ข้ามไปเนื้อหา

กรมหมื่นเทพพิพิธ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กรมหมื่นเทพพิพิธ
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(อ้างสิทธิ)
ระยะเวลาอ้างสิทธิพ.ศ. 2310–2311
ก่อนหน้าสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ถัดไปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ประสูติพระองค์เจ้าแขก
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2311
พระบุตรหม่อมเจ้าชายประยง
หม่อมเจ้าหญิงอุบล
หม่อมเจ้าชายมงคล
หม่อมเจ้าชายพยอม
หม่อมเจ้าชายมันทแวกสถี
หม่อมเจ้าหญิงนุ่น
หม่อมเจ้าชายแดง
หม่อมเจ้าหญิงอภัย
หม่อมเจ้าหญิงดารา
หม่อมเจ้าหญิงกษัตรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายผู้มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญในช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นกบฏต่อพระเจ้าเอกทัศน์ในพ.ศ. 2301 หลังจากนั้นจึงถูกเนรเทศไปยังเกาะลังกา หรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในยุคสมัยอาณาจักรแคนดี ขุนนางและพระสงฆ์ลังกาสมคบคิดกบฏต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์แห่งลังกา ในพ.ศ. 2303 เพื่อยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นกษัตริย์ลังกาแทนที่ แต่แผนการไม่สำเร็จ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงจำต้องเสด็จออกจากลังกา และเสด็จกลับมาที่อาณาจักรสยามอีกครั้งในพ.ศ. 2305 โดยเทียบท่าที่เมืองท่ามะริดเขตตะนาวศรี พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้กรมหมื่นเทพพิพิธประทับอยู่ที่ตะนาวศรี จนกระทั่งเมื่อทัพพม่าซึ่งพระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ส่งมาโจมตีสยาม ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2307 เมื่อพม่าได้เมืองมะริดตะนาวศรี กรมหมื่นเทพพิพิธจึงจำต้องเสด็จข้ามผ่านด่านสิงขรเข้ามา พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราขโองการให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปประทับที่เมืองจันทบุรี ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2308 ในขณะที่พม่ากำลังล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น กรมหมื่นเทพพิพิธได้เสด็จจากจันทบุรีไปประทับที่ปราจีนบุรี รวบรวมกำลังไพร่พลหัวเมืองตะวันออกตั้งค่ายขึ้นต่อสู้กับพม่า แต่สุดท้ายถูกพม่าตีแตกพ่ายแพ้ เป็นเหตุให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้องเสด็จหลบหนีไปยังเมืองนครราชสีมา ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธได้มีความขัดแย้งทางการเมืองกับขุนนางท้องถิ่น จนกระทั่งกรมหมื่นเทพพิพิธตกอยู่ภายใต้ความดูแลของพระพิมายเจ้าเมืองพิมาย

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในพ.ศ. 2310 พระพิมายได้ยกย่องกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าพิมาย เป็นเจ้าชุมนุมพิมาย หนึ่งในหลากหลายชุมนุมภูมิภาคที่ก่อนตัวขึ้นหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ปีต่อมาในพ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบชุมนุม เสด็จยกทัพกรุงธนบุรีไปปราบชุมนุมเจ้าพิมายของกรมหมื่นเทพพิพิธ สุดท้ายชุมนุมพิมายพ่ายแพ้ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับกุมไปที่กรุงธนบุรี และถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตในที่สุดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2311

พระประวัติ

[แก้]

หลักฐานจีนระบุว่า เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2311 นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธมีพระชนมายุประมาณ 50 ชันษา[1] แสดงว่ากรมหมืนเทพพิพิธประสูติเมื่อประมาณพ.ศ. 2261 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งเป็นเดียวกับหรือใกล้เคียงกับปีประสูติของพระเจ้าเอกทัศน์ กรมหมื่นเทพพิพิธมีพระนามเดิมว่า แขกเต้า หรือ พระองค์เจ้าแขก เอกสารจีนระบุว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าเอกทัศน์ ในขณะที่ในพงศาวดารเรียงลำดับพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่ได้ทรงกรมไว้ว่า "กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี กรมหมื่นเทพพิพิธ"[2] กรมหมื่นเทพพิพิธจึงอาจมีพระชันษาใกล้เคียงกับพระเจ้าเอกทัศน์

กรมหมื่นเทพพิพิธ หรือ พระองค์เจ้าแขก ประสูติเป็นพระโอรสของเจ้าฟ้าพร พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ประสูติแต่พระสนมพระองค์หนึ่งของเจ้าฟ้าพร หลักฐานจีนระบุว่า พระมารดาของกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นเป็นเชื้อชาติไป๋โถว (Baitou)[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่า พระมารดาของกรมหมื่นเทพพิพิธนั้น เป็นชาวลาว (ล้านนาหรือล้านช้าง) พระองค์เจ้าแขกมีพระอนุชาร่วมพระมารดาคือพระองค์เจ้าปาน ซึ่งต่อมาได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นเสพภักดี หนึ่งในเจ้าสามกรม หลักฐานฮอลันดาระบุว่า ในพ.ศ. 2275 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระประชวร เจ้าฟ้าพรมีพระบัณฑูรให้ขุนนางคนหนึ่งจัดเตรียมเกณฑ์ทัพ แต่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิตขุนนางผู้นั้นของเจ้าฟ้าพรในข้อหากบฏ[3] เจ้าฟ้าพรกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงจำต้องเสด็จออกผนวช พร้อมทั้งพระโอรส[3] ซึ่งอาจรวมถึงเจ้าฟ้ากุ้ง เจ้าฟ้าเอกทัศน์ และพระองค์เจ้าแขก ปีต่อมาพ.ศ. 2276 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเสด็จสวรรคต เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้าพร กับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระโอรสของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จนกระทั่งเจ้าฟ้าพรทรงได้รับชัยชนะ และปราบดาภิเษกขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงแต่งตั้งพระโอรสขึ้นทรงกรม ได้แก่ เจ้าฟ้ากุ้ง หรือ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นกรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าเอกทัศน์เป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระองค์เจ้าแขกเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์เจ้ามังคุดเป็นกรมหมื่นจิตรสุนทร พระองค์เจ้ารถเป็นกรมหมื่นสุนทรเทพ และต่อมาในรัชสมัยมีการแต่งตั้งเจ้านายทรงกรมเพิ่มเติมอีก ได้แก่ พระองค์เจ้าปานเป็นกรมหมื่นเสพภักดี และเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นกรมขุนพรพินิต[2]

