บรรดาศักดิ์ไทย
ในฐานันดรศักดิ์ไทย บรรดาศักดิ์ คือ ระดับชั้นหรือยศของข้าราชการไทยในสมัยโบราณ เทียบกับคำภาษาอังกฤษคือ Title
- สำหรับบรรดาศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ไทยซึ่งทรงทำงานในกรม ดูได้ที่ เจ้าต่างกรม
- สำหรับจำนวนศักดินาของคนสยาม ดูได้ที่ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นายทหารหัวเมือง
ระบบบรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยนี้ ได้ตราออกมาเป็นกฎหมาย เรียกว่า พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหารหัวเมือง พ.ศ. 1998 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา
ประวัติ
[แก้]บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยมีความแตกต่างกับตะวันตกเนื่องจากระบบที่แตกต่างกัน ขุนนางตะวันตกเป็นขุนนางสืบตระกูล และไม่ใช่ข้าราชการ แม้ว่าขุนนางบางคนรับราชการ แต่ขุนนางไทยเป็นข้าราชการ และตำแหน่งขุนนางผูกพันกับระบบราชการ ส่วนขุนนางตะวันตกนั้น ตำแหน่งขุนนาง ผูกพันกับการถือครองที่ดิน ที่ได้รับพระราชทานไว้แต่เดิม และส่วยสาอากร หรือผลประโยชน์ที่เกิดจากที่ดินนั้น ขุนนางตะวันตก จึงมีส่วนคล้ายกับเจ้าต่างกรม ของไทย ในส่วนของผลประโยชน์ในตำแหน่ง เช่น ส่วย กำลังคน เป็นต้น แต่เจ้าต่างกรมของไทย ก็ไม่ได้สืบตระกูล
ดังนั้น บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยจึงน่าจะเป็นชั้นยศ (Rank) มากกว่าเป็นบรรดาศักดิ์ (Title) ตามหลักการสมัยใหม่
ได้มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์ของไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[1] ต่อมาประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมาเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2487[2][3] และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติคืนยศ บรรดาศักดิ์ เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ และสิทธิในการรับเบี้ยหวัดบำเหน็จและบำนาญ พุทธศักราช 2489 เพื่อนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องโทษทางการเมือง[4] ในสมัยรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ได้มีการประกาศใช้บรรดาศักดิ์อีกครั้ง จนถึง พ.ศ. 2491 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ การประกาศให้มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์กลับคืนมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษาครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2512[5]
บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย
[แก้]บรรดาศักดิ์ของขุนนางไทยจะมี ศักดินา ประกอบกับบรรดาศักดิ์นั้นด้วย ระบบขุนนางไทย ถือว่า ศักดินา สำคัญกว่า บรรดาศักดิ์ เพราะศักดินา จะใช้เป็นตัววัดในการปรับไหม และ พินัย ในกรณีขึ้นศาล[6]: 81 ระหว่างราษฎรด้วยกันยกเว้นคดีความหลวงให้เฆี่ยนโบยตี[7]: 70 เช่น พระไอยการลักษณะวิวาทตีด่ากัน ใน กฎหมายตราสามดวง กล่าวว่า
วิวาท บทที่ 36 ผู้ใดด่าผู้อื่นโดยด่าเฉพาะตัวของผู้นั้น ให้ปรับไหมตามบรรดาศักดิ์ หากได้ด่าถึงตระกูลให้ปรับไหมทวีคูณ[8]
บรรดาศักดิ์ใน พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง นี้ ค่อนข้างสับสนและไม่เป็นระบบ คล้าย ๆ กับว่า ผู้ออกกฎหมายนึกอยากจะให้บรรดาศักดิ์ใด ศักดินาเท่าไหร่ ก็ใส่ลงไป โดยไม่ได้จัดเป็นระบบแต่อย่างใด (เพิ่มเติมวันที่ 4 มีนาคม 2550 ตามความเห็นไม่คิดว่าจะจัดไม่เป็นระบบแต่อย่างใด แต่เป็นลักษณะอย่าง เช่น เมืองตากเป็นเมืองเล็ก ๆ พระยาตากอาจถือศักดินาสูงสุดอยู่ในเมืองตาก หมายความว่าใหญ่สุดในเมืองตากทั้งศักดินาและบรรดาศักดิ์ แต่อย่างที่บอกไป เมืองตากเป็นเมืองเล็ก เป็นไปได้ว่าอาจมีศักดินาต่ำกว่ายศขุนของอยุธยาซึ่งถือว่าเป็นเมืองใหญ่ก็เป็นได้ ทั้งนี้ควรหาข้อมูลเปรียบเทียบตรงจุดนี้ให้กระจ่าง) ดังนั้น จึงมีขุนนางใน กรมช่างอาสาสิบหมู่ หรือ บางกรม ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา แต่ศักดินาต่ำกว่า 1,000 ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับต่ำ
ในสมัยต่อมาได้มีการเพิ่มเติม บรรดาศักดิ์ต่าง ๆ จากทำเนียบพระไอยการนาพลเรือน นายหาร หัวเมือง ขึ้นอีกเป็นอันมาก
ขุนนางของไทยสมัยโบราณ ไม่เหมือนกับขุนนางในประเทศตะวันตก คือ ไม่ได้เป็นขุนนางสืบตระกูล[6]: 82 ผู้ที่ได้ครองบรรดาศักดิ์ก็อยู่ในบรรดาศักดิ์เฉพาะตนเท่านั้น จึงเทียบได้กับข้าราชการ หรือ ระบบชั้นยศของข้าราชการในสมัยปัจจุบัน ที่มีการแบ่งเป็นระดับต่างๆ แต่ขุนนางไทยในสมัยโบราณ จะมีราชทินนาม และ ศักดินา เพิ่มเติมแตกต่างจากข้าราชการในปัจจุบันที่มีเพียงชั้นยศเท่านั้น
บรรดาศักดิ์ จมื่น หรือ พระนาย นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ หัวหน้ามหาดเล็ก ในกรมมหาดเล็ก ศักดินา 800-1000 เทียบได้เท่ากับ บรรดาศักดิ์ พระ ที่มีศักดินาใกล้เคียงกัน แต่จมื่นนั้น ได้รับการยกย่องมากกว่า[6]: 82 เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และมักจะมีอายุยังน้อย อยู่ในระหว่าง 20-30 ปี มักเป็นลูกหลานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่นำมาถวายตัวรับใช้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นช่องทางเข้ารับราชการต่อไปในอนาคต
