ข้ามไปเนื้อหา

ไอคอนสยาม

พิกัด: 13°43′36″N 100°30′38″E / 13.726690°N 100.510498°E / 13.726690; 100.510498
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไอคอนสยาม และ ไอซีเอส
ไอคอนสยาม และ ไอซีเอส logo
ไอคอนสยามและอาคารชุดที่พักอาศัยแมกโนเลียส์ ริเวอร์ไซด์
แผนที่
ที่ตั้ง168, 259, 289, 299 ถนนเจริญนคร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°43′36″N 100°30′38″E / 13.726690°N 100.510498°E / 13.726690; 100.510498
เปิดให้บริการ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561; 6 ปีก่อน (2561-11-09) (ไอคอนสยาม)[1]
11 มกราคม พ.ศ. 2566; 21 เดือนก่อน (2566-01-11) (ไอซีเอส)
ผู้บริหารงานบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และ บริษัท ไอซีเอส จำกัด โดย
สถาปนิกเออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์
จำนวนชั้น10 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน 2 ชั้น)
ที่จอดรถ5,000 คัน
ขนส่งมวลชน สถานีเจริญนคร
รถโดยสารประจำทาง 3(2-37), 6(4-1), 84(4-46), 89(4-47), 105(4-18), 111(4-20), 120(4-21), 149(4-53), 4-35,รถสี่ล้อเล็ก
 ซิตี้ไลน์  ท่าเรือไอคอนสยาม 2
ธงแดง ธงส้ม ประจำทาง ท่าเรือไอคอนสยาม 1
เว็บไซต์www.iconsiam.com

ไอคอนสยาม (ชื่อเดิม: บางกอก เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอ-ซิตี้[2]) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมบนพื้นที่ 50 ไร่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณซอยเจริญนคร 5 ถนนเจริญนคร และ 5 ไร่บริเวณฝั่งตรงข้ามใกล้ปากซอยเจริญนคร 4 ในพื้นที่แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เกิดจากการร่วมทุนกันระหว่าง สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มีพิธีเปิดโครงการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

โครงการไอคอนสยามประกอบด้วย

  • อาคารศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 2 อาคารเชื่อมต่อกัน ซึ่งมีพื้นที่รวมมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ และมีพื้นที่ขายรวมกันมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัล เวสต์เกต
  • อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย 2 อาคาร ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย
  • อาคารศูนย์การค้าขนาดกลางที่เชื่อมต่อกับอาคารโรงแรม

โดยพื้นที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยถนนภายในโครงการและสถานีเจริญนคร ของรถไฟฟ้าสายสีทอง

ประวัติ

[แก้]

ที่มาโครงการ

[แก้]

ไอคอนสยามเกิดจากการร่วมทุนกันของสยามพิวรรธน์, เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC ในกลุ่มกิจการ DTGO) มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 51:24.5:24.5 ตามลำดับ[3]

ไอคอนสยามตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงสีสิบเก้า และตลาดศิรินทร์[4] ซึ่งต่อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของ บริษัท สยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในเครือศรีกรุงวัฒนา[5] โดยพื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กับโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ นอกจากนี้ยังอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน กรุงเทพ, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ และอาคารโทรคมนาคมแห่งชาติ สาขาบางรัก

ไอคอนสยามเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557[6] มีมูลค่าการลงทุนเมื่อเริ่มโครงการ 35,000 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท[7] และ 54,000 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น[8] โดยครึ่งหนึ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทพันธมิตรทั้ง 3 บริษัท ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารธนชาต ร่วมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งผู้ร่วมทุนทั้ง 3 บริษัทได้วางแผนในการเชื่อมโยงโครงการเข้ากับโรงแรม ศูนย์การค้า และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา[7][9]

พิธีเปิด

[แก้]

ไอคอนสยามจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ในชื่อ "มหาปรากฏการณ์งานเปิดเมืองไอคอนสยาม" โดยในช่วงเช้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการด้วยพระองค์เอง[1][10][11][12] และในช่วงค่ำได้มีการจัดการแสดงในชุด "โรจนนิรันดร" ที่เป็นการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ไทยแขนงต่าง ๆ และกายกรรมผาดโผน รวมถึงมีการเปิดตัว "เรือสำเภาศรีมหาสมุทร" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทย[13] ตลอดจนมีการแสดงแปรขบวนของโดรนจากอินเทล จำนวน 1,400 ลำ และการแสดงคอนเสิร์ตของ อลิเชีย คีส์ รวมถึงการแสดงแสง สี เสียง ไปยังอาคารชุดเพื่อการพักอาศัยทั้ง 2 อาคารในโครงการด้วย[14]

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน มีผู้เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนประมาณ 150,000 คน และในวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการเป็นวันแรก มีจำนวนประชาชนเข้าใช้บริการประมาณ 200,000 คน[15] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ยังมีมินิคอนเสิร์ตของศิลปินจากซีรีส์ รักใสใส หัวใจสี่ดวง ฉบับประเทศจีน[16]

