าวางระหว่างหลักประหารกับปืนให้ห่างจากหลักประหารประมาณ 1 ฟุตเพื่อบังไม่ให้เพชฌฆาตเห็นผู้ถูกยิง เลื่อนไม้เล็งที่ฉากให้เดือยไม้ด้านหนึ่งชี้จุดกำหนดยิง แล้วเลื่อนผ้าหรือเป้ากระดาษบนผ้าที่ขึงกับฉากจนเป้าเล็งตรงกับเดือยไม้นั้นแล้วเลื่อนไม้เล็งออกไป โรยทรายแห้งรอบหลักประหารเพื่อซับเลือด จากนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนจะปล่อยให้ผู้รับโทษอยู่กับหลัก[note 12] พลเล็งปืนเข้าบรรจุกระสุนและปรับทางปืนที่ติดตั้งบนแท่นปืนให้ศูนย์ปืนเล็งไปที่เป้า แล้วถอยให้เพชฌฆาตเข้าประจำปืนเพื่อตรวจสอบศูนย์ปืนอีกครั้งแล้วปลดห้ามไกปืน เมื่อเตรียมการเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่หัวหน้าชุดประหารชีวิตโบกธงสีแดงลงเพื่อให้สัญญาณ เพชฌฆาตลั่นไกปืนยิงกระสุนชุดแรกประมาณ 8 — 9 นัด สิ้นเสียงปืนแล้วสังเกตอาการผู้ถูกยิง หากพบว่ายังมีชีวิตและคาดว่าจะไม่ถึงแก่ความตายโดยง่าย เช่น ร้องโอดครวญ สะบัดตัว เพชฌฆาตจะยิงกระสุนอีกชุด เมื่อเห็นว่าไม่ต้องยิงซ้ำ เจ้าหน้าที่พร้อมแพทย์และพยานจะเข้าตรวจสอบผู้ถูกยิงหลังจากนั้นประมาณ 3 นาทีเพื่อยืนยันการตาย แล้วนำร่างลงจากหลักอย่างระมัดระวังในลักษณะนอนคว่ำ เจ้าหน้าที่ทะเบียนประวัติและตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลอีกครั้งเพื่อยืนยันการประหารชีวิต[note 13] เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วจะเก็บรักษาศพไว้ตามที่ระเบียบกำหนด (ส่วนมากจะเก็บศพไว้ 1 คืน) วันต่อมาให้ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมที่สมัครใจเข้าเปิดล้างห้องประหาร ตัดโซ่ตรวนออกจากขาศพ อาบน้ำและแต่งตัวศพ แล้วบรรจุร่างลงหีบศพ เขียนชื่อและเลขประจำตัวผู้ต้องโทษไว้ที่ผนังหีบฝั่งหัว แล้วลำเลียงหีบนั้นออกทางประตูนำศพออกที่เชื่อมกับวัดบางแพรกใต้[14]

การประหารชีวิตสมศักดิ์ ขวัญแก้วในท้องที่เกิดเหตุด้วยทหารเรือ

ทั้งนี้ ในกรณีที่ประหารชีวิตในท้องที่ที่เกิดเหตุด้วยทหารหรือตำรวจจะมีขั้นตอนที่เปลี่ยนไป เช่น ใช้ผู้ยิงมากกว่า 1 คน มัดผู้รับโทษให้หันหน้าเข้าหาปืน หันหลังติดหลัก ผูกผ้าปิดปากผู้ต้องโทษ ใช้พื้นที่โล่งแจ้งเป็นลานประหาร อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปร่วมสังเกตการณ์และรับฟังคำสั่งให้ประหารชีวิตก่อนยิง

ปืนที่ใช้สำหรับประหารชีวิต[แก้]

กรมราชทัณฑ์ใช้ปืนกลมือเบิร์กมันน์ เอ็มเพ 18 ตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 และเปลี่ยนเป็นปืนกลมือเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 ในปี พ.ศ. 2527[8]

