สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
(เรียงตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากภาพบนสุด
| |||||||||
| |||||||||
คู่สงคราม | |||||||||
|
ฝ่ายมหาอำนาจกลาง: | ||||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||||
|
| ||||||||
กำลัง | |||||||||
[1]
12,000,000 คน 8,660,000 คน[4] |
[1]
13,250,000 คน | ||||||||
ความสูญเสีย | |||||||||
เสียชีวิต : 5,525,000 คน บาดเจ็บ : 12,831,500 คน สูญหาย : 4,121,000 คน รวม : 22,477,500 คน |
เสียชีวิต : 4,386,000 คน บาดเจ็บ : 8,388,000 คน สูญหาย : 3,629,000 คน รวม : 16,403,000 คน |
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I)[a] เป็นสงครามโลกที่กินเวลาตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่างสองขั้วมหาอำนาจพันธมิตร ได้แก่ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยการต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายดำเนินขึ้นในทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา แปซิฟิก และพื้นที่บางส่วนของทวีปเอเชีย เป็นหนึ่งในสงครามที่มีความสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนทหารที่เสียชีวิต 9 ล้านนาย และบาดเจ็บ 23 ล้านนาย รวมทั้งพลเรือนที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นอีก 5 ล้านคน ในช่วงสงครามมีการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีกหลายล้านคน และสงครามยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดทั่วของไข้หวัดใหญ่สเปน
ความตึงเครียดทางการทูตที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาอำนาจยุโรปถึงจุดแตกหักเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 เมื่อกัฟรีโล ปรินซีป ชาวเซิร์บบอสเนียลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันทซ์ แฟรีดีนันท์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมองว่าเซอร์เบียต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวและประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม รัสเซียเข้าให้การช่วยเหลือเซอร์เบีย และในวันที่ 4 สิงหาคม เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรเข้าร่วมสงคราม เช่นเดียวกับจักรวรรดิออตโตมันที่เข้าร่วมสงครามในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน กลยุทธ์การรบของเยอรมนีใน ค.ศ. 1914 คือการพิชิตฝรั่งเศสได้สำเร็จชาติแรก จากนั้นจึงย้ายกองกำลังไปยังแนวรบด้านรัสเซีย อย่างไรก็ตาม แผนการนี้กลับล้มเหลว และในช่วงปลาย ค.ศ. 1914 แนวรบด้านตะวันตกจึงกลายเป็นสมรภูมิสนามเพลาะที่ลากยาวจากช่องแคบอังกฤษถึงสวิตเซอร์แลนด์ กลับกันที่แนวรบด้านตะวันออกซึ่งการรบมีความคืบหน้ามากกว่า แต่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถสร้างความได้เปรียบได้อย่างเด็ดขาด แม้ว่าการรุกจะมีความก้าวหน้า เมื่อสงครามเริ่มขยายไปสู่แนวรบด้านอื่นมากขึ้น บัลแกเรีย โรมาเนีย กรีซ อิตาลี และชาติต่าง ๆ ได้เข้าร่วมสงครามตั้งแต่ ค.ศ. 1915 เป็นต้นมา
ในช่วงต้น ค.ศ. 1917 สหรัฐเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร และต่อมาในปีเดียวกัน บอลเชวิคเถลิงอำนาจในรัสเซียระหว่างการปฏิวัติเดือนตุลาคม เป็นเหตุให้ประเทศเจรจาสงบศึกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อช่วงต้น ค.ศ. 1918 จากนั้นเยอรมนีได้เปิดการรุกในด้านตะวันตกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 และถึงแม้ว่าการรุกจะประสบผลสำเร็จเบื้องต้น แต่ก็สร้างความอ่อนล้าและความขวัญเสียแก่กองทัพเยอรมันเป็นอย่างมาก จากความสำเร็จของการรุกตอบโต้โดยฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมาส่งผลให้แนวรบเยอรมันแตกพ่าย ในช่วลปลาย ค.ศ. 1918 บัลแกเรีย จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการียินยอมเจรจาสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร ปล่อยให้เยอรมนีอยู่โดดเดี่ยวในสงคราม ซึ่งต้องเผชิญกับการปฏิวัติภายในประเทศและความพยายามก่อกบฏของกองทัพ ทำให้ท้ายที่สุดจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน
การรบยุติลงจากการสงบศึก 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 และต่อมาการเจรจาสันติภาพปารีสได้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้กับผู้พ่ายแพ้ โดยที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดคือสนธิสัญญาแวร์ซาย การล่มสลายของจักรวรรดิใหญ่อย่างรัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และออตโตมันทำให้เกิดรัฐเอกราชใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย อันประกอบด้วยโปแลนด์ ฟินแลนด์ เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย ซึ่งจากการไร้ความสามารถในการจัดการความไม่มั่นคงภายหลังสงคราม มีส่วนทำให้เกิดการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนกันยายน ค.ศ. 1939
ชื่อ
[แก้]คำว่า"สงครามโลก" ถูกใช้ครั้งแรกในเดือนกันยายน ค.ศ. 1914 โดยนักชีววิทยาและนักปรัชญาชาวเยอรมัน แอร์นสท์ เฮคเคิล ผู้กล่าวอ้างว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลักสูตรและลักษณะของ'สงครามในยุโรป'ที่น่ากลัว ... จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งแรกตามความหมายของคำนี้" ตามการอ้างอิงจากรายงานบริการโทรเลขในหนังสือพิมพ์อินเดียนาโพลิส สตาร์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1914
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1914 - 1918 เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อว่า มหาสงคราม หรือเรียกอย่างง่าย ๆ ว่า สงครามโลก[5][6] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1914 นิตยสารแคนาดาที่มีชื่อว่า แมคลีนส์ ได้เขียนไว้ว่า "บางครั้งสงครามต่าง ๆ ได้ตั้งชื่อเป็นของตัวเอง นี่คือมหาสงคราม"[7] ชาวยุโรปในยุคเดียวกันยังได้เรียกว่า "สงครามเพื่อยุติสงคราม" หรือ "สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งหมด" เนื่องจากการรับรู้ถึงขนาดและการทำล้ายล้างที่ไม่ใครเปรียบเทียบได้ในขณะนั้น[8] ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1939 คำดัวกล่าวได้กลายเป็นมาตรฐานมากขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิบริติช รวมทั้งชาวแคนาดา ที่นิยมใช้คำเรียกว่า "สงครามโลกครั้งแรก" และ"สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง" ของชาวอเมริกัน[9]
ภูมิหลังแห่งสงคราม
[แก้]พันธมิตรทางการเมืองและการทหาร
[แก้]ในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศมหาอำนาจที่สำคัญในทวีปยุโรปได้พยายามจะรักษาสมดุลแห่งอำนาจระหว่างกันเองส่งผลให้เครือข่ายพันธมิตรทางการเมืองและการทหารนั้นมีความซับซ้อน[10] ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการถอนตัวของบริติชจนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า การแยกตัวอย่างสง่างาม การเสื่อมถอยของจักรวรรดิออตโตมัน และการเถลิงอำนาจของปรัสเซียในช่วงหลังปี ค.ศ. 1848 ภายใต้การนำโดยอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค ชัยชนะในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ปี ค.ศ. 1866 ได้สถาปนาให้ปรัสเซียใช้อำนาจครอบงำในเยอรมนี ในขณะที่ชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ปี ค.ศ. 1870 - 1871 ได้รวมรัฐเยอรมันต่าง ๆ มาเป็นไรช์เยอรมันภายใต้การนำของปรัสเซีย ความต้องการแก้แค้นของฝรั่งเศสที่มีต่อความพ่ายแพ้ในปี ค.ศ. 1871 ที่เรียกกันว่า ลัทธิการแก้แค้น และการเข้ายึดอาลซัส-ลอแรนกลับคืนมากลายเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายฝรั่งเศสในอีกสี่สิบปีข้างหน้า(ดูที่ ฝรั่งเศส-เยอรมันเป็นศัตรูกัน)[11]
ในปี ค.ศ. 1873 เพื่อแบ่งแยกฝรั่งเศสและหลีกเลี่ยงสงครามในสองแนวรบ บิสมาร์คได้เจรจากับสันนิบาตสามจักรพรรดิ(German: Dreikaiserbund) ระหว่างออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย และเยอรมนี สิ่งที่เกี่ยวข้องกับชัยชนะของรัสเซียในสงครามปรัสเซีย-ตุรกี ปี ค.ศ. 1877-1878 และมีอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่าน สันนิบาตจึงถูกยุบในปี ค.ศ. 1878 ด้วยเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้ก่อตั้งทวิพันธมิตรในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1879 สิ่งนี้ได้กลายเป็นไตรพันธมิตร เมื่ออิตาลีเข้าร่วมในปี ค.ศ. 1882[12][13]
รายละเอียดในทางปฏิบัติของพันธมิตรเหล่านี้มีจำกัด เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของพวกเขาคือเพื่อให้แน่ใจว่ามีการร่วมมือกันระหว่างสามมหาอำนาจจักรวรรดิและเพื่อแบ่งแยกฝรั่งเศส ความพยายามของบริติชในปี ค.ศ. 1880 เพื่อแก้ไขความตึงเครียดด้านอาณานิคมกับรัสเซียและการเคลื่อนไหวทางการทูตโดยฝรั่งเศสทำให้บิสมาร์คต้องก่อตั้งสันนิบาตขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1881[14] เมื่อสันนิบาตได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1887 มันได้ถูกแทนที่ด้วยสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี ข้อตกลงลับระหว่างเยอรมนีและรัสเซียเพื่อรักษาความเป็นกลาง หากถูกโจมตีโดยฝรั่งเศสหรือออสเตรีย-ฮังการี
ในปี ค.ศ. 1890 จักรพรรดิเยอรมันพระองค์ใหม่ ไคเซอร์ วิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงบีบบังคับให้บิสมาร์คเกษียณราชการและได้รับการโน้มน้าวไม่ต่ออายุสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ลีโอ ฟอน คาพีวิ[15] สิ่งนี้ทำให้ฝรั่งเศสสามารถต่อต้านไตรพันธมิตรด้วยการเป็นพันธมิตรกันของฝรั่งเศส-รัสเซียในปี ค.ศ. 1894 และความตกลงฉันทไมตรีกับบริติช ในขณะที่บริติชและรัสเซียได้ลงนามในอนุสัญญาอังกฤษ-รัสเซีย ปี ค.ศ. 1907 ข้อตกลงนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการ แต่ด้วยการยุติข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณานิคมที่มีมายาวนาน พวกเขาได้ทำให้บริติชได้เข้าสู่ความขัดแย้งในอนาคตที่เกี่ยงข้องกับฝรั่งเศสหรือรัสเซียเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้อตกลงทวิภาคีที่ประสานงานกันเหล่านี้ได้กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ไตรภาคี[16] บริติชได้ให้การสนับสนุนแก่ฝรั่งเศสในการต่อต้านเยอรมนีในช่วงวิกฤตการณ์โมร็อคโกที่สอง ปี ค.ศ. 1911 ได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศ(และกับรัสเซีย) และความบาดหมางระหว่างอังกฤษ-เยอรมันได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งแยกที่เข้มข้นขึ้นในปี ค.ศ. 1914[17]
การแข่งขันทางอาวุธ
[แก้]การสร้างไรช์เยอรมันภายหลังจากชัยชนะในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี ค.ศ. 1871 ได้นำไปสู่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่เพิ่มมากขึ้น พลเรือเอก อัลเฟรท ฟ็อน เทียร์พิทซ์ และวิลเฮ็ล์มที่ 2 ที่กลายเป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1890 ได้พยายามที่จะใช้สิ่งนั้นเพื่อสร้างไคเซอร์ลีเชอมารีเนอหรือกองทัพเรือจักรวรรดิเยอรมันเพื่อแข่งขันกับราชนาวีของบริติชเพื่อแย่งชิงอำนาจสูงสุดทางทะเลของโลก[18] ในการทำเช่นนี้ พวกเขาได้รับอิทธิพลจาก อัลเฟรด เธเออร์ มาฮาน นักยุทธศาสตร์กองทัพเรือสหรัฐ ผู้ที่โต้แย้งว่าการครอบครองน้ำสีฟ้าของกองทัพเรือนั้นมีความสำคัญต่อสิ่งที่วางแผนไว้ในอำนาจทั่วโลก เทียร์พิทซ์ได้แปลหนังสือของเขาเป็นภาษาเยอรมันและวิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงให้พวกเขาได้อ่านมัน[19] อย่างไรก็ตาม มันยังได้รับแรงผลักดันจากการยกย่องของวิลเฮ็ล์มที่ 2 ที่มีต่อราชนาวีและทรงปรารถนาที่จะเอาชนะ[20]
สิ่งนี้ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอาวุธทางเรือของอังกฤษ-เยอรมัน แต่การเปิดตัวของเรือหลวงเดรดนอต ในปี ค.ศ. 1906 ทำให้ราชนาวีมีความได้เปรียบทางเทคโนโลยีเหนือคู่แข่งอย่างเยอรมัน ซึ่งพวกเขาไม่เคยพ่ายแพ้[18] ในท้ายที่สุด การแข่งขันนั้นได้ใช้ทรัพยากรจำนวนมากไปสู่การสร้างกองทัพเรือเยอรมันที่มีขนาดใหญ่ที่มากพอที่จะต่อต้านบริติช แต่ก็ไม่อาจที่จะเอาชนะได้ ในปี ค.ศ. 1911 นายกรัฐมนตรี เทโอบัลท์ ฟ็อน เบทมัน ฮ็อลเวค ได้ยอมรับความพ่ายแพ้ ซึ่งนำไปสู่ Rüstungswende หรือ 'จุดเปลี่ยนอาวุธยุโธปกรณ์' เมื่อเยอรมนีได้เปลี่ยนค่าใช้จ่ายจากกองทัพเรือมาเป็นกองทัพบกแทน[21]
สิ่งนี้ได้รับแรงผลักดันจากการฟื้นฟูของรัสเซียจากการปฏิวัติ ปี ค.ศ. 1905 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเพิ่มการลงทุนในช่วงหลังปี ค.ศ. 1908 ในทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคชายแดนตะวันตก เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีได้อาศัยการระดมพลทหารที่เร็วขึ้นเพื่อชดเชยจำนวนที่มีน้อยลง ด้วยความกังวลในการปิดช่องว่างนี้ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดลงของการแข่งขันทางเรือ แทนที่จะลดความตึงเครียดจากที่อื่น เมื่อเยอรมนีได้ขยายกองทัพบกที่มีจำนวนคงที่คือ 170,000 นาย ในปี ค.ศ. 1913 ฝรั่งเศสได้ขยายการเกณฑ์ทหารจากสองถึงสามปี มาตรการที่มีความคล้ายกันที่ถูกดำเนินการโดยประเทศมหาอำนาจในคาบสมุทรบอลข่านและอิตาลีทำให้ออตโตมันและออสเตรีย-ฮังการีมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนที่สมบูรณ์เป็นสิ่งที่ยากจะคำนวณ เนื่องจากความแตกต่างในการจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่าย ในขณะที่มักจะละเว้นโครงการโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนที่มีการใช้ทางทหาร เช่น ทางรถไฟ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1908 ถึง ปี ค.ศ. 1913 ค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันโดยประเทศมหาอำนาจในยุโรป 6 ประเทศได้เพิ่มขึ้นกว่า 50% ในมุมมองที่แท้จริง[22]
ความขัดแย้งในบอลข่าน
[แก้]ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1908 ออสเตรีย-ฮังการีได้ยุติวิกฤตการณ์บอสเนียในปี ค.ศ. 1908-1909 โดยทำการผนวกอดีตดินแดนของออตโตมันอย่างบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ซึ่งถูกยึดครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1878 สิ่งนี้ทำให้ราชอาณาจักรเซอร์เบียและผู้อุปถัมภ์ กลุ่มลัทธิรวมชาวสลาฟ และกลุ่มนิกายออร์ทอดอกซ์ของจักรวรรดิรัสเซียเกิดความโกรธเกี้ยว บอลข่านได้รับการขนานนามว่า "ถังแป้งแห่งยุโรป"[23] สงครามอิตาลี-ตุรกี ในปี ค.ศ. 1911–1912 เป็นเค้าลางที่สำคัญของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เนื่องจากจุดชนวนลัทธิชาตินิยมในรัฐบอลข่านและปูทางไปสู่สงครามบอลข่าน.[24]
ในปี ค.ศ. 1912 และ 1913 สงครามบอลข่านครั้งที่หนึ่งเป็นการสู้รบระหว่างสันนิบาตบอลข่านและจักรวรรดิออตโตมันที่แตกแยก ส่งผลทำให้เกิดสนธิสัญญาลอนดอนซึ่งทำให้จักรวรรดิออตโตมันได้หดตัวลงไปอีก ทำให้เกิดรัฐแอลเบเนียที่เป็นเอกราช ในขณะที่ได้ขยายการถือครองดินแดนของบัลแกเรีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร และกรีซ เมื่อบัลแกเรียได้เข้าโจมตีเซอร์เบียและกรีซในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1913 เป็นการจุดชนวนของสงครามบอลข่านครั้งที่สองที่กินเวลาเพียง 33 วัน ในช่วงตอนท้ายก็ต้องสูญเสียส่วนใหญ่ของมาซิโดเนียให้กับเซอร์เบียและกรีซ และดอบรูจาใต้ให้กับโรมาเนีย ทำให้ภูมิภาคแห่งนั้นเกิดความสั่นคลอนต่อไป ประเทศมหาอำนาจสามารถที่จะรักษาความขัดแย้งบอลข่านไว้ได้ แต่ครั้งต่อไปจะแพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอื่น ๆ
จุดชนวน
[แก้]การลอบสังหารที่เมืองซาราเยโว
[แก้]เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 อาร์ชดยุก ฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ รัชทายาทสืบทอดราชบังลังก์จักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการี ได้เสด็จเยี่ยมเยียนเมืองหลวงบอสเนียคือ ซาราเยโว กลุ่มมือลอบสังหาร 6 คน (Cvjetko Popović, กัฟรีโล ปรินซีป, Muhamed Mehmedbašić, Nedeljko Čabrinović, Trifko Grabež, และ Vaso Čubrilović) จากกลุ่มเยาวชนบอสเนียของกลุ่มนิยมยูโกสลาเวีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้วยอาวุธโดยกลุ่มแบล็คแฮนด์เซอร์เบีย ได้รวมตัวกันบนท้องถนนที่ขบวนรถพระที่นั่งของอาร์ชดยุกจะผ่านไปโดยมีเป้าหมายที่จะลอบปลงพระชนม์ เป้าหมายทางการเมืองของการลอบสังหารคือเพื่อทำลายจังหวัดสลาฟทางตอนใต้ของออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งออสเตรีย-ฮังการีได้ทำการผนวกดินแดนจากจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อให้พวกเขารวมชาติเป็นยูโกสลาเวีย
Čabrinović ได้โยนระเบิดใส่รถพระที่นั่งแต่กลับพลาด เลยไปถูกฝูงชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงจนได้รับบาดเจ็บกันทั่วหน้า แต่ขบวนรถพระที่นั่งของแฟร์ดีนันท์ยังเดินหน้าต่อไป มือสังหารคนอื่น ๆ ต่างล้มเหลวในการลงมือ ในขณะที่รถพระที่นั่งได้ผ่านพ้นพวกเขาไป
ในประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา เมื่อแฟร์ดีนันท์กำลังเสด็จกลับจากการเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บจากความพยายามลอบปลงพระชนม์ที่โรงพยาบาลในเมืองซาราเยโว ขบวนรถพระที่นั่งได้เลี้ยวผิดทางเข้าสู่ถนนที่ซึ่งปรินซีปยืนอยู่โดยบังเอิญ ปรินซีปจึงชักปืนพกยิงใส่อาร์ชดยุกและดัสเชสโซเฟีย ผู้เป็นพระชายา จนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้สนิทกันเป็นส่วนตัว จักรพรรดิ ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ รู้สึกตกพระทัยและพระโสมนัสอย่างมาก ปฏิกิริยาท่ามกลางประชาชนในออสเตรีย แม้กระนั้นจะเบาบาง แทบจะไม่สนใจแต่อย่างใด ตามที่นักประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า Zbyněk Zeman ได้เขียนไว้ในภายหลังว่า "เหตุการณ์ครั้งนี้แทบจะล้มเหลวในการสร้างความประทับใจแต่อย่างใด ในวันอาทิตย์และวันจันทร์ (28 และ 29 มิถุนายน) ฝูงชนในกรุงเวียนนาได้ฟังเพลงและดื่มไวน์ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น"[27][28] อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางการเมืองของการลอบปลงพระชนม์รัชทายาทนั้นมีความสำคัญและได้รับการอธิบายโดยนักประวัติศาสตร์ที่ชื่อ คริสโตเฟอร์ คลาร์ก ในรายการวิทยุบีบีซี 4 ในหัวเรื่องคือ เดือนแห่งความบ้าคลั่ง คือ เอฟเฟกต์ 9/11 เหตุการณ์การก่อการร้ายที่มีความหมายในประวัติศาสตร์ ได้เปลี่ยนแปลงทางเคมีในกรุงเวียนนา"[29]
การขยายความรุนแรงในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
[แก้]เจ้าหน้าที่ออสเตรีย-ฮังการีได้ให้การสนับสนุนให้เกิดการก่อจลาจลต่อต้านชาวเซิร์บในเมืองซาราเยโวในเวลาต่อมา ซึ่งชาวบอสเนียโครแอต และชาวบอสนีแอกได้สังหารชาวเซิร์บบอสเนีย 2 คน และสร้างความเสียหายให้กับอาคารที่ชาวเซิร์บเป็นเจ้าของ[30][31] การกระทำความรุนแรงต่อเชื้อชาติเซิร์บก็ยังจัดขึ้นนอกเมืองซาราเยโว ในเมืองอื่น ๆ ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย และสโลวีเนีย ที่ถูกควบคุมโดยออสเตรีย-ฮังการี เจ้าหน้าที่ออสเตรีย-ฮังการีในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาได้จำคุกและส่งผู้ร้ายข้ามแดนชาวเซิร์บที่มีความสำคัญจำนวนประมาณ 5,500 คน 700 คน ถึง 2,200 คนได้เสียชีวิตในคุก ชาวเซิร์บอีก 460 คนถูกตัดสินประหารชีวิต มีการจัดตั้งกองทหารอาสาสมัครชาวบอสนิกที่รู้จักกันในชื่อว่า Schutzkorps และทำการประหัตประหารต่อชาวเซิร์บ[32][33][34][35]
วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม
[แก้]การลอบปลงพระชนม์ได้นำไปสู่เดือนของการวางแผนทางการทูตระหว่างออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี รัสเซีย ฝรั่งเศส และบริติช ซึ่งเรียกกันว่า วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม ออสเตรีย-ฮังการีได้เชื่อมั่นว่า เจ้าหน้าที่เซอร์เบีย (โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของแบล็คแฮนด์) มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุก และต้องการยุติการแทรกแซงของเซอร์เบียในบอสเนียในที่สุด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ออสเตรีย-ฮังการีได้ออกแถลงการณ์ในการยื่นคำขาดเดือนกรกฎาคมต่อเซอร์เบีย ข้อเรียกร้อง 10 ประการที่ทำให้ไม่สามารถยอมรับโดยเจตนาในความพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดสงครามกับเซอร์เบีย[36] เซอร์เบียได้ออกคำสั่งให้ระดมพลทหารทั่วไป เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เซอร์เบียได้ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของการยื่นคำขาด ยกเว้นข้อที่ 6 ซึ่งเรียกร้องให้ผู้แทนออสเตรียได้รับอนุญาตในเซอร์เบียเพื่อแสดงเจตจำนงในการมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีการลอบปลงพระชนม์[37] ภายหลังจากนั้น ออสเตรียได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับเซอร์เบียและในวันรุ่งขึ้น ได้ออกคำสั่งให้มีการระดมพลทหารบางส่วน ในที่สุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 หนึ่งเดือนหลังการลอบปลงพระชนม์ ออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบีย
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม รัสเซียในการสนับสนุนเซอร์เบีย ได้ประกาศระดมพลทหารบางส่วนเพื่อต่อต้านออสเตรีย-ฮังการี[38] วันที่ 30 กรกฎาคม รัสเซียได้สั่งระดมพลทหารทั่วไป นายกรัฐมนตรีเยอรมนี Bethmann-Hollweg ได้รอจนถึงวันที่ 31 เพื่อรับคำตอบที่เหมาะสม เมื่อเยอรมันได้ประกาศ Erklärung des Kriegszustandes, หรือ "คำแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานะสงคราม"[39][40] d ไคเซอร์ วิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงขอให้พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ให้ระงับการระดมพลทหารทั้วไปของรัสเซีย เมื่อถูกปฏิเสธ เยอรมนีได้ยื่นคำขาดเรียกร้องให้หยุดการระดมพลทหาร และให้คำมั่นสัญญาที่จะไม่สนับสนุนแก่เซอร์เบีย อีกด้านหนึ่งก็ส่งไปยังฝรั่งเศส เพื่อขอให้ไม่สนับสนุนแก่รัสเซีย หากต้องมาปกป้องเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ภายหลังจากรัสเซียตอบกลับ เยอรมนีได้สั่งระดมพลทหารและประกาศสงครามกับรัสเซีย นอกจากนี้ยังได้นำไปสู่การระดมพลทหารในออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม
รัฐบาลเยอรมนีได้ประกาศข้อเรียกร้องให้ฝรั่งเศสยังคงวางตัวเป็นกลาง ในขณะที่พวกเขาได้ตัดสินใจว่าจะใช้แผนการใดในการปรับใช้ มันยากมากที่จะเปลี่ยนปรับใช้ เมื่อกำลังดำเนินการอยู่ แผนชลีเฟน ของเยอรมันที่ได้รับการแก้ไข Aufmarsch II West จะส่งกำลังทหาร 80% ไปทางตะวันตก ในขณะที่ Aufmarsch I Ost และ Aufmarsch II Ost จะส่งกำลังทหาร 60% ในทางตะวันตกและ 40 % ในทางตะวันออก ฝรั่งเศสไม่ได้ตอบโต้ แต่ส่งข้อความแบบผสมโดยสั่งให้ทหารถอนกำลังออกจากชายแดน 10 กม.(6 ไมล์) เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ใด ๆ และในเวลาเดียวกันก็สั่งระดมพลทหารกำลังสำรองของพวกเขา เยอรมันได้ตอบโต้ด้วยระดมพลทหารกองกำลังสำรองของตนเองและนำไปใช้กับ Aufmarsch II West คณะรัฐมนตรีบริติชได้ตัดสินใจ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญา ปี ค.ศ. 1839 เกี่ยวกับเบลเยียมที่ไม่ได้ถูกบังคับให้ต่อต้านเยอรมันในการบุกครองเบลเยียมด้วยกำลังทหาร[41]
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม วิลเฮล์มทรงมีรับสั่งให้นายพล เฮ็ลมูท ฟ็อน ม็อลท์เคอ ยังเกอร์ "เคลื่อนทั้งกองทัพ...สู่ตะวันออก" ภายหลังจากได้รับรู้ว่าบริติชจะวางตัวเป็นกลาง หากฝรั่งเศสไม่ถูกโจมตี(และอาจจะเป็นไปได้ อำนาจยังอยู่ในกำมือ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ซึ่งต้องคอยยับยั้งวิกฤตการณ์ไอร์แลนด์)[42][43] ม็อลท์เคอได้กราบทูลกับไคเซอร์ว่า ความพยายามที่จะโยกย้ายกำลังคนเป็นล้านนั้นเรื่องที่คาดไม่ถึงและนั่นจะทำให้เป็นไปได้ว่าฝรั่งเศสจะเข้าโจมตีเยอรมันจาก"ทางด้านหลัง" ซึ่งพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นความหายนะ แต่วิลเฮล์มได้ยืนยันว่ากองทัพเยอรมันไม่ควรเคลื่อนทัพเข้าไปยังลักเซมเบิร์กจนกว่าพระองค์จะได้รับโทรเลขจากพระเจ้าจอร์จที่ห้า ลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ ซึ่งทำให้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเป็นความเข้าใจผิด ในที่สุดไคเซอร์ทรงรับสั่งกับม็อลท์เคอว่า "ตอนนี้ ท่านจะสามารถทำสิ่งที่ท่านต้องการได้แล้ว"[44][45]
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เยอรมันเข้ายึดครองลักเซมเบิร์ก และวันที่ 3 สิงหาคม ได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศส ในวันเดียวกัน พวกเขาได้ยื่นคำขาดไปยังรัฐบาลเบลเยียมเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ไม่มีข้อจำกัดสำหรับเส้นทางผ่านส่วนใดส่วนหนึ่งของเบลเยี่ยม ซึ่งถูกปฏิเสธ ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 4 สิงหาคม เยอรมันได้ทำการบุกครอง สมเด็จพระเจ้าอัลแบร์ทรงมีรับสั่งให้ทหารทำการต่อต้านและเรียกร้องขอความช่วยเหลือภายใต้สนธิสัญญาลอนดอน ปี ค.ศ. 1839[46][47][48] บริติชได้เรียกร้องให้เยอรมนีปฏิบัติตามสนธิสัญญาและเคารพความเป็นกลางของเบลเยียม ซึ่งได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีในช่วงวลา 1 ทุ่มของเวลาสากลเชิงพิกัดของวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ทุ่ม) ภายหลังจากที่"ได้รับคำตอบที่ไม่น่าพอใจ"[49]
เส้นทางของสงคราม
[แก้]เปิดฉากความเป็นปรปักษ์
[แก้]ความสับสนภายในฝ่ายมหาอำนาจกลาง
[แก้]ยุทธศาสตร์ของฝ่ายมหาอำนาจกลางเสียหายเพราะความผิดพลาดในการติดต่อสื่อสารกัน เยอรมนีให้คำมั่นสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีในการรุกรานเซอร์เบีย แต่ได้มีการตีความความหมายนี้ผิดไป แผนการจัดวางกำลังซึ่งเคยทดสอบมาแล้วในอดีตถูกเปลี่ยนใหม่ในต้นปี ค.ศ. 1914 แต่ยังไม่เคยทดสอบในทางปฏิบัติ ผู้นำออสเตรีย-ฮังการีเชื่อว่าเยอรมนีจะป้องกันปีกด้านทิศเหนือที่ติดกับรัสเซีย[50] อย่างไรก็ตาม เยอรมนีซึ่งเห็นว่าออสเตรีย-ฮังการีมุ่งส่งกำลังทหารส่วนใหญ่ต่อสู้กับรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีจัดการกับฝรั่งเศส ความสับสนนี้ทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีต้องแบ่งกำลังเพื่อไปประจำทั้งแนวรบรัสเซียและเซอร์เบีย
การทัพเซอร์เบีย
[แก้]ออสเตรียได้บุกครองและต่อสู้รบกับกองทัพเซอร์เบียที่ยุทธการที่เซียร์และยุทธการที่โคลูบารา ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในอีกสองสัปดาห์ต่อมา ฝ่ายโจมตีอย่างออสเตรียได้ถูกผลักดันกลับพร้อมกับความสูญเสียอย่างหนัก ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะที่สำคัญครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามและดับความหวังของออสเตรีย-ฮังการีในการเอาชนะอย่างรวดเร็ว เป็นผลทำให้ ออสเตรียต้องรักษากองกำลังขนาดใหญ่ไว้ในแนวรบเซอร์เบียทำให้ความพยายามในการต่อต้านรัสเซียอ่อนแอลง[51] ความพ่ายแพ้ของเซอร์เบียในการบุกครองของออสเตรีย-ฮังการีในปี ค.ศ. 1914 ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะที่สำคัญที่ทำให้เกิดหัวเสียในศตวรรษที่ยี่สิบ[52] การทัพครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกด้วยการใช้การอพยพทางการแพทย์โดยกองทัพเซอร์เบียในฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 1915 และการทำสงครามต่อต้านอากาศยานในฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 1915 ภายหลังจากเครื่องบินของออสเตรียถูกยิงตกด้วยการยิงจากภาคพื้นดินสู่อากาศ[53][54]
การรุกของเยอรมันในเบลเยียมและฝรั่งเศส
[แก้]เมื่อมีการระดมพลใน ค.ศ. 1914 80% ของกองทัพบกเยอรมันตั้งอยู่บนแนวรบด้านตะวันตก โดยส่วนที่เหลือซึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังป้องกันในด้านตะวันออก ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Aufmarsch II West ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ แผนชลีฟเฟิน ตามชื่อของผู้ก่อตั้งแผน นามว่า อัลเฟรท ฟ็อน ชลีเฟิน หัวหน้าคณะเสนาธิการใหญ่ของเยอรมัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1891 ถึง ค.ศ. 1906 แทนที่จะโจมตีโดยตรงในการข้ามชายแดนร่วมกัน ปีกขวาของเยอรมันจะกวาดผ่านทางเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม จากนั้นเคลื่อนลงทางตอนใต้ โอบล้อมกรุงปารีสและดักล้อมกองทัพฝรั่งเศสไว้กับชายแดนสวิส ชลีเฟินคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาถึงหกสัปดาห์ หลังจากนั้นกองทัพบกเยอรมันจะโยกย้ายไปทางด้านตะวันออกและเอาชนะรัสเซีย[55]
แผนการนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างมากโดยผู้รับช่วงต่อจากเขา เฮ็ลมูท โยฮันเนิส ลูทวิช ฟ็อน ม็อลท์เคอ ภายใต้ชลีฟเฟิน 85% ของกองกำลังเยอรมันในด้านตะวันคกได้รับมอบหมายให้เป็นปีกขวา โดยส่วนที่เหลือยังคงยึดที่มั่นตามแนวชายแดน โดยจงใจให้ปีกซ้ายอ่อนแอ เขาหวังว่าจะหลอกล่อให้ฝรั่งเศสเข้ารุกโจมตี "จังหวัดที่เสียไป" ของอาลซัส-ลอแรน ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้โดยแผนสิบเจ็ด[55] อย่างไรก็ตาม ม็อลท์เคอเริ่มวิตกกังวลว่าฝรั่งเศสอาจจะผลักดันปีกซ้ายแรงเกินไป และเมื่อกองทัพบกเยอรมันได้เพิ่มขนาด ตั้งแต่ ค.ศ. 1908 ถึง ค.ศ. 1914 เขาได้เปลี่ยนแปลงการจัดสรรกำลังระหว่างปีกทั้งสองข้างจาก 85:15 เป็น 70:30[56] นอกจากนี้ เขายังถือว่าความเป็นกลางของดัตซ์ยังมีความจำเป็นต่อการค้าขายของเยอรมัน และยกเลิกการบุกเข้าไปในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งหมายความว่า ความล่าช้าใด ๆ ในเบลเยียมจะเป็นภัยคุกคามต่อการนำไปปฏิบัติจริงของแผนการทั้งหมด[57] นักประวัติศาสตร์นามว่า Richard Holmes ได้ให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้หมายความว่า ปีกขวาไม่แข็งแกร่งพอที่จะบรรลุความสำเร็จอย่างเด็ดขาดและด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่เป้าหมายและเวลาที่ไม่สมจริง[58]
การรุกของเยอรมันช่วงแรกในด้านตะวันตกประสบความสำเร็จอย่างมาก และเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จากไป ซึ่งรวมถึงกองกำลังรบนอกประเทศบริติช(BEF) ได้ล่าถอยอย่างเต็มกำลัง ในเวลาเดียวกัน การรุกของฝรั่งเศสในอาลซัส-ลอแรนเป็นความล้มเหลวอย่างย่อยยับ โดยมีการสูญเสียมากกว่า 260,000 นาย รวมถึงผู้เสียชีวิต 27,000 นาย ในวันที่ 22 สิงหาคม ในช่วงยุทธการชายแดน การวางแผนของเยอรมันได้ให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ปล่อยให้ผู้บัญชาการกองทัพบกมีอิสระอย่างมากในการปฏิบัติการที่แนวหน้า สิ่งนี้ใช้ได้ผลดีใน ค.ศ. 1866 ถึง ค.ศ. 1870 แต่ใน ค.ศ. 1914 ฟ็อน คลัดใช้เสรีภาพในการขัดคำสั่ง เปิดช่องว่างระหว่างกองทัพเยอรมันในขณะที่พวกเขาปิดล้อมกรุงปารีส ฝรั่งเศสและอังกฤษได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างนี้เพื่อหยุดยั้งการรุกของเยอรมันทางตะวันออกของกรุงปารีสในยุทธการมาร์นครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 12 กันยายน และผลักดันกองทัพเยอรมันให้ล่าถอยกลับไปประมาณ 50 กิโลเมตร(31 ไมล์)
ใน ค.ศ. 1911 สตาฟกา(กองบัญชาการทหารสูงสุด)ของรัสเซียได้ตกลงกับฝรั่งเศสที่จะโจมตีเยอรมนีภายในสิบห้าวันของการระดมพล สิบวันก่อนที่เยอรมันจะเตรียมการป้องกันล่วงหน้า แม้ว่าจะหมายถึงสองกองทัพรัสเซียที่กำลังเข้าสู่ปรัสเซียตะวันออก เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม การทำเช่นนั้นโดยปราศจากองค์ประกอบการสนับสนุนมากนัก แม้ว่ากองทัพที่สองของรัสเซียเกือบที่จะถูกทำลายในยุทธการที่ทันเนินแบร์ค เมื่อวันที่ 26 - 30 สิงหาคม การรุกของพวกเขาทำให้เยอรมันต้องเปลี่ยนเส้นทางให้กับกองทัพภาคที่ 8 จากฝรั่งเศสสู่ปรัสเซียตะวันออก ซึ่งเป็นปัจจัยในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมรภูมิมาร์น
ในปลายปี ค.ศ. 1914 กองกำลังทหารเยอรมันได้เข้ายึดตำแหน่งป้องกันที่แข็งแกร่งในฝรั่งเศศ เข้าควบคุมกองถ่านหินภายในประเทศของฝรั่งเศส และทำให้มีการสูญเสียมากกว่า 230,000 คน มากกว่าที่พวกเขาเสียไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการสื่อสารและการตัดสินใจในการสั่งการที่น่าสงสัยทำให้เยอรมนีสูญเสียโอกาศที่จะได้รับผลตัดสินชี้ขาด ในขณะที่เยอรมนีล้มเหลวในการบรรลุวัตถุประสงค์หลักในการหลีกเลี่ยงสองแนวรบที่ยาวนาน ดังที่ผู้นำเยอรมันหลายคนได้เข้าใจอย่างชัดเจน สิ่งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ ไม่นานภายหลังจากสมรภูมิมาร์น เจ้าชายวิลเฮ็ล์ม มกุฎราชกุมารทรงตรัสกับนักข่าวชาวอเมริกันว่า "เราแพ้สงคราม มันจะดำเนินต่อไปเป็นเวลายาวนาน แต่ได้พ่ายแพ้ไปแล้ว"
เอเชียและแปซิฟิก
[แก้]เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1914 นิวซีแลนด์เข้ายึดครองเยอรมันซามัว ปัจจุบันคือรัฐเอกราชแห่งซามัว เมื่อวันที่ 11 กันยายน กองกำลังรบนอกประเทศการทหารและเรือของออสเตรียยกพลขึ้นบกที่เกาะนิวบริเตน จึงเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันนิวกินี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม เรือลาดตระเวนของเยอรมัน SMS Emden จมเรือลาดตระเวนของรัสเซีย Zhemchug ในยุทธนาวีที่ปีนัง ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับเยอรมนีก่อนที่จะเข้ายึดครองดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหมู่เกาะทะเลใต้ในการอาณัติ รวมทั้งท่าเรือตามสนธิสัญญาของเยอรมันบนคาบสมุทรซานตงของจีนที่ชิงเต่า ภายหลังจากที่เวียนนาได้ปฏิเสธที่จะถอนเรือลาดตระเวน SMS Kaiserin Elisabeth ออกจากชิงเต่า ญีปุ่นก็ประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีเช่นกัน และเรือก็ถูกจมลงที่ชิงเต่า ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1914[59] ภายในเวลาไม่กี่เดือน กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้ายึดครองดินแดนของเยอรมันทั้งหมดในมหาสมุทรแปซิฟิก เหลือแค่เพียงการเข้าโจมตีเรือพาณิชย์เพียงลำพังและกองกำลังทหารที่ยืนหยัดสู้รบเพียงไม่กี่แห่งในนิวกินี[60][61]
การทัพแอฟริกา
[แก้]การปะทะกันครั้งแรก ๆ ของสงครามเกิดขึ้นในกองทัพอาณานิคมอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีในแอฟริกา วันที่ 6-7 สิงหาคม กองทัพฝรั่งเศสและอังกฤษรุกรานโตโกแลนด์และแคเมอรูน อันเป็นดินแดนในอารักขาของเยอรมนี วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพเยอรมันในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้โจมตีแอฟริกาใต้ การต่อสู้ประปรายและป่าเถื่อนดำเนินต่อไปกระทั่งสงครามสิ้นสุด กองทัพอาณานิคมเยอรมันในแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี นำโดยพันเอก พอล เอมิล ฟอน เลทโท-วอร์เบค สู้รบในการทัพสงครามกองโจรระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและยอมจำนนสองสัปดาห์หลังสัญญาสงบศึกมีผลใช้บังคับในยุโรป[62]
อินเดียให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร
[แก้]เยอรมนีได้พยายามใช้ลัทธิชาตินิยมอินเดียและอุดมการณ์รวมกลุ่มอิสลามให้เป็นประโยชน์ ได้ยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดการลุกฮือในอินเดีย และส่งคนให้ไปทำภารกิจที่กระตุ้นทำให้อัฟกานิสถานเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามที่บริติชหวาดกลัวต่อการก่อการกำเริบในอินเดีย การปะทุของสงครามได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีและความปรารถนาดีได้หลั่งไหลมาสู่บริติชอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ผู้นำทางการเมืองของอินเดียจากคองเกรสแห่งชาติอินเดียและกลุ่มอื่น ๆ ได้กระตือรือร้นที่จะให้การสนับสนุนต่อการทำสงครามของบริติช เนื่องจากพวกเขาเชื่อกันว่าการให้สนับสนุนที่เข้มแข็งสำหรับความพยายามในการทำสงครามจะเป็นสาเหตุที่อินเดียจะได้รับมอบในการปกครองตนเอง(Indian Home Rule)มากยิ่งขึ้น ในความเป็นจริง กองทัพอินเดียมีจำนวนมากกว่ากองทัพบริติชในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ทหารและคนงานชาวอินเดียประมาณ 1.3 ล้านนาย ซึ่งทำหน้าที่ในยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง ในขณะที่รัฐบาลส่วนกลางและรัฐมหาราชาคอยส่งซับพลายขนาดใหญ่สำหรับอาหาร เงิน และกระสุนอาวุธปืน โดยรวมแล้ว มีทหารจำนวน 140,000 นาย ซึ่งทำหน้าที่ในแนวรบด้านตะวันตกและเกือบ 700,000 นาย ในตะวันออกกลาง จำนวนความสูญเสียของทหารอินเดียทั้งหมดโดยมีผู้เสียชีวิต 47,746 นาย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 65,126 นาย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นมาจากสงคราม เช่นเดียวกับความล้มเหลวของรัฐบาลบริติชในการมอบให้ปกครองตนเองแก่อินเดีย ภายหลังของการสิ้นสุดของการสู้รบ ความท้อแท้และแรงผลักดันก่อให้เกิดการรณรงค์ในการเรียกร้องเอกราชโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำโดยมหาตมา คานธี และคนอื่น ๆ
แนวรบด้านตะวันตก
[แก้]การริเริ่มทำสงครามสนามเพลาะ
[แก้]กลยุทธ์ทางทหารช่วงก่อนสงครามที่เน้นการทำสงครามแบบเปิดโล่งและพลปืนไรเฟิลแต่ละคนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้าสมัย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1914 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการสร้างระบบป้องกันที่แข็งแกร่งซึ่งส่วนใหญ่จะป้องกันการรุกของทหารราบจำนวนมาก เช่น ลวดหนาม ปืนกล และเหนือกว่าสิ่งอื่นใดด้วยปืนใหญ่ที่ทรงพลังยิ่งกว่า ซึ่งได้ครอบงำในสนามรบและทำให้การข้ามพื้นที่แบบเปิดโล่งยากลำบากมากขึ้น[63] ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามดิ้นรนเพื่อพัฒนายุทธวิธีสำหรับการเข้ายึดตำแหน่งฐานที่มั่นโดยปราศจากการเผชิญพบกับการสูญเสียอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เทคโนโลยีได้ริเริ่มผลิตอาวุธสำหรับการรุกขึ้นมาใหม่ ๆ เช่น การทำสงครามแก๊ส และรถถัง[64]
ภายหลังยุทธการที่มาร์นครั้งที่หนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1914 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายเยอรมันต่างพยายามโจมตีขนาบข้างแต่ละฝ่ายซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เป็นหนึ่งในรูปแบบของการฝึกซ้อมรบซึ่งเป็นที่รู้จักกันในเวลาต่อมาคือ "การแข่งขันสู่ทะเล" (Race to the Sea) ในช่วงปลาย ค.ศ. 1914 กองทัพที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์ต่างเผชิญหน้ากันตามแนวของตำแหน่งฐานที่มั่นที่ไม่ขาดสายจากช่องแคบถึงชายแดนสวิส[65] เนืองจากโดยปกติแล้ว เยอรมันสามารถที่จะเลือกจุดที่ยืนได ้ พวกเขามักจะครอบครองอยู่บนพื้นที่สูง นอกจากนี้ สนามเพลาะของพวกเขาค่อนข้างจะสร้างได้ดีกว่า เนื่องจากสนามเพลาะของอังกฤษ-ฝรั่งเศสแต่เดิมมีจุดมุ่งหมาย"ชั่วคราว" และจะต้องใช้ในยามจำเป็นเท่านั้นจนกว่าจะสามารถทลายแนวป้องกันของเยอรมัน[66]
ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามที่จะทำลายหนทางตันโดยใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1915 ในยุทธการที่แม่น้ำอิพร์ครั้งที่สอง เยอรมัน(ละเมิดอนุสัญญากรุงเฮก) ได้ใช้แก๊สคลอรีนเป็นครั้งแรกบนแนวรบด้านตะวันตก ในไม่ช้า แก๊สหลายชนิดได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางโดยทั้งสองฝ่าย และถึงแม้ว่าไม่เคยพิสูจน์ว่า เป็นอาวุธที่นำมาซึ่งชัยชนะอย่างเด็ดขาดในการสู้รบ แก๊สพิษกลายเป็นหนึ่งในความน่าสะพรึงกลัวมากที่สุดและเป็นที่จดจำอย่างดีที่สุดของความหวาดกลัวของสงคราม[67][68]
ความต่อเนื่องของสงครามสนามเพลาะ
[แก้]ทั้งสองฝ่ายได้พิสูจน์ว่าไม่สามารถส่งผลกระทบอย่างเด็ดขาดในอีกสองปีข้างหน้า ตลอดช่วงปี ค.ศ. 1915 - 17 จักรวรรดิบริติชและฝรั่งเศสได้เผชิญกับความสูญเสียมากกว่าเยอรมนี เนื่องจากทั้งจุดยืนทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ทั้งสองฝ่ายเลือก ในทางยุทธศาสตร์ ในขณะที่เยอรมันเข้ารุกโจมตีครั้งใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรได้พยายามหลายครั้งที่จะบุกทะลวงฝ่าแนวรบของเยอรมัน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1916 เยอรมันเข้าโจมตีตำแหน่งป้องกันของฝรั่งเศสที่ยุทธการที่แวร์เดิง ยืดเยื้อจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 เยอรมันได้เปรียบในช่วงแรก ก่อนที่ฝรั่งเศสจะโจมตีตอบโต้กลับจนสามารถผลักดันกลับไปยังใกล้กับจุดเริ่มต้น ความสูญเสียนั้นมีจำนวนมากมายสำหรับฝรั่งเศส แต่เยอรมันกลับนองเลือดอย่างหนักเช่นกัน โดยมีตั้งแต่จำนวน 700,000 นาย ถึง 975,000 นาย การเผชิญประสบความสูญเสียระหว่างสองคู่สงคราม แวร์เดิงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการตัดสินใจอันแน่วแน่และการเสียสละตนเองของฝรั่งเศส[69]
