มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ตราพระธาตุพนม
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมสถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น (K.I.T)
มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มภน.)
ชื่อย่อมข.[1] / KKU
คติพจน์วิทยา จริยา ปัญญา
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา25 มกราคม พ.ศ. 2507 (60 ปี)
งบประมาณ18,284,443,820 บาท
(ปีการศึกษา 2564)[2]
นายกสภาฯดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
อธิการบดีรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล
อาจารย์2,838 (ปีการศึกษา 2564) [3]
เจ้าหน้าที่8,419 (ปีการศึกษา 2564) [3]
ผู้ศึกษา39,684 คน [4] (ปีการศึกษา 2564)
ที่ตั้ง
วิทยาเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
112 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย 43000
เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยขอนแก่น
มาร์ชกาลพฤกษ์
สี  สีดินแดง
ฉายามอดินแดง
เครือข่ายASAIHL
มาสคอต
พระธาตุพนม และกาลพฤกษ์
เว็บไซต์www.kku.ac.th

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Khon Kaen University; อักษรย่อ: มข. – KKU) เดิมชื่อมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มภน.)[5] เป็นสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 10 และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 7 ของประเทศไทย ปัจจุบันอายุ 60 ปี ถือกำเนิดมาจากสถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น (K.I.T) ในปี พ.ศ. 2505 ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2507 และได้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509[6] และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510 จนกระทั่งปีพ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตั้งอยู่ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น มีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558[7] มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่นการจัดการเรียนการสอนนั้นครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ใน 19 คณะ 4 วิทยาลัย 2 บัณฑิตวิทยาลัยทั้งวิทยาเขตขอนแก่นและวิทยาเขตหนองคาย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศทางด้านการเรียนการสอน และดีเยี่ยมทางด้านการวิจัย[8] มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 330 หลักสูตร แบ่งได้เป็นหลักสูตรระดับปริญญาเอก 72 หลักสูตร ปริญญาโท 129 หลักสูตร ปริญญาตรี 105 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 24 หลักสูตร โดยสัดส่วนสาขาวิชาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีกับระดับบัณฑิตศึกษา เท่ากับ 3.0 : 7.0 และเป็นหลักสูตรนานาชาติ/ภาษาอังกฤษ ร้อยละ 11.21[9] มีนักศึกษาอยู่ในคณะและวิทยาลัยต่างๆ รวมแล้วประมาณ 39,000 คน และมีบุคลากรสายวิชาการ 2,075 คน มีตำแหน่งทางวิชาการ ระดับศาสตราจารย์ 32 คน รองศาสตราจารย์ 508 คน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 619 คน และอาจารย์ 916 คน[10] เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการสอบแข่งขันเข้าเรียนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[11]

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในปี พ.ศ. 2484 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายและโครงการที่จะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ส่วนภูมิภาค สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในระหว่างนั้น ได้เกิดสงครามเอเชียบูรพา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จึงทำให้การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยุติลงในปี พ.ศ. 2503 รัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทบทวนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนี้อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 จึงได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ขึ้น ที่จังหวัดขอนแก่น เสนอชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า "สถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น" และเสนอชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Khon Kaen Institute of Technology" มีชื่อย่อว่า K.I.T. หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อสถาบันนี้เป็น "มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มีชื่อย่อว่า "North-East University หรือ N.E.U" เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีหน่วยราชการใด ที่จะรับผิดชอบการดำเนินการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการหาสถานที่ จัดร่างหลักสูตร ตลอดจนการติดต่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศ [12]

ในปี พ.ศ. 2506 คณะอนุกรรมการได้ตกลงเลือกบ้านสีฐานเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยในเนื้อที่ ประมาณ 5,500 ไร่ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 4 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ได้มีการลงรกฐานก่อสร้างอาคาร "คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์"[13] สำนักงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ได้รับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรุ่นแรก ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2507[14] จำนวนทั้งสิ้น 107 คน โดยแยกเป็นนักศึกษาเกษตรศาสตร์ 49 คน และวิศวกรรมศาสตร์ 58 คนโดยฝากเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)

ปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น "มหาวิทยาลัยขอนแก่น" ตามชื่อเมืองที่ตั้ง และได้โอนกิจการจากสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี

ปี พ.ศ. 2509 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็น วันสถาปนามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย จอมพล ถนอม กิตติขจร และนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นในขณะนั้น ได้ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และพิจารณาแต่งตั้งให้:

  1. ฯพณฯ พจน์ สารสิน เป็นอธิการบดี
  2. ศาสตรจารย์ พิมล กลกิจ เป็นรองอธิการบดี, ผู้รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และคณะเกษตรศาสตร์
  3. ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เพียรวิจิตร เป็นผู้รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์[15]

และในปีเดียวกันนี้ ได้ย้ายนักศึกษาที่ฝากเรียนไว้ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในสถานที่ปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นสถาบันอุดมศึกษา (สถาบันอุดมศึกษา คือ สถาบันที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีสถานะทั้ง วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถาบัน) แห่งที่ 10 ของไทยถัดจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร วิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาประเภทมหาวิทยาลัยแห่งที่ 7 ของไทยถัดจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2510 [16]

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพัฒนาการมาโดยลำดับนับจากวันแรกก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งพัฒนาการของมหาวิทยาลัยเป็น ๓ ยุคคือ

ยุคที่หนึ่ง : ในช่วงทศวรรษที่ 1 และ 2 เป็นช่วงยุคของมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งภูมิภาคของประเทศ (พ.ศ. 2507-2526)

ทศวรรษที่ 1 ทศวรรษแห่งการก่อตั้ง (พ.ศ. 2507-2616)

มหาวิทยาลัยขอนแก่นในยุคเริ่มก่อตั้ง มี 3 คณะวิชาคือคณะ เกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ โดยคณะเกษตรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษารวม 107 คน ส่วนคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นคณะวิชาที่เปิดสอนวิชาพื้นฐานจึงยังไม่ได้เปิดรับนักศึกษา ในทศวรรษที่ 1 นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีการศึกษา 2510 จำนวนทั้งสิ้น 59 คน จากนั้นได้ขยายไปสู่การจัดตั้งคณะวิชาเพิ่มอีก 3 คณะวิชาคือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ โดยลำดับ

ทศวรรษที่ 2 ทศวรรษแห่งการขยายตัว (พ.ศ. 2517-2526)

เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขยายการศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งคณะวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้น 4 คณะวิชา คือ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ และจัดตั้งคณะ วิชาในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อีก 1 คณะวิชาคือ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเพื่อรองรับการขยายตัวทางการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้จัดตั้ง สำนักวิทยบริการ สถาบันวิจัยและพัฒนา และบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนภารกิจสนับสนุนการจัดการศึกษาและการวิจัยของมหาวิทยาลัย

ยุคที่สอง : ในช่วงทศวรรษที่ 3 และ 4 เป็นช่วงยุคของ มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ (พ.ศ. 2527-2546)

ทศวรรษที่ 3 ทศวรรษแห่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ. 2527-2536)

ในช่วงต้นของทศวรรษนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดตั้งคณะวิชาและหน่วยงานเพิ่มขึ้นหลายส่วนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ คณะเทคโนโลยี คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยอุบลราชธานีและวิทยาลัยสุรนารี ซึ่งต่อมามีพัฒนาการไปเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีโดยลำดับ

ทศวรรษที่ 4 ทศวรรษแห่งมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (พ.ศ. 2537-2546)

ในช่วงทศวรรษนี้ เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีคณะวิชาที่ครอบคลุมในหลายสาขาวิชา นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) ของภูมิภาค โดยในช่วงทศวรรษนี้ได้จัดตั้งวิทยาเขตหนองคาย คณะศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ และจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักทะเบียนและประมวลผล สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และสถาบันสันติศึกษา

ยุคที่สาม : ในช่วงทศวรรษที่ 5 เป็นช่วงยุคของการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และมหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน

(พ.ศ. 2547-2556)

ทศวรรษที่ 5 ทศวรรษของมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย และ มหาวิทยาลัยชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน (พ.ศ. 2547-2556)

ในช่วงทศวรรษนี้เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความเข้มแข็งทางการวิจัย จากการพัฒนางานวิจัยโดยต่อเนื่องในช่วงปลายทศวรรษที่ 4 และมีปัจจัยสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเฉพาะทางในหลากหลายสาขา ทั้งยังเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยก้าวสู่ระบบการประเมินอย่างเข้มข้น ทั้งจากองค์กรภาครัฐและองค์กรอิสระจากภายนอก เป็นช่วงที่มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานในสำนักงานอธิการบดีและคณะวิชา มีการขยายตัวทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยนานาชาติ สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มีการควบรวมศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่าภาควิชาในคณะแพทยศาสตร์ และจัดตั้งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย โดยจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์บูรณาการ คณะบริหารธุรกิจ และคณะศิลปศาสตร์

ปี พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่น [17] ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย[แก้]

  • 'ตราพระธาตุพนม ตราประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ตราพระธาตุพนม ซึ่งเป็นรูปเทพยดากระหนาบองค์พระธาตุพนมอัญเชิญมิ่งมงคลประทานแก่สถาบันสถิตเหนือขอนไม้ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง มีความหมายถึง คุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ ได้แก่

วิทยา คือ ความรู้ดี
จริยา คือ ความประพฤติดี
ปัญญา คือ ความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี

สาเหตุที่กำหนดให้พระธาตุพนมเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น เนื่องจากตระหนักว่าพระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นมิ่งขวัญสิริมงคลอันเป็นที่เคารพบูชาของ ชาวไทย-ลาว ทั้งสองฝั่งโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นเดียวกัน ที่จะต้องเป็นศูนย์รวมความคิด สติปัญญาของสังคมและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศาสตราจารย์พิมล กลกิจ ได้เดินทางไปนมัสการพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กนฺโตภาโส) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อทำพิธีขออนุญาตเชิญรูปพระธาตุพนมมาเป็นตราสถาบันอย่างถูกต้องและเป็นทางการในปี ๒๕๐๙ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตราพระธาตุพนมก็กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษาแห่งนี้[18]

  • สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีดินแดง

██ สีดินแดง[19] อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดงหรือที่เรียกว่า "มอดินแดง" อันซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย “มอ” ในความหมายของภาคอีสาน หมายถึงพื้นที่เนินดินสูงที่มีสีแดง อีกนัยหนึ่งมอดินแดง ก็คือ สมญานามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่คนรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นมหาวิทยาลัย ที่มีดินสีแดงเป็นส่วนใหญ่[20]

  • ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นกาลพฤกษ์ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Cassia bakeriana Craib วงศ์ FABACEAE (ชื่อวงศ์เดิม LEGUMINOSAE) เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกพระราชทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ลักษณะเป็นต้นไม้ขนาดย่อม พุ่มใบแบนกว้าง ดอกสีชมพู เมื่อโรยจะกลายเป็นสีขาว ออกดอกเป็นช่อช่วงฤดูหนาว เรียกกันมาแต่ดั้งเดิมว่า “กาลพฤกษ์” ด้วยเหตุที่ต้นไม้นี้ในปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อนจะทิ้งใบทั้งต้น ให้ดอกสีชมพูระเรื่อสลับขาว ดอกกาลพฤกษ์บานคราใดก็ถึงเวลาสอบไล่ ปิดปลายภาคและจบการศึกษา หมายถึงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่รุ่นพี่กำลังจะจบการศึกษาต้องออกสู่สังคมเพื่อช่วยกันสร้างสรรค์ประเทศ และเป็นช่วงที่น้องใหม่กำลังจะเข้ามาศึกษาและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนต้นไม้แห่งกาลเวลา ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และถือเป็นต้นไม้ประจำสถาบันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[21]
  • สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย คือ ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง โดยในระยะแรกๆนั้นเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง คณาจารย์ประสบอุบัติเหตุทางรถเสียชีวิตหลายท่าน คนงานถูกรถชนตาย นักศึกษาแตกแยกกัน จึงมีการจัดสร้างศาลเจ้าพ่อมอดินแดงขึ้นมาในสมัยศาสตราจารย์พิมล กลกิจ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยทำพิธียกศาลในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2509 ศาลเจ้าพ่อมอดินแดงจึงได้เป็นที่เคารพสักการะ และนักศึกษาใหม่ต้องทำพิธีไหว้เจ้าพ่อมอเพื่อฝากตัวเป็นลูกเจ้าพ่อมอดินแดงทุกคน [22]

ปี 2547 คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการก่อสร้าง ศาลาธรรมสถาน เจ้าพ่อมอดินแดงขึ้นใหม่โดยนับเนื่องเข้าเป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมฉลองในวาระที่มหาวิทยาลัยสถาปนามาครบ 40 ปี ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนนำในการดำเนินงาน

การบริหาร[แก้]

สภามหาวิทยาลัย[แก้]

สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย

ประกอบด้วย[23][24]

  1. นายกสภามหาวิทยาลัย
  2. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย
  3. อธิการบดี
  4. กรรมการสภามหาวิทยาลัยโดยตำแหน่ง ได้แก่ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานสภาพนักงาน และประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย
  5. กรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทนผู้บริหารจำนวน 4 คน
  6. กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากการเลือกตั้งของคณาจารย์ประจำ 3 คน
  7. กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากการเลือกตั้งของพนักงานมหาวิทยาลัยซึ่งมิใช่คณาจารย์ประจำ 1 คน

นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และอาจได้รับเลือกใหม่อีกได้

ทำเนียบนามกรรมการสภามหาวิทยาลัย[แก้]

ทำเนียบอธิการบดี[แก้]

ทำเนียบอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พจน์ สารสิน 14 มิถุนายน พ.ศ. 2509 - 9 เมษายน พ.ศ. 2512 [25][26]
2. ศาสตราจารย์ ดร.พิมล กลกิจ 10 เมษายน พ.ศ. 2512 - 2 กันยายน พ.ศ. 2512 (รักษาการแทนฯ)

3 กันยายน พ.ศ. 2512 - 2 กันยายน พ.ศ. 2518 [27] [28][29]

