ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้
ฉายา | 태극전사 (นักรบเกาหลีใต้) 아시아의 호랑이 (เสือแห่งเอเชีย) | ||
---|---|---|---|
สมาคม | สมาคมฟุตบอลเกาหลี (KFA) | ||
สมาพันธ์ย่อย | อีเอเอฟเอฟ (เอเชียตะวันออก) | ||
สมาพันธ์ | เอเอฟซี (เอเชีย) | ||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | ฮวาง ซุน ฮอง | ||
กัปตัน | ซน ฮึง-มิน | ||
ติดทีมชาติสูงสุด | ชา บุม-คุน ฮอง มยุง-โบ (136) | ||
ทำประตูสูงสุด | ชา บุม-คุน (58) | ||
รหัสฟีฟ่า | KOR | ||
| |||
อันดับฟีฟ่า | |||
อันดับปัจจุบัน | 22 1 (20 มิถุนายน 2024)[1] | ||
อันดับสูงสุด | 17 (ธันวาคม ค.ศ. 1998) | ||
อันดับต่ำสุด | 69 (พฤษภาคม ค.ศ. 2014 – มกราคม ค.ศ. 2015) | ||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | |||
เกาหลีใต้ 5–3 เม็กซิโก (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ; 2 สิงหาคม ค.ศ. 1948) | |||
ชนะสูงสุด | |||
เกาหลีใต้ 16–0 เนปาล (อินช็อน ประเทศเกาหลีใต้; 29 กันยายน ค.ศ. 2003) | |||
แพ้สูงสุด | |||
เกาหลีใต้ 0–12 สวีเดน (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ; 5 สิงหาคม ค.ศ. 1948) | |||
ฟุตบอลโลก | |||
เข้าร่วม | 11 (ครั้งแรกใน 1954) | ||
ผลงานดีที่สุด | อันดับที่ 4 (2002) | ||
เอเชียนคัพ | |||
เข้าร่วม | 14 (ครั้งแรกใน 1956) | ||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (1956, 1960) | ||
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออก | |||
เข้าร่วม | 8 (ครั้งแรกใน 2003) | ||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (2003, 2008, 2015, 2017, 2019) | ||
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ | |||
เข้าร่วม | 1 (ครั้งแรกใน 2001) | ||
ผลงานดีที่สุด | รอบแบ่งกลุ่ม (2001) | ||
เกียรติยศ |
ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ | |
ฮันกึล | 대한민국 축구 국가대표팀 |
---|---|
ฮันจา | 大韓民國 蹴球 國家代表팀 |
อาร์อาร์ | Daehan Min'guk Chukgu Gukga Daepyo Tim |
เอ็มอาร์ | Taehan Min'guk Ch'ukku Kukka Taep'yo T'im |
ฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ (เกาหลี: 대한민국 축구 국가대표팀; ทางฟีฟ่ายอมรับเป็น สาธารณรัฐเกาหลี) เป็นตัวแทนของประเทศเกาหลีใต้ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศ และอยู่ภายใต้การบริหารของสมาคมฟุตบอลเกาหลี
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย[2][3] โดยก้าวขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของทวีปตั้งแต่ทศวรรษ 1980 มีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 11 ครั้ง มากที่สุดในบรรดาทีมจากเอเชีย และเข้าร่วมติดต่อกัน 10 ครั้ง ตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1986 ถึงครั้งล่าสุด แม้ในการแข่งขัน 5 ครั้งแรกจะไม่สามารถเอาชนะใครได้เลย แต่ในฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นชาติแรกในเอเชียที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศ และยังคว้าอันดับ 4 ได้สำเร็จ เกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในสองทีมที่เข้าชิงชนะเลิศรายการเอเชียนคัพมากที่สุด 6 สมัย โดยชนะเลิศ 2 สมัย (1956 และ 1960) รวมทั้งคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 3 สมัย และเหรียญเงินอีก 3 สมัย[4] เกาหลีใต้มีชื่อเล่นที่กลุ่มผู้สนับสนุนและสื่อตั้งให้ว่า "Reds" เนื่องจากสีชุดแข่งขันซึ่งใช้สีแดงเป็นหลัก และกลุ่มผู้สนับสนุนของเกาหลีใต้มีชื่อเรียกว่า "Red Devils" (붉은 악마)[5] เกาหลีใต้มีคู่แข่งคือทีมใหญ่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น, อิหร่าน และ ออสเตรเลีย รวมถึงการเป็นอริกับจีน และ เกาหลีเหนือ ด้วยเหตุผลทางการเมือง
ประวัติ
[แก้]ก่อตั้งทีม (1921)
[แก้]คาบสมุทรเกาหลีภายใต้การปกครองของราชวงศ์โชซ็อนไม่ได้รับการแนะนำให้รู้จักกีฬาฟุตบอลจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 มีหลักฐานว่ากีฬาฟุตบอลเริ่มเข้าสู่เกาหลีประมาณ ค.ศ. 1882 เมื่อทหารเรือจากกองทัพเรือสหราชอาณาจักรมีการเล่นฟุตบอลบนเรือ HMS Flying Fish ในขณะเทียบท่าที่ท่าเรืออินช็อน[6] ต่อมา เกาหลีกลายเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1905 ก่อนที่สนธิสัญญาญี่ปุ่น–เกาหลี ค.ศ. 1910 ทำให้เกาหลีหมดสิ้นอำนาจการปกครองตนเองโดยสมบูรณ์
ใน ค.ศ. 1921 มีการจัดการแข่งขันรายการ All Joseon Football Tournament ขึ้นซึ่งถือเป็นการแข่งขันทางการรายการแรกในเกาหลี ต่อมาใน ค.ศ. 1928 สมาคมฟุตบอลเกาหลีในยุคแรกได้ก่อตั้งขึ้นในชื่อ สมาคมฟุตบอลโชซ็อน เพื่อสร้างรากฐานและเผยแพร่กีฬาฟุตบอลให้เป็นที่รู้จักในเกาหลี[7] ทีมฟุตบอลของเกาหลีได้ร่วมแข่งขันกับทีมญี่ปุ่นประมาณ ค.ศ. 1926 ต่อมา สโมสรฟุตบอลโชซ็อนได้กลายเป็นตัวแทนของทีมชาติเกาหลีโดยพฤตินัย และชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระจักรพรรดิ ใน ค.ศ. 1935 ซึ่งจัดโดยสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น[8] ในช่วงเวลานั้น ผู้เล่นชาวเกาหลีหลายคนต้องลงแข่งขันในนามทีมชาติญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ คิม ยอง-ชิก (김용식) ลงเล่นให้ญี่ปุ่นในโอลิมปิกฤดูร้อน 1936[9]
