สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงชินวราลงกรณ
(วาสน์ วาสโน)
สมเด็จพระสังฆราชไทย พระองค์ที่ 18
ดำรงพระยศพ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2531
สถาปนา22 มิถุนายน พ.ศ. 2517
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ก่อนหน้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
ถัดไปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พรรษา70 พรรษา
สถิตวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
ประสูติ2 มีนาคม พ.ศ. 2440
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มัทรี
สิ้นพระชนม์27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 (91 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร
พระชนกผาด นิลประภา
พระชนนีบาง นิลประภา

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ พระนามเดิม วาสน์ ฉายา วาสโน เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2517 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงอยู่ในตำแหน่ง 14 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 สิริพระชันษา 91 ปี 178 วัน

พระประวัติ[แก้]

ประสูติ[แก้]

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ มีพระนามเดิมว่ามัทรี นิลประภา ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น วาสน์ ประสูติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2440 เวลา 19.33 น. ที่ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนโตของพระชนกผาดและพระชนนีบาง นิลประภา[1]

อุปสมบท[แก้]

พระองค์ได้บรรพชา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ครั้งทรงกรมหมื่น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี(แปลก วุฑฺฒิญาโณ)เป็นพระศีลาจารย์ แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยมุนี(แปลก วุฑฺฒิญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "วาสโน"

การศึกษา[แก้]

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ตามลำดับดังนี้

ลำดับสมณศักดิ์[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
กรมหลวงชินวราลงกรณ
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพะย่ะค่ะ/เพคะ
ลำดับโปเจียมเสมอศักดิ์พระอนุวงศ์ชั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอ ทรงกรม
  • พ.ศ. 2465 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่ พระครูโฆสิตสุทธสร
  • พ.ศ. 2466 เป็นพระครูฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัตน์ ที่ พระครูธรรมธร และพระครูวิจิตรธรรมคุณ ตามลำดับ
  • พ.ศ. 2477 เป็นพระราชาคณะปลัดซ้ายฐานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ พระจุลคณิศร สัทธรรมนิติธรมหาเถราธิการ คณกิจบรรหารธุรการี สมุหบดีศรีธรรมภาณกาจารย์
  • พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถรจนาบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
  • พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี[5]
  • พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • พ.ศ. 2500 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธิจริยาปริณายก ตรีปิฎกคุณาลังการ นานานสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมากร สุนทรศีลาทิขันธ์[7]
  • พ.ศ. 2506 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[8]
  • พ.ศ. 2517 เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปกร ชินวรวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลศีลสมาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช[9]
ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช (ภาพซ้าย) และดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ภาพขวา) ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช (ภาพซ้าย) และดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ภาพขวา)
ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช (ภาพซ้าย) และดำรงพระสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ภาพขวา)


ภายหลังการสิ้นพระชนม์

  • 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ธรรมาภรณคุณวิจิตรปฏิภาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกคัมภีรญาณบัณฑิต วชิราลงกรณนริศหิโตปัธยาจารย์ วาสนภิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิศาล นิทัศนนิทานนิพนธปรีชา ปาวจนุตตมโสภณ ภัทรผลสาธารณูปการ วิมลศีลสมาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร[10]

พระกรณียกิจ[แก้]

งานพระศาสนา[แก้]

พระองค์ได้บริหารงานพระศาสนา ในการคณะสงฆ์มาโดยตลอดเป็นอันมาก พอประมวลได้ดังนี้

  • พ.ศ. 2481 เป็นกรรมการคณะธรรมยุต
  • พ.ศ. 2485 เป็นกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย เป็นคณาจารย์เอกทางรจนาพระคัมภีร์ และเป็นสมาชิกสภาสังฆสภา
  • พ.ศ. 2486 เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะตรวจการภาคกลาง และภาค 2 เป็นเจ้าคณะอำเภอพระนคร และเป็นกรรมการการสังคายนาพระธรรมวินัย
  • พ.ศ. 2491 เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเป็นเจ้าคณะตรวจการณ์ภาค 1
  • พ.ศ. 2493 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นสังฆนายก[11]
  • พ.ศ. 2494 เป็นเจ้าคณะธรรมยุต ผู้ช่วยภาค 1-2-6 และเป็นเจ้าคณะจังหวัด พระนคร-สมุทรปราการ และนครสวรรค์
  • พ.ศ. 2494 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีพระศาสนโศภน (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[12]
  • พ.ศ. 2498 เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นสังฆนายก[13]
  • พ.ศ. 2503 เป็นสังฆมนตรีว่าองค์การสาธารณูปการ ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[14]
  • พ.ศ. 2504 เป็นผู้รักษาการณ์ในตำแหน่งเจ้าคณะธรรมยุต ภาค 1-2-6 และเป็นอุปนายกกรรมการมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
  • นายกกรรมการและนายกสภาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  • เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
  • ประธานการศึกษาของคณะสงฆ์
  • ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม
  • ประธารกรรมการมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนา และมนุษยธรรม
  • เป็นองค์อุปถัมภ์ในกิจการด้านการพระศาสนา และการสงเคราะห์ในด้านต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น มูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ศูนย์และชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) สถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ และมูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นต้น