3. นิล มณีโชติ 3 กันยายน พ.ศ. 2518 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2518 (รักษาการแทนฯ)
4. หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2518 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2518 (รักษาการแทนฯ)
5.ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กวี ทังสุบุตร 12 ธันวาคม พ.ศ. 2518 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2519 (รักษาการแทนฯ)
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 - 1 มกราคม พ.ศ. 2523
6. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นพดล ทองโสภิต 5 มิถุนายน พ.ศ. 2519 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 (รักษาการแทนฯ)
20 กันยายน พ.ศ. 2526 - 19 กันยายน พ.ศ. 2529 [30]
20 กันยายน พ.ศ. 2532 - 19 กันยายน พ.ศ. 2535[31]
7. ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 (รักษาการแทนฯ)
8. ศาสตราจารย์ นาวาตรี ดร.กำจร มนุญปิจุ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 (รักษาการแทนฯ)
9. ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 - 13 กันยายน พ.ศ. 2521 (รักษาการแทนฯ)
10.ศาสตราจารย์ ดร.วิทยา เพียรวิจิตร 14 กันยายน พ.ศ. 2521 - 13 ตุลาคม พ.ศ. 2521 (รักษาการแทนฯ)
14 ตุลาคม พ.ศ. 2521 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2522[32]
11. รองศาสตราจารย์ ดร.เทอด เจริญวัฒนา 22 ตุลาคม พ.ศ. 2521 - 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (รักษาการแทนฯ)
2 มกราคม พ.ศ. 2523 - 19 กันยายน พ.ศ. 2526 (รักษาการแทนฯ)
12. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมพร โพธินาม 20 กันยายน พ.ศ. 2529 - 19 กันยายน พ.ศ. 2532 [33]
13. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วันชัย วัฒนศัพท์ 20 กันยายน พ.ศ. 2535 - 19 กันยายน พ.ศ. 2538[34]
14. รองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ 20 กันยายน พ.ศ. 2538 - 19 กันยายน พ.ศ. 2541 [35]
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 [36]
15. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุชาติ อารีมิตร 20 กันยายน พ.ศ. 2541 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 (รักษาการแทนฯ)
16. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เภสัชกร ดร.สุมนต์ สกลไชย 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 [37][38]
17. รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[39][40]
18. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (รักษาการแทนฯ)
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน
19. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธรา ธรรมโรจน์ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562 - 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562](รักษาการแทนฯ)

การศึกษา[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย 19 คณะ 4 วิทยาลัย และมีวิทยาเขตหนองคายที่ดำเนินงานภายใต้มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถอำนวยการสอนได้ 71 หลักสูตร 330 สาขาวิชา แบ่งเป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี 3 สาขา ปริญญาตรี 105 สาขา ประกาศนียบัตรหลังปริญญาตรี 26 สาขา ปริญญาโทหรือเทียบเท่า 126 สาขา และปริญญาเอก 72 สาขา

กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]

กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[แก้]

กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[แก้]

การก่อตั้งคณะ[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลักสูตรที่เปิดสอนในแต่ละคณะทั้งหมดประมาณ 330 หลักสูตรโดยจะมีการแบ่งหลักสูตรออกเป็น หลักสูตรภาคปกติ หลักสูตรภาคพิเศษ หลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรต่อเนื่อง และหลักสูตรสาขาวิชาร่วม โดยแต่ละคณะจะเป็นผู้กำหนดรายวิชาในแต่ละสาขาวิชาที่เปิดสอน

ปีที่ก่อตั้ง คณะ
2507 คณะเกษตรศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะวิทยาศาสตร์)† • คณะวิศวกรรมศาสตร์
2512 คณะศึกษาศาสตร์
2514 คณะพยาบาลศาสตร์
2515 คณะแพทยศาสตร์
2521 คณะเทคนิคการแพทย์คณะสาธารณสุขศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์บัณฑิตวิทยาลัย
2522 คณะทันตแพทยศาสตร์
2523 คณะเภสัชศาสตร์
2527 คณะเทคโนโลยี
2529 คณะสัตวแพทยศาสตร์
2531 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
2535 คณะวิทยาการจัดการ (ปัจจุบันคือคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี)
2537 คณะศิลปกรรมศาสตร์
2540 วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ
2549 คณะนิติศาสตร์
2550 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น
2551 วิทยาลัยนานาชาติ
2555 คณะบริหารธุรกิจคณะวิทยาศาสตร์ประยุกติ์และวิศวกรรมศาสตร์คณะสังคมศาสตร์บูรณาการคณะศิลปศาสตร์
2558 คณะเศรษฐศาสตร์
2563 คณะสหวิทยาการ
2564 วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์

หมายเหตุ ตัวเอียง หมายถึง ถูกยุบรวมกับหน่วยงานอื่นหรือยกเลิกหน่วยงาน

† หมายถึง เปลี่ยนชื่อหน่วยงานในภายหลัง

งานวิจัย[แก้]

การวิจัย[แก้]

จากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ “มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก” ผนวกกับปณิธานและปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น “ศูนย์รวมทางความคิด เป็นสติปัญญาของสังคม ยึดมั่นในความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นกลไกในการพัฒนาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการทุกสาขา” จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นการเฉพาะ หลายหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักบริหารการวิจัย สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์วิจัยเฉพาะทาง จำนวน 25 ศูนย์วิจัย กลุ่มวิจัย จำนวน 20 กลุ่ม และเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยให้แก่บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดให้มีการจัดตั้งกองทุนวิจัย 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีกองทุนอื่นๆอีกหลายกองทุน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดตั้งหน่วยงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายหน่วยงาน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความร่วมมือกับองค์กรระดับชาติและนานาชาติกว่า 160 หน่วยงาน จาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยได้แลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากร เครื่องมือ ห้องทดลอง และองค์ความรู้ต่างๆ

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2562 มีทั้งสิ้น 12,982 เรื่อง[43]

การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ[แก้]

ระดับปริญญาตรี[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีในระบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ระบบ Admission กลาง โดยผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-Net) โดยจะนำผลการทดสอบดังกล่าวมาเลือกคณะและสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ตามความต้องการโดยผ่านทางการคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
  • เว็บไซต์การรับบุคคลเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นในระดับปริญญาตรี คลิกที่นี่

ระดับปริญญาโท[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท[44]

  • การสอบคัดเลือก เป็นการสอบคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งภาคปกติ และภาคพิเศษ โดยทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดสอบเอง
  • การคัดเลือก เป็นการคัดเลือกครูประจำการที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่างๆ โดยมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนในภาคฤดูร้อน

ระดับปริญญาเอก[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิธีการรับบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาต่างๆ โดยการพิจารณาของมหาวิทยาลัย หรือสามารถสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ได้[44]

อันดับและมาตรฐานของมหาวิทยาลัย[แก้]

การประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย[แก้]

สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class TQC) ประจำปี 2561 แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นเพียงมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ผ่านทุกตัวชี้วัดคว้ารางวัลนี้มาได้[45] ซึ่งก่อนหน้านี้มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยเคยยื่นขอแต่ไม่สามารถผ่านตัวชี้วัดที่เข้มข้นได้ ทั้งนี้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอีกกว่า 80 ประเทศทั่วโลก [46]