"ธรรมเนียมลำดับยศฝ่ายสยาม มีที่สังเกตอยู่ ๓ อย่าง ด้วยหมวกเสื้อและเครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่ง ด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างหนึ่ง ด้วยศักดินาคืออำนาจที่จะหวงที่ดินเป็นที่ไร่นาของตัวอย่างหนึ่ง...อนึ่ง ประมาณศักดิ์ที่จะหวงนานั้น จะใช้ได้แต่ผู้ที่อยู่ในแผ่นดินสยาม ที่จะใช้ทั่วไปเมืองอื่นได้ก็แต่คำนำหน้าชื่อ"[9]: 166
— พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบรมราชาธิบาย เรื่อง แหวนนพเก้า
สมัยสุโขทัย
[แก้]บรรดาศักดิ์สมัยสุโขทัยคล้ายคลึงกับล้านนา[10]: 103 แต่ไม่ปรากฏว่าใช้บรรดาศักดิ์แบบสมัยอยุธยา บรรดาศักดิ์ขุนนางที่ปรากฏในศิลาจารึก เช่น[11]: 690 [12]: 236–237
- ท้าวพระยา
- เสนาบดี
- อมาตย์
- เจ้าแสน
- เจ้าหมื่น (เช่น หมื่นเงินกอง ฝ่ายพระคลัง ใช้ครั้งแรกในรัชกาลพญากือนา)[13]: 141
- ขุนมนตรี
- ล่ามหมื่น หรือ หมื่นล่าม
- เจ้าพัน
- ล่ามพัน
- พันน้อย
- ล่ามบ่าว
- นายร้อย หรือ หัวปาก (คุมไพร่ 100 คน)[10]: 285 [14]: 85
- นายห้าสิบ (คุมไพร่ 50 คน)
- นายซาว (คุมไพร่ 20 คน)
- นายสิบ (คุมไพร่ 10 คน)
หมายเหตุ:
- พ่อขุน พระยา พรญา (หรือ พระญา พรยา พญา) หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าเมือง ผู้เป็นใหญ่ หรือผู้เป็นหัวหน้า[15]: 117 ไม่ใช่ยศหรือบรรดาศักดิ์ของขุนนาง[16]: 339
- เจ้าพรญา และพรญา คือ ตำแหน่งเจ้าประเทศราช[17]: 409
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
[แก้]บรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยอยุธยาตอนต้นแบ่งออกเป็น 8 ระดับ ดังนี้[18]
- ออกญา หรือ พระยา
- เจ้าหมื่น
- พระ หรือ ออกพระ[19]: 160
- จมื่น
- หลวง หรือ ออกหลวง
- ขุน หรือ ออกขุน
- จ่า
- หมื่น และ พัน
หมายเหตุ:
- สมัยอยุธยามีการใช้คำบรรดาศักดิ์ขุนนางมาจากสมัยสุโขทัย เช่น พ่อขุน พรญา[20]: 59
- ออกญา หรือ พระยา เป็นยศชั้นสูงสุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น[21]: 17
- ยศ เจ้าหมื่น จมื่น และ จ่า เป็นยศที่ใช้เฉพาะในกรมมหาดเล็กเท่านั้น[19]: 160
- ออกพระ ใช้สำหรับขุนนางตำแหน่งกลาโหม สมัยอยุธยาตอนกลางใช้ ออกญา สมัยอยุธยาตอนปลาย เปลี่ยน ออกญา เป็น เจ้าพระยา[19]: 160
- สมเด็จเจ้าพระยา เป็นคำเรียกเฉพาะเจ้านายผู้ครองเมือง และพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่ยศที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง[22]: 55 จึงไม่นับเป็นบรรดาศักดิ์ของขุนนาง เช่น กรณี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ตีความคำสบถระหว่างน้าพระยากับหลานพระยาในศิลาจารึกว่า สมเด็จเจ้าพระยา หมายถึง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[23]: 71 หรือ สมเด็จเจ้าพระยาแพรกศรีราชา ซึ่งเป็นเจ้านายครองเมืองสรรคบุรีสมัยอยุธยาตอนต้น-ตอนกลาง[24] เป็นต้น
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
[แก้]บรรดาศักดิ์ขุนนางในสมัยอยุธยาตาม พระไอยการนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง พ.ศ. 1998 แบ่งออกเป็น 8 ระดับ[6]: 81 [25]: 651 คือ
- เจ้าพระยา (มีเพียง 5 ตำแหน่ง)
- พระยา
- พระ
- หลวง
- ขุน
- หมื่น
- พัน
- นาย หรือ หมู่
หมายเหตุ:
- คำว่า ออก นำหน้ายศ เช่น ออกขุน ออกหลวง ออกพระ และออกญา เลิกใช้ในสมัยอยุธยาตอนปลาย[15]: 117
- ยศ เจ้าพระยา ในทำเนียบ 5 ตำแหน่งเป็นบรรดาศักดิ์ชั้นสูงสุดและได้พระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม[22]: 54 เริ่มใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[12]: 335 มาจากยศเดิมว่า ออกญา[19]: 160
สมัยกรุงธนบุรี–รัตนโกสินทร์
[แก้]บรรดาศักดิ์ขุนนางสมัยกรุงธนบุรีจนถึงรัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 9 ระดับ[26] ดังนี้
- สมเด็จเจ้าพระยา (บรรดาศักดิ์พิเศษมีเพียง 4 ท่าน)
- เจ้าพระยา
- พระยา
- พระ
- หลวง
- ขุน
- หมื่น
- พัน
- นาย หรือ หมู่
หมายเหตุ:
- สมัยกรุงธนบุรีมีการเพิ่มยศ สมเด็จเจ้าพระยา เป็นยศชั้นสูงสุด ปรากฏครั้งแรกใน ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)[27]: 81 จากบันทึกของพระยาโกษา (สอน โลหนันท์) ในคราวสงครามอะแซหวุ่นกี้ ว่าพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริที่จะทรงสถาปนาเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) (อะแซหวุ่นกี้เรียกว่า เจ้าพระยากษัตริย์ศึก)[28]: 40 ให้มีศักดิ์เสมอเจ้า[27]: 81 ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) (หรือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1) ต่างก็ทรงเป็นขุนนางมาแต่ก่อน และมีชาติกำเนิดเป็นสามัญชน[29]: 36
- สมเด็จเจ้าพระยาคนแรกในประวัติศาสตร์ไทย คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง)[12]: 413
ขุนนางนามเมือง
[แก้]ขุนนางนามเมือง หมายถึง การเรียกชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตามนามเมืองที่ปกครองแทนการเรียกนามบรรดาศักดิ์ หรือราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน[30]: 328 เช่น
เมือง | ราชทินนามเจ้าเมือง | ชื่อขุนนางนามเมือง |
---|---|---|
พิษณุโลก | เจ้าพระยาสุรศรีพิศมาธิราช ฯ | เจ้าพระยาพิษณุโลก |
นครศรีธรรมราช | เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ฯ | เจ้าพระยานคร, เจ้าพระยานครศรีธรรมราช |
