วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
Phramongkutklao College of Medicine
พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมรัศมี
สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัย ฯ
ชื่อย่อวพม. / PCM
คติพจน์วิชายอด วินัยเยี่ยม เปี่ยมคุณธรรม
ประเภทวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันการศึกษาทางทหาร
สถาปนา16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 (48 ปี)
สังกัดการศึกษากรมแพทย์ทหารบก
ผู้อำนวยการพลตรี ธำรงโรจน์ เต็มอุดม
ที่ตั้ง
สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
สี  สีขาบ
เว็บไซต์www.pcm.ac.th

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันผลิตแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 7 ของประเทศ[1] จากกระแสพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และดำรงสถานะสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้อนุมัติจัดตั้งโรงเรียนเสนารักษ์กองทัพบกขึ้น โดยเป็นหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร ระยะเวลาศึกษา 4 ปี 6 เดือน ดำเนินการผลิตแพทย์เพื่อรับใช้กองทัพจนถึงปี พ.ศ. 2490 รวมทั้งสิ้น 4 รุ่น แล้วหยุดไปเนื่องจากขาดแคลนบุคลากรอาจารย์แพทย์และอุปกรณ์การเรียนการสอน อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมมีความตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญของแพทย์ทหาร จึงได้หาแนวทางปฏิบัติต่างๆ เช่น การรับแพทย์ภายในประเทศเข้ารับราชการ ตลอดจนให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนเตรียมทหารเข้าศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ระหว่างปีการศึกษา 2511 ถึงปีการศึกษา 2516 แล้วก็ต้องยุติไป

พระราชวังพญาไท

วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 โดยกรมแพทย์ทหารบกได้เสนอเรื่องขอจัดตั้ง "โรงเรียนแพทย์ทหาร" เนื่องจากเกิดความขาดแคลนแพทย์ทหารอย่างมากในกองทัพ ทำให้มีการรื้อฟื้นแนวคิดในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาอีกครั้ง และได้รับอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 แต่ต้องชะลอโครงการไว้ก่อน

โครงการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารได้เริ่มขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานกระแสพระบรมราโชวาท ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ณ หอประชุมราชแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2516 มีใจความสำคัญว่า

เดิมทางทหารมีความจำเป็นที่จะรับสมัครแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลทหารและกิจการของทหาร เพราะว่าเวลารับสมัครแล้วไม่มีใครสมัคร และทำไมไม่มีใครสมัคร ก็เข้าใจว่า เพราะว่าการเป็นแพทย์ทหารนั้นเหนื่อย การเป็นแพทย์นี้ก็เหนื่อยอยู่แล้ว คือต้องรักษาพยาบาลคนไข้ไม่เลือก มีงานในเวลาราชการแล้ว นอกเวลาราชการก็ต้องมีงานอีก นอกจากนั้นเป็นแพทย์ทหารก็ยังมีว่า ต้องออกไปปฏิบัติงานสนาม ซึ่งอาจต้องฝ่าอันตราย คนเราที่จะต้องฝ่าอันตรายก็อาจกลัวได้ อาจเสียวว่าอาจต้องเสียชีวิต หรือจะต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้เวลาเป็นแพทย์ทหาร ไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ต้องปฏิบัติงานของตน เครื่องมือเครื่องใช้ก็อาจจะไม่ครบถ้วน ก็เกิดความรู้สึกที่ท้อใจ เพราะว่าเรียนมาแล้วมีความรู้ดี ไม่สามารถที่จะเรียนต่อ ไม่สามารถที่จะค้นคว้า ไม่สามารถที่จะมีเครื่องมือ ที่ทันสมัยที่ใหญ่โต นอกจากนั้นก็มีอื่นๆ ก็คือเงินเดือนไม่มาก ทั้งการไปดูงานเมืองนอกก็ไม่ค่อยมีนัก ฉะนั้นก็ไม่มีใครอยากเป็นแพทย์ทหาร ก็มีความจำเป็นที่จะมีแพทย์ทหารทางราชการทหาร ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในด้านวิชานี้ ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่เมื่อมีการแสดงความไม่พอใจ หรือไม่เห็นด้วยในการนี้ก็ทำตาม คือระงับการเรียนในมหาวิทยาลัย ก็เป็นอันว่าการวุ่นวายก็ได้ผลดีคือ ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งจุดประสงค์อันนี้ก็ไม่ต้องขอบอกว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง คิดเอาเอง ครั้นมาถึงเวลาที่บอกว่าไม่มาฝากแล้ว ทางราชการทหารจะตั้งโรงเรียนแพทย์เอง คือ โรงเรียน สำหรับแพทย์ทหาร ก็เกิดโวยวายขึ้นมาใหม่โวยวายว่า ทำไมทหารต้องมีแพทย์ทหาร มีโรงเรียนแพทย์ทหารตั้งขึ้นมาใหม่ ก็ในการที่ทหารมาฝากเรียนก็มากินที่คนอื่น เมื่อกินที่คนอื่นเขาก็ต้องทำที่ที่อื่น ไม่มาเบียดเบียน ทำไมเมื่อเขาตั้งโรงเรียนแพทย์ทหารขึ้นมาจะต้องโวยวาย อันนี้ก็ต้องมีเหตุผลในสมอง ไม่ขอผ่าสมองดูว่าคิดถูกหรือไม่ถูก หรืออาจเป็นคนละคนก็ได้ หรืออาจไม่ได้ทันคิดว่าคำพูดสองอย่างนี้มันขัดกัน ฉะนั้นก็ถึงขอร้องท่านทั้งหลายว่า ถ้าจะคิดอะไรหรือจะปฏิบัติการใดๆ ก็ขอให้คิดให้รอบคอบเสียก่อน ว่าจะเอาอะไรแน่ ถ้าเอาอะไรแน่แล้วก็ปฏิบัติไปจะได้ผลดี

