กรมหลวงบาทบริจา
กรมหลวงบาทบริจา | |
---|---|
พระอัครมเหสีกรุงศรีอยุธยา | |
ก่อนหน้า | กรมขุนวิมลพัตร |
ถัดไป | สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี |
พระราชสวามี | สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี |
พระบุตร | |
ราชวงศ์ | ธนบุรี (อภิเษกสมรส) |
ศาสนา | พุทธ |
กรมหลวงบาทบริจา, กรมหลวงบาทบริจาริก หรือ กรมหลวงบาทบริจาริกา[1][2] มีพระนามเดิมว่า สอน หรือ ส่อน เป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เป็นชายาแต่เดิมก่อนการขึ้นครองราชย์และได้รับการสถาปนาเป็นอัครมเหสีภายหลัง
หลังการผลัดแผ่นดินจากการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ถูกถอดพระอิสริยยศเป็นสามัญชนตามเดิมว่า หม่อมสอน แม้กระนั้นท่านก็ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี และดำรงชีวิตอยู่ในธนบุรีอย่างเงียบ ๆ
พระราชประวัติ
[แก้]พระชนม์ชีพช่วงต้น
[แก้]กรมหลวงบาทบริจา ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จพระอัครมเหสีหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง หรือ เจ้าครอกหอกลาง มีพระนามเดิมว่า สอน[3] หรือ ส่อน[4] จุลลดา ภักดีภูมินทร์แสดงความเห็นว่าพระองค์น่าจะมีพระนามเดิมว่า "สอน" มากกว่า "ส่อน" โดยให้เหตุผลว่าคนในอดีตมักใช้วรรณยุกต์พร่ำเพรื่อเกินจำเป็น[5] ไม่มีข้อมูลบิดามารดาของพระองค์ว่าสืบมาจากสายสกุลใด จึงเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพียงหญิงสามัญซึ่งมิได้มาจากตระกูลใหญ่หรือมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นผู้ดีในสมัยอยุธยา ทั้งนี้นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สินอาจแต่งงานกับสอนก่อนหน้าดำรงตำแหน่งพระยาตาก[6] และมองว่าสอนมิใคร่มีญาติสนิทมากนัก[7] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าสอนเป็นบุตรสาวของฮั้น น้าสาวของสิน (ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงเทวินทรสุดา) ดังปรากฏความว่า "...เจ้าหอกลางนี้ไม่ใช่ตระกูลอื่นยกขึ้น คงจะเปนญาติของเจ้ากรุงธนบุรีอย่างลูกพี่ลูกน้อง ฤๅเปนลูกของน้า อาจจะเปนลูกเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ได้ฤๅไม่"[8]
สถาปนาเป็นเจ้า
[แก้]พระราชประวัติของพระองค์ปรากฏใน อภินิหารบรรพบุรุษ ว่าเป็นพระอรรคชายาเดิม มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชาย แต่ปรากฏว่าประสูติแล้วก็สิ้นพระชนม์จึงไม่ปรากฏพระนาม[1] ส่วน บางกอกรีกอเดอ ฉบับวันที่ 17 มกราคม จ.ศ. 1227 (ค.ศ. 1866) ระบุว่าพระอรรคชายาเดิมมีเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียว ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังผลัดแผ่นดิน[9]
ขณะที่หนังสือ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาค 1 และ ภาค 4 ระบุตรงกันว่าพระองค์มีพระราชบุตรสองพระองค์ คือ เจ้าฟ้าจุ้ยและเจ้าฟ้าน้อย[1] และ จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่ากรมหลวงบาทบริจาประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ความว่า "เจ้าหอกลางประสูตร์เจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้นหมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย..."[10] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่า พระราชโอรสพระองค์หลังนี้คงมีพระชนมายุไล่เลี่ยกับพระพงษ์นรินทร์ราวปีหรือสองปี[11]
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงบาทบริจา แม้จะเป็นพระอัครมเหสีแต่พระองค์ก็เป็นพระอัครมเหสีที่มิได้เป็นเจ้ามาแต่เดิม เมื่อมีพระประสูติกาลพระราชบุตร พระราชบุตรที่ประสูติจึงมีพระยศเป็นพระองค์เจ้าแล้วจึงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าภายหลัง[12] โดยกรมขุนอินทรพิทักษ์พระโอรสองค์ใหญ่ เคยมีเรื่องหมางพระทัยกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วพาลมาถึงกรมหลวงบาทบริจาด้วย ถึงกับออกคำสั่งขับกรมหลวงบาทบริจาออกจากวังไปประทับกับพระราชโอรสพระองค์นั้น ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี คือ "ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก"[13] ทว่าภายหลังเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีหายพิโรธแล้วก็ได้หมายพระทัยที่จะรั้งพระโอรสพระองค์นี้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป[14]
หลังการผลัดแผ่นดิน
[แก้]เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์และกรมหลวงเทวินทรสุดา ได้ถูกลดพระอิสริยยศเป็น "หม่อมสอน" และ "หม่อมอั๋น" ตามลำดับ[15] ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นชายในราชวงศ์ธนบุรีส่วนใหญ่มักถูกประหารพร้อมกับเหล่าขุนนาง ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงก็ต้องโทษจองจำไว้[16] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชเลขา ความว่า