อุปกรณ์อื่นที่ใช้ในการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า[แก้]

  • หลักประหาร เป็นหลักรูปกางเขนทำด้วยไม้ตะเคียน ใช้พันธนาการผู้ต้องโทษประหารเพื่อลดการเคลื่อนไหวตัวของผู้ถูกประหาร ตอนกลางค่อนล่างของหลักไม้เจาะรู 3 รูเพื่อประกอบกับเดือยไม้สำหรับให้นักโทษนั่งคร่อม ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนหลักไม้นี้ใหม่เป็นระยะ ๆ เนื่องจากกระสุนปืนมักทำลายหลักไม้จนแตกหัก
  • ฉากกั้น เป็นไม้ที่ขึ้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมโปร่ง มีท่อนไม้หนึ่งที่เลื่อนขึ้นลงได้และมีเดือยไม้ชี้ออกทั้งสองทางในแนวเดียวกัน ขึงผ้าบังระหว่างผู้ที่ถูกตรึงบนหลักกับเพชฌฆาต บนผืนผ้าติดกระดาษเป้าเล็งยิง
  • กระสอบทราย ในอดีตใช้มูลดิน วางกองสูงประมาณ 2 เมตร ใช้ป้องกันกระสุนปืนที่ยิงพลาดหรือทะลุร่างหรือหลักประหารไม่ให้สะท้อนหรือพุ่งจนเกิดอันตรายกับผู้อื่น[8]

เพชฌฆาตด้วยการยิงเป้า[แก้]

ในการประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า กรมราชทัณฑ์จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ยิงขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ โดยมีผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้มาแล้ว 11 คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้[15]

รายชื่อเพชฌฆาตด้วยการยิงเป้าของกรมราชทัณฑ์
ที่ ชื่อ วันปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก วันปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้าย จำนวนผู้ถูกยิง หมายเหตุ
1 จ่าสิบตำรวจ ทิพย์ มียศ 12 กันยายน พ.ศ. 2478 30 ตุลาคม พ.ศ. 2486 44 คน เดิมรับราชการในกรมตำรวจ ต่อมาโอนย้ายมาปฏิบัติราชการในกรมราชทัณฑ์
2 เหรียญ เพิ่มกำลังเมือง 5 มกราคม พ.ศ. 2482 31 สิงหาคม พ.ศ. 2499 53 คน เคยเป็นเพชฌฆาตตัดศีรษะ
3 เพี้ยน คนแรงดี 16 มกราคม พ.ศ. 2502 31 ตุลาคม พ.ศ. 2517 44 คน
4 มุ่ย จุ้ยเจริญ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 16 ตุลาคม พ.ศ. 2517 54 คน
5 สิบตำรวจตรี ประถม เครือเพ่ง 14 เมษายน พ.ศ. 2520 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 36 คน
6 จ่าโท ธิญโญ จันทร์โอทาน 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 32 คน
7 เรียบ เทียมสระคู 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 1 คน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ได้มีการประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เรือนจำใน 3 จังหวัด ส่งผลให้เขาเดินทางมาประหารชีวิตอุดร อำรินทร์ ที่เรือนจำจังหวัดระยอง ซึ่งในการประหารชีวิตต้องยิงถึง 3 ครั้งถึงอุดรจะเสียชีวิต หลังจากการประหารชีวิตเขาได้เลิกจากการเป็นเพชฌฆาต
8 เชาวเรศน์ จารุบุณย์ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 18 ตุลาคม พ.ศ. 2546 44 คน เป็นเพชฌฆาตที่ประหารชีวิตผู้ต้องโทษด้วยการยิงเป้ารายสุดท้าย
9 สนั่น บุญลอย 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 29 ตุลาคม พ.ศ. 2541 1 คน
10 ประยุทธ สนั่น 21 มิถุนายน พ.ศ. 2542 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 5 คน
11 พิทักษ์ เนื่องสิทธะ 18 เมษายน พ.ศ. 2544 18 ตุลาคม พ.ศ. 2546 5 คน ต่อมาได้รับมอบหมายหน้าที่ฉีดสารพิษในการประหารชีวิต

