สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันขงจื้อ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Confucius Institute, Mahasarakham University
สถาปนา25 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (17 ปี)
ที่อยู่
เขตพื้นที่ในเมือง เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
เว็บไซต์www.msu.ac.th

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ: Confucius Institute, Mahasarakham University) เป็นสถาบันหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2549 สถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยชนชาติกวางซี และฮั่นบั้น (HAN BAN) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม และดำเนินกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ตลอดจนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ

ประวัติ[แก้]

การจัดตั้งสถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เริ่มขึ้นเมื่อ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และได้ดำเนินการเตรียมการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคมในปีเดียวกัน โดยได้รับอนุญาตและความช่วยเหลือจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย และสถาบันฮั่นบั้น ของประเทศจีนให้เปิดสถาบันขงจื้อขึ้นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พื้นที่ในเมือง โดยมีจุดประสงค์หลักๆ คือ การพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน[1]

ปัจจุบัน สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่อาคารสถาบันขงจื้อฯ ณ เขตพื้นที่ในเมือง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศในระดับปริญญาตรี อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนิสิตวิชาเอกภาษาจีนกว่า 200 คน และมีนิสิตที่เลือกเรียนภาษาจีนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปมากกว่า 800 คนในแต่ละปีการศึกษา โดยสถาบันขงจื้อจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ส่วนระดับปริญญาตรีอยู่ในดวามดูแลของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

การบริหาร[แก้]

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารสถาบันขงจื้อฯ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็น ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซี ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซีเป็นที่ปรึกษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซีเป็นประธานและรองประธาน

กิจกรรม[แก้]

  • จัดหลักสูตรอบรมภาษาจีน ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
  • จัดหลักสูตรอบรมภาษาจีนเฉพาะด้าน เช่น สำหรับครู สำหรับนักธุรกิจ สำหรับมัคคุเทศก์ เป็นต้น
  • เปิดหลักสูตรระดับปริญญาร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยซีหนาน
  • จัดนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจีน
  • จัดการสอบวัดความสามารถทางภาษาจีนด้วย HSK Test และการสอบอื่นๆ เพื่อรับรองความสามารถทางภาษาจีน ตามมาตรฐานของจีน
  • สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประเทศและภาษาจีน
  • สนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การฝึกงานสำหรับนักศึกษา (internship) และการศึกษาดูงานในประเทศจีน
  • สนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากร และการพัฒนาบุคลากรสายผู้สอนภาษาจีนของมหาวิทยาลัย
  • ส่งเสริมและผลิตสื่อและตำรา ที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน
  • ให้คำปรึกษานักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศจีน
  • จัดสัมมนาและประชุมวิชาการเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหลักสูตรฝึกอบรมหลากหลายที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการจีน และออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็น หลักสูตรฝึกอบรมภาษา อาทิ ภาษาจีนเพื่อการสนทนา ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยว และภาษาจีนเชิงธุรกิจ เป็นต้น และหลักสูตรฝึกอบรมทางวัฒนธรรม เช่น ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศจีน ศิลปะการเขียนพู่กันจีน และศิลปะการรำมวยจีน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและสังคมในปัจจุบัน

สำหรับการสรรสร้างกิจกรรมต่างๆ สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การแลกเปลี่ยนนักศึกษา การจัดหาอาจารย์และอาสาสมัครชาวจีนสำหรับสถานศึกษา การจัดการศึกษาดูงานด้านธุรกิจ การจัดการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือกิจกรรมเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ในวันและเทศกาลสำคัญๆ อาทิ วันตรุษจีน วันชาติจีน และวันไหว้พระจันทร์ เป็นต้น ทั้งยังให้ความสำคัญในการเปิดโลกทัศน์ของเยาวชนไทยผ่านกิจกรรมมากมาย เช่น การออกซุ้มนิทรรศการ การแข่งขันชิงทุนการศึกษาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ณ มหาวิทยาลัยในประเทศจีน โครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน และกิจกรรมส่งเสริมความรู้ตลอดทั้งปี

อ้างอิง[แก้]