สมาคมฟุตบอลเกาหลีได้รับการจัดระบบใหม่ใน ค.ศ. 1945 เนื่องจากการยึดครองเกาหลีโดยจักรรรดิญี่ปุ่นสิ้นสุดลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[10] การแบ่งแยกคาบสมุทรเกาหลีส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือได้แยกประเทศกันในช่วงปลายทศวรรษ 1940 สมาคมฟุตบอลเกาหลี (KFA) ในรูปแบบใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นและเข้าร่วมสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1948 และในปีเดียวกันนั้น ทีมชาติเกาหลีใต้ได้ลงแข่งขันรายการแรกอย่างเป็นทางการด้วยการชนะทีมชาติเม็กซิโกด้วยผลประตู 5–3 ในโอลิมปิกฤดูร้อน 1948 ที่กรุงลอนดอน ก่อนจะเข้าไปแพ้สวีเดนในรอบก่อนรองชนะเลิศอย่างขาดลอย 0–12 ซึ่งเป็นสถิติการแพ้ด้วยผลประตูที่มากที่สุดของพวกเขามาถึงปัจจุบัน[11]
ฟุตบอลโลกครั้งแรก, แชมป์เอเชียนคัพ และเหรียญทองเอเชียนเกมส์ (1954–1970)
[แก้]เกาหลีใต้ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 1954 โดยเอาชนะญี่ปุ่นในรอบคัดเลือกด้วยผลประตูรวมสองนัด 7–3[12] และเกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่สองในทวีปเอเชียต่อจากทีมชาติอินโดนีเซียที่ได้ร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังลงเล่นในนามดัตช์อีสต์อินดีส์ เกาหลีใต้จึงถือเป็นประเทศเอกราชชาติแรกของเอเชียที่ได้แข่งขันฟุตบอลโลก ในการแข่งขันรอบสุดท้าย เกาหลีใต้ตกรอบแบ่งกลุ่มโดยแพ้ขาดลอยทั้งสองนัดต่อทีมชาติฮังการี และตุรกี 0–9 และ 0–7 ตามลำดับ และไม่ได้ลงแข่งขันนัดสุดท้ายที่พบกับเยอรมนีตะวันตก เนื่องจากทั้งสองทีมไม่ได้เป็นทีมวางตามกฎของฟีฟ่าในขณะนั้น[13] และเกาหลีใต้ก็ห่างหายจากการเข้าร่วมฟุตบอลโลกครั้งสุดท้ายยาวนานถึง 32 ปีหลังจากนั้น
แม้จะล้มเหลวในฟุตบอลโลก แต่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จรายการใหญ่ครั้งแรก โดยชนะเลิศฟุตบอลเอเชียนคัพซึ่งจัดแข่งขันขึ้นเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1956 ที่ฮ่องกง[14] และยังป้องกันแชมป์ได้ในฐานะเจ้าภาพในอีกสี่ปีต่อมา (1960) โดยเอาชนะเวียดนามใต้, อิสราเอล และจีน[15] อย่างไรก็ตาม ได้เกิดกรณีปัญหาขึ้นในรายการนั้น เมื่อผู้เล่นเกาหลีได้รับเหรียญรางวัลปลอม[16] โดยสมาคมฟุตบอลเกาหลีได้ให้คำมั่นว่าจะส่งมอบเหรียญทองของจริงให้แก่นักเตะ ทว่าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นเลยจนกระทั่งปี 2019 และเกาหลีใต้ยังไม่สามารถคว้าแชมป์เอเชียนคัพได้อีกเลยจนถึงทุกวันนี้ จนหลายคนสันนิษฐานว่าเป็นเพราะ "คำสาปของเหรียญปลอม"[17]
ใน ค.ศ. 1965 รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ต้องการส่งทีมลงแข่งขันกับเกาหลีเหนือ สิ่งนี้นำไปสู่การถอนตัวการแข่งขันฟุตบอลโลก 1966 รอบคัดเลือก โดยรองประธานของสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ในขณะนั้นได้ประเมินทีมชาติเกาหลีเหนือว่าเป็น "ทีมระดับโลก"[18] ซึ่งคำกล่าวนั้นเป็นจริง โดยเกาหลีเหนือผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศในครั้งนั้น ต่อมาในเดือนมีนาคม 1967 สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) ได้ก่อตั้งสโมสร Yangzee FC เพื่อรวบรวมนักฟุตบอลชาวเกาหลีใต้ให้มาร่วมซ้อมกันอย่างเข้มข้น[19] โดยผู้เล่นทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับยกเว้นการเกณ์ทหาร, การถูกส่งตัวไปฝึกที่ต่างประเทศ และเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อมอย่างหนัก เกาหลีใต้ตกรอบในรอบคัดเลือกโอลิมปิกฤดูร้อน 1968 ด้วยผลต่างประตูได้-เสียที่น้อยกว่าญี่ปุ่น แม้จะมีคะแนนเท่ากัน[20] สโมสร Yangzee ได้ร่วมแข่งขันรายการสโมสรเอเชียในปี 1969 และได้ตำแหน่งรองชนะเลิศซึ่งมีสโมสรชื่อดังลงแข่งขันรวมถึงสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ[21] แต่เกาหลีใต้ไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1970 แม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล และสโมสร Yangzee ได้ยุติบทบาทเนื่องจากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองในขณะนั้นถูกปลดจากตำแหน่ง และในช่วงเวลาดังกล่าว ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เริ่มคลี่คลายลง[22] เกาหลีใต้คว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ครั้งแรกในปี 1970[23]
โกลเดน เจเนอเรชั่น (1986)