จำนวนผู้ที่รับโทษ[แก้]

นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า 319 คน เป็นชาย 316 คน หญิง 3 คน[note 2][16]

ผู้ที่รับโทษยิงเป้าที่มีความโดดเด่น[แก้]

การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา[แก้]

ในปี พ.ศ. 2546 มีการแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงด้วยปืนเป็นการฉีดยาตายและงดเว้นโทษประหารและชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้ที่กระทำผิดขณะอายุต่ำกว่า 18 ปี[13]

ขั้นตอนการประหารชีวิต[แก้]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
บรรยากาศการเบิกตัวบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ไปรับโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ขั้นตอนการดำเนินการมีกระบวนการที่คล้ายกัน แต่มีการปรับเปลี่ยนสถานที่และวิธีการให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ ดังนี้[17]

เมื่อเรือนจำกลางบางขวางในฐานะหน่วยงานของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการประหารชีวิตได้รับคำสั่งให้ประหารชีวิตผู้ใด[note 7] เรือนจำจะมอบหมายให้ฝ่ายทะเบียนประวัติตรวจสอบชื่อผู้ที่จะถูกประหารชีวิตกับแฟ้มข้อมูลที่เก็บรักษาไว้เพื่อตรวจพิสูจน์บุคคล จากนั้นเรือนจำแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในเรือนจำขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบหัวหน้าชุด เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องโทษ (พี่เลี้ยง) เจ้าหน้าที่บันทึกภาพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนประวัติผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ฝ่ายทัณฑปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รับยาและสารพิษ และเจ้าหน้าที่ฉีดยาและสารพิษ เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่ พร้อมทั้งเชิญกรรมการพยาน ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออัยการจังหวัด อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แพทย์ ผู้กำกับการตำรวจในพื้นที่ และเชิญเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อร่วมตรวจพิสูจน์บุคคลผู้ต้องโทษ จากนั้นเจ้าหน้าที่ชุดเบิกยาและสารพิษพร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปรับยาและสารพิษที่สถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ โดยจะต้องปกปิดคำสั่งและการปฏิบัติงานเป็นความลับไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องทราบก่อนเพื่อป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ อาจจะนิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนามาช่วยประกอบศาสนพิธีด้วยก็ได้

เมื่อถึงเวลาดำเนินการ พี่เลี้ยงพร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบิกตัวผู้รับโทษจากห้องขังไปยังสถานที่ธุรการเพื่อตรวจสอบประวัติ ตำหนิแผลเป็น และพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคลระหว่างผู้ถูกเบิกตัวกับทะเบียนประวัติที่เรือนจำกับทะเบียนประวัติของตำรวจ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าตรงกัน เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ผู้ต้องโทษโทรศัพท์ติดต่อญาติ เขียนจดหมายหรือทำพินัยกรรมได้ตามความต้องการ พร้อมขอช่องทางการติดต่อญาติผู้ต้องโทษเพื่อประสานงานภายหลังการประหารชีวิต เมื่อเสร็จการแล้วเจ้าหน้าที่อาวุโสอ่านคำสั่งประหารชีวิต นักโทษลงนามหรือพิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบคำสั่งนั้น แล้วนำตัวไปยังอาคารประหารชีวิตแบบฉีดสารพิษเพื่อเตรียมการในขั้นตอนต่อไป

