ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโก
ฉายา | El Tri (the three-colored) "จังโก้" (ฉายาในภาษาไทย) | ||
---|---|---|---|
สมาคม | สหพันธ์ฟุตบอลเม็กซิโก | ||
สมาพันธ์ย่อย | สหภาพฟุตบอลอเมริกาเหนือ | ||
สมาพันธ์ | คอนคาแคฟ | ||
หัวหน้าผู้ฝึกสอน | ว่าง | ||
กัปตัน | อันเดรส กัวร์ดาโด | ||
ติดทีมชาติสูงสุด | อันเดรส กัวร์ดาโด (179) | ||
ทำประตูสูงสุด | ฆาบิเอร์ เอร์นันเดซ (52) | ||
สนามเหย้า | อัซเตกา | ||
รหัสฟีฟ่า | MEX | ||
| |||
อันดับฟีฟ่า | |||
อันดับปัจจุบัน | 15 1 (20 มิถุนายน 2024)[1] | ||
อันดับสูงสุด | 4 (กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 1998, สิงหาคม 2003, เมษายน 2004, มิถุนายน 2004, พฤษภาคม – มิถุนายน 2006) | ||
อันดับต่ำสุด | 40 (กรกฎาคม 2015) | ||
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก | |||
กัวเตมาลา 2–3 เม็กซิโก (กัวเตมาลาซิตี ประเทศกัวเตมาลา; 1 มกราคม ค.ศ. 1923) | |||
ชนะสูงสุด | |||
เม็กซิโก 13–0 บาฮามาส (โตลูกา ประเทศเม็กซิโก; 28 เมษายน ค.ศ. 1987) | |||
แพ้สูงสุด | |||
อังกฤษ 8–0 เม็กซิโก (ลอนดอน ประเทศอังกฤษ; 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1961) | |||
ฟุตบอลโลก | |||
เข้าร่วม | 17 (ครั้งแรกใน 1930) | ||
ผลงานดีที่สุด | รอบก่อนรองชนะเลิศ (1970, 1986) | ||
คอนคาแคฟแชมเปียนชิพ & โกลด์คัพ | |||
เข้าร่วม | 24 (ครั้งแรกใน 1963) | ||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ (1965, 1971, 1977, 1993, 1996, 1998, 2003, 2009, 2011, 2015, 2019) | ||
คอนเฟเดอเรชันส์คัพ | |||
เข้าร่วม | 7 (ครั้งแรกใน 1995) | ||
ผลงานดีที่สุด | ชนะเลิศ, 1999 | ||
เว็บไซต์ | fmf.mx |
ฟุตบอลทีมชาติเม็กซิโก (สเปน: Selección de fútbol de México) เป็นตัวแทนทีมฟุตบอลจากประเทศเม็กซิโกในการแข่งขันระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้การดูแลของสหพันธ์ฟุตบอลเม็กซิโก (สเปน: Federación Mexicana de Fútbol) โดยเป็นสมาชิกของ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และแคริบเบียน (คอนคาแคฟ)
เม็กซิโกเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 17 ครั้ง และเป็นหนึ่งในหกชาติที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันทุกครั้งตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1994 พวกเขาเป็นหนึ่งในสองชาติ (ร่วมกับบราซิล) ที่ผ่านรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลกในเจ็ดครั้งหลังสุด[2] การแข่งขันฟุตบอลโลกนัดแรกของพวกเขาคือการพบฝรั่งเศสในฟุตบอลโลก 1930 ผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกคือการเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศสองครั้งใน ค.ศ. 1970 และ 1986 ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพทั้งสองครั้ง