ช่วงปีแรก

[แก้]

ในช่วงครึ่งปีแรกหลังการเปิดไอคอนสยาม ได้มีการเปิดร้านค้าอีก 20-25 แบรนด์ อาทิ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่าง ไอคอน บาย ฟิตเนสเฟิร์ส สถานที่ออกกำลังกายสาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์ประชุมมาตรฐานระดับโลกซึ่งร่วมทุนกับทรู คอร์ปอเรชั่น

จากสถิติหลังการเปิด 1 ปี (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562) ไอคอนสยามมีผู้เข้ามาใช้บริการในวันปกติเฉลี่ย 80,000-120,000 คนต่อวัน ส่วนในวันเทศกาล เช่น วันสิ้นปี วันขึ้นปีใหม่ วันลอยกระทง วันสงกรานต์ มีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 200,000-350,000 คนต่อวัน และมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ 35% โดยมีกลุ่มหลัก ๆ คือชาวจีน เกาหลี ไต้หวัน อินเดีย และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ทำให้มียอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งสูงกว่าศูนย์การค้าทั่วไปในประเทศไทย[17]

การจัดสรรพื้นที่

[แก้]
ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ถ่ายจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ภายในร้านแอปเปิลสโตร์แห่งแรกในประเทศไทย

โครงการไอคอนสยามมีการออกแบบโดยใช้แนวคิด "เมืองแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์" (The Icon of Eternal Prosperity) มีพื้นที่โครงการรวมทั้งหมด 750,000 ตารางเมตร นับเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากเซ็นทรัลเวิลด์ ตัวอาคารหลักออกแบบโดยบริษัท เออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ จำกัด และมีบริษัทสถาปนิก ฟอสเตอร์ + พาร์ตเนอร์ส จากประเทศอังกฤษ เป็นที่ปรึกษาโครงการ[18] ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไทย กระทง บายศรี และสไบ ในโครงการประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ ดังนี้

ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

[แก้]
% อะราบิกา สาขาแรกในประเทศไทย

ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เป็นศูนย์การค้าในอาคารหลัก บริหารงานโดย บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ซึ่งกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี ร้านสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านอาหาร มีจุดเด่นบริเวณโถงกลางชั้น M จนถึงชั้น 2 ออกแบบโครงสร้างอาคารให้เป็นแบบ 2 อาคารขนานกันภายใต้อาคารหลักหลังเดียว โดยอาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งของร้านต่าง ๆ อาทิ เอชแอนด์เอ็ม และคาเฟ่ % อะราบิกา สาขาแรกในประเทศไทย รวมถึงมี ฟิตเนส เฟิร์สท์ คลับไอคอน สถานออกกำลังกายฟิตเนส เฟิร์สท์ สาขาใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย[19][20] นอกจากนี้อาคารฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีจุดเด่นเป็นร้านแอปเปิลสโตร์สาขาแรกในประเทศไทย และเป็นสาขาที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์[21]

ในส่วนโถงกลางบริเวณชั้น 3 ถึง 5 บริหารงานโดย บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบด้วย

  • ไอคอนคราฟต์ แหล่งรวมงานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์ฝีมือคนไทย โดยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)[22]
  • ไอคอนแอคทีฟ แหล่งรวมร้านเครื่องกีฬา
  • ไอคอนเทค แหล่งรวมร้านไอที ซึ่งความพิเศษอยู่ที่ตัวร้านบางส่วนจะตั้งลอยบนใบบัวแยกขาดจากกัน โดยมีเส้นสายบัวค้ำฐานร้านที่ชั้น 3
  • ไอคอนวิลล์ แหล่งรวมสินค้าประเภทเครื่องประดับ, งานหัตถกรรม, สินค้าสุขภาพและความงาม รวมถึงร้านอาหารและคาเฟ่สำหรับครอบครัว

ศูนย์การค้าไอคอนลักซ์

[แก้]

ศูนย์การค้าไอคอนลักซ์ เป็นอาคารศูนย์การค้าขนาดเล็กในอาคารหลักบริเวณฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพื้นที่ศูนย์การค้า ประกอบด้วยร้านค้าสินค้าระดับหรูหรา ร้านค้าแฟชัน ร้านสินค้าเทคโนโลยี และห้องแสดงรถยนต์ โดยชั้นหลังคาของไอคอนลักซ์ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าแอปเปิลสโตร์ เป็นที่ตั้งของไอคอนสยามพาร์ค ซึ่งเป็นสวนหย่อมและสวนประติมากรรมกลางแจ้ง โดยโครงการได้ออกแบบภูมิสถาปัตย์ในบริเวณนี้ร่วมกับแอปเปิล เพื่อเปิดหน้าร้านแอปเปิลสโตร์ให้มีความโดดเด่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา[23] นอกจากนี้ไอคอนลักซ์ยังเป็นที่ตั้งของ "บลู บาย อลัง ดูคาส" ภัตตาคารอาหารฝรั่งเศสที่ได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง จากการจัดอันดับของมิชลินไกด์ ในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 และเป็นหนึ่งในภัตตาคารดีที่สุดในเอเชีย[24]