"ยังเหลืออยู่แต่พระราชบุตร และบุตรีน้อย ๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ [เจ้าฟ้าเหม็น] อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์นั้นเป็นต้น และเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ซึ่งเป็นน้าของเจ้าตากสิน และเจ้าส่อนหอกลางซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี กับญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้นให้จำไว้ทั้งสิ้น"[4]
หลังจากการผลัดแผ่นดิน จุลลดา ภักดีภูมินทร์อ้างว่า พระองค์ดำรงพระชนม์อย่างสงบในธนบุรีนั้นเอง โดยมีผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ด้วยมีความสนิทสนมคุ้นเคยมาตั้งแต่อาศัยในกรุงเก่าด้วยกัน[17] แม้ตัวจะมิใช่เจ้าแล้ว แต่คนในแวดวงยังคงเรียกขานว่า เจ้าสอนหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง ตามเดิม[18] และเสด็จสวรรคตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั่นเอง[15]
พระราชโอรส
[แก้]กรมหลวงบาทบริจามีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นพระมหาอุปราชครั้งกรุงธนบุรี ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 เป็นต้นสกุลสินสุข และอินทรโยธิน[19]
- เจ้าฟ้าน้อย ถูกสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2325 ตามพระราชบิดาคราวเดียวกับพระเชษฐา ไม่มีวงศ์สืบราชสกุล
อ้างอิงและเชิงอรรถ
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์. 2554, หน้า 35
- ↑ ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาคปกิรณกะ ส่วนที่ 1. กรุงเทพฯ : หอพระสมุดวชิรญาณ. 2467, หน้า 84-7
"...อนึ่งชื่อเจ้ากรมข้างในว่า กรมหลวงประชาบดี ในแผ่นดินทรงปลา แลกรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงพิพิธมนตรี ในแผ่นดินบรมโกษฐ แลกรมหลวงบาทบริจาริก ในแผ่นดินเจ้าตากไม่มีคำนำนาม..." - ↑ ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36
- ↑ 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. คลังวิทยา. 2516, หน้า 452
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์. "เจ้าจอมมารดาฉิม". เด็กดีดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี.. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 95
- ↑ นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, หน้า 68
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 123
- ↑ หนังสือจดหมายเหตุ (PDF). กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2537. p. 271. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2020-04-09.
๏ เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี, แรกตั้งแผ่นดินบางกอกก่อนพระวงษนี้, มีพระเจ้าลูกเธอชายเป็นเจ้าฟ้าสามพระองค์. พระองค์หนึ่งเกิดแต่พระอรรคชายาเดิม, อีกพระองค์หนึ่งเกิดแต่มารดาที่เปนญาติวงษของพระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้น. อีกพระองค์หนึ่ง, เกิดแต่มารดาที่เปนพระบุตรีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์, ซึ่งเวลานั้นพระเจ้าแผ่นดินโปรด, ให้ถืออาญาสิทธเหมือนพระเจ้าแผ่นดินในการสงคราม. ในเจ้าฟ้าทั้งสามนั้น, องค์สองสิ้นชีพแต่ยังเยาว์. องค์ที่หนึ่งสิ้นชีพเมื่อล่วงแผ่นดินนั้นไป. แต่องค์ที่สามสืบมาเปนสมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า, ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์.
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 34
- ↑ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562, หน้า 62
- ↑ ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 36-37
- ↑ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 8. คุรุสภา. 2507, หน้า 118
- ↑ ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 38-39
- ↑ 15.0 15.1 กรมศิลปากร (2470). ลำดับสกุลเก่า บางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี (ฉะบับร่าง) (PDF). พระนคร: พระจันทร์. p. ก–ข.
- ↑ ปรามินทร์ เครือทอง. กบฏเจ้าฟ้าเหม็น. พิมพ์ครั้งที่ 3 (ปรับปรุง). กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 61
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (14 พฤษภาคม 2545). "สมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่". สกุลไทย. 48 (2482)
- ↑ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (21 พฤษภาคม 2545). "พระราชวงศ์กรุงธนบุรีกับพระราชจักรีวงศ์". สกุลไทย. 48 (2483), หน้า 78
- ↑ ส.พลายน้อย. พระเจ้าตากสิน มหาราชแห่งชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2553, หน้า 179
ก่อนหน้า | กรมหลวงบาทบริจา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
กรมขุนวิมลพัตร (กรุงศรีอยุธยา) |
พระอัครมเหสีแห่งกรุงศรีอยุธยา (28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325) |
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (กรุงรัตนโกสินทร์) |