นครราชสีมา | เจ้าพระยากำแหงสงคราม ฯ | เจ้าพระยานครราชสีมา, เจ้าพระยาโคราช |
สงขลา | พระยาวิเชียรคิรี | พระยาสงขลา |
ราชบุรี | พระอมรินฤๅไชย | พระราชบุรี |
การเทียบบรรดาศักดิ์ในอดีตกับปัจจุบัน
[แก้]การนำบรรดาศักดิ์ขุนนางมาเปรียบเทียบกับตำแหน่งข้าราชการปัจจุบันนั้นไม่สามารถเทียบกันได้ แม้อนุโลมเทียบก็เป็นไปได้ยาก โดยพิจารณาความแตกต่าง ดังนี้
- 1) ขอบเขตอำนาจ
ขอบเขตอำนาจขุนนางสมัยโบราณกับข้าราชการปัจจุบันมีความแตกต่างกัน เช่น การเปรียบเทียบการปกครองเมืองของเจ้าเมืองสมัยอยุธยาถือพระราชอาญาสิทธิ์ เสมือนกษัตริย์ในบ้านเมืองของตนเอง[31]: 39–43 และทำหน้าที่เป็นเมืองกันชน หรือเมืองหน้าด่านระหว่างราชธานี[32]: 38 แม้แต่เจ้าเมืองแต่ละเมืองก็มีความสูงศักดิ์ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเมืองที่ไปปกครอง[12]: 153 ขณะที่ขอบเขตอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น
- 2) ชั้นยศ
ข้าราชการมีชั้นยศเท่ากันแต่ฐานันดรศักดิ์ย่อมไม่เท่ากัน เช่น ยศ เจ้าพระยา ในสมัยอยุธยามีการแบ่งฐานันดรศักดิ์เป็น 3 ระดับชั้น[33]: 107 คือ ระดับเอกอุ หรือเอกอุดม (ระดับสูงสุด) ระดับเอกมัธยม หรือเอกมอ (ระดับกลาง) และระดับเอกสามัญ หรือเอกสอ เช่น เจ้าพระยาพิษณุโลกกับเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก เป็นเจ้าพระยาระดับเอกอุเท่ากัน[34]: 129 แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเป็นเจ้าพระยาระดับเอกสามัญ[33]: 107 แม้จะอนุโลมเทียบยศ เจ้าพระยา เสมอด้วยตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในระบบปกครองปัจจุบัน[35]: 6 แต่ทำเนียบรายชื่อนายกรัฐมนตรีไทยปัจจุบัน ปรากฏว่ามียศสูงสุดเพียงชั้นพระยาเท่านั้น
- 3) ศักดินา
บรรดาศักดิ์ข้าราชการสมัยโบราณไม่สำคัญเท่ากับศักดินา[36]: 159 ข้าราชการที่มีศักดินาสูงแต่บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าย่อมมีศักดิ์สูงกว่า เช่น บรรดาศักดิ์ชั้นหลวงเจ้ากรม ศักดินา 1800 สูงกว่าชั้นพระยาเจ้ากรม ศักดินา 1000 หรือกรณีศักดินาเท่ากันแต่มีความสูงศักดิ์มากกว่าโดยพิจารณาจากตำแหน่ง เช่น เจ้าพระยามหาอุปราช ศักดินา 10000 แม้เท่าสมุหนายกและสมุหกลาโหม แต่มีศักดิ์สูงกว่า (สมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยามหาอุปราช เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยา มีศักดินาพิเศษ เกิน 10000 ขึ้นไป)[30]: 323 ในขณะที่ข้าราชการในปัจจุบันไม่มีศักดินาแล้ว
- 4) ยุคสมัย และระบบการปกครอง
ข้าราชการที่มียศ และศักดินาเท่ากัน แต่มีความสูงศักดิ์ไม่เท่ากันอันเนื่องจากความแตกต่างของยุคสมัยและระบบการปกครอง เช่น สมัยอยุธยาตอนต้น ออกญา หรือพระยา หากเทียบกับสมัยอยุธยาตอนปลายจะเสมอด้วยยศ เจ้าพระยา[19]: 160 แต่ไม่ใช่เสมอยศ พระยา สมัยอยุธยาตอนปลาย หากเทียบเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีกับเจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอกฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ มีชั้นยศเป็นเป็นรองอัครมหาเสนาบดี และศักดินาเสมอเสนาบดีจตุสดมภ์ แต่ศักดิ์สูงกว่า เสนาบดีจตุสดมภ์[31]: 39–43
สมัยรัตนโกสินทร์ หากเทียบ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีกับเจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวง มีเพียงเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 2 กระทรวงนี้เท่านั้นที่เสมอ อัครมหาเสนาบดี ต้องมียศ เจ้าพระยา และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินด้วย[37]: 287
ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ลดอำนาจและบทบาท เสนาบดีกระทรวง และเปลี่ยนคำว่า เสนาบดีกระทรวง เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง[38]: 307 จึงไม่สามารถเทียบเคียงกันได้
- 5) เครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ข้าราชการที่มีชั้นยศ และศักดินาเท่ากัน แต่ความสูงศักดิ์ย่อมไม่เท่ากันเสมอไป โดยพิจารณาจากเครื่องประกอบยศขุนนางและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน เช่น ยศเจ้าพระยาในสมัยอยุธยาในทำเนียบ 5 ตำแหน่ง ได้รับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าต่างกรม เจ้าพระยาเสนาบดีในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับพระราชทานกล่อกหมาก และหีบหมากเครื่องยศ เทียบเท่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) และปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เสมอด้วยเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ และเจ้าพระยาเสนาบดี[39]: 183 แต่ข้าราชการปัจจุบันไม่ได้รับพระราชทานเครื่องยศทุกตำแหน่งเสมอไป
- 6) ตำแหน่งราชการ
ตำแหน่งข้าราชการบางชั้นยศเป็นตำแหน่งเฉพาะ เช่น เจ้าหมื่น (พระนาย) กรมมหาดเล็ก มียศสูงกว่าพระแต่ต่ำกว่าพระยา[40]: 134 ไม่เหมือนบรรดาศักดิ์ข้าราชการทั่วไป
แลถึงแม้ฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์จะมิได้เปนขุนนางในตำแหน่งนั้นใน พระราชสำนักนิ์ ตำแหน่งเหล่านั้นก็ต้องว่างเปล่าอยู่ ไม่ใช่ว่าผู้อื่นจะมาเปนได้...ตามประเพณีโบราณฃ้าราชการในพระราชฐานกับฃ้าราชการนอกเขาไม่ได้เคยเปรียบเทียบฤๅคิดแช่งขันกัน ตำแหน่งยศจึ่งมีชื่อเรียกแปลกๆ[40]: 134