ห้างสรรพสินค้า

[แก้]

ไอคอนสยามเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า ห้างสรรพสินค้าในกลุ่มทาคาชิมาย่าสาขาแรกในประเทศไทย บริหารงานโดย บริษัท สยาม ทาคาชิมาย่า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งกลุ่มทาคาชิมาย่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพื้นที่ 36,000 ตารางเมตร[25][26] โดยเป็นสาขานอกประเทศญี่ปุ่นที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุด ภายในนอกจากจะมีการแบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าโดยทั่วไปแล้ว ยังมีศูนย์อาหารโรส ฟู้ด อเวนิว, ตลาดทากะ มาร์เช, นิโตริ และโซนรวมร้านอาหารเอเชีย โรส ไดน์นิ่ง อีกด้วย[27]

ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร

[แก้]
บรรยากาศภายในสุขสยาม

ไอคอนสยามเป็นที่ตั้งของ เดียร์ ทัมมี ซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ดมาร์เก็ตที่นำเสนอสินค้าและร้านอาหารระดับพรีเมียมบนพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร เป็นการร่วมลงทุนระหว่างสยามพิวรรธน์และกูร์เม่ต์ เอเชีย ประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดอาหาร

นอกจากนี้ไอคอนสยามยังมีโซนร้านอาหารอีกห้าส่วนหลัก ๆ ได้แก่

  • เดอะ วีรันดา เป็นพื้นที่ร้านอาหารระดับกลางถึงบน และบางร้านมีสาขาเดียวในประเทศไทย
  • สุขสยาม เป็นพื้นที่สำหรับนำเสนอผลิตภัณฑ์ ร้านอาหารไทยพื้นบ้านและวัฒนธรรมไทย ภายใต้การนำเสนอแบบสี่ภูมิภาคท้องถิ่น[28] รวมถึงมีร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ร้านสะดวกซื้อรูปแบบพรีเมียมแห่งแรก[29]
  • ไอคอนอีตส์ เป็นพื้นที่ร้านอาหารระดับกลาง
  • ไอคอน ไดนิ่ง รูม เป็นร้านอาหารระดับภัตตาคารจำนวน 5 ร้าน ซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่นอกอาคาร สามารถรับลมและชมทิวทัศน์รอบแม่น้ำเจ้าพระยาได้
  • อลังการ เป็นพื้นที่ร้านอาหารและภัตตาคารระดับพรีเมียม ตกแต่งในแบบไทย ภายใต้กรอบเรื่องท้องนาและรวงข้าว
ส่วนบนสุดของประติมากรรมน้ำตกฝนทิพย์
สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์

ในโซนอลังการนั้น ด้านบนเพดานฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีประติมากรรม น้ำตกฝนทิพย์ ความสูง 15 เมตร จุดเด่นอยู่ที่การสลักฐานน้ำเป็นรูปทรงต่าง ๆ โดยส่วนบนสุดของประติมากรรมสลักเสมือนเป็นเลข ๙ ออกแบบโดย Ghesa Water & Art[30] ที่ชั้นเดียวกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของ ทัศนานคร เทอเรส พื้นที่ร้านอาหารมุมสูงริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยภัตตาคารระดับไฟน์-ไดนิ่งและบาร์กึ่งเอาท์ดอร์สองร้านคือ ฮอบส์ และ ฟาลาเบลลาร์ ริเวอร์ฟร้อนท์ และ ภัตตาคารเกรท ฮาร์เบอร์ อินเตอร์เนชันแนล บุฟเฟต์ ภัตตาคารนานาชาติจากประเทศไต้หวัน บริหารงานโดย บริษัท ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ จำกัด ซึ่งเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือซีพีเอฟ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับกลุ่มทุนไห่หลายกรุ๊ป ของโหว ซี ฟง มหาเศรษฐีของไต้หวัน[31] นอกจากนี้ในบริเวณใกล้เคียง ยังเป็นที่ตั้งของ สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านสตาร์บัคส์ที่มีสาขาใหญ่[32][33] และเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชนแห่งที่สองของไทยต่อจากสาขาถนนหลังสวนด้วย[34]

โรงภาพยนตร์

[แก้]

ไอคอนสยาม มีโรงภาพยนตร์ประกอบกิจการหนึ่งแห่ง คือ ไอคอน ซีเนคอนิค เป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ออกแบบภายใต้แนวคิด "สัญลักษณ์ใหม่ของโรงภาพยนตร์ระดับโลก" (The New World-class Cinematic Icon) เน้นความหรูหรา ผสานกับเทคโนโลยีการฉายอันล้ำสมัย และบริการระดับเดียวกับโรงแรมหกดาว ภายในประกอบไปด้วยโรงภาพยนตร์จำนวน 14 โรง[27] มีจุดเด่นที่ทุกโรงภาพยนตร์ใช้เครื่องฉายระบบเลเซอร์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีโรงภาพยนตร์ที่ตกแต่งเสมือนห้องนั่งเล่นในชื่อ Cineconic Living Room ซึ่งให้บริการฉายภาพยนตร์และเป็นพื้นที่กิจกรรมแบบเช่าเหมาโรง และยังมีโรงภาพยนตร์ไอแมกซ์ โฟร์ดีเอ็กซ์ สกรีนเอ็กซ์ และดอลบี แอทมอส ระบบละ 1 โรง[35]

