วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
College of Computing, Khon Kaen University
ชื่อย่อวค. / CP
สถาปนา1 กันยายน พ.ศ. 2564 (2 ปี)[a]
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณบดีรศ.ดร. สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา
ที่อยู่
วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ เลขที่ 123 หมู่ 16 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40002
มาสคอต
███ สีน้ำเงิน
เว็บไซต์https://computing.kku.ac.th

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ : College of Computing, Khon Kaen University) เป็นส่วนงานเทียบเท่าคณะวิชาโดยยกฐานะจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ไปสู่การบริหารจัดการตามพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยจะเป็นองค์กรที่สามารถผลิตผลงานวิจัย ผลิตนักศึกษา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและทิศทางการพัฒนาของประเทศ นอกจากนั้นยังมีความคาดหวังให้หน่วยงานใหม่นี้เป็นองค์กรที่มีอัตลักษณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

จากผลสำรวจตลาดแรงงาน และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทย ตำแหน่งงานด้านไอที นับเป็นอีกสาขาที่มีความต้องการสูง ในระดับต้นๆ มาโดยตลอด ความต้องการของตลาดแรงงานในยุค Thailand 4.0 ประกอบกับนโยบายการพัฒนาประเทศของภาครัฐ นำมาสู่แนวคิดการผลิตบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่บัณฑิต แนวคิดในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงด้านเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ได้พูดถึงอยู่เสมอเพื่อให้รองรับนโยบายการพัฒนาของภาครัฐอีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าให้แก่บัณฑิตเป็นที่ต้องการในตลาดงานขั้นสูงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้เกิดขึ้น[1]

ด้วยแนวคิดนี้เอง ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาตามคำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นแต่งตั้งกรรมการกำหนดแนวทางการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ที่ 3051/2564 ลงวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยมอบหมายให้ ศ.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานกรรมการและมี คุณ คุรุจิต นาครทรรพ รศ.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นกรรมการ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อเสนอ “แพลตฟอร์มการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์” และ “แผนพัฒนาความเป็นเลิศการจัดตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์”[2] และในการประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 จึงได้มีประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1793/2564[3] เรื่องการจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีชื่อว่า “วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์”[4] โดยยกฐานะจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีมาแล้ว 21 รุ่น และปริญญาโทมาแล้วมากกว่า 10 รุ่น ปัจจุบันสาขาวิชาเปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวม 5 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์[5] สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ และสาขาวิชาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ปัจจุบันวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์มีอาจารย์ประจำวิทยาลัยฯ จำนวน 38 ท่าน โดยมีอาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ

  • ศาสตราจารย์จำนวน 2 ท่าน
  • รองศาสตราจารย์ 6 ท่าน
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 18 ท่าน

ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอก 35 ท่าน คิดเป็นร้อยละ 92 ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมด

ส่วนงาน[แก้]

สำหรับการแบ่งส่วนงานการบริหารและการจัดการศึกษาได้กำหนดให้มีโครงสร้างสำคัญคือ[2]

  • กองบริหารงานวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์
  • หน่วยงานตามภารกิจเฉพาะหรือยุทธศาสตร์
    • ศูนย์ภูมิสารสนเทศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์
    • ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล
  • การการบริหารวิชาการ ประกอบด้วย 1 สาขา คือ
    • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Department of Computer Science)

ในเรื่องของหลักสูตรการสอนซึ่งยังมีหลักสูตรระดับทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาโดยคงหลักสูตรเดิมพร้อมทั้งการเปิดหลักสูตรใหม่ โดยเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านวิทยาการข้อมูลและเอไอ (โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่) หลักสูตรด้านวิศวกรรมข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูล, การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์,โฟโตแกรมเมตรีและการสำรวจทางอากาศ, อินเทอร์เน็ต GIS สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่, ไอโอทีและการทำฟาร์มอัจฉริยะในปีการศึกษานี้ และในปีการศึกษา 2565 ในหลักสูตรด้าน ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (BI) / กระบวนการอัจฉริยะ , วิศวกรรมซอฟต์แวร์, แอปพลิเคชันมือถือ/เว็บ , AI & การเรียนรู้ของเครื่อง , ไอโอที /ระบบไร้สาย / ความปลอดภัย และหลักสูตรด้านภูมิสารสนเทศ

ความร่วมมือ[แก้]

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความสำคัญการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายในประเทศและต่างประเทศด้านการวิจัยและวิชาการ ทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ และทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาภายในประเทศ เป็นความร่วมมือในด้านวิชาการเน้นการผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) การพัฒนาเครือข่ายนักวิจัยและแลกเปลี่ยนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดประชุมสัมมนาวิชาการ โดยเป็นเครือข่ายความร่วมมือวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ 20 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายนอก เช่น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สมาคมการค้าซอฟต์แวร์และธุรกิจนวัตกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริษัท สยามชำนาญกิจ จำกัด และ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน)

สำหรับความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศหรือนานาชาติ เช่น ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่น Hanoi University of Science and Technology, Hanoi (Vietnam) Hue University, Hue (Vietnam) ความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย เป็นการแลกเปลี่ยนนักวิจัยทั้งระดับอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกเพื่อทำวิจัยกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น University of Louisiana at Lafayette, United State of America Queensland University of Technology, Australia Nanyang Technological University,Singapore Mälardalen University, Sweden และ ความร่วมมือกับ 14 สถาบัน ผ่านหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ภายใต้การสนับสนุนของ Erasmus+: Capacity building in the field of higher education จากกรรมาธิการยุโรป มหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Leiden University (LEU), Netherlands University of Minho (UMI), Portugal Athens University of Economics and Business (AUEB), Greece University of Sri Jayewardenepura (USJP), Sri Lanka

ดังนั้น การสร้างกําลังคนให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม การผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถครอบคลุมศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ที่สำคัญ 5 ด้าน นั้น นอกจากจะผลิตบัณฑิตและผลงานด้านวิชาการและวิจัยแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภายนอกทั้งภายในประเทศและนานาชาติ เพื่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ รวมทั้งแผนงานหรือโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือกัน เพื่อสร้างสรรค์การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตร[แก้]

หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[6][b]
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)

  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์
  • สาขาวิชาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์

ทำเนียบคณบดี[แก้]

รายนามคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนาม วาระดำรงตำแหน่ง
1. รศ.ดร. สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา (รักษาการแทน) 2564 - 2565
2. รศ.ดร. สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา 2565 - ปัจจุบัน

เชิงอรรถ[แก้]

  1. รอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
  2. หลักสูตรเดิมโอนย้ายมาจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์

อ้างอิง[แก้]

  1. บ้านเมือง : "มข."เดินหน้าโปรเจกต์ยักษ์ ตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (ออนไลน์). สืบค้น 28 กันยายน 2564.
  2. 2.0 2.1 "มข.ตั้ง วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ (College of Computing) ยกระดับทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เน้นตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต". ขอนแก่นลิงก์. สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ : ประกาศมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับที่ 1793/2564 เรื่อง การจัดตั้งส่วนงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ออนไลน์.) สืบค้น 28 กันยายน 2564.
  4. กองการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น : มข.มองไกล ตั้งส่วนงานใหม่ยกระดับทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เน้นตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตในยุคThailand 4.0 (ออนไลน์). สืบค้น 28 กันยายน 2564.
  5. สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ : ประวัติสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เก็บถาวร 2021-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ออนไลน์). สืบค้น 28 กันยายน 2564.
  6. สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ : หลักสูตรสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เก็บถาวร 2021-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ออนไลน์). สืบค้น 28 กันยายน 2564.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]