ยุทธการที่แม่น้ำซอมเป็นการรุกของอังกฤษ-ฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1916 วันเปิดฉากของการรุก(1 กรกฎาคม ค.ศ. 1916) เป็นวันแห่งการนองเลือดในประวัติศาสตร์ของกองทัพบกอังกฤษ ซึ่งประสบความสูญเสียจำนวน 57,470 นาย รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต 19,240 นาย ราคาของการรุกแม่น้ำซอมทั้งหมดทำให้กองทัพอังกฤษสูญเสียประมาณ 420,000 นาย ฝรั่งเศสประสบความสูญเสียอีกประมาณ 200,000 คน และเยอรมันประมาณ 500,000 นาย[70] การยิงปืนไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเดียวที่คร่าชีวิต โรคภัยที่เกิดขึ้นในสนามเพลาะเป็นนักฆ่าที่สำคัญต่อทั้งสองฝ่าย สภาพความเป็นอยู่ทำให้เกิดโรคภัยและการติดเชื้อมากมาย เช่น โรคเท้าแช่เย็น(Trench foot) ภาวะหวาดผวาจากกระสุนปืนใหญ่(Shell shock) ตาบอด/แผลไหม้จากแก๊สมัสตาร์ด เหา ไข้สนามเพลาะ(trench fever) Cooties(เหาลำตัว) และไข้หวัดใหญ่สเปน[71][แหล่งอ้างอิงอาจไม่น่าเชื่อถือ]
สงครามทางทะเล
[แก้]เมื่อสงครามเริ่มต้น จักรวรรดิเยอรมันมีเรือลาดตระเวนกระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งเรือบางลำในจำนวนนี้ได้ถูกใช้โจมตีการเดินเรือพาณิชย์ฝ่ายสัมพันธมิตรต่อมา ฝ่ายราชนาวีอังกฤษได้พยายามตามล่าเรือรบเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังอับอายจากความไร้ความสามารถในการคุ้มครองการเดินเรือฝ่ายสัมพันธมิตร ตัวอย่างเช่น เรือลาดตระเวนเบาเยอรมนี เอสเอ็มเอส เอมเดน อันเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือเอเชียตะวันออก ประจำการอยู่ในเมืองท่าชิงเตา ได้ยึดหรือทำลายเรือพ่อค้า 15 ลำ ตลอดจนเรือลาดตระเวนเบารัสเซียและเรือพิฆาตฝรั่งเศสอย่างละลำด้วย อย่างไรก็ตาม กองเรือเอเชียตะวันออกของเยอรมนีส่วนใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะสองลำ เรือลาดตระเวนเบาสองลำ และเรือขนส่งสองลำ ไม่ได้รับคำสั่งให้โจมตีการเดินเรือแต่อย่างใด และกำลังอยู่ระหว่างแล่นกลับเยอรมนีเมื่อกองเรือเผชิญกับเรือรบฝรั่งเศส กองเรือเยอรมัน พร้อมด้วยเรือเดรสเดิน จมเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะได้สองลำในยุทธนาวีโคโรเนล หากกองเรือดังกล่าวเกือบถูกทำลายสิ้นที่ยุทธนาวีหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีเพียงเรือเดรสเดินและเรือเล็กอีกไม่กี่ลำเท่านั้นที่สามารถหลบหนีไปได้[72]
หลังสงครามปะทุไม่นาน อังกฤษก็ได้ทำการปิดล้อมทางทะเลต่อเยอรมนี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เห็นผลแล้วว่ามีประสิทธิภาพ โดยการปิดล้อมได้ตัดเสบียงของทั้งทหารและพลเรือนที่สำคัญของเยอรมนี แม้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวจะเป็นการละเมิดกฎหมายนานาชาติซึ่งได้รับการยอมรับและประมวลขึ้นผ่านความตกลงระหว่างประเทศหลายครั้งในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมาก็ตาม[73] กองทัพเรืออังกฤษยังได้วางทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำสากลเพื่อป้องกันมิให้เรือลำใดออกสู่เขตมหาสมุทร ซึ่งเป็นอันตรายแม้แต่กับเรือของประเทศที่เป็นกลาง[74] และเนื่องจากอังกฤษได้รับปฏิกิริยาจากยุทธวิธีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย เยอรมนีจึงคาดหวังว่าสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตของตนจะได้รับปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยแบบเดียวกัน[75]
ค.ศ. 1916 ยุทธนาวีจัตแลนด์ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นยุทธนาวีครั้งใหญ่ที่สุดในสงคราม และครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นการปะทะกันเต็มอัตราศึกของกองทัพเรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งกินเวลาสองวัน คือ 31 พฤษภาคมและ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1916 ในทะเลเหนือนอกคาบสมุทรจัตแลนด์ กองเรือทะเลหลวงของกองทัพเรือเยอรมัน ภายใต้บังคับบัญชาของพลเรือโทไรนาร์ด เชร์ ประจัญกับกองเรือหลวงของราชนาวีอังกฤษภายใต้การนำของพลเรือเอก เซอร์จอห์น เจลลิโค ผลของยุทธนาวีนี้ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ เมื่อฝ่ายเยอรมันสามารถหลบหนีจากกองเรืออังกฤษที่มีกำลังเหนือกว่า และสร้างความเสียหายแก่กองเรืออังกฤษมากกว่าที่ตนได้รับ แต่ในทางยุทธศาสตร์แล้ว ฝ่ายอังกฤษแสดงสิทธิ์ในการควบคุมทะเล และกองเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ของเยอรมนีถูกกักอยู่แต่ในท่ากระทั่งสงครามยุติ[76]
เรืออูของเยอรมนีพยายามตัดเส้นทางเสบียงระหว่างอเมริกาเหนือกับอังกฤษ[77] ธรรมชาติของสงครามเรือดำน้ำ หมายความว่า การโจมตีมักมาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ทำให้ลูกเรือสินค้ามีหวังรอดชีวิตน้อยมาก[77][78] สหรัฐประท้วง และเยอรมนีเปลี่ยนกฎการปะทะ หลังการจมเรือโดยสาร อาร์เอ็มเอส ลูซิตาเนีย อันฉาวโฉ่ใน ค.ศ. 1915 เยอรมนีสัญญาว่าจะไม่เลือกโจมตีเรือเดินสมุทรอีก ขณะที่อังกฤษติดอาวุธเรือสินค้าของตน และจัดให้อยู่นอกเหนือการคุ้มครองของ "กฎเรือลาดตระเวน" ซึ่งกำหนดให้มีการเตือนภัยและจัดวางลูกเรือไว้ใน "ที่ปลอดภัย" อันเป็นมาตรฐานซึ่งเรือช่วยชีวิตไม่เป็นไปตามนี้[79] จนในที่สุด ต้น ค.ศ. 1917 เยอรมนีปรับใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต เมื่อตระหนักว่าสหรัฐจะเข้าสู่สงครามในที่สุด[77][80] เยอรมนีพยายามจะจำกัดเส้นทางเดินเรือของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนที่สหรัฐจะสามารถขนส่งกองทัพขนาดใหญ่ข้ามทะเล แต่เยอรมนีสามารถใช้เรืออูพิสัยไกลออกปฏิบัติการได้เพียงห้าลำ จึงมีผลจำกัด[77]
ภัยจากเรืออูนั้นเริ่มลดลงใน ค.ศ. 1917 เมื่อเรือพาณิชย์ของอังกฤษเริ่มเดินทางในขบวนเรือคุ้มกัน (convoy) ที่มีเรือพิฆาตนำ ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้เรืออูค้นหาเป้าหมายยาก และทำให้การสูญเสียลดลงอย่างสำคัญ หลังจากเริ่มมีการใช้ไฮโดรโฟนและระเบิดน้ำลึก ทำให้เรือพิฆาตที่เสริมเข้ามาอาจโจมตีเรือดำน้ำที่อยู่ใต้น้ำได้โดยมีหวังสำเร็จอยู่บ้าง ขบวนเรือคุ้มกันดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งเสบียง เพราะเรือต้องรอให้ขบวนเรือคุ้มกันมารวมกันครบก่อน ทางแก้ปัญหาความล่าช้านี้ คือ โครงการอันกว้างขวางในการสร้างเรือขนส่งสินค้าแบบใหม่ ส่วนเรือขนส่งทหารนั้นเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเรือดำน้ำและไม่เดินทางไปกับขบวนเรือคุ้มกันในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ[81] เรืออูจมเรือฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า 5,000 ลำ โดยมีเรือดำน้ำถูกทำลายไป 199 ลำ[82]
เขตสงครามใต้
[แก้]สงครามในบอลข่าน
[แก้]เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถแบ่งกองทัพโจมตีเซอร์เบียได้เพียงหนึ่งในสาม หลังประสบความสูญเสียอย่างหนัก ออสเตรียก็สามารถยึดครองเมืองหลวงเบลเกรดของเซอร์เบียได้ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การตีโต้ตอบของเซอร์เบียในยุทธการคอลูบารา ได้ขับออสเตรียออกจากประเทศเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ในช่วงสิบเดือนแรกของ ค.ศ. 1915 ออสเตรีย-ฮังการีใช้ทหารกองหนุนส่วนใหญ่สู้รบกับอิตาลี แต่ทูตเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีสามารถชักชวนให้บัลแกเรียเข้าร่วมโจมตีเซอร์เบีย จังหวัดสโลวีเนีย โครเอเชียและบอสเนียของออสเตรีย-ฮังการีเป็นพื้นที่จัดเตรียมทหารให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งรุกรานเซอร์เบียเช่นเดียวกับสู้รบกับรัสเซียและอิตาลี มอนเตเนโกรวางตัวเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย[84]
เซอร์เบียถูกยึดครองนานกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย เมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มโจมตีทางเหนือตั้งแต่เดือนตุลาคม อีกสี่วันถัดมา บัลแกเรียร่วมโจมตีจากทางตะวันออก กองทัพเซอร์เบีย ซึ่งสู้รบบนสองแนวรบและแน่นอนว่าต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ ได้ถอยทัพไปยังอัลเบเนีย และหยุดยั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อป้องกันการโจมตีของบัลแกเรีย ชาวเซิร์บประสบความพ่ายแพ้ในยุทธการคอซอวอ มอนเตเนโกรช่วยคุ้มกันการล่าถอยของเซอร์เบียไปยังชายฝั่งเอเดรียติกในยุทธการมอยคอแวทส เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม ค.ศ. 1916 แต่สุดท้ายก็ส่งผลให้ออสเตรียยึดครองมอนเตเนโกรเช่นเดียวกัน กองทัพเซอร์เบียถูกอพยพทางเรือไปยังกรีซ[85]
ปลาย ค.ศ. 1915 กองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษยกพลขึ้นบกที่ซาโลนิกาของกรีซ เพื่อเสนอความช่วยเหลือและกดดันให้รัฐบาลกรีซประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง โชคไม่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อพระมหากษัตริย์กรีกผู้ทรงนิยมเยอรมนี พระเจ้าคอนแสตนตินที่ 1 ทรงปลดรัฐบาลนิยมสัมพันธมิตรของเอเลฟเทริออส เวนิเซลอสพ้นจากตำแหน่ง ก่อนที่กองทัพรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะมาถึง[86] ความร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กรีซและฝ่ายสัมพันธมิตรพอกพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กรีซถูกแบ่งแยกเป็นภูมิภาคซึ่งยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเฉพาะกาลใหม่ของเวนิเซลอสในซาโลนิกา หลังการเจรจาทางการทูตอย่างเข้มข้นและการเผชิญหน้าด้วยอาวุธในกรุงเอเธนส์ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรและฝ่ายนิยมกษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์กรีซต้องสละราชสมบัติ และพระราชโอรสพระองค์ที่สอง อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เวนิเซลอสเดินทางกลับมายังกรุงเอเธนส์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 และกรีซ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง เข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพกรีซทั้งหมดถูกระดมและเริ่มเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางบนแนวรบมาซิโดเนีย
หลังจากถูกยึดครอง เซอร์เบียถูกแบ่งออกระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและบัลแกเรีย ใน ค.ศ. 1917 ชาวเซิร์บได้ก่อการกำเริบโทพลิคาขึ้น และส่งผลให้พื้นที่ระหว่างเทือกเขาโกบาโอนิคและแม่น้ำเซาท์โมราวาถูกปลดปล่อยชั่วคราว แต่การก่อการกำเริบดังกล่าวถูกบดขยี้โดยกองทัพร่วมบัลแกเรียและออสเตรียเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917
แนวรบมาซิโดเนียส่วนใหญ่ไม่มีพัฒนาการ กองทัพเซอร์เบียยึดคืนบางส่วนของมาซิโดเนียโดยยึดบิโตลาคืนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 และเฉพาะเมื่อสงครามใกล้ยุติลงแล้วเท่านั้นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถโจมตีผ่านได้ หลังกองทัพเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีส่วนใหญ่ถอนกำลังออกไปแล้ว กองทัพบัลแกเรียประสบความพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวในสงครามที่ยุทธการโดโบรโพล แต่อีกไม่กี่วันให้หลัง บัลแกเรียก็สามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษและกรีกได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการดอเรียน แต่เพื่อป้องกันการถูกยึดครอง บัลแกเรียได้ลงนามการสงบศึกเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918[87] ฮินเดินบวร์คและลูเดินดอร์ฟสรุปว่าสมดุลทางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเอียงไปข้างฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหนึ่งวันหลังบัลแกเรียออกจากสงคราม ระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยืนยันให้มีการเจรจาสันติภาพในทันที[88]
การหายไปของแนวรบมาซิโดเนียหมายความว่าถนนสู่บูดาเปสต์และเวียนนาเปิดกว้างสำหรับกองทัพขนาดกำลังพล 670,000 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกเฟรนเช เดเปเร เมื่อบัลแกเรียยอมจำนน ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางสูญเสียทหารราบ 278 กองพัน และปืนใหญ่ 1,500 กระบอก ซึ่งเทียบเท่ากับกองพลของเยอรมนีราว 25 ถึง 30 กองพล ซึ่งเคยยึดแนวดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้[89] กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีตัดสินใจส่ง 7 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารม้าไปยังแนวหน้า แต่กำลังเหล่านี้ไม่เพียงพอจะสถาปนาแนวรบขึ้นมาใหม่ได้อีก[89]
จักรวรรดิออตโตมัน
[แก้]จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยได้ลงนามเป็นพันธมิตรออตโตมัน-เยอรมันอย่างลับ ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งได้ภัยคุกคามต่อดินแดนคอเคซัสของรัสเซีย และการติดต่อคมนาคมของอังกฤษกับอินเดียผ่านทางคลองสุเอซ อังกฤษและฝรั่งเศสได้เปิดแนวรบโพ้นทะเลด้วยการทัพกัลลิโพลีและการทัพเมโสโปเตเมีย ที่กัลลิโพลี จักรวรรดิออตโตมันสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสและเหล่ากองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ แต่การณ์กลับตรงกันข้ามในเมโสโปเตเมีย ซึ่งจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้อย่างหายนะจากการล้อมคุท (ค.ศ. 1915-16) กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรวบรวมทัพใหม่และสามารถยึดกรุงแบกแดดได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917
ห่างไปทางตะวันตก คลองสุเอซได้รับการป้องกันอย่างเป็นผลจากการโจมตีของออตโตมันใน ค.ศ. 1915 และ 1916 ในเดือนสิงหาคม กองทัพเยอรมันและออตโตมันพ่ายแพ้ที่ยุทธการโรมานี หลังชัยชนะนี้ กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรุกคืบข้ามคาบสมุทรไซนาย ผลักดันกองทัพออตโตมันให้ถอยกลับไปในยุทธการแมกดาบา (Magdhaba) ในเดือนธันวาคมและยุทธการราฟาตรงชายแดนระหว่างไซนายของอียิปต์และปาเลสไตน์ของออตโตมันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ยุทธการกาซาครั้งแรกและครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันและออตโตมันหยุดการรุกคืบ แต่ในปลายเดือนตุลาคม การทัพไซนายและปาเลสไตน์ดำเนินต่อ เมื่อกองทัพรบนอกประเทศอียิปต์ของอัลเลนบีชนะยุทธการเบียร์เชบา สองกองทัพออตโตมันพ่ายแพ้อีกไม่กี่สัปดาห์ให้หลังที่ยุทธการสันเขามักอาร์ (Maghar Ridge) และต้นเดือนธันวาคม เยรูซาเลมถูกยึดได้หลังกองทัพออตโตมันอีกกองทัพหนึ่งพ่ายแพ้ที่ยุทธการเยรูซาเล็ม พอถึงช่วงนี้ ฟรีดริช ไฟรแฮร์ เครสส์ ฟอน เครสเซนสไตน์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 และแทนที่ด้วย Cevat Çobanlı และอีกไม่กี่เดือนให้หลัง ผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันในปาเลสไตน์ เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ ถูกแทนที่ด้วยออทโท ลีมัน ฟอน ซันเดอร์ส
โดยปกติแล้วกองทัพรัสเซียด้านคอเคซัสเป็นกองทัพที่ดีที่สุด เอนเวอร์ ปาชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออตโตมัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันจะยึดครองเอเชียกลางอีกครั้ง และดินแดนที่เคยเสียให้แก่รัสเซียในอดีต แต่เขาเป็นผู้บัญชาการที่ไม่มีความสามารถ[90] เขาออกคำสั่งโจมตีรัสเซียในคอเคซัสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีกำลังพล 100,000 นาย เขายืนกรานการโจมตีทางด้านหน้าต่อที่ตั้งของรัสเซียที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาในฤดูหนาว ซึ่งทำให้สูญเสียกำลังพลไปถึง 86% ในยุทธการซาริคามิส[91]
ผู้บัญชาการรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1915-1916 พลเอกนิโคไล ยูเดนนิช สามารถขับไล่พวกเติร์กให้ออกไปจากเขตเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ส่วนใหญ่โดยได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 1917 แกรนด์ดยุกนิโคลัสเข้าบัญชาการกองทัพรัสเซียแนวรบคอเคซัส[91] เขาวางแผนสร้างทางรถไฟจากจอร์เจียไปยังดินแดนยึดครอง เพื่อที่ว่ากองทัพรัสเซียจะมีเสบียงเพียงพอในการรุกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 พระเจ้าซาร์ถูกโค่นล้มหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และกองทัพรัสเซียคอเคซัสเริ่มแตกออกจากกัน
ด้วยการยุยงของสำนักอาหรับของสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษ การปฏิวัติอาหรับจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 ด้วย ยุทธการเมกกะ โดย ชารีฟ ฮัสเซน แห่งเมกกะ และจบลงด้วยการยอมจำนนของจักรวรรดิออตโตมันที่ดามัสกัส ฟาครี ปาชา ผู้บัญชาการออตโตมันที่เมดินะ ทำการรบต้านทานเป็นเวลากว่าสองปีครึ่งระหว่างการล้อมเมดินะ[92]
ตามพรมแดนลิเบียของอิตาลีและอียิปต์ของอังกฤษ ชนเผ่าเซนุสซี ซึ่งได้รับการปลุกปั่นยุยงและติดอาวุธโดยพวกเติร์ก ทำสงครามกองโจรขนาดเล็กต่อกองทัพสัมพันธมิตร ฝ่ายอังกฤษถูกบีบให้ต้องแบ่งทหาร 12,000 นายมาต่อสู้ในการทัพเซนุสซี จนกระทั่งกบฏเหล่านี้ถูกบดขยี้ในที่สุดเมื่อกลาง ค.ศ. 1916[93]
การเข้าร่วมของอิตาลี
[แก้]อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1882 โดยเป็นภาคีของไตรพันธมิตร อย่างไรก็ตาม อิตาลีนั้นมีเจตนาของตนบนพื้นที่ของออสเตรียในเตรนตีโน อิสเตรียและดัลมาเทีย อิตาลีได้แอบทำสนธิสัญญาอย่างลับ ๆ กับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นการลบล้างพันธมิตรเก่าอย่างสิ้นเชิง ในตอนต้นของสงคราม อิตาลีปฏิเสธที่จะส่งทำเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยให้เหตุผลว่าไตรพันธมิตรเป็นพันธมิตรป้องกัน แต่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกลับเป็นผู้เปิดฉากสงครามก่อนเสียเอง รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีเริ่มเจรจาเพื่อพยายามจะให้อิตาลีวางตัวเป็นกลางในสงคราม โดยเสนออาณานิคมตูนิเซียของฝรั่งเศสให้เป็นการตอบแทน ซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นข้อเสนอซ้อนโดยสัญญาว่าจะอิตาลีจะได้ไทรอลใต้ จูเลียนมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งดัลมาเทียหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เป็นทางการในสนธิสัญญาลอนดอน หลังถูกกระตุ้นจากการรุกรานตุรกีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 อิตาลีเข้าร่วมกับไตรภาคีและประกาศสงครามต่อออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศสงครามต่อเยอรมนีอีกสิบห้าเดือนให้หลัง
แม้ว่าในทางการทหาร อิตาลีจะมีความเหนือกว่าด้านกำลังพลก็ตาม แต่ข้อได้เปรียบดังกล่าวเสียไป ไม่เพียงแต่มีสาเหตุจากลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อนที่เกิดการสู้รบขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ด้วย จอมพลลุยจิ คาดอร์นา ผู้เสนอการโจมตีทางด้านหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ใฝ่ฝันว่าจะตีเข้าไปสู่ที่ราบสูงสโลวีเนีย ตีเมืองลูบลิยานา และคุกคามกรุงเวียนนา มันเป็นแผนการสมัยนโปเลียน ซึ่งไม่มีโอกาสสำเร็จแท้จริงเลยในยุคของลวดหนาม ปืนกลและการยิงปืนใหญ่ทางอ้อม ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเนินและภูเขา
บนแนวรบเตรนติโน ออสเตรีย-ฮังการีใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับ หลังจากการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในช่วงแรก ส่วนใหญ่แนวรบก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบในระยะประชิดตัวอันขมขื่นตลอดฤดูร้อน ออสเตรีย-ฮังการีตีโต้ตอบที่อัสซิอาโก มุ่งหน้าไปยังเวโรนาและปาดัว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1916 แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1915 กองทัพอิตาลีภายใต้การบังคับบัญชาของคาดอร์นา ได้โจมตีประมาณสิบเอ็ดครั้งบนแนวไอซอนโซตามแนวของแม่น้ำชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตรีเยสเต ซึ่งการโจมตีทั้งหมดก็ถูกขับไล่โดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยึดภูมิประเทศที่สูงกว่า ในฤดูร้อน ค.ศ. 1916 กองทัพอิตาลีสามารถตีเมืองกอร์ริซเซียได้ หากหลังจากชัยชนะย่อยครั้งนี้ แนวรบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี แม้อิตาลีจะโจมตีอีกหลายครั้ง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1917 ทหารออสเตรีย-ฮังการีได้รับกำลังเสริมขนาดใหญ่จากเยอรมนี ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการรุกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1917 โดยมีทหารเยอรมันเป็นหัวหอก ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้รับชัยชนะที่คาปอร์เรตโต กองทัพอิตาลีแตกพ่ายและล่าถอยเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จึงสามารถจัดระเบียบใหม่ได้ และยึดแนวที่แม่น้ำเปียเว และเนื่องจากอิตาลีสูญเสียอย่างหนักในยุทธการคาปอร์เรตโต รัฐบาลอิตาลีจึงสั่งให้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนเข้าประจำการ ใน ค.ศ. 1918 ออสเตรีย-ฮังการีไม่สามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ ในยุทธการหลายครั้งตามแม่น้ำเปียเว และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ราบคาบในยุทธการวิตโตริโอ วีนีโตในเดือนตุลาคมปีนั้น ออสเตรีย-ฮังการียอมจำนนในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918[94][95][96]