เม็กซิโกเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในภูมิภาคคอนคาแคฟ โดยชนะเลิศ คอนคาแคฟโกลด์คัพ 11 สมัย (นับรวมคอนคาเคฟแชมเปียนชิป), นอร์ทอเมริกันเนชั่นคัพ 3 สมัย, คอนคาแคฟคัพ 1 สมัย และคว้าเหรียญทองในการแข่งขันอเมริกากลางและแคริบเบียนเกมส์ 2 สมัย พวกเขายังเป็นหนึ่งในแปดชาติ[a] ที่ชนะเลิศการแข่งขันนานาชาติรายการสำคัญของฟุตบอลชายได้ 2 จาก 3 รายการ[b] (ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ และ โอลิมปิกฤดูร้อน) โดยชนะเลิศฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ค.ศ. 1999 และ คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกฤดูร้อน 2012[3] และจากการชนะเลิศคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ส่งผลให้พวกเขาเป็นชาติเดียวในคอนคาแคฟที่ชนะเลิศการแข่งขันทางการของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ แม้ว่าเม็กซิโกจะเป็นสมาชิกของคอนคาแคฟ ทว่าพวกเขาก็ได้รับคำเชิญให้ร่วมแข่งขันโกปาอาเมริกาซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ โดยคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศสองครั้งใน ค.ศ. 1993 และ 2001 และคว้าอันดับสามอีกสามครั้ง
ประวัติ
[แก้]กีฬาฟุตบอลเริ่มเข้าสู่ประเทศเม็กซิโกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยผู้ที่นำเข้ามาเผยแพร่คือกลุ่มผู้อพยพชาวยุโรป โดยเป็นคนงานเหมืองจากคอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ และในปีต่อ ๆ มาชาวสเปนจำนวนมากได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเม็กซิโกเพื่อหนีสงครามกลางเมือง
การแข่งขันนัดแรกของเม็กซิโกคือการพบกับกัวเตมาเลซึ่งพวกเขาชนะด้วยผลประตู 3–2 และหลังจากนั้นพวกเขาลงแข่งเกมกระชับมิตรกับกัวเตมาลาอีกสามนัดในวันที่ 9, 12 และ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1923 การแข่งขันในวันที่ 9 ธันวาคม จัดขึ้นที่ Parque España ซึ่งเม็กซิโกชนะ 2–1 และในนัดที่สองพวกเขาเอาชนะได้ 2–0 ปิดท้ายด้วยการเสมอกัน 3–3 ผู้จัดการทีมของทีมชุดนั้นคือ ราฟาเอล การ์ซา กูเตียร์เรซ สี่ปีต่อมา พวกเขาลงแข่งรายการกระชับมิตรอีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1927 เสมอกับสเปน 3–3 และในรายการนั้นเม็กซิโกยังแข่งขันกับ กลุบนาซิโอนัลเดฟุตโบล สโมสรจากอุรุกวัย และพวกเขาแพ้ 1–3 และในปีนั้นได้มีการก่อตั้งสหพันฐ์ฟุตบอลขึ้นในประเทศเม็กซิโกอย่างเป็นทางการ
การแข่งขันระหว่างประเทศครั้งแรกของเม็กซิโกคือ โอลิมปิกฤดูร้อน 1928 ซึ่งพวกเขาแพ้สเปนด้วยผลประตู 1–3 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ตามด้วยการเข้าร่วมฟุตบอลโลกครั้งแรกใน ฟุตบอลโลก 1930 ซึ่งพวกเขาอยู่ร่วมกลุ่มกับอาร์เจนตินา, ชิลี และ ฝรั่งเศส นัดแรกของพวกเขาตือการแพ้ฝรั่งเศส 1–4 ฆวน การิเรโญ เป็นนักเตะคนแรกที่ทำประตูในฟุตบอลให้แก่ทีมชาติเม็กซิโก พวกเขาแพ้ชิลีในนัดที่สอง 0–3 ปิดท้ายด้วยการแพ้อาร์เจนตินา มานูเอล โรซาส์ เป็นนักคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำประตูจากลูกจุดโทษในฟุตบอลโลก