เมื่อผู้รับโทษเข้าอาคารประหารชีวิตแล้ว พี่เลี้ยงจะนำตัวเข้าห้องย่อยรายคนโดยมีพี่เลี้ยงเข้าไปในห้องดังกล่าวด้วย ภายในห้องย่อยดังกล่าวเข้าได้ทางเดียว ผนังฝั่งตรงข้ามมีช่องหน้าต่างติดลูกกรงไปยังห้องประกอบศาสนพิธี โดยห้องย่อยดังกล่าวเรือนจำจัดอาหารมื้อสุดท้ายไว้ให้ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วนักโทษจะฟังเทศนาจากพระสงฆ์ที่ประทับในห้องประกอบศาสนพิธี หากเป็นมุสลิมเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ละหมาด เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วจะปิดตาด้วยผ้าปิดตาสำหรับนอนและเบิกนำตัวผู้รับโทษไปยังห้องฉีดสารพิษครั้งละ 2 คน ตามจำนวนเตียงที่มี ผู้รับโทษนอนบนเตียงและกางแขนตามรูปเตียงที่มีกางเขนออกมาจากตัวเตียงแล้วพันทนาการร่างกับเตียงด้วยเข็มขัดที่หน้าผาก อก ท้อง มือ ต้นแขน ขาและข้อเท้า จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมจะหาหลอดเลือดดำบนแขนแล้วแทงเข็มที่ต่อกับถุงสารน้ำและเครื่องฉีดยาหรือหลอดฉีดยาที่บรรจุสารพิษไว้ โดยเปิดให้สารพิษเข้าตัวผู้รับโทษก่อน และติดตั้งเครื่องตรวจวัดชีพจรผู้รับโทษแล้วหันหน้าจอแสดงผลให้สักขีพยานเห็น เมื่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณเริ่มการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ฉีดสารพิษที่คอยอีกห้องหนึ่งจะปิดท่อให้สารน้ำและเปิดท่อให้สารพิษแก่ผู้รับโทษ โดยฉีดสารทีละชนิดและเปิดสัญญาณไฟให้สักขีพยานทราบว่ากำลังฉีดสารใด ตามลำดับ ดังนี้

  1. โซเดียมไธโอเพนทัลหรือโปรโพฟอล เพื่อให้ผู้ถูกฉีดสารหลับลึกและไม่ได้สติ[18] ใช้ไฟสีเขียวเป็นสัญญาณ
  2. แพนคูโรเนียมโบรไมด์ เพื่อให้กล้ามเนื้อผู้ถูกฉีดสารคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อในระบบหายใจ[18] ใช้ไฟสีเหลืองเป็นสัญญาณ
  3. โพแทสเซียมคลอไรด์ เพื่อหยุดการเต้นของหัวใจของผู้ถูกฉีดสาร[18] ใช้ไฟสีแดงเป็นสัญญาณ

เมื่อฉีดสารลำดับสุดท้าย สัญญาณชีพจรจะค่อย ๆ ลดลงจนหยุดไป เจ้าหน้าที่จะปล่อยร่างไว้อย่างน้อย 5 — 10 นาที แล้วเชิญแพทย์ตรวจสอบการตาย จากนั้นเจ้าหน้าที่นำร่างบรรจุบนถาดอลูมิเนียม เจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือทั้งฝ่ายเรือนจำหรือฝ่ายตำรวจพิมพ์ลายนิ้วมือตรวจสอบบุคคล แล้วบรรจุร่างพร้อมถาดในซองเก็บศพอุณหภูมิเย็นจัดไว้อย่างน้อย 12 ชั่วโมง จากนั้นเชิญผู้บัญชาการเรือนจำและแพทย์ที่รับราชการร่วมกันยืนยันความตาย นักโทษชั้นดีขึ้นไปที่อาสานำร่างดังกล่าวถอดตรวน อาบน้ำและแต่งตัวศพใหม่ มัดตราสังข์แล้วบรรจุหีบศพแล้วนำศพออกจากเรือนจำเพื่อมอบให้ญาติ หรือจัดการศพตามสมควรหากไม่มีผู้ใดมารับร่างไป[14]

สารที่ใช้ในการประหารชีวิต[แก้]

กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ใช้สารในการประหารชีวิต ดังนี้[19]

  1. โซเดียมไธโอเพนทัล (โซเดียมเพนโททัล) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมในสารละลาย 50 ซีซี หรือโปรโพฟอลไม่น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม
  2. แพนคูโรเนียมโบรไมด์ ไม่น้อยกว่า 50 ซีซี (100 มิลลิกรัม)
  3. โพแทสเซียมคลอไรด์ ไม่น้อยกว่า 50 ซีซี (7.5 กรัม)

เจ้าหน้าที่ฉีดสารพิษ[แก้]

แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะมิได้เปิดเผยรายชื่อผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในฐานะผู้ฉีดยา ดังนี้

  • พิทักษ์ เนื่องสิทธะ[20]
  • พงษ์ อัครเทวา[21]
  • ประเสริฐ บุญมา[22]

จำนวนผู้ที่รับโทษ[แก้]

นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารชีวิตจากการยิงเป้าเป็นการฉีดยาในปี พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาตาย 7 คน ในจำนวนนี้เป็นชายทั้งหมด

ขั้นตอนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง[แก้]

ภายหลังการพิพากษาให้ประหารชีวิต[แก้]

เมื่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วส่งตัวผู้ต้องโทษนั้นเข้าคุมขังในเรือนจำแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เรือนจำที่คุมขังทำแฟ้มภาพนักโทษ 6 ชุด แต่ละชุดมีรูปถ่ายหน้าตรงและด้านข้าง ชื่อ ฐานความผิด หมายเลขคดีแดง ชื่อศาลที่พิพากษา และวันที่บันทึกภาพ พร้อมลงนามรับรองบนรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือนักโทษไว้ 3 ชุด แล้วส่งเอกสารไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

  • กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
  • พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
  • เรือนจำที่คุมขัง (แฟ้มภาพและแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ)
  • กรมราชทัณฑ์ (แฟ้มภาพ 2 ชุด)
  • ศาลชั้นต้น (แฟ้มภาพ)

หากคดีเป็นอันถึงที่สุดแล้วก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยระบุตำหนิรูปพรรณ วันพิพากษาและชั้นศาลที่สิ้นสุดคดี แต่ส่งให้กรมราชทัณฑ์ไปตรวจสอบกับแฟ้มประวัติก่อนหน้าแทนการส่งไปเก็บรักษา เมื่อแต่ละหน่วยงานได้ตรวจสอบแล้วให้แจ้งผลการตรวจสอบให้กรมราชทัณฑ์ทราบ

นอกจากนี้ให้ตรวจสุขภาพจิตและการตั้งครรภ์ พร้อมทั้งแจ้งสิทธิการขอพระราชทานอภัยโทษให้ทราบ หากผู้ต้องโทษประสงค์จะใช้สิทธินั้นให้เรือนจำช่วยดำเนินการ แล้วแจ้งการใช้หรือไม่ใช้สิทธิให้กรมราชทัณฑ์โดยด่วน[17]

ภายหลังการประหารชีวิต[แก้]

ภายหลังการดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติเสร็จสิ้นแล้ว หากญาติมาติดต่อเรือนจำจะมอบร่างนั้นไปบำเพ็ญกุศลและปลงศพ หากไม่มีผู้ใดมารับศพหรือติดต่อญาติไม่ได้ในวันถัดไปหรือหลังระยะเวลาที่กำหนดจะนำร่างนั้นเก็บไว้ที่สุสานเพื่อรอญาติมาติดต่อรับ (กรณีที่ประหารในเรือนจำกลางบางขวาง จะนำศพออกทางประตูนำศพออกที่เชื่อมระหว่างเรือนจำกับวัดบางแพรกใต้ แล้วนำศพบรรจุในช่องเก็บศพที่สร้างเฉพาะผู้ต้องโทษประหารชีวิตในวัดบางแพรกใต้) แจ้งผลการประหารชีวิตและผลการตรวจสอบความตายให้กระทรวงยุติธรรมทราบ และแจ้งการตายต่อเจ้าพนักงานปกครองออกมรณบัตร หากล่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่มีผู้ใดมารับศพไป กรมราชทัณฑ์จะนำศพนั้นไปบำเพ็ญกุศลและปลงศพตามประเพณี[14] เช่น ซีอุยที่กรมราชทัณฑ์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำร่างไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจในปี พ.ศ. 2563[23]