การเข้าร่วมของโรมาเนีย
[แก้]โรมาเนียได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1882 อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเริ่มต้น โรมาเนียได้ประกาศตนเป็นกลาง โดยให้เหตุผลว่าออสเตรีย-ฮังการีเองที่เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย และโรมาเนียไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องเข้าสู่สงคราม เมื่อฝ่ายไตรภาคีให้สัญญาว่าจะยกดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกของฮังการี (ทรานซิลเวเนียและบานัต) ซึ่งมีประชากรโรมาเนียขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ให้แก่โรมาเนีย แลกเปลี่ยนกับที่โรมาเนียต้องประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง รัฐบาลโรมาเนียจึงสละความเป็นกลาง และวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1916 กองทัพโรมาเนียได้เปิดฉากโจมตีออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัสเซีย การรุกของโรมาเนียประสบความสำเร็จในช่วงต้น โดยสามารถผลักดันทหารออสเตรีย-ฮังการีในทรานซิลเวเนียออกไปได้ แต่การตีโต้ตอบของฝ่ายมหาอำนาจกลางขับกองทัพรัสเซีย-โรมาเนีย และเสียกรุงบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1916 การสู้รบในมอลโดวาดำเนินต่อไปใน ค.ศ. 1917 ซึ่งจบลงด้วยการคุมเชิงกันที่มีราคาแพงสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลาง[97][98] เมื่อรัสเซียถอนตัวจากสงครามในปลาย ค.ศ. 1917 จากผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โรมาเนียถูกบีบให้ลงนามในการสงบศึกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1917
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 กองทัพโรมาเนียสถาปนาการควบคุมเหนือเบสซาราเบีย เมื่อกองทัพรัสเซียละทิ้งดินแดนดังกล่าว แม้ว่าสนธิสัญญาถูกลงนามโดยรัฐบาลโรมาเนียและบอลเชวิครัสเซียหลังการประชุมระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม ค.ศ. 1918 ที่ให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากเบสซาราเบียภายในสองเดือน วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1918 โรมาเนียผนวกเบสซาราเบียเข้าเป็นดินแดนของตน โดยอาศัยอำนาจอย่างเป็นทางการของมติที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติท้องถิ่นของดินแดนในการรวมเข้ากับโรมาเนีย
โรมาเนียยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว โรมาเนียมีข้อผูกมัดจะยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางและยกดินแดนบางส่วนให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ยุติการควบคุมช่องเขาบางแห่งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและยกสัมปทานน้ำมันแก่เยอรมนี ในการแลกเปลี่ยน ฝ่ายมหาอำนาจกลางจะรับรองเอกราชของโรมาเนียเหนือเบสซาราเบีย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกละทิ้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 และโรมาเนียเข้าสู่สงครามอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 วันรุ่งขึ้น สนธิสัญญาบูคาเรสต์ถูกทำให้เป็นโมฆะตามเงื่อนไขของการสงบศึกที่คองเปียญ[99][100] มีการประเมินว่าชาวโรมาเนียทั้งทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1914 และ 1918 ภายในพรมแดนปัจจุบัน มีถึง 748,000 คน[101]
แนวรบด้านตะวันออก
[แก้]การปฏิบัติขั้นต้น
[แก้]ขณะที่สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันตกยังคุมเชิงกันอยู่ สงครามยังดำเนินต่อไปในแนวรบด้านตะวันออก แผนเดิมของรัสเซียกำหนดให้รุกรานกาลิเซียของออสเตรียและปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนีพร้อมกัน แม้ว่าการรุกขั้นต้นเข้าไปในกาลิเซียของรัสเซียจะประสบความสำเร็จใหญ่หลวง แต่กองทัพที่ส่งไปโจมตีปรัสเซียตะวันออกถูกขับกลับมาโดยฮินเดินบวร์คและลูเดินดอร์ฟที่ทันเนินแบร์คและทะเลสาบมาซูเรียนในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 1914[102][103] ฐานอุตสาหกรรมที่ด้อยพัฒนาของรัสเซียและผู้นำทางทหารที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังนี้ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1915 รัสเซียล่าถอยเข้าไปในกาลิเซีย และในเดือนพฤษภาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางสามารถตีผ่านแนวรบทางใต้ของโปแลนด์ครั้งใหญ่[104] วันที่ 5 สิงหาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางยึดวอร์ซอและบีบให้รัสเซียถอยออกจากโปแลนด์
การปฏิวัติรัสเซีย
[แก้]แม้ความสำเร็จในกาลิเซียตะวันออกระหว่างการรุกบรูซิลอฟเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916[105] แต่ความไม่พอใจกับการชี้นำสู่สงครามของรัฐบาลรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ความสำเร็จถูกบ่นทอนโดยความไม่เต็มใจของนายพลคนอื่นที่ส่งกำลังของตนเข้าไปสนับสนุนให้ได้รับชัยชนะ กองทัพสัมพันธมิตรและรัสเซียฟื้นฟูชั่วคราวเฉพาะเมื่อโรมาเนียเข้าสู่สงครามเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กองทัพเยอรมันเข้าช่วยเหลือกองทัพออสเตรีย-ฮังการีพร้อมรบในทรานซิลเวเนียและบูคาเรสต์เสียให้แก่ฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ขณะเดียวกัน ความไม่สงบเกิดขึ้นในรัสเซีย ระหว่างที่ซาร์ยังคงประทับอยู่ที่แนวหน้า การปกครองอย่างขาดพระปรีชาสามารถของจักรพรรดินีอเล็กซานดรานำไปสู่การประท้วง และการฆาตกรรมคนสนิทของพระนาง รัสปูติน เมื่อปลายปี ค.ศ. 1916
เมื่อเดือนมีนาคม 1917 การชุมนุมประท้วงในเปโตรกราด ลงเอยด้วยการสละราชบัลลังก์ของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียซึ่งอ่อนแอ และแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มสังคมนิยมเปโตรกราดโซเวียต การจัดการดังกล่าวนำไปสู่ความสับสนและความวุ่นวายทั้งที่แนวหน้าและในรัสเซีย กองทัพรัสเซียยิ่งมีประสิทธิภาพด้อยลงกว่าเดิมมาก[104]
สงครามและรัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อย ๆ ความไม่พอใจทำให้พรรคบอลเชวิค ที่นำโดย วลาดีมีร์ เลนิน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขาให้สัญญาว่าจะดึงรัสเซียออกจากสงครามและทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ชัยชนะของพรรคบอลเชวิคในเดือนพฤศจิกายนนั้น ตามมาด้วยการสงบศึกและการเจรจากับเยอรมนี ในตอนแรก พรรคบอลเชวิคปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี แต่เมื่อกองทัพเยอรมันทำสงครามต่อไปและเคลื่อนผ่านยูเครนโดยไม่ช้าลง รัฐบาลใหม่จึงต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งทำให้รัสเซียออกจากสงคราม แต่ต้องยอมยกดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล รวมไปถึงฟินแลนด์ รัฐบอลติก บางส่วนของโปแลนด์และยูเครนแก่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง[106] อย่างไรก็ตาม ดินแดนที่เยอรมนีได้รับจากรัสเซียทำให้ต้องแบ่งกำลังพลไปยึดครองและอาจเป็นปัจจัยนำสู่ความล้มเหลวของการรุกฤดูใบไม้ผลิ และสนับสนุนอาหารและยุทธปัจจัยอื่นค่อนข้างน้อย
ด้วยการลงมติยอมรับสนธิสัญญาเบรสต์-ลีตอฟสก์ ไตรภาคีจึงไม่คงอยู่อีกต่อไป ฝ่ายสัมพันธมิตรนำกำลังขนาดเล็กรุกรานรัสเซีย ส่วนหนึ่งเพื่อหยุดมิให้เยอรมนีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัสเซีย และในขอบเขตที่เล็กกว่า เพื่อให้การสนับสนุน "รัสเซียขาว" (ตรงข้ามกับ "รัสเซียแดง") ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[107] กองทัพสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่อาร์ชอันเกลและวลาดิวอสตอก
กองทหารเชคโกสโลวาเกีย
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
ข้อเสนอริเริ่มการเจรจาสันติภาพของฝ่ายมหาอำนาจกลาง
[แก้]ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 หลังจากการสู้รบอย่างดุเดือดสิบเดือนของยุทธการแวร์ดังและการรุกโรมาเนียที่ประสบความสำเร็จ เยอรมนีพยายามจะเจรจาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่นานหลังจากนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐ วูดโรว์ วิลสันพยายามเข้าแทรกแซงเป็นผู้ประนีประนอม โดยร้องขอในโน้ตแก่ทั้งสองฝ่ายให้ระบุข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่าย คณะรัฐมนตรีสงครามของอังกฤษมองว่าข้อเสนอสันติภาพของเยอรมนีเป็นแผนการสร้างความแตกแยกในฝ่ายสัมพันธมิตร หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว อังกฤษถือโน้ตของวิลสันเป็นอีกความพยายามหนึ่ง โดยส่งสัญญาณว่าสหรัฐใกล้จะเข้าสู่สงครามกับเยอรมนีหลัง "การทำลายล้างด้วยเรือดำน้ำ" ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรโต้เถียงกันเรื่องการตอบข้อเสนอของวิลสัน เยอรมนีเลือกจะบอกปัดและสนับสนุน "การแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตรง" มากกว่า เมื่อทราบถึงการตอบสนองของเยอรมนี รัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอิสระจะระบุข้อเรียกร้องที่ชัดเจนในวันที่ 14 มกราคม โดยเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหาย การอพยพประชากรจากดินแดนยึดครอง ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศส รัสเซียและโรมาเนีย และการยอมรับหลักการแห่งเชื้อชาติ ซึ่งรวมไปถึงการให้เสรีภาพแก่ชาวอิตาลี สลาฟ โรมาเนีย เชโกสโลวัก และการสถาปนา "โปแลนด์ที่มีอิสระและรวมเป็นหนึ่ง" ว่าด้วยปัญหาความมั่นคง ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องคำยืนยันที่จะป้องกันหรือจำกัดสงครามในอนาคต และยกเลิกการลงโทษ เป็นเงื่อนไขของทุกการเจรจาสันติภาพ[108] การเจรจาล้มเหลวและไตรภาคีปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี เพราะเยอรมนีไม่ได้กล่าวถึงข้อเสนอใดเจาะจง วิลสันและไตรภาคีว่าจะไม่เริ่มการเจรจาสันติภาพจนกว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางจะอพยพประชากรในดินแดนยึดครองที่เคยเป็นของฝ่ายสัมพันธมิตรและค่าชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด[109]
ค.ศ. 1917-1918
[แก้]ความคืบหน้าใน ค.ศ. 1917
[แก้]เหตุการณ์ใน ค.ศ. 1917 นั้นได้พิสูจน์แล้วว่ามีความเด็ดขาดในการยุติสงคราม แม้ว่าผลจะยังไม่อาจสัมผัสได้กระทั่งปลาย ค.ศ. 1918 การปิดล้อมทางทะเลของกองทัพเรืออังกฤษได้ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเยอรมนี เยอรมนีได้โต้ตอบด้วยการออกปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้อังกฤษขาดแคลนอาหารและต้องออกจากสงคราม นักวางแผนชาวเยอรมันประเมินว่า สงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตจะทำให้อังกฤษสูญเสียเรือไปกว่า 600,000 ตันต่อเดือน ขณะที่อังกฤษตระหนักว่านโยบายดังกล่าวมีแนวโน้มจะดึงให้สหรัฐเข้าสู่ความขัดแย้ง การสูญเสียเรือของอังกฤษจะสูงมากเสียจนอังกฤษถูกบีบให้เรียกร้องสันติภาพหลังเวลาผ่านไป 5 ถึง 6 เดือน ก่อนที่การเข้าแทรกแซงของสหรัฐจะมีผลกระทบ ในความเป็นจริง เรืออังกฤษถูกยิงจมไปคิดเป็นน้ำหนักมากกว่า 500,000 ตันต่อเดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม และสูงที่สุด 860,000 ตันในเดือนเมษายน หลังเดือนกรกฎาคม ได้มีการนำระบบขบวนเรือคุ้มกันกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดภัยคุกคามจากเรืออูลงอย่างยิ่ง อังกฤษปลอดภัยจากการขาดแคลนอาหาร ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลง และทหารสหรัฐเข้าร่วมสงครามเป็นจำนวนมากกว่าที่เยอรมนีเคยคาดไว้ก่อนหน้านี้มาก
วันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 ระหว่างการรุกเนวิลล์ กองพลอาณานิคมที่ 2 ของฝรั่งเศสที่เหน็ดเหนื่อย ทหารผ่านศึกยุทธการแวร์เดิง ปฏิเสธคำสั่งที่ได้รับ มาถึงโดยเมาและปราศจากอาวุธ นายทหารไม่อาจหาวิธีการมาลงโทษทหารทั้งกองพลได้ และไม่มีการดำเนินมาตรการรุนแรงในทันที จากนั้น การขัดขืนคำสั่งได้ลุกลามไปยังอีก 54 กองพลของฝรั่งเศส และมีทหารหนีหน้าที่ 20,000 นาย กองทัพสัมพันธมิตรอื่นโจมตีแต่ประสบความสูญเสียมหาศาล[110] อย่างไรก็ตาม ด้วยการดึงดูดสู่ความรักชาติและหน้าที่ เช่นเดียวกับการจับกุมและการพิจารณาครั้งใหญ่ กระตุ้นให้ทหารกลับมาป้องกันสนามเพลาะของตน แม้ว่าทหารฝรั่งเศสปฏิเสธจะเข้าร่วมในการปฏิวัติการรุกต่อไป[111] โรเบร์ต เนวิลล์ถูกปลดจากตำแหน่งบัญชาการในวันที่ 15 พฤษภาคม และแทนที่ด้วยพลเอกฟิลิป เปแตง ผู้ยกเลิกการรุกขนาดใหญ่อันนองเลือดชั่วคราว
ชัยชนะของออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีที่ยุทธการกาปอเรตโต นำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่การประชุมราปัลโลจัดตั้งสภาสงครามสูงสุดเพื่อประสานการวางแผน โดยก่อนหน้านั้น กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้ดำเนินการบังคับบัญชาแยกกัน
ในเดือนธันวาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางลงนามสงบศึกกับรัสเซีย ทำให้ทหารเยอรมันจำนวนมากสามารถถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ในทางตะวันตกได้ ด้วยกำลังเสริมเยอรมนีและทหารสหรัฐที่ไหลบ่าเข้ามาใหม่ ทำให้แนวรบด้านตะวันตกจะเป็นการตัดสินผลของสงคราม ฝ่ายมหาอำนาจกลางทราบว่าตนไม่อาจเอาชนะสงครามยืดเยื้อ แต่พวกเขาตั้งความหวังไว้สูงสำหรับความสำเร็จโดยขึ้นอยู่กับการรุกอยางรวดเร็วครั้งสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายสัมพันธมิตรต่างเริ่มรู้สึกกลัวต่อความไม่สงบในสังคมและการปฏิวัติในยุโรป ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งได้รับชัยชนะขั้นเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว[112]
ค.ศ. 1917 จักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย ทรงพยายามเจรจาแยกต่างหากอย่างลับ ๆ กับคลูมองโซ โดยมีน้องชายของพระมเหสี ซิกตัส ในเบลเยียม เป็นคนกลาง โดยเยอรมนีไม่รับรู้ด้วย เมื่อการเจรจาล้มเหลว และความพยายามดังกล่าวทราบถึงเยอรมนี ส่งผลให้เกิดหายนะทางการทูตระหว่างสองประเทศ[113][114]
สหรัฐเข้าสู่สงคราม
[แก้]สหรัฐเดิมดำเนินนโยบายไม่แทรกแซง เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประเทศและเป็นนายหน้าสันติภาพ เมื่อเรืออูเยอรมันจมเรือโดยสารลูซิเทเนียของอังกฤษ ใน ค.ศ. 1915 ที่มีชาวอเมริกันอยู่บนเรือ 128 คน ประธานาธิบดีวิลสันได้สาบานว่า "อเมริกามีทิฐิมากเกินกว่าจะสู้" และเรียกร้องให้ยกเลิกการโจมตีเรือพลเรือน ซึ่งเยอรมนีก็ยอมตาม วิลสันพยายามเป็นผู้ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทแต่ล้มเหลว เขาเตือนย้ำว่าสหรัฐจะไม่ทนต่อสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขต วิลสันได้รับแรงกดดันธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้ประณามพฤติการณ์ของเยอรมนีว่าเป็น "การกระทำอันเป็นโจรสลัด"[115] ความปรารถนาของวิลสันที่จะได้เข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพเมื่อสงครามยุติเพื่อพัฒนาแนวคิดสันนิบาตชาติเองก็เป็นส่วนสำคัญ[116] รัฐมนตรีต่างประเทศของวิลสัน วิลเลียม เจนนิงส์ ไบรอัน ซึ่งความคิดเห็นของเขาได้ถูกเพิกเฉย ได้ลาออกเพราะไม่อาจสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีได้อีกต่อไป มติมหาชนรู้สึกโกรธกับเหตุวินาศกรรมแบล็กทอมในนครเจอร์ซีย์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งสงสัยว่าเยอรมนีอยู่เบื้องหลัง และเหตุระเบิดคิงส์แลนด์
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 เยอรมนีทำสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตอีกครั้ง รัฐมนตรีต่างประเทศบอกแก่เม็กซิโก ผ่านโทรเลขซิมแมร์มันน์ ว่า สหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่สงครามหลังสงครามเรือดำน้ำไม่จำกัดขอบเขตเริ่มขึ้น และเชิญเม็กซิโกเข้าสู่สงครามเป็นพันธมิตรของเยอรมนีต่อสหรัฐ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เยอรมนีจะส่งเงินให้เม็กซิโกและช่วยให้เม็กซิโกได้รับดินแดนเท็กซัส นิวเม็กซิโกและแอริโซนาที่เม็กซิโกเสียไประหว่างสงครามเม็กซิโก-อเมริกาเมื่อ 70 ปีก่อน[117] วิลสันเปิดเผยโทรเลขดังกล่าวให้แก่สาธารณชน และชาวอเมริกันมองว่าเป็นเหตุแห่งสงคราม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายพันธมิตร แต่ไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของฝ่ายพันธมิตรเลย โดยเรียกตัวเองว่าเป็น "ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือ" (Associated Power) สหรัฐมีกองทัพขนาดเล็ก แต่หลังรัฐบัญญัติคัดเลือกทหาร (Selective Service Act) สหรัฐก็มีทหารเกณฑ์มากถึง 2.8 ล้านนาย[118] และภายในฤดูร้อน ค.ศ. 1918 ก็มีการส่งทหารใหม่กว่า 10,000 นายไปยังฝรั่งเศสทุกวัน ใน ค.ศ. 1917 รัฐสภาสหรัฐให้สถานะพลเมืองแก่ชาวเปอร์โตริโก เมื่อพวกเขาถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากรัฐบัญญัติโจนส์ เยอรมนีคำนวณผิด โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าสหรัฐจะมาถึง และการขนส่งทหารข้ามมหาสมุทรสามารถถูกหยุดยั้งได้โดยเรืออู[119]
กองทัพเรือสหรัฐได้ส่งกองเรือรบไปยังสกาปาโฟลว์ (Scapa Flow) เพื่อเข้าร่วมกับกองเรือหลวง (Grand Fleet) อังกฤษ, เรือพิฆาตไปยังควีนส์ทาวน์, ไอร์แลนด์ และเรือดำน้ำไปช่วยคุ้มกันขบวนเรือ นาวิกโยธินหลายกรมของสหรัฐถูกส่งไปยังฝรั่งเศส ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสต่างต้องการให้หน่วยทหารอเมริกันเข้าเสริมกำลังบนแนวรบที่มีทหารของตนอยู่ก่อนแล้ว และไม่สิ้นเปลืองจำนวนเรือที่มีอยู่น้อยเพื่อขนย้ายเสบียง และไม่ต้องการใช้เรือเพื่อเป็นการขนส่งเสบียง ซึ่งสหรัฐปฏิเสธความต้องการแรก แต่ยอมตามความต้องการข้อหลัง พลเอกจอห์น เจ. เพอร์ชิง ผู้บัญชาการกองกำลังรบนอกประเทศอเมริกา (AEF) ปฏิเสธที่จะแบ่งหน่วยทหารออกเพื่อใช้เป็นกำลังหนุนแก่หน่วยทหารอังกฤษและฝรั่งเศส โดยยกเว้นให้กรมรบแอฟริกัน-อเมริกันถูกใช้ในกองพลฝรั่งเศสได้ หลักนิยมของ AEF กำหนดให้ใช้การโจมตีทางด้านหน้า ซึ่งผู้บัญชาการอังกฤษและฝรั่งเศสเลิกใช้ไปนานแล้ว เพราะสูญเสียกำลังพลมหาศาล[121]
การรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918
[แก้]พลเอกเยอรมัน อิริช ลูเดินดอร์ฟ ได้ร่างแผนซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า ปฏิบัติการมิคาเอล ขึ้นสำหรับการรุกบนแนวรบด้านตะวันตกใน ค.ศ. 1918 การรุกฤดูใบไม้ผลิมีจุดประสงค์เพื่อแยกกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสออกจากกันด้วยการหลอกหลวงและการรุกหลายครั้ง ผู้นำเยอรมนีหวังว่าการโจมตีอย่างเด็ดขาดก่อนที่กองกำลังสหรัฐขนาดใหญ่จะมาถึง ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1918 โดยโจมตีกองทัพอังกฤษที่อเมนส์ และสามารถรุกเข้าไปได้ถึง 60 กิโลเมตรอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดสงคราม[122]
ส่วนแนวสนามเพลาะของอังกฤษและฝรั่งเศสถูกเจาะผ่านด้วยยุทธวิธีแทรกซึมที่เป็นของใหม่ ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ยุทธวิธีฮูเทียร์ (Hutier tactics) ตามชื่อพลเอกชาวเยอรมันคนหนึ่ง ก่อนหน้านั้น การโจมตีเป็นรูปแบบการระดมยิงปืนใหญ่อย่างยาวนานและการบุกโจมตีโดยใช้กำลัพลมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในการรุกฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918 ลูเดินดอร์ฟได้ใช้ปืนใหญ่เฉพาะเป็นเวลาสั้น ๆ และแทรกซึมกลุ่มทหารราบขนาดเล็กไปยังจุดที่อ่อนแอ พวกเขาโจมตีพื้นที่สั่งการและพื้นที่ขนส่ง และผ่านจุดที่มีการต้านทานอย่างดุเดือด จากนั้น ทหารราบที่มีอาวุธหนักกว่าจะเข้าบดขยี้ที่ตั้งที่ถูกโดดเดี่ยวนี้ภายหลัง ความสำเร็จของเยอรมนีนี้อาศัยความประหลาดใจของข้าศึกอยู่มาก[123]