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้เข้าประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในปี 2549 กล่าวได้อย่างชัดเจนว่า ได้ดำเนินการตามมาตรฐานของ สมศ. ทั้ง 8 มาตรฐาน ในระดับที่น่าพอใจ สำหรับประเด็นที่คณะผู้ประเมินฯ นำเสนอเป็นข้อสังเกตข้อเสนอแนะในรายละเอียดผลการประเมิน ทั้งในภาพรวมและจำแนกการจำแนกของหน่วยงานในแต่ละเอกสารนั้น หากมหาวิทยาลัยสามารถนำไปวิจัย และสังเคราะห์เพื่อให้เกิดรูปธรรมการดำเนินงานในอนาคตด้วยแล้ว จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเร่งเสริมคุณภาพในการดำเนินงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี เป็นมหาวิทยาลัยที่ "ดีเลิศด้านการสอน ดีเยี่ยมด้านการวิจัย"[47]

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาร่วมกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ได้จัดการประกวดระบบประกันการคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2550 โดยให้สถานศึกษาที่ได้รับรางวัลมาตรฐานเป็น สื่อกลางในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพแก่สถาบันอื่นๆ ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดจำนวน 25 แห่ง โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 20 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นชนะการประกวดสถานศึกษาที่มีระบบประกันคุณภาพได้มาตรฐาน ติดอันดับ 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษา 25 แห่งทั่วประเทศ [48]

อันดับมหาวิทยาลัย[แก้]

อันดับมหาวิทยาลัย
อันดับในประเทศ(อันดับนานาชาติ)
สถาบันที่จัด/ปีการศึกษาที่จัด อันดับ
THE (2021) 3(1001+)
THE (2019) 1(101-200)
CWUR (2019) (774)
CWUR (2018) (726)
CWUR (2017) (754)
CWUR (2016) (767)
QS (Asia) (2021) 6(151)
QS (World) (2019) (148)
QS (World) (2018) 7(178)
QS (World) (2017) 4(903)
QS (World) (2016) 6(170-180)
Webometrics (2021) 10(1,376)
Webometrics (2020) 5(809)
Webometrics (2018) 5(786)
SIR (2020) 5(701)
SIR (2014) 9(594)
uniRank (2019) 4(532)
URAP (2018) 4(903)

การจัดอันดับโดย Quacquarelli Symonds[49][แก้]

แควกเควเรลลี ไซมอนด์ส หรือ British Quacquarelli Symonds (QS) เป็นบริษัทจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีการจัดอันดับครอบคลุมในหลายมิติ เช่น การจัดอันดับเป็นระดับโลก (QS World University Rankings) ระดับทวีปเอเชีย (QS University Rankings: Asia) การจัดอันดับแยกตามคณะ (QS World University Rankings by Faculty) การจัดอันดับแยกตามรายวิชา (QS World University Rankings by Subject) การจัดอันดับคุณภาพบัณฑิต (QS Graduate Employability Rankings 2017) เป็นต้น[50]

น้ำหนักการชี้วัด การแบ่งคะแนนจะต่างกันในแต่ละสาขาวิชา เช่น ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่มีอัตราการเผยแพร่งานวิจัยสูง การวัดการอ้างอิงและh-index ก็จะคิดเป็น 25 เปอร์เซนต์ สำหรับแต่ละมหาวิทยาลัย ในทางกลับกันสาขาที่มีการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการที่น้อยกว่า เช่น สาขาประวัติศาสตร์ จะคิดเป็นร้อยละที่ต่ำกว่าคือ 15 เปอร์เซนต์ จากคะแนนทั้งหมด ในขณะเดียวกันสาขาศิลปะและการออกแบบ ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์น้อยก็จะใช้วิธีการวัดจากผู้ว่าจ้างและการสำรวจด้านวิชาการ[51]

QS Asia

  1. ชื่อเสียงทางวิชาการ (30 เปอร์เซนต์) เป้าหมายของตัวชี้วัดนี้เพื่อจะบอกว่ามหาวิทยาลัยใดมีชื่อเสียงในในระดับนานาชาติ
  2. การสำรวจผู้จ้างงาน (20 เปอร์เซนต์)
  3. อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา (15 เปอร์เซนต์) วัดจากอัตราส่วนของบุคลากรทางการศึกษาต่อจำนวนนักศึกษา และการติดต่อและให้การสนับสนุนของบุคลากรที่มีต่อนักศึกษา
  4. การอ้างอิงในรายงาน (10 เปอร์เซนต์) และผลงานของคณะ (10 เปอร์เซนต์) เป็นการรวมทั้งงานที่อ้างอิงใน Scopus และ การตีพิมพ์ผลงานโดยคณะนั้น ๆ เอง
  5. บุคลากรระดับดุษฎีบัณฑิต (5 เปอร์เซนต์)
  6. สัดส่วนคณะที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ (2.5 เปอร์เซนต์) และนักศึกษาต่างชาติ (2.5 เปอร์เซนต์)
  7. สัดส่วนของรับนักศึกษาและเปลี่ยนที่เข้ามาศึกษา (2.5 เปอร์เซนต์) และการส่งนักศึกษาออกไปแลกเปลี่ยน (2.5 เปอร์เซนต์)[52]

โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 8 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 160 ของเอเชียในปี 2563[53]

ในปี 2564 (2021) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 6 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 151 ของเอเชีย[54]

การจัดอันดับโดยไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์[แก้]

ได้ประกาศผลอันดับมหาวิทยาลัย รางวัล “THE Social Impact Ranking 2019” หรือมหาวิทยาลัยที่ดำเนินภารกิจเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบต่อสังคมพบว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 101-200 ของโลก และอันดับ 1 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 [55] เมื่อปี 2550 ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ เคยจัดอับดับสาขา เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์ และ ศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยที่วิทยาศาสตร์สุขภาพ อยู่ลำดับที่ 273 วิทยาศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 426 และด้านสังคมศาสตร์ อยู่ลำดับที่ 492 ส่วนในปี 2551 จัดอับดับให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ลำดับที่ 521 ของโลก และอันดับ 21 ของอาเซียน[56]

การจัดอันดับโดยเว็บโอเมตริกซ์[แก้]

เว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยประจำปี พ.ศ. 2558 โดยจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่างๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ในเว็บไซต์ของสถาบัน โดยพิจารณาจากจำนวน Link ที่เชื่อมโยงเข้าสู่เว็บนั้น ๆ จากเว็บภายนอกโดยวัดจากการสืบค้นด้วย Search Engine และนับจำนวนเอกสารตีพิมพ์ออนไลน์ในกลุ่มของไฟล์ .pdf .ps .ppt และ .doc และจำนวนเอกสารที่มีการอ้างอิง (Citation) แบบออนไลน์ผ่านกูเกิลสกอลาร์ (Google Scholar) โดยจะจัดอันดับปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ เดือนมกราคม และ เดือนกรกฎาคม โดยล่าสุดการจัดอันดับรอบที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 10 ของประเทศไทย และอันดับที่ 1,376 ของโลก[57]

การจัดอันดับโดยSCImago Institutions Ranking (SIR)[แก้]

เป็น การจัดอันดับสถาบันที่มีผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งจะไม่ใด้นับเฉพาะมหาวิทยาลัย แต่จะนับสถาบันเฉพาะทางด้วย เช่น สถาบันเทคโนโลยี วิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น โดยล่าสุดปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศไทย และอันดับที่ 389 ของโลก [58]

การจัดอันดับโดยCentrum voor Wetenschap en Technologie Studies[แก้]