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บรรดาเจ้านายพระโอรสที่ทรงกรม มีการรวมกลุ่มทางการเมืองเป็นสองฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายของพระโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสี ได้แก่ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กรมพระราชวังบวรฯมหาอุปราช ในพ.ศ. 2284 รวมถึงเจ้าฟ้าเอกทัศน์กรุงขุนอนุรักษ์มนตรี และเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต ได้รับพระราชทานอิสริยยศเป็นที่กรมขุน อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายของพระโอรสที่ประสูติแต่พระสนม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (ร่วมพระมารดากับกรมหมื่นเทพพิพิธ) ได้รับพระราชทานอิสริยยศเป็นที่กรมหมื่น รวมเป็นเจ้าสามกรม ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งถึงแม้ว่าจะทรงเป็นพระโอรสประสูติจากพระสนม แต่อยู่ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายเจ้าฟ้ากรมขุน

ในพ.ศ. 2299 เกิดเหตุความขัดแย้งระหว่าง กรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้ากุ้ง กับเจ้าสามกรม จนนำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของกรมพระราชวังบวรฯ ทำให้ตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯว่างลง เจ้านายที่มียศเป็นเจ้าฟ้าในขณะนั้นคือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต กรมหมื่นเทพพิพิธ ทรงร่วมกับขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์ได้แก่ เจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก เจ้าพระยากลาโหมคลองแกลบ สมุหกลาโหม เจ้าพระยาพระคลัง ทำเรื่องกราบทูล ให้แต่งตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรพระองค์ใหม่ เจ้าฟ้าอุทุมพรในชั้นแรกทรงปฏิเสธตำแหน่งด้วยเหตุผลว่ายังมีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเอกทัศน์อยู่ แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระประสงค์ให้เจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นวังหน้าพระองค์ใหม่ "กรมขุนอนุรักษมนตรีนั้นโฉดเขลาหาสติปัญาแลความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงถานาศักดิ์มหาอุปราชสำเรจ์ราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะวิบัติ์ ฉิบหายเสีย เหนแต่กรมขุนพรพินิจ กอปด้วยสติปัญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเสวตรฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปได้"[2] เจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต จึงได้รับการอุปราชาภิเศกขึ้นเป็นพระมหาอุปราชพระองค์ใหม่ ในพ.ศ. 2300 ซึ่งในครั้งนี้กรมหมื่นเทพพิพิธมีความดีความชอบ ในฐานะที่เป็นผู้ทูลเสนอ และเป็นผู้สนับสนุนทางการเมืองแก่เจ้าฟ้าอุทุมพร ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์นั้น พระเจ้าอยู่บรมโกศมีพระราชโองการให้เสด็จออกไปผนวชที่วัดละมุดปากจั่นเพื่อ"มิให้กีดขวาง"

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศเสด็จสวรรคตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2301 จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมพระราชวังบวรฯและฝ่ายเจ้าสามกรม เจ้าฟ้าเอกทัศน์เสด็จกลับจากวัดละมุดปากจั่นมาประทับที่กรุงศรีอยุธยาเพื่อช่วยสนับสนุนเจ้าฟ้าอุทุมพร เจ้าฟ้าเอกทัศน์และกรมหมื่นเทพพิพิธต่างทรงสนับสนุนเจ้าฟ้าอุทุมพร จนกระทั่งเจ้าสามกรม ได้แก่ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี (พระอนุชาร่วมพระมารดากับกรมหมื่นเทพพิพิธ) ถูกจับกุมสำเร็จโทษประหารชีวิต เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงราชาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แต่เจ้าฟ้าเอกทัศน์ประทับอยู่ที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ไม่กลับไปประทับที่วัดละมุด เป็นเหตุให้พระเจ้าอุทุมพรสละราชสมบัติให้แด่พระเชษฐาเจ้าฟ้าเอกทัศน์และเสด็จออกผนวชประทับอยู๋ที่วัดประดู่ เจ้าฟ้าเอกทัศน์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าเอกทัศน์หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2301 เป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธมีความเกรงกลัวราชภัย เนื่องจากกรมหมื่นเทพพิพิธได้ทรงช่วยเหลือสนับสนุนพระเจ้าอุทุมพรให้ได้ราชสมบัติ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกราบทูลขอพระราชานุญาติออกผนวช เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์ทรงอนุญาตแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธจึงออกผนวชอยู่ในสมณเพศประทับอยู่ที่วัดกระโจม ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณหัวรอ

กบฏกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2301

[แก้]

เมื่อพระเจ้าเอกทัศน์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ทรงแต่งตั้งนายปื่นและนายฉิม ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าจอมเพ็งและเจ้าจอมแม้น[2] เจ้าจอมในพระเจ้าเอกทัศน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชมนตรีและจมื่นศรีสรรักษ์ตามลำดับ พระยาราชมนตรี (ปิ่น) และจมื่นศรีสรรักษ์ (ฉิม) มีอำนาจสามารถเข้าออกเขตพระราชฐานได้อย่างอิสระ และกล่าววาจาหยาบช้าต่อขุนนางผู้ใหญ่ เป็นที่ไม่พอใจแก่บรรดาขุนนางเสนาบดีจตุสดมภ์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2301 กลุ่มขุนนางเสนาบดี นำโดยพระเจ้ายาอภัยราชา (ประตูจีน) สมุหนายก พระยายมราช เสนาบดีนครบาล พระยาเพชรบุรี เจ้าเมืองเพชรบุรี ฯลฯ วางแผนก่อการกบฏล้มพระเจ้าเอกทัศน์ถวายราชสมบัติให้แด่พระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัด คณะผู้ก่อการเดินทางออกไปเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธที่วัดกระโจม กรมหมื่นเทพพิพิธถึงแม้ว่าจะอยู่ในสมณเพศแต่ยินดีเป็นผู้นำในการกบฏครั้งนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงนำคณะเสนาบดีผู้ก่อการไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัด ที่วัดประดู่ พระเจ้าอุทุมพรไม่ประสงค์ที่จะมีส่วนร่วมในการกบฏครั้งนี้จึงตรัสตอบว่า "รูปเป็นสมณะ จะคิดอ่านการแผ่นดินนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงจะเหนเปนประการใดก็ตามแต่จะคิดกันเถีด"[2] กรมหมื่นเทพพิพิธและคณะผู้ก่อการเข้าใจว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงเห็นชอบด้วยแล้ว จึงดำเนินการแผนการต่อไป

พระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดมีพระดำริว่า หากกรมหมื่นเทพพิพิธก่อการสำเร็จแล้วจะชิงราชสมบัติเสียเอง "ถ้าเขาทำการสำเรจ์จับพระเชษฐาได้แล้ว เขาก็จะมาจับเราเสียด้วยจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธ ขึ้นครองราชสมบัดิ์ เราสองคนพี่น้องก็จะภากันตาย"[2] พระเจ้าอุทุมพรจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกทัศน์ ทูลเรื่องแผนการกบฏของกรมหมืนเทพพิพิธ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้พระเจ้าเอกทัศน์ทรงไว้ชีวิตไม่ทรงประหารชีวิตคณะผู้ก่อการ คณะผู้ก่อการจึงถูกจับกุม เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี ฯลฯ ล้วนแต่ถูกจับกุม นำตัวมาสอบสวนเฆี่ยนตี และจำคุก ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธ เมื่อแผนการถูกเปิดเผยแล้ว จึงรวบรวมกำลังไพร่พลตั้งค่ายอยู่ที่วัดกระโจม เจ้ากรมและข้าในกรมของกรมหมื่นเทพพิพิธจัดการป้องกันให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธอย่างแข็งแรง พระเจ้าเอกทัศน์ทรงออกอุบายปราบกรมหมื่นเทพพิพิธโดยไม่ใช้กำลัง พระเจ้าเอกทัศน์ทรงประกาศว่า กบฏของกรมหมื่นเทพพิพิธในครั้งนี้ มีข้าในกรมเจ้ากรมปลัดกรมเป็นผู้ต้นคิด ไม่เกี่ยวข้องกับกรมหมื่นเทพพิพิธ จะทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิตเจ้ากรมปลัดกรมของกรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นเหตุให้เจ้ากรมปลัดกรมของกรมหมื่นเทพพิพิธเกรงกลัวพระราชอาญา ปลัดกรมผูกคอฆ่าตัวตาย ในขณะที่เจ้ากรมหลบหนีค้นหาตัวไม่พบ[2] ข้าในกรมกำลังไพร่พลที่ป้องกันกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ที่วัดกระโจม จึงโรยราแตกสลายตัวไป กรมหมื่นเทพพิพิธจำต้องหลบหนีไปทางทิศตะวันตก แต่ถูกจับได้ที่พระแท่นดงรัง[2] (อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี) หลักฐานฮอลันดาระบุว่า กรมหมื่นเทพพิพิธหลบหนีไปทางตะวันออกไปทางกัมพูชา[3]แต่ถูกจับกุม กรมหมื่นเทพพิพิธอาจหลบหนีและถูกจับกุมหลายครั้ง

ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2302 มีเรือกำปั่นฮอลันดาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อขนส่งนิมนต์นำพระสงฆ์สยามไปยังเกาะลังกา พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้นำตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ พร้อมทั้งพระชายา พระโอรสธิดา ขึ้นเรือกำปั่นฮอลันดาเพื่อเนรเทศไปยังเกาะลังกา

กบฎลังกา พ.ศ. 2303

[แก้]

ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรลังกาของชาวสิงหล ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองกัณฏิหรือเมืองแคนดี (Kandy) ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้ถูกชาวตะวันตกได้แก่ ชาวโปรตุเกสและต่อมาชาวฮอลันดา เข้าโจมตียึดครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลโดยรอบของเกาะลังกา ผลักดันให้อาณาจักรกัณฏิของชาวสิงหลพื้นเมืองถอยร่นเข้าไปอยู่ที่แผ่นดินตอนในเกาะลังกาซึ่งเป็นภูเขา ภาวะสงครามความวุ่นวายเป็นเหตุให้พุทธศาสนาในลังกาเสื่อมถอยลง จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ไม่หลงเหลือพระภิกษุที่ได้ผ่านการอุปสมบทอย่างถูกต้องอยู่เลยในลังกาแม้แต่รูปเดียว พระสงฆ์ลังกาในขณะนั้นล้วนแต่เป็นสามเณร เมื่อพระเจ้าวีรนเรนทรสิงห์ (Vira Narendrasinha) แห่งลังกาสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2282 โดยไม่มีรัชทายาท คณะขุนนางและพระสงฆ์ลังกา นำโดยพระสงฆ์ลังกาชื่อว่า เวฬีวัต สรณังกร (Weliwata Saranankara) อัญเชิญพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ (Sri Vijaya Rajasinha) ขึ้นครองราชสมบัติลังกาเป็นกษัตริย์แห่งกัณฏิพระองค์ต่อมา ซึ่งพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์นั้น เป็นชาวเตลูกูจากอินเดียใต้ นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู เป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์นายก (Nayakkar dynasty) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองลังกาก่อนที่ลังกาจะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

เมื่อพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2294 เจ้าชายซึ่งเป็นน้องเขยของพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงห์ ขึ้นครองราชสมบัติลังกาต่อมาเป็นพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ (Kirti Sri Rajasinha) แห่งอาณาจักรกัณฏิ พระสงฆ์เวฬีวัต สรณังกร ได้ทูลให้พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ส่งทูตขอพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาเพื่อฟื้นฟูคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาเถรวาทในลังกา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงส่งสมณทูตมาถึงลังกาในพ.ศ. 2296 นำโดยพระอุบาฬี คณะสงฆ์กรุงศรีอยุธยาทำการอุปสมบทให้แก่พระสงฆ์สังกาอย่างถูกต้อง นำไปสู่การก่อตั้งคณะสยามนิกายในลังกา พระเวฬีวัตสรณังกรได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะสยามนิกายนี้ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ทรงแต่งตั้งให้พระเวฬีวัตสรณังกรเป็นพระสังฆราชแห่งลังกา

พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ถึงแม้ว่าจะนับถือศาสนาฮินดูแต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ลังกาเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ฟื้นฟูอุปถัมป์พุทธศาสนาในลังกาให้กลับฟื้นขึ้นมาดังเดิม แม้กระนั้นคณะขุนนางและพระสงฆ์ลังกา มีความไม่พอใจต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ ซึ่งมีเชื้อสายอินเดียใต้และนับถือศาสนาฮินดู กลุ่มผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ นำโดยพระสังฆราชเวฬีวัตสรณังกรแห่งสยามนิกาย ขุนนางเสนาบดีลังกาชื่อว่าสมนักโกฑิ (Sammanakodi) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นอธิการอุฑคามปาหะ (Adigar Udagampaha)[4] เป็นหนึ่งในสองตำแหน่งอัครเสนาบดีใหญ่แห่งลังกา

กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยาออกมาในต้นปีพ.ศ. 2302 โดยที่ยังอยู่ในสมณเพศ โดยสารเรือกำปั่นฮอลันดา พร้อมทั้งพระชายาพระโอรสธิดา หลักฐานฮอลันดาระบุฉายาพระสงฆ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งยังอยู่ในสมณเพศไว้ว่า "ธรรมบาล" (Tammeban)[4] ฝ่ายลังกาไม่ทราบต้นเหตุการเสด็จลังกาของกรมหมื่นเทพพิพิธ จึงจัดที่ประทับให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธในราชธานีนครกัณฏิหรือแคนดี ต่อมากรมหมื่นเทพพิพิธได้มีความรู้จักคุ้นเคยกับสมนักโกฑิขุนนางเสนาบดีลังกา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ และในขณะนั้นในลังกามีพระภิกษุสงฆ์สยามกรุงศรีอยุธยาอยู่เช่นกัน จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2303[3] พระสังฆราชสรณังกรได้สมคบคิดกันกับสมนักโกฑิเสนาบดีลังกา และคณะสงฆ์สยามนิกายในลังกา รวมทั้งคณะภิกษุชาวสยาม วางแผนกบฏล้มพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ เพื่อยกกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเป็นเจ้าชายจากสยามและนับถือพุทธศาสนาเถรวาท ขึ้นเป็นกษัตริย์ลังกาแทนที่ โดยที่พระสังฆราชสรณังกร อธิการสมนักโกฑิ และกรมหมืนเทพพิพิธ ประชุมปรึกษาแผนการกบฏที่วัดแห่งหนึ่งที่กรุงอนุราธปุระ[4] แล้วกรมหมื่นเทพพิพิธจึงย้ายไปประทับที่เมืองเกเฮเลลลา (Kehelella)[4] เพื่อเตรียมการกบฏ

อธิการสมนักโกฑิผู้เป็นเสนาบดีลังกา ได้อัญเชิญพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ให้เสด็จมาฟังธรรมเทศนาเป็นภาษาไทยที่วัดบุปผารามหรือวัดมัลวัตตะ[4]ในกรุงแคนดี ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของคณะสงฆ์สยามนิกาย และเป็นที่อาศัยของพระสังฆราชสรณังกร เมื่อถึงวันก่อการ มีผู้เขียนใบบอกเป็นภาษาไทยส่งถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองเกเฮเลลลาเพื่อแจ้งข่าว แต่ใบบอกนั้นถูกจับได้ระหว่างทางและมีผู้นำไปถวายพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์[4] พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์จึงทรงล่วงรู้ถึงแผนการลอบปลงพระชนม์ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์เสด็จไปฟังธรรมที่วัดบุปผาราม พระสังฆราชได้เตรียมราชอาสน์ลานพลับพลาทำจากไม้เป็นที่ประทับของกษัตริย์ลังกา องครักษ์ของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์พบหลุมขนาดใหญ่มีเหล็กแหลมอยู่ข้างใต้ลานพลับพลานั้น แผนการจึงปรากฏออกมาว่า เมื่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ประทับบนลานพลับพลานั้นแล้ว ลานไม้นั้นจะพังทลายลง เป็นเหตุให้พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ตกลงไปในหลุมนั้น ทิ่มแทงด้วยเหล็กแหลมสิ้นพระชนม์ พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์จึงไม่ประทับที่พลับพลานั้น แต่ประทับยืนฟังธรรมเทศนาจนจบ แล้วจึงเสด็จกลับ

บรรดาขุนนางพระสงฆ์คณะผู้ก่อการถูกจับกุม อธิการสมนักโกฑิเสนาบดีลังกาถูกประหารชีวิต พระสังฆราชสรณังกรถูกจำคุกที่เมืองเกเฮเลลลา คณะสงฆ์ชาวสยามนั้นถูกเนรเทศไปที่เมืองเวฬุคามทางชายฝั่งตอนใต้ ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของฮอลันดา กรมหมื่นเทพพิพิธและพระวงศ์ถูกจับกุม พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ส่งตัวกรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระวงศ์ให้แก่ทางการฮอลันดาที่เมืองตรินโคมาลี (Trincomalee)[4] มีคำสั่งให้ทางการฮอลันดานำตัวกรมหมื่นเทพพิพิธออกไปจากเกาะลังกา กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระวงศ์จึงเสด็จออกจากเมืองท่าตรินโคมาลีโดยสารเรือกำปั่นฮอลันดาออกจากเกาะลังกา ในพ.ศ. 2303 กรมหมื่นเทพพิพิธไปประทับที่เมืองท่าตูติโคริน (Tuticorin[4] ปัจจุบันเรียกว่า Thoothukudi ในรัฐทมิฬนาฑู) เป็นเมืองท่าของฮอลันดาในอินเดียใต้เป็นระยะเวลาหนึ่ง บันทึกจีนที่เมืองบาตาเวีย หรือ ไคปาลี่ไต้สือจี้ (開吧歷代史記)[5] ระบุว่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2304 มี"พระโอรสของกษัตริย์แห่งลังกาพระองค์หนึ่ง พร้อมทั้งพระชายา" เสด็จโดยเรือมาที่เมืองบาตาเวีย ซึ่งเจ้านายพระองค์นี้อาจเป็นกรมหมื่นเทพพิพิธ[5]หรือพระโอรส ซึ่งตรงกับจดหมายเหตุมิชชันนารีฝรั่งเศสที่ระบุว่า กรมหมื่นเทพพิพิธได้เสด็จไปที่เมืองบาตาเวียก่อนที่จะเสด็จกลับสยาม กงสุลใหญ่เจ้าอาณานิคมฮอลันดาแห่งบาตาเวีย เปตรุส อัลเบอร์ตุส แฟน เดอร์ เพอร์รา (Petrus Albertus van der Perra)[5] ได้ให้การต้อนรับเจ้าลังกาพระองค์นี้อย่างสมเกียรติ