อันเป็นผลสำคัญยิ่งให้สภาการศึกษาวิชาทหารได้ให้ความเห็นชอบ ในการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์ทหารเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2516 [2]

ต่อมาเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2517 กรมแพทย์ทหารบกได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามของ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นชื่อของสถาบัน จึงขออนุมัติเปลี่ยนชื่อจาก "วิทยาลัยแพทย์ทหาร" เป็น "วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า" จนถึงปัจจุบัน

วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ในการประชุมร่วมระหว่างกองบัญชาการทหารสูงสุด(กองบัญชาการกองทัพไทย ในปัจจุบัน)และผู้แทนสามเหล่าทัพ ได้อนุมัติให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยงานในความรับผิดชอบของกองทัพบก โดยให้กรมแพทย์ทหารบก มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการผลิตนักเรียนแพทย์ทหารปีละ 32 นาย ในโครงการจัดตั้ง 10 รุ่น (รุ่นที่ 1 จบปีการศึกษา 2524 ถึงรุ่นที่ 10 จบปีการศึกษา 2534)

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้รับอนุมัติเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล[3] เพื่อประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ทำให้การก่อตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีความสมบูรณ์ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เป็นหน่วยขึ้นตรงกรมแพทย์ทหารบก และอนุมัติให้เปิดดำเนินการได้ จึงถือเอาวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2518 เป็นวันสถาปนาวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าใช้หลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 7 ปี (เตรียมแพทย์ 2 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 2 ปี และแพทย์ฝึกหัด 1 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2523 จนมีการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตเป็น 6 ปี (เตรียมแพทย์ 1 ปี ปรีคลินิก 2 ปี คลินิก 3 ปี) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2530 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก อนุมัติให้ผลิตนักเรียนแพทย์ทหารเพิ่มจาก 32 เป็น 65 นายต่อปี ประกอบกับในขณะนั้นรัฐบาลมีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มให้พอกับความต้องการของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปี พ.ศ. 2544 จากนั้นชะลอโครงการประมาณ 2 ปีเนื่องจากสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ภายหลังในปี พ.ศ. 2547 จึงกลับมารับนักเรียนแพทย์ทหารเป็น 65 นายต่อ

