สาทิส อินทรกำแหง
สาทิส อินทรกำแหง | |
---|---|
เกิด | 14 มีนาคม พ.ศ. 2469 อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร |
เสียชีวิต | 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 (86 ปี) โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชันแนล เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร |
นามปากกา | คีตกร จ.มงคลขจร สาทิส จ.กฤตัญชลี ตุลย์ ศิริทรรศน์ |
อาชีพ | นักเขียน, นักธรรมชาติบำบัด |
คู่สมรส | ฉินโฉม อินทรกำแหง |
สาทิส อินทรกำแหง (14 มีนาคม พ.ศ. 2469 — 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555) เป็นนักเขียนและบรรณาธิการหนังสือ, ผู้ริเริ่มและเผยแพร่การแพทย์แบบผสมผสาน และการรักษาสุขภาพตามหลักธรรมชาติ เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางสุขภาพแบบชีวจิต และเป็นผู้ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2549
ประวัติ
[แก้]สาทิส อินทรกำแหง เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2469 ที่อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอก พระศรีพิชัยบริบูรณ์ (เหมือน อินทรกำแหง) อดีตเจ้ากรมมณฑลทหารบกที่ 3 กับเชย อินทรกำแหง (มารดา) ข้าหลวงราชสำนัก [1] , สาทิส เป็นผู้สืบสายสกุล “ณ ราชสีมา” ชั้น 6 สาย "เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา)" [2][3] และเป็นน้องชายของอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง[4]
เดิมชื่อสาโรช แต่มารดามักเรียกว่าจงกล ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นสาทิส ตามแนวนโยบายรัฐนิยมของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม จากนั้นเมื่อพระศรีพิชัยบริบูรณ์เกษียณอายุราชการ ก็เดินทางย้ายถิ่นฐานกลับไปยังจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นภูมิลำเนาเดิมของบิดา ซึ่งสาทิสมีโอกาสเป็นลูกมือผลิตยาสมุนไพรแผนโบราณให้แก่บิดา รวมถึงเป็นลูกมือนวดแผนโบราณและผลิตยาพื้นบ้านช่วยเหลือมารดา ในการรักษาพระสงฆ์อาพาธ สมาชิกครอบครัว ตลอดจนชาวบ้านละแวกนั้น ชีวิตครอบครัว สาทิสสมรสกับฉินโฉม ชาวสิงคโปร์ มีบุตรคือปิยะ และธิดาคือภาสินี[1] สาทิสถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชันแนล[5] ขณะมีอายุ 86 ปี[6]
การศึกษา
[แก้]ดร.สาทิส อินทรกำแหง จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร จากนั้นเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมแพทยศาสตร์ ร่วมกับแผนกวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคสมทบ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อทางจิตวิทยาทดลอง (Experimental Psychology) ที่มหาวิทยาลัยออริกอน รัฐออริกอน, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และวิทยาลัยแนสซอในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเข้าอบรมศึกษาในหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ เช่นโภชนาการ ชีวโมเลกุล แมคโครไบโอติกส์ การฝังเข็ม การแพทย์แผนจีน การแพทย์ทางเลือก เป็นต้น ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งของสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และสาธารณรัฐประชาชนจีน จนกระทั่งจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ทางสังคมวิทยาและวิทยาศาสตร์การอาหาร จากมหาวิทยาลัยออริกอน และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก[1]
การทำงาน
[แก้]สาทิสเริ่มการทำงาน โดยเป็นผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ของโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ Sacred Heart ที่รัฐออริกอน[1], ผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน[7] และผู้เชี่ยวชาญการส่งเสริมองค์ความรู้เชิงสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์การอาหารเพื่อประโยชน์สูงสุด ประจำสหประชาชาติ[1] นอกจากนี้ ยังเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือกะดึงทอง[8] และ สยามสมัย [9] รวมถึงมีผลงานเขียนบทความวิจารณ์ดนตรีคลาสสิก[10] โดยใช้นามปากกาว่า คีตกร, จ.มงคลขจร, สาทิส, จ.กฤตัญชลี และ ตุลย์ ศิริทรรศน์ [1] และยังเคยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน "ศานต์สยาม" [11]