[แก้]ใน ค.ศ. 1986 เกาหลีใต้ชนะการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติเอเชียตะวันออก และผ่านรอบคัดเลือกในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1986 รวมถึงการเอาชนะญี่ปุ่นได้สองนัดในรอบชิงชนะเลิศของรอบคัดเลือก ถือเป็นการกลับมาร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1954 ทีมชาติเกาหลีใต้ในขณะนั้นได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคทอง หรือโกลเดน เจเนอเรชั่น โดยมีนักเตะแกนหลักอย่าง ชาบอม-กึน หนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ซึ่งเล่นอยู่ในบุนเดิสลีกาขณะนั้น[24] ในการแข่งขันนัดแรกในรอบแบ่งกลุ่ม เกาหลีใต้แพ้อาร์เจนตินา (ทีมแชมป์ในครั้งนั้น) 1–3 พัก ชาง-ซุน เป็นนักเตะที่ทำประตูแรกให้เกาหลีใต้ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ตามด้วยการเสมอบัลแกเรีย 1–1 ปิดท้ายด้วยการพบกับแชมป์เก่าในครั้งที่แล้วอย่างอิตาลี เกมจบลงโดยเกาหลีใต้แพ้ 2–3 ตกรอบแรก และภายหลังจบการแข่งขันสื่อเกาหลีใต้ได้วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในนัดนั้นอย่าง ดาวิด โซชา ที่ตัดสินค้านสายตาหลายจังหวะรวมถึงการให้จุดโทษแก่อิตาลี[25] ความผิดหวังในฟุตบอลโลกของเกาหลีใต้ถูกชดเชยด้วยการคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์เป็นสมัยที่สองที่กรุงโซล[26]
ฟุตบอลโลก 1998
[แก้]ใน ค.ศ. 1997 ชาบอม-กึน ได้ผันตัวมาเป็นผู้ฝึกสอนหลังจากเลิกเล่นอาชีพ และพาทีมลงแข่งขันฟุตบอลโลก1998 รอบคัดเลือก เกาหลีใต้ชนะรวดสี่นัดต่อคาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จบอันดับหนึ่งของกลุ่ม เข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้าย เกาหลีใต้แพ้ในนัดแรกต่อเม็กซิโก 1–3 แม้จะได้ประตูออกนำไปก่อนจาก ฮา ซอก-จู ตามด้วยการโดนเนเธอร์แลนด์ที่คุมทีมโดยคืส ฮิดดิงก์ถล่ม 5–0 ผู้เล่นคนเดียวของเกาหลีใต้ที่ได้รับการชื่นชมคือผู้รักษาประตูอย่าง คิม บย็อง-จี ซึ่งช่วยให้ทีมเสียเพียง 5 ประตูจากโอกาสยิง 17 ครั้งของเนเธอร์แลนด์ ชาบอม-กึน ถูกปลดจากตำแหน่งหลังจบการแข่งขันนัดที่สอง และเกาหลีใต้ปิดท้ายด้วยการเสมอเบลเยียม 1–1
ปาฏิหาริย์ของคืส ฮิดดิงก์ (2002)
[แก้]ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2000 สมาคมฟุตบอลเกาหลีประกาศแต่งตั้ง คืส ฮิดดิงก์ อดีตผู้ฝึกสอนทีมชาติเนเธอร์แลนด์เข้ามารับตำแหน่งในฟุตบอลโลก 2002 ซึ่งเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น[27] สมาคมฟุตบอลเกาหลีให้คำมั่นแก่เขาว่าจะพัฒนาแคมป์ฝึกซ้อมของนักเตะ และมอบอำนาจในการจัดการทีมงานให้แก่ฮิดดิงก์อย่างเบ็ดเสร็จ ต่อมาในการแข่งขันฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2001 เกาหลีใต้แพ้ฝรั่งเศสในนัดแรก 0–5 และไม่ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปแม้จะชนะได้ในสองนัดต่อมาที่พบกับเม็กซิโก และ ออสเตรเลีย เนื่องจากผลประตุได้-เสียที่แย่กว่าออสเตรเลีย ต่อมา เกาหลีใต้แพ้เช็กเกีย 0–5 ในการแข่งขันกระชับมิตร ผู้สื่อข่าวเกาหลีใต้จึงตั้งฉายาให้แก่ฮิดดิงก์ว่า "Oh-dae-ppang" ซึ่งหมายถึงตัวเลข "5–0"[28] และยังคงมีผลงานไม่น่าประทับใจในรายการคอนคาแคฟโกลด์คัพ โดยจบอันดับสี่จากผลงานเสมอสองนัด และแพ้สามนัด แต่พวกเขามีผลงานที่ดีขึ้นในการแข่งขันกระชับมิตรซึ่งพบทีมชาติจากยุโรป ถล่มสกอตแลนด์ 4–1, เสมออังกฤษ 1–1 และแพ้ฝรั่งเศสไปแบบสูสี 2–3 สร้างความมั่นใจก่อนลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
ในการแข่งขันรอบสุดท้าย เกาหลีใต้พบกับชัยชนะนัดแรกในฟุตบอลโลก เอาชนะโปแลนด์ 2–0 ตามด้วยการเสมอสหรัฐ 1–1 โดยอัน จ็อง-ฮวัน เป็นผู้ทำประตูตีเสมอท้ายเกม ปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยการชนะโปรตุเกส 1–0 จากประตูของ พัก จี-ซ็อง ซึ่งผู้เล่นโปรตุเกสได้รับใบแดงถึงสองคนในเกมนี้ เกาหลีใต้ผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรก เอาชนะอิตาลี 2–1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย เกาหลีใต้ได้จุดโทษในช่วงต้นเกม แต่อัน จ็อง-ฮวัน ยิงไปติดเซฟของ จันลุยจี บุฟฟอน และกริสเตียน วีเอรี ทำประตูให้อิตาลีขึ้นนำ ก่อนที่ ซ็อลคี-ฮยอน จะตีเสมอให้เกาหลีใต้ในนาทีที่ 88 และต้องต่อเวลาพิเศษ และมีกรณีปัญหาเมื่อ ฟรันเชสโก ตอตตี ผู้เล่นอิตาลีได้รับใบแดงอย่างค้านสายตา ก่อนที่อัน จ็อง-ฮวัน จะทำประตูชัยให้เกาหลีใต้ชนะไปด้วยกฎประตูทอง (Golden goal) ผ่านเข้าสู่รอบก่อนรองชนะเลิศพบกับสเปน ซึ่งผู้ตัดสินยังคงได้รับการวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อสเปนสามารถทำประตูได้ถึงสองครั้ง แต่ผู้ตัดสินไม่ให้ประตู[29][30] การแข่งขันจบลงด้วยผลเสมอ ก่อนที่เกาหลีใต้จะชนะการยิงจุดโทษด้วยผลประตู 5–3 สร้างประวัติศาสตร์เป็นชาติแรกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย[31] ก่อนจะยุติเส้นทางโดยแพ้เยอรมนี 0–1 และแพ้ตุรกี 2–3 คว้าอันดับสี่ไปครอง