เม็กซิโกห่างหายจากการลงแข่งขันฟุตบอลโลกไปอีกหลายปี ก่อนจะกลับมาร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1950 อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างทศวรรษ 1950–60 เม็กซิโกไม่สามารถทำผลงานที่ดีได้เลยในการแข่งขันฟุตบอลโลก แม้พวกเขาจะเป็นทีมมหาอำนาจในภูมิภาคคอนคาแคฟ ทว่าพวกเขาไม่สามารถต่อกรกับทีมใหญ่จากยุโรปและอเมริกาใต้ได้ ในช่วงเวลานั้น ผู้รักษาประตูของพวกเขา อันโตนิโอ คาร์บาชาล ทำสถิติเป็นนักฟุตบอลคนแรกที่ลงแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายห้าสมัยติดต่อกัน[4] ใน ค.ศ. 1965 เม็กซิโกชนะเลิศ คอนคาเคฟแชมเปียนชิป (ซึ่งต่อมากลายเป็นคอนคาแคฟโกลด์คัพ) เป็นสมัยแรก และพวกเขาเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งแรก ใน ค.ศ. 1970 ประเดิมด้วยการเสมอสหภาพโซเวียต 0–0 ตามด้วยการเอาชนะ เอลซัลวาดอร์ และ เบลเยียม ผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศเป็นครั้งแรกแต่แพ้อิตาลี 1–4
พวกเขาไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1974 ก่อนจะกลับมาลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1978 แต่ตกรอบแบ่งกลุ่มด้วยผลงานแพ้รวดทั้งสามนัดต่อเยอรมนีตะวันตก (0–6), ตูนิเซีย (1–3) และโปแลนด์ (1–3) และไม่ผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1982 ก่อนจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1986 มีผู้จัดการทีมคือ โบรา มีลูตีโนวิช ผ่านรอบแบ่งกลุ่มโดยเอาชนะเบลเยียม 2–1, เสมอปารากวัย 1–1 และชนะอิรัก 1–0 ตามด้วยการชนะบัลแกเรีย 2–0 ก่อนจะแพ้จุดโทษเยอรมนีตะวันตกในรอบก่อนรองชนะเลิศภายหลังเสมอกัน 0–0
เม็กซิโกถูกลงโทษไม่ให้ลงแข่งขันฟุตบอลโลก 1990 เนื่องจากพวกเขาฝ่าฝืนกฎในการใช้ผู้เล่นที่มีอายุเกินในการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลก 1989 รอบคัดเลือก เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกเรียกว่า "เรื่องอื้อฉาว Cachirules"[5] ภายหลังจากการแต่งตั้ง เซซาร์ ลุยส์ เมโนติ เป็นผู้จัดการทีม เม็กซิโกทำผลงานได้ดีขึ้นในการแข่งขันนานาชาติ พวกเขาได้รองแชมป์โกปาอาเมริกา 1993 แพ้อาร์เจนตินาในรอบชิงชนะเลิศ 1–2 ต่อมาในฟุตบอลโลก 1994 เม็กซิโกเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายแต่แพ้จุดโทษบัลแกเรีย ต่อมาในฟุตบอลโลก 1998 เม็กซิโกอยู่ร่วมกลุ่มกับเกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม พวกเอาชนะเกาหลีใต้ 3–1, เสมอเบลเยียม 2–2 และเสมอเนเธอร์แลนด์ 2–2 และแพ้เยอรมนีในรอบ 16 ทีมสุดท้าย 1–2 ในปีต่อมาพวกเขาชนะเลิศการแข่งขันของฟีฟ่าเป็นครั้งแรกในรายการ ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าภาพ โดยชนะสหรัฐในรอบรองชนะเลิศ 1–0 และชนะทีมรองแชมป์ฟุตบอลโลก 1998 อย่างบราซิลในรอบชิงชนะเลิศ 4–3[6]
ในฟุตบอลโลก 2002 เม็กซิโกผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้งก่อนจะแพ้คู่ปรับสำคัญอย่างสหรัฐ 0–2 พวกเขาเป็นหนึ่งในแปดชาติที่ได้เป็นทีมวางในฟุตบอลโลก 2006 โดยอยู่ในกลุ่มดี พวกเขาเริ่มต้นด้วยการชนะอิหร่าน 3–1 ตามด้วยการเสมอแองโกลา 0–0 และแพ้โปรตุเกส 1–2 และเข้าไปแพ้อาร์เจนตินาในรอบ 16 ทีมสุดท้าย รีการ์โด ลา โวลปี ลาออก และอูโก ซันเชซ รับตำแหน่งต่อ และหลังจากคว้ารองแชมป์ คอนคาแคฟโกลด์คัพ 2007 ซึ่งพวกเขาแพ้สหรัฐ 1–2 พวกเขาลงแข่งขันโกปาอาเมริกา 2007 เริ่มต้นด้วยการชนะบราซิล 2–0, ชนะเอกวาดอร์ 2–0 และเสมอชิลี 0–0 จบอันดับหนึ่งของกลุ่ม ตามด้วยการถล่มเอาชนะปารากวัย 6–0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ และแพ้อาร์เจนตินาในรอบรองชนะเลิศ 0–3 แต่ยังแก้ตัวได้โดยการเอาชนะอุรุกวัยในนัดชิงอันดับสาม 3–1 และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2009 เม็กซิโกคว้าแชมป์คอนคาแคฟโกลด์คัพสมัยที่แปด หลังจากชนะสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ 5–0[7]
