ข้ามไปเนื้อหา

การเฉลิมพระยศเจ้านาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้านายทรงกรม)

พระยศเจ้านายในราชสกุลมี 2 ประเภท[1] คือ

  1. แผนผังแสดงการได้มาของสกุลยศ
    สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้านายชั้นต่าง ๆ ซึ่งธงทอง จันทรางศุ ได้กล่าวว่า "เป็นยศที่ได้มาด้วยพระชาติกำเนิด"[2] ประกอบด้วย 3 ลำดับ ได้แก่
    1. เจ้าฟ้า — คือ พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีพระชนนีเป็นเจ้านาย
    2. พระองค์เจ้า — คือ
      1. พระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีพระชนนีเป็นสามัญชน
      2. พระโอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่มีพระมารดาเป็นเจ้า
    3. หม่อมเจ้า — คือ
      1. พระโอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่มีพระมารดาเป็นสามัญชน
      2. พระโอรสธิดาของพระองค์เจ้า
  2. อิสริยยศ คือ ยศที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา ซึ่งธงทอง จันทราศุ ได้อธิบายความว่ามีอยู่ 2 แบบ[2] คือ
    1. มีพระบรมราชโองการตั้งให้ทรงกรม
    2. มีพระบรมราชโองการให้เลื่อนลำดับชั้นความเป็นเจ้านายขึ้น ซึ่งแยกย่อยออกได้เป็น 2 กรณี
      1. เลื่อนพระยศขึ้นในเวลาที่ยังทรงพระชนม์อยู่
      2. สถาปนาพระอัฐิ คือ การเลื่อนพระยศขึ้นเมื่อสิ้นชีพตักษัยไปแล้ว

การเฉลิมพระยศเจ้านาย[แก้]

ประเพณีการเฉลิมพระยศ เจ้านายแต่โบราณ ถือเอาการสองอย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษกอย่างหนึ่ง และ การจารึกพระสุพรรณบัฏอย่างหนึ่ง

  • การอภิเษก คือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (คือพระเจ้าแผ่นดิน) รดน้ำให้บนศีรษะ คือ สัญลักษณ์ของการมอบหมายทั้งยศและหน้าที่
  • พระสุพรรณบัฏ คือ แผ่นทองจารึกพระนามของเจ้านายพระองค์นั้น และจะพระราชทานจากพระหัตถ์ ให้แก่เจ้านายที่ได้รับการเฉลิมพระยศ

การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้น ถือเอาการ จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นสำคัญ โดยจะต้องทำพิธีสำคัญดังต่อไปนี้

  1. ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่จะจารึก
  2. ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  3. ต้องมีสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยชัยในพิธี
  4. ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ "ทรงกรม" ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด ส่วนพระนามของเจ้านายที่ทรงกรมได้แบบธรรมเนียมมาจากยุโรป โดยทรงตั้งพระนามเจ้านายที่ทรงกรมตามชื่อเมืองต่าง ๆ ได้แก่

ในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 และในปีเดียวกันนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในการราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1, หน้า 1
  2. 2.0 2.1 ธงทอง จันทรางศุ. “หลังลับแลมีอรุณรุ่ง : พระยศของเจ้านาย” มติชนสุดสัปดาห์. 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2567. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567.
บรรณานุกรม
  • จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 508 หน้า. ISBN 974-417-527-3
  • สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 68. ISBN 978-974-417-594-6

ดูเพิ่ม[แก้]