ป้อมพระจุลจอมเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ป้อมพระจุลจอมเกล้า
Chulachomklao Fort
เรือรบหลวงแม่กลอง ที่ตั้งปลดประจำการในป้อมพระจุลจอมเกล้า ภาพในปี พ.ศ. 2562
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทป้อมปราการ
สถาปัตยกรรมป้อมปืนใหญ่แบบตะวันตก
เมืองตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างมีนาคม พ.ศ. 2427
ปรับปรุงพ.ศ. 2535-2541
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างรากฐานเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ เสริมด้วยไม้ซุงวางเป็นชั้น ก่ออิฐถือปูนโครงเหล็กด้านบน

ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ป้อมพระจุล" เป็นป้อมปราการทางน้ำ ตั้งอยู่ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นเมื่อใด ไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าสร้างขึ้นในราวเดือน มีนาคม พ.ศ. 2427[1] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อป้องกันการรุกรานจากอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชัยภูมิเหมาะสม หากมีเรือรบของข้าศึกบุกเข้ามาทางปากน้ำ ป้อมแห่งนี้สร้างเป็นป้อมปืนใหญ่แบบตะวันตก และได้ติดตั้งปืนใหญ่อาร์มสตรอง 152/32 มม. (6 นิ้ว) จำนวน 7 กระบอก เป็นอาวุธหลักของป้อม ทำให้ป้อมนี้เป็นป้อมปราการของสยามที่ทันสมัยมากที่สุดในเวลานั้น

ป้อมพระจุลจอมเกล้า นอกจากจะเป็นป้อมที่พระองค์ทรงดำริให้สร้างขึ้นแล้ว พระองค์ยังได้ทรงมาทดลองยิงปืนเสือหมอบด้วยพระองค์เอง ในเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2436[2] ป้อมพระจุลยังได้ใช้เป็นที่ยิงต่อสู้กับเรือรบฝรั่งเศสในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 โดยมีพลเรือตรี พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้าขึ้นตรงกับฐานทัพเรือกรุงเทพ และได้ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อเป็นราชานุสรณ์และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และกองทัพเรือได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนเข้าชมด้วย ป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า

สืบเนื่องจากการเข้ามาของอิทธิพลชาติตะวันตกที่มาล่าอาณานิคมแถบเอเซีย อินโดจีน และการเปิดประเทศญี่ปุ่น ในสมัยรัชกาลที่ 4 นำโดยสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า "คนเอเซีย สู้ฝรั่งไม่ได้" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สยามจะไม่มีการป้องกันเกิดขึ้น แม้ว่าป้อมบนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 - รัชกาลที่ 4 จะรวมกันแล้วกว่า 20 ป้อม แต่ก็ยังเป็นป้อมโบราณที่ติดตั้งปืนใหญ่แบบเก่า รวมถึงยุทธวิธีที่แต่เดิมใช้รบทางน้ำมาเป็นระยะเวลายาวนานของสยาม นั่นคือการใช้โซ่ขึงปิดทางน้ำทำให้เรือไม่สามารถเคลื่อนไปได้ แต่กลวิธีไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เมื่อ เรือกำปั่นของฝรั่ง หรือ เรือกลไฟ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยถ่านหิน ที่ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานลมเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ทางเรือ ไทยยังจะสู้รบฝรั่งเศสไม่ได้"[3] จึงเป็นเหตุผลโดยรวมที่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญ รับสั่งให้เตรียมการป้องกันกำลังทางเรือให้ดียิ่งขึ้น โดยพระองค์พระทานเงินส่วนพระองค์เป็นจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) เพื่อให้เร่งการสร้างป้อม และซื้ออาวุธเพื่อป้องกันพระนคร ด้วยความมุ่งมั่นของพระองค์ที่จะดำรงไว้ซึ่งเอกราชของชาติ ให้หลุดพ้นจากการเข้าแทรกแทรงของชาติตะวันตก ตามที่ทรงพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีสภาในวันที่ 10 เมษายน ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ใจความตอนหนึ่งว่า

....ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สุดสิ้นไปเมื่อใด ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น...