CWTS หรือ CWTS Leiden University เป็นการจัดอันดับโดยอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของ Web of Science ซึ่งเป็นฐานข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งหมด 842 มหาวิทยาลัย จาก 53 ประเทศทั่วโลก ปี พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ในอันดับ 4 ของประเทศไทย และอันดับที่ 754 ของโลก [59]

การจัดอันดับโดยNature Index[แก้]

จัดโดยวารสารในเครือ Nature Publishing Group ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลก โดยการนับจำนวนบทความที่ตีพิมพ์ต่อปีในวารสารที่ในเครือ Nature Publishing Group โดยล่าสุดปี พ.ศ. 2559 มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ในอันดับ 18 ของประเทศไทย และอันดับที่ 57 ของโลก

การจัดอันดับโดยwww.4icu.org[แก้]

4 International Colleges & Universities (4icu.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่จัดอันดับความนิยมของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยนานาชาติทั่วโลก ปรากฏว่าในปี 2558 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยติดอันดับ 3 แห่งได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้ลำดับที่ 112, 160 และ 182 ตามลำดับ[60]

พื้นที่มหาวิทยาลัย[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,259 ไร่ ประกอบด้วยส่วนพื้นที่การศึกษา 2 เขตและส่วนพื้นที่วิจัยและปฏิบัติการ 3 เขตได้แก่

วิทยาเขตขอนแก่น[แก้]

มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตขอนแก่น ตั้งอยู่เลขที่ 123 หมู่ 16 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 5,500 ไร่ เป็นที่ตั้งของ 18 คณะ 4 วิทยาลัย และสถานที่ต่างๆ ดังนี้

คณะวิชา[แก้]

สถานที่สำคัญ[แก้]

วิทยาเขตหนองคาย[แก้]

วิทยาเขตหนองคาย เป็นวิทยาเขตแห่งแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2538 เปิดรับนักศึกษาครั้งแรก พ.ศ. 2541 ทำการเรียนการสอนใน 1 คณะวิชา 16 หลักสูตร นับได้ว่าเป็นศูนย์กลางการศึกษาของรัฐในภูมิภาคอีสานตอนบน มีสีประจำคือสีเปลือกไม้ ต้นไม้ประจำวิทยาเขตหนองคายคือต้นชิงชัน ปัจจุบันมีบัณฑิตจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มากกว่า 3,000 คน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ตั้งอยู่เลขที่ 112 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่กว่า 3,413 ไร่ เป็นส่วนกระจายการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะวิชา[แก้]

สถานที่สำคัญ[แก้]

สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรม[แก้]

ตั้งอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่ทั้งหมด 1,170 ไร่

สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์[แก้]

ตั้งอยู่ในบ้านนาดอกไม้ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,106 ไร่

สถานีทดลองและฝึกอบรม เขื่อนจุฬาภรณ์[แก้]

ตั้งอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ มีพื้นที่ทั้งหมด 70 ไร่

ชีวิตในมหาวิทยาลัย[แก้]

กิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่ของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เป็นประเพณีที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะจัดในช่วงต้นของการเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา การดำเนินรูปแบบของกิจกรรมมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละสถาบัน แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีระหว่าง รุ่นพี่ – รุ่นน้อง หรือรุ่นน้อง – รุ่นน้อง ส่งเสริมให้มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน[61]

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นกิจกรรมรับน้องใหม่เป็นกิจกรรมหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การกำกับดูแลจากมหาวิทยาลัยโดยฝ่ายพัฒนานักศึกษาให้มีการดำเนินการที่เหมาะสม และเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์ เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญในการที่จะให้นักศึกษาได้พัฒนาบุคลิกภาพทั้งอารมณ์ สังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านสติปัญญาด้วย เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพและศักยภาพทั้งด้าน วิทยา ปัญญา จริยา และสามารถนำองค์ความรู้ตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และประเทศได้ โดยอาศัยการจัดกิจกรรมเป็นสื่อกลางควบคู่ไปกับการเรียนการสอน รูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องใหม่นักศึกษารุ่นพี่จะเป็นผู้จัดขึ้น ตลอดทั้งเป็นผู้ดำเนินการควบคุมกิจกรรม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดกิจกรรมรับน้องใหม่ขึ้นมาหลายรูปแบบแต่ที่จะนำเสนอให้ทราบมีดังต่อไปนี้

หนังสือเชียร์ เชียร์กลาง กาลพฤกษ์ ช่อที่ 39 ปี 2545


กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์[62] กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีใจรักในกิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่จากการที่ได้พบและประทับใจในกิจกรรมตอนที่เป็นน้องใหม่ ความอบอุ่นของกิจกรรมการต้อนรับน้องใหม่ ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่อมาสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆให้กับนักศึกษา หรือนักศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในภาคเรียนต้น หรือที่เรียกว่า “ Freshy ” กลุ่มสัมพันธ์จะประกอบด้วยการแบ่งกลุ่มนักศึกษาใหม่ที่เข้ามาในปีการศึกษานั้นๆ เป็นกลุ่มคละกันทุกคณะ มีทั้งหมด ๒๕ กลุ่ม โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ A – Z ในที่นี้จะยกเว้นกลุ่ม F เพราะถือว่าชื่อไม่เป็นมงคลสำหรับนักศึกษา ซึ่งเป็นเกรดที่ทุกคนไม่อยากที่จะได้ ในแต่ละกลุ่มนั้นจะมีพี่เลี้ยงประจำกลุ่ม ซึ่งผ่านการฝึกซ้อมใช้เวลาในช่วงเวลาเปิดภาคเรียนที่ ๓ หรือที่เรียกกันว่า “ซัมเมอร์” นั่นเอง ตลอดระยะเวลานี้จะเป็นช่วงการฝึกซ้อม การอบรม การใช้กิจกรรมที่เหมาะสม นันทนาการสร้างความบันเทิง การ สร้างความสนุกสนาน การสร้างความเป็นผู้นำ การดูแลน้องอย่างปลอดภัย กิจกรรมสถานการณ์จำลองเพื่อให้แก้ปัญหา การร้องเพลงอย่างถูกต้อง การสร้างความเป็นหนึ่งเดียวเป็นมหาวิทยาลัยโดยไม่แบ่งว่าใครอยู่คณะใด และกิจกรรมเสริมต่างๆมากมาย เพื่อให้พี่เลี้ยงน้องใหม่มีประสบการณ์ที่หลากหลายมาถ่ายทอดให้น้องในกลุ่มของตน การจัดกิจกรรมปีที่ผ่านมานั้นใช้ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม ๓ วันก่อนเปิดภาคการศึกษา ซึ่งเป็นวันที่ พี่เลี้ยงน้องใหม่ เฝ้าคอยอย่างใจจดใจจ่ออยากที่จะทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้น้องใหม่ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมที่มีระยะเวลาไม่นานแต่ก็ทำให้พี่เลี้ยงน้องใหม่รักน้องใหม่เหมือนหนึ่งในสายเลือดเดียวกัน ผสานความเป็นหนึ่งแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยต่างๆที่อยากได้รูปแบบกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเรา แต่ก็ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบนี้ได้เป็นมหาวิทยาลัยเดียวในโลก