แนวหน้าเคลื่อนเข้าไปในระยะ 120 กิโลเมตรจากกรุงปารีส ปืนใหญ่รถไฟหนักของครุพพ์ยิงกระสุน 183 นัดเข้าใส่กรุงปารีส ทำให้ชาวปารีสจำนวนมากหลบหนี การรุกในช่วงแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงามกระทั่งจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ทรงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหยุดราชการ ชาวเยอรมันจำนวนมากคิดว่าชัยชนะของสงครามอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้อย่างหนัก ปรากฏว่าการรุกของเยอรมนีหยุดชะงักไป การขาดแคลนรถถังหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถรวมกำลังกันรุกต่อไปได้ สถานการณ์ดังกล่าวยังเลวร้ายลงไปอีกเมื่อเส้นทางส่งกำลังบำรุงตอนนี้ถูกยืดออกไปอันเป็นผลจากการรุก[124] การหยุดกะทันหันนี้ยังเป็นผลมาจากกำลังจักรวรรดิออสเตรเลีย (AIF) จำนวนสี่กองพลที่ถูกกวดไล่ และสามารถกระทำในสิ่งที่ไม่มีกองทัพใดสามารถทำได้ และหยุดยั้งการรุกของเยอรมนีตามเส้นทางได้ ระหว่างช่วงเวลานี้ กองพลออสเตรเลียที่หนึ่งถูกส่งขึ้นเหนืออย่างเร่งรีบอีกครั้งเพื่อหยุดยั้งการเจาะผ่านครั้งที่สองของเยอรมนี
พลเอกฟอคกดดันให้ใช้กำลังอเมริกาที่มาถึงแล้วเป็นการเข้าสวมตำแหน่งแทนโดยลำพัง แต่เพอร์ชิงมุ่งให้จัดวางหน่วยของสหรัฐเป็นกองกำลังอิสระ หน่วยเหล่านี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในการบังคับบัญชาของฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษที่ทหารร่อยหรอลง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สภาสงครามสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรถูกจัดตั้งขึ้นที่การประชุมดูล็อง (Doullens) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917[125] พลเอกฟอคถูกแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสูงสุด เฮก เปแตง และเพอร์ชิงยังคงมีการควบคุมทางยุทธวิธีในส่วนของตนอยู่ ฟอครับบทบาทประสานงาน มากกว่าบทบาทชี้นำ และกองบัญชาการอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐดำเนินการส่วนใหญ่เป็นอิสระต่อกัน[125]
หลังปฏิบัติการมิคาเอล เยอรมนีเริ่มปฏิบัติการเกออร์เกทเทอ (Operation Georgette) ต่อเมืองท่าช่องแคบอังกฤษทางเหนือ ฝ่ายสัมพันธมิตรหยุดยั้งการผลักดันโดยเยอรมนีได้รับดินแดนเพิ่มน้อยมาก กองทัพเยอรมันทางใต้เริ่มปฏิบัติการบลอแชร์และยอร์ค ซึ่งพุ่งเป้าไปยังกรุงปารีส ปฏิบัติการมาร์นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม โดยพยายามจะล้อมแรมส์และเริ่มต้นยุทธการแม่น้ำมาร์นครั้งที่สอง การตีตอบโต้ที่เป็นผลนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการรุกร้อยวัน นับเป็นการรุกที่ประสบความสำเร็จครั้งแรกของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงคราม
จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันถูกผลักดันข้ามแม่น้ำมาร์นที่แนวเริ่มต้นไกแซร์ชลัชท์[126] โดยที่ไม่บรรลุจุดประสงค์ใด ๆ เลย หลังขั้นสุดท้ายของสงครามในทางตะวันตกแล้ว กองทัพเยอรมันจะไม่อาจเป็นฝ่ายริเริ่มได้อีก ความสูญเสียของเยอรมนีระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน ค.ศ. 1918 อยู่ที่ 270,000 คน ในขณะเดียวกัน ในประเทศกำลังแตกออกเป็นเสี่ยง การรณรงค์ต่อต้านสงครามเกิดบ่อยครั้งขึ้น และขวัญกำลังใจในกองทัพถดถอย ผลผลิตทางอุตสาหกรรมทรุดลงอย่างหนัก โดยคิดเป็น 53% ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมใน ค.ศ. 1913
ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ชัย: ฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ค.ศ. 1918
[แก้]การตีตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรู้จักกันว่า การรุกร้อยวัน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1918 ในยุทธการอาเมียง กองทัพน้อยที่ 3 กองทัพอังกฤษที่ 4 อยู่ทางปีกซ้าย กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 อยู่ทางปีกขวา และกองทัพน้อยออสเตรเลียและแคนาดาเป็นหัวหอกโจมตีตรงกลางผ่าน Harbonnières[127][128] ยุทธการครั้งนั้นมีรถถังมาร์ก 4 และมาร์ก 5 กว่า 414 คัน และทหารกว่า 120,000 นายเข้าร่วม ฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 12 กิโลเมตรในดินแดนที่เยอรมนีถือครองในเวลาเพียงเจ็ดชั่วโมง เอริช ลูเดินดอร์ฟ เรียกวันนี้ว่า "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน"[127][129]
หัวหอกออสเตรเลีย-แคนาดาที่อาเมียง ยุทธการซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความล่มจมของเยอรมนี[130] ช่วยดึงให้กองทัพอังกฤษคืบหน้าไปทางเหนือและกองทัพฝรั่งเศสไปทางใต้ ขณะที่การต้านทานของเยอรมนีบนแนวรบกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียงเป็นไปอย่างแข็งแกร่ง หลังฝ่ายสัมพันธมิตรรุกเข้าไป 14 กิโลเมตรจากอาเมียง กองทัพฝรั่งเศสที่ 3 ขยายความยาวของแนวรบอาเมียงเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เมื่อกองทัพถูกส่งไปทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสทรา 1 และรุกเข้าไป 6 กิโลเมตร ซึ่งกำลังปลดปล่อย Lassigny กระทั่งการสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม ทางใต้ของกองทัพฝรั่งเศสที่ 3 พลเอก Charles Mangin เคลื่อนกองทัพฝรั่งเศสที่ 10 ไปข้างหน้าที่ Soissons เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อจับกุมเชลยศึกแปดพันคน ปืนใหญ่สองร้อยกระบอก และที่ราบสูง Aisne ที่มองเห็นและคุกคามที่ตั้งของเยอรมนีทางเหนือของ Vesle[131] เอริช ลูเดินดอร์ฟบรรยายว่านี่เป็น "วันอันมืดมน" อีกวันหนึ่ง
ขณะเดียวกัน พลเอก Byng แห่งกองทัพอังกฤษที่ 3 รายงานว่าข้าศึกบนแนวรบของเขากำลังมีจำนวนลดลงจากการจำกัดการล่าถอย ถูกออกคำสั่งให้โจมตีด้วยรถถัง 200 คัน ไปยัง Bapaume เปิดฉากยุทธการอัลแบร์ (Albert) ด้วยคำสั่งเฉพาะให้ "เจาะแนวรบข้าศึก เพื่อที่จะตีโอบปีกข้าศึกที่อยู่บนแนวรบ" (ตรงข้ามกองทัพอังกฤษที่ 4 ที่อาเมียง)[130] การโจมตีเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะชิงความได้เปรียบจากการรุกที่ประสบความสำเร็จตรงปีก แล้วจากนั้นจึงยุติเมื่อการโจมตีสูญเสียแรงผลักดันเริ่มต้นไป[131]
แนวรบยาว 24 กิโลเมตรของกองทัพอังกฤษ ทางเหนือของอัลแบร์ มีความคืบหน้า หลังหยุดไปวันหนึ่งเมื่อเผชิญกับแนวต้านทานหลักซึ่งข้าศึกได้ถอนกำลังไปแล้ว[132] กองทัพอังกฤษที่ 4 ของรอว์ลินสัน สามารถสู้รบต่อไปทางปีกซ้ายระหว่างอัลแบร์และซอมม์ ซึ่งยืดแนวระหว่างตำแหน่งอยู่หน้าของกองทัพที่ 3 และแนวรบอาเมียง ซึ่งส่งผลให้ยึดอัลแบร์กลับคืนได้ในขณะเดียวกัน[131] วันที่ 26 สิงหาคม กองทัพอังกฤษที่ 1 ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายของกองทัพที่ 3 ถูกดึงเข้าสู่การสู้รบซึ่งยืดกองทัพไปทางเหนือจนพ้นอารัส เหล่าทหารแคนาดาซึ่งกลับอยู่ที่เดิมในทัพหน้าของกองทัพที่ 1 สู้รบจากอารัสไปทางตะวันออก 8 กิโลเมตร คร่อมพื้นที่อารัส-กองเบร์ ก่อนจะถึงการป้องกันชั้นนอกของแนวฮินเดินบวร์ค ก่อนจะเจาะแนวดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 และ 29 สิงหาคม วันเดียวกัน เยอรมนีเสีย Bapaume ให้แก่กองพลนิวซีแลนด์แห่งกองทัพที่ 3 และกองทัพออสเตรเลีย ซึ่งยังนำการรุกของกองทัพที่ 4 สามารถผลักดันแนวรบไปข้างหน้าที่อาเมียงและยึดเปรอนน์ (Peronne) และมงแซ็ง-เกียงแต็ง (Mont Saint-Quentin) เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ห่างไปทางใต้ กองทัพฝรั่งเศสที่ 1 และที่ 3 รุกคืบอย่างช้า ๆ ขณะที่กองทัพที่ 10 ซึ่งข้ามแม่น้ำ Ailette มาแล้ว และอยู่ทางตะวันออกของ Chemin des Dames ปัจจุบันอยู่ใกล้กับตำแหน่งอัลเบริชของแนวฮินเดนแบร์ก[133] ระหว่างช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม แรงกดดันตามแนวรบยาว 113 กิโลเมตรต่อข้าศึกนั้นเป็นไปอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง แม้กระทั่งทางเหนือในฟลานเดอร์ กองทัพอังกฤษที่ 2 และที่ 5 มีความคืบหน้าจับกุมเชลยศึกและยึดที่มั่นได้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน[133]
วันที่ 2 กันยายน เหล่าแคนาดาโอบล้อมแนวฮินเดนแบร์กด้านข้าง ด้วยการเจาะตำแหน่งโวทัน (Wotan) ทำให้กองทัพที่ 3 สามารถรุกคืบต่อไปได้ ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับตลอดแนวรบด้านตะวันตก วันเดียวกันโอแบร์สเตอ เฮเรสไลทุง (OHL) ไม่มีทางเลือกนอกจากสั่งให้หกกองทัพล่าถอยเข้าไปสู่แนวฮินเดนแบร์กทางใต้ หลังกานัลดูนอร์ดบนแนวรบกองทัพที่ 1 ของแคนาดา และถอนกลับไปยังแนวทางตะวันออกของลิส (Lys) ในทางเหนือ ซึ่งถูกยึดครองโดยปราศจากการต่อสู้ ส่วนที่ยื่นออกมาถูกยึดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา[134] ตามข้อมูลของลูเดินดอร์ฟฟ์ "เราจำต้องยอมรับความจำเป็น ... ที่จะล่าถอยทั้งแนวรบจากสการ์ป (Scarpe) ถึงเวสเล (Vesle)"[135]
เวลาเกือบสี่สัปดาห์หลังการต่อสู้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม มีเชลยศึกเยอรมันถูกจับกุมได้เกิน 100,000 นาย อังกฤษจับได้ 75,000 นาย และที่เหลือโดยฝรั่งเศส จนถึง "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน" กองบัญชาการทหารสูงสุดเยอรมนีตระหนักว่าพ่ายสงครามแล้วและพยายามบรรลุจุดจบอันน่าพอใจ วันหลังการสู้รบ ลูเดินดอร์ฟฟ์บอกพันเอกแมร์ทซ์ว่า "เราไม่อาจชนะสงครามได้อีกต่อไป แต่เราจะต้องไม่แพ้เช่นกัน" วันที่ 11 สิงหาคม เขาเสนอลาออกจากตำแหน่งต่อไกเซอร์ ผู้ทรงปฏิเสธ โดยทรงตอบว่า "ฉันเห็นว่าเราต้องทำให้เกิดสมดุล เราได้เกือบถึงขีดจำกัดอำนาจการต้านทานของเรา สงครามต้องยุติ" วันที่ 13 สิงหาคม ที่สปา (Spa) ฮินเดนแบร์ก ลูเดินดอร์ฟฟ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศฮินทซ์ตกลงว่าสงครามไม่อาจยุติลงได้ในทางทหาร และในวันรุ่งขึ้นสภาราชสำนักเยอรมันตัดสินใจว่า ชัยชนะในสนามรบขณะนี้ยากที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ออสเตรียและฮังการีเตือนว่า ทั้งสองสามารถทำสงครามได้ถึงเดือนธันวาคมเท่านั้น และลูเดินดอร์ฟฟ์เสนอการเจรจาสันติภาพทันที แด่ไกเซอร์ผู้ทรงสนองโดยทรงแนะนำให้ฮินทซ์มองหาการไกล่เกลี่ยจากสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายรุพเพรชท์เตือนเจ้าชายมักซ์แห่งบาเดนว่า "สถานการณ์ทางทหารของเราบั่นทอนลงอย่างรวดเร็วเสียใจฉันไม่เชื่อว่าเราสามารถยื้อได้ตลอดฤดูหนาวอีกต่อไป และเป็นไปได้ว่าหายนะจะมาเร็วกว่านั้น" วันที่ 10 กันยายน ฮินเดนแบร์กกระตุ้นท่าทีสันติภาพต่อจักรพรรดิชาลส์แห่งออสเตรีย และเยอรมนีร้องต่อเนเธอร์แลนด์ขอการไกล่เกลี่ย วันที่ 14 กันยายน ออสเตรียส่งบันทึกถึงคู่สงครามและประเทศเป็นเลางทั้งหมดเสนอการประชุมสันติภาพในประเทศที่เป็นกลาง และวันที่ 15 กันยายน เยอรมนียื่นข้อเสนอสันติภาพต่อเบลเยียม ข้อเสนอสันติภาพทั้งสองถูกปฏิเสธ และวันที่ 24 กันยายน OHL แจ้งต่อผู้นำในเบอร์ลินว่าการเจรจาสงบศึกหลีกเลี่ยงไม่ได้[133]
เดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝ่ายเยอรมันยังคงสู้รบการปฏิบัติกองระวังหลังอย่างเข็มแข้งและเริ่มการตีโต้ตอบหลายครั้งต่อตำแหน่งที่เสียไป แต่ประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อย และเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมือง หมู่บ้าน ที่สูงและสนามเพลาะในตำแหน่งและกองรักษาด่านที่มีการป้องกันของแนวฮินเดนแบร์กยังเสียแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพอังกฤษเพียงชาติเดียวก็สามารถจับเชลยศึกได้ถึง 30,441 นายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การรุกต่อไปทางตะวันออกขนาดเล็กจะเกิดขึ้นหลังชัยชนะของกองทัพที่ 3 ที่อีวินกูร์ (Ivincourt) ในวันที่ 12 กันยายน กองทัพที่ 4 ที่อีเฟอนี (Epheny) ในวันที่ 18 กันายน และกองทัพฝรั่งเศสยึดได้แอซซีญีเลอก็อง (Essigny-le-Grand) อีกวันหนึ่งให้หลัง วันที่ 24 กันยายน การโจมตีครั้งสุดท้ายของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสบนแนวรบ 6.4 กิโลเมตรจะเข้ามาในระยะ 3.2 กิโลเมตรของแซ็งก็องแต็ง (St. Quentin)[133] ด้วยกองรักษาด่านและแนวป้องกันขั้นต้นของตำแหน่งซีกฟรีดและอัลเบริชถูกทำลายหมดไป ฝ่ายเยอรมันขณะนี้อยู่หลังแนวฮินเดนแบร์กทั้งหมด ด้วยตำแหน่งโวทันของแนวนั้นได้ถูกเจาะไปแล้วและตำแหน่งซีกฟรีดอยู่ในอันตรายจะถูกโอบจากทางเหนือ เวลานี้ฝ่ายสัมพันธมิตรสบโอกาสโจมตีตลอดทั้งความยาวแนวรบ
การโจมตีตรงแนวฮินเดนแบร์กของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน รวมทหารสหรัฐด้วย ทหารอเมริกันที่ยังอ่อนประสบการณ์ประสบปัญหาเกี่ยวกับรถไฟเสบียงสำหรับหน่วยขนาดใหญ่บนภูมิประเทศทุรกันดาร[136] สัปดาห์หนึ่งให้หลังหน่วยฝรั่งเศสและอเมริกันเจาะผ่านในช็องปาญ (Champagne) ที่ยุทธการเนินบลังก์มง (Blanc Mont) บีบให้ฝ่ายเยอรมันถอยไปจากที่สูงที่ควบคุมอยู่ และรุกคืบเข้าใกล้ชายแดนเบลเยียม[137] เมืองเบลเยียมแห่งสุดท้ายที่ได้รับการปลดปล่อยก่อนการสงบศึกคือ เกนต์ (Ghent) ซึ่งฝ่ายเยอรมันยึดไว้เป็นจุดหลังกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรนำปืนใหญ่ขึ้นมา[138][139] กองทัพเยอรมันได้ย่นระยะแนวรบของตนและใช้พรมแดนดัตช์เป็นสมอเพื่อสู้รบการปฏิบัติกองหลัง
เมื่อบัลแกเรียลงนามการสงบศึกแยกต่างหากเมื่อวันที่ 29 กันยายน ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการควบคุมเซอร์เบียและกรีซ ลูเดินดอร์ฟฟ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความเครียดใหญ่หลวงหลายเดือน มีอาการคล้ายกับป่วย เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีไม่อาจป้องกันได้อย่างสำเร็จอีกต่อไป[140][141]
ขณะเดียวกัน ข่าวความพ่ายแพ้ทางทหารที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้าของเยอรมนีแพร่สะพัดไปทั่วกองทัพเยอรมัน ภัยคุกคามการขัดขืนคำสั่งนั้นสุกงอม พลเรือเอกไรนาร์ด เชร์และลูเดินดอร์ฟฟ์ตัดสินใจเริ่มความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อฟื้นฟู "ความกล้าหาญ" ของกองทัพเรือเยอรมัน โดยทราบว่ารัฐบาลของเจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนจะยับยั้งการปฏิบัติเช่นนี้ ลูเดินดอร์ฟฟ์ตัดสินใจไม่ถวายรายงาน อย่างไรก็ดี ข่าวการโจมตีที่กำลังเกิดขึ้นในไม่ช้ามาถึงหูกะลาสีที่คีล กะลาสีหลายคนปฏิเสธจะเข้าร่วมการรุกทางทะเลซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ก่อกบฏและถูกจับกุม ลูเดินดอร์ฟฟ์รับผิดชอบความผิดพลาดนี้ ไกเซอร์ปลดเขาในวันที่ 26 ตุลาคม การล่มสลายของบอลข่านหมายความ่วา เยอรมนีกำลังเสียเสบียงอาหารและน้ำมันหลักของตน ปริมาณสำรองได้ใช้หมดไปแล้ว ขณะเดียวกับที่กองทัพสหรัฐมาถึงยุโรปด้วยอัตรา 10,000 นายต่อวัน[142]
โดยได้รับความสูญเสียถึง 6 ล้านชีวิต เยอรมนีได้หันไปหาสันติภาพ เจ้าชายมาซีมีลันแห่งบาเดนมีหน้าที่ในรัฐบาลใหม่เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร การเจรจาทางโทรเลขกับประธานาธิบดีวิลสันเริ่มขึ้นทันที ในความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าเขาจะได้รับข้อเสนอที่ดีกว่ากับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่วิลสันกลับเรียกร้องให้ไกเซอร์สละราชสมบัติ ไม่มีการต่อต้านเมื่อฟีลิพพ์ ไชเดมันน์แห่งพรรคสังคมประชาธิปไตย ประกาศให้เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จักรวรรดิเยอรมันล่มสลายลง และเยอรมนีใหม่ คือ สาธารณรัฐไวมาร์ ได้เกิดขึ้นแทน[143]
การสงบศึกและการยอมจำนน
[แก้]การล่มสลายของฝ่ายมหาอำนาจกลางมาเยือนอย่างรวดเร็ว บัลแกเรียเป็นประเทศแรกที่ลงนามการสงบศึก เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918 ที่ซาโลนิกิ[145] วันที่ 30 ตุลาคม จักรวรรดิออตโตมันยอมจำนนที่มูโดรส[145]
วันที่ 24 กันยายน อิตาลีเริ่มการผลักดันซึ่งทำให้ได้รับดินแดนที่สูญเสียไปคืนหลังยุทธการคาปอเร็ตโต จนลงเอยในยุทธการวิตโตริโอ เวเนโต อันเป็นจุดจบที่กองทัพออสเตรีย-ฮังการีไม่อาจเป็นกำลังรบที่มีประสิทธิภาพได้อีกต่อไป การรุกนี้ยังกระตุ้นการสลายตัวของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม มีการประกาศเอกราชขึ้นในกรุงบูดาเปสต์, ปราก และซาเกร็บ วันที่ 29 ตุลาคม ทางการออสเตรีย-ฮังการีขอสงบศึกกับอิตาลี แต่อิตาลีรุกคืบต่อไป โดยไปถึงเทรนโต, ยูดีนและตรีเยสเต วันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรีย-ฮังการีส่งธงพักรบขอการสงบศึก เงื่อนไข ซึ่งจัดการโดยโทรเลขกับทางการฝ่ายสัมพันธมิตรในกรุงปารีส มีการสื่อสารไปยังผู้บัญชาการออสเตรียและยอมรับ การสงบศึกกับออสเตรียมีการลงนามในวิลลา กิอุสติ ใกล้กับพาดัว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ออสเตรียและฮังการีลงนามการสงบศึกแยกกันหลังการล้มล้างราชวงศ์ฮับส์บูร์ก
หลังการปะทุของการปฏิวัติเยอรมัน มีการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน องค์ไกเซอร์ได้ทรงหลบหนีไปยังเนเธอร์แลนด์ วันที่ 11 พฤศจิกายน มีการลงนามการสงบศึกกับเยอรมนีขึ้นในตู้โดยสารรถไฟในคองเปียญ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ของวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 หรือ "ชั่วโมงที่สิบเอ็ด ของวันที่สิบเอ็ด ของเดือนที่สิบเอ็ด" การหยุดยิงมีผลบังคับ กองทัพซึ่งประจัญกันอยู่บนแนวรบด้านตะวันตกนั้นเริ่มถอนจากตำแหน่งของตน พลทหารแคนาดา จอร์จ ลอว์เรนซ์ ไพรซ์ ถูกยิงโดยพลแม่นปืนชาวเยอรมันเมื่อเวลา 10.57 น. และสิ้นชีวิตเมื่อเวลา 10.58 น.[146] เฮนรี กึนเธอร์ชาวอเมริกันถูกสังหาร 60 วินาทีก่อนการสงบศึกมีผลบังคับขณะเข้าตีกำลังพลเยอรมันที่รู้สึกประหลาดใจ เพราะทราบข่าวว่า กำลังจะมีการสงบศึกขึ้น[147] ทหารอังกฤษคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ พลทหารจอร์จ เอ็ดวิน เอลลิสัน ผู้เสียชีวิตคนสุดท้ายในสงคราม คือ ร้อยโทโธมัส ผู้ซึ่ง หลังเวลา 11 นาฬิกา กำลังเดินไปยังแนวรบเพื่อแจ้งข่าวแก่ทหารอเมริกันซึ่งยังไม่ถูกแจ้งข่าวการสงบศึกว่า พวกเขาจะละทิ้งอาคารเบื้องหลังพวกเขา[148]
สถานะสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายดำรงอยู่เป็นเวลาอีกจนเดือน กระทั่งการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 สนธิสัญญากับออสเตรีย ฮังการี บัลแกเรียและจักรวรรดิออตโตมันมีการลงนามภายหลัง อย่างไรก็ดี การเจรจากับจักรวรรดิออตโตมันนั้นตามมาด้วยการขัดแย้งกัน และสนธิสัญญาสันติภาพสุดท้ายระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับประเทศซึ่งอีกต่อมาไม่นานจะได้ชื่อว่า สาธารณรัฐตุรกี มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1923 ที่โลซาน
ในทางกฎหมาย สนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการไม่เสร็จสมบูรณ์กระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญาโลซานฉบับสุดท้าย ภายใต้เงื่อนไขนั้น กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถอนออกจากคอนสแตนติโนเปิลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1923
ความได้เปรียบของฝ่ายสัมพันธมิตรและตำนานแทงข้างหลัง พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
[แก้]ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีกำลังบำรุงที่เป็นคนและยุทโธปกรณ์มากพอที่จะรุกรานเยอรมนี กระนั้น เมื่อมีการสงบศึกนั้น ไม่มีกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรใดข้ามพรมแดนเยอรมนีได้เลย แนวรบด้านตะวันตกยังอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินเกือบ 1,400 กิโลเมตร และกองทัพเยอรมันยังล่าถอยจากสนามรบอย่างเป็นระเบียบดี ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮินเดินบวร์คและผู้นำเยอรมันอาวุโสคนอื่น ๆ เผยแพร่เรื่องเล่าว่า กองทัพของพวกเขามิได้ถูกเอาชนะอย่างแท้จริง ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นตำนานแทงข้างหลัง[149][150] คือ ถือว่าความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้นมิได้เกิดจากการขาดความสามารถในการสู้รบต่อไป (แม้ทหารมากถึงหนึ่งล้านนายกำลังเจ็บป่วยจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ค.ศ. 1918 และไม่พร้อมรบ) แต่เป็นเพราะสาธารณชนขาดการสนองต่อ "การเรียกด้วยความรักชาติ" และการก่อวินาศกรรมอย่างเจตนาต่อความพยายามของสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกยิว สังคมนิยมและบอลเชวิค