สิ่งที่น่าสนใจในป้อมพระจุลจอมเกล้า[แก้]

ปืนเสือหมอบ[แก้]

ปืนเสือหมอบหรือปืนใหญ่อาร์มสตรอง เป็นปืนใหญ่ขนาด 152/32 มม. สร้างโดยบริษัท เซอร์ ดับบลิวจี อาร์มสตรอง (วิลเลี่ยม จอร์จ อาร์มสตรอง) ปัจจุบันคือ บริษัท วิคเกอร์ อาร์มสตรอง เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อด้วยพระราชทานเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ จำนวน 10 กระบอก (ติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าจำนวน 7 กระบอก และติดตั้งที่ป้อมผีเสื้อสมุทรจำนวน 3 กระบอก) เมื่อ พ.ศ. 2436 เพื่อใช้ประจำการในป้อมพระจุลจอมเกล้า ลักษณะเด่นคือปืนนี้ถูกติดตั้งในหลุมปืนโดยเฉพาะ การยกปืนเมื่อทำการยิง ใช้ระบบไฮโดรนิวเมติก (hydro - pneumatic) เป็นระบบกันสะเทือน ตัวแปรคือน้ำ-อากาศ เมื่อยิงไปแล้วปืนจะหมอบลง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ปืนเสือหมอบ ที่รู้จักกันทั่วไป ในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ปืนเสือหมอบเหล่านี้ก็ได้ใช้การต่อสู้กับกองเรือฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้ยังเป็นปืนใหญ่บรรทุกท้ายรุ่นแรกที่มีใช้ในกองทัพเรือ

นิวเมติกส์ นิวเมติก หรือ นิวแมติกส์ Pneumatic เป็นศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงพลังงานจากอากาศไปเป็นพลังงานกล (ก้านสูบ กระบอกสูบเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเป็นเส้นตรง หรือหมุนเป็นเส้นรอบวงกลม) โดยใช้ลมอัดเป็นตัวกลาง คำว่า ไฮดรอ และ นิวเมติกส์ มาจากภาษากรีกคือไฮโดร (hydro) หมายถึง น้ำ Pneumatic (นิวเมติกส์) บางครั้งเรียกว่า Pnuema (นิวเม, นิวมา) แปลว่า อากาศ ลมพัด

เรือหลวงแม่กลอง[แก้]

เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบประเภทเรือปริเกต (เคเก) ต่อที่อู่เรืออุระงะ เมืองโยะโกะซุกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2479 ขึ้นระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2480 และปลดระวางประจำการเมื่อ พ.ศ. 2539 รวมระยะเวลาประจำการ 59 ปี นับว่าเป็นเรือรบที่ประจำการยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพเรือไทย และเป็นเรือรบที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของโลก[4] ได้ผ่านการใช้งานในหน้าที่สำคัญหลายครั้ง เช่น เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา และใช้เป็นเรือฝึกของทหารเรือ ปัจจุบันกองทัพเรือได้ดำเนินการอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เรือรบไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ตั้งอยู่ที่บริเวณริมน้ำปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

อ้างอิง[แก้]

  1. คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย, รายงานการประชุมเสนาบดีสภา รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 2. พระราชหัตถเลขาลงวันที่ 10 เมษายน ร.ศ.112, หน้า 52
  2. แหล่งเดิม. พระราชหัถเลขาฯ ถึงเสนาบดีสภา ลงวันที่ 27 พฤษภาคม ร.ศ. 112, หน้า 318
  3. จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. เล่มเดิม. หน้า 436
  4. เรือหลวงแม่กลอง เรือรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดลำหนึ่งของไทย

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°32′16″N 100°35′01″E / 13.537662°N 100.583632°E / 13.537662; 100.583632