ในฟุตบอลโลก 2010 เม็กซิโกเสมอเจ้าอย่างแอฟริกาใต้ 1–1, ชนะฝรั่งเศส 2–0 และแพ้อุรุกวัย 0–1 ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายแต่แพ้อาร์เจนตินา 1–3 ต่อมาในรายการ คอนคาแคฟโกลด์คัพ 2011 แม้เม็กซิโกจะคว้าแชมป์ได้อีกครั้งโดยเอาชนะสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ 3–1 แต่พวกเขาต้องพบกับเหตุการณ์อื้อฉาวอีกครั้งเมื่อผู้เล่นห้าคนถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นเคลนบิวเทรอล และถูกตัดชื่อออกจากการแข่งขัน เม็กซิโกได้สิทธิ์ลงแข่งขัน ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2013 แต่ตกรอบแบ่งกลุ่ม แม้จะเอาชนะญี่ปุ่นได้ แต่พวกเขาแพ้ทีมใหญ่อย่างบราซิลและอิตาลี ต่อมาในคอนคาแคฟโกลด์คัพ 2013 เม็กซิโกผ่านเข้ารอบชนะเลิศแต่ไปแพ้ปานามา 1–2 โดยถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาแพ้ปานามาสองครั้งในรายการนี้[8] (ปานามาชนะพวกเขาได้ในรอบแบ่งกลุ่ม 2–1)
ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือกรอบที่ 4 เม็กซิโกเอาชนะได้เพียงสองนัดจากสิบนัด แต่ยังได้สิทธิ์ไปแข่งขันรอบเพลย์ออฟในฐานะทีมอันดับ 4 ที่มีผลงานดีที่สุดในโซนคอนคาแคฟ พวกเขาเอาชนะนิวซีแลนด์ด้วยผลประตูรวมสองนัด 9–3 ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายหกครั้งติดต่อกัน[9] และพวกเขาตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง โดยแพ้เนเธอร์แลนด์ 1–2[10] ต่อมาใน คอนคาแคฟโกลด์คัพ 2015 เม็กซิโกเอาชนะคอสตาริกาในช่วงต่อเวลารอบก่อนรองชนะเลิศ 1–0 และชนะปานามาในช่วงต่อเวลารอบรองชนะเลิศ 2–1 ท่ามกลางเหตุการณ์วุ่นวายและกรณีปัญหาในทั้งสองนัด[11][12] พวกเขาคว้าแชมป์ได้อีกครั้งโดยเอาชนะจาเมกา 3–1 ในรอบชิงชนะเลิศ[13] แต่ มิเกล เอร์เรรา ได้ลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีมในสองวันต่อมาจากการทะเลาะวิวาทกับ กริสเตียน มาร์ติโนลี ผู้สื่อข่าว[14] ต่อมในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2015 เม็กซิโกคว้าแชมป์รายการคอนคาแคฟคัพซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เอาชนะสหรัฐ 3–2 ในช่วงต่อเวลา ได้สิทธิ์ร่วมแข่งขัน ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017 ที่ประเทศรัสเซีย[15] ฆวน การ์โลส โอโซริโอ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชาติคนที่ 16[16]
เม็กซิโกชนะติดต่อกันทุกรายการ 13 นัด เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2015 ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะหยุดลงในรายการ โกปาอาเมริกาเซนเตนาริโอ จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เม็กซิโกแพ้ชิลีในรอบก่อนรองชนะเลิศยับเยิน 0–7 โอโซริโอผู้จัดการทีมได้กล่าวขอโทษแฟนบอลถึงความอับอายในครั้งนี้[17] ต่อมาใน ฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 