อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
อนุสาวรีย์ทหารอาสา | |
---|---|
ประเทศไทย | |
อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 2564 | |
สร้างเพื่อรำลึกถึง ทหารอาสาชาวไทยที่เสียชีวิตในการพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป | |
เปิดครั้งแรก | 24 กันยายน พ.ศ. 2462 |
แล้วเสร็จ | กันยายน พ.ศ. 2462 |
ที่ตั้ง | สามเหลี่ยมระหว่างถนนหน้าพระธาตุและถนนราชินี ทางมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามโรงละครแห่งชาติ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
ออกแบบโดย | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ |
จำนวนร่าง | 19 นาย |
สร้างเพื่อประเทศ | |
สร้างเพื่อสงคราม | |
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 |
เป็นส่วนหนึ่งของ | โบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร |
เลขอ้างอิง | 0005576 |
อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ ณ ถนนสามเหลี่ยมตรงมุมด้านทิศเหนือของท้องสนามหลวง ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นอนุสรณ์แก่ทหารไทยที่ไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยประเทศไทยร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460[1]
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้ประกาศรับทหารอาสาสมัครเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2461[1] เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2461[2] เพื่อเข้ารับการฝึกหัดเพิ่มเติมก่อนเดินทางต่อไปยังสนามรบ ทหารไทยได้ไปปฏิบัติการรบสนับสนุนกองทัพบกฝรั่งเศส และได้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารชาติสัมพันธมิตรอย่างกล้าหาญองอาจ ทหารอาสาที่เสียชีวิตในสมรภูมิจำนวน 19 นาย ได้ฝังไว้ ณ ตำบล ฌูบ กูรท์ (Jube Court) ในยุทธบริเวณประเทศฝรั่งเศส ต่อมาจึงมีการฌาปนกิจที่สุสานในเยอรมนี[3] ครั้นสงครามสงบลงซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ทหารอาสาได้ทยอยเดินทางกลับสู่ประเทศ ชุดสุดท้ายมาถึงเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462[2] พร้อมอัฐิของทหารที่เสียชีวิต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิของทหารหาญเหล่านั้น ได้โปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ออกแบบ[1] อนุสาวรีย์มีรูปทรงคล้ายเจดีย์ มีซุ้ม 4 ด้าน ประดับด้วยหินอ่อน ด้านหน้าและหลังของอนุสาวรีย์จารึกเหตุผลแห่งการประกาศสงคราม การประกาศรับทหารอาสาสมัคร การจัดกำลังรบ และการเดินทาง อีกสองด้านจารึกชื่อของทหารผู้สละชีวิตจำนวน 19 คน บอกอายุ ยศ และนาม วันเดือนปีและสถานที่ที่เสียชีวิต อัฐิของทหารที่เสียชีวิตได้ถูกนำมาบรรจุ ณ อนุสาวรีย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2462[2]
รายนามทหารที่จารึกบนอนุสาวรีย์
[แก้]ทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และได้รับการจารึกไว้บนอนุสาวรีย์ทหารอาสามีดังนี้[3]
- ร.ต. สงวน ทันด่วน
- นายดาบ เยื้อน สังข์อยุทธ
- จ.ส.อ. ม.ล. อุ่น อิศรเสนา ณ กรุงเทพ
- จ.ส.อ .เจริญ พิรอด
- ส.อ. ปุ้ย ขวัญยืน
- ส.ต. นิ่ม ชาครรัตน
- ส.ต. ชื่น นภากาศ
- พลฯ ตุ๊ -
- พลฯ ชั้ว อ่อนเอื้อวงษ์
- พลฯ พรม แตงเต่งวรรณ
- พลฯ ศุข พ่วงเพิ่มพันธุ์
- พลฯ เนื่อง พิณวานิช
- พลฯ นาค พุยมีผล
- พลฯ บุญ ไพรวรรณ
- พลฯ โป๊ะ ชุกซ่อนภัย
- พลฯ เชื่อม เปรมปรุงใจ
- พลฯ ศิลา นอมภูเขียว
- พลฯ ผ่อง อมาตยกุล
- พลฯ เปลี่ยน นุ่มปรีชา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 ตรี อมาตยกุล, อนุสาวรีย์วีรชนไทย, กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพฯ, 2520, หน้า 58-60
- ↑ 2.0 2.1 2.2 กรุงเทพมหานคร เอกสารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- ↑ 3.0 3.1 สงครามโลกครั้งที่ ๑ - กองบัญชาการทหารสูงสุด