ประทับเมืองตะนาวศรี

[แก้]

ในปีพ.ศ. 2303 ปีเดียวกับที่กรมหมื่นเทพพิพิธกบฏต่อพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์แห่งแคนดีนั้น นายแจน เชรอเดอร์ (Jan Schreuder) ข้าหลวงใหญ่ฮอลันดาประจำลังกา มีนโยบายขูดรีดภาษีอบเชย เป็นเหตุให้ชาวสิงหลในเกาะลังกาในบริเวณริมชายฝั่ง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของฮอลันดานั้น มีความไม่พอใจลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองฮอลันดา รวมทั้งพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์แห่งแคนดีไม่พอพระทัยที่ฮอลันดาเข้ามายึดครองพื้นที่ลังกา และยังสังสัยว่าฮอลันดาอาจมีส่วนในการกบฏครั้งกรมหมื่นเทพพิพิธนี้ ในปีต่อมาในพ.ศ. 2304 พระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์จึงเสด็จยกทัพเข้าโจมตียึดพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล คืนจากฮอลันดา นำไปสู่สงครามระหว่างอาณาจักรแคนดีกับฝ่ายฮอลันดาบนเกาะลังกา ต่อมาพ.ศ. 2305 แจน เชรอเดอร์ ข้าหลวงฮอลันดาลาออกจากต่ำแหน่ง ลุบเบิร์ต แจน แฟน เอ็ก (Lubbert Jan van Eck) ขึ้นเป็นข้าหลวงใหญ่ฮอลันดาในลังกาคนต่อมา

กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จโดยเรือฮอลันดาถึงเมืองท่ามะริดของกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ. 2305 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อทรงทราบว่ากรมหมื่นเทพพิพิธได้เสด็จกลับมาอยู่ที่เมืองมะริด จึงทรงพระพิโรธ[3] พระยาเพชรบุรีคนเก่า ซึ่งฝักใฝ่พระเจ้าอุทุมพรและได้เคยเป็นกบฏติดคุกแล้วนั้น ได้นำกำลังออกไปเข้ากับกรมหมื่นเทพพิพิธแต่ถูกจับได้และถูกประหาร[3] พระเจ้าเอกทัศน์จึงมีพระราชโองการให้กรมหมื่นเทพพิพิธประทับที่เมืองตะนาวศรีพร้อมทั้งส่งข้าหลวงไปกำกับ[2] บันทึกฮอลันดาระบุว่า พระโอรสสององค์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ (อาจหมายถึงหม่อมเจ้าประยงค์และหม่อมเจ้าดารา) ถูกนำตัวไปประทับอยู่กับพระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดที่วัดประดู่ เพื่อเป็นองค์ประกัน ส่วนพระชายาหม่อมเสมและพระธิดาหม่อมอุบลไปประทับที่กรุงศรีอยุธยา

ในพ.ศ. 2305 ลุบเบิร์ต แจน แฟน เอ็ก ข้าหลวงใหญ่ฮอลันดาประจำลังกา ซึ่งกำลังทำสงครามกับพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์แห่งแคนดีนั้น เห็นว่าควรยกกรมหมื่นเทพพิพิธมาเป็นคู่แข่งเพื่อต้านทานอำนาจของพระเจ้ากีรติศรีราชสิงห์ นายแฟนเอ็กจึงส่งมาร์เตน ฮอยซ์วูร์น (Marten Huysvoorn)[3] เป็นทูตมาเข้าเฝ้าพระเจ้าเอกทัศน์ที่กรุงศรีอยุธยา กราบทูลขอพระราชานุญาตให้กรมหมื่นเทพพิพิธหรือพระโอรสพระองค์ใดพระองค์หนึ่งกลับไปลังกา เพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ลังกาด้วยการสนับสนุนของฮอลันดา ฝ่ายฮอลันดาไม่ทราบถึงความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างพระเจ้าเอกทัศน์และกรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้าเอกทัศน์ไม่พอพระทัยที่ฮอลันดามาขอตัวกรมหมื่นเทพพิพิธออกไป และทรงไม่ยินยอมให้ทูตฮอลันดาคือนายฮอซ์วูร์นเข้าเฝ้า จนกระทั่งเกิดข่าวลือว่า ฮอลันดาจะยกทัพเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาเพื่อยกราชสมบัติให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธ[3] จนสุดท้ายนายฮอยซ์วูร์นทูตฮอลันดากลับออกไปจากกรุงศรีอยุธยา

ฝ่ายข้าหลวงใหญ่ฮอลันดานายแฟนเอ็กยังไม่ละทิ้งความพยายาม ในพ.ศ. 2307 นายแฟนเอ็กส่งวิลเลม แฟน ดามาสต์ ลิมเบอร์เกอร์ (Willem van Damast Limberger)[3] เข้ามาที่ตะนาวศรีเพื่อเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทพพิพิธโดยตรง แต่ไม่ประสงความสำเร็จไม่พบกรมหมื่นเทพพิพิธ

ตั้งรับพม่าที่ปราจีนบุรี

[แก้]

ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์คองบองส่งทัพพม่านำโดยมังมหานรธาเข้ารุกรานโจมตีกรุงศรีอยุธยาจากทางฝั่งตะวันตก ทัพพม่าเข้ายึดเมืองมะริดได้ และต่อมายึดเมืองตะนาวศรีได้ เป็นเหตุให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้องเสด็จเข้ามา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชโองการให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปประทับอยู่ที่เมืองจันทบุรี ทางชายฝั่งทะเลตะวันออก

ในช่วงกลางปีพ.ศ. 2309 ในขณะที่พม่ากำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธตัดสินพระทัยเสด็จจากเมืองจันทบุรีมาประทับที่เมืองปราจีนบุรี รวมกำลังไพร่พลหัวเมืองตะวันออกขึ้นต่อสู้กับพม่า กรมหมื่นเทพพิพิธทรงสามารถรวบรวมกำลังชาวเมืองปราจีนบุรี เมืองชลบุรี เมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองบางละมุง ได้จำนวนประมาณ 2,000 คน[2] โดยมีผู้นำคือหมื่นเก้าและหมื่นศรีนาวาชาวเมืองปราจีนบุรี และนายทองอยู่นกเล็กจากเมืองชลบุรี กรมหมื่นเทพพิพิธมีพระบัญชาให้หมื่นเก้าหมื่นศรีนาวาและนายทองอยู่นกเล็ก ตั้งค่ายขึ้นที่ปากน้ำโยทะกาบริเวณแม่น้ำบางปะกงใกล้กับเมืองปราจีนบุรีเพื่อต่อสู้กับพม่า