2017 เม็กซิโกทำได้เพียงอันดับสี่ หลังจากแพ้เยอรมนีในรอบรองชนะเลิศ 1–4 และแพ้โปรตุเกสในช่วงต่อเวลาพิเศษในนัดชิงอันดับสาม 1–2[18][19] และในฟุตบอลโลก 2018 เม็กซิโกชนะแชมป์เก่าอย่างเยอรมนีได้ในนัดแรก 1–0 จากประตูของ อีร์บิง โลซาโน ตามด้วยการชนะเกาหลีใต้ 2–1 จากประตูของ การ์โลส เบลา และ ฆาบิเอร์ เอร์นันเดซ[20] และแม้จะแพ้สวีเดนในนัดสุดท้าย 0–3[21] แต่พวกเขายังผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งที่เจ็ดติดต่อกัน[22] ก่อนจะเข้าไปแพ้บราซิล 0–2[23] จากความพ่ายแพ้ดังกล่าวส่งผลให้เม็กซิโกไม่สามารถผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลโลกได้อีกเลยนับตั้งแต่ตนเองเป็นเจ้าภาพ ในฟุตบอลโลก 1986[24] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2018 โอโซริโอได้อำลาตำแหน่งผู้ฝึกสอนหลังจากหมดสัญญา[25]
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 เฆราร์โด มาร์ติโน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีม ถือเป็นผู้จัดการทีมชาวอาร์เจนตินาคนที่สามได้ที่คุมทีมชาติเม็กซิโก[26] และพาทีมคว้าแชมป์ คอนคาแคฟโกลด์คัพ ได้อีกครั้งในปีนั้น โดยเอาชนะสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศ 1–0[27]
ผู้เล่นชุดปัจจุบัน
[แก้]รายชื่อผู้เล่น 26 คนที่ถูกเรียกตัวในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022
ข้อมูลการลงเล่นและการทำประตูนับถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หลังจากการพบกับ โปแลนด์
# | ตำแหน่ง | ผู้เล่น | วันเกิด (อายุ) | ลงเล่น | ประตู | สโมสร |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | GK | อัลเฟรโด ตาลาเบรา | 18 กันยายน ค.ศ. 1982 | 40 | 0 | ฮัวเรซ |
12 | GK | โรโดลโฟ โกตา | 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1987 | 8 | 0 | เลออน |
13 | GK | กิเยร์โม โอโชอา (รองกัปตันทีม) | 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 | 132 | 0 | ซาแลร์นิตาน่า |
2 | DF | เนสตอร์ อาเราโฆ | 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991 | 63 | 3 | กลุบอาเมริกา |
3 | DF | เซซาร์ มอนเตส | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1997 | 31 | 1 | มอนเตอร์เรย์ |
5 | DF | โยฆัน บัสเกซ | 22 ตุลาคม ค.ศ. 1998 | 7 | 0 | เครโมเนเซ |
6 | DF | เฆราร์โด อาร์เตอากา | 7 กันยายน ค.ศ. 1998 | 17 | 1 | แค็งก์ |
15 | DF | เอกตอร์ โมเรโน | 17 มกราคม ค.ศ. 1988 | 129 | 5 | มอนเตอร์เรย์ |
19 | DF | ฆอร์เฆ ซันเชซ | 10 ธันวาคม ค.ศ. 1997 | 27 | 1 | อายักซ์ |
23 | DF | เฆซุส กายาร์โด | 15 สิงหาคม ค.ศ. 1994 | 79 | 1 | มอนเตอร์เรย์ |
26 | DF | เกบิน อัลบาเรซ | 15 มกราคม ค.ศ. 1999 | 8 | 0 | ปาชูกา |
4 | MF | เอดซอน อัลบาเรซ | 24 ตุลาคม ค.ศ. 1997 | 59 | 3 | อายักซ์ |
7 | MF | ลุยส์ โรโม | 5 มิถุนายน ค.ศ. 1995 | 27 | 1 | มอนเตอร์เรย์ |
8 | MF | โรดริเกซ โรดริเกซ | 3 มกราคม ค.ศ. 1997 | 37 | 0 | กรุซอาซุล |
14 | MF | เอริก กูติเอร์เรซ | 15 มิถุนายน ค.ศ. 1995 | 34 | 1 | เปเอสเฟ |
16 | MF | เอกตอร์ เอร์เรรา | 19 เมษายน ค.ศ. 1990 | 103 | 10 | ฮิวสตัน ไดนาโม |