ศูนย์การเรียนรู้

[แก้]

ไอคอนสยามยังเป็นที่ตั้งของ ไอคอนเอ็ดดูเคชั่น ศูนย์การเรียนรู้ ร้านหนังสือ สนามเด็กเล่นขนาดเล็ก และ เมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ สวนสนุกและศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่สำหรับเด็ก พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร[36]

พื้นที่จัดกิจกรรม

[แก้]
วิวของเขตบางรัก และแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองจากไอคอนสยาม
ภายในโถงประชุมหลักของทรู ไอคอน ฮอลล์

ไอคอนสยามยังแบ่งพื้นที่จัดกิจกรรมออกเป็นหลายส่วน ได้แก่

  • ริเวอร์พาร์ค ทางเดินริมแม่น้ำและลานกิจกรรมที่มีความยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร นับเป็นทางเดินริมแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ยังมี
    • The Iconic Multimedia Water Features เป็นการแสดงระบำน้ำพุผสมแสง สี เสียง และสื่อผสม ที่มีความยาวมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน โดยมีความยาว 240 เมตร
  • ไอคอนสยามพาร์ค (ICONSIAM Park) สวนลอยฟ้าและจุดชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาภายในศูนย์การค้า ตั้งอยู่หน้าแอปเปิลสโตร์
  • ลานเมืองสุขสยาม ลานกิจกรรมภายในอาคารชั้น G เน้นการแสดงวัฒนธรรมและศิลปะไทย
  • เจริญนครฮอลล์ และธาราฮอลล์ ลานกิจกรรมภายในอาคารชั้น M
  • แอทแทรกชันฮอลล์ โถงกิจกรรมขนาดกลางบริเวณชั้น 6[37]
  • ส่วนบริเวณชั้น 7-8 เป็นที่ตั้งของ

อาคารชุดเพื่อการพักอาศัย

[แก้]
อาคารชุดเพื่อการพักอาศัยของไอคอนสยาม

ไอคอนสยาม ประกอบด้วยอาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่

  • แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม (Magnolias Waterfront Residences at ICONSIAM) เป็นอาคารที่พักอาศัยที่บริหารโดยแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดิเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มีความสูง 317.95 เมตร ทำลายสถิติอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยของตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ที่ 314.2 เมตร ลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2561[42]
  • เดอะ เรสซิเดนเซส แอท แมนดาริน โอเรียนเต็ล แบงค็อก อิน ไอคอนสยาม (The Residences at Mandarin Oriental Bangkok in ICONSIAM) ความสูง 272.20 เมตร เป็นอาคารที่พักอาศัยที่บริหารจัดการโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทแมนดาริน โอเรียนเต็ล แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอาคารที่มีความสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย[43]

ไอซีเอส

[แก้]

นอกจากนี้ ไอคอนสยามได้ก่อสร้างอาคารในระยะที่ 2 บนพื้นที่ 5 ไร่ ฝั่งตรงข้ามของถนนเจริญนคร บริเวณปากซอยเจริญนคร 4 ในชื่อ ไอซีเอส (ICS) โดยใช้แนวคิดเมืองผสมผสานที่สร้างความสุขในการใช้ชีวิตได้ทุกวัน ประกอบด้วยร้านค้าและร้านอาหารเพิ่มเติมจากอาคารหลัก ไฮเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม โลตัส พรีเว่, สปอร์ตส์เวิลด์, อาคารสำนักงานไอซีเอส ทาวเวอร์, ศูนย์สุขภาพ ศิริราช เอช โซลูชันส์ โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[44][45] และโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ แบงค็อก ริเวอร์ไซด์ จำนวน 241 ห้อง[20][46] โดยเปิดอย่างไม่เป็นทางการในชั้น B1 ถึงชั้น 1 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2566[47][48] จากนั้นเปิดอย่างเป็นทางการในชั้น 2 ถึงชั้น 4 รวมถึงอาคารสำนักงานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2566[49] ต่อมาเปิดให้บริการศิริราช เอช โซลูชันส์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2566[50] และเปิดให้บริการโรงแรมฮิลตัน การ์เดน อินน์ แบงค็อก ริเวอร์ไซด์ เป็นส่วนสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567[51]