ชีวจิต
[แก้]สาทิสพาครอบครัวกลับมายังประเทศไทยเป็นการถาวร หลังจากที่เขาเกษียณอายุงาน ด้วยปณิธานในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับ การแพทย์แบบผสมผสาน (Integrated Medicine) เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่ชาวไทยในการดูแลสุขภาพ และกลายเป็นผู้ให้กำเนิดแนวทางสุขภาพแบบชีวจิตในประเทศไทย ต่อมาร่วมกับชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท อมรินทร์พรินติงแอนด์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งนิตยสารชีวจิตรายปักษ์ โดยสาทิสเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาและคอลัมนิสต์ประจำ ตลอดจนมีงานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์[1] รวมถึงร่วมกับสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการ บริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโทรทัศน์ กินอยู่อย่างชีวจิต [ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรพิเศษเกี่ยวกับชีวจิต ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและที่สนใจ[1]
ผลงานหนังสือ
[แก้]- จากดวงใจ - วิจารณ์ดนตรี
- รอยทราย
- สุดขอบฟ้า
- ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ
- ชีวจิต - ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
- มะเร็งแห่งชีวิต (กันยายน 2541)
- กูแน่ (ตุลาคม 2541)
- เรื่องของภูมิชีวิต (มกราคม 2543)
- ตอบคำถามสุขภาพ เล่ม 1 (มกราคม 2543)
- การแพทย์ทางเลือก (กุมภาพันธ์ 2544)
- ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 1 (กุมภาพันธ์ 2544)
- ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 2 (มีนาคม 2544)
- ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 3 (เมษายน 2545)
- ตอบคำถามสุขภาพ เล่ม 2 (มกราคม 2546)
- เตะสุดชีวิต (มีนาคม 2547)
- ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 70 (พฤษภาคม 2547)
- กูไม่แน่ (มีนาคม 2548)
- ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 4 (กุมภาพันธ์ 2550)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "ผู้ชายหลายมิติ ดร.สาทิส อินทรกำแหง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.
- ↑ กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.) , หน้า 134
- ↑ ต้นสกุล ณ ราชสีมา ย้อนเรื่อง เมืองโคราช
- ↑ "ประวัติอุบาสิกา รัญจวน อินทรกำแหง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-27. สืบค้นเมื่อ 2008-04-26.
- ↑ ‘ดร.สาทิส อินทรกำแหง’ กูรูชีวจิตเสียชีวิตแล้ว-หลอดเลือดในสมองตีบเฉียบพลัน
- ↑ "ดร.สาทิส อินทรกำแหง" ผู้ก่อตั้งชมรมชีวจิต เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 86 ปี, 29 ตุลาคม 2555, มติชนออนไลน์.
- ↑ คำแนะนำ หนังสือชีวจิต ของ สาทิส อินทรกำแหง
- ↑ "รู้ไปโม้ด โดยน้าชาติ ประชาชื่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-04-26.
- ↑ "ประวัติ นายสกุล ณ นคร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-21. สืบค้นเมื่อ 2008-04-26.
- ↑ 83 ปี จิ๋ว บางซื่อ หมอเพลง นักเลงวิจารณ์ เก็บถาวร 2008-04-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารเพลงดนตรี ปีที่ 8 ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม 2545
- ↑ เจาะใจ "พิศณุ นิลกลัด"
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2469
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2555
- บุคคลจากเขตบางรัก
- บุคคลจากโรงเรียนอำนวยศิลป์
- บุคคลจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นักจิตวิทยา
- นักโภชนาการ
- นักเขียนชาวไทย
- บรรณาธิการนิตยสาร
- คอลัมนิสต์
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
- เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
- สกุล ณ ราชสีมา
- บทความเกี่ยวกับ นักเขียน ที่ยังไม่สมบูรณ์