17 | MF | ออร์เบลิน ปิเนดา | 24 มีนาคม ค.ศ. 1996 | 50 | 6 | อาเอก เอเธนส์ |
18 | MF | อันเดรส กัวร์ดาโด (กัปตันทีม) | 28 กันยายน ค.ศ. 1986 | 178 | 28 | เบติส |
21 | MF | อูริเอล อันตูนา | 21 สิงหาคม ค.ศ. 1997 | 37 | 9 | กรุซอาซุล |
24 | MF | ลุยส์ ชาเบซ | 15 มกราคม ค.ศ. 1996 | 10 | 0 | ปาชูกา |
25 | MF | โรเบร์โต อัลบาราโด | 7 กันยายน ค.ศ. 1998 | 31 | 4 | กัวดาลาฮารา |
9 | FW | ราอุล ฆิเมเนซ | 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 | 96 | 29 | วุลเวอร์แฮมป์ตันวอนเดอเรอส์ |
10 | FW | อาเลกซิส เบกา | 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 | 23 | 6 | กัวดาลาฮารา |
11 | FW | โรเฆลิโอ ฟูเนส โมริ | 5 มีนาคม ค.ศ. 1991 | 16 | 6 | มอนเตอร์เรย์ |
20 | FW | เฆนริ มาร์ติน | 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1992 | 28 | 6 | กลุบอาเมริกา |
22 | FW | อีร์บิง โลซาโน | 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1995 | 61 | 16 | นาโปลี |
อดีตผู้เล่นคนสำคัญ
[แก้]คู่แข่ง
[แก้]สหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของเม็กซิโก[28][29][30] ทั้งสองชาติได้รับการยอมรับว่าเป็นสองทีมที่ดีที่สุดในภูมิภาคคอนคาแคฟ การพบกันของทั้งคู่มักได้รับความสนใจจากสื่อ และสาธารณะ แม้ว่าทั้งคู่จะพบกันครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1934 แต่การแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมเพิ่งจะเข้มข้นขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อสหรัฐเริ่มพัฒนาทีมจนก้าวขึ้นมาเป็นทีมมหาอำนาจในภูมิภาคร่วมกับเม็กซิโก และในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2012 สหรัฐบุกมาเอาชนะเม็กซิโกได้ที่สนามอัซเตกา ถือเป็นการบุกมาเอาชนะที่ประเทศเม็กซิโกเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี[31]
นับตั้งแต่พบกันครั้งแรกใน ค.ศ. 1934 ทั้งสองทีมพบกันรวม 73 ครั้ง และเม็กซิโกมีสถิติที่เหนือกว่าที่ 36–22–15 (ชนะ, เสมอ และแพ้ตามลำดับ) และมีผลประตูรวมที่ดีกว่า (144–82) ตั้งแต่อดีตจนถึงทศวรรษ 1980 เม็กซิโกมีผลงานที่เหนือกว่ามาก (22–2–2) แต่หากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมาซึ่งสหรัฐพัฒนาทีมขึ้นมา เม็กซิโกมีผลงานที่เป็นรอง (6–9–17) แต่ในช่วงเวลานี้เม็กซิโกยังเอาชนะสหรัฐในรอบชิงชนะเลิศรายการสำคัญได้สามครั้ง ได้แก่ คอนคาแคฟโกลด์คัพ 2011 และ 2019 รวมถึงคอนคาแคฟคัพ 2015 ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์ได้ที่สหรัฐอเมริกา และยังเป็นการบุกไปเอาชนะสหรัฐได้ที่บ้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1980 แต่ใน ค.ศ. 2021 เม็กซิโกก็แพ้สหรัฐในรอบชิงชนะเลิศเนชั่นส์ลีกไฟนอล และโกลด์คัพ
อันดับโลก
[แก้]ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2021[32]
อันดับโลกที่ดีที่สุด อันดับโลกที่แย่ที่สุด การเปลี่ยนแปลงอันดับที่ดีที่สุด การเปลี่ยนแปลงอันดับที่แย่ที่สุด
อันดับโลกของทีมชาติเม็กซิโก | ||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับ | ปี | อันดับที่ดีที่สุด | อันดับที่แย่ที่สุด | |||||