กัปตันทีมของเกาหลีใต้ ฮอง เมียง-โบ ได้รับรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมอันดับสามประจำการแข่งขัน เป็นผู้เล่นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รางวัล และฮอง เมียง-โบ ยังมีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมประจำการแข่งขันร่วมกับ ยู ซัง-ช็อล ถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้เล่นเอเชียติดทีมยอดเยี่ยมมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ความสำเร็จครั้งนี้ของเกาหลีใต้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือว่าเหนือความคาดหมาย พวกเขาไปไกลกว่าชาติอื่น ๆ ในเอเชีย และยังเอาชนะทีมชั้นนำจากยุโรปได้ คืส ฮิดดิงก์ ได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ของเกาหลีใต้ และกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับสถานะพลเมืองกิตติมศักดิ์ และได้รับบ้านพักส่วนตัวหลังใหม่ในเกาหลีใต้
ฟุตบอลโลก 2006 และ เอเชียนคัพ 2007
[แก้]เกาหลีใต้ตกรอบแบ่งกลุ่มในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี โดยอยู่ในกลุ่มจีร่วมกับฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์ และโตโก ด้วยผลงาน ชนะ, เสมอ และแพ้ อย่างละ 1 นัด มี 4 คะแนนจบในอันดับสามของกลุ่ม แม้พวกเขาจะทำผลงานยอดเยี่ยมในสองนัดแรกด้วยการชนะโตโก 2–1 ตามด้วยการเสมอทีมใหญ่อย่างฝรั่งเศสได้ 1–1 แต่พวกเขาแพ้สวิตเซอร์แลนด์ในนัดชี้ชะตา 0–2 ถัดมาในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2007 เกาหลีใต้อยู่ในกลุ่มดีร่วมกับซาอุดีอาระเบีย, อินโดนีเซีย (เจ้าภาพร่วม) และบาห์เรน ทำผลงาน ชนะ, เสมอ และแพ้ อย่างละ 1 นัด ตามด้วยการชนะจุดโทษอิหร่านในรอบก่อนรองชนะเลิศหลังจากเสมอกันด้วยผลประตู 0–0 ก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปแพ้จุดโทษทีมแชมป์ในครั้งนั้นอย่างอิรักด้วยผลประตู 3–4 ภายหลังเสมอกัน 0–0 แต่ยังคว้าอันดับสามได้จากการดวลจุดโทษชนะญี่ปุ่นด้วยผลประตู 6–5 ภายหลังเสมอกัน 0–0[32]
ยุคของกัปตัน พัก จี-ซ็อง (2008–11)
[แก้]ใน ค.ศ. 2008 ฮุฮ์ จุง-มู เข้ามารับตำแหน่งผู้ฝึกสอน และ พัก จี-ซ็อง ได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีม และเกาหลีใต้ทำสถิติไม่แพ้ในการแข่งขันทางการครบ 29 นัดใน ค.ศ. 2009 และในฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก พวกเขาทำสถิติชนะ 4 นัด และ เสมอ 4 นัดไม่แพ้ทีมใด โดยอยู่ร่วมกลุ่มกับเกาหลีเหนือ, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เกาหลีใต้ชนะกรีซ 2–0 ในนัดแรก จากประตูของ ลี จุง-ซู และ พัก จี-ซ็อง ตามด้วยการแพ้อาร์เจนตินา 1–4 ปิดท้ายด้วยการเสมอไนจีเรีย 2–2 ผ่านเข้าสู่รอบรอบแพ้คัดออกเป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกที่ตนเองไม่ใช่เจ้าภาพ เข้าไปพบอุรุกวัย และพวกเขาแพ้ไป 1–2 ลุยส์ ซัวเรซ ทำประตูขึ้นนำให้อุรุกวัยก่อนที่ ลี ชุง-ยอง จะทำประตูตีเสมอ แต่ซัวเรซก็ยิงขึ้นนำให้อุรุกวัยอีกครั้ง และเกาหลีใต้ไม่สามารถทวงคืนได้แม้จะเล่นได้ดีในครึ่งเวลาหลังโดยครองบอลมากกว่าอุรุกวัยและมีโอกาสทำประตู
ต่อมา ในเอเชียนคัพ 2011 เกาหลีใต้อยู่ร่วมกลุ่มซีกับออสเตรเลีย, บาห์เรน และ อินเดีย พวกเขาผ่านรอบแบ่งกลุ่มได้โดยไม่แพ้ทีมได โดยชนะ 2 นัด และ เสมอ 1 นัด ตามด้วยการเอาชนะอิหร่านในรอบก่อนรองชนะเลิศในช่วงต่อเวลาพิเศษ 1–0 แต่ไปแพ้การดวลจุดโทษคู่ปรับสำคัญอย่างญี่ปุ่นในรอบรองชนะเลิศภายหลังเสมอกัน 2–2 ปิดท้ายด้วยการเอาชนะอุซเบกิสถาน 3–2 ในนัดชิงอันดับสาม คว้าอันดับสามในเอเชียนคัพสองสมัยติดต่อกัน คู ชา-ชอล ได้รับรางวัลผู้ทำประตูสูงสุดประจำการแข่งขันที่ 5 ประตู และกัปตันทีม พัก จี-ซ็อง ได้ประกาศเลิกเล่นทีมชาติในปีนี้
ฟุตบอลโลก 2014 และ เอเชียนคัพ 2015
[แก้]ในฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เกาหลีใต้อยู่ในกลุ่มเอชร่วมกับ เบลเยียม, รัสเซีย และแอลจีเรีย พวกเขาตกรอบแรกโดยไม่ชนะใคร เรี่มต้นด้วยการเสมอรัสเซีย 1–1 ตามด้วยการแพ้แอลจีเรีย 2–4 และแพ้เบลเยียมในนัดสุดท้าย 0–1 ถัดมา ในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย เกาหลีใต้ชนะรวดด้วยผลประตู 1–0 ทั้งสามนัดในรอบแบ่งกลุ่มที่พบกับออสเตรเลียเจ้าภาพ, โอมาน และ คูเวต ตามด้วยการชนะอุซเบกิสถาน และอิรัก 2–0 ทั้งสองนัดในรอบก่อนรองชนะเลิศและรอบรองชนะเลิศ แต่พวกเขาแพ้ออสเตรเลียในรอบชิงชนะเลิศในช่วงต่อเวลา 1–2
ปาฏิหาริย์แห่งคาซาน (2018)
[แก้]ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก รอบที่ 2 เกาหลีใต้ชนะรวด 8 นัดโดยไม่เสียประตู และยิงไปถึง 27 ประตู ได้สิทธิ์แข่งขันเอเชียนคัพ 2019 โดยอัตโนมัติ แต่ในการแข่งขันรอบที่ 3 พวกเขามีผลงานย่ำแย่ รวมถึงการบุกไปแพ้จีนและกาตาร์ อูลี สตีลิเก ถูกปลด ชิน แท-ยง ผู้ฝึกสอนทีมชาติเกาหลีใต้รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีในขณะนั้นเข้ารับตำแหน่งแทน[33] เกาหลีใต้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้แม้จะไม่ชนะใครเลยในสามนัดสุดท้าย โดยบุกไปแพ้กาตาร์ 2–3 และเสมอ 0–0 ทั้งสองนัดที่พบกับอิหร่านและอุซเบกิสถาน ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 9 ครั้งติดต่อกัน[34]
