ภูมิลำเนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภูมิลำเนา (อังกฤษ: domicile (แบบบริเตน), domicil (แบบอเมริกา)) หมายถึง แหล่งสำคัญอันเป็นที่อยู่ของบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือทะเบียนสำมะโนครัว และไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกับ "มาตุภูมิ" ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

ตามกฎหมายไทย[1] ภูมิลำเนาของบุคคลมีอยู่สองประเภท คือ ถิ่นที่อยู่อันบุคคลธรรมดาแสดงเจตนาว่าให้เป็นภูมิลำเนา และภูมิลำเนาของบุคคลประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นการเฉพาะ

ประวัติคำ[แก้]

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นผู้ทรงบัญญัติคำว่า "ภูมิลำเนา" ขึ้นใช้แทน "domicile" ในภาษาอังกฤษ[2] คำ "ภูมิลำเนา" นั้นเป็นคำประสมระหว่างคำ "ภูมิ" จากภาษาสันสกฤต หมายความว่า แผ่นดิน หรือที่ดิน กับคำ "ลำเนา" จากภาษาเขมร อันหมายความว่า แนว แถว แถบ หรือ ถิ่น[3] คำ "ลำเนา" นั้นในภาษาเขมรอ่านว่า "ลุม-เนิว"[2]

อันที่จริง คำว่า "ภูมิลำเนา" (พูมลำเนา) มิใช่คำสมาส จึงมิต้องอ่านออกเสียงเชื่อมเป็น พูมิลำเนา แต่คนทั่วไปนิยมออกเสียงอย่างหลังเพื่อความไพเราะ ราชบัณฑิตยสถานจึงอนุโลมให้อ่านคำนี้ได้ทั้งว่า พูมลำเนา และ พูมิลำเนา[2]

ภูมิลำเนาตามกฎหมายไทย[1][แก้]

ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา[แก้]

องค์ประกอบ[แก้]

ถิ่นใดจะเป็นภูมิลำเนาของบุคคลใดนั้น ต้องมีองค์ประกอบสองประการดังต่อไปนี้

1. ถิ่นนั้นเป็นแหล่งพำนักของบุคคลนั้นโดยพิจารณาตามความเป็นจริง ถิ่นเช่นว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นถิ่นที่อยู่ตามทะเบียนสำมะโนครัว ถิ่นที่อยู่ถาวร ถิ่นอันตั้งรกรากถาวร หรือถิ่นที่อยู่หรือที่ทำงานเป็นการประจำ แต่ต้องไม่ใช่ถิ่นที่อยู่เป็นการชั่วคราวหรือเพียงระยะสั้น ๆ อันสามารถกะเวลาที่อยู่ชั่วคราวหรือสั้น ๆ นั้นได้แน่นอน เช่น หอพักของนักศึกษาไม่ถือเป็นภูมิลำเนาแม้จะมีการย้ายสำมะโนครัวมายังหอพักนี้ก็ตาม (มาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

2. บุคคลนั้นแสดงเจตนาให้ถิ่นดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของตน โดยพิจารณาจากพฤติการณ์ใด ๆ ที่บุคคลนั้นแสดงออกให้บุคคลอื่นรับรู้ได้ว่าตนต้องการให้ถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของตน (มาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

การเปลี่ยนภูมิลำเนา บุคคลสามารถกระทำได้โดยการเปลี่ยนหรือย้ายถิ่นที่อยู่ และ/หรือแสดงเจตนาชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนา ทั้งนี้ พึงสำเหนียกว่าบุคคลดังกล่าวต้องมิใช่บุคคลพิเศษซึ่งกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น คนไร้ความสามารถ ผู้เยาว์ ฯลฯ (มาตรา 41 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

นอกจากนี้ บุคคลยังสามารถกำหนดให้ถิ่นใดเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการ (อังกฤษ: special domicile) ของตนก็ได้ เพื่อไว้ใช้ทำการใด ๆ ตามแต่ประสงค์ การดังกล่าวกระทำได้โดยแสดงเจตนาให้ปรากฏชัดแจ้งว่าต้องการให้ถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการ

กรณีที่ภูมิลำเนาไม่ปรากฏ[แก้]

ในกรณีที่ภูมิลำเนาของบุคคลไม่ปรากฏ กล่าวคือ บุคคลนั้นไม่เปิดเผยให้ผู้ใดทราบก็ดี หรือไม่มีความแน่ชัดว่าบุคคลนั้นต้องการให้ถิ่นใดเป็นภูมิลำเนาของตนก็ดี หรือประการอื่นก็ดี ให้เอาถิ่นที่บุคคลนั้นพำนักอยู่เป็นหลักแหล่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น ซึ่งหากว่าบุคคลนั้นพำนักอยู่เป็นหลักแหล่งในหลายถิ่น จะถือเอาถิ่นใดเป็นภูมิลำเนาก็ได้ (มาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

กรณีที่บุคคลมีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งหลายถิ่น[แก้]

ในกรณีที่บุคคลมีถิ่นที่อยู่หรือถิ่นอันเป็นหลักแหล่งในการประกอบอาชีพหลายแห่ง และทุกแห่งก็ล้วนสำคัญ ไม่อาจกำหนดได้ว่าถิ่นใดสำคัญกว่าเพื่อน ในกรณีเช่นว่านี้กฎหมายยอมรับให้บุคคลอาจมีภูมิลำเนาหลายแห่งได้ โดยจะถือเอาแห่งใดเป็นภูมิลำเนาของตนก็ได้ (มาตรา 38 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

กรณีที่บุคคลมีที่อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง[แก้]

ในกรณีที่บุคคลใดมีที่อยู่ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง เช่น ครองชีพด้วยการสัญจรไปมา เป็นต้นว่า ทำงาน และปฏิบัติกิจวัตรต่าง ๆ บนรถบรรทุก ในกรณีเช่นว่านี้ หากพบตัวบุคคลดังกล่าวในถิ่นไหนก็ให้ถือเอาถิ่นที่พบตัวนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลเช่นว่า (มาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ภูมิลำเนาในกรณีพิเศษ[แก้]

ภูมิลำเนาของคู่สมรส[แก้]

บุคคลที่เป็นสามีและภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ภูมิลำเนาของบุคคลทั้งสองนี้ได้แก่ถิ่นที่อยู่ซึ่งทั้งสองอยู่กินกันฉันสามีและภรรยา เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะแสดงเจตนาให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะมีภูมิลำเนาต่างหากจากกัน (มาตรา 43 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ภูมิลำเนาของผู้เยาว์[แก้]

ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ ได้แก่ ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรม กล่าวคือ ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครอง คือ บิดา และ/หรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือภูมิลำเนาของผู้ปกครองของผู้เยาว์นั้น ทั้งนี้ จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ ในกรณีที่บิดาและมารดามีภูมิลำเนาต่างหากจากกัน ภูมิลำเนาของผู้เยาว์จะได้แก่ภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาที่ผู้เยาว์นั้นพำนักอยู่ด้วย (มาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ทั้งนึ้ บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง บิดาซึ่งมีทะเบียนสมรส หรือมีเอกสารของราชการรับรองความเป็นบิดา ส่วนมารดานั้นเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเสมอ

ตัวอย่างเช่น เด็กชาย ก เป็นบุตรของนาย ข และนาง ค ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีและภรรยา ณ จังหวัดเชียงราย โดยไม่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่อมา นาย ข ย้ายไปรับราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่ สามีภรรยาทั้งสองจึงตกลงใจให้เด็กชาย ก ย้ายไปพำนักอยู่ด้วยกับนาย ข ยังจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนนาง ค คงอยู่จังหวัดเชียงรายตามเดิม ในกรณีเช่นว่านี้ ภูมิลำเนาของเด็กชาย ก ได้แก่จังหวัดเชียงรายตามภูมิลำเนาของมารดา เนื่องจากนาย ข นั้นไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กชาย ก จึงไม่ถือว่าเป็นผู้แทนโดยชอบหรือผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กชาย ก ได้ เป็นต้น

ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถและของคนเสมือนไร้ความสามารถ[แก้]

ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ ได้แก่ ภูมิลำเนาของผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ตน แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 45 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ภูมิลำเนาของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และพนักงานของรัฐ[แก้]

ภูมิลำเนาของบุคคลประเภทดังกล่าวนี้ ได้แก่ ถิ่นอันเป็นที่ปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งต้องไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เช่น

  • นาย ก เป็นชาวกรุงเทพมหานคร และเป็นข้าราชการตุลาการสังกัดศาลอาญาจังหวัดเชียงใหม่ ภูมิลำเนาของนาย ก ได้แก่ ศาลอาญาจังหวัดเชียงใหม่
  • นาง ฮ เป็นชาวจังหวัดยะลา และเป็นข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร ต่อมามีคำสั่งกรุงเทพมหานครให้นาง ฮ ไปตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลาสามเดือน ภูมิลำเนาของนาง ฮ ได้แก่กรุงเทพมหานคร

ภูมิลำเนาของคนคุก[แก้]

ผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ภูมิลำเนาของบุคคลดังกล่าวได้แก่สถานที่ตนถูกจำคุกอยู่ เช่น เรือนจำ ทัณฑสถาน ฯลฯ กรณีนี้ไม่รวมถึงการถูกคุมขังเป็นเวลาชั่วคราว ณ สถานีตำรวจ หรือถูกคุมขังในระหว่างรอการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นต้น (มาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ภูมิลำเนาทหาร[แก้]

ตัวอย่างใบสำคัญที่รัฐบาลไทยออกให้เพื่อใช้เรียกเกณฑ์ชายไทยเข้ารับราชการทหาร

ดู พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 เพิ่มเติม

ภูมิลำเนาทหาร หมายถึง ภูมิลำเนาของบุคคลผู้ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร จึงสรุปได้ว่าภูมิลำเนาทหารมีได้แต่ชายเท่านั้น

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบัน บัญญัติว่า ชายไทยเมื่ออายุได้สิบเจ็ดปีมีหน้าที่ไปขึ้นทะเบียนเป็นทหาร ณ สถานที่ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (มาตรา 5)[4]

1. ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองไม่ว่าฝ่ายไหนหรือผู้ปกครองของบุคคลนั้นมีชีวิตอยู่ ให้ไปขึ้นทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาของผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี

2. ในกรณีที่บิดาของบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมิได้จดทะเบียนรับรองบุคคลนั้นเป็นบุตร ถ้ามารดายังมีชีวิตอยู่ก็ให้ไปขึ้นทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาของมารดา แต่ในกรณีเช่นว่า หากมารดาตายแล้วด้วย แต่มีผู้ปกครอง ก็ให้ไปขึ้นทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาของผู้ปกครอง

3. ถ้าไม่สามารถไปขึ้นทะเบียน ณ ท้องที่ตามข้อ 1. หรือข้อ 2. ไม่ว่าเพราะเหตุใดก็ตาม ให้ไปขึ้นทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอตามภูมิลำเนาของตนได้เลย แต่ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏก็ให้ไปขึ้นทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอของท้องที่ที่พบตัวบุคคลนั้น

เมื่อได้ขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับขึ้นทะเบียนจะออกหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนให้ เรียก "ใบสำคัญ" หรือเรียกโดยภาษาปากว่า "สด. 9" และอำเภอที่บุคคลขึ้นทะเบียนก็ได้แก่ภูมิลำเนาทหารของบุคคลนั้นเอง

บุคคลสามารถมีภูมิลำเนาทหารได้บุคคลละภูมิลำเนาเดียวเท่านั้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 19 สิงหาคม 2551).
  2. 2.0 2.1 2.2 ราชบัณฑิตยสถาน. (2550, 30 มีนาคม). ภูมิลำเนา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1454. (เข้าถึงเมื่อ: 19 สิงหาคม 2551).
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 19 สิงหาคม 2551).
  4. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 23 พฤศจิกายน). พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พุทธศักราช 2497. [ออนไลน์]. < https://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=315767&ext=pdf>. (เข้าถึงเมื่อ: 10 มิถุนายน 2566).