วัดทองธรรมชาติวรวิหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก วัดทองธรรมชาติ)
วัดทองธรรมชาติวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดทองธรรมชาติ
ที่ตั้งเลขที่ 141 ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชินชาติ มาศธรรมคุณ
เจ้าอาวาสพระราชธรรมมุนี (ทองสุข สุขธมฺโม ป.ธ.๕ ,ดร.)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดทองธรรมชาติวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน 16.5 ตารางวา เดิมเรียกชื่อ วัดทองบน เนื่องจากบริเวณนั้นมีวัดทองตั้งอยู่ใกล้กัน 2 แห่ง อีกแห่งคือวัดทองล่างหรือวัดทองนพคุณ[1]

ประวัติ[แก้]

วัดทองธรรมชาติวรวิหารเดิมตั้งขึ้นเป็นวัดราษฎร์ ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่า อาจสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประมาณ พ.ศ. 2330 พระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ ทรงมีพระศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างอุโบสถ วิหาร และเสนาสนะวัดทองบนขึ้นใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักลง จนมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เป็นแม่กองสานต่อการปฏิสังขรณ์วัดจนเสร็จสมบูรณ์ และได้พระราชทานชื่อวัดว่า "วัดทองธรรมชาติ"

วัดทองธรรมชาติวรวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2520[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานนามว่า พระพุทธชินชาติ มาศธรรมคุณ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพไตรภูมิ และในส่วนฝาผนังตรงข้ามพระประธานเป็นภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ ส่วนด้านข้างของพระอุโบสถก็เป็นภาพเทพชุมนุมและภาพพุทธประวัติ[3]

ในพระวิหารมีระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยจำนวน 10 องค์ ประดิษฐานบนแท่นชุกชี ในพระวิหาร มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์ และมีองค์เล็กกว่าตั้งลดหลั่นลงมาอีก 3 แถว มีลักษณะอย่างเดียวกันทุกองค์

กุฏิสงฆ์ของวัดสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอระฆัง 3 ชั้น รูปร่างคล้ายป้อมฝรั่ง และมีศาลาโถงสร้างไว้ตรงมุมกำแพงแก้วทั้ง 4 มุม

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดทองธรรมชาติ". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
  2. "การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดทองธรรมชาติวรวิหาร".
  3. "เที่ยว-กินริมน้ำ ชมภาพจิตรกรรมฝาผนัง 2 วัดทอง ที่ "คลองสาน"". ผู้จัดการออนไลน์. 16 พฤษภาคม 2557.