กิจกรรมวันรวมช่อกาลพฤกษ์และไหว้ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง[63] กิจกรรมวันรวมช่อกาลพฤกษ์และไหว้ศาลเจ้าพ่อมอดินแดง เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นติดต่อกันมาทุกปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๕เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวโดยนักศึกษาใหม่หรือน้องใหม่ทุกคนนั้นจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ความเป็นสิริมงคลปีที่ผ่านมาจะมีการลอดซุ้มแสดงความเป็นเลือดสีอิฐโดยผ่านดินแดง และสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทั้งยังเป็นการสร้างโอการสให้น้องใหม่ได้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสืบทอดวัฒนธรรมอันดีต่อไป กิจกรรมที่ผ่านมานั้นจะใช้ระยะเวลาการดำเนินกิจกรรม ๑ วันโดยแบ่งเป็น ๒ ช่วงคือช่วงเช้าเป็นการรวมน้องใหม่ตามกลุ่มต่างๆ และทยอยออกจากโรงยิมเดินออกมา เมื่อถึงสถานที่หมายจะใช้เวลาในการทวนเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่สอนโดยพี่เลี้ยงน้องใหม่ตลอดระยะเวลา ๓ วัน ของกลุ่มสัมพันธ์ ในขณะที่รอเพื่อที่จะลอดผ่านขอนแก่นจำลองที่พี่เลี้ยงน้องใหม่ทำขึ้น ก็จะดำเนินกิจกรรมนันทนาการ หรือที่เรียกอย่างติดปากว่า “ สันทนาการ ” นั่นเอง ในวันนี้กิจกรรมต่างๆที่พี่เลี้ยงน้องใหม่เตรียมมาเพื่อให้น้องเล่นระหว่างการรอลอดซุ้มเพื่อจะไปสู่การสักการบูชาศาลเจ้าพ่อมอดินแดงนั้น เป็นกิจกรรมที่สุนกสนานไม่แพ้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เลย และเป็นวันที่น้องใหม่ของแต่ละกลุ่มมากันอย่างมากมาย นับเป็นภาพที่อบอุ่นและน่าภูมิใจอย่างยิ่งที่พี่น้องแห่งทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการรับน้องแบบสร้างสรรค์และดีงามของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบัน (เชียร์กลาง) [64] กิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบัน (เชียร์กลาง) วันที่น้องใหม่ทุกคนจะมารวมกันที่สนามกีฬากลาง หรือสนามที่จัดเตรียมไว้เพื่อให้น้องใหม่ทุกคนได้พิสูจน์ความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นของตนเองหลังจากได้ร่วมกิจกรรมการรับน้องอย่างสร้างสรรค์มาอย่างหลากหลาย ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้เข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อนการเปิดภาคเรียน กิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกคน ในกิจกรรมร้องเพลงร่วมสถาบันนั้นมีนักศึกษาใหม่ พี่ๆนักศึกษารุ่นพี่ และอาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและให้กำลังใจน้องอย่างใกล้ชิด รูปแบบของกิจกรรม คือ การทดสอบการร้องเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้นำเชียร์ที่ได้รับการฝึกซ้อมมาอย่างดีมาให้จังหวะการร้องเพลงแต่ละเพลงและมีประธานเชียร์ที่เป็นนักศึกษารุ่นพี่เป็นผู้พิจารณาการ ร้องเพลงตามจังหวะที่ถูกต้องและให้คำแนะนำและดูแลเรื่องการร้องเพลงมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักศึกษาใหม่โดยหัวหน้าผู้นำเชียร์จะเป็นผู้ควบคุมจังหวะการร้องเพลง วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้เพื่อให้น้องใหม่ร้องเพลงสถาบันได้อย่างถูกต้อง เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น มีความอดทนเสียสละ เกิดความรักระหว่างน้องใหม่ด้วยกัน น้องใหม่กับรุ่นพี่ ตลอดจนเกิดความภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยขอนแก่นไม่เกิดการแบ่งแยกคณะ การร่วมกิจกรรมนั้นจะแบ่งน้องใหม่ตามกลุ่มสัมพันธ์ A – Z ยกเว้น F โดยเรียงตามลำดับระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมนั้นจะอยู่ในช่วง 2 วัน ระหว่างเวลา 17.00-24.00 น. ในวันก่อนเปิดภาคการศึกษาหรือวันแรกเปิดการศึกษาเป็นเพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนของนักศึกษาใหม่

กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่และปลูกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น[65] กิจกรรมตักบาตรน้องใหม่และปลูกต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของไทย และการสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ที่ถือว่าการมาอยู่ที่อยู่ใหม่นั้นสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงเป็นอันดับแรกคือการสร้างกำลังใจและความดีงาม การจัดกิจกรรมของทุกปีนั้นน้องใหม่จะมารวมตัวกันที่บริเวณสนามกีฬากลางตั้งแต่เวลาเช้าตรู่เพื่อมาตักบาตรข้าสารอาหารแห้งตามแต่จิตศรัทธาของผู้ที่มาตักบาตร แต่เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์อนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของไทย นอกจากนี้ในวันเดียวกันจะเป็นกิจกรรมการปลูกต้น"กาลพฤกษ์" ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่นตามพื้นที่บริเวณต่างๆของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นและเป็นการลดสภาวะโลกร้อนได้อีกทาง นับว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นเริ่มรณรงค์เกี่ยวกับการลดสภาวะโลกร้อนมานานแล้ว ระยะเวลาการจัดกิจกรรมนั้นเป็นการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวัน และในวันเดียวกันนี้เองอาจมีการบริจาคโลหิตเพื่อเป็นการกุศลได้อีกทางหนึ่ง นับว่ามาวันนี้แล้วได้ทำความดีหลายๆอย่างเป็นความสุขของการเริ่มต้นการศึกษาในแดนขุมปัญญาของอีสานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว และในบางปีอาจมีกิจกรรมการแข่งกีฬากลุ่มสัมพันธ์เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีอีกทางหนึ่ง

กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่[66] กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่ เป็นกิจกรรมสร้างขวัญกำลังใจที่ดีของน้องใหม่ทุกคนโดยน้องใหม่ทุกคนจะได้เข้าร่วมพิธีที่หอประชุมอเนกประสงค์กาญจนาอภิเษกมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัย รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ คณาจารย์ รุ่นพี่และบุคคลต่าง มีส่วนร่วมในพิธีด้วย การผูกข้อมือนั้นเป็นการแสดงความห่วงใย กำลังใจและความรักที่มีต่อกัน การดำเนินกิจกรรมจะอยู่ในช่วงเสาร์ หรืออาทิตย์ของสัปดาห์แรกในการเปิดภาคเรียน เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและเรียกขวัญกำลังใจให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ตามคติความเชื่อของชาวอีสาน การร่วมกิจกรรมนั้นน้องใหม่จะต้องแต่งกายเป็นชุดเสื้อม่อฮ่อมเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ที่เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน โดยในวันนี้พี่เลี้ยงน้องใหม่ที่ดูแลน้องใหม่มาตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมการรับน้องใหม่นั้นก็จะมาดูแลน้องทุกคนและร่วมร้องเพลงเพื่อสร้างกำลังใจในการเรียนรู้และต่อสู้กับปัญหาชีวิตที่จะเกิดขึ้นในระหว่างความรับผิดชอบที่ตนต้องประสบพบเจอในมหาวิทยาลัย

ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยรวมคือสร้างความเป็นสิริมงคลให้เกิดขึ้นแก่น้องใหม่ ให้น้องใหม่เกิดความรัก ความภูมิใจในสถาบัน เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เน้นความมีระเบียบวินัย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องและเพื่อให้น้องใหม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นอย่างดี