ในปี พ.ศ. 2548 ความขาดแคลนแพทย์และศักยภาพของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทำให้กระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณสนับสนุน รับนักเรียนแพทย์ทหารได้เป็น 100 นายต่อปี แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกำลังพลของกองทัพ ไม่สามารถบรรจุแพทย์ทหารเข้ารับราชการได้ทุกนาย วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงได้ทำข้อตกลงกับสถาบันพระบรมราชชนก ให้รับบัณฑิตแพทย์เข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เกิดนโยบายการรับบุคคลเข้าศึกษา 100 คนแบ่งเป็น นักเรียนแพทย์ทหาร และนักศึกษาแพทย์ชาย-หญิง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าก่อตั้งครบ 20 ปี จึงได้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า "พระมงกุฎเกล้าเวชวิทยา" นอกจากนี้ยังทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ "มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า"[4][5] อีกด้วย

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีการพัฒนาทั้งทางด้านวิชาการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน อาทิเช่น สนับสนุนการวิจัยให้แก่นักเรียนแพทย์ทหาร ตลอดจนอาจารย์แพทย์ทั้งชั้นปรีคลินิก และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้มีผลการเรียนดีไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ การสนับสนุนการศึกษาต่อและดูงานต่างประเทศของอาจารย์และนักเรียนแพทย์ทหาร การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ สระว่ายน้ำ อาคารหอพัก โรงประกอบเลี้ยงและซักรีด ทั้งยังหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เพียงพอต่อการเรียนการสอน และการเรียนรู้ของนักเรียนแพทย์ทหาร เป็นต้น

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ผลิตบัณฑิตแพทย์ทหาร ซึ่งได้จัดสรรให้แก่เหล่าทัพต่างๆ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือกำลังพล ครอบครัว ตลอดจนประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งเป็นการบรรเทาการขาดแคลนแพทย์ในกองทัพ และในชนบทของประเทศได้เป็นอย่างดี

สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัย[แก้]

ตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัย
เพลงประจำวิทยาลัย
อินทนิล และ แพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
ดอกไม้ประจำวิทยาลัย
ดอกอินทนิล[7]
สีประจำวิทยาลัย
* สีขาบ หรือ น้ำเงินเข้ม[8] (ทางการ) และ สีเขียว-เหลือง (ไม่เป็นทางการ ใช้เป็นสีประจำวิทยาลัยก่อนที่จะประกาศใช้เป็นสีขาบ ซึ่งสีเขียว-เหลืองเป็นสีขอบหมวกของนักเรียนแพทย์ทหาร[9])[10]

ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า[แก้]

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีผู้อำนวยการมาแล้ว 23 คน ดังรายนามต่อไปนี้

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พลตรี ยง วัชระคุปต์ พ.ศ. 2518-2520
2. พลตรี สอาด ประเสริฐสม พ.ศ. 2520-2524
3. พลตรี สิงหา เสาวภาพ พ.ศ. 2524-2527
4. พลตรี อมฤต ณ สงขลา พ.ศ. 2527-2531
5. พลตรี ปัญญา อยู่ประเสริฐ พ.ศ. 2531-2532
6. พลตรี ธรรมนูญ ยงใจยุทธ พ.ศ. 2532-2535
7. พลตรี สุจินต์ อุบลวัตร พ.ศ. 2535-2536
8. พลตรี ปรียพาส นิลอุบล พ.ศ. 2536-2538
9. พลตรี จุลเทพ ธีระธาดา พ.ศ. 2538-2540
10. พลตรี ประวิชช์ ตันประเสริฐ พ.ศ. 2540-2541
11. พลตรี บุญเลิศ จันทราภาส พ.ศ. 2541-2544
12. พลตรี อิสสระชัย จุลโมกข์ พ.ศ. 2544-2546
13. พลตรี สหชาติ พิพิธกุล พ.ศ. 2546-2549
14. พลตรี ภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ พ.ศ. 2549-2550
15. พลตรี กิตติพล ภัคโชตานนท์ พ.ศ. 2550-2552
16. พลตรี กฤษฎา ดวงอุไร พ.ศ. 2552-2553
17. พลตรี ดิตถ์ สิงหเสนี พ.ศ. 2553-2555
18. พลตรี ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ พ.ศ. 2555-2557
19. พลตรี สาโรช เขียวขจี พ.ศ. 2557-2558
20. พลตรี ชาญณรงค์ นาคสวัสดิ์ พ.ศ. 2558-2560
21. พลตรี นิมิตร สะโมทาน พ.ศ. 2560-2562
22. พลตรี สุพัษชัย เมฆะสุวรรณดิษฐ์ พ.ศ. 2562-2563
23. พลตรี สุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม พ.ศ. 2563-2565
24. พลตรี ธำรงโรจน์ เต็มอุดม พ.ศ. 2565-ปัจจุบัน