ข้าราชการกรมมนตรีทั้ง ๖[41]: 47 ประกอบด้วย กรมธรรมการ กรมพระคชบาล กรมภูษามาลา กรมพราหมณ์หลวง กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งเป็นกรมขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดินและอยู่นอกเขตอำนาจของจตุสดมภ์และสมุหนายก แม้มียศและศักดินาต่ำกว่าแต่มีศักดิ์น่าเกรงขามกว่าหน่วยงานราชการอื่นเนื่องจากมีความใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินมากกว่า
การใช้คำลำลองเรียกขานผู้มีบรรดาศักดิ์
[แก้]การเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ด้วยคำลำลอง คือ คำที่สามัญชน หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้เรียกขานผู้มีบรรดาศักดิ์อย่างไม่เป็นทางการ มีดังนี้
บรรดาศักดิ์ | คำลำลอง |
---|---|
สมเด็จเจ้าพระยา | ท่านเจ้าคุณ, สมเด็จเจ้าคุณ, เจ้าคุณสมเด็จ, เจ้าคุณใหญ่[42] |
เจ้าพระยา | ท่านเจ้าคุณ, เจ้าคุณ (ใหญ่)[43] |
พระยา | เจ้าคุณ (เล็ก), คุณพระยา[44] |
ท้าวนาง | เจ้าคุณ, คุณท้าว[45] |
เจ้าหมื่น, จมื่น (มหาดเล็ก) | คุณพระนาย, พระนาย[46] |
พระ | คุณพระ[44] |
หลวง | คุณหลวง[44] |
ขุน | ท่านขุน[44] |
หมื่น | ท่านหมื่น[47] |
มหาดเล็กชั้นนายรองหุ้มแพร | ท่านรอง, คุณรอง, นายรอง (บางครั้งเรียกว่า ท่านขุน)[44] |
การใช้คำกริยาตายกับบรรดาศักดิ์
[แก้]หลักการใช้คำกริยา ตาย สำหรับขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์ตาม ประกาศให้ใช้คำต่อแลคำตาย[48]: 351 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และคำอธิบายของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[49]: 3 ดังนี้
คำ | ประเภท | ใช้กับ |
---|---|---|
ถึงพิราลัย, ถึงแก่พิราลัย | คำราชาศัพท์ | เจ้าประเทศราช, สมเด็จเจ้าพระยา, เจ้าคุณราชินิกุล (ราชสกุลฝ่ายพระราชินี)[49]: 3 |
ถึงอสัญกรรม, ถึงแก่อสัญกรรม | คำราชาศัพท์ | เจ้าพระยา นา ๑๐๐๐๐, เจ้าพระยาหรือเทียบเท่า, ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า |
ถึงอนิจกรรม, ถึงแก่อนิจกรรม | คำราชาศัพท์ | พระยา, พระยาพานทอง[50]: 218 , ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย[51]: 128 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป[52]: 122 |
ถึงแก่กรรม | - | พระ, หลวง, ขุน, หมื่น, พัน, มหาดเล็กหลวง, จางวาง, นายเวร, ปลัดเวร |
ตาย | - | ผู้ไม่มีบรรดาศักดิ์ เช่น ไพร่หลวง ไพร่สม |
หมายเหตุ
- บรรดาศักดิ์ พระยาพานทอง มีกรณีใช้คําใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้[53]: 483
- ถึงแก่กรรม ใช้ได้แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ไพร่ใช้ไม่ได้[48]: 351
อัตราค่าปรับไหม
[แก้]ตัวอย่างอัตราค่าปรับไหมของขุนนางตามพระราชกำหนดกฎหมายเก่าศักราชกฎหมาย ๑๓๗๕ ตรงกับ พ.ศ. 2298 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กำหนดไว้ดังนี้[54]: 106
บรรดาศักดิ์ | ศักดินา | อัตราเงินค่าปรับไหม |
---|---|---|
เจ้าพระยา | 10000 เอกอุ (ระดับสูงสุด) | 30 ชั่ง |
เจ้าพระยา | 10000 เอกมอ (มัธยมหรือระดับกลาง) | 30 ชั่ง |
พระยา | 10000 เอกสอ (ระดับสามัญ) | 20 ชั่ง |
พระ, หลวง | 5000 | 15 ชั่ง |
พระ, หลวง | 3000 | 12 ชั่ง |
พระ, หลวง (หัวเมือง) | 1700 – 2000 | 10 ชั่ง |
ขุน | 1200 – 1600 | 8 ชั่ง |
ขุน, หมื่น | 600, 800, 1000 | 6 ชั่ง |
- | 400 – 500 | 4 ชั่ง |
หมายเหตุ
- มาตราเทียบเงิน 1 ชั่ง มีค่าเท่ากับ 80 บาท[55]
สมเด็จเจ้าพระยา
[แก้]บรรดาศักดิ์ สมเด็จเจ้าพระยา นั้น เพิ่งมามีครั้งแรกในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ได้สถาปนาขึ้นอีก 3 ท่าน หลังจากนั้น ก็ไม่มีผู้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอีก สมเด็จเจ้าพระยาจึงมีเพียง 4 ท่าน คือ
- สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก บรรดาศักดิ์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก่อนปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์ใหม่
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 4
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ศักดินา 30,000 สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 5
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการติดต่อกับประเทศตะวันตก ฝรั่งเทียบให้บรรดาศักดิ์ "สมเด็จเจ้าพระยา" เทียบเท่ากับ ขุนนางตะวันตกชั้น "Grand Duke" โดยหนังสือที่มีถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั้นเรียกท่านว่า "แกรนด์ดยุก"
สมเด็จเจ้าพระยาในสมัยรัตนโกสินทร์มีศักดินา 30,000ไร่ เกือบเสมอกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยา ซึ่งทรงศักดินา 35,000 ไร่ จะได้รับพระราชทาน เครื่องประกอบอิสริยยศทำจาก ทองคำลงยาราชาวดี เสมอพระองค์เจ้าทรงกรม มีพระกลดกางกั้น มีพระแสงราชอาญาสิทธิ์ หากวายชนม์ ก็ให้ใช้คำว่า "ถึงแก่พิราลัย"
เจ้าพระยา