พระเจ้าเอกทัศน์ยังคงไม่ไว้วางพระทัยกรมหมื่นเทพพิพิธ เมื่อที่กรุงศรีอยุธยา ทราบข่าวว่ากรมหมืนเทพพิพิธตั้งค่ายขึ้นที่ปราจีนบุรีเพื่อต่อสู้กับพม่านั้น บรรดาพระวงศ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่ พระโอรสคือหม่อมเจ้าประยงค์ หม่อมเจ้าดารา พระธิดาหม่อมอุบลและพระชายาหม่อมเสม รวมทั้งข้าในกรมหมื่นเทพพิพิธ และชาวกรุงศรีอยุธยาจำนวนหนึ่ง จึงอพยพกันออกไปเข้ากับกรมหมื่นเทพพิพิธที่ปราจีนบุรี แม้แต่พระยารัตนาธิเบศร์ ขุนนางแม่ทัพที่ได้เคยออกศึกถวายแด่พระเจ้าเอกทัศน์หลายครั้ง ยังเดินทางออกไปเข้ากับกรมหมื่นเทพพิพิธ

สุดท้ายฝ่ายแม่ทัพพม่ามังมหานรธาที่กรุงศรีอยุธยา เห็นว่าค่ายของกรมหมื่นเทพพิพิธจะเป็นภัย จึงส่งเมฆราโบและแนกวนจอโบ ยกทัพพม่าจำนวน 3,000 คน[2] ออกไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธที่ปราจีนบุรี ค่ายปากน้ำโยทะกาของกรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกพม่าตีแตกพ่าย หมื่นเก้าและหมื่นศรีนาวาสิ้นชีวิตในที่รบ[2] ส่วนนายทองอยู่นกเล็กนั้นหลบหนีกลับชลบุรี ฝ่ายกรมหมืนเทพพิพิธและพระยารัตนาธิเบศร์ที่เมืองปราจีนบุรี ทราบข่าวว่าค่ายปากน้ำโยทะกาเสียให้แก่พม่าแล้ว ทั้งกรมหมืนเทพพิพิธและพระยารัตนาธิเบศร์จึงเดินทางหลบหนีไปทางช่องเรือแตกเพื่อข้ามสู่เมืองนครราชสีมา ทัพฝ่ายพม่าจึงเข้ายึดครองเมืองปราจีนบุรี รวมทั้งอาณาบริเวณแม่น้ำบางปะกง

ความขัดแย้งที่นครราชสีมา

[แก้]

หลังจากที่พ่ายแพ้ให่แก่พม่า ในกลางปีพ.ศ. 2309 กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระวงศ์และพระยารัตนาธิเบศร์ หลบหนีไปประทับที่ด่านโคกพระยาหรือด่านช่องเรือแตก พระยารัตนาธิเบศร์ล้มป่วยถึงแก่กรรมที่ด่านโคกพระยาหรือด่านช่องเรือแตกนั้น กรมหมืนเทพพิพิธทรงให้จัดงานศพฌาปนกิจให้แก่พระยารัตนาธิเบศร์

จากนั้นกรมหมื่นเทพพิพิธจึงเสด็จไปยังเมืองนครราชสีมา ซึ่งในขณะนั้นมีเจ้าพระยานครราชสีมาเป็นเจ้าเมืองอยู่ กรมหมื่นเทพพิพิธให้หลวงมหาพิชัยนำหมวกฝรั่ง เสื้อแพรกระบวนจีน และผ้าเกี้ยว นำไปนำประทานให้แก่เจ้าพระยานครราชสีมา เพื่อขอการสนับสนุนจากเจ้าพระยานครราชสีมา แต่เจ้าพระยานครราชสีมานั้นไม่ยอมรับอำนาจของกรมหมื่นเทพพิพิธ มีหลวงพลเมืองนครราชสีมา ออกมาทูลแก่กรมหมื่นเทพพิพิธว่า เจ้าพระยานครราชสีมากำลังเตรียมการให้กองกำลังชาวเขมร 500 คน[2] มาจับตัวกรมหมื่นเทพพิพิธส่งไปถวายแด่พระเจ้าเอกทัศน์ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อทรงทราบข่าวดังนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเตรียมตัวเสด็จหนีแต่หม่อมเจ้าประยงค์พระโอรสทูลขอให้ทรงประทับอยู่ต่อสู้กับเจ้าพระยานครราชสีมา

หม่อมเจ้าประยงค์พระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธ นำเงินจำนวนห้าชั่งไปว่าจ้างนายบ้านมาเป็นกองกำลัง ได้จำนวน 550 คน วันพุธขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10[2] (17 กันยายน พ.ศ. 2309) หม่อมเจ้าประยงค์ พร้อมทั้งหลวงมหาพิชัย คุมกำลังจำนวน 30 คน เข้าไปซุ่มอยู่ภายในเมืองนครราชสีมา เพื่อเตรียมการยึดอำนาจ ต่อมาวันรุ่งขึ้น ขึ้น 15 ค่ำ (18 กันยายน) เจ้าพระยานครราชสีมาออกมาทำบุญที่วัดกลางไม่ทันได้ตั้งตัว หม่อมเจ้าประยงค์จึงนำกำลังเข้าจับกุมเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาถูกสังหารถึงแก่กรรม แต่หลวงแพ่งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมาสามารถควบม้าหลบหนีออกไปเมืองพิมายได้ทันเวลา หม่อมเจ้าประยงค์ให้ยิงปื่นใหญ่ขึ้นเป็นสัญญาณ และส่งกองกำลังออกไปรับกรมหมื่นเทพพิพิธเข้ามายังนครราชสีมา กรมหมืนเทพพิพิธและหม่อมเจ้าประยงค์จึงสามารถยึดอำนาจในเมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ

ฝ่ายหลวงเพ่งน้องชายของเจ้าพระยานครราชสีมา ซึ่งได้หนีไปอยู่ที่เมืองพิมายนั้น มีความแค้นเคืองต่อกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งได้ยึดอำนาจสังหารเจ้าพระยานครราชสีมาผู้เป็นพี่ชาย ห้าวันต่อมา หลังจากการยึดอำนาจในนครราชสีมา หลวงเพ่งร่วมกับพระพิมายเจ้าเมืองพิมาย นำกำลังมาเข้าล้อมเมืองนครราชสีมาเพื่อแก้แค้นให้แก่พี่ชาย ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเกณฑ์คนได้เบาบางขึ้นไม่เต็มเชิงเทินกำแพงเมือง กรมหมื่นเทพพิพิธป้องกันเมืองนครราชสีมาได้สี่วัน จึงเสียเมืองนครราชสีมาให้แก่หลวงแพ่ง กองทัพของพระพิมายและหลวงแพ่งเข้าเมืองได้ทางวัดพายัพ หลวงแพ่งจับเอาพระโอรสของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่หม่อมเจ้าประยงค์ หม่อมเจ้าดารา หม่อมเจ้าธารา รวมทั้งขุนนางของกรมหมื่นเทพพิพิธได้แก่พระพิชัยราชาและหลวงมหาพิชัย นำไปสำเร็จโทษประหารชีวิตหมดสิ้น ยังเหลือแต่พระโอรสที่พระชนม์ยังน้อย หม่อมเจ้าอุบลพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายแก่นลูกน้องของหลวงแพ่ง และหม่อมเสมพระชายาของกรมหมื่นเทพพิพิธตกเป็นภรรยาของนายย่น ลูกน้องของหลวงแพ่งอีกคนหนึ่ง หลวงแพ่งต้องการสำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายได้ขอให้ไว้ชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกพระพิมายจับกุมกลับไปยังเมืองพิมาย

พระพิมายนั้นมีความนับถือกรมหมื่นเทพพิพิธว่าเป็นเชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 พระพิมายจึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นเจ้าแผ่นดินว่าเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธเจ้าพิมายจึงแต่งตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่งตั้งบุตรชายทั้งสองของพระพิมายได้แก่ นายสาและนายน้อย ให้เป็นพระยามหามนตรีและพระยาวรวงศาธิราชตามลำดับ นำไปสู่การกำเนิดของชุมนุมเจ้าพิมาย

พระพิมายและบุตรทั้งสองวางแผนสังหารหลวงแพ่งและยึดเมืองนครราชสีมาคืนให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธ ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระพิมายและบุตรทั้งสองยกกำลังจำนวน 500 คน ไปเยียมพบกับหลวงแพ่งที่เมืองนครราชสีมา หลวงแพ่งมีความไว้วางใจพระพิมายจึงไม่ทันระวังตัว ขณะที่กำลังดูมหรสพอยู่นั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) ลุกขึ้นใช้ดาบฟันหลวงแพ่งเสียชีวิต พระยามหามนตรี (สา) ฟันนายแก่นเสียชีวิต พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) ฟันนายย่นเสียชีวิต พวกทหารเมืองพิมายฆ่าฟันฝ่ายเมืองนครราชสีมาล้มตายจำนวนมาก เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) จึงสามารถยึดเมืองนครราชสีมาให้แก่กรมหมื่นเทพพิพิธได้สำเร็จ และมอบหมายให้พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) เรียกว่า "พระยาน้อย" ตั้งอยู่ที่ด่านจอหอคอยรักษาเมืองนครราชสีมา ชุมนุมพิมายมีอาณาเขตตั้งแต่แขวงหัวเมืองตะวันออกฝ่ายดอน ไปจนถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตและกรุงกัมพูชาธิบดี ฝ่ายใต้ลงมาถึงเมืองสระบุรีตลอดลำน้ำแควป่าสัก[6]

ชุมนุมพิมาย

[แก้]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 สามเดือนก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา พระยาตากนำกองกำลังไทยจีน ฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางทิศตะวันออก พระยาตากพบและต่อสู้กับกองกำลังพม่าจากปราจีนบุรีและที่ปากน้ำโจโล้บริเวณแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นกองกำลังพม่าที่ได้ออกมาสู้รบกับกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อก่อนหน้า พระยาตากเข้ายึดเมืองจันทบุรีได้ในเดอนมิถุนายน พ.ศ. 2310 ในการเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคต พระเจ้าอุทุมพรขุนหลวงหาวัดถูกคุมพระองค์ไปไว้ที่พม่า พร้อมทั้พระบรมวงศานุวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ภายใต้การดูแลของพระพิมายที่เมืองพิมาย จึงไม่ถูกนำตัวไปพม่า แต่กรมหมื่นเทพพิพิธนั้นต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางการเมืองที่นครราชสีมา จนพระโอรสถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต

เมื่อพม่ายกกองกำลังกลับไปเพื่อเข่าร่วมรบในสงครามจีน-พม่า พระยาตากนำกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้าโจมตียึดเมืองธนบุรีและกรุงศรีอยุธยาค่ายโพธิ์สามต้นได้สำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 มองย่าแม่ทัพพม่าจากโพธิ์สามต้นหลบหนีลี้ภัยไปเข้ากับกรมหมื่นเทพพิพิธ หลังจากนั้นพระยาตากจึงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาอยู่ที่กรุงธนบุรี ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรีพระยาตาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2310 อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นยังมีเจ้านายราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้แก่ กรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองพิมาย เจ้าศรีสังข์ พระโอรสในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เสด็จลี้ภัยไปประทับที่กัมพูชา และเจ้าจุ้ย พระโอรสของเจ้าฟ้าอภัย (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) เสด็จไปประทับที่เมืองห่าเตียนหรือเมืองเปียมบันทายมาศ

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2311[7] สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงส่งพ่อค้าจีนผู้แทนพระองค์ไปยังเมืองกวางตุ้งหรือกว่างโจว เพื่อขอการรับรองและตราโลโตจากราชสำนักจีนราชวงศ์ชิง เพื่อฟื้นฟูการค้าบรรณาการกับจักรวรรดิจีนสร้างรายได้ให้แก่พระคลัง แต่ทว่าพระเจ้าเฉียนหลงทรงไม่ยอมรับสมเด็จพระเจ้าตากสิน จักรพรรดิเฉียนหลงมีสาสน์แจ้งแก่สมเด็จพระเจ้าตากสินว่า ทายาทราชวงศ์บ้านพลูหลวงยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้แก่ เจ้าหวังจี๋ เจ้าศรีสังข์ และเจ้าจุ้ย พระเจ้าตากสินจึงควรที่จะสนับสนุนยกย่องเจ้าชายราชวงศ์บ้านพลูหลวงเหล่านั้น[7] กรมหมื่นเทพพิพิธปรากฏในเอกสารจีนครั้งแรก ในพระนามว่า เจ้าหวังจี๋ (詔王吉 พินอิน: Zhào wángjí)[1][7]