ประตูนำศพออกของเรือนจำกลางบางขวางมักเรียกว่าประตูแดง เนื่องจากทาสีแดงตัดกับรั้วเรือนจำที่ทาสีขาว หรือประตูผี เนื่องจากประตูนี้ไม่เปิดใช้ในสถานการณ์อื่นนอกจากการนำศพผู้ต้องโทษประหารชีวิตออกมาจากเรือนจำ ประตูนี้เปิดครั้งล่าสุดในการประหารชีวิตบัณฑิต เจริญวานิชและจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2552[24]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ดูเพิ่มในบทความการประหารชีวิตแบ่งตามประเทศ
  2. 2.0 2.1 ไม่รวมผู้ที่ถูกประหารชีวิตที่กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ดำเนินการประหารชีวิต เช่น การประหารชีวิตในที่สาธารณะตามคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือนายกรัฐมนตรีโดยทหารและตำรวจ
  3. คงตัวสะกดตามกฎหมายตราสามดวงที่พิมพ์ในหนังสือประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เขียนเป็นข้อเพื่อความสะดวกในการอ่าน
  4. พันธนาการด้วยตรวจที่ข้อเท้า สวมขื่อที่ข้อมือ คล้องคอด้วยโซ่ ตึงตัวด้วยคาไม้ และล่ามโซ่บั่นเอว
  5. เป็นยามในทางจันทรคติอัปมงคล ไม่ควรประกอบพิธีมงคลใด ๆ[10]
  6. แต่ไม่ตัดสิทธิ์ของผู้ต้องโทษที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
  7. 7.0 7.1 โดยมากมักเป็นการยกฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่อาจมีคำสั่งอื่น เช่น คำพิพากษาของศาลพิเศษหรือศาลทหารที่ไม่อนุญาตให้อุทธรณ์คำพิพากษาได้ คำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหาร คำสั่งนายกรัฐมนตรี คำสั่งให้บังคับโทษกรณีที่คดีเด็ดขาดและไม่มีการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ
  8. ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องโทษมุสลิมจะประกอบศาสนกิจด้วยตนเอง ไม่มีการเชิญผู้นำทางศาสนามาประกอบพิธี แต่จะจัดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เป็นมุสลิมดำเนินการตามหลักศาสนา
  9. เรือนจำได้จัดเตรียมอาหารมื้อสุดท้ายเช่นเดียวกับอาหารที่ใช้ประกอบเลี้ยงผู้ต้องขัง แต่ผู้ต้องโทษมีสิทธิที่จะร้องขออาหารหรือเครื่องดื่มอื่นที่สามารถจัดหาให้ได้ในช่วงเวลาที่จำกัดและไม่ขัดกับระเบียบการคุมขังผู้ต้องขัง บางครั้งผู้ต้องโทษร้องขอให้อุทิศอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการภายหลังการเสียชีวิต
  10. ขั้นตอนก่อนนำตัวไปยังพื้นที่การประหารชีวิตนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนลำดับได้ตามสถานการณ์
  11. ในเรือนจำกลางขวางจะใช้อาคาร "สถานที่หมดทุกข์" ในแดน 11 เป็นสถานที่ประหารชีวิต ซึ่งห่างจากพื้นที่ธุรการประมาณ 400 เมตร ระหว่างทางมีศาลเจ้าพ่อเจตคุปต์ หากนักโทษประสงค์จะสักการะก็สามารถกระทำได้ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่
  12. ภายหลังประกอบศาสนกิจจนถึงขั้นตอนนี้ ผู้รับโทษมักจะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง หรือพี่เลี้ยงนำพูดคุยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
  13. หากมีการประหารชีวิตผู้ต้องโทษชุดต่อไปเจ้าหน้าที่จะนำศพเข้าเก็บในห้องเก็บศพ หากไม่มีการประหารชีวิตต่อเจ้าหน้าที่จะนำร่างนอนคว่ำบนพื้นที่รับรองศพเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป
  14. ผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนแรกที่ถูกประหารด้วยการยิง ตามคำพิพากษาของศาลพิเศษในคดีกบฏนายสิบ โดยถูกประหารชีวิตที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เนื่องจากยังไม่มีพื้นที่ประหารชีวิตเป็นการเฉพาะ หลังจากการประหารครั้งนี้ อาคารสถานที่หมดทุกข์ (อาคารประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า) ในเรือนจำกลางบางขวางสร้างแล้วเสร็จ ผู้ถูกประหารรายต่อ ๆ มาจะถูกประหารในอาคารนั้น เว้นแต่มีคำสั่งเป็นอื่นไป
  15. 15.0 15.1 15.2 ประหารชีวิตโดยทหารหรือตำรวจในท้องที่ตามที่ระบุในคำสั่ง
  16. ประหารชีวิตโดยทหารหรือตำรวจในท้องที่ตามที่ระบุในคำสั่ง โดยการประหารนักโทษทั้ง 6 คนเป็นจำนวนการประหารมากที่สุดที่เกิดขึ้นในวันเดียวของประเทศไทยหลังจากการเปลี่ยนวิธีตัดศรีษะเป็นการยิงเป้าซึ่งเกิดขึ้น 2 ครั้งคือการประหารชีวิตโจรปล้นตลาดท่าเรือ 6 คนในปี.ศ. 2510 ใกล้สถานที่เกิดเหตุ นับเป็นจำนวนการประหารชีวิตที่มากที่สุดซึ่งเกิดขึ้นนอกเรือนจำกลางบางขวาง(6คน)ซึ่งเกิดขึ้นในวันเดียว ส่วนการประหารชีวิตที่มีจำนวนมากที่สุดที่เรือนจำกลางบางขวาง(6คน) คือการประหารชีวิตในัวนที่ 10 มกรคม พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นการประหารชีวิตฆาตกรชาย 6 คนจากคดีฆาตกรรมที่แยกออกจากกัน โดยมีรายชื่อดังนี้ 1.สังข์ สว่างใจ (33) 2.ใช้ กะตัญญู (40) 3.จันทา สายทัน (29) 4.พลตำรวจชั้น น้ำจันทร์ (26) 5.วัน มายัง (31) 6.สวัสดิ์ ชูนาม (28) โดยมีแอ้วหรือชั้น,สน ชูนาม พี่ชายของสวัสดิ์ เป็นผู้สมรุร่วมคิดของสวัสดิ์ ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันก่อคดีฆาตกรรมผล ชูนาม ลูกพี่ลูกน้องของเขา ที่จังหวัดราชบุรี แต่แอ้วหลบหนีไป ก่อนจะถูกจับกุมในปีพ.ศ. 2486 ละแอ้วยังได้ก่อเหตุฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลบหนีการจับกุม โดยแอ้วถูกศาลทหารกรุงเทพเนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก แอ้วถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกประหารชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 พร้อมกับพัน จูจันในคดีฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งคนละคดีกัน
  17. อดีตอันธพาลเมืองหลวงรุ่นพ.ศ. 2499 และผู้ร่วมปล้นตลาดท่าเรือ ซึ่งเป็นคนที่ไปติดต่อเช่ารถสองแถวก่อนกลุ่มคนร้ายจะจี้คนขับรถแล้วปล้นตลาดท่าเรือ เขาถูกจับกุมที่ค่ายภาณุรังษีโดยพ.ต.ท.สมหวัง เพ็ญสูตร และ ร.ต.ท. ประสาร ธนสุกาญจน์ เมื่อวันที่15 เมษายน พ.ศ.2509 และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2510 เวลา 18.42 น.ตามคำสั่งจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยใช้อำนาจมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Debating the Death Penalty" (Opinion). Bangkok Post. 2018-06-20. สืบค้นเมื่อ 2018-06-20.
  2. "Death penalty 'here to stay'". Bangkok Post. 2018-06-20. สืบค้นเมื่อ 2018-06-20.
  3. กรมราชทัณฑ์ (2024-02-22). "สถิตินักโทษประหารชีวิต ธันวาคม ๒๕๖๖" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.[ลิงก์เสีย]
  4. "Thailand". Hands Off Cain. สืบค้นเมื่อ 2018-09-09.