ผู้อำนวยการกองการศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า[แก้]

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีผู้อำนวยการกองการศึกษา มาแล้ว 21 คน ดังรายนามต่อไปนี้

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกูฎเกล้า
รายนามผู้อำนวยการกองการศึกษา วาระการดำรงตำแหน่ง
1. พลตรี ปชา สิริวรสาร พ.ศ. 2518-2520
2. พลตรี สฤษดิ์วงศ์ วงศ์ถ้วยทอง พ.ศ. 2520-2524
3. พลตรี พิศาล เทพสิทธา พ.ศ. 2524-2525
4. พลตรี ประเสริฐ สกุลเจริญ พ.ศ. 2525-2527
5. พลตรี อโณทัย แย้มยิ้ม พ.ศ. 2527-2530
6. พลตรี เชิดชัย เจียมไชยศรี พ.ศ. 2530-2532
7. พลตรี ประสาท ประสงค์จรรยา พ.ศ. 2532-2533
8. พลตรี ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ พ.ศ. 2533-2534
9. พลตรี สุปรีชา โมกขะเวส พ.ศ. 2534-2536
10. พลตรี ณรงค์ รอดวรรณะ พ.ศ. 2536-2538
11. พลตรี ประวิชช์ ตันประเสริฐ พ.ศ. 2538-2540
12. พลตรี ชูศักดิ์ สุวรรณศิริกุล พ.ศ. 2540-2543
13. ศาสตราจารย์ พลตรีหญิง ทิพย์ ศรีไพศาล พ.ศ. 2543-2544
14. พลตรี สุทธชาติ พีชผล พ.ศ. 2544-2547
15. พลตรีหญิง จิตถนอม สุวรรณเตมีย์ พ.ศ. 2547-2550
16. พลตรี ธีรยุทธ ศศิประภา พ.ศ. 2550-2552
17. รองศาสตราจารย์ พลตรีหญิง ปรียาพันธ์ แสงอรุณ พ.ศ. 2552-2556
18. รองศาสตราจารย์ พลตรี วิชัย ประยูรวิวัฒน์ พ.ศ. 2556-2558
19. รองศาสตราจารย์ พลตรีหญิง ประไพพิมพ์ ธีรคุปต์ พ.ศ. 2558-2560
20. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พลตรีหญิง จันทราภา ศรีสวัสดิ์ พ.ศ. 2560-2564
21. ศาสตราจารย์คลินิก พลตรี ดุสิต สถาวร พ.ศ. 2564-2566
22. ศาสตราจารย์ พลตรี ประเจษฎ์ เรืองกาญจนเศรษฐ์ พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน

รายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง[แก้]

ภาควิชา[แก้]

ปัจจุบัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ประกอบด้วยภาควิชา 22 ภาควิชา ได้แก่

การรับบุคคลเข้าศึกษา[แก้]

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า มีการรับสมัครผ่าน กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Thai University Central Admission System: TCAS) โดยรับในรอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน โดย ทปอ.

โดยได้แยกการรับระหว่างชาย กับหญิงดังนี้

  • ชาย 60 นาย (รวมถึงผู้ที่ต้องการรับทุนกองทัพบกจำนวน 20 นาย ซึ่งจะทำการคัดเลือกหลังจากจบการศึกษาชั้นปีที่ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว)
  • หญิง 40 คน

การศึกษา[แก้]

วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า

การเรียนการสอนวิชาแพทย์[แก้]

แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ชั้นเตรียมแพทย์ (ปี 1)
ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ตามข้อตกลงกับกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518) ให้นิสิตเตรียมแพทย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 1 ปี การศึกษาจะอยู่ในความรับผิดชอบตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ชั้นปรีคลินิก (ปี 2-3)
มีการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า (เดิมการเรียนการสอนใช้สถานที่สถาบันพยาธิวิทยา กรมแพทย์ทหารบก ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) เป็นเวลา 2ปี
ชั้นคลินิก (ปี 4-6)
ใช้สถานที่ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นเวลา 3 ปี

เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้ปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) ของมหาวิทยาลัยมหิดล

การฝึกวิชาทหารและเวชศาสตร์ทหาร[แก้]

มีการจัด "วิชาทหาร"และ "เวชศาสตร์ทหาร" ไว้ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ดังนี้[13]

1.การฝึกพื้นฐานทางการทหาร
เป็นการฝึกวินัยทหารทั่วไป บุคคลท่ามือเปล่า บุคคลท่าอาวุธ วิชาอาวุธศึกษา วิชาแผนที่และเข็มทิศ โดยฝึกวินัยทหารทั่วไปและบุคคลท่ามือเปล่าที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ส่วนบุคคลท่าอาวุธ วิชาอาวุธศึกษา วิชาแผนที่และเข็มทิศ จะทำการฝึกที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.)
2.ทักษะทางการแพทย์ในสนามรบ
เป็นการสอนการจัดกำลังพลของหมวดเสนารักษ์ การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บในสนามรบ ทบทวนการฝึกพื้นฐาน ฝึกการซุ่มโจมตีและเล็ดลอดหลบหนี โดยเรียนภาคทฤษฎีที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และฝึกภาคสนามที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
3.ปฏิบัติการเพชราวุธ
เป็นการสอนในรายวิชา "เวชปฏิบัติการยุทธ" เป็นการฝึกการจัดการบริการสายแพทย์ในระดับหน่วยและระดับกองพล ภายใต้สถานการณ์จำลองการรบต่างๆทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเวลาติดต่อกัน72ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนแพทย์ทหารได้ฝึกฝนและสัมผัสกับประสบการณ์การจัดหน่วย การดูแลผู้ป่วย และการส่งกลับผู้บาดเจ็บในสนามรบ ทั้งการใช้เปลสนาม รถพยาบาล รถศัลยกรรมเคลื่อนที่ และการส่งกลับสายแพทย์ทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์
*** หลักสูตรเสริมพิเศษ
หลักสูตรส่งทางอากาศ
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ทหารพลร่ม เป็นวิชาเลือกจะเรียนร่วมกับนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ โรงเรียนสงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี การศึกษาฝึกฝนให้ นพท.และ นนร. มีความรู้และทักษะในการกระโดดร่มออกจากอากาศยาน เช่น ซี-47 ชีนุก CH-47 Chinook , เครื่องบิน ซี130

สิทธิที่จะได้รับขณะกำลังศึกษาและเมื่อจบการศึกษา[แก้]

  • นักเรียนแพทย์ทหาร (นพท.) มีสภาพเป็นนักเรียนทหารของกองทัพบก มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่านักเรียนนายร้อย (นนร.) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
  • นักเรียนแพทย์ทหารชายจะได้รับการขึ้นทะเบียนกองประจำการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 และนักเรียนแพทย์ทหารหญิงก็จะได้รับการบรรจุรับราชการตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 หากได้รับบรรจุเข้าสังกัดกองทัพ
  • นักเรียนแพทย์ทหารได้รับการจัดสถานที่พัก เครื่องนอน เครื่องแต่งกาย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง อุปกรณ์การเรียน การรักษาพยาบาล และสิทธิอื่นๆ ตามที่ทางราชการกำหนด
  • นักเรียนแพทย์ทหารเข้าศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าลงทะเบียน และค่าหน่วยกิตใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 จนจบการศึกษา ทั้งนี้ตามที่ระเบียบวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ากำหนดไว้ในแต่ละปี
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้ามีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนแพทย์ทหารที่มีผลการเรียนดี หรือที่มีปัญหาทางด้านการเงิน
  • เมื่อจบการศึกษาจะได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในกรณีสำเร็จการศึกษาและบรรจุเข้ารับราชการทหาร จะได้รับพระราชทานกระบี่พร้อมกับนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (เฉพาะเพศชาย)
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนกองทัพบกจะได้รับพระราชทานยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร (ร้อยตรี) และบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์ทหารในสังกัดกองทัพบก
  • นักเรียนแพทย์ทหาร ทุนสาธารณสุข หากไม่ได้รับบรรจุเป็นแพทย์ทหารเข้าสังกัดกองทัพ จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับแพทย์ที่จบจากสถาบันพลเรือนอื่น ๆ
  • ผู้ที่มีผลการเรียนดีตลอดหลักสูตร มีทุนกองทัพบกสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ

[14][15][16][17]

โรงพยาบาลวิทยาลัย สถาบันร่วมผลิตแพทย์ และความร่วมมือ[แก้]

โรงพยาบาลวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก
โรงพยาบาลสมทบสำหรับปฏิบัติงานชั้นคลินิกของ นพท./นศพ.วพม. ชั้นปีที่ 6 จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี กรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก
โรงพยาบาลสกลนคร จังหวัดสกลนคร กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี กระทรวงสาธารณสุข
โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดชลบุรี กรมแพทย์ทหารเรือ กองทัพเรือ
สถาบันที่รับเป็นพี่เลี้ยง ที่ตั้ง สังกัด
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [18] [19] ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิง[แก้]

  1. รายชื่อโรงเรียนแพทย์ในประเทศ:https://www.tmc.or.th/medical_school_th.php
  2. พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ หอประชุมแพทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่29 กันยายน 2516:ชมรมวิชาการ สโมสรนักเรียนแพทย์ทหาร วิทยาลัยแพทยศาตร์พระมงกุฎเกล้า (2555).เปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ทหาร.กรุงเทพฯ:วัชรินทร์ พีพี.
  3. การรับวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล ราชกิจจานุเบกษา หน้า 186 เล่ม 92 ตอนที่ 119 วันที่ 24 มิถุนายน 2518
  4. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า" ราชกิจจานุเบกษา หน้า59 เล่ม110 ตอนที่1 5 มกราคม 2536
  5. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิ กรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ “มูลนิธิเพื่อวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑๔๒ เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๗ ง ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
  6. สัญลักษณ์วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า[1] เก็บถาวร 2012-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนค้นหาวันที่21 มีนาคม 2556
  7. ดอกไม้ประจำวิทยาลัย[2] เก็บถาวร 2012-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสืบค้นวันที่21 มีนาคม 2556
  8. สีประจำวิทยาลัย[3] เก็บถาวร 2012-08-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสืบค้นวันที่21 มีนาคม 2556
  9. หนังสือ35ปี วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
  10. เพลง เขียวเหลือง : http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/83 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. ภาควิชาชั้นปรีคลินิก: http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/54 เก็บถาวร 2012-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. ภาควิชาชั้นคลินิก: http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/55 เก็บถาวร 2012-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. การฝึกวิชาทหารและเวชศาสตร์ทหาร: ชมรมวิชาการ สโมสรนักเรียนแพทย์ทหาร วิทยาลัยแพทยศาตร์พระมงกุฎเกล้า (2555).เปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ทหาร.กรุงเทพฯ:วัชรินทร์ พีพี.
  14. สิทธิของนักเรียนแพทย์ทหาร : http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/31 เก็บถาวร 2012-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  15. ทุนการศึกษา : http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/100 เก็บถาวร 2012-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. สิทธิของนักเรียนแพทย์ทหาร ทุนสาธารณสุข : http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/32 เก็บถาวร 2012-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  17. ทุนสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อเพิ่มเติมต่างประเทศ : http://www.pcm.ac.th/druweb/?q=node/123 เก็บถาวร 2022-12-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  18. เจ้ากรมแพทย์ทหารบก ร่วมลงนาม MOU กับ อธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ ให้วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าเป็นสถาบันพี่เลี้ยงให้คณะแพทยศาสตร์ ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ มุ่งสร้างศาสตร์การแพทย์แห่งแผ่นดิน[ลิงก์เสีย] เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
  19. มก. MOU กองทัพบก ผลิตบัณฑิตแพทย์ พัฒนางานวิจัย นวัตกรรมมุ่งสร้างศาสตร์การแพทย์แห่งแผ่นดิน สยามรัฐ, 20 เมษายน 2566, เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]