ข้ามไปเนื้อหา

สุดใจ ชนะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุดใจ ชนะ
เกิดพ.ศ. 2488
จังหวัดชุมพร
เสียชีวิต11 ธันวาคม พ.ศ 2545 (57 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
สัญชาติไทย
อาชีพรับจ้าง
มีชื่อเสียงจากบุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
เหตุจูงใจไม่พอใจที่กัญญาซึ่งตกเป็นภรรยาลับๆของตน ไปแต่งงานกับอธิป
พิพากษาลงโทษฐาน-ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
-มีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้
-มีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
-พกอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
บทลงโทษประหารชีวิต
รายละเอียด
ผู้เสียหายอธิป บุญร่วม
วันที่18 สิงหาคม พ.ศ. 2541
4.00 นาฬิกา (GMT+07:00)
ประเทศประเทศไทย
รัฐจังหวัดชุมพร
ตำแหน่งตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก
อาวุธปืน
วันที่ถูกจับ
28 สิงหาคม พ.ศ. 2541
จำคุกที่เรือนจำกลางบางขวาง

สุดใจ หรือน้อย ชนะ (พ.ศ. 2488 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2545) เป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนที่ 319 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้า ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยเป็นนักโทษประหารคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย ก่อนจะมีการแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงด้วยปืนเป็นการฉีดยาให้ตายในปี พ.ศ. 2546[1][2]

ประวัติ[แก้]

สุดใจเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2488 เขาอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันกับกัญญา ซึ่งเป็นลูกเลี้ยง และแม่ของกัญญา ในช่วงปีพ.ศ. 2535-2536 สุดใจได้กลับบ้านขณะที่เขาเมาสุรา ในวันดังกล่าวแม่ของกัญญาไม่ได้อยู่บ้านเนื่องจากเดินทางไปทำธุระที่กรุงเทพ สุดใจจึงข่มขืนกันยาจนสำเร็จความใคร่ และยังได้ข่มขืนเธออีกหลายครั้งในที่ครั้งที่แม่ของเธอไม่อยู่บ้าน จนกระทั่งกัญญาตั้งครรภ์ แม่ของกัญญาจึงแนะนำให้เธอไปทำแท้ง หลังจากที่เธอทำแท้ง เขาข่มขืนเธออีกหลายครั้ง[3]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 กัญญาได้แยกไปมีครอบครัวเพื่อไปแต่งงานกับอธิป บุญร่วม โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเขา[4][5]

เหตุฆาตกรรมอธิป บุญร่วม[แก้]

ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2541 อธิปกับกัญญาได้ไปรับจ้างกรีดยางพาราในสวนยางพาราของนายลอบในตำบลตะโก ต่อมาเวลา 4.00 น. สุดใจได้เดินออกจากสวนเงาะมาหาอธิปจากด้านหลัง เมื่อห่างจากอธิปประมาณ 3 เมตร สุดใจได้ชักปืนพกสั้นสีดำมายิงใส่อธิปที่ลำตัวจำนวน 1 นัด กัญญาจึงวิ่งไปหาอธิปเพื่อช่วยเหลือและสามารถส่องเห็นหน้าของสุดใจจากไฟตะเกียงแก๊สที่ติดบริเวณหน้าผากของเธอ สุดใจได้ขู่กัญญาว่า "ห้ามนําเรื่องที่เกิดขึ้นไปเล่าให้ใครฟัง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย" ก่อนจะหลบหนีกลับไปยังทางเดิม เธอจึงวิ่งไปขอความช่วยเหลือจาก อบต.ตะโก ให้ช่วยตามบิดามารดาของอธิป และแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอได้บอกกับนายดาบตำรวจเตือนดีว่าสุดใจซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของตนเป็นคนยิงอธิป [3]

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับสุดใจและนำหมายค้นของศาลจังหวัดหลังสวนไปที่บ้านของสุดใจ ภรรยาของสุดใจได้บอกว่าสุดใจไปทำงานอยู่ในเขตอำเภอหลังสวน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าสุดใจหลบหนีไปอยู่ที่ตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ และสามารถจับกุมเขาได้ในวันที่ 28 สิงหาคม ที่ฟาร์มในอำเภอพะโต๊ะ และแจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน[3]

สุดใจได้ให้การปฎิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นจับกุมโดยอ้างว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุเขาไปรับจ้างทำสวนปาล์มอยู่ที่ตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ และยังได้ปฎิเสธว่าไม่ได้ข่มขืนกัญญา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งมอบสำนวนคดีและพยานหลักฐานต่างๆให้อัยการ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีสุดใจต่อศาลจังหวัดหลังสวน[6]

การพิจารณาคดีและการประหารชีวิต[แก้]

วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ศาลจังหวัดหลังสวนได้มีคำพิพากษาว่าสุดใจมีความผิดในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพิพากษาประหารชีวิตสุดใจ เขาจึงยื่นอุทธรณ์โดยอ้างเหตุคำเบิกความของพยานมีพิรุธน่าสงสัยหลายประการ[7]

วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ยกฟ้องสุดใจและริบกระสุนปืนของกลาง แต่ให้ขังเขาไว้ระหว่างฎีกา เนื่องจากศาลได้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์แห่งความให้พิพากษายกฟ้องสุดใจ โจทก์จึงยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2544 ศาลฎีกาได้พิพากษากลับประหารชีวิตสุดใจโดยเห็นว่าข้อต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น[8][9]

สุดใจจึงทำหนังสือทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษและยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความขึ้นกราบบังคม แต่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชกระแสให้ยกฎีกา[3]

ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เวลา 16.00 เขาถูกเบิกตัวออกจากหมวดควบคุมนักโทษประหารแดนที่ 1 เพื่อดำเนินตามขึ้นตอนต่างๆก่อนประหารชีวิต เขาไม่ได้เขียนพินัยกรรมและปฎิเสธอาหารมื้อสุดท้าย เขาถูกนำตัวเข้าสู่ห้องสถานที่หมดทุกข์หลังเวลา 17.00 น. เขาถูกนำตัวไปมัดกับหลักประหารเมื่อเวลา 17.15 น. และถูกประหารชีวิตเมื่อเวลา 17.21 น. โดยเพชณฆาตเชาวเรศน์ จารุบุณย์ ใช้กระสุนจำนวน 8 นัด[10] และเป็นนักโทษประหารคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย ก่อนจะมีการแก้ประมวลกฎหมายอาญาให้เปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากการยิงด้วยปืนเป็นการฉีดยาให้ตายในปี พ.ศ. 2546[11][12]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

ลิงก์จากภายนอก[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

  • 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2553). บันทึก.....แดนประหาร คุกบางขวาง. กรุงเทพ: ดอกหญ้า 2000. ISBN 9789746907576.
  • 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2553). ปิดตำนาน เพชณฆาต. กรุงเทพ: Thinkplus. ISBN 978-974-235-886-0.
  • 'เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (2549). เพชฌฆาตคนสุดท้ายเล่มที่ 1. กรุงเทพ: ดอกหญ้า 2000. ISBN 9789749244463.
ก่อนหน้า
ส้มเกลี้ยง สร้อยพลาย
3 กันยายน 2545
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทย
สุดใจ ชนะ
ถัดไป
บุญลือ นาคประสิทธิ์ ,พันพงษ์ สินธุสังข์ , วิบูลย์ ปานะสุทธะและพนม ทองช่างเหล็ก
12 ธันวาคม 2546