ข้ามไปเนื้อหา

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

พิกัด: 13°45′30″N 100°29′36″E / 13.758201°N 100.493252°E / 13.758201; 100.493252
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสาวรีย์ทหารอาสา
ประเทศไทย
อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2564
สร้างเพื่อรำลึกถึง ทหารอาสาชาวไทยที่เสียชีวิตในการพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป
เปิดครั้งแรก24 กันยายน พ.ศ. 2462
แล้วเสร็จกันยายน พ.ศ. 2462
ที่ตั้งสามเหลี่ยมระหว่างถนนหน้าพระธาตุและถนนราชินี ทางมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
จำนวนร่าง19 นาย
สร้างเพื่อประเทศ
สร้างเพื่อสงคราม
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0005576

อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ ถนนสามเหลี่ยมตรงมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นอนุสรณ์แก่ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยประเทศไทยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460[1]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ประกาศรับทหารอาสาสมัครเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2461[1] เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2461[2] เพื่อเข้ารับการฝึกหัดเพิ่มเติมก่อนเดินทางต่อไปยังสนามรบ ทหารไทยได้ไปปฏิบัติการรบสนับสนุนกองทัพบกฝรั่งเศส และได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารชาติสัมพันธมิตรอย่างกล้าหาญองอาจ ทหารอาสาที่เสียชีวิตในสมรภูมิจำนวน 19 นาย ได้ฝังไว้ ณ ตำบล ฌูบ กูรท์ (Jube Court) ในยุทธบริเวณประเทศฝรั่งเศส ต่อมาจึงมีการฌาปนกิจที่สุสานในเยอรมนี[3] ครั้นสงครามสงบลงซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ทหารอาสาได้ทยอยเดินทางกลับสู่ประเทศ ชุดสุดท้ายมาถึงเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462[2] พร้อมอัฐิของทหารที่เสียชีวิต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิของทหารหาญเหล่านั้น ได้โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ออกแบบ[1] อนุสาวรีย์มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ มีซุ้ม 4 ด้าน ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหน้าและหลังของอนุสาวรีย์จารึกเหตุผลแห่งการประกาศสงคราม การประกาศรับทหารอาสาสมัคร การจัดกำลังรบ และการเดินทาง อีกสองด้านจารึกชื่อของทหารผู้สละชีวิตจำนวน 19 คน บอกอายุ ยศ และนาม วันเดือนปีและสถานที่ที่เสียชีวิต อัฐิของทหารที่เสียชีวิตได้ถูกนำมาบรรจุ ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2462[2]

รายนามทหารที่จารึกบนอนุสาวรีย์

[แก้]

ทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับการจารึกไว้บนอนุสาวรีย์ทหารอาสามีดังนี้[3]

  1. ร.ต. สงวน ทันด่วน
  2. นายดาบ เยื้อน สังข์อยุทธ
  3. จ.ส.อ. ม.ล. อุ่น อิศรเสนา ณ กรุงเทพ
  4. จ.ส.อ .เจริญ พิรอด
  5. ส.อ. ปุ้ย ขวัญยืน
  6. ส.ต. นิ่ม ชาครรัตน
  7. ส.ต. ชื่น นภากาศ
  8. พลฯ ตุ๊ -
  9. พลฯ ชั้ว อ่อนเอื้อวงษ์
  10. พลฯ พรม แตงเต่งวรรณ
  11. พลฯ ศุข พ่วงเพิ่มพันธุ์
  12. พลฯ เนื่อง พิณวานิช
  13. พลฯ นาค พุยมีผล
  14. พลฯ บุญ ไพรวรรณ
  15. พลฯ โป๊ะ ชุกซ่อนภัย
  16. พลฯ เชื่อม เปรมปรุงใจ
  17. พลฯ ศิลา นอมภูเขียว
  18. พลฯ ผ่อง อมาตยกุล
  19. พลฯ เปลี่ยน นุ่มปรีชา

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ตรี อมาตยกุล, อนุสาวรีย์วีรชนไทย, กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพฯ, 2520, หน้า 58-60
  2. 2.0 2.1 2.2 กรุงเทพมหานคร เอกสารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  3. 3.0 3.1 สงครามโลกครั้งที่ ๑ - กองบัญชาการทหารสูงสุด

13°45′30″N 100°29′36″E / 13.758201°N 100.493252°E / 13.758201; 100.493252