ถนนพระรามที่ 6

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ถนนพระราม 6)
ถนนพระรามที่ 6
ถนนพระรามที่ 6 บริเวณหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว6.980 กิโลเมตร (4.337 ไมล์)
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถนนจรัสเมือง ในเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันตกถนนเตชะวณิช ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

ถนนพระรามที่ 6 (อักษรโรมัน: Thanon Rama VI) เป็นถนนสำคัญสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แยกจากถนนจรัสเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนพระรามที่ 1 ที่ทางแยกพงษ์พระราม บริเวณใกล้วัดชำนิหัตถการ (วัดสามง่าม) ข้ามคลองมหานาคเข้าสู่พื้นที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี ตัดกับถนนเพชรบุรี (ทางแยกอุรุพงษ์) และทางรถไฟสายตะวันออก เข้าสู่แขวงทุ่งพญาไท ตัดกับถนนศรีอยุธยา (ทางแยกศรีอยุธยา) ถนนราชวิถี (ทางแยกตึกชัย) ข้ามคลองสามเสน และเริ่มเลียบคลองประปาในพื้นที่แขวงพญาไท เขตพญาไท ตัดกับถนนนครไชยศรี (ทางแยกโรงกรองน้ำ) ตัดกับซอยพระรามที่ 6 ซอย 34 และซอยพระรามที่ 6 ซอย 37 (ทางแยกพิบูลวัฒนา) ตัดกับถนนประดิพัทธ์ (ทางแยกประดิพัทธ์) จากนั้นไปทางทิศตะวันตก ตัดกับถนนกำแพงเพชร ทางรถไฟสายเหนือ และถนนเทอดดำริ เข้าสู่พื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต จนถึงถนนเตชะวณิช (ทางแยกวัดสะพานสูง)

ถนนพระรามที่ 6 เดิมชื่อ "ถนนประทัดทอง" สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า "ประทัดทอง" นั้นจากชื่อเครื่องลายครามที่มีภาพต้นประทัดทอง ภายหลังเรียกเพี้ยนเป็นบรรทัดทอง

ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประทัดทองตลอดทั้งสายเป็น "ถนนพระรามที่ 6" เพราะเป็นถนนที่โปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเป็นเส้นทางไปโรงกรองน้ำประปาสามเสน และต่อไปยังสะพานพระราม 6

รายละเอียดของเส้นทาง[แก้]

ถนนพระรามที่ 6 มีจุดเริ่มต้นทีจุดตัดของถนนจรัสเมืองกับถนนจารุเมือง ในเขตปทุมวัน มุ่งหน้าไปยังทิศเหนือ โดยในช่วงแรกเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร 2 ทิศทาง จนถึงแยกพงษ์พระราม จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ทิศทางเดียว (ทิศทางจากแยกพงษ์พระรามไปแยกอุรุพงษ์) ข้ามคลองมหานาค เข้าพื้นที่เขตราชเทวี มุ่งหน้าแยกอุรุพงษ์ เมื่อพ้นแยกอุรุพงษ์ ถนนพระรามที่ 6 จะมีขนาด 8 ช่องจราจร 2 ทิศทาง มีเกาะกลางถนนเป็นเสาตอม่อของทางพิเศษศรีรัชจนถึงแยกตึกชัย จากนั้นถนนจะลดเหลือ 6 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ข้ามคลองสามเสน เข้าพื้นที่เขตพญาไท และถนนจะไม่มีเกาะกลาง และเลียบคลองประปาจนถึงแยกประดิพัทธ์ จากนั้นจะเป็นถนน 6 ช่องจราจร มีเกาะกลางสำหรับเสาตอม่อทางพิเศษศรีรัชและทางลงย่านพหลโยธิน จนถึงแยกสะพานดำ และจะลดเหลือ 2 ช่องจราจร 2 ทิศทาง เลียบคลองประปาเช่นเดิม ลอดใต้ทางรถไฟสายเหนือและถนนเทอดดำริ เข้าสู่พื้นที่เขตดุสิต และสิ้นสุดที่ถนนเตชะวณิชที่สามแยกวัดสะพานสูง

รายชื่อทางแยก[แก้]

รายชื่อทางแยกบน ถนนพระรามที่ 6 ทิศทาง: แยกจารุเมือง–วัดสะพานสูง
จังหวัด กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนพระรามที่ 6 (แยกจารุเมือง–แยกวัดสะพานสูง)
กรุงเทพมหานคร 0+000 เชื่อมต่อจาก: ถนนจารุเมือง
0+580 แยกพงษ์พระราม ถนนพระรามที่ 1 ไปแยกกษัตริย์ศึก (เลี้ยวซ้ายเท่านั้น) ถนนพระรามที่ 1 ไปแยกเจริญผล (ห้ามเลี้ยวขวา)
0+950 สะพาน ข้ามคลองแสนแสบ
0+950 เชื่อมต่อจาก: ทางพิเศษศรีรัช จากดินแดง,ถนนพระราม 9,บางนา,บางโคล่,ดาวคะนอง
1+500 แยกอุรุพงษ์ ถนนเพชรบุรี ไปยมราช ถนนเพชรบุรี ไปราชเทวี
1+900 ตรงไป: ข้ามทางรถไฟสายตะวันออก
2+200 แยกศรีอยุธยา ถนนศรีอยุธยา ไปเสาวนี ถนนศรีอยุธยา ไปพญาไท
3+100 แยกตึกชัย ถนนราชวิถี ไปสวรรคโลก ถนนราชวิถี ไปชัยสมรภูมิ
3+800 แยกโรงกรองน้ำ ถนนนครไชยศรี ไปสามเสน ไม่มี
4+400 แยกวิชัยยุทธ (ด่วนคลองประปา 1) ถนนเศรษฐศิริ ไปเทอดดำริ ทางขึ้น ทางพิเศษศรีรัช ขวาไปดินแดง-ถนนพระราม 9, บางนา-ดาวคะนอง/ตรงไปบางโคล่-ดาวคะนอง
เชื่อมต่อจาก: ทางพิเศษศรีรัช จากแจ้งวัฒนะ
5+100 แยกพิบูลวัฒนา (ด่วนคลองประปา 2) ทางขึ้น ทางพิเศษศรีรัช ไปถนนแจ้งวัฒนะ, บางปะอิน, ถนนกาญจนาภิเษก (ตลิ่งชัน) พระราม 6 ซอย 34
เชื่อมต่อจาก: ทางพิเศษศรีรัช จากดินแดง,ถนนพระราม 9,บางนา,บางโคล่,ดาวคะนอง
5+800 แยกประดิพัทธ์ ถนนประดิพัทธ์ ไปสะพานแดง ถนนประดิพัทธ์ ไปสะพานควาย
6+400 ไม่มี ถนนกำแพงเพชร ไปกำแพงเพชร
6+980 แยกวัดสะพานสูง ถนนเตชะวณิช ไม่มี
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

สถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่าน[แก้]

  1. โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
  2. กระทรวงการคลัง
  3. สำนักงบประมาณ
  4. โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
  5. โรงงานผลิตน้ำสามเสน และ การประปานครหลวง
  6. กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานถนนพระรามที่ 6
  7. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
  8. องค์การเภสัชกรรม
  9. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
  12. กระทรวงอุตสาหกรรม
  13. กระทรวงการต่างประเทศ
  14. โรงพยาบาลสงฆ์
  15. กรมทางหลวง
  16. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]