  5. 5.0 5.1 5.2 commons:File:ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ (๒) - ๒๔๘๑.pdf
  6. commons:File:ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑ (๑) - ๒๔๘๑.pdf
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 "วิธีคัดเลือกเพชฌฆาตและขั้นตอนก่อนประหารนักโทษของไทยโบราณ". ไทยโพสต์. 2018-07-23. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  10. วิริยะบูรณะ, อุระคินทร์ (1966). "วันยมขันธ์". ปฏิทิน 125 ปี แต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ ถึง ๒๕๒๔ (PDF). อุดมศึกษา. p. 5. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  11. s:พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาชญา พุทธศักราช 2477 (ฉะบับที่ 6) ประกอบกับs:คำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 29 เมษายน 2478 (ฉบับที่ 3)
  12. ประมวลกฎหมายอาญา
  13. 13.0 13.1 s:พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2546
  14. 14.0 14.1 14.2 พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
  15. "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06. ประกอบกับ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
  16. "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06. ประกอบกับ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (2022). คำสารภาพสุดท้ายของนักโทษประหาร (10th ed.). เพชรประกาย. ISBN 9786165786645.
  17. 17.0 17.1 s:ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ. 2546
  18. 18.0 18.1 18.2 https://www.thairath.co.th/news/society/1313416
  19. กรมราชทัณฑ์ (2003-10-16). "ประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง การกำหนดชนิด ประเภท และปริมาณของยาหรือสารพิษที่ใช้ในการประหารชีวิตนักโทษ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  20. เนื่องสิทธะ, พิทักษ์ (2023-09-18). "เพชฌฆาต มัจจุราชแห่งราชทัณฑ์ | ประหารฉีดยาครั้งสุดท้าย Part 3". คุยคุ้ยคน (Interview). สัมภาษณ์โดย หนุ่มคงกระพัน official. หนุ่มคงกระพัน official. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  21. อัครเทวา, พงษ์ (2021-02-24). ""พงษ์ อัครเทวา" เพชฌฆาตฉีดสารพิษแห่งเรือนจำบางขวาง : FEED" (Interview). สัมภาษณ์โดย สุภลักษณ์ เตชะพิชญภักดี. FEED. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  22. บุญมา, ประเสริฐ (2018-01-19). "แดนประหาร!! เรือนจำบางขวาง". ชูวิทย์ตีแสกหน้า (Interview). สัมภาษณ์โดย ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์. ไทยรัฐทีวี. สืบค้นเมื่อ 2024-02-25.
  23. "เตรียมฌาปนกิจ ซีอุย แซ่อึ้ง หลังได้สิทธิความเป็นมนุษย์กลับคืน". ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16. 2020-07-20. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.
  24. ทีมข่าวอาชญากรรม (2009-08-25). "พระสลด! นาทีฉีดยา 2 นักโทษประหาร "เศร้าน้ำตาอาบแก้ม-ขอจับชายผ้าเหลืองส่งดวงวิญญาณ"". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2024-02-22.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]