อันดับ | การเปลี่ยนแปลง | อันดับ | การเปลี่ยนแปลง | |||||
11 | 2021 | — | — | — | — | |||
9 | 2020 | 9 | 2 | 11 | ||||
11 | 2019 | 11 | 6 | 18 | 1 | |||
17 | 2018 | 10 | 5 | 17 | 1 | |||
16 | 2017 | 14 | 2 | 18 | 2 | |||
18 | 2016 | 14 | 6 | 23 | 2 | |||
22 | 2015 | 18 | 14 | 40 | 17 | |||
20 | 2014 | 16 | 2 | 21 | 3 | |||
21 | 2013 | 14 | 4 | 24 | 3 | |||
15 | 2012 | 14 | 5 | 22 | 3 | |||
21 | 2011 | 9 | 19 | 28 | 11 | |||
27 | 2010 | 15 | 2 | 28 | 7 | |||
17 | 2009 | 15 | 6 | 33 | 7 | |||
26 | 2008 | 14 | 8 | 32 | 13 | |||
15 | 2007 | 10 | 16 | 26 | 6 | |||
20 | 2006 | 4 | 2 | 20 | 14 | |||
5 | 2005 | 5 | 2 | 8 | 2 | |||
7 | 2004 | 4 | 2 | 10 | 2 | |||
7 | 2003 | 4 | 6 | 11 | 3 | |||
8 | 2002 | 6 | 1 | 9 | 1 | |||
9 | 2001 | 9 | 2 | 15 | 2 | |||
12 | 2000 | 8 | 2 | 14 | 5 | |||
10 | 1999 | 9 | 3 | 14 | 2 | |||
10 | 1998 | 4 | 2 | 12 | 8 | |||
5 | 1997 | 5 | 6 | 12 | 2 | |||
11 | 1996 | 8 | 4 | 15 | 2 | |||
12 | 1995 | 7 | 6 | 16 | 6 | |||
15 | 1994 | 13 | 4 | 19 | 3 | |||
16 | 1993 | 14 | 11 | 18 | 2 |
เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 20 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
- ↑ "Mexico's World Cup Soccer History". El Jalisco (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Borden, Sam (2012-08-11). "Mexico Has Its Moment in Upset Over Brazil". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "FIFA.com - Antonio Carbajal, el eterno Cinco Copas". web.archive.org. 2010-06-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-17. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ Ap (1988-07-01). "Mexico Given Ban in Soccer". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Mexico stun Brazil in thrilling Azteca final - FIFA.com". web.archive.org. 2015-10-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-09. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Longman, Jeré (2009-07-26). "Mexico Thumps U.S. to Win Gold Cup". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ Rudnansky, Ryan. "Gold Cup 2013 Results: Scores and Highlights from Mexico vs. Panama". Bleacher Report (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Mexico seal place in World Cup". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Holland 2-1 Mexico | World Cup last-16 match report". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2014-06-29.
- ↑ "Costa Rica loses to Mexico in heartbreaking fashion after awful penalty call in extra time". For The Win (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-07-20.