ผลที่ตามมา
[แก้]ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง มีจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ต้องล่มสลายไปถึง 4 จักรวรรดิ ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิรัสเซีย[b] หลายประเทศได้รับเอกราชของชาติกลับคืนมา และในจำนวนหนึ่งก็สถาปนาประเทศของชาติตนขึ้นมา นอกจากนี้ ราชวงศ์ใหญ่ในทวีปยุโรปทั้งสี่ ได้แก่ ราชวงศ์โรมานอฟ ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค และราชวงศ์ออตโตมัน ต้องถึงคราวสิ้นสุดจากผลของสงครามเช่นกัน เบลเยียมและเซอร์เบียเป็นประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วง เช่นเดียวกับฝรั่งเศส ด้วยจำนวนทหารที่เสียชีวิตราว 1.4 ล้านนาย[151] ไม่นับรวมกับความสูญเสียอื่น ๆ ส่วนเยอรมนีและรัสเซียต่างได้รับผลกระทบในทำนองเดียงกัน[152]
สิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการ
[แก้]ภาวะของสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินต่อไปอีกเจ็ดเดือน กระทั่งการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 วุฒิสภาสหรัฐมิได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ แม้จะมีการสนับสนุนจากสาธารณชนก็ตาม[153][154] และไม่ได้มีการยุติการมีส่วนร่วมในสงครามอย่างเป็นทางการจนกระทั่งการลงนามในมติน็อกซ์–โปร์เตอร์ (Knox–Porter Resolution) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 โดยประธานาธิบดีวาร์เรน จี. ฮาร์ดิง[155] สำหรับจักรวรรดิบริติชแล้ว ภาวะสงครามสิ้นสุดลงภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติยุติสงคราม ณ ขณะนี้ (คำนิยาม) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ:
อนุสรณ์สถานสงครามบางแห่งลงวันสิ้นสุดสงครามตรงกับวันที่ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กองทหารผ่านศึกในต่างประเทศได้กลับบ้านในที่สุด ในทางกลับกัน การระลึกถึงการยุติสงครามส่วนมากจะมุ่งเน้นไปที่การสงบศึก 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[161]
สนธิสัญญาสันติภาพและเขตแดนของชาติ
[แก้]ภายหลังสงคราม ทั่วโลกให้ความสนใจกับการศึกษาเหตุแห่งสงครามและองค์ประกอบที่จะพาโลกไปสู่สันติภาพ ส่วนหนึ่งได้นำไปสู่การสร้างสันติภาพและการศึกษาด้านความขัดแย้ง การศึกษาด้านความปลอดภัย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยทั่วไป[162] การประชุมสันติภาพปารีสได้กำหนดชุดสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาแวร์ซายใน ค.ศ. 1919 ได้จัดการกับเยอรมนี มีการกำหนดหลักการสิบสี่ข้อของวิลสัน และมีการจัดตั้งสันนิบาตชาติเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919[163][164]
ฝ่ายมหาอำนาจกลางจำต้องยอมรับความรับผิดชอบสำหรับ "ความสูญเสียและความเสียหายทั้งหมดต่อรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรและชาติสมทบตลอดจนชนชาติของฝ่ายเหล่านั้น เนื่องจากเยอรมนีและพันธมิตรของเยอรมนีได้กระทำสงครามแก่ฝ่ายเหล่านั้นด้วยการรุกราน" ซึ่งปรากฏอยู่ในข้อ 231 ของสนธิสัญญาแวร์ซาย หัวข้อดังกล่าวได้กลายเป็นที่กล่าวถึงในฐานะ "ข้อกำหนดความรับผิดในอาชญากรรมสงคราม" เนื่องจากสร้างความอดสูและขุ่นเคืองต่อชาวเยอรมันส่วนใหญ่[165] เหนือสิ่งอื่นใด ชาวเยอรมันรู้สึกว่าพวกเขาถูกจัดการอย่าง เป็นไม่เป็นธรรมจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า "คำสั่งแวร์ซาย" (Diktat of Versailles) ฮาเกิน ชุลท์เซอ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมัน กล่าวว่าสนธิสัญญาดังกล่าวทำให้เยอรมนี "ตกอยู่ในการคว่ำบาตรทางกฎหมาย ถูกจำกัดอำนาจทางการทหาร เศรษฐกิจพังทลาย และเกิดความอับอายทางการเมือง"[166] โลร็องส์ วัน อีเปอร์เซิล นักประวัติศาสตร์ชาวเบลเยียม เน้นย้ำถึงบทบาทสําคัญของความทรงจําของสงครามและสนธิสัญญาแวร์ซายในการเมืองเยอรมันในช่วงทศวรรษ 1920 และทศวรรษ 1930 ความว่า:
การปฏิเสธความรับผิดในสงครามอย่างแข็งขันในเยรอมนี และความไม่พอใจของชาวเยอรมันในการชดใช้ค่าเสียหาย ประกอบกับการยึดครองไรน์ลันท์ ได้แก้ไขความหมายและความทรงจำของสงครามอย่างแพร่หลาย ตำนานแทงข้างหลัง ความปรารถนาที่จะแก้ไขคำสั่งแวร์ซาย และความเชื่อเกี่ยวกับภัยคุกคามระหว่างประเทศที่มุ่งกําจัดชาติเยอรมันยังคงมีอยู่ในหัวใจของการเมืองเยอรมัน แม้แต่สันติบุรุษอย่าง [กุสทัฟ] ชเตรเซอมัน ยังปฏิเสธความรับผิดของเยอรมนีอย่างเปิดเผย สำหรับพวกนาซี พวกเขาชูธงแห่งการทรยศประเทศและการสมรู้ร่วมคิดระหว่างประเทศ ในความพยายามที่จะกระตุ้นชาติเยอรมันให้กลายเป็นจิตวิญญาณของการแก้แค้น เช่นเดียวกับฟาสซิสต์อิตาลี นาซีเยอรมนีพยายามเปลี่ยนเส้นทางความทรงจําของสงครามเพื่อประโยชน์ต่อนโยบายของพรรค[167]
ในขณะเดียวกัน ประเทศใหม่ที่ได้รับการปลดปล่อยจากการปกครองของเยอรมนี มองว่าสนธิสัญญาเป็นการยอมรับความผิดที่กระทําต่อประเทศเล็ก ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ก้าวร้าวกว่ามาก[168]
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้แตกออกเป็นหลายรัฐจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ยึดตามแนวทางชาติพันธุ์ ดินแดนทวิราชาธิปไตยถูกแบ่งให้กับออสเตรียและฮังการี เชโกสโลวาเกีย อิตาลี โปแลนด์ โรมาเนีย และยูโกสลาเวีย ผ่านสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แลและสนธิสัญญาทรียานง ด้วยเหตุนี้ ฮังการีจึงสูญเสียประชากรร้อยละ 64 จากประชากรทั้งหมด ลดลงจาก 20.9 ล้านคน เป็น 7.6 ล้านคน และสูญเสียชาวฮังการีร้อยละ 31 (เป็นจำนวน 3.3 ล้านคน จากทั้งหมด 10.7 ล้านคน) ของชาติพันธุ์ฮังการี[169] ตามการสำมะโนประชากร ค.ศ. 1910 ประชากรผู้พูดภาษาฮังการีเป็นจำนวนร้อยละ 54 ของประชากรทั้งหมดในราชอาณาจักรฮังการี ภายในประเทศมีชนกลุ่มน้อยเป็นจํานวนมาก ประกอบด้วย ชาวโรมาเนียร้อยละ 16.1 ชาวสโลวักร้อยละ 10.5 ชาวเยอรมันร้อยละ 10.4 ชาวรูทีเนียร้อยละ 2.5 ชาวเซิร์บร้อยละ 2.5 และชาติพันธุ์อื่นอีกร้อยละ 8[170] ในช่วง ค.ศ. 1920 ถึง ค.ศ. 1924 ชาวฮังการีจำนวน 354,000 คน อพยพจากดินแดนที่สูญเสียให้กับโรมาเนีย เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย[171]
จักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งถอนตัวออกจากสงครามใน ค.ศ. 1917 ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม ได้สูญเสียดินแดนทางตะวันตกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการก่อตั้งประเทศเอกราชใหม่ ได้แก่ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ ส่วนภูมิภาคเบสซาเรเบียอยู่ในการควบคุมของโรมาเนียในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918[172]
เอกลักษณ์ประจำชาติ
[แก้]โปแลนด์กลายเป็นประเทศเอกราชอีกครั้งหลังจากสูญเสียอธิปไตยไปเมื่อ 123 ปีที่แล้ว ราชอาณาจักรเซอร์เบียในฐานะ "ประเทศพันธมิตรรอง" และเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ยมากที่สุด[173][174][175] กลายเป็นชาติแกนหลักของราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ต่อมาเปลี่ยนเป็นยูโกสลาเวีย) เชโกสโลวาเกียเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของราชอาณาจักรโบฮีเมียกับดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรฮังการี โรมาเนียสามารถรวมประชากรที่พูดภาษาโรมาเนียทั้งหมดภายใต้รัฐเดียว นำไปสู่การก่อตัวของเกรตเทอร์โรมาเนีย[176]
ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ การทัพกัลลิโพลีกลายเป็นที่กล่าวถึงว่าเป็น "การล้างบาปแห่งไฟ" ของชาติ การทัพครั้งนี้นับเป็นสงครามขนาดใหญ่ครั้งแรกที่ประเทศเกิดใหม่ได้ต่อสู้ และเป็นครั้งแรกที่กองทหารออสเตรเลียได้ต่อสู้ในฐานะชาวออสเตรเลียอย่างแท้จริง มิใช่เพียงพลเมืองภายใต้สหราชอาณาจักร เป็นผลให้เอกลักษณ์ประจําชาติของประเทศเหล่านี้ถือกำเนิดขึ้น วันแอนแซก (Anzac Day) จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงวีรกรรมของกองทัพน้อยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZAC)[177][178]
หลังจากการยุติลงของมหาสงคราม กรีซได้ต่อสู้กับฝ่ายชาตินิยมตุรกีที่นำโดยมุสทาฟา เคมัล ซึ่งสุดท้ายลงเอยด้วยการแลกเปลี่ยนประชากรขนานใหญ่ระหว่างสองประเทศภายใต้สนธิสัญญาโลซาน[179] ตามแหล่งข้อมูลจำนวนมากระบุว่า[180] ชาวกรีกหลายแสนคนต้องเสียชีวิตลงในช่วงเวลานี้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกรีก[181]
เทคโนโลยี
[แก้]สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นขึ้นเป็นการปะทะของเทคโนโลยีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กับยุทธวิธีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยได้เกิดความสูญเสียเลือดเนื้ออย่างใหญ่หลวงตามมา อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1917 กองทัพของประเทศใหญ่ ๆ ซึ่งมีกำลังพลหลายล้านนาย ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยและมีการใช้โทรศัพท์ การสื่อสารไร้สาย[182] รถหุ้มเกราะ รถถัง[183] และอากาศยาน ขบวนทหารราบมีการจัดใหม่ ดังนั้น กองร้อยที่มีทหาร 100 นายจึงมิใช่หน่วยหลักในการดำเนินกลยุทธ์อีกต่อไป และหมู่ที่มีทหารประมาณ 10 นาย ภายใต้บัญชาของนายทหารประทวนอ่อนอาวุโสกลายเป็นได้รับความนิยม
ปืนใหญ่เองก็ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นเช่นกัน ใน ค.ศ. 1914 ปืนใหญ่ประจำอยู่ในแนวหน้าและยิงไปยังเป้าหมายโดยตรง จนถึง ค.ศ. 1917 การยิงเล็งจำลองด้วยปืน (เช่นเดียวกับปืนครกหรือแม้กระทั่งปืนกล) พบแพร่หลาย โดยใช้เทคนิคใหม่สำหรับการกำหนดตำแหน่งและการตั้งระยะ ที่โดดเด่นคือ อากาศยานและโทรศัพท์สนามที่ตกค้างบ่อยครั้ง ภารกิจต่อสู้กองร้อยทหารปืนใหญ่ก็ได้กลายมาแพร่หลายเช่นกัน และการตรวจจับเสียงได้ถูกใช้เพื่อค้นหาปืนใหญ่ของข้าศึก
เยอรมนีนำหน้าฝ่ายสัมพันธมิตรไกลในการใช้การเล็งยิงจำลองหนัก กองทัพเยอรมันติดตั้งฮาวอิตเซอร์ขนาด 150 และ 210 มม. ใน ค.ศ. 1914 ขณะที่ปืนใหญ่ตามแบบของฝรั่งเศสและอังกฤษมีขนาดเพียง 75 และ 105 มม. อังกฤษมีฮาวอิตเซอร์ 152 มม. แต่มันหนักเสียจนต้องลำเลียงสู่สนามเป็นชิ้น ๆ และประกอบใหม่ ฝ่ายเยอรมันยังประจำปืนใหญ่ออสเตรีย 305 มม. และ 420 มม. และเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้นนั้น ได้มีรายการมีเนนเวอร์เฟอร์ (Minenwerfer) หลายขนาดลำกล้องแล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับการสงครามสนามเพลาะตามทฤษฎี[184]
การสู้รบมากครั้งข้องเกี่ยวกับการสงครามสนามเพลาะ ซึ่งทหารหลายร้อยนายเสียชีวิตในแผ่นดินแต่ละหลาที่ยึดได้ ยุทธการครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวนมากเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยุทธการเหล่านั้นเช่น อีแปร มาร์น คัมไบร ซอมม์ แวร์เดิง และกัลลิโปลี ฝ่ายเยอรมันนำกระบวนการฮาเบอร์ซึ่งเป็นการตรึงไนโตรเจนมาใช้ เพื่อให้กำลังมีเสบียงดินปืนอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายอังกฤษจะทำการปิดล้อมทางทะเลก็ตาม[185] ปืนใหญ่เป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด[186] และบริโภควัตถุระเบิดปริมาณมหาศาล การบาดเจ็บที่ศีรษะจำนวนมากเกิดขึ้นจากกระสุนปืนใหญ่ที่ระเบิดและการแตกกระจาย ทำให้ชาติที่เข้าร่วมสงครามต้องพัฒนาหมวกเหล็กกล้าสมัยใหม่ นำโดยฝรั่งเศส ซึ่งนำหมวกเอเดรียนมาใช้ใน ค.ศ. 1915 และต่อมาไม่นานอังกฤษและสหรัฐได้ใช้หมวกโบรดี และใน ค.ศ. 1916 โดยหมวกสทาลเฮล์มที่มีเอกลักษณ์ของเยอรมนี ซึ่งการออกแบบและการปรับปรุง ยังใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน
การใช้การสงครามเคมีอย่างแพร่หลายเป็นคุณลักษณะเด่นเฉพาะของความขัดแย้งนี้ แก๊สที่ใช้มีคลอรีน แก๊สมัสตาร์ดและฟอสจีน มีผู้เสียชีวิตจากแก๊สในสงครามเพียงเล็กน้อย[187] เพราะมีวิธีการรับมือการโจมตีด้วยแก๊สที่มีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว เช่น หน้ากากกันแก๊ส ทั้งการใช้สงครามเคมีและการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ขอบเขตเล็กนั้นถูกบัญญัติห้ามโดยอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ. 1907 และทั้งสองพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจำกัด[188] แม้จะจับจินตนาการของสาธารณะก็ตาม
อาวุธติดตั้งภาคพื้นที่ทรงอานุภาพที่สุด คือ ปืนใหญ่รถไฟ (railway gun) ซึ่งแต่ละกระบอกหนักหลายร้อยตัน ปืนใหญ่เหล่านี้มีชื่อเล่นว่า บิกเบอร์ธา เยอรมนีได้พัฒนาปืนใหญ่ปารีส ซึ่งสามารถยิงถล่มกรุงปารีสจากพื้นที่ซึ่งห่างออกไปกว่า 100 กิโลเมตรได้ แม้กระสุนปืนใหญ่จะค่อนข้างเบา โดยมีน้ำหนัก 94 กิโลกรัม แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรจะมีปืนใหญ่รถไฟเช่นเดียวกับเยอรมนี แต่แบบของเยอรมันมีพิสัยไกลกว่าและเหนือชั้นกว่าของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก
การบิน
[แก้]อากาศยานปีกตรึงมีการใช้ในทางทหารครั้งแรกโดยอิตาลีในลิเบียเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ระหว่างสงครามอิตาลี-ตุรกีเพื่อการลาดตระเวน ตามมาด้วยการทิ้งระเบิดมือและการถ่ายภาพทางอากาศในปีต่อมา เมื่อถึง ค.ศ. 1914 ประโยชน์ใช้สอยทางทหารของอากาศยานนั้นปรากฏชัด อากาศยานเหล่านี้เดิมทีใช้เพื่อการลาดตระเวนและโจมตีภาคพื้นดิน ในการยิงเครื่องบินฝ่ายข้าศึก จึงได้มีการพัฒนาปืนต่อสู้อากาศยานและเครื่องบินขับไล่ขึ้น เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ถูกผลิตขึ้น โดยเยอรมนีและอังกฤษเป็นหลัก แม้เยอรมนีจะใช้เซพเพลินด้วยเช่นกัน[189] เมื่อสงครามใกล้ยุติ เรือบรรทุกเครื่องบินจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก
บอลลูนสังเกตการณ์ที่มีคนขับ ลอยสูงเหนือสนามเพลาะ ถูกใช้เป็นแท่นตรวจตราอยู่กับที่ คอยรายงานการเคลื่อนไหวของข้าศึกและชี้เป้าให้ปืนใหญ่ โดยทั่วไปบอลลูนมีลูกเรือสองคน และมีร่มชูชีพติดตัว[190] เผื่อหากมีการโจมตีทางอากาศของข้าศึก ร่มชูชีพจะสามารถกระโดดร่มออกมาได้อย่างปลอดภัย
เมื่อมีการตระหนักถึงคุณค่าของบอลลูนในฐานะแท่นสังเกตการณ์ บอลลูนจึงตกเป็นเป้าสำคัญขออากาศยานข้าศึก ในการป้องกันบอลลูนจากการโจมตีทางอากาศ บอลลูนจึงได้รับการป้องกันอย่างแน่นหนาโดยปืนต่อสู้อากาศยานและมีอากาศยานฝ่ายเดียวกันลาดตระเวน ในการโจมตี ได้มีการทดลองใช้อาวุธไม่ธรรมดาอย่างจรวดอากาศสู่อากาศ ดังนั้น คุณค่าการสังเกตการณ์ของเรือเหาะและบอลลูนจึงได้มีส่วนต่อการพัฒนาการสู้รบแบบอากาศสู่อากาศระหว่างอากาศยานทุกประเภท และต่อภาวะคุมเชิงกันในสนามเพลาะ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ได้โดยไม่ถูกสังเกตพบ เยอรมนีดำเนินการตีโฉบฉวยทางอากาศต่ออังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1915 และ 1916 ด้วยเรือบิน โดยหวังว่าจะบั่นทอนขวัญกำลังใจของอังกฤษและส่งผลให้อากาศยานถูกเบี่ยงเบนไปจากแนวหน้า และที่จริง ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นตามมาได้นำไปสู่การเบี่ยงเบนฝูงเครื่องบินขับไหล่หลายฝูงจากฝรั่งเศส[189][191]
เทคโนโลยีนาวิก
[แก้]เยอรมนีวางเรืออู (เรือดำน้ำ) หลังสงครามอุบัติ โดยเปลี่ยนไปมาระหว่างการสงครามเรือดำน้ำจำกัดและไม่จำกัดในมหาสมุทรแอตแลนติก ไกเซอร์ลีเชอมารีนจัดวางเพื่อตัดทอนเสบียงสำคัญมิให้ไปถึงหมู่เกาะอังกฤษ การเสียชีวิตของกะลาสีเรือพาณิชย์อังกฤษและการที่เรืออูดูเหมือนอยู่คงกระพันนำไปสู่การพัฒนาทุ่นระเบิดน้ำลึก (ค.ศ. 1916), ไฮโดรโฟน (โซนาร์เชิงรับ, ค.ศ. 1917), เรือเหาะ (blimp), เรือดำน้ำล่าสังหาร (เรือหลวงอาร์-1, ค.ศ. 1917), อาวุธต่อสู้เรือดำน้ำโยนไปด้านหน้า และไฮโดรโฟนจุ่ม (สองอย่างนี้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1918) เพื่อขยายขอบเขตการปฏิบัติ เยอรมนีได้เสนอเรือดำน้ำเสบียง (ค.ศ. 1916) เทคโนโลยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกลืมไปหลังสงครามยุติ ก่อนได้รับการรื้อฟื้นใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ
เทคโนโลยีการสงครามภาคพื้น
[แก้]สนามเพลาะ ปืนกล การสอดแนมทางอากาศ รั้วลวดหนามและปืนใหญ่สมัยใหม่ซึ่งมีกระสุนลูกปรายมีส่วนให้แนวสู้รบของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่อาจเอาชนะกันได้เด็ดขาด อังกฤษมองหาทางออกด้วยการสร้างการสงครามรถถังและยานยนต์ขึ้น รถถังคันแรก ๆ ถูกใช้ระหว่างยุทธการซอมม์เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1916 ความน่าเชื่อถือยานยนต์นั้นเป็นปัญหา แต่การทดลองพิสูจน์ถึงคุณค่าของมัน ภายในหนึ่งปี อังกฤษส่งรถถังเข้าสู่สนามรบหลายร้อยคัน และพวกมันได้แสดงแสงยานุภาพระหว่างยุทธการคัมไบรในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ด้วยการเจาะแนวฮินเดินบวร์ค ขณะที่กำลังผสมจับกุมทหารข้าศึกเป็นเชลยได้ 8,000 นาย และยึดปืนใหญ่ได้ 100 กระบอก สงครามยังได้มีการนำอาวุธกลเบาและปืนกลมือ เช่น ปืนลิวอิส ไรเฟิลอัตโนมัติบราวนิง และเบิร์กทันน์ เอ็มเพ 18
อาชญากรรมสงคราม
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
สยามกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
[แก้]กองทหารสยามในดินแดนเยอรมนี
[แก้]สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 สยามตั้งตัวเป็นกลาง จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 สยามจึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และได้ส่งทหารอาสาสมัครไปช่วยรบ 1,284 คน ทั้งนี้รวมทั้งนายและพลทหาร สมทบกับนักเรียนไทยในนานาประเทศอีกประมาณ 400 คน รวมทหารอาสาสมัครทั้งหมดประมาณ 1,600 คน
ทหารอาสาออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2461 ถึงประเทศฝรั่งเศสอยู่ใต้บัญชาการของนายพล เปแตง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ไปปฏิบัติการในสมรภูมิประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมโดยการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นและอังกฤษ ในการยึดแนวข้าศึกบริเวณอาณาเขตของเยอรมันทำให้มีทหารเสียชีวิต ระหว่างการรบ
ภายหลังสงคราม สยามได้ขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ทำไว้เดิมกับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ฯลฯ โดยแก้ไขจากสนธิสัญญาเดิมที่สยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบให้ได้ประโยชน์ดีขึ้น นอกจากนี้ สยามยังได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติอีกด้วย
ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น มีความสำคัญดังนี้
- เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศ
- ได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสนธิสัญญาแวร์ซาย
- เมื่อสงครามสงบได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มขององค์การสันนิบาตชาติ เป็นหลักประกันเอกราชและความปลอดภัยของประเทศ
- ได้แก้ไขสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นผลสำเร็จ ยกเลิกสัญญาต่าง ๆ ที่ไทยทำกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และทำสัญญากับประเทศต่าง ๆ ใหม่ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายไทยมากขึ้น
- ได้ยึดทรัพย์จากเชลย
- เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ เพื่อนำไปใช้ในกองทัพไทยที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- สร้างอนุสาวรีย์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา วงเวียน 22 กรกฎา สมาคมสหายสงคราม เป็นต้น
- มีการจัดทหารแบบยุโรป และเริ่มจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก เดิมอยู่ในสังกัด กองทัพบก และต่อมาได้วิวัฒนาการมาจนกลายเป็น กองทัพอากาศ ในปัจจุบัน
ดูเพิ่ม
[แก้]- รายชื่อทหารผ่านศึกคนสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- รายชื่อภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
หมายเหตุ
[แก้]- ↑ มักย่อเป็น WWI หรือ WW1; หรือมีการเรียกขานกันว่า มหาสงคราม (อังกฤษ: the Great War)
- ↑ รัฐที่สืบทอดจากจักรวรรดิรัสเซียเดิมอย่างสหภาพโซเวียต ยังคงรักษาพรมแดนที่ใกล้เคียงกับในอดีตไว้ได้ ผ่านการปกป้องและกู้คืนดินแดนที่สูญเสียไปอย่างรวดเร็ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Tucker & Roberts 2005, p. 273
- ↑ "British Army statistics of the Great War". 1914-1918.net. สืบค้นเมื่อ 13 December 2011.