[แก้]บรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางที่สูงที่สุดตามทำเนียบ พระไอยการนาพลเรือน[56]: 124 และทำเนียบ พระไอยการศักดินาทหารหัวเมือง[56]: 171 อนึ่งบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยาชั้นเอก ยังแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ เจ้าพระยาชั้นเอกอุ (เอกอุดม) เจ้าพระยาชั้นเอกมอ (เอกมัธยม) และเจ้าพระยาชั้นเอกสอ (เอกสามัญ) ศักดินา 10000 เท่ากันทุกชั้น เจ้าพระยาจักรีสมุหนายกกับเจ้าพระยาสุรศรีเจ้าเมืองพิษณุโลกเป็นเจ้าพระยาชั้นเอกอุ (เอกอุดม) เท่ากัน[57]: 129:เชิงอรรถ ๑ ส่วนเจ้าพระยาศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าพระยาชั้นเอกสอ (เอกสามัญ)[58]: 107
บรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาในสมัยอยุธยา มีเพียง 5 ตำแหน่ง ได้แก่
มหาอุปราช
[แก้]- เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงษองคภักดีบดินทรสุรินทรเดโชไชยมหัยสุริภักดีอาญาธิราช นา ๑๐๐๐๐[56]: 128 ตำแหน่งขุนนางอาวุโสหน้าพระที่นั่ง
หมายเหตุ ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชเห็นว่าจะตั้งขึ้นเพื่อพรางตำแหน่งเจ้าเสนาบดี ตอนหลังให้เลิกตามให้พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล องค์รัชทายาทกระทำหน้าที่แทน ให้ทรงศักดินา ๑๐๐๐๐๐ เสมอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ตำแหน่งเจ้าพระยามหาอุปราชจึงว่างไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1952 เป็นเพียงตำแหน่งที่มีในทำเนียบไว้เท่านั้น[57]: 85
อัครมหาเสนาบดี
[แก้]- เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีอะไภยพิรีบรากรมุภาหุ นา ๑๐๐๐๐ เอกอุราชสีห ถือตราพระราชสีห์ตราจักร[56]: 128 สมุหนายก (หัวหน้าขุนนางฝ่ายพลเรือน อัครมหาเสนาบดีผู้รับผิดชอบเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงแทนพระเจ้าแผ่นดิน
- เจ้าพระยามหาเสนาบดีวิริยภักดีบดินทรสุรินทรฤๅไชยอภัยภิริยบรากรมภาหุ สมุหพระกลาโหม นา ๑๐๐๐๐ ถือตราพระคชสีห์[56]: 171 สมุหพระกลาโหม (หัวหน้าขุนนางฝ่ายทหาร อัครมหาเสนาบดีผู้รับผิดชอบเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวงแทนพระเจ้าแผ่นดิน)
หมายเหตุ เจ้าต่างกรมให้ศักดินาสูงกว่า 10000
เจ้าพระยามหานครผู้ครองหัวเมืองชั้นเอก
[แก้]- เจ้าพระยาสุรศรีพิศมาธิราชชาติพัทยาธิเบศวรธิบดีอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ เมืองพิศณุโลกเอกอุ นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงเสนาฏขวา[56]: 199 เจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองชั้นเอกอุ
- เจ้าพระยาศรีธรรมราชชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองเอก นา ๑๐๐๐๐ ขึ้นประแดงอินทปัญญาซ้าย[56]: 200 เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองชั้นเอก
พระยา
[แก้]ส่วน บรรดาศักดิ์ พระยา นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ สำหรับขุนนางระดับสูง หัวหน้ากรมต่างๆ เจ้าเมืองชั้นโท และแม่ทัพสำคัญ ในพระไอยการฯ มีเพียง 33 ตำแหน่ง ดังนั้น จึงมีประเพณี พระราชทานเครื่องยศ (โปรดดูเรื่อง เครื่องราชอิสริยยศไทย) ประกอบกับบรรดาศักดิ์ด้วย โดย พระยาที่มีศักดินามากกว่า 5,000 จะได้รับพระราชทานพานทอง ประกอบเป็นเครื่องยศ จึงเรียกกันว่า พระยาพานทอง ซึ่งถือเป็นขุนนางระดับสูง ส่วนพระยาที่มีศักดินาต่ำกว่านี้ จะไม่ได้รับพระราชทานพานทอง (ปัจจุบันผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้า และ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ถือว่ามียศศักดิ์เทียบเท่ากับ พระยาพานทอง)
ในเรื่องนี้ จึงมีประเด็นความเชื่อ โดยบุตรขุนนางที่เกิดใหม่ บิดามักเอาพานทองไปรองรับทารกที่เกิดใหม่นั้น พร้อมอธิษฐานว่า ขอให้บุตรของตนมีวาสนาได้เป็นพระยาพานทองในอนาคต
ขุนนางที่มีศักดินา 10,000
[แก้]ขุนนางที่มีศักดินา 10,000 ที่ถือว่าเป็นขุนนางระดับสูงนั้น นอกจาก เจ้าพระยา ทั้งห้าตำแหน่งนั้นแล้ว ในทำเนียบพระไอยการฯ ยังมีอีก 16 ตำแหน่ง แต่มีบรรดาศักดิ์ระดับต่ำกว่าเจ้าพระยา คือ
จตุสดมภ์ (เสาหลักราชการทั้ง 4 - ศักดินา 10000 ต่ำกว่าอัครมหาเสนาบดี)
[แก้]- พระยายมราชอินทราธิบดีศรีวิไชยบริรักโลกากรทัณทะราช เสนาบดีนครบาล (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)
- พระยาธารมาธิบดีสรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชไชยมะไหยสุริยาธิบดีรัตนมลเทียรบาล เสนาบดีกรมวัง (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)
- พระยาศรีธรรมราชเดชะชาติอำมาตยานุชิตพิพิทรัตนราชโกษาธิบดีอภัยรีพิริยะกรมภาหุ ตราบัวแก้ว เสนาบดีกรมพระคลัง (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา แล้ว ภายหลังได้ยกให้เป็นที่ระดับเดียวกับอัครมหาเสนาบดี เพราะต้องรับผิดชอบด้านการคลังและการต่างประเทศ รวมทั้งหัวเมืองชายทะเลฝ่ายตะวันออก)
- พระยาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนเกษตราธิบดี เสนาบดีกรมนา (ที่ จตุสดมภ์ - ภายหลังได้แก้จาก พระยา เป็นเจ้าพระยา)
ขุนนางชั้นสูงระดับนาหมื่น ที่ต่ำกว่าจตุสดมภ์
[แก้]- พระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุภะราชพิรียภาหุ เจ้ากรมธรรมการ
- พระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษ์องคบุริโสดมพรหมญาณวิบุลสิลสุจริต วิวิทธเวทยพรหมพุทธาจารย์ ปุโรหิต
- พระมหาราชครูพระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรมจาริยาธิบดีศรีพุทธาจารย พราหมณ์
- พระยารามจัตุรงค์ จางวางกรมอาสาหกเหล่า