พื้นที่จัดสรรในอดีต

[แก้]
สวนสนุกซุปเปอร์พาร์ค

ไอคอนสยามเคยเป็นที่ตั้งของสวนสนุกซุปเปอร์พาร์ค สวนสนุกจากประเทศฟินแลนด์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ถือเป็นสาขาที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย[52] และเป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่อันดับสาม รองจากสาขาในประเทศฟินแลนด์และฮ่องกง[53] แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563 ทางสวนสนุกประกาศปิดปรับปรุงชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ และระบบไฟฟ้าภายในโครงการ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจากการพัดถล่มของพายุโซนร้อนโนอึลเมื่อวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2563 จนระบบสาธารณูปโภคของไอคอนสยามไม่สามารถระบายน้ำที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องได้ทัน ทำให้พื้นที่บางส่วนรวมถึงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ควบคุมเครื่องได้รับความเสียหายทั้งหมด ทั้งนี้ การปิดปรับปรุงเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากความเสียหายกินพื้นที่เกินกว่าที่คาดการณ์ และต้องเดินสายไฟภายในโครงการใหม่ทั้งหมด รวมถึงนโยบายของศูนย์การค้าไอคอนสยาม ที่เปิดให้ผู้เช่าซ่อมบำรุงพื้นที่ได้เฉพาะในเวลาปิดทำการเท่านั้น ทำให้ทางสวนสนุกประกาศปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563 คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณสองสัปดาห์[54] จนในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ศูนย์การค้าไอคอนสยามได้ตั้งป้ายประชาสัมพันธ์หน้าสวนสนุกว่า "SUPER PARK ได้ปิดให้บริการอย่างถาวรและปัจจุบันไม่ได้เป็นผู้เช่าหลักของไอคอนสยามแต่อย่างใด" ทำให้สร้างความสงสัยและเกิดการเรียกร้องขอเงินคืนอย่างหนักจากฝั่งลูกค้า[55][56] ปัจจุบันพื้นที่ของสวนสนุกซุปเปอร์พาร์คได้ถูกพัฒนาต่อเป็น เมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ โดยผู้พัฒนาสวนสนุกและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กจากจังหวัดชลบุรี

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]
  • World Retail Awards 2019 สาขาการออกแบบพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่ยอดเยี่ยม (พื้นที่มากกว่า 1,200 ตารางเมตร)[57]
  • Prix Versailles 2019 สาขาศูนย์การค้ายอดเยี่ยม ภูมิภาคเอเชียใต้และแปซิฟิก[58]
  • ICSC Asia-Pacific Shopping Center Gold Awards 2019 สาขาศูนย์การค้าใหม่ยอดเยี่ยม การทำตลาดแบบ B2B ยอดเยี่ยม (สุขสยาม) การจัดงานเปิดตัวยอดเยี่ยม และการประชาสัมพันธ์ยอดเยี่ยม[59]
  • MAPIC Awards 2019 สาขาศูนย์การค้ายอดเยี่ยม[60]
  • เข้ารอบสุดท้าย MIPIM Awards 2021 สาขาศูนย์การค้ายอดเยี่ยม[61]
  • Asia’s Most Innovative Shopping Experience จากงานประกาศรางวัล Cathay Members’ Choice Awards 2024[62]

การเดินทาง

[แก้]
เรือสำเภาศรีมหาสมุทร พิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ มีลักษณะจำลองเป็นเรือสำเภาจีนโบราณ[63]
  • ทางเรือ จอดที่ท่าเทียบเรือจำนวน 3 ท่า (สาทร, สี่พระยา และไปรษณีย์กลางบางรัก) สำหรับให้บริการเรือรับ-ส่ง จากท่าเรือโดยสารและท่าเรือโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา[64] โดยในอดีตเคยมีเรือให้บริการจากท่าราชวงศ์ แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกการให้บริการจากท่าเรือดังกล่าว
  • รถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นการร่วมทุนกับกรุงเทพมหานครในลักษณะการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าโดยรอบจำนวน 3 สายเข้ากับโครงการ[65][66][67] โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เชื่อมต่อกับอาคารที่สถานีเจริญนคร และยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมอาคารทั้งสองฝั่งคืออาคารหลักและอาคารไอซีเอสเข้าด้วยกัน ต้นทางจะเชื่อมต่อกับสถานีกรุงธนบุรี ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม
  • รถโดยสารประจำทาง สาย 3(2-37), 6(4-1), 84(4-46), 89(4-47), 105(4-18), 111(4-20), 120(4-21), 149(4-53), 4-35[68]
  • รถสี่ล้อเล็ก เส้นทาง BTS กรุงธนบุรี (ทางออก 3)-วัดโพธิ์เรียง
  • รถยนต์ส่วนตัว
    • จากสี่แยกอรุณอัมรินทร์มุ่งหน้าโรงเรียนศึกษานารี ให้ขับตรงไปตามทางถนนสมเด็จเจ้าพระยา ผ่านตลาดท่าดินแดง แยกคลองสาน เข้าสู่ถนนเจริญนคร ไอคอนสยามอยู่ขวามือ
    • จากแยกเพชรเกษมมุ่งหน้าแยกท่าพระเลี้ยวไปทางวงเวียนใหญ่ ให้ขับมาทางถนนลาดหญ้าออกสู่แยกคลองสาน จะเห็นไอคอนสยามขวามือ

