วัดสิริมหากัจจายน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสิริมหากัจจายน์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดธาตุ
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ไทย ประเทศไทย 43000
ประเภทวัดราษฏร์มหานิกาย
นิกายเถรวาท มหานิกาย
จุดสนใจพระธาตุกลางน้ำ (พระธาตุหล้าหนอง)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสิริมหากัจจายน์ หรือ วัดธาตุ เป็นวัดราษฎร์ นิกายเถรวาท (มหานิกาย) ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

ประวัติ[แก้]

พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20–22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน

ในหนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้ สร้างโดยพระอรหันต์ 5 องค์ ประกอบด้วย พระมหารัตนเถระ, พระจุลรัตนเถระ, พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ, พระจุลสุวรรณปราสาทเถระ และพระสังฆวิชัยเถระ ที่ล้วนเป็นศิษย์พระพุทธรักขิต พระธรรมรักขิต พระสังฆรักขิต พระอรหันต์ทั้ง 3 องค์

พระอรหันต์ทั้ง 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จากประเทศอินเดียมาพร้อมกันและได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้พร้อมกัน 6 แห่ง คือ

ภาพวาดพระธาตุหล้าหนอง จากบันทึกการสำรวจแม่น้ำโขงของฟรองซัวส์ การ์นิเยร์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส วาดเมื่อ พ.ศ. 2411

พระธาตุองค์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับองค์เจดีย์พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งบริเวณวัดธาตุแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ และตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง พอถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำโขงได้ไหลเชี่ยวกรากจะกัดเซาะตลิ่งบริเวณวัดธาตุจนพังทลายหายไป ซึ่งตามพงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ ตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ได้บันทึกไว้ว่า "ศักราชได้ 209 ปีเมิงมด ... เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำวันศุกร์ ยามแลงใกล้ค่ำมื้อฮับไค้ พระธาตุใหญ่หนองคายเพ (พัง) ลงน้ำของมื้อนั้นแล" คำนวณตามปฏิทินไทยปัจจุบัน ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีมะแม นพศก จ.ศ. 1209 ส่วนทางสุริยคติตรงกับวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2390

ฟรองซัวส์ การ์นิเยร์ ชาวฝรั่งเศส หนึ่งในคณะสำรวจอินโดจีนในอาณาจักรล้านช้าง ได้วาดภาพลายเส้นของพระธาตุหล้าหนองนี้ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2411 พร้อมคำบรรยายภาพว่า "ปิรมิด หรือองค์พระธาตุตั้งอยู่บนพื้นที่รูปครึ่งวงกลมที่ถูกตัดขาดจากฝั่งแม่น้ำด้านขวา หรือฝั่งไทย โดยปิรมิดแห่งนี้ถูกน้ำพัดขาดจากที่ตั้งเดิมบนริมฝั่งสิบปีมาแล้วและยังเอียงลงสู่น้ำราวกับเรืออับปางที่พร้อมจะจมลง"

ปัจจุบัน[แก้]

พระธาตุหล้าหนองจำลอง สร้างขึ้นโดยอ้างอิงตามรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระธาตุหล้าหนององค์เดิมที่พังลงแม่น้ำโขง

ปัจจุบันองค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร

พระธาตุหล้าหนอง เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคาย และชาวบ้านได้จัดงานประเพณีเกี่ยวกับพระธาตุในทุกปี คือประเพณีบุญบั้งไฟ เดือน 6 เพื่อจุดถวายองค์พระธาตุ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พิธีบวงสรวงองค์พระธาตุ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ถวายปราสาทผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และการแข่งเรือยาววันออกพรรษาทุกปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

การที่องค์พระธาตุจมลงไปในแม่น้ำโขง ทำให้ชาวหนองคายต้องการบำรุงรักษาพุทธสถานแห่งนี้ไว้ จึงร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ การสร้างองค์พระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้น แล้วบรรจุชิ้นส่วนพระธาตุองค์จริงเข้าไว้ข้างใน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำโขงขึ้น โดยขนาดพระธาตุองค์จำลอง ฐานกว้าง 10x10 เมตร ความสูงประมาณ 15 เมตร พร้อมทั้งการเสริมสร้างเสถียรภาพตลิ่งและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตลอดความยาว 194 เมตร