ในการแข่งขันรอบสุดท้าย เกาหลีใต้แพ้ในนัดแรกต่อสวีเดน 0–1 จากการเสียจุดโทษ ตามด้วยการแพ้เม็กซิโก 1–2 โดยเสียจุดโทษอีกครั้ง กระนั้น พวกเขายังไม่ตกรอบอย่างเป็นทางการ โดยในนัดสุดท้ายที่พบกับเยอรมนีแชมป์เก่า พวกเขาต้องเอาชนะให้ได้สองประตูขึ้นไป และต้องลุ้นให้เม็กซิโกเอาชนะสวีเดนให้ได้ และพวกเขาก็ชนะเยอรมนีได้ตามเงื่อนไขดังกล่าว 2–0 จากประตูของ คิม ยอง-กวอน และ ซน ฮึง-มิน ส่งผลให้เยอรมนีตกรอบแรกฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 80 ปี ในนัดนั้นเยอรมนีมีโอกาสยิงถึง 28 ครั้ง ตรงกรอบ 6 ครั้ง แต่ โช ฮยอน-อู ผู้รักษาประตูเกาหลีใต้สามารถป้องกันได้[35] อย่างไรก็ตาม เม็กซิโกแพ้ให้กับสวีเดน ส่งผลให้เกาหลีใต้ตกรอบ แต่จากการที่เกาหลีใต้ชนะเยอรมนีได้ทำให้เม็กซิโกผ่านเข้ารอบ ชาวเม็กซิกันหลายคนออกมาฉลองบริเวณหน้าสถานทูตเกาหลีใต้[36] การแข่งขันครั้งนั้นได้รับการยกย่องเป็น "ปาฏิหาริย์แห่งคาซาน" แม้เกาหลีใต้จะตกรอบ[37] เกาหลีใต้ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ เอเชียนคัพ 2019 โดยแพ้กาตาร์ 0–1[38]
ปัจจุบัน
[แก้]ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก รอบที่ 2 เกาหลีใต้มีผลงานชนะ 5 นัด แพ้ 1 ผ่านเข้าสู่รอบที่ 3 อยู่กลุ่มเอร่วมกับอิหร่าน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เลบานอน, อิรัก และ ซีเรีย[39] โดยเกาหลีใต้เป็นทีมที่สองจากโซนเอเชีย (ไม่นับรวมเจ้าภาพอย่างกาตาร์) ที่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2022 หลังจากที่บุกไปเอาชนะซีเรีย 2–0 และในการแข่งขันรอบสุดท้าย เกาหลีใต้อยู่ร่วมกลุ่มกับทีมใหญ่อย่างโปรตุเกส, อุรุกวัย และ กานา พวกเขาผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายในฐานะทีมอันดับสอง ก่อนจะแพ้บราซิลขาดลอย 1–4[40] และเปาลู เบ็งตู ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอน[41] อย่างไรก็ตาม เบ็งตูได้รับการยกย่องจากสื่อและผู้สนับสนุนเกาหลีใต้ในแง่การวางระบบการเล่น และการพัฒนาผู้เล่นอายุน้อยที่มีศักยภาพหลายราย โดยทีมชุดนี้ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นทีมชั้นนำของทวีปไปอีกหลายปี[42]
เบ็งตูถูกแทนที่โดยเยือร์เกิน คลีนส์มัน อดีตนักฟุตบอลชาวเยอรมัน โดยเซ็นสัญญาไปจนจบฟุตบอลโลก 2026 ในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2 เกาหลีใต้อยู่กลุ่มซีร่วมกับทีมชาติไทย, จีน และสิงคโปร์ การเข้ารับตำแหน่งของคลีนส์มันไม่เป็นที่ยอมรับโดยแฟนบอลส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ เขาได้รับการวิจารณ์ในด้านการวางแผนการเล่น รวมถึงการคัดเลือกผู้เล่นซึ่งคลีนส์มันไม่ให้ความสนใจไปชมการแข่งขันเคลีกเพื่อติดตามผู้เล่นด้วยตนเอง และเกาหลีใต้ยังมีผลการแข่งขันกระชับมิตรที่ไม่สู้ดีนัก[43] คลีนส์มันได้รับเสียงวิจารณ์ต่อเนื่องในเอเชียนคัพ 2023 เกาหลีใต้เกือบจะไม่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มด้วยการมีห้าคะแนน จากผลงานชนะเพียงหนึ่งนัดและเสมอสองนัด ส่งผลให้พวกเขาต้องเข้ารอบไปพบทีมใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบียและออสเตรเลีย แม้เกาหลีใต้จะผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ทว่าต้องลุ้นถึงช่วงต่อเวลา 120 นาทีทั้งสองนัด โดยคลีนส์มันถูกวิจารณ์ในการจัดตัวผู้เล่นตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม และเกาหลีใต้ตกรอบรองชนะเลิศจากการแพ้จอร์แดนด้วยผลประตู 0–2 คลีนส์มันถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 โดยสมาคมฟุตบอลเกาหลีระบุว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจาก "การขาดภาวะผู้นำ"[44] เกาหลีใต้ผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 3 ด้วยการมี 16 คะแนน โดยชนะ 5 นัด และ เสมอ 1 นัด
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2024 เกาหลีใต้แต่งตั้งหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่อย่าง ฮง มยอง-โบ ตำนานกองหลังทีมชาติเกาหลีใต้ซึ่งเป็นการเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง การคุมทีมนัดแรกของฮงเกิดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน โดยเกาหลีใต้เสมอปาเลสไตน์ 0–0 ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรอบที่ 3
ภาพลักษณ์
[แก้]ฉายา
[แก้]ทีมชาติเกาหลีใต้มีฉายาว่า Taegeuk Warriors (태극전사) และ เสือแห่งเอเชีย (아시아의 호랑이)[45][46]
ชุดแข่งขัน และตราสัญลักษณ์
[แก้]เกาหลีใต้สวมชุดแข่งขันสีแดงเป็นหลักจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก "Reds" และกลุ่มผู้สนับสนุนของทีมมีชื่อเรียกว่า "Red Devils" เสื้อทีมเยือนมีรูปแบบที่หลากหลายแต่มักเป็นสีขาว และสีน้ำเงิน ในปี 1994 เกาหลีใต้เปลี่ยนเสื้อทีมเหย้าจากสีแดงมาเป็นสีขาว แต่เปลี่ยนกลับมาเป็นสีแดงในปี 1995 พร้อมกับกางเกงขาสั้นสีดำ
