สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
The Research Institute of Northeastern Arts and Culture, Mahasarakham University
ชื่อย่อRINAC
คติพจน์ยุ้งฉางแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสังคมแบบยั่งยืน
สถาปนา22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 (37 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณบดีนายทม เกตุวงษา
ที่อยู่
เลขที่ 269 หมู่ 2 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
วารสารวารสารวิถีทรรศน์ศิลปะและวัฒนธรรม
สี███ สีน้ำตาลแดง
เว็บไซต์https://rinac.msu.ac.th

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน (อังกฤษ: The Research Institute of Northeastern Arts and Culture) เป็นสถาบันหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหน่วยงานสนับสนุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดยพัฒนามาจากศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประวัติ[แก้]

อาคารสถาบันวิจัยศิลปและวัฒนธรรมอีสาน

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เริ่มก่อตั้งในนาม ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งเป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน” และในวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้ “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9-10 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ[1][2]

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 42 ล้านบาท สร้างอาคารของสถาบันฯ เป็นอาคารทรงไทยอีสานประยุกต์ 4 ชั้นซึ่งมีเอกลักษณ์แสดงถึงความงามทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางศิลปะและวัฒนธรรมอีสานการวิจัยและเผยแพร่ตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม[3]

พ.ศ. 2547 ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต แบ่งเป็น 3 แขนงวิชาคือ 1.สาขาการบริหารทางวัฒนธรรม 2.สาขาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 3.สาขาการวิจัยทางวัฒนธรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 สถาบันฯ ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้เปิดสอนในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ศิลกรรมปศาสตร์) สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ และสามารถเปิดรับนิสิตรุ่นแรกระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2554 ต่อมาสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ได้แยกเป็น “คณะวัฒนธรรมศาสตร์” ในปี 2551 (ปัจจุบันได้ยุบรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์)

หลักสูตร[แก้]

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานได้จัดโครงการหลักสูตรระยะสั้น ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่บุคลากรได้ทำการวิจัยศึกษาค้นคว้ามาถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอนุรักษ์องค์ความรู้ได้สืบทอดต่อไปแก่ชนรุ่นหลัง และสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างอาชีพให้เกิดรายได้แก่ตัวเองต่อไปได้ โดยมีทั้งหมด 11 หลักสูตรคือ

หลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[4]
ระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก
หลักสูตรระยะสั้นด้านศิลปะและวัฒนธรรม
  • สาขาวิชาการอ่านอักษรโบราณในฮูปแต้มเบื้องต้น (3 รุ่น)
  • สาขาวิชาอบรมนักโหราศาสตร์เบื้องต้น
  • สาขาวิชาการทำขันหมากเบ็งเบื้องต้น
  • สาขาวิชาผ้าห่อคัมภีร์ใบลานในภาคอีสาน
  • สาขาวิชาหลักวิชาและวัฒนธรรมโหราศาสตร์
  • สาขาวิชาการเล่นพิณเบื้องต้น
  • สาขาวิชาอักษรโบราณพื้นฐาน (อักษรธรรมอีสาน)
  • สาขาวิชาการถ่ายถอดและปริวรรตอักษรโบราณในภาคอีสาน
  • สาขาวิชาเรียนรู้อักษรไทยน้อยเบื้องต้น

หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)

  • สาชาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ (สนับสนุนการศึกษา)

หลักสูตปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาชาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ (สนับสนุนการศึกษา)

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม[แก้]

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการครั้งแรกในรูปของการวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานที่นำโดยอาจารย์อาคม วรจินดา ร่วมกับคณาจารย์และนิสิต และได้ก่อตั้ง "ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" เมื่อปี พ.ศ. 2513 ตั้งอยู่ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2523 จัดตั้งเป็น "ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน" ได้รับการยกฐานะเป็น "สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน" ในปี พ.ศ. 2529[5] และในปี พ.ศ. 2535 ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างอาคารเป็นทรงเล้าข้าว (ไทยอีสานประยุกต์) ออกแบบโดย รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รวมหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมในการดำเนินงานเพื่อสร้าง พัฒนา และส่งเสริมการวิจัย งานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและบริการวิชาการให้มีความโดดเด่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาด้านศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอีสานศึกษา ตลอดจนการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้" เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างขวาง

พิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรม มีพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

  • ชั้น 1 "หอศิลป์จำปาศรี" ส่วนจัดแสดงผลงานด้านศิลปะ จัดนิทรรศการหมุนเวียน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้
  • ชั้น 2 "ห้องนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมอีสาน" จัดแสดงนิทรรศการลักษณะกึ่งถาวร นำเสนอข้อมูลด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ เกลืออีสาน พื้นที่กับวิถีชีวิตชาวอีสาน ประวัติศาสตร์อีสาน ผู้คนในอีสาน ฮีตสิบสอง เรือนอีสาน และศาสนาพุทธในอีสาน (กำลังปรับปรุงการจัดแสดง)
  • ชั้น 3 แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ
  1. "ห้องธรรมเจดีย์นิทรรศ" นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดข่อย อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ห้องปฏิบัติการ อนุรักษ์และห้องสืบค้น ดำนเนินการโดยกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ
  2. "นิทรรศการผ้าทอในวิถีชีวิต" นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องผ้าทอ วิถีชีวิตของผู้คน (มหาสารคาม) ผ้าทอ เส้นใย และเครื่องมือเครื่องใช้ ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิจัย
  • ชั้น 4 "ห้องนิทรรศการศิลปินพื้นบ้านอีสาน" นิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลและเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้านและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ภาคอีสาน ซึ่งเป็นการนำเสนอจากฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับรางวัล "นาคราช" จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานในแต่ละปี

ผู้อำนวยการ[แก้]

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มีผู้อำนวยการ ตามวาระ ดังนี้[6]

ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 อาจารย์อาคม วรจินดา พ.ศ. 2529 - 2538
2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์มุณี พันทวี พ.ศ. 2538 - 2542
3 อาจารย์อาคม วรจินดา พ.ศ. 2542 - 2546
4 ดร.ทรงคุณ จันทจร พ.ศ. 2546 - 2550
5 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร พ.ศ. 2550 - 2554
6 รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ พ.ศ. 2554 - 2563
7 อาจารย์ทม เกตุวงษา พ.ศ. 2563 - ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  1. ราชกิจจานุเบกษา : ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม 103 ตอนที่ 198 หน้า 9-10 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2529 1 กันยายน 2564.
  2. RINAC : ประวัติความเป็นมาของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน เก็บถาวร 2020-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 1 กันยายน 2564.
  3. annaontour.com : ข้อมูลสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน 1 กันยายน 2564.
  4. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน : หลักสูตรระยะสั้นด้านศิลปะและวัฒนธรรม 1 กันยายน 2564.
  5. www.museumthailand.com. ข้อมูลพิพิธภัณฑ์. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2565.
  6. สำนักงานอธิการบดี, กลุ่มงานประชุม กองกลาง : ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปและวัฒนธรรมอีสาน 1 กันยายน 2564.