งานเผยแผ่ศาสนธรรม[แก้]

งานเผยแผ่ศาสนธรรม นับว่าเป็นงานหลักที่ทรงกระทำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ กล่าวคือ การสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในการสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย

การบรรยายธรรม ได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในพระอุโบสถเป็นประจำ การบรรยายสวดมนต์มีคำนำแปล ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันพระแรม 8 ค่ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2517

การตรวจเยี่ยมพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศทั้ง 73 จังหวัด เพื่อรับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่จะได้นำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

การแต่งหนังสือและบทความต่าง ๆ เพื่อสอนพระพุทธศาสนาในระดับต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก

งานสาธารณูปการ[แก้]

งานสาธารณูปการ การตั้งมูลนิธิต่างๆ เพื่อบำรุงพระอาราม

ทรงสร้างและให้ความอุปถัมภ์ในการสร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสาธารณสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น วัดแสงธรรมสุทธาราม จังหวัดนครสวรรค์ วัดโพธิทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาคารเรียนโรงเรียนประชาบาลวัดสระกะเทียม นครปฐม โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาบำเพ็ญบุญ วัดเสนาสนาราม หอนาฬิกา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาที่พักริมทางหลวง 8 แห่ง ศาลาทรงไทยหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร 2 หลัง และสถานสงเคราะห์คนชราวาสนเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิ่งก่อสร้างสุดท้ายคือ โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ในที่ดินที่กองทัพบกยกให้ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 90 พรรษา งานสร้างพุทธมณฑล ให้สำเร็จเสร็จทันในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานสำคัญของพระองค์ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

งานพระนิพนธ์[แก้]

งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือและบทความต่าง ๆ ทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรองไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ทิศ 6 สังคหวัตถุ 4 สัมปรายิกัตถประโยชน์ วัดของบ้าน พุทธศาสนคุณ พัฒนาใจ บุคคลหาได้ยาก มรดกชีวิต ความเติบโต วาสนาสอนน้อง จดหมายถึงพ่อ วาทแห่งวาสน์ คำกลอนสอนใจ วาสนคติ นิราศ 2 ปี สวนดอกสร้อย สักวาปฏิทิน กลอนปฏิทิน อาจารย์ดี สมพรปาก คน-ระฆัง เรือ-สมาคม วัยที่เขาหมดสงสาร และบทความเรื่องบันทึกศุภาสินี เป็นต้น

สิ้นพระชนม์[แก้]

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถร) สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะอักเสบ พระหทัยวาย ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2531 เวลา 16.50 น.[15]

วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2532 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (วาสน์ วาสโน) ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ประดิษฐานพระอัฐิ ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม[16]

ในปี พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระอัฐิของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) ในฐานะพระราชอุปัธยาจารย์เมื่อครั้งทรงผนวช ขึ้นเป็น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ" ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง 5 ชั้น ถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป[10]

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 99
  2. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณร ซึ่งได้ รับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศเปรียญ, เล่ม 34, ตอน ง, 23 ธันวาคม 2460, หน้า 2675
  3. ราชกิจจานุเบกษา, การตั้งเปรียญและเปลี่ยนพัด, เล่ม 34, ตอน ง, 23 ธันวาคม 2460, หน้า 2671-2672
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่มที่ 61, ตอนที่ 15, 19 มีนาคม พ.ศ. 2489, หน้า 154
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 64, ตอนที่ 27 ง, 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1527
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 66, ตอนที่ 66 ง, 6 ธันวาคม 2492, หน้า 5404
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่มที่ 74, ตอนที่ 107 ก, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 1567-73
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และ สมเด็จพระราชาคณะ, เล่มที่ 80, ตอนที่ 45 ก ฉบับพิเศษ, 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2506, หน้า 5-6
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช, เล่มที่ 91, ตอนที่ 106, 22 มิถุนายน พ.ศ. 2517, หน้า 4
  10. 10.0 10.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 136 (40 ข): 2. 28 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2562. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 67, ตอนที่ 43 ง, 8 สิงหาคม พ.ศ. 2491, หน้า 3374-6
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 68, ตอนที่ 38 ง ฉบับพิเศษ, 19 มิถุนายน พ.ศ. 2494, หน้า 2953-5
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งและแต่งตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 72, ตอนที่ 61 ง ฉบับพิเศษ, 13 สิงหาคม พ.ศ. 2498, หน้า 18-20
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่มที่ 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2503, หน้า 1437-9
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์, เล่มที่ 105, ตอนที่ 145, 1 กันยายน 2531, หน้า 6378
  16. ราชกิจจานุเบกษา, หมายกำหนดการ ที่ ๓/๒๕๓๒ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน), เล่ม 106, ตอนที่ 35 ง, 7 มีนาคม 2532, หน้า 1755
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
  • สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ ถัดไป
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(พ.ศ. 2517 – 2531)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฺฐายี) ไฟล์:ธรรมยุตินิกาย.gif
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
(พ.ศ. 2515 – 2531)
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก)
เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
(พ.ศ. 2491 – 2531)
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)