เกาหลีใต้ลงแข่งขันทุกรายการโดยติดธงชาติเกาหลีใต้เป็นสัญลักษณ์บนเสื้อจนถึงปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ของทีม[47] เป็นรูปเสือสีขาว ลายสีน้ำเงิน ซึ่งเสือถือเป็นสัตว์ประจำชาติของเกาหลี ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 สมาคมฟุตบอลเกาหลีเปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่อีกครั้ง[48] โดยยังคงใช้เสือโคร่งเป็นสัญลักษณ์เช่นเดิม แต่ออกแบบให้เรียบง่ายขึ้น โดยหน้าของเสือถูกล้อมด้วยกรอบสี่เหลี่ยมสีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว ซึ่งเป็นสีดั้งเดิมของประเทศเกาหลีใต้
ผู้สนับสนุน
[แก้]ผู้สนับสนุนหรือกองเชียร์ของเกาหลีใต้ตั้งกลุ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และเรียกตัวเองว่า "Red Devils" ได้รับการยกย่องว่าเปรียบเสมือนผู้เล่นคนที่ 12 เพลงเชียร์ที่ใช้ร้องในสนามเป็นประจำคือ "แด-ฮัน-มิน-กุก" (เกาหลี: "대~한민국"; แปลตามตัวอักษรเกาหลีจะหมายถึง "เกาหลียิ่งใหญ่") ตามด้วยการปรบมือห้าครั้ง[49]
คู่แข่ง
[แก้]เกาหลีใต้เป็นคู่แข่งสำคัญของทีมชาติญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่มากกว่าฟุตบอล การแข่งขันหลายครั้งเต็มไปด้วยความดุเดือด เกาหลีใต้มีสถิติที่เหนือกว่า โดยชนะ 42 ครั้ง, เสมอกัน 23 ครั้ง และแพ้ 15 ครั้ง[50] หลายปีที่ผ่านมาเกาหลีใต้ยกระดับการเป็นอริกับทีมชาติอิหร่าน ในฐานะที่เป็นทีมชั้นนำของเอเชียที่แย่งความสำเร็จกันในเอเชียนคัพ และเอเชียนเกมส์ ทั้งคู่พบกันมาตั้งแต่ปี 1958 รวม 32 นัด (นับถึง ตุลาคม 2021) รวมการพบกันในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกสิบครั้ง เกาหลีใต้และอิหร่านเป็นสองทีมที่ได้รับการยอมรับว่าแข็งแกร่งที่สุดในเอเชียตลอดทศวรรษ 1960 และ 1970 แม้ทั้งคู่จะพบกันเพียงครั้งเดียวในช่วงเวลานั้นในรอบชิงชนะเลิศเอเชียนคัพ 1972 ซึ่งเกาหลีใต้แพ้ไป 1–2 ทั้งสองทีมพบกันอีก 5 ครั้งติดต่อกันในรอบก่อนรองชนะเลิศตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2011 ซึ่งผลออกมาชนะทีมละสองครั้งเท่ากัน และเสมอหนึ่งนัด อิหร่านมีสถิติการพบกันในภาพรวมที่ดีกว่าโดยชนะ 13 ครั้ง เสมอ 10 นัด และแพ้ 9 ครั้ง[51] ออสเตรเลียถือเป็นคู่แข่งอีกหนึ่งทีมของเกาหลีใต้ และออสเตรเลียมีสถิติที่เหนือกว่าโดยชนะ 9 ครั้ง เสมอ 11 ครั้ง และแพ้ 8 ครั้ง และในการแข่งขันระดับทางการ เกาหลีใต้เอาชนะออสเตรเลียได้เพียงสองครั้ง และยังแพ้ครั้งล่าสุดในเอเชียนคัพ 2015 รอบชิงชนะเลิศ จีนและเกาหลีเหนือถือเป็นคู่แข่งของเกาหลีใต้เช่นกัน ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์และการเมือง
สนามแข่ง
[แก้]เกาหลีใต้มีสนามแข่งขันแห่งแรกคือ ทงแดมุนสเตเดียม เป็นศูนย์กีฬาในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้และรวมถึงสนามกีฬาอเนกประสงค์สวนเบสบอลและอุปกรณ์กีฬาอื่น ๆ โดยลงเล่นในสนามแห่งนี้ครั้งแรกในเดือนเมษายน 1956 ในรอบคัดเลือกเอเชียนคัพพบกับฟิลิปปินส์[52] ในปัจจุบันเกาหลีใต้ลงแข่งขันในหลายสนามทั่วประเทศ รวมถึงสนามของสโมสรในเคลีก แต่สนามที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ โซลเวิลด์คัปสเตเดียม หรือรู้จักกันในชื่อ ซางนัมสเตเดียม สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 ปัจจุบันสนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าของสโมสร เอฟซีโซล
ผู้ฝึกสอน
[แก้]บุคลากรปัจจุบัน
[แก้]- ณ วันที่ กุมภาพันธ์ 2024[54]
ตำแหน่ง | ชื่อ |
---|---|
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | ฮวาง ซุน ฮอง |
ผู้ช่วย | ชา ดู-รี |
ชเว แท-อุก | |
ผู้ฝึกสอนฟิตเนส | ลี แจ-ฮง |
ผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตู |
ผลงาน
[แก้]- 1956 - ชนะเลิศ
- 1960 - ชนะเลิศ
- 1964 - อันดับสาม
- 1968 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
- 1972 - รองชนะเลิศ
- 1976 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
- 1980 - รองชนะเลิศ
- 1984 - รอบแรก
- 1988 - รองชนะเลิศ
- 1992 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก
- 1996 - รอบก่อนรองชนะเลิศ
- 2000 - อันดับสาม
- 2004 - รอบก่อนรองชนะเลิศ
- 2007 - อันดับสาม
- 2011 - อันดับสาม
- 2015 - รองชนะเลิศ
- 2019 - รอบก่อนรองชนะเลิศ
- 2023 - รอบรองชนะเลิศ
อื่น ๆ
[แก้]- เอเชียนเกมส์
- เหรียญทอง 5 ครั้ง (1970 แชมป์ร่วม, 1978 แชมป์ร่วม, 1986, 2014, 2018
- เหรียญเงิน 3 ครั้ง (1954, 1958, 1962)
- เหรียญทองแดง 2 ครั้ง (1990, 2002)
สปอนเซอร์
[แก้]Fila, ไนกี้, KT, Hana Bank, Hyundai, Daum, Kyobo Life, Asiana Airlines, E1 Corp., ซัมซุง, Sportstoto, Hite, และ Samil-Pharm.