- ↑ Figures are for the British Empire
- ↑ Figures are for Metropolitan France and its colonies
- ↑ "Were they always called World War I and World War II?". Ask History. สืบค้นเมื่อ 24 October 2013.
- ↑ Braybon 2004, p. 8.
- ↑ "great, adj., adv., and n". Oxford English Dictionary.
- ↑ "The war to end all wars". BBC News. 10 November 1998. สืบค้นเมื่อ 15 December 2015.
- ↑ Margery Fee and Janice McAlpine. Guide to Canadian English Usage. (Oxford UP, 1997), p. 210.
- ↑ Clark 2013, pp. 121–152.
- ↑ Theodore Zeldin, France, 1848–1945: Volume II: Intellect, Taste, and Anxiety (1977) 2: 117.
- ↑ Willmott 2003, p. [ต้องการเลขหน้า].
- ↑ Keegan 1998, p. 52.
- ↑ Medlicott, W.N. (1945). "Bismarck and the Three Emperors' Alliance, 1881–87". Transactions of the Royal Historical Society. 27: 66–70. doi:10.2307/3678575. JSTOR 3678575.
- ↑ Keenan, George (1986). The Fateful Alliance: France, Russia and the Coming of the First World War. Manchester University Press. p. 20. ISBN 978-0719017070.
- ↑ Willmott 2003, p. 15
- ↑ Fay, Sidney B. (1930). The Origins of the World War. Vol. 1 (2nd ed.). pp. 290–293.
- ↑ 18.0 18.1 Willmott 2003, p. 21
- ↑ Holger Herwig,"The Failure of German Sea Power, 1914–1945: Mahan, Tirpitz, and Raeder Reconsidered", The International History Review, 10:1 (February 1988), 72–73.
- ↑ Moll, Luebbert; Kendall, Gregory (1980). "Arms Race and Military Expenditure Models: A Review". The Journal of Conflict Resolution. 24 (1): 153–185. doi:10.1177/002200278002400107. JSTOR 173938.
- ↑ Stevenson 2016, p. 45.
- ↑ Stevenson 2016, p. 42.
- ↑ Keegan 1998, pp. 48–49.
- ↑ Clark, Christopher M. (2012). The Sleepwalkers: How Europe Went to War in 1914. London: Allen Lane. pp. 251–252. ISBN 9780713999426. LCCN 2012515665.
- ↑ Finestone, Jeffrey; Massie, Robert K. (1981). The last courts of Europe. Dent. p. 247.
- ↑ Smith 2010.
- ↑ "European powers maintain focus despite killings in Sarajevo – This Day in History". History.com. 30 June 1914. สืบค้นเมื่อ 26 December 2013.
- ↑ Willmott 2003, p. 26.
- ↑ Clark, Christopher (25 June 2014). Month of Madness. BBC Radio 4.
- ↑ Djordjević, Dimitrije; Spence, Richard B. (1992). Scholar, patriot, mentor: historical essays in honor of Dimitrije Djordjević. East European Monographs. p. 313. ISBN 978-0-88033-217-0.
Following the assassination of Franz Ferdinand in June 1914, Croats and Muslims in Sarajevo joined forces in an anti-Serb pogrom.
- ↑ Reports Service: Southeast Europe series. American Universities Field Staff. 1964. p. 44. สืบค้นเมื่อ 7 December 2013.
... the assassination was followed by officially encouraged anti-Serb riots in Sarajevo ...
- ↑ Kröll, Herbert (2008). Austrian-Greek encounters over the centuries: history, diplomacy, politics, arts, economics. Studienverlag. p. 55. ISBN 978-3-7065-4526-6. สืบค้นเมื่อ 1 September 2013.
... arrested and interned some 5.500 prominent Serbs and sentenced to death some 460 persons, a new Schutzkorps, an auxiliary militia, widened the anti-Serb repression.
- ↑ Tomasevich 2001, p. 485.
- ↑ Schindler, John R. (2007). Unholy Terror: Bosnia, Al-Qa'ida, and the Rise of Global Jihad. Zenith Imprint. p. 29. ISBN 978-1-61673-964-5.
- ↑ Velikonja 2003, p. 141.
- ↑ Willmott 2003, p. 27.
- ↑ Fromkin, David; Europe's Last Summer: Why the World Went to War in 1914, Heinemann, 2004; pp. 196–97.
- ↑ L. F. C. Turner, "The Russian Mobilization in 1914." Journal of Contemporary History 3.1 (1968): 65-88 online.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อauto
- ↑ "Verordnung, betreffend die Erklärung des Kriegszustandes". Reichs-gesetzblatt (ภาษาเยอรมัน). 31 July 1914. LCCN 14013198.
- ↑ Christopher Clark, The Sleepwalkers (2012) p. 539.
- ↑ "On This Day, March 24, 1917. Kaiser's spy in north". The Irish News. Belfast. 24 March 2017.
- ↑ Coogan, Tim Pat (2009). Ireland in the 20th Century. London: Random Houe. p. 48. ISBN 9780099415220.
- ↑ Preston, Richard (1 August 2014). "First World War centenary: how the events of August 1 1914 unfolded". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-25. สืบค้นเมื่อ 2020-08-23 – โดยทาง www.telegraph.co.uk.
- ↑ McMeekin, Sean, July 1914: Countdown to War, Basic Books, 2014, 480 p., ISBN 978-0465060740, pp. 342, 349
- ↑ Crowe 2001, pp. 4–5.
- ↑ Dell, Pamela (2013). A World War I Timeline (Smithsonian War Timelines Series). Capstone. pp. 10–12. ISBN 978-1-4765-4159-4.
- ↑ Willmott 2003, p. 29.
- ↑ "Daily Mirror Headlines: The Declaration of War, Published 4 August 1914". BBC. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
- ↑ Strachan 2003, pp. 292–296, 343–354
- ↑ Tucker & Roberts 2005, p. 172.
- ↑ Schindler, John R. (1 April 2002). "Disaster on the Drina: The Austro-Hungarian Army in Serbia, 1914". War in History. 9 (2): 159–195. doi:10.1191/0968344502wh250oa.
- ↑ "Veliki rat – Avijacija". rts.rs. RTS, Radio televizija Srbije, Radio Television of Serbia.
- ↑ "How was the first military airplane shot down". National Geographic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 August 2015. สืบค้นเมื่อ 5 August 2015.
- ↑ 55.0 55.1 Stevenson 2004, p. 22.
- ↑ Horne 1964, p. 22.
- ↑ Stevenson 2004, p. 23.
- ↑ Holmes 2014, pp. 194, 211.
- ↑ Donko 2012, p. 79.
- ↑ Keegan 1998, pp. 224–232.
- ↑ Falls 1960, pp. 79–80.
- ↑ Farwell 1989, p. 353
- ↑ Raudzens 1990, p. 424.
- ↑ Raudzens 1990, pp. 421–423.
- ↑ Gilbert 1994, p. 99.
- ↑ Goodspeed 1985, p. 199 (footnote).
- ↑ Duffy, Michael (22 August 2009). "Weapons of War: Poison Gas". Firstworldwar.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 August 2007. สืบค้นเมื่อ 5 July 2012.
- ↑ Love 1996.
- ↑ Lichfield, John (21 February 2006). "Verdun: myths and memories of the 'lost villages' of France". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 October 2017. สืบค้นเมื่อ 23 July 2013.
- ↑ Harris 2008, p. 271.
- ↑ "Living conditions". Trench Warfare. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 April 2018. สืบค้นเมื่อ 19 April 2018.
- ↑ Taylor2007, pp. 39–47
- ↑ Keene 2006, pp. 5
- ↑ Halpern 1995, p. 293
- ↑ Zieger 2001, pp. 50
- ↑ Tucker & Roberts 2005, pp. 619–24
- ↑ 77.0 77.1 77.2 77.3 Sheffield, Garry, "The First Battle of the Atlantic", World Wars In Depth, BBC, สืบค้นเมื่อ 2009-11-11
- ↑ Gilbert 2004, p. 306
- ↑ von der Porten 1969
- ↑ Jones 2001, p. 80
- ↑ "Nova Scotia House of Assembly Committee on Veterans' Affairs", Hansard, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-13, สืบค้นเมื่อ 2007-10-30
- ↑ Roger Chickering, Stig Förster, Bernd Greiner, German Historical Institute (Washington, D.C.) (2005). "A world at total war: global conflict and the politics of destruction, 1937-1945". Cambridge University Press. p.73. ISBN 0-521-83432-5
- ↑ "(DOCID+yu0021) The Balkan Wars and World War I". Library of Congress Country Studies.
- ↑ Neiberg 2005, pp. 54–55
- ↑ Tucker & Roberts 2005, pp. 1075–6
- ↑ Neiberg 2005, pp. 108–10
- ↑ Tucker, Wood & Murphy 1999, p. 120
- ↑ Robert A. Doughty (2005), Pyrrhic victory: French strategy and operations in the Great War, Harvard University Press, 2005;, p. 491, ISBN 9780674018808, สืบค้นเมื่อ 2010-10-03
{{citation}}
: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) - ↑ 89.0 89.1 N.Korsun. "The Balkan Front of the World War" (ภาษารัสเซีย). militera.lib.ru. สืบค้นเมื่อ 2010-09-27.
- ↑ Fromkin 2001, p. 119
- ↑ 91.0 91.1 Hinterhoff 1984, pp. 499–503
- ↑ Sachar, pp. 122–138
- ↑ Gilbert 1994
- ↑ The Battles of the Isonzo, 1915-17, FirstWorldWar.com
- ↑ Battlefield Maps: Italian Front, FirstWorldWar.com
- ↑ Hickey 2003, pp. 60–65
- ↑ "The Battle of Marasti (July 1917)". WorldWar2.ro. 1917-07-22. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
- ↑ Cyril Falls, The Great War, p. 285
- ↑ Béla 1998, p. 429.
- ↑ Béla, Köpeczi, History of Transylvania, Akadémiai Kiadó, ISBN 848371020X
- ↑ Erlikman 2004, p. 51.
- ↑ Tucker 2005, p. 715
- ↑ Meyer 2006, pp. 152–4, 161, 163, 175, 182
- ↑ 104.0 104.1 Smele
- ↑ Schindler 2003
- ↑ Wheeler-Bennett 1956
- ↑ Mawdsley 2008, pp. 54–55
- ↑ Kernek 1970, pp. 721–766
- ↑ Stracham (1998), p. 61
- ↑ Lyons 1999, p. 243
- ↑ Marshall, 292.
- ↑ Heyman 1997, pp. 146–147
- ↑ Kurlander 2006
- ↑ Shanafelt 1985, pp. 125–30
- ↑ Brands 1997, p. 756
- ↑ Karp 1979
- ↑ Tuchman 1966
- ↑ "Selective Service System: History and Records". Sss.gov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-07. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27.
- ↑ Wilgus, p. 52
- ↑ "African Americans during World War I".
- ↑ Millett & Murray 1988, p. 143
- ↑ Westwell 2004
- ↑ Posen 1984, pp. 190&191
- ↑ Gray 1991, p. 86
- ↑ 125.0 125.1 Moon 1996, pp. 495–196
- ↑ Rickard 2007
- ↑ 127.0 127.1 The Battle of Amiens: 8 August 1918, Australian War Memorial, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16, สืบค้นเมื่อ 2008-12-12
- ↑ Amiens Map, Australian War Memorial, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-17, สืบค้นเมื่อ 2009-10-24 (archived 2007-06-17)
- ↑ Rickard 2001
- ↑ 130.0 130.1 Terraine 1963
- ↑ 131.0 131.1 131.2 Pitt 2003
- ↑ Maurice 1918
- ↑ 133.0 133.1 133.2 133.3 Gray & Argyle 1990
- ↑ Nicholson 1962
- ↑ Ludendorff 1919
- ↑ Jenkins 2009, p. 215
- ↑ McLellan, p. 49
- ↑ Gibbs 1918b
- ↑ Gibbs 1918a
- ↑ Stevenson 2004, p. 380
- ↑ Hull 2006, pp. 307–10
- ↑ Stevenson 2004, p. 383
- ↑ Stevenson 2004
- ↑ Clairière de l'Armistice (ภาษาฝรั่งเศส), Ville de Compiègne, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-27, สืบค้นเมื่อ 2008-12-03
- ↑ 145.0 145.1 "1918 Timeline". League of Nations Photo Archive. สืบค้นเมื่อ 2009-11-20.
- ↑ Lindsay, Robert, "The Last Hours", 28th (Northwest) Battalion Headquarters, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-09, สืบค้นเมื่อ 2009-11-20
- ↑ John Hayes-Fisher (October 29, 2008), The last soldiers to die in World War I, BBC Magazine, สืบค้นเมื่อ 2012-12-06
- ↑ Tomas (February 15, 2010), 11 Facts about the End of the Great War, สืบค้นเมื่อ 2012-12-06
- ↑ Baker 2006
- ↑ Chickering 2004, pp. 185–188
- ↑ "France's oldest WWI veteran dies" เก็บถาวร 28 ตุลาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, BBC News, 20 January 2008.
- ↑ Tucker & Roberts 2005, p. 273
- ↑ Hastedt, Glenn P. (2009). Encyclopedia of American Foreign Policy. Infobase Publishing. p. 483. ISBN 978-1-4381-0989-3.
- ↑ Murrin, John; Johnson, Paul; McPherson, James; Gerstle, Gary; Fahs, Alice (2010). Liberty, Equality, Power: A History of the American People. Vol. II. Cengage Learning. p. 622. ISBN 978-0-495-90383-3.
- ↑ "Harding Ends War; Signs Peace Decree at Senator's Home. Thirty Persons Witness Momentous Act in Frelinghuysen Living Room at Raritan". The New York Times. 3 July 1921. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 December 2013. สืบค้นเมื่อ 18 September 2017.
- ↑ "No. 31773". The London Gazette. 10 February 1920. p. 1671.
- ↑ "No. 31991". The London Gazette. 23 July 1920. pp. 7765–7766.
- ↑ "No. 13627". The London Gazette. 27 August 1920. p. 1924.
- ↑ "No. 32421". The London Gazette. 12 August 1921. pp. 6371–6372.
- ↑ "No. 32964". The London Gazette. 12 สิงหาคม 1924. pp. 6030–6031.
- ↑ "Dates on war memorials" (PDF). War Memorials Trust. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2021. สืบค้นเมื่อ 4 January 2021.
- ↑ Ide, Tobias; Bruch, Carl; Carius, Alexander; Conca, Ken; Dabelko, Geoffrey D.; Matthew, Richard; Weinthal, Erika (2021). "The past and future(s) of environmental peacebuilding". International Affairs. 97: 1–16. doi:10.1093/ia/iiaa177. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 January 2021. สืบค้นเมื่อ 31 March 2021.
- ↑ Magliveras 1999, pp. 8–12.
- ↑ Northedge 1986, pp. 35–36.
- ↑ Morrow, John H. (2005). The Great War: An Imperial History. London: Routledge. p. 290. ISBN 978-0-415-20440-8.
- ↑ Schulze, Hagen (1998). Germany: A New History. Harvard U.P. p. 204.
- ↑ Ypersele, Laurence Van (2012). "Mourning and Memory, 1919–45". ใน Horne, John (บ.ก.). A Companion to World War I. Wiley. p. 584.
- ↑ "The Surrogate Hegemon in Polish Postcolonial Discourse Ewa Thompson, Rice University" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2013. สืบค้นเมื่อ 27 October 2013.
- ↑ "Open-Site:Hungary". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 January 2022. สืบค้นเมื่อ 11 January 2022.
- ↑ Frucht, p. 356.
- ↑ Kocsis, Károly; Hodosi, Eszter Kocsisné (1998). Ethnic Geography of the Hungarian Minorities in the Carpathian Basin. Geographical Research Institute, Research Centre and Earth Sciences. p. 19. ISBN 978-963-7395-84-0.
- ↑ Clark 1927.
- ↑ "Appeals to Americans to Pray for Serbians" (PDF). The New York Times. 27 July 1918. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 12 June 2018.
- ↑ "Serbia Restored" (PDF). The New York Times. 5 November 1918. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 12 June 2018.
- ↑ Simpson, Matt (22 August 2009). "The Minor Powers During World War One – Serbia". firstworldwar.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 April 2010. สืบค้นเมื่อ 27 May 2010.
- ↑ Cas Mudde. Racist Extremism in Central and Eastern Europe เก็บถาวร 15 พฤษภาคม 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "'ANZAC Day' in London; King, Queen, and General Birdwood at Services in Abbey". The New York Times. 26 April 1916. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2016. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.
- ↑ Australian War Memorial. "The ANZAC Day tradition". Australian War Memorial. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2008. สืบค้นเมื่อ 2 May 2008.
- ↑ "The Diaspora Welcomes the Pope" เก็บถาวร 4 มิถุนายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Der Spiegel Online. 28 November 2006.
- ↑ Rummel, R.J. (1998). "The Holocaust in Comparative and Historical Perspective". Idea Journal of Social Issues. 3 (2).
- ↑ Hedges, Chris (17 September 2000). "A Few Words in Greek Tell of a Homeland Lost". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 November 2018. สืบค้นเมื่อ 23 February 2017.
- ↑ Hartcup 1988, p. 154
- ↑ Hartcup 1988, pp. 82–86
- ↑ Mosier 2001, pp. 42–48
- ↑ Harcup 1988
- ↑ Raudzens, p. 421
- ↑ Raudzens
- ↑ Heller 1984
- ↑ 189.0 189.1 Cross 1991
- ↑ Winter 1983
- ↑ Johnson 2001
บรรณานุกรม
[แก้]แหล่งข้อมูล
[แก้]- Axelrod, Alan (2018). How America Won World War I. Rowman & Littlefield. ISBN 978-1-4930-3192-4.
- Ayers, Leonard Porter (1919). The War with Germany: A Statistical Summary. Government Printing Office.
- Bade, Klaus J.; Brown, Allison (tr.) (2003). Migration in European History. The making of Europe. Oxford: Blackwell. ISBN 978-0-631-18939-8. OCLC 52695573. (translated from the German)
- Baker, Kevin (June 2006). "Stabbed in the Back! The past and future of a right-wing myth". Harper's Magazine.
- Ball, Alan M. (1996). And Now My Soul Is Hardened: Abandoned Children in Soviet Russia, 1918–1930. Berkeley: University of California Press. ISBN 978-0-520-20694-6., reviewed in Hegarty, Thomas J. (March–June 1998). "And Now My Soul Is Hardened: Abandoned Children in Soviet Russia, 1918–1930". Canadian Slavonic Papers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 May 2013. (via Highbeam.com)
- Barrett, Michael B (2013). Prelude to Blitzkrieg: The 1916 Austro-German Campaign in Romania. Indiana University Press. ISBN 978-0253008657.
- Barry, J.M. (2004). The Great Influenza: The Epic Story of the Greatest Plague in History. Viking Penguin. ISBN 978-0-670-89473-4.
- Bass, Gary Jonathan (2002). Stay the Hand of Vengeance: The Politics of War Crimes Tribunals. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. p. 424. ISBN 978-0-691-09278-2. OCLC 248021790.
- Beckett, Ian (2007). The Great War. Longman. ISBN 978-1-4058-1252-8.
- Béla, Köpeczi (1998). History of Transylvania. Akadémiai Kiadó. ISBN 978-84-8371-020-3.
- Blair, Dale (2005). No Quarter: Unlawful Killing and Surrender in the Australian War Experience, 1915–1918. Charnwood, Australia: Ginninderra Press. ISBN 978-1-74027-291-9. OCLC 62514621.