ส่วนการเรียนในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะใช้เวลาใกล้เคียงกับการเรียนใน มหาวิทยาลัยอื่น โดยทั่วไปจะใช้เวลา 4 ปีในการเรียน แต่สำหรับคณะศึกษาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จะใช้เวลา 5 ปี ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์จะใช้เวลา 6 ปี ตลอดระยะเวลาการเรียน มีทั้งการเรียนในคณะของตนเอง และการเรียนวิชานอกคณะได้ พบปะกับบุคคลในคณะอื่น นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหลายอย่าง ไม่ว่าการเข้าชมรมของมหาวิทยาลัย การเข้าชมรมของคณะ การเล่นกีฬา หรือการพบปะกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกันที่

งานลอยกระทง

งานลอยกระทงจัดขึ้นทุกทุกปีในวันลอยกระทง โดยจัดให้มีการประกวดกระทง ประกวดนางนพมาศ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และ การแสดงของมหาวิทยาลัยซีหนาน (Southwest University) ประเทศจีนที่สวยงามตระการตา ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยการจัดงานประเพณีลอยกระทงนั้น เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ให้การทำนุบำรุงและการสนับสนุนมาโดยตลอด ทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ

พิธีสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดง

พิธีสักการะศาลเจ้าพ่อมอดินแดงจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ พฤศจิกายน ณ มณฑลพิธีศาลเจ้าพ่อมอดินแดง ถือเป็นงานประเพณีที่ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงถึงความเคารพบูชา และความศรัทธาของบุคลากร นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีต่อศาลเจ้าพ่อมอดินแดง การจัดงานได้กำหนดให้มี พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อมอดินแดง การแสดงมหรสพสมโภช เช่น ภาพยนตร์ หมอลำ ลิเก การแสดงจากชมรมนักศึกษาและการแสดงศิลปินพื้นบ้านอีสาน เป็นต้น

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์และอาสาสมัคร

การออกค่ายอาสาสมัครของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีหลายองค์การ เช่น ชมรมอาสาพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะได้รับการเสนอชื่อการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จะต้องเป็นนิสิตที่ทำกิจกรรมในด้านต่า เป็นการพัฒนานิสิตในด้าน จริยธรรมและคุณธรรม วิชาการและทักษะวิชาชีพ สุขภาพ โดยเป็นการพัฒนาตนเองและเป็นการทำประโยชน์แก่สังคมอีกด้วย

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2511 และได้เสด็จพระราชดำเนินในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยพระองค์เองเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2541 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

ซึ่งวันพระราชทานปริญญาบัตร จัดให้อยู่ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นประจำทุกปี ตามอย่างคราวรับพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในคราวรับพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกนั้นจัดขึ้นที่ตึกอธิการบดี อาคาร 2 ชั้น 2 โดยนักศึกษาจะนั่งรับปริญญากับพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิดซึ่งนับเป็นพระกรุณาเป็นล้นพ้น และในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกนั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิต ซึ่งเป็นปริญญาใบแรกของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อความเป็นศิริมงคล

ครุยวิทยฐานะ[แก้]

ครุยวิทยฐานะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นชุดพิธีการซึ่ง ปัจจุบัน ใช้ในพิธีมอบปริญญาบัตรเพื่อแสดงถึงปริญญา วิทยฐานะที่ได้จากการสำเร็จการศึกษา ครุยวิทยฐานะสำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการใช้ครุยวิทยฐานะสำหรับมหาวิทยาลัยรัฐโดยไม่ชอบนั้นมีโทษ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ครุยแบบโบราณพระราชพิธีไทย ลักษณะแบบครุยจะเป็นชุดครุยคล้าย ๆ ชุดครุยพระยาแรกนา หรือขุนนางสมัยโบราณหรือที่เรียกว่าครุยเทวดา

ลักษณะครุยวิทยะฐานะ

  • ครุยดุษฎีบัณฑิต

ทำด้วยผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีขาว มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง เว้นระยะ 0.5 เซนติเมตร มีแถบสักหลาดสี ตามสีประจำมหาวิทยาลัย ขนาด 0.5 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 0.5 เซนติเมตร มีแถบทอง ขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางมีพื้นสักหลาดสีดำขนาด 2 เซนติเมตร ตรงกึ่งกลางติดทับด้วยสักหลาดสีตามสีประจำมหาวิทยาลัย ขนาด 1 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 4 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนสักหลาด ตอนหน้าอกทั้งสองข้าง สำรดที่ต้นแขน เช่นเดียวกับสำรดรอบขอบ แต่ตอนกลางมีพื้นสักหลาดสีดำ ตรงกึ่งกลาง ห่างจากขอบ 0.5 เซนติเมตร ติดทับด้วยสักหลาดสีตามสีประจำมหาวิทยาลัย จำนวน 3 เส้น แต่ละเส้นคั่นด้วยแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร โดยเว้นระยะระหว่างแถบ 0.5 เซนตเมตร

  • ครุยมหาบัณฑิต

เช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่ตอนกลางของสำรดที่ต้นแขนมีแถบ สักหลาดสีตามสีประจำมหาวิทยาลัย จำนวน 2 เส้น คั่นด้วยแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร โดยเว้นระยะระหว่างแถบ 0.5 เซนติเมตร

  • ครุยบัณฑิต

เช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่ตอนกลางของสำรดที่ต้นแขนมีแถบสักหลาดสีตามสีประจำมหาวิทยาลัย จำนวน 1 เส้น

  • ครุยประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง

เช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่ตรามหาวิทยาลัยทำด้วยโลหะสีทอง

  • ครุยประกาศนียบัตรบัณฑิต

เช่นเดียวกับครุยบัณฑิต แต่ตรามหาวิทยาลัยทำด้วยโลหะสีทอง

  • ครุยประจำตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัยและอุปนายกสภามหาวิทยาลัย

เป็นครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว มีสำรดรอบขอบและที่ต้นแขนกับปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาดสีขาว มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทับบนริมทั้งสองข้าง เว้นระยะ 0.5 เซนติเมตร มีแถบสักหลาดสีตามสีประจำ มหาวิทยาลัย ขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 0.5 เซนติเมตร มีแถบทอง ขนาด 1 เซนติเมตร ตอนกลางมีพื้นสักหลาดสีแดงชาด ติดแถบสักหลาดสีตามสีประจำมหาวิทยาลัย ขนาด 3 เซนติเมตร ทั้งสองข้างโดยติดห่างจากขอบสักหลาดสีแดงชาด 0.5 เซนติเมตร และมีตรามหาวิทยาลัยทำด้วยโลหะสีทองขนาดสูง 4 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรดบนสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง และมีสร้อยทำด้วยโลหะสีทองพร้อมด้วยเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดระหว่างตรามหาวิทยาลัยทั้งสองข้าง ยึดติดกับครุยประมาณร่องหัวไหล

  • ครุยประจำตำแหน่งของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย

เช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งของนายกสภามหาวิทยาลัย แต่ไม่มีสร้อย[67]

การเดินทาง[แก้]

รถสองแถว[แก้]

การเดินทางจากภายนอกเข้ามาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีรถสองแถวที่วิ่งเข้าไปในมหาวิทยาลัย 7 สาย ดังนี้ [68]