แบรนด์ชุดแข่ง
[แก้]ปีที่ใช้ | ผู้ผลิต | หมายเหตุ |
---|---|---|
1977–1986 | อาดิดาส, เอสิกส์ Prospecs, Weekend, Kolon Activ |
อาดิดาส เป็นแบรนด์ชุดแข่งอย่างเป็นทางการแรกของทีมชาติเกาหลีใต้ |
1986–1988 | Weekend | |
1988–1995 | Rapido | |
1995–ปัจจุบัน | ไนกี้ |
ประวัติชุดแข่ง
[แก้]- ชุดเหย้า
1948-54 Home
|
1954 World Cup Home
|
1960 Asian Cup Home
|
1955-68 Home
|
1970-73 Home
|
1974-76 Home
|
1977-78 Home
|
1978-79 Home
|
---|
1986 Home
|
1988-90 Home
|
1988-90 Away
|
1992 Home
|
1993 Home (WCQ 1994 Home)
|
World Cup 1994 Home
|
World Cup 1994 Away
|
1994-95 Home
|
1994-95 Away
|
1995 Home
|
1995 Away
|
ผู้เล่น
[แก้]ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]รายชื่อผู้เล่น 23 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 2 พบกับ ไทย ในวันที่ 21 และ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567[55][56]
ข้อมูลการลงเล่นและการทำประตูนับถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 หลังจากการพบกับ จอร์แดน
# | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | วันเกิด (อายุ) | ลงเล่น | ประตู | สโมสร |
---|---|---|---|---|---|---|
21 | GK | โช ฮย็อน-อู | 25 กันยายน ค.ศ. 1991 | 29 | 0 | อุลซันฮุนได |
12 | GK | Lee Chang-geun | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1993 | 1 | 0 | แทจ็อน ฮานา ซิตีเซน |
1 | GK | ซง บ็อม-กึน | 15 ตุลาคม ค.ศ. 1997 | 1 | 0 | โชนัน เบลมาเร |
19 | DF | คิม ย็อง-กว็อน | 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1990 | 109 | 7 | อุลซันฮุนได |
3 | DF | คิม จิน-ซู | 13 มิถุนายน ค.ศ. 1992 | 70 | 2 | ช็อนบุกฮุนไดมอเตอส์ |
4 | DF | คิม มิน-แจ | 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 | 61 | 4 | ไบเอิร์นมิวนิก |
20 | DF | Kwon Kyung-won | 31 มกราคม ค.ศ. 1992 | 30 | 2 | ซูว็อน |
15 | DF | Kim Moon-hwan | 1 สิงหาคม ค.ศ. 1995 | 26 | 0 | อัดดุฮัยล์ |
22 | DF | Seol Young-woo | 5 ธันวาคม ค.ศ. 1998 | 14 | 0 | อุลซันฮุนได |
23 | DF | Cho Yu-min | 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 | 5 | 0 | Sharjah |
2 | DF | Lee Myung-jae | 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 | 0 | 0 | อุลซันฮุนได |
7 | MF | ซน ฮึง-มิน (กัปตัน) | 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 | 123 | 44 | ทอตนัมฮอตสเปอร์ |
10 | MF | อี แจ-ซ็อง | 10 สิงหาคม ค.ศ. 1992 (อายุ 30 ปี) | 84 | 10 | ไมนทซ์ 05 |
6 | MF | ฮวัง อิน-บ็อม | 20 กันยายน ค.ศ. 1996 | 56 | 6 | เรดสตาร์เบลเกรด |
18 | MF | อี คัง-อิน | 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 | 25 | 7 | ปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง |
17 | MF | ช็อง อู-ย็อง | 20 กันยายน ค.ศ. 1999 | 21 | 4 | เฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ท |
8 | MF | Paik Seung-ho | 17 มีนาคม ค.ศ. 1997 | 15 | 3 | เบอร์มิงแฮมซิตี |
11 | MF | Song Min-kyu | 12 กันยายน ค.ศ. 1999 | 13 | 1 | ช็อนบุกฮุนไดมอเตอส์ |
13 | MF | ฮง ฮย็อน-ซ็อก | 16 มิถุนายน ค.ศ. 1999 | 10 | 0 | Gent |
5 | MF | พัก จิน-ซ็อบ | 23 ตุลาคม ค.ศ. 1995 | 5 | 0 | ช็อนบุกฮุนไดมอเตอส์ |
14 | MF | Jeong Ho-yeon | 28 กันยายน ค.ศ. 2000 | 0 | 0 | ควังจู |
9 | FW | โช กยู-ซ็อง | 25 มกราคม ค.ศ. 1998 | 37 | 9 | มีจือแลน |
16 | FW | Joo Min-kyu | 13 เมษายน ค.ศ. 1990 | 0 | 0 | อุลซันฮุนได |
อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง
[แก้]เกียรติประวัติ
[แก้]- อันดับที่ 4 (1) : 2002 ทีมฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ถือเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลโลกหากนับจากสมาชิกสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียด้วยกันที่เข้าร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลก
บรอนซ์ (1) : 2012
- ชนะเลิศ (2) : 1956, 1960
- รองชนะเลิศ (4) : 1972, 1980, 1988, 2015
- อันดับที่ 3 (4) : 1964, 2000, 2007, 2011
- เหรียญทอง (4) : 1970, 1978, 1986, 2014
- เหรียญเงิน (3) : 1954, 1958, 1962
- เหรียญทองแดง (3) : 1990, 2002, 2010
อันดับที่ 3 (1) : 2013
รางวัลอื่น ๆ
[แก้]ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 20 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
- ↑ "South Korea National Football Team". www.faisports.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-02.
- ↑ "South Korea national football team". fifa2022.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-02.
- ↑ Wright, Rob (2018-06-06). "World Cup 2018: Why you should follow South Korea" (ภาษาอังกฤษ).
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ "붉은악마". terms.naver.com (ภาษาเกาหลี).
- ↑ Sport and nationalism in Asia : power, politics and identity. Fan Hong, Zhouxiang Lu (1st ed.). London. 2016. ISBN 978-1-317-57400-2. OCLC 1053773874.