- Brands, Henry William (1997). T.R.: The Last Romantic. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-06958-3. OCLC 36954615.
- Braybon, Gail (2004). Evidence, History, and the Great War: Historians and the Impact of 1914–18. Berghahn Books. p. 8. ISBN 978-1-57181-801-0.
- Brown, Judith M. (1994). Modern India: The Origins of an Asian Democracy. Oxford and New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-873113-9.
- Brown, Malcolm (1998). 1918: Year of Victory (1999 ed.). Pan. ISBN 978-0-330-37672-3.
- Butcher, Tim (2014). The Trigger: Hunting the Assassin Who Brought the World to War (2015 ed.). Vintage. ISBN 978-0-09-958133-8.
- Cazacu, Gheorghe (2013). "Voluntarii români ardeleni din Rusia în timpul Primului Război Mondial [Transylvanian Romanian volunteers in Russia during the First World War]". Astra Salvensis (ภาษาโรมาเนีย) (1): 89–115.
- Chickering, Rodger (2004). Imperial Germany and the Great War, 1914–1918. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-83908-2. OCLC 55523473.
- Christie, Norm M (1997). The Canadians at Cambrai and the Canal du Nord, August–September 1918. CEF Books. ISBN 978-1-896979-18-2.
- Clayton, Anthony (2003). Paths of Glory; the French Army 1914–1918. Cassell. ISBN 978-0-304-35949-3.
- Clark, Charles Upson (1927). Bessarabia, Russia and Roumania on the Black Sea. New York: Dodd, Mead. OCLC 150789848. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 2019. สืบค้นเมื่อ 6 November 2008.
- Clark, Christopher (2013). The Sleepwalkers: How Europe Went to War in 1914. HarperCollins. ISBN 978-0-06-219922-5.
- Cockfield, Jamie H. (1997). With snow on their boots: The tragic odyssey of the Russian Expeditionary Force in France during World War I. Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-312-22082-2.
- Coffman, Edward M. (1969). The War to End All Wars: The American Military Experience in World War I (1998 ed.). OUP. ISBN 978-0-19-631724-3.
- Conlon, Joseph M. The historical impact of epidemic typhus (PDF). Montana State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 11 June 2010. สืบค้นเมื่อ 21 April 2009.
- Coogan, Tim (2009). Ireland in the 20th Century. Random House. ISBN 978-0-09-941522-0.
- Cook, Tim (2006). "The politics of surrender: Canadian soldiers and the killing of prisoners in the First World War". The Journal of Military History. 70 (3): 637–665. doi:10.1353/jmh.2006.0158. S2CID 155051361.
- Cooper, John Milton (2009). Woodrow Wilson: A Biography. Alfred Knopf. ISBN 978-0-307-26541-8.
- Crampton, R. J. (1994). Eastern Europe in the twentieth century. Routledge. ISBN 978-0-415-05346-4.
- Crisp, Olga (1976). Studies in the Russian Economy before 1914. Palgrave Macmillan. ISBN 978-0-333-16907-0.
- Cross, Wilbur L. (1991). Zeppelins of World War I. New York: Paragon Press. ISBN 978-1-55778-382-0. OCLC 22860189.
- Crowe, David (2001). The Essentials of European History: 1914 to 1935, World War I and Europe in crisis. Research and Education Association. ISBN 978-0-87891-710-5.
- DiNardo, Richard (2015). Invasion: The Conquest of Serbia, 1915. Santa Barbara, California: Praeger. ISBN 978-1-4408-0092-4.
- Damian, Stefan (2012). "Volantini di guerra: la lingua romena in Italia nella propaganda del primo conflitto mondiale [War leaflets: the Romanian language in Italy in WWI propaganda]". Orrizonti Culturali Italo-Romeni (ภาษาอิตาลี). 1.
- Djokić, Dejan (2003). Yugoslavism: histories of a failed idea, 1918–1992. London: Hurst. OCLC 51093251.
- Donko, Wilhelm (2012). A Brief History of the Austrian Navy. epubli GmbH. ISBN 978-3-8442-2129-9.
- Doughty, Robert A. (2005). Pyrrhic victory: French strategy and operations in the Great War. Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01880-8.
- Dumitru, Laurentiu-Cristian (2012). "Preliminaries of Romania's entering the World War I". Bulletin of "Carol I" National Defence University, Bucharest. 1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 March 2022. สืบค้นเมื่อ 14 March 2022.
- Dupuy, R. Ernest and Trevor N. (1993). The Harper's Encyclopedia of Military History (4th ed.). Harper Collins Publishers. ISBN 978-0-06-270056-8.
- Erickson, Edward J. (2001). Ordered to Die: A History of the Ottoman Army in the First World War. Contributions in Military Studies. Vol. 201. Westport, Connecticut: Greenwood Press. ISBN 978-0-313-31516-9. OCLC 43481698.
- Erlikman, Vadim (2004). Poteri narodonaseleniia v XX veke [Population loss in the 20th century] (ภาษารัสเซีย). Spravochnik.
- Evans, Leslie (2005). Future of Iraq, Israel-Palestine Conflict, and Central Asia Weighed at International Conference. UCLA International Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 May 2008. สืบค้นเมื่อ 30 December 2008.
- Falls, Cyril Bentham (1960). The First World War. London: Longmans. ISBN 978-1-84342-272-3. OCLC 460327352.
- Falls, Cyril Bentham (1961). The Great War. New York: Capricorn Books. OCLC 1088102671.
- Farwell, Byron (1989). The Great War in Africa, 1914–1918. W.W. Norton. ISBN 978-0-393-30564-7.
- Fay, Sidney B (1930). The Origins of the World War; Volume I (2nd ed.).
- Ferguson, Niall (1999). The Pity of War. New York: Basic Books. ISBN 978-0-465-05711-5. OCLC 41124439.
- Ferguson, Niall (2006). The War of the World: Twentieth-Century Conflict and the Descent of the West. New York: Penguin Press. ISBN 978-1-59420-100-4.
- Finestone, Jeffrey; Massie, Robert K. (1981). The last courts of Europe. JM Dent & Sons. ISBN 978-0-460-04519-3.
- Fornassin, Alessio (2017). "The Italian Army's Losses in the First World War". Population. 72 (1): 39–62. doi:10.3917/popu.1701.0039.
- Fromkin, David (1989). A Peace to End All Peace: The Fall of the Ottoman Empire and the Creation of the Modern Middle East. New York: Henry Holt and Co. ISBN 978-0-8050-0857-9.
- Fromkin, David (2004). Europe's Last Summer: Who Started the Great War in 1914?. Alfred A. Knopf. ISBN 978-0-375-41156-4. OCLC 53937943.
- Gardner, Hall (2015). The Failure to Prevent World War I: The Unexpected Armageddon. Routledge. ISBN 978-1472430564.
- Gelvin, James L. (2005). The Israel-Palestine Conflict: One Hundred Years of War. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-85289-0. OCLC 59879560.
- Grant, R.G. (2005). Battle: A Visual Journey Through 5,000 Years of Combat. DK Publishing. ISBN 978-0-7566-5578-5.
- Gray, Randal; Argyle, Christopher (1990). Chronicle of the First World War. New York: Facts on File. ISBN 978-0-8160-2595-4. OCLC 19398100.
- Gilbert, Martin (1994). First World War. Stoddart Publishing. ISBN 978-077372848-6.
- Goodspeed, Donald James (1985). The German Wars 1914–1945. New York: Random House; Bonanza. ISBN 978-0-517-46790-9.
- Gray, Randal (1991). Kaiserschlacht 1918: the final German offensive. Osprey. ISBN 978-1-85532-157-1.
- Green, John Frederick Norman (1938). "Obituary: Albert Ernest Kitson". Geological Society Quarterly Journal. 94.
- Grotelueschen, Mark Ethan (2006). The AEF Way of War: The American Army and Combat in World War I. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-86434-3.
- Halpern, Paul G. (1995). A Naval History of World War I. New York: Routledge. ISBN 978-1-85728-498-0. OCLC 60281302.
- Hardach, Gerd (1977). The First World War, 1914–1918. Allne Lane. ISBN 978-0-7139-1024-7.
- Harris, J.P. (2008). Douglas Haig and the First World War (2009 ed.). CUP. ISBN 978-0-521-89802-7.
- Hartcup, Guy (1988). The War of Invention; Scientific Developments, 1914–18. Brassey's Defence Publishers. ISBN 978-0-08-033591-9.
- Havighurst, Alfred F. (1985). Britain in transition: the twentieth century (4th ed.). University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-31971-1.
- Heller, Charles E. (1984). Chemical warfare in World War I: the American experience, 1917–1918. Fort Leavenworth, Kansas: Combat Studies Institute. OCLC 123244486. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2007.
- Herwig, Holger (1988). "The Failure of German Sea Power, 1914–1945: Mahan, Tirpitz, and Raeder Reconsidered". The International History Review. 10 (1): 68–105. doi:10.1080/07075332.1988.9640469. JSTOR 40107090.
- Heyman, Neil M. (1997). World War I. Guides to historic events of the twentieth century. Westport, Connecticut: Greenwood Press. ISBN 978-0-313-29880-6. OCLC 36292837.
- Hickey, Michael (2003). The Mediterranean Front 1914–1923. The First World War. Vol. 4. New York: Routledge. pp. 60–65. ISBN 978-0-415-96844-7. OCLC 52375688.
- Hinterhoff, Eugene (1984). "The Campaign in Armenia". ใน Young, Peter (บ.ก.). Marshall Cavendish Illustrated Encyclopedia of World War I. Vol. ii. New York: Marshall Cavendish. ISBN 978-0-86307-181-2.
- Holmes, T.M. (April 2014). "Absolute Numbers: The Schlieffen Plan as a Critique of German Strategy in 1914". War in History. XXI (2): 194, 211. ISSN 1477-0385.
- Hooker, Richard (1996). The Ottomans. Washington State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 October 1999.
- Horne, Alistair (1964). The Price of Glory (1993 ed.). Penguin. ISBN 978-0-14-017041-2.
- Horne, John; Kramer, Alan (2001). German Atrocities, 1914: A History of Denial. Yale University Press. OCLC 47181922.
- Hovannisian, Richard G. (1967). Armenia on the Road to Independence, 1918. Berkeley: University of California Press. ISBN 978-0-520-00574-7.
- Howard, N.P. (1993). "The Social and Political Consequences of the Allied Food Blockade of Germany, 1918–19". German History. 11 (2): 161–188. doi:10.1093/gh/11.2.161.
- Hull, Isabel Virginia (2006). Absolute destruction: military culture and the practices of war in Imperial Germany. Cornell University Press. ISBN 978-0-8014-7293-0.
- Humphries, Mark Osborne (2007). ""Old Wine in New Bottles": A Comparison of British and Canadian Preparations for the Battle of Arras". ใน Hayes, Geoffrey; Iarocci, Andrew; Bechthold, Mike (บ.ก.). Vimy Ridge: A Canadian Reassessment. Waterloo: Wilfrid Laurier University Press. ISBN 978-0-88920-508-6.
- Inglis, David (1995). Vimy Ridge: 1917–1992, A Canadian Myth over Seventy Five Years (PDF). Burnaby: Simon Fraser University. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 23 July 2013.
- Isaac, Jad; Hosh, Leonardo (7–9 May 1992). Roots of the Water Conflict in the Middle East. University of Waterloo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 September 2006.
- Jackson, Julian (2018). A Certain Idea of France: The Life of Charles de Gaulle. Allen Lane. ISBN 978-1-84614-351-9.
- Jelavich, Barbara (1992). "Romania in the First World War: The Pre-War Crisis, 1912-1914". The International History Review. 14 (3): 441–451. doi:10.1080/07075332.1992.9640619. JSTOR 40106597.
- Johnson, James Edgar (2001). Full Circle: The Story of Air Fighting. London: Cassell. ISBN 978-0-304-35860-1. OCLC 45991828.
- Jones, Howard (2001). Crucible of Power: A History of US Foreign Relations Since 1897. Scholarly Resources Books. ISBN 978-0-8420-2918-6. OCLC 46640675.
- Kaplan, Robert D. (February 1993). "Syria: Identity Crisis". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 December 2018. สืบค้นเมื่อ 30 December 2008.
- Karp, Walter (1979). The Politics of War (1st ed.). ISBN 978-0-06-012265-2. OCLC 4593327.
- Keegan, John (1998). The First World War. Hutchinson. ISBN 978-0-09-180178-6.
- Keenan, George (1986). The Fateful Alliance: France, Russia and the Coming of the First World War. Manchester University Press. ISBN 978-0-7190-1707-0.
- Keene, Jennifer D (2006). World War I. Daily Life Through History Series. Westport, Connecticut: Greenwood Press. p. 5. ISBN 978-0-313-33181-7. OCLC 70883191.
- Kernek, Sterling (December 1970). "The British Government's Reactions to President Wilson's 'Peace' Note of December 1916". The Historical Journal. 13 (4): 721–766. doi:10.1017/S0018246X00009481. JSTOR 2637713. S2CID 159979098.
- Kitchen, Martin (2000) [1980]. Europe Between the Wars. New York: Longman. ISBN 978-0-582-41869-1. OCLC 247285240.
- Knobler, S. L.; Mack, A.; Mahmoud, A.; Lemon, S. M., บ.ก. (2005). The Threat of Pandemic Influenza: Are We Ready? Workshop Summary. Contributors: Institute of Medicine; Board on Global Health; Forum on Microbial Threats. Washington DC: National Academies Press. doi:10.17226/11150. ISBN 978-0-309-09504-4. OCLC 57422232. PMID 20669448.
- Kurlander, Eric (2006). Steffen Bruendel. Volksgemeinschaft oder Volksstaat: Die "Ideen von 1914" und die Neuordnung Deutschlands im Ersten Weltkrieg. H-net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Book review)เมื่อ 10 June 2007. สืบค้นเมื่อ 17 November 2009.
- Lehmann, Hartmut; van der Veer, Peter, บ.ก. (1999). Nation and religion: perspectives on Europe and Asia. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. ISBN 978-0-691-01232-2. OCLC 39727826.
- Lieven, Dominic (2016). Towards the Flame: Empire, War and the End of Tsarist Russia. Penguin. ISBN 978-0-14-139974-4.
- Love, Dave (May 1996). "The Second Battle of Ypres, April 1915". Sabretache. 26 (4). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 20 November 2009.
- Ludendorff, Erich (1919). My War Memories, 1914–1918. OCLC 60104290. also published by Harper as "Ludendorff's Own Story, August 1914 – November 1918: The Great War from the Siege of Liège to the Signing of the Armistice as Viewed from the Grand Headquarters of the German Army" OCLC 561160 (original title Meine Kriegserinnerungen, 1914–1918)
- MacMillan, Margaret (2013). The War That Ended Peace: The Road to 1914. Profile Books. ISBN 978-0-8129-9470-4.
- MacMillan, Margaret (2001). Peacemakers; Six Months that Changed The World: The Paris Peace Conference of 1919 and Its Attempt to End War (2019 ed.). John Murray. ISBN 978-1-5293-2526-3.
- Magliveras, Konstantinos D. (1999). Exclusion from Participation in International Organisations: The Law and Practice behind Member States' Expulsion and Suspension of Membership. Martinus Nijhoff Publishers. ISBN 978-90-411-1239-2.
- Marble, Sanders (2018). King of Battle: Artillery in World War I. Brill. ISBN 978-9004305243.
- Marks, Sally (1978). "The Myths of Reparations". Central European History. 11 (3): 231–255. doi:10.1017/S0008938900018707. S2CID 144072556.
- Marks, Sally (September 2013). "Mistakes and Myths: The Allies, Germany, and the Versailles Treaty, 1918–1921". The Journal of Modern History. 85 (3): 650–651. doi:10.1086/670825. S2CID 154166326.
- Martel, Gordon (2003). The Origins of the First World War (2016 ed.). Routledge. ISBN 978-1-138-92865-7.
- Martel, Gordon (2014). The Month that Changed the World: July 1914. OUP. ISBN 978-0-19-966538-9.
- Marshall, S. L. A.; Josephy, Alvin M. (1982). The American heritage history of World War I. American Heritage Pub. Co. : Bonanza Books : Distributed by Crown Publishers. ISBN 978-0-517-38555-5. OCLC 1028047398.
- Mawdsley, Evan (2007). The Russian Civil War. New York: Pegasus Books. ISBN 978-1-68177-009-3.
- McLellan, Edwin N. The United States Marine Corps in the World War. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 September 2018. สืบค้นเมื่อ 26 October 2009.
- McMeekin, Sean (2014). July 1914: Countdown to War. Icon Books. ISBN 978-1-84831-657-7.
- McMeekin, Sean (2015). The Ottoman Endgame: War, Revolution and the Making of the Modern Middle East, 1908–1923 (2016 ed.). Penguin. ISBN 978-0-7181-9971-5.
- Medlicott, W.N. (1945). "Bismarck and the Three Emperors' Alliance, 1881–87". Transactions of the Royal Historical Society. 27: 61–83. doi:10.2307/3678575. JSTOR 3678575. S2CID 154285570.
- Meyer, Gerald J (2006). A World Undone: The Story of the Great War 1914 to 1918. Random House. ISBN 978-0-553-80354-9.
- Millett, Allan Reed; Murray, Williamson (1988). Military Effectiveness. Boston: Allen Unwin. ISBN 978-0-04-445053-5. OCLC 220072268.
- Mitrasca, Marcel (2007). Moldova: A Romanian Province Under Russian Rule: Diplomatic History from the Archives of the Great Powers. Algora Publishing. ISBN 978-0875861845.
- Moll, Kendall D; Luebbert, Gregory M (1980). "Arms Race and Military Expenditure Models: A Review". The Journal of Conflict Resolution. 24 (1): 153–185. doi:10.1177/002200278002400107. JSTOR 173938. S2CID 155405415.
- Morton, Desmond (1992). Silent Battle: Canadian Prisoners of War in Germany, 1914–1919. Toronto: Lester Publishing. ISBN 978-1-895555-17-2. OCLC 29565680.
- Mosier, John (2001). "Germany and the Development of Combined Arms Tactics". Myth of the Great War: How the Germans Won the Battles and How the Americans Saved the Allies. New York: Harper Collins. ISBN 978-0-06-019676-9.
- Muller, Jerry Z. (March–April 2008). "Us and Them – The Enduring Power of Ethnic Nationalism". Foreign Affairs. Council on Foreign Relations. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 June 2015. สืบค้นเมื่อ 30 December 2008.
- Neiberg, Michael S. (2005). Fighting the Great War: A Global History. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01696-5. OCLC 56592292.
- Nicholson, Gerald W.L. (1962). Canadian Expeditionary Force, 1914–1919: Official History of the Canadian Army in the First World War (1st ed.). Ottawa: Queens Printer and Controller of Stationery. OCLC 2317262. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 May 2007.
- Noakes, Lucy (2006). Women in the British Army: War and the Gentle Sex, 1907–1948. Routledge. ISBN 978-0-415-39056-9.
- Northedge, F.S. (1986). The League of Nations: Its Life and Times, 1920–1946. New York: Holmes & Meier. ISBN 978-0-7185-1316-0.
- Painter, David S. (2012). "Oil and the American Century". The Journal of American History. 99 (1): 24–39. doi:10.1093/jahist/jas073.
- Părean, Ioan, Lt Colonel (2002). "Soldați ai României Mari. Din prizonieratul rusesc în Corpul Voluntarilor transilvăneni și bucovineni [Soldiers of Greater Romania; from Russian captivity to the Transylvanian and Bucovina Volunteer Corps]" (PDF). Romanian Army Academy Journal (ภาษาโรมาเนีย). 3–4 (27–28): 1–5.
- Phillimore, George Grenville; Bellot, Hugh H.L. (1919). "Treatment of Prisoners of War". Transactions of the Grotius Society. 5: 47–64. OCLC 43267276.
- Pitt, Barrie (2003). 1918: The Last Act. Barnsley: Pen and Sword. ISBN 978-0-85052-974-6. OCLC 56468232.
- Porras-Gallo, M.; Davis, R.A., บ.ก. (2014). "The Spanish Influenza Pandemic of 1918–1919: Perspectives from the Iberian Peninsula and the Americas". Rochester Studies in Medical History. Vol. 30. University of Rochester Press. ISBN 978-1-58046-496-3. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2021. สืบค้นเมื่อ 9 November 2020 – โดยทาง Google Books.
- Price, Alfred (1980). Aircraft versus Submarine: the Evolution of the Anti-submarine Aircraft, 1912 to 1980. London: Jane's Publishing. ISBN 978-0-7106-0008-0. OCLC 10324173. Deals with technical developments, including the first dipping hydrophones
- Raudzens, George (October 1990). "War-Winning Weapons: The Measurement of Technological Determinism in Military History". The Journal of Military History. 54 (4): 403–434. doi:10.2307/1986064. JSTOR 1986064.
- Rickard, J. (5 March 2001). "Erich von Ludendorff [ตามต้นฉบับ], 1865–1937, German General". Military History Encyclopedia on the Web. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 January 2008. สืบค้นเมื่อ 6 February 2008.
- Rickard, J. (27 August 2007). "The Ludendorff Offensives, 21 March–18 July 1918". historyofwar.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 October 2017. สืบค้นเมื่อ 12 September 2018.
- Roden, Mike. "The Lost Generation – myth and reality". Aftermath – when the Boys Came Home. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-01. สืบค้นเมื่อ 13 April 2022.
- Rothschild, Joseph (1975). East-Central Europe between the Two World Wars. University of Washington Press. ISBN 978-0295953502.
- Saadi, Abdul-Ilah (12 February 2009). "Dreaming of Greater Syria". Al Jazeera. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 May 2011. สืบค้นเมื่อ 14 August 2014.
- Sachar, Howard Morley (1970). The emergence of the Middle East, 1914–1924. Allen Lane. ISBN 978-0-7139-0158-0. OCLC 153103197.
- Salibi, Kamal Suleiman (1993). "How it all began – A concise history of Lebanon". A House of Many Mansions – the history of Lebanon reconsidered. I.B. Tauris. ISBN 978-1-85043-091-9. OCLC 224705916. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 April 2017. สืบค้นเมื่อ 11 March 2008.
- Schindler, J. (2003). "Steamrollered in Galicia: The Austro-Hungarian Army and the Brusilov Offensive, 1916". War in History. 10 (1): 27–59. doi:10.1191/0968344503wh260oa. S2CID 143618581.
- Schindler, John R. (2002). "Disaster on the Drina: The Austro-Hungarian Army in Serbia, 1914". War in History. 9 (2): 159–195. doi:10.1191/0968344502wh250oa. S2CID 145488166.
- Schreiber, Shane B (1977). Shock Army of the British Empire: The Canadian Corps in the Last 100 Days of the Great War (2004 ed.). Vanwell. ISBN 978-1-55125-096-0.
- Șerban, Ioan I (1997). "Din activitatea desfășurată în Vechiul Regat de voluntarii și refugiații ardeleni și bucovineni în slujba idealului național [Nationalist activity in the Kingdom of Romania by Transylvanian and Bucovina volunteers and refugees]". Annales Universitatis Apulensis (ภาษาโรมาเนีย) (37): 101–111.
- Șerban, Ioan I (2000). "Constituirea celui de-al doilea corp al voluntarilor români din Rusia – august 1918 [Establishment of the second body of Romanian volunteers in Russia – August 1918]". Apulum (ภาษาโรมาเนีย) (37): 153–164.
- Shanafelt, Gary W. (1985). The secret enemy: Austria-Hungary and the German alliance, 1914–1918. East European Monographs. ISBN 978-0-88033-080-0.
- Shapiro, Fred R.; Epstein, Joseph (2006). The Yale Book of Quotations. Yale University Press. ISBN 978-0-300-10798-2.
- Sheffield, Gary (2002). Forgotten Victory. Review. ISBN 978-0-7472