- ↑ Longman, Jeré (2015-07-23). "Messy Mexico-Panama Semifinal Leaves a Stain on Concacaf". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Jamaica 1-3 Mexico". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Mexico coach Miguel Herrera sorry for 'painful incident' that led to firing". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2015-07-29.
- ↑ "Mexico claim CONCACAF's spot at Confederations Cup - FIFA.com". web.archive.org. 2015-10-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-08. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Uncertainty prevails on both sides as USA host Mexico at Rose Bowl". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2015-10-10.
- ↑ "Soccer News, Live Scores, Results & Transfers | Goal.com US". www.goal.com.
- ↑ "Osorio: Mexico deserve better than 4-1 loss". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-06-29.
- ↑ "Portugal end on a high, come back vs. Mexico". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-07-02.
- ↑ Bates, Steve (2018-06-23). "Arsenal flop Carlos Vela sets Mexico on their way to South Korea win". mirror (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Keh, Andrew; Wagner, James (2018-06-27). "Mexico Loses to Sweden. Mexico Advances. Celebrate?". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ "Sweden cruise to victory over Mexico as both qualify for World Cup last 16". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2018-06-27.
- ↑ "Brazil beat Mexico 2-0". euronews (ภาษาอังกฤษ). 2018-07-02.
- ↑ McMahon, Bobby. "2018 World Cup: Mexico Fails To Crack The Round-Of-16 Glass Ceiling For Seventh Time In A Row". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Osorio quits as Mexico manager". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ Press, The Associated (2019-01-08). "Tata Martino Is Named Mexico's National Team Coach". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2022-01-15.
- ↑ Straus, Brian. "Mexico turns tide to win Gold Cup vs. wasteful USMNT". Sports Illustrated (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Hernandez, Cesar (2021-06-08). "The beautiful chaos of the USA-Mexico rivalry has returned". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "History of USA-Mexico in World Cup Qualifying". www.ussoccer.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ II, Donald Wine (2021-11-11). "USA vs. Mexico: A fierce rivalry bred out of respect". Stars and Stripes FC (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Mexico's first loss to U.S. at home, on a Mexican American's goal". LA Times Blogs - World Now (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2012-08-16.
- ↑ "Mexico in the FIFA World Ranking". สืบค้นเมื่อ July 26, 2021.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์ทางการ (ในภาษาสเปน)
- Mexico – FIFA profile
- Archives and results at the RSSSF