{{cite book}}
: CS1 maint: others (ลิงก์) - ↑ "KFA:::: KOREA FOOTBALL ASSOCIATION::::". web.archive.org. 2012-09-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-15. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Sport and nationalism in Asia : power, politics and identity. Fan Hong, Zhouxiang Lu (1st ed.). London. 2016. ISBN 978-1-317-57400-2. OCLC 1053773874.
{{cite book}}
: CS1 maint: others (ลิงก์) - ↑ "KIM Yong Sik - Japan National Football Team Database". web.archive.org. 2016-03-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-19. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Korea Football Association | Court & Field Dimension Diagrams in 3D, History, Rules – SportsKnowHow.com" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-10. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
- ↑ Sport and nationalism in Asia : power, politics and identity. Fan Hong, Zhouxiang Lu (1st ed.). London. 2016. ISBN 978-1-317-57400-2. OCLC 1053773874.
{{cite book}}
: CS1 maint: others (ลิงก์) - ↑ "1954 FIFA World Cup Switzerland ™ - Matches - Korea Republic-Japan - FIFA.com". web.archive.org. 2016-11-14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-14. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "World Cup 1954 finals". www.rsssf.com.
- ↑ "Asian Nations Cup 1956". www.rsssf.com.
- ↑ "Asian Nations Cup 1960". www.rsssf.com.
- ↑ ""40여년 잃어버린 메달 이젠 줄 수 없겠소" : 축구 : 스포츠 : 인터넷한겨레". legacy.www.hani.co.kr. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-11. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
- ↑ 주경돈 (2019-01-15). "(Yonhap Feature) S. Korean football looking to break curse of fake gold medals at Asian Cup". Yonhap News Agency (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 배진남 (2009-06-20). 연합뉴스 (ภาษาเกาหลี) https://www.yna.co.kr/view/AKR20090619183500007.
{{cite web}}
:|title=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "김현회 | 축구판 실미도 부대, 양지축구단을 아시나요". 네이트 스포츠 (ภาษาเกาหลี).
- ↑ "Games of the XIX. Olympiad - Football Qualifying Tournament". www.rsssf.com.
- ↑ "Asian Club Competitions 1968/69". www.rsssf.com.
- ↑ "김현회 | 축구판 실미도 부대, 양지축구단을 아시나요". 네이트 스포츠 (ภาษาเกาหลี).
- ↑ "Asian Games 1970". www.rsssf.com.
- ↑ "한국 축구, 새로운 황금세대를 찾아라!". 오마이스타 (ภาษาเกาหลี). 2006-08-10.
- ↑ "이탈리아 부끄러운 과거/86년 멕시코월드컵 한국전[노재필]". MBC NEWS (ภาษาเกาหลี). 2002-06-20.
- ↑ "Asian Games 1986". www.rsssf.com.
- ↑ "히딩크 "한국팀 맡아 영광 월드컵 자신있다"". sports.news.naver.com (ภาษาเกาหลี).
- ↑ 장영석, 이슈팀. "히딩크 "내 별명 '오대빵' 알고 있다"". sports.news.naver.com (ภาษาเกาหลี).
- ↑ "Spain 0 - 0 South Korea (South Korea win 5 - 3 on penalties) | Football | The Guardian". web.archive.org. 2014-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Spain 0 - 0 South Korea (South Korea win 5 - 3 on penalties) | Football | The Guardian". web.archive.org. 2014-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "The Story Of The World Cup: South Korea/Japan 2002 | First Touch". web.archive.org. 2014-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ 2022-01-04.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Shin Tae-yong named Korea Republic coach | AFC". web.archive.org. 2017-07-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-06. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Korea Republic headed to ninth consecutive World Cup - FIFA.com". web.archive.org. 2017-10-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-10. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
- ↑ "Germany knocked out of 2018 World Cup". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
- ↑ "'Vamos Korea': Mexico fans shower Korea with love after the unlikeliest World Cup assist". Washington Post (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0190-8286. สืบค้นเมื่อ 2021-12-10.
- ↑ "South Korea media celebrate 'miracle of Kazan'". gulfnews.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Qatar stun South Korea to reach first Asian Cup semi-final". AS.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-01-25.
- ↑ "FIFA". fifa.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Brazil dismantle South Korea to dance into World Cup quarter-finals". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2022-12-05.
- ↑ Pa (2022-12-05). "South Korea manager Paulo Bento announces his immediate exit". Mail Online.
- ↑ 기자, 안경남. "[월드컵 결산④]세계무대서 통한 '벤투볼'…'4년 유산' 이어가야". n.news.naver.com (ภาษาเกาหลี).
- ↑ "Jürgen Klinsmann brings 'shock and awe' to Korea: souvenir for his son more important than match result?". 풋볼아시안 (ภาษาเกาหลี). 2023-09-09.
- ↑ "South Korea sack Klinsmann after Asian Cup exit". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2024-02-16.
- ↑ 유지호 (2021-03-25). "Undermanned S. Korea overmatched against Japan in football friendly loss". Yonhap News Agency (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 조선일보 (2021-03-25). "한일전, 손흥민 있었다면 달랐을까… 벤투 "해서는 안될말"". 조선일보 (ภาษาเกาหลี).
- ↑ ""호랑이 한국축구 새얼굴" .. 축구協 엠블럼 공식발표". sports.news.naver.com (ภาษาเกาหลี).
- ↑ "KFA, 신규 엠블럼 공개...19년만에 새 얼굴로". www.kfa.or.kr (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Herald, Korea (2014-06-17). "Korea's World Cup chant owned by Shin Hae-chul, singer's agency claims". The Korea Herald (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "KFA | 대한축구협회". www.kfa.or.kr (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "KFA | 대한축구협회". www.kfa.or.kr (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "KFA | 대한축구협회". www.kfa.or.kr (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 월드컵 한국 최고 감독은 히딩크, 비운은 차범근. Senior Today (ภาษาเกาหลี). 29 May 2018. สืบค้นเมื่อ 3 June 2021.
- ↑ "Men's A Squad – Coach" (ภาษาอังกฤษ). Korea Football Association. สืบค้นเมื่อ 24 March 2020.
- ↑ 남자 A대표팀, 3월 월드컵 2차 예선 소집명단 발표 [Men's national team A announces call-up list for March World Cup 2nd qualifying round] (ภาษาเกาหลี). Korea Football Association. สืบค้นเมื่อ 11 March 2024.
- ↑ 선수 명단 [Squad List] (ภาษาเกาหลี). Korea Football Association. สืบค้นเมื่อ 11 March 2024.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Korea Football Association official website (ในภาษาอังกฤษและเกาหลี)
- Korea Republic at FIFA