- พระยาศรีราชเดโชไชยอะไภรีพิรียปรากรมภาหุ เดโช เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา
- พระยาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยรีพิรียปรากรมภาหุ ท้ายน้ำ เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย
ออกญานาหมื่นที่รั้งหัวเมืองชั้นโท (ภายหลังให้ยกเป็นเจ้าพระยา)
[แก้]- พระยาเกษตรสงครามรามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาลัยอภัยรีพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก
- พระยาศรีธรรมศุภราชชาติบดินทรสุรินทฤๅไชยอภัยพิรียภาหุ เจ้าเมืองสุโขทัย
- พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองกำแพงเพชร
- พระยาเพชรรัตนสงครามรามภักดีอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์
- ออกญากำแหงสงครามรามภักดีอภัยพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองนครราชสีมา (ภายหลังได้รับการยกเป็นหัวเมืองชั้นเอกเพราะศึกเจ้าอนุวงศ์)
- ออกญาไชยยาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียบรากรมภาหุ เจ้าเมืองตะนาวศรี
- ออกญาขุขันธภักดีศรีนครลำดวนไกรสรสงครามอภัยพิริยปรากรมภาหุ เจ้าเมืองขุขันธบุรีศรีนครลำดวน
- ออกญาสุรินทร์ภักดีศรีณรงจางวาง เจ้าเมืองสุรินทร์
- ออกญาสังขะบุรีศรีนครอัจจะ เจ้าเมืองสังขะ
ขุนนางที่มีศักดินา 5,000
[แก้]ขุนนางที่มีศักดินา 5,000 ตามพระไอยการฯ ซึ่งถือว่าเป็นขุนนางระดับสูง รองลงมาจากขุนนางศักดินา 10,000 มี 21 ตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
- ออกญาศรีสุริยะราชาไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิชัย
- ออกญาเทพาธิบดีศรีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองพิจิตร
- ออกญาไกรเพชรรัตนสงครามรามภักดีพิรียภาหะ เจ้าเมืองเมืองนครสวรรค์
- ออกญาแก้วเการพยพิไชยภักดีบดินทรเดโชไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองพัทลุง
- ออกญาเคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก เจ้าเมืองเมืองชุมพร
- ออกพระไชยธิบดีรณรงค์ฤๅไชยอภัยพิรียะภาหะ เจ้าเมืองเมืองจันทบูรณ์
- ออกพระวิชิตภักดีศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองเมืองไชยา
- ออกพระราชสุภาวดี ศรีสจะเทพณรายสมุหะมาตยาธิบดีศรีสุเรนทราเมศวร เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
- ออกพระศรีภูริยปรีชาราชเสนาบดีศรีสารลักษณ เจ้ากรมอาลักษณ์
- พระราชครูพระครูพิเชดษรราชธิบดีศรีษรคม พราหมน์
- พระธรรมสาตรโหระดาจารยปลัดมหิธร พราหมน์
- พระราชครูพระครูพิรามราชสุภาวดีตรีเวทจุทามะณีศรีบรมหงษ์ ปุโรหิต
- พระอุไทยธรรม เจ้ากรมภูษามาลา
- พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริยวงษ์องคสมุหะ สมุหะพระคชบาลจางวางขวา
- พระสุรินทราราชาธิบดีศรีสุริยศักดิ์ สมุหะพระคชบาลจางวางซ้าย
- พระเพชรพิไชย จางวาง กรมล้อมพระราชวัง
- พระราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติพิริยภาหะ เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ
- พระพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย
- พระรามคำแหง เจ้ากรมอาสาขวา
- พระพิชัยรณฤทธิ เจ้ากรมเขนทองขวา
- พระวิชิตรณรงค์ เจ้ากรมเขนทองซ้าย
ขุนนางที่มีศักดินา 3,000 ที่รั้งหัวเมืองตรี และ หัวเมืองจัตวา
[แก้]- พระราชฤทธานนพหลภักดี ปลัดเมืองพิษณุโลก
- พระศรีราชสงคราม ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
- ออกพระศรีสุรินทฤๅไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี
- ออกพระสุระบดินทร์สุรินฤๅไชย เจ้าเมืองชัยนาท
- ออกเมืองอินทบุรี เจ้าเมืองอินทบุรี
- ออกเมืองพรมบุรีย์ เจ้าเมืองพรหมบุรี
- ออกพระญี่สารสงคราม เจ้าเมืองสิงห์บุรี
- ออกพระนครพราหมณ์ เจ้าเมืองลพบุรี
- ออกพระพิไชยรณรงค์ เจ้าเมืองสระบุรี
- ออกพระพิไชยสุนทร เจ้าเมืองอุทัยธานี
- ออกพระศรีสิทธิกัน เจ้าเมืองมโนรมย์
- ออกพระวิเศษไชยชาญ เจ้าเมืองวิเศษไชยชาญ
- ออกพระสวรรคบุรี เจ้าเมืองสวรรคบุรี
- ออกพระพิไชยภักดีสรีมไหยสวรรค เจ้าเมืองกาญจนบุรี
- ออกพระพลคบุรีย์ เจ้าเมืองไทรโยค
- ออกพระสุนธรสงครามรามพิไชย เจ้าเมืองสุพรรณบุรี
- ออกพระศรีสวัสดิ์บุรีย์ เจ้าเมืองศรีสวัสดิ์
- ออกพระสุนธรบุรียศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองนครไชยศรี
- ออกพระอมรินฤๅไชย เจ้าเมืองราชบุรี
- ออกพระพิบูลย์สงคราม เจ้าเมืองนครนายก
- ออกพระอุไทยธานี เจ้าเมืองปราจีนบุรี
- ออกพระพิไชยภักดีสรีวิสุทธิสงคราม เจ้าเมืองกุย
- ออกพระราชภักดีศรีสงคราม เจ้าเมืองระยอง
- พระวิเศศฤๅไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา
- พระนนทบุรีศรีมหาสมุทร เจ้าเมืองนนทบุรี
- พระสมุทรสาคร เจ้าเมืองท่าจีน
- พระสมุทรประการ เจ้าเมืองแม่กลอง
- พระชนยบุรีย เจ้าเมืองชลบุรี
- พระปรานบุรีย์ศรีสงคราม เจ้าเมืองปราณบุรี
- พระบางลมุง เจ้าเมืองบางละมุง
- พระศรีสมรรัตนราชภักดีศรีบวรพัช เจ้าเมืองท่าโรง
- พระจันบูรราชภักดีศรีขันทเสมา เจ้าเมืองกำพราน
- พระไชยบาดาล เจ้าเมืองไชยบาดาล
- พระวรฤทธิฤๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี
- พระยารัตนวงษา เจ้าเมืองศรีสะเกษ
- พระศรีสุระ เจ้าเมืองเดชอุดม
