เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก คปท.)
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (ตัวย่อ: คปท.) เป็นขบวนการทางการเมืองภาคประชาชน มีบทบาทในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557

คปท.ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 โดยเป็นการแตกตัวแยกออกมาจากกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 ตุลาคม ปีเดียวกัน กปท.ได้เคลื่อนย้ายที่ชุมนุมจากสวนลุมพินีมาล้อมรอบทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งถึงวันที่ 10 ตุลาคม ที่ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติความมั่นคงฉุกเฉิน (พ.ร.บ.มั่นคงฯ) ครอบคลุมพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, เขตพระนคร และเขตดุสิต พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รุกคืบเข้ามาเพื่อขอคืนพื้นที่ ที่สุดทางแกนนำกปท.ก็ได้ยินยอมที่จะกลับไปชุมนุมยังสวนลุมพินีที่เดิม ยังความไม่พอใจแก่ผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่นอกรอบและกำลังเสริมกันเข้ามา จึงพร้อมใจกันที่จะแยกตัวออกมาชุมนุมต่างหากที่แยกอุรุพงษ์ เขตราชเทวี ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตพ.ร.บ.มั่นคงฯ และประกาศจัดตั้งเป็นกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยปฏิเสธว่ามิได้มีความขัดแย้งกับทางกปท.[1][2]

คปท. มีแกนนำ คือ นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (อศ.มร.) และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความแห่งสภาทนายความแห่งประเทศไทย ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) มาแล้วในปีพ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2551 โดยทั้งคู่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน[3][4]

การชุมนุมของ คปท.ปักหลักอยู่ที่แยกอุรุพงษ์ บริเวณถนนพระราม 6 ฝั่งขาเข้า โดยหลายต่อหลายครั้งได้ถูกลอบโจมตีจากระเบิดที่ถูกโยนลงมาจากบนทางพิเศษศรีรัชที่อยู่ด้านบน และถูกโรยผงหมามุ่ยเข้าใส่ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคนจนต้องนำส่งเข้าโรงพยาบาล[5][6]

จนกระทั่งถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน หลังจากกลุ่มต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เคลื่อนย้ายที่ชุมนุมจากสถานีรถไฟสามเสนมาปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินแล้ว คปท.ก็ได้ย้ายสถานที่ชุมนุมมาปักหลักที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์จนถึงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ใกล้กับทำเนียบรัฐบาลในที่สุด[7] และต่อมาในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เมื่อมีการจัดตั้ง กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ขึ้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทางแกนนำ คปท.ก็ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเหมือนกับแกนนำกลุ่มอื่น ๆ ด้วย[8]

บทบาทของ คปท. จะเป็นไปในลักษณะของการชุมนุมที่เป็นเชิงรุก โดยหลายต่อหลายครั้งเสี่ยงต่ออันตราย ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เช่น การปิดล้อมหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อไม่ให้มีการรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 26 ธันวาคม ปีเดียวกัน หรือการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาขอคืนพื้นที่ ๆ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "งัดกม.มั่นคงคุมม็อบกปท.ปิดล้อมทำเนียบ". ไทยรัฐ. 10 October 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  2. "'อุทัย ยอดมณี ' เมื่อนักศึกษาเป็นแกนนำ คปท". ไทยรัฐ. 19 October 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  3. "ม็อบยังปิดแยกอุรุพงษ์ เปลี่ยนชื่อใหม่'คปท.' จี้ ตร.เร่งหาคนร้าย". ไทยรัฐ. 10 October 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  4. 4.0 4.1 กองบรรณาธิการคมชัดลึก. บันทึกมวลมหาประชาชน. กรุงเทพฯ : คมชัดลึกมีเดีย, 2557. 204 หน้า. ISBN 978-616-737-713-1
  5. "คปท.บุกทางด่วนจี้ดูCCTVหาคนโรยหมามุ่ย". สนุกดอตคอม. 26 October 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  6. "ขว้างระเบิดปิงปองจากทางด่วนใส่ม็อบ คปท. โชคดีไม่มีเจ็บ-ตาย". มติชนออนไลน์. 30 October 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  7. "เกาะติดม็อบต้านนิรโทษกรรม 7พ.ย.56". เดลินิวส์. 7 November 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  8. ""เทือก" ตั้ง กปปส.เผด็จศึก "ระบอบแม้ว" 1 ธ.ค.วันแห่งชัย-ยึดศูนย์ราชการเบ็ดเสร็จตั้งแต่คืนนี้ ก่อนรุกคืบยึดทำเนียบ-สตช". ผู้จัดการออนไลน์. 29 November 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]