ในปลายปีพ.ศ. 2311 นั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกรีฑาทัพ โดยมีพระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า เข้าโจมตีชุมนุมพิมายของกรมหมื่นเทพพิพิธ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาจึงมีพระบัญชาตั้งทัพรับทัพกรุงธนบุรี;

  • เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) พระยามหามนตรี (สา) และมองย่า ตั้งรับที่ด่านจอหอ
  • พระยาวรวงศาธิราช (น้อย) หรือพระยาน้อย ผู้รักษาเมืองนครราชสีมา ตั้งรับที่ด่านขุนทด

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) และพระมหามนตรี (บุญมา) โจมตีพระยาวรวงศาธิราชที่ด่านขุนทด ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพด้วยพระองค์เองเข้าตีด่านจอหอ ที่ด่านขุนทดทัพฝ่ายธนบุรีได้รับชัยชนะ จับกุมตัวได้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระพิมาย) พระยามหามนตรี (สา บุตรของพระพิมาย) และมองย่าแม่ทัพพม่า ลงพระราชอาญาประหารชีวิตทั้งสามคน ส่วนพระยาน้อยนั้นหลบหนีข้ามเทือกเขาพนมดงรักไปยังกัมพูชาได้ พระราชวรินทร์และพระมหามนตรียกทัพไปติดตามพระยาน้อยถึงเมืองเสียมเรียบกัมพูชาเมืองเสียมเรียบแต่ไม่พบตัว

ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อทรงทราบว่าเสนาบดีแม่ทัพนายของพระองค์พ่ายแพ้ถูกประหารชีวิตแล้ว จึงเตรียมเสด็จหลบหนีไปยังเมืองล้านช้างศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาสามารถจับกุมองค์กรมหมื่นเทพพิพิธพร้อมทั้งพระโอรสธิดากลับมาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงปูนบำเหน็จแต่งตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยากำแหงสงคราม หรือเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาคนใหม่

สำเร็จโทษ

[แก้]

หลักฐานจีนระบุว่า กรมหมื่นเทพพิพิธถูกจับกุมมายังกรุงธนบุรีในเดือนเก้า (พฤศจิกายน พ.ศ. 2311) และถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตในเดือนสิบ[1] (ธันวาคม พ.ศ. 2311) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำตัวกรมหมื่นเทพพิพิธกลับไปชำระความที่กรุงธนบุรี ทรงให้เบิกตัวกรมหมื่นเทพพิพิธมาเข้าเฝ้าที่หน้าพระที่นั่ง แต่กรมหมื่นเทพพิพิธไม่ยอมกราบถวายบังคม ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงตรัสว่า;

ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย

สมเด็จพระเจ้าตากสินลงพระราชอาญาให้สำเร็จโทษประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธด้วยท่อนจันทน์ตามประเพณี หลักฐานจีนระบุว่า กรมหมื่นเทพพิพิธถูกสำเร็จโทษประหารชีวิต ในวันที่ยี่สิบห้า เดือนสิบ[1] ตามปฏิทินจีน ตรงกับวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2311 พระโอรสสองพระองค์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ ได้แก่ หม่อมเจ้ามงคล และ หม่อมเจ้าลำดวน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงชุบเลี้ยงไว้[8] หม่อมเจ้าอุบล พระธิดาของกรมหมืนเทพพิพิธ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นหม่อมห้ามในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ส่วนหม่อมเสมพระชายาของกรมหมื่นเทพพิพิธนั้น เข้ารับราชการฝ่ายในของราชสำนักกรุงธนบุรีต่อไป

ต่อมาพระเจ้าเฉียนหลงทรงส่งขุนนางชื่อว่า เจิ้งรุ่ย[1] (鄭瑞) เป็นข้าหลวงเดินทางมาสืบข่าวหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอาณาจักรสยามหลังการเสียกรุงฯ เจิ้งรุ่ยเดินทางมาที่เมืองห่าเตียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2311[1] ประมาณช่วงเวลาเดียวกับการสำเร็จโทษกรมหมืนเทพพิพิธ และได้พบกับเจ้าจุ้ยที่เมืองห่าเตียน[1] เจิ่งรุ่ยรวบรวมข้อมูลคำให้การต่างๆจากเมืองห่าเตียนนำกลับไปถวายรายงานแก่พระเจ้าเฉียนหลง เป็นแหล่งที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับ"เจ้าหวังจี๋"หรือกรมหมืนเทพพิพิธ

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 Masuda Erika. The Fall of Ayutthaya and Siam's Disrupted Order of Tribute to China (1767-1782). Taiwan Journal of Southeast Asian Studies, พ.ศ. 2550.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตพระธานกรรมการมูลนิธิ"ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริรนทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, ห้องสมุดรัฐสภา. Link
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ภาวรรณ เรืองศิลป์, ดร. Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya: Dutch Perceptions of the Thai Kingdom, Ca. 1604-1765. BRILL, พ.ศ. 2550.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 Tyler A. Lehrer. Traveling Monks and the Troublesome Prince: On the Aftermath of the Dutch VOC's Mediation of Buddhist Connection between Kandy and Ayutthaya. Journal of Social Sciences (New Series), Research Centre for Social Sciences, University of Kelaniya, พ.ศ. 2565.
  5. 5.0 5.1 5.2 Leonard Blussé, Nie Dening. The Chinese Annals of Batavia, the Kai Ba Lidai Shiji and Other Stories (1610-1795). Brill, พ.ศ. 2561.
  6. พระจรัสชวนะพันธ์ เจ้ากรมราชบัณฑิต. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน). กรุงเทพฯ : กรมตำรา กระทรวงธรรมการ. ๒๔๗๒
  7. 7.0 7.1 7.2 Geoff Wade. China and Southeast Asia: Historical Interactions. Routledge, พ.ศ. 2561.
  8. พระราชวิจารณ์ จดหมายความทรงจำ ของ พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. ๑๑๒๙ ถึง ๑๑๘๒ เปนเวลา ๕๓ ปี: พิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. ๑๒๘ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