แม็คโคร (ประเทศไทย)
แม็คโคร สาขาปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2565 | |
ชื่อเดิม | บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 |
---|---|
ประเภท | บริษัทมหาชนจำกัด |
การซื้อขาย | SET:CPAXT |
อุตสาหกรรม | บริการ |
ก่อตั้ง | 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) |
สำนักงานใหญ่ | 1468 ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร [1] |
พื้นที่ให้บริการ | ไทย จีน เมียนมาร์ อินเดีย กัมพูชา |
บุคลากรหลัก |
|
บริการ | การพาณิชย์ |
เว็บไซต์ | http://www.siammakro.co.th |
บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: CP Axtra) เดิมชื่อ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: Siam Makro) เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการประกอบธุรกิจการค้าส่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักของบริษัทฯ คือ การดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภค และบริโภค แบบชำระด้วยเงินสดและบริการตนเอง โดยจดทะเบียนภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” เปิดให้บริการสาขาแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2532 บนถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)[2]
ประวัติ
[แก้]ในช่วงปี พ.ศ. 2530 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ริเริ่มแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของซีพีตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิตสินค้าทางการเกษตร กลางน้ำ คือการจัดจำหน่าย ไปจนถึงปลายน้ำ คือการสร้างร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าของบริษัทไปสู่ผู้บริโภค[3] จึงเกิดการศึกษาความเป็นไปได้จนได้ข้อสรุปเป็นการประกอบธุรกิจ 3 ประการ คือ แม็คโคร ซันนี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซเว่น อีเลฟเว่น[4] โดยแม็คโครได้เกิดขึ้นจากการที่ซีพีชักชวนบริษัทเอสฮาเฟโฮลดิงส์ บริษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่เป็นตัวกลางดำเนินแผนการธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่[5] ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการแม็คโครสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาทำร่วมทุนเปิดแม็คโครในประเทศไทย ในขณะที่แม็คโครกำลังรุกเข้ามาทำธุรกิจในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อทำธุรกิจร่วมกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 และจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ในนามบริษัท เอเซีย แม็คโคร จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท[6] โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 51[7] เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชําระเงินสดและบริการตนเอง (Cash & Carry)[8] ภายใต้ชื่อ แม็คโคร โดยมีเป้าหมายลูกค้าคือ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2532 แล้วจึงเปิดให้บริการสาขาแรก ซึ่งยังเป็นสาขาแรกในทวีปเอเชียบนถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วยพื้นที่ขาย 11,566 ตารางเมตร ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2532[6] แม็คโคร ทำหน้าที่เสมือนศูนย์กลางการนำสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่ายให้ผู้ประกอบการ ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าโครงสร้างตลาดแบบเดิมที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายชั้น[9]
ในปี พ.ศ. 2533 แม็คโคร ได้เปิดสามสาขาที่ แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ และบางบอน เพื่อให้ครบพื้นที่สี่มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร และยังได้ร่วมกับผู้ถือหุ้นเปิดบริษัท แม็คโคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 235 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้บริษัทเช่าสำหรับเปิดสาขา ในเดือนมิถุนายน แม็คโคร ยังได้เริ่มต้นจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของตนเอง เช่น Makpak Makon M&K เป็นต้น[6] ในปี พ.ศ. 2536 แม็คโคร ยังได้ขยายสาขาสู่ภูมิภาคเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่า "บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)" ทะเบียนเลขที่ บมจ.299 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 แม็คโคร ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,400 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีหุ้นสามัญจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 4,800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท[10] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 แม็คโคร ได้เปิดศูนย์บริการรถยนต์ แม็คโคร ออโต เอ็กซ์เพรส เป็นแห่งแรกที่สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นศูนย์บริการเปลี่ยนอุปกรณ์รถยนต์อย่างเร่งด่วน และได้เปิดศูนย์เครื่องใช้สำนักงานแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์เป็นแห่งแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานขายเครื่องใช้สำนักงาน และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานให้แก่ลูกค้าทั่วไป โดยจะเป็นร้านที่แยกออกมาจากสาขาใหญ่ของแม็คโคร ในปี พ.ศ. 2540 ทั้งสองธุรกิจได้พัฒนาขึ้นจนได้ดำเนินการเป็นเอกเทศในรูปบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาททั้งสองบริษัท[6]
หลังการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นร้อยละ 75 ของโลตัส ให้กับกลุ่มเทสโก้ เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ เพื่อให้รักษาธุรกิจหลักคือ การเกษตรให้ได้ แต่แล้วซีพีก็จำเป็นที่ต้องเลือกขายหุ้นของสยามแม็คโครโดยส่วนใหญ่ เพราะการขายโลตัสยังคืนหนี้ได้ไม่หมด ซึ่งหากคืนหนี้ได้ไม่หมดซีพีจะล้มละลายไปด้วย[11][12] และใน พ.ศ. 2564 ซีพีออลล์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของแม็คโคร ได้แจ้งโอนกิจการ โลตัส ให้กับแม็คโครทั้งหมด พร้อมกับปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นแม็คโครใหม่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ซีพี ออลล์ถือหุ้นใหญ่ เป็นให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด มาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก จากกระบวนการดังกล่าวทำให้แม็คโครกลายเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีก และยังช่วยให้แม็คโครและโลตัสสามารถบริหารงานกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น เป็นการลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มซีพีจากการที่กลุ่มมีแผนนำโลตัสเข้าตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของสยามแม็คโคร ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อหุ้นของซีพี ออลล์ พร้อม ๆ กันในคราวเดียว
ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 แม็คโครได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นชื่อ Makro PRO เพื่อสร้างมิติใหม่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดพื้นที่ขายให้เอสเอ็มอีรายใหม่ ๆ ได้เข้ามาร่วมมีโอกาสเติบโตร่วมไปกับแม็คโครอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว ญาญ่า–อุรัสยา เสปอร์บันด์ เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของแอพพลิเคชั่น[13]
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการของสยามแม็คโครได้บรรจุวาระการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราประทับ และเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น CPAXT ให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันที่ 20 เมษายน เนื่องจากการใช้แม็คโครอาจจะทำให้เกิดความสับสนในธุรกิจของทั้งแม็คโคร และโลตัส[14] ทั้งนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ยังคงใช้ตราสินค้า "แม็คโคร" และ "โลตัส" สำหรับธุรกิจของบริษัทเช่นเดิม[15] อีกหนึ่งปีถัดจากนั้นซีพี ออลล์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซีพีแอ็กซ์ตร้าได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ซีพีแอ็กซ์ตร้าจะรับโอนกิจการทั้งหมดของโลตัสในประเทศไทย จากนั้นจะควบรวมกับ บจก. เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการโลตัส เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่[16]
การประกอบธุรกิจ
[แก้]การประกอบธุรกิจแบ่งได้ดังนี้
- ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร : เป็นธุรกิจหลักของบริษัท คือการดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท นอกจากสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปแล้ว บริษัทยังมีการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองด้วย [17]
- ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น : ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น พร้อมบริการด้านจัดเก็บและจัดส่งโดยบริษัท สยามฟูด เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สยามแม็คโครถือหุ้นร้อยละ 99.9 โดยบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูง พร้อมบริการจัดส่ง รวมถึงให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงแรมและการบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (“โฮเรก้า”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ให้บริการอาหารจานด่วน กลุ่มภัตตาคารและโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ในเขตกรุงเทพมหานครและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ[17]
- ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าโลตัส : เป็นธุรกิจรองของบริษัท คือการดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ "โลตัส" และ "โลตัส โกเฟรช" ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และในมาเลเซีย
- แม็คโครออนไลน์ : เป็นธุรกิจช้อปออนไลน์ E-Commerce ภายใต้ชื่อ “www.makroclick.com” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมสินค้าโปรโมชั่นราคาพิเศษที่สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ [18]
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
[แก้]- ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 [19]
ลำดับที่ | รายชื่อผู้ถือหุ้น | จำนวนหุ้นสามัญ | สัดส่วนการถือหุ้น |
1 | บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) | 3,831,728,100 | 39.06% |
2 | บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด | 2,640,302,800 | 26.91% |
3 | บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด | 2,004,129,400 | 20.43% |
4 | บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด | 1,002,064,700 | 10.21% |
5 | กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว | 24,271,000 | 0.25% |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 รายละเอียดบริษัท/หลักทรัพย์เซ็ทเทรดดอตคอม
- ↑ 'แม็คโคร' ยันใช้แบรนด์เดิม แม้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น 'CP Axtra' เผยแนวโน้มดำเนินงานปี’66 ข่าวสด (ออนไลน์) เผยแพร่ และสืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
- ↑ 5 จุดเปลี่ยนเซเว่น อีเลฟเว่น ก่อนที่จะเป็นเบอร์ 1 แบบแกร่งทั่วแผ่น Brand Age Online เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดย R.Somboon สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ ถอดกรณีศึกษา “ซีพีแรม” กับบทบาทเติมเต็ม “ปลายน้ำ” ของค้าปลีกกลุ่มซีพี 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดย CP E-News สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ ซีพี …ขยับแผนค้าปลีก เขียนเมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2565 โดยวิรัตน์ แสงทองคำ มติชนสุดสัปดาห์สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2541
- ↑ จากอดีตสู่อนาคต “สยามแม็คโคร” ในร่มเงา ซีพี เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2557 สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) (แบบ 56-1)
- ↑ [bangkokbiznews.com/business/501961 'แม็คโคร'ในมือ'ซีพีออลล์'ขุมพลังครือข่าย] เขียนเมื่อ 24 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยกรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ รายงานประจำปี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (แบบ 56-2)
- ↑ เจ้าสัวธนินท์ ยกเคส “ต้มยำกุ้ง” แนะคาถาฝ่าวิกฤตมืดแปดด้าน เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยประชาชาติธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ ถอดคมคิดธุรกิจและการใช้ชีวิตของ “เจ้าสัวธนินท์” สู่ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” หนังสือที่เจ้าสัวใช้เวลาเขียนถึง 8 ปี เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยบรรเจิดลักษณ์ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
- ↑ แม็คโคร พลิกโฉมธุรกิจเปิดตัวแอป“Makro PRO” ดึง'ญาญ่า'เป็นพรีเซ็นเตอร์
- ↑ "MAKRO เปลี่ยนชื่อเป็น "ซีพี แอ็กซ์ตร้า" ชื่อหุ้น CPAXT". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2023-02-21.
{{cite news}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "แม็คโครเปลี่ยนชื่อเป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า รวมทั้งชื่อหลักทรัพย์". 2023-02-21.
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2024-02-15). "CPAXT ซีนเนอร์ยีกลุ่ม ควบรวม"เอก-ชัยฯ"ตั้งบริษัทใหม่ หลังรับโอนโลตัสส์". thansettakij.
- ↑ 17.0 17.1 การประกอบธุรกิจของแต่ละสายผลิตภัณฑ์แบบรายงาน56-1 สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประจำปี :2555
- ↑ [https://www.makroclick.com
- ↑ http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=MAKRO&ssoPageId=6&language=th&country=TH