ข้ามไปเนื้อหา

อานิก อัมระนันทน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อานิก อัมระนันทน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 (68 ปี)
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2548 - 2566)
คู่สมรสปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

นางอานิก อัมระนันทน์ (30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 - ) อดีตกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์[1] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ประวัติ

[แก้]

นางอานิก อัมระนันทน์ (สกุลเดิม: วิเชียรเจริญ) เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ที่กรุงเทพมหานคร ชื่อของอานิก มีความหมายว่า อันเป็นที่รัก[2] เป็นบุตรีของศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับแม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ[2] อดีตนายก สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และสถานะของแม่ชีไทย นางอานิกเป็นบุตรคนกลาง มีพี่ชายคือ นายเอม วิเชียรเจริญ และมีน้องชายคือ นายอาจ วิเชียรเจริญ

เธอจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง จบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (P.P.E.) จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และปริญญาโทในสาขาเดียวกันกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

การทำงาน

[แก้]

นางอานิก อัมระนันทน์ เริ่มทำงานที่นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจเล่มหนึ่ง ทำอยู่ 6 เดือน ก็เปลี่ยนไปทำงานที่ธนาคารเชสแมนแฮตตัน และย้ายไปทำงานที่ บริษัทเชลล์ ประเทศไทย เติบโตอยู่ในบริษัทถึงกว่า 20 ปี หลังจาก 4 ปีที่อังกฤษ ในตำแหน่งผู้จัดการลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations Manager, UK) สำนักงานใหญ่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอีกช่วงกับเชลล์สหราชอาณาจักร ก็ได้กลับมารับตำแหน่ง Finance Director (CFO) ของบริษัท เชลล์ ประเทศไทย ได้รับผิดชอบงานปรับโครงสร้าง บริษัทในเครือ ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ สุดท้ายได้รับผิดชอบ ทำงานในกลุ่มงาน Group Audit ระดับภูมิภาค ดูแลทั้งงานปรับโครงสร้างองค์กร และงานจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ (IT)

งานการเมือง

[แก้]

นางอานิก อัมระนันทน์ เริ่มเข้าสู่วงการเมืองช่วงหลังการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ด้วยการเสนอตัวมาช่วยงานพรรคผ่านทางนายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่พบกันในงานนักเรียนเก่า ออกซฟอร์ด-เคมบริดจ์ หลังจากสมัครสมาชิกพรรคแล้ว ด้วยประสบการณ์ทำงานที่สั่งสม และหลากหลายสาขาในองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ได้รับพิจารณาแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 นางอานิก อัมระนันท์ ได้รับการพิจารณาจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ลงสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบสัดส่วน กลุ่ม 6 (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ) โดยเป็นผู้สมัครลำดับที่ 7 ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาทดแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลาออกในภายหลัง ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 31[3] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เพื่อปฏิบัติหน้าที่อีกสมัย

ปัจจุบัน เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร,ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ[4] เป็นผู้เสนอร่างแก้ไข พรบ.แข่งขันทางการค้า ครั้งแรกในปี 2553 และอีกครั้งในปี 2554 แต่ไม่ได้รับการบรรจุในระเบียบวาระเพื่อพิจารณาของสภาฯ ในปี 2555 นางอานิก ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

นางอานิกได้ริเริ่มโครงการ "บอกต่อความจริง" เดินหน้าประชาธิปไตย ที่เชิญชวนประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาผนึกกำลังกันพูดคุยกับคนคิดต่างรอบๆตัว เพื่อบอกต่อความจริงและให้มุมมองใหม่ๆ ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลรอบด้าน รู้ทันนโยบาย เพื่อสามารถตัดสินใจทางการเมืองด้วยสติและความรู้เท่าทัน โครงการนี้มีชื่อที่เรียกกันว่า "วอม" หรือ WOM มาจากคำว่า Word of Mouth หรือ กลยุทธ์ปากต่อปาก เป็นโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยพลังของอาสาสมัคร บริหารงานในบรรยากาศประชาธิไตย รวมทั้งมีกิจกรรมหาทุน เป็นการเมืองภาคประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นสถาบันของพรรค

นอกจากนี้นางอานิก อัมระนันทน์ ยังเป็นผู้ออกแบบ และดูแลเว็บไซต์ http://www.abhisit.org ให้กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

นางอานิก สมรสกับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์[2] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่การบินไทย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีบุตรชายด้วยกัน 2 คนคือ ปีย์ อัมระนันทน์ และอนุตร์ อัมระนันทน์ โดยที่ทั้งหมดอาศัยอยู่รวมกันในบ้านอัมระนันท์ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย อายุกว่า 100 ปี เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของวังเทวะเวสม์ ออกแบบก่อสร้างโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียนผู้ออกแบบก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม

ชีวิตส่วนตัว นางอานิกมีงานอดิเรก คือ เล่นเปียโน, วาดรูปในแนวศิลปะร่วมสมัย โดยจะมีภาพที่ตัวเองวาดแขวนไว้ตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค เก็บถาวร 2018-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ สืบค้นวันที่ 16 มีนาคม 2561
  2. 2.0 2.1 2.2 "ตามไปดู "บ้านอัมระนันทน์" ณ วังเทวะเวสม์ ตระกูลนี้ศักดิ์ศรีซื้อไม่ได้ 6 ล้านแค่เศษเงิน !!!" (Press release). มติชนออนไลน์. 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2555. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
  4. คณะกรรมาธิการการพลังงาน เวปไซท์รัฐสภาไทย เรียกดูเมื่อ 19 กันยายน 2555
  5. บ้านนี้สีฟ้า (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล: อังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2022-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๖๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-11-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๔๒, ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]