  • สาย 4 19 และ 20 ผ่านบริเวณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ - ประตูมอดินแดง
  • สาย 5 และ 10 ผ่านบริเวณ ประตูสีฐาน
  • สาย 8 เก่า ผ่านบริเวณ ประตูสีฐาน - ศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์)
  • สาย 8 ใหม่ ผ่านบริเวณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ - ศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์)

รถตู้โดยสาร[แก้]

รถตู้โดยสาร ปอ.14 จะแบ่งเป็น 2 จุดจอด คือ ศูนย์อาหารและบริการ 1 (คอมเพล็กซ์) และกังสดาล ซึ่งผ่านบริเวณ เซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น และ บขส.3

รถขอนแก่นซิตี้บัส[แก้]

  • รถขอนแก่นซิตี้บัส สายสีเขียว (บขส.3 - สนามบิน) จอดบริเวณสะพานลอยฝั่งตรงข้ามประตูสีฐาน(ไปสนามบิน) และป้อม รปภ.ประตูสีฐาน (ไป บขส.3) [69]

รถโดยสารภายใน KKU Smart Transit[70][71][แก้]

สำหรับรถโดยสารภายใน สามารถแบ่งเป็น 4 สาย

ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรีที่มีชื่อเสียง[แก้]

ดูบทความหลักที่ รายนามบุคคลสำคัญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลากหลายตั้งแต่บุคคลสำคัญในด้านการเมืองการปกครอง นักวิชาการ ศิลปิน ข้าราชการและคณาจารย์ เช่น

อ้างอิง[แก้]

  1. การกำหนดรหัสตัวพยัญชนะประจำกระทรวงและเลขที่หนังสือออกของ กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2564
  2. งบประมาณเงินรายได้กลางปีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เก็บถาวร 2021-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 16 กรกฎาคม 2564.
  3. 3.0 3.1 "สถิติบุคลากรจำแนกตามหน่วยงานและประเภทบุคลากร ฐานข้อมูลกองทรัพยากรบุคคล ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2564". มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. จำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น สืบค้น 12 กรกฎาคม 2564.
  5. "ชื่อเดิมมหาวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-06. สืบค้นเมื่อ 2018-05-30.
  6. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๐๘
  7. พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๖๖ ก หน้า ๒๕ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘
  8. อันดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา#แบบแบ่งกลุ่ม
  9. "หลักสูตรการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-04. สืบค้นเมื่อ 2009-02-08.
  10. สารสนเทศ 2555 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  11. Top 10 ผู้ยื่นเลือกสูงสุด 2561 โปรแกรมจำลองแอดมิชชัน, Admission Premium สอบเข้ามหาวิทยาลัย, 29 มิถุนายน 2561.
  12. ประกาศสภาร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนกิจการการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ....
  13. ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์, "สารจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น", 30 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น : มหาวิทยาลัย, 2537, หน้า 3
  14. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะเกษตรศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 63
  15. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  16. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๐๘
  17. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๕๘, ราชกิจจานุเบกษา, วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม 2558
  18. หนังสือที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น พุทธศักราช 2552 : ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดน่ครพนม 25 ตุลาคม 2552
  19. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๘๔, ตอน ๑๑๗ ก ฉบับพิเศษ, ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐, หน้า 7
  20. MEMOIR Khonkaen University (หนังสือรับน้องรุ่นที่ 39),2545
  21. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครบรอบ 10 ปี. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2517
  22. สัมภาษณ์ ผศ.เข้มแข็ง สีตะธนี 21 ตุลาคม 2531 หนังสือครบรอบ 25 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  23. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-12. สืบค้นเมื่อ 2019-09-24.
  24. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-18. สืบค้นเมื่อ 2019-09-24.
  25. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  26. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  30. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  31. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  32. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  33. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  34. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  35. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  36. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  37. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  38. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  39. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  40. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  41. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีการับวิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. ๒๕๔๐ วิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนกนครราชสีมา สรรพสิทธิประสงค์ สุรินทร์ อุดรธานี และวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม จำนวน ๕ แห่ง, เล่ม ๑๑๔, ตอน ๗๖ ก, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐, หน้า ๑
  42. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่อง สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒
  43. ฐานข้อมูล KKU Scholar สืบค้นวันที่ 2 กรกฎาคม 2562
  44. 44.0 44.1 คู่มือนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีการศึกษา 2555
  45. "เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ปี 2561-2562 (ฉบับลิขสิทธิ์)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-06-27. สืบค้นเมื่อ 2019-06-27.
  46. หนังสือพิมพ์อีสานบิซ, มข.1ใน13องค์กรไทยคว้ารางวัล”บริหารจัดการเยี่ยมระดับโลก”ต้นแบบรางวัลคุณภาพแห่งชาติที่ต่างประเทศนำไปประยุกต์ใช้ เก็บถาวร 2019-06-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 5 กุมภาพันธ์ 2562.
  47. "บทสรุปผู้บริหาร รายงายผลการประเมินคุณภาพภายนอก สถาบันอุดมศึกษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-11. สืบค้นเมื่อ 2009-02-16.
  48. "มข.ชนะการประกวดสถานศึกษาที่มีระบบประกันคุณภาพได้มาตรฐาน ติดอันดับ 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2009-05-03.
  49. http://www.topuniversities.com/
  50. QS Quacquarelli Symonds Limited. “Khon Kaen University.” เว็บไซต์ QS Quacquarelli Symonds . http://www.topuniversities.com/universities/khon-kaen-university#331315 (20 มิถุนายน 2563 ที่เข้าถึง).
  51. QS. QS World University Rankings: Methodology. September 11, 2015. http://www.topuniversities.com/university-rankings-articles/world-university-rankings/qs-world-university-rankings-methodology (accessed june 29, 2016).
  52. QS. QS University Rankings: Asia methodology. 13 June 2016. http://www.topuniversities.com/asia-rankings/methodology (accessed 29 June 2016).
  53. QS Asia Ranking 2020
  54. QS Asia Ranking 2021
  55. ขอนแก่นลิงก์, ม.ขอนแก่น มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ประเทศไทย จากองค์กรโลก, 7 เมษายน 2562.
  56. Khon Kaen University
  57. http://www.webometrics.info/en/detalles/kku.ac.th
  58. SIR Methodology General considerations
  59. CWTS Leiden Ranking
  60. ASTVผู้จัดการออนไลน์, มข. ปลื้ม! เว็บไซต์ ติดอันดับ160 ของโลก อันดับ 24 ของเอเชีย เก็บถาวร 2009-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 13 มกราคม 2552 11:50 น.
  61. สาวสายเดี่ยว. (ม.ป.ป.). รับน้องอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง[ลิงก์เสีย]. ค้นข้อมูล 20 กรกฎาคม 2549,
  62. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  63. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  64. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  65. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  66. คู่มือพี่เลี้ยงน้องใหม่ 2553
  67. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.
  68. http://www.kkmuni.go.th/center/images/data/road-cardmay-khonkaen.pdf
  69. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-06. สืบค้นเมื่อ 2019-07-06.
  70. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-14. สืบค้นเมื่อ 2022-08-10.
  71. https://www.facebook.com/kkusmarttransit/

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 16°27′42″N 102°49′02″E / 16.4616037°N 102.8173542°E / 16.4616037; 102.8173542