ท่าเรือใกล้เคียง

[แก้]
ท่าก่อนหน้า เส้นทางเดินเรือ ท่าต่อไป
ท่าสี่พระยา
มุ่งหน้า ท่าน้ำนนทบุรี
  เรือด่วนเจ้าพระยา   ท่าวัดม่วงแค
มุ่งหน้า ท่าวัดราชสิงขร
ท่าราชวงศ์
มุ่งหน้า ท่าพรานนก
  เรือด่วนพิเศษธงทอง   ท่าสาทร
มุ่งหน้า ปลายทาง
ท่าล้ง 1919
มุ่งหน้า ท่าพระอาทิตย์
  เรือท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา   ท่าสาทร
มุ่งหน้า ท่าวัดราชสิงขร

กรณีอื้อฉาว

[แก้]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เกิดเหตุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของไอคอนสยามทำร้ายร่างกายเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมนักศึกษา แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และแนวร่วมกลุ่มราษฎร ที่แสดงออกทางการเมืองในพื้นที่ศูนย์การค้า[69] โดยชูป้ายที่มีข้อความทำนองว่า การผูกขาดวัคซีนโควิด-19 เป็นการสร้างความชอบให้สถาบันพระมหากษัตริย์[70] ด้านไอคอนสยามออกมาชี้แจงว่าจะสอบสวนผู้ก่อเหตุ และขอความร่วมมืองดการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่[71] ในช่วงเย็น มีการจัดการประท้วงอย่างฉับพลันในห้าง และเกิดแฮชแท็ก #แบนไอคอนสยาม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศ ก่อนจะยุติการชุมนุมไปเมื่อผู้บริหารออกมารับปากว่าจะลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุ และเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยอมกล่าวขอโทษ[72] ต่อมา เพจเฟซบุ๊กของไอคอนสยามเองได้โพสต์ข้อความว่า จากการสอบสวนกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมนั้น ไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัท จนก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนดังกล่าวเข้าใจและรับรู้ พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยมีผลทันที[73]

คลังภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 รวมพลังหัวใจไทย สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่บนแม่น้ำเจ้าพระยา การแสดงครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะสะกดทุกสายตาโลก 'มหาปรากฏการณ์งานเปิดเมืองไอคอนสยาม' 9-11 พ.ย.นี้
  2. เปิดโปรเจ็กต์3.5หมื่นล.ซีพี-สยาม ดึงซูเปอร์แบรนด์ร่วม/ผุดมิกซ์ยูส95ชั้นริมเจ้าพระยา
  3. ขุมข่ายธุรกิจ 'ไอคอนสยาม' แสนล.! หลังฉากการลงทุน 2 ยักษ์ใหญ่ 'สยามพิวรรธน์-ซีพี.'
  4. เปิดภาพเก่าย่าน “คลองสาน” ก่อนจะเป็นหอชมเมือง-ไอคอนสยาม อดีตเคยเป็นที่ตั้งโรงสีข้าว
  5. ศรีกรุงวัฒนา กับการกลับมาแบบแหยงๆ ของ "สยามอรุณ" [ลิงก์เสีย]
  6. ""ไอคอนสยาม" เติมเสน่ห์ "5 หมื่นล้าน" ร่ายมนตร์...สะกดโลก". สนุก.คอม. 7 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 กำเนิดสัญลักษณ์ใหม่แห่งสยาม สง่างามยิ่งใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมสะกดคนทั้งโลก เริ่มก่อสร้างเดินหน้าโครงการ เพิ่มมูลค่าลงทุนรวมเป็น 50,000 ล้านบาท
  8. ‘ไอคอนสยาม’ อภิมหาโครงการเมืองแห่งการใช้ชีวิตสู่โลกอนาคต เปิดความวิจิตรของ 2 อาณาจักรศูนย์การค้าและความบันเทิงแห่งยุค
  9. เครือ CP จับมือสยามพิวรรธน์ทุ่มกว่า 5 หมื่นลบ.เปิดไอคอนสยามริมเจ้าพระยา
  10. คลองสานร่วมตรวจพื้นที่รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  11. คุณแหน : 5 พฤศจิกายน 2561
  12. 9 พ.ย.2561 พิธีเปิดศูนย์การค้าไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร ฝั่งธนบุรี ปิดการจราจรถนนเจริญนครช่วงเช้าถึงเที่ยง
  13. ไอคอนสยาม เปิดพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ เรือศรีมหาสมุทร ครั้งแรกในประเทศไทย
  14. พิธีเปิดไอคอนสยาม ยิ่งใหญ่ตระการตา เซเลบดาราเพียบ
  15. เปิดทราฟฟิก 2 วัน ไอคอนสยาม
  16. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-13. สืบค้นเมื่อ 2018-11-12.
  17. "10 ปรากฏการณ์ "ไอคอนสยาม" ครบ 1 ปี Game Changer เปลี่ยนภาพ "มหานครธนบุรี"". แบรนด์บุฟเฟต์. 31 ตุลาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  18. ICONSIAM - The Makers - พลังแห่งหัวใจไทย ที่ยิ่งใหญ่สะกดโลก
  19. Fitness First ปรับใหญ่ เสริมคอนเซ็ปต์ Zone และ Club Class ขยายฐานลูกค้า
  20. 20.0 20.1 ไอคอนสยาม ปักหมุดเฟส2 ดัก‘นักช็อป’
  21. ขึ้นป้ายแล้ว! ร้าน Apple Store กรุงเทพฯ สาขาแรกที่ ICONSIAM เปิด 10 พ.ย. นี้
  22. "ไอคอนสยามเนรมิต #ไอคอนคราฟต์ พื้นที่นำเสนอคุณค่าความเป็นไทยผ่านงานนวัตศิลป์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-02. สืบค้นเมื่อ 2018-11-02.
  23. ชมการออกแบบที่น่าสนใจของ Apple Store Thailand ณ ICONSIAM
  24. ""บลู บาย อลัง ดูคาส" ติดอันดับที่ 25 ของ "50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย"". bangkokbiznews. 2022-04-11.
  25. "'ทาคาชิมายะ' ห้างญี่ปุ่นแท้ๆ แบบ full-scale แห่งแรกในประเทศไทย ที่ไอคอนสยาม เดือน พ.ย. นี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-16. สืบค้นเมื่อ 2018-09-05.
  26. "'ทาคาชิมาย่า' ห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมี่ยมจากญี่ปุ่น ผนึกกำลังไอคอนสยาม ตั้งสาขาแลนด์มาร์คระดับโลกแห่งใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-16. สืบค้นเมื่อ 2014-10-21.
  27. 27.0 27.1 แค่ 2 เดือนใช้กว่าพันล้าน เทคออฟ ‘ไอคอนสยาม’ สู่ ‘The Next Global Destination’
  28. “สุขสยาม” เมืองมหัศจรรย์แห่ง”ไอคอนสยาม” ทุ่ม 700 ล. ชูค้าปลีกใหม่ “Co-Creation” สานวิถีท้องถิ่น
  29. ICONSIAM กับเซเว่นลับๆ ที่อยู่ในห้าง![ลิงก์เสีย]
  30. ICONSIAM Attraction "โซนอลังการ"
  31. ซีพี เปิด “Harbour” บุฟเฟ่ต์หรูจากไต้หวัน ที่ “ธนินท์” ต้องเข้าคิวรอ
  32. สตาร์บัคส์ เปิดร้านสาขาแห่งใหม่ใหญ่สุดในไทย ที่ไอคอนสยาม
  33. 10 เรื่องน่ารู้ “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม” สาขาแรกในไทยที่ขายแอลกอฮอล์ และใหญ่สุด
  34. "ไทยเบฟเคลื่อน 'สตาร์บัคส์' โต ยึดทำเลท่องเที่ยวผุดสาขาเท่าตัว". bangkokbiznews. 2023-07-07.
  35. ส่วนผสมใหม่ “เมเจอร์” ดึงคนดูติดจอ…เปิดโรงไม่หยุด
  36. ไอคอนสยาม จับมือ ฮาร์เบอร์แลนด์ เปิดตัวสนามเด็กเล่นในร่มใหญ่ระดับโลก
  37. "ชมครบทุกโซนใน "BLACKPINK IN YOUR AREA POP-UP STORE & EXHIBITION"". tnnthailand.com. 2023-01-20.
  38. ไอคอนสยามเตรียมเปิดตัว 9 พ.ย.นี้ ชูเป็น Destination ความภูมิใจของความเป็นไทย ดึงดูดต่างชาติเข้าใช้บริการ
  39. "Louis Vuitton เตรียมจัดแฟชั่นโชว์ Spin-off ระดับโลกที่กรุงเทพฯ 1 มิ.ย. นี้ สำหรับคอลเล็กชันสุดท้ายของ Virgil Abloh". THE STANDARD. 2022-05-23.
  40. ไอคอนสยาม จัดอาร์ต สเปซ ชั้น 8 เป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีน