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ราชกิจจานุเบกษา 15 พ.ค. 2485" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-13. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา 31 ม.ค. 2487
- ↑ ประกาศดังกล่าวก็ถูกยกเลิก
- ↑ "สิทธิในการรับเบี้ยหวัดบำเหน็จและบำนาญ พุทธศักราช 2489" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-05-11.
- ↑ การประกาศให้มีผู้ได้รับบรรดาศักดิ์กลับคืนมีปรากฏในราชกิจจานุเบกษา
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 พินิจ จันทร และคณะ. (2565). ย้อนประวัติศาสตร์ ๔๑๗ ปี อยุธยา ๓๓ ราชัน ผู้ครองนคร. กรุงเทพฯ: เพชรพินิจ. 288 หน้า. ISBN 978-6-165-78479-5
- ↑ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2516). แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคณดี 7(9). กรุงเทพฯ: สำนักนายกรัฐมนตรี.
- ↑ พิธินัย ไชยแสงสุขกุล และอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. (2531). กฎหมายล้านนาโบราณ: วิเคราะห์ระบบโครงสร้างและเนื้อหา บทบัญญัติที่จารในใบลาน เล่มที่ 12. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 36.
- น้ำทิพ สุขโชคอำนวย. (2554). ปัญหาหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลในกฎหมายละเมิด. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 286.
- ↑ อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่มที่ 4. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2526. ISBN 978-9-744-19080-2
- ↑ 10.0 10.1 ประเสริฐ ณ นคร และนิยะดา เหล่าสุนทร. (2541). สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 588 หน้า. ISBN 978-9-748-63746-4
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. (2544). ไตรภูมิกถา: พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยสมัยสุโขทัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 773 หน้า ISBN 978-9-748-12370-7
- ↑ 12.0 12.1 12.2 12.3 วิไลเลขา ถาวรธนสาร และคณะ. (2536). พื้นฐานวัฒนธรรมไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 775 หน้า. ISBN 978-9-745-98965-8
- ↑ วิชญา มาแก้ว. (2564). ยุคทองล้านนา ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสามัญชน. กรุงเทพฯ: มติชน. 416 หน้า. ISBN 978-9-740-21734-3
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2527). ศิลปวัฒนธรรม, 6(1).
- ↑ 15.0 15.1 วีณา โรจนราธา และคณะ. (2550). ปกิณกคดีประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 476 หน้า. ISBN 978-9-744-17838-1
- ↑ คณะกรรมการจัดทำสารานุกรมสุโขทัยศึกษา. (2539). สารานุกรมสุโขทัยศึกษา เล่ม 1 ก-ป. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 358 หน้า. ISBN 978-9-746-14936-5
- ↑ กรมศิลปากร. (2526). อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 5 อักษร ฆ ง จ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
- ↑ สมชาย พุ่มสะอาด สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และกมล วิชิตสรศาสตร์. (2527). 400 ปีสมเด็จพระนเรศวร: ที่ระลึก 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย. กรุงเทพฯ : พุทธบูชาการพิมพ์. 775 หน้า. หน้า 263.
- หนังสืออ่านประกอบพื้นฐานอารยธรรมไทย ตอน พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง. [ม.ป.ท.]: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2516. 213 หน้า. หน้า 63.
- คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. (2510). เมืองไทยกับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า. 316 หน้า. หน้า 116.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 ดำเนิร เลขะกุล. (2546). มรดกทางปัญญา. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์. 286 หน้า. ISBN 978-9-746-19109-8
- ↑ อรุณ เวชสุวรรณ. (2525). เงาอดีต. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 80 หน้า.
- ↑ กองวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ. (2523). วารสารวัฒนธรรมไทย, 19.
- ↑ 22.0 22.1 นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา. (2493). สาส์นสมเด็จ ภาคที่ 27. พระนคร : กรมศิลปากร. 90 หน้า.
- ↑ ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2547). รายงานการวิจัย เรื่อง ศิลปะสุโขทัย: บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร. 153 หน้า.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2548). วารสารราชบัณฑิตยสถาน, 30 (1-2):116.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร และคณะ. (2539). ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์: พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 329 หน้า. หน้า 180. ISBN 978-9-747-77197-8
- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
- ↑ กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548.
- ↑ 27.0 27.1 ยืนหยัด ใจสมุทร. (2563). พระเจ้าตากสวรรคต ณ เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช บันทึกลับนอกพงศาวดาร. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. ISBN 978-6-164-41958-2 256 หน้า.
- ↑ กรมศิลปากร. (2507). ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา. 427 หน้า.
- ↑ สุเนตร ชุติธรานนท์ และวิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์. (2564). ฝรั่งรุกพระนั่งเกล้าฯ การทูตสยามคราวจักรวรรดินิยมบุกอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน. 192 หน้า. ISBN 978-9-740-21754-1
- ↑ 30.0 30.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ และคณะ. (2545). เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 404 หน้า. ISBN 974-417-534-6
- ↑ 31.0 31.1 เทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระ. บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: พี.เค.พริ้นติ้ง, 2540. 160 หน้า.
- ↑ ลิขิต ธีรเวคิน. (2533). วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 233 หน้า. {ISBN|978-9-745-71334-5}}
- ↑ 33.0 33.1 วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2549). ภาษาอัชฌาไศรย : The Pleasure of Words. กรุงเทพฯ: กองทุน พลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 195 หน้า. ISBN 974-963-337-7
- ↑ ธรรมคามน์ โภวาที และถวิล สุนทรศาลทูล. (2511). ประวัติมหาดไทย (ส่วนกลาง) ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประวัติและพิพิธภัณฑ์มหาดไทย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย. 423 หน้า.
- ↑ สมภพ จันทรประภา. (2515). ชีวิตและงานของ จอมพลถนอม กิตติขจร. กรุงเทพฯ: ก้าวหน้า. 291 หน้า.
- ↑ ประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย. นนทบุรี: สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532. 820 หน้า. ISBN 978-9-746-10883-6
- ↑ อุดม ประมวลวิทย์. (2508). ๑๐๐ รัฐบุรุษและสตรีสำคัญของโลก. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 708 หน้า.
- ↑ คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี. (2536). ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 376 หน้า. ISBN 978-9-747-30553-1
- ↑ พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. (2515). ชีวิตและงาน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดย ท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล. กรุงเทพฯ: หอสมุดกลาง 09. 403 หน้า.
- ↑ 40.0 40.1 กรมศิลปากร. (1974). เรื่องมหาดเล็ก. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 104 หน้า.
- ↑ จวงจันทร์ สิงหเสนี. (2541). สายสกุลสิงหเสนี. อนุสรณ์เนื่องในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ป.ภ., ท.ช. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๑. 227 หน้า.
- ↑ พลาดิสัย สิทธิธัญกิจ. (2562). พระราชปฏิพัทธ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ: สยามความรู้. หน้า 31. ISBN 978-616-4-41477-8
- ↑ ศานติ ภักดีคำ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2552). เขมร "ถกสยาม". กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 150. ISBN 978-974-02-0418-3
- อุทัย ภานุวงศ์. (2530). ประวัติการสืบเชื้อสายของวงศ์เฉกอะหมัด คูมี เจ้าพระยาบวรราชนายก ชาวเปอร์เซีย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. หน้า 85.
- ↑ 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จหมื่น. (2517). มหาดเล็กในทำเนียบ สุนัขปริศนา นามแฝงของมหาบุรุษ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 12.
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. (2472). ประชุมเรื่องเบ็ดเตล็ด ๓ เรื่อง คือ เรื่อง การอำนวยพร เรื่อง เทศกาลพระบาท อธิบาย เรื่อง เจ้าคุณประตูดิน เจ้าราชนิกูล หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ เจ้านาย หม่อม. แจกในการกฐิมพระราชทาน นายพลโท พระยาสีหราชฤทธิไกร ปลัดทูลฉลองกระทรวงกระลาโหม ณวัดคฤหบดี พระพุทธศักราช ๒๔๗๒. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. หน้า 35.
- ↑ ยืนหยัด ใจสมุทร. (2537). ต้นตระกูลอัยการไทย. กรุงเทพฯ : สยาม. หน้า 51. ISBN 978-974-7-03320-5
- ↑ ส.คลองหลวง. (2543). 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์. หน้า 84.
- ↑ 48.0 48.1 กรมศิลปากร. (2511). ประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๕๑๑. พิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๑. 417 หน้า. พระนคร: เหรียญทองการพิมพ์.
- ↑ 49.0 49.1 วิทยาลัยการปกครอง. (2560). "สิ่งที่หายไปจากงานพระบรมศพยุคใหม่," ใน วิถีธัญบุรี,17(146), (กุมภาพันธ์). ISSN 1906-4020
- ↑ พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร (ทองประเสริฐ)). (2525). ภาษาของเรา ชุดที่ 9. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 430 หน้า. อ้างใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฆิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓.
- ↑ สำนักพระราชวัง. (2528). รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก. กรุงเทพฯ: สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. 133 หน้า. ISBN 978-9-747-77582-2
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). ราชาศัพท์: ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 354 หน้า. ISBN 978-9-747-07327-0
- ↑ สุลักษณ์ ศิวรักษ์. (2513). คุยคนเดียว. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 646 หน้า.
- ↑ เทพชู ทับทอง. (2546). ผู้หญิงไทยในอดีต. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น. 199 หน้า. ISBN 978-9-742-98331-4
- ↑ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (2560). "ทองสำริดที่ใช้หล่อ," ใน พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก. กรุงเทพฯ: มติชน. 184 หน้า. หน้า 30. ISBN 978-9-740-21543-1
- พัชนะ บุญประดิษฐ์. (2553, 3 พฤศจิกายน). มาตราเงิน. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566.
- ↑ 56.0 56.1 56.2 56.3 56.4 56.5 56.6 บรัดเลย์, แดน บีช. (2439). "สมุดพระไอยการนาพลเรือน, พระไอยการศักดินาทหารหัวเมือง", หนังสือเรื่อง กฎหมายเมืองไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์. 496 หน้า.
- ↑ 57.0 57.1 ธรรมคามน์ โภวาที และถวิล สุนทรศาลทูล. (2511). ประวัติมหาดไทย (ส่วนกลาง) ภาคที่ ๒ ตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการประวัติและพิพิธภัณฑ์มหาดไทย. 423 หน้า.
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร และศศิกานต์ คงศักดิ์. (2549). ภาษาอัชฌาไศรย : The Pleasure of Words. กรุงเทพฯ: กองทุน พลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 195 หน้า. ISBN 974-963-337-7
- กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ (1 ชุด มี 3 เล่ม), สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548