  41. ไอคอนสยาม ผนึงกำลังกับ โรงพยาบาลศิริราช สนับสนุนภารกิจแห่งชาติ เปิดพื้นที่บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ประเดิมฉีดวันแรก 7 มิ.ย. ศกนี้ ท่ามกลางทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา
  42. https://www.youtube.com/watch?v=czP2w-P-dsw
  43. http://skyscraperpage.com/diagrams/?countryID=129
  44. Sudprasert, Prudtinan (2022-10-17). "ไอคอนสยาม ดึงศิริราช เข้าห้าง ICS เปิดศูนย์บริการสุขภาพปีหน้า". ประชาชาติธุรกิจ.
  45. "ICS ผนึก "แพทยศาสตร์ศิริราชฯ" ผุดศูนย์สุขภาพฯเชิงรุกเติมเต็มมิกซ์ยูส". mgronline.com. 2022-10-17.
  46. "ไอคอนสยามเปิด ICS มิกซ์ยูสปลายปี". mgronline.com. 2022-07-21.
  47. "รวม 5 โครงการพาณิชย์ ห้าง-โรงแรม-ออฟฟิศ สร้างเสร็จปี 2566 ว่าที่ "แลนด์มาร์ก" ใหม่". Positioning Magazine. 2022-12-28. สืบค้นเมื่อ 2023-01-05.
  48. "เตรียมเปิด "โครงการ ICS" มิกซ์ยูสใหม่ย่านฝั่งธนฯ 11 ม.ค. '66 พร้อมเผยโฉม "Lotus's PRIVÉ" ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียมโมเดลใหม่จากโลตัส". Marketing Oops! (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-01-08.
  49. "ICS เดินหน้าเฟสสอง รับเศรษฐกิจฟื้น ยกขบวนร้านดังตอบโจทย์ครบทุกไลฟ์สไตล์ลูกค้า ร้านอาหาร สินค้าไอที แฟชั่น สุขภาพ และเครื่องสำอาง [ADVERTORIAL]". เดอะสแตนดาร์ด. 12 เมษายน 2023. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  50. "ศิริราชผนึกไอซีเอส เปิดตัว SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์สุขภาพนอกโรงพยาบาล". ประชาชาติธุรกิจ. 20 กรกฎาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  51. @hiltongardeninnbangkok (15 กันยายน 2024). "𝙒𝙚'𝙧𝙚 𝙊𝙥𝙚𝙣 𝙖𝙣𝙙 𝙍𝙚𝙖𝙙𝙮 𝙩𝙤 𝙒𝙚𝙡𝙘𝙤𝙢𝙚 𝙔𝙤𝙪!!" (ภาษาอังกฤษ). Hilton Garden Inn Bangkok Riverside. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2024 – โดยทาง อินสตาแกรม.
  52. SUPERPARK "ซุปเปอร์พาร์ค" สวนสนุกในร่มสุดฮิตจากฟินแลนด์ เตรียมเปิดตัวที่ไอคอนสยาม พ.ย. นี้
  53. Finnish SuperPark debuts in Iconsiam
  54. แจ้งปิดปรับปรุง Super Park Thailand
  55. SuperPark Thailand สวนสนุกในร่ม ปิดถาวร ‘ไอคอนสยาม’ แจ้งลูกค้า ติดต่อผู้ประกอบการโดยตรง
  56. 'SuperPark Thailand'ปิดตัวถาวร ลูกค้าแห่ทวงเงินคืน
  57. "World Retail Awards 2019 Winners". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2020-05-12.
  58. Prix Versailles | 2019 Continental Awards South Asia and the Pacific
  59. Asia Pacific Shopping Center Awards 2019
  60. MAPIC Awards 2019 winners
  61. MIPIM Awards 2021 Finalists
  62. Cathay Members’ Choice Awards 2024: Asia’s most innovative shopping experience
  63. เปิด‘เรือสำเภาศรีมหาสมุทร’ พิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกเจ้าพระยา น้อมรำลึกพระเจ้าตาก ที่ไอคอนสยาม, เว็บไซต์:https://www.thaipost.net/ .วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
  64. ชฎาทิพ จูตระกูล นับถอยหลัง “ไอคอนสยาม” ไม่มีวันกลับไปทำศูนย์แบบเดิมอีกแล้ว
  65. "ไอคอนสยาม"ริมฝั่งเจ้าพระยา มูลค่าการลงทุนรวม 5หมื่นลบ.เสร็จปี 2560
  66. ผุดรถไฟฟ้าสายสีทอง 2 พันล้าน ไอคอนสยามทุ่มเชื่อมบีทีเอส
  67. ""ไอคอนสยาม" อภิมหาโครงการเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา "Next Global Destination" ด้วย 7 สิงมหัศจรรย์นำเอกลักษณ์ไทยสู่เวทีโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-26. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
  68. รวมสายรถเมล์ไป"ไอคอนสยาม"
  69. "อึ้ง! ยามห้างดัง ง้างมือตบหน้า นศ.สาว ถือป้ายแสดงออก ทางการเมือง". ข่าวสด. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  70. "Iconsiam guard accused of slapping student protester but guess which was taken to police? | Coconuts Bangkok". Coconuts. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  71. "'ไอคอนสยาม' แจง สั่งสอบ จนท.รักษาความปลอดภัย ผิดจริงสั่งลงโทษ". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  72. "ยุติชุมนุมหน้า "ไอคอนสยาม" หลังผู้บริหาร - รปภ.ขอโทษ". Thai PBS. 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  73. ""ไอคอนสยาม" แจง รปภ.ระงับเหตุ "สาวชูป้าย" ทำผิดกฎระเบียบ ลาออกแล้ว". ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 21 January 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า ไอคอนสยาม ถัดไป
คิง เพาเวอร์ มหานคร
อาคารที่สูงที่สุดในไทย
(แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส)

(พ.ศ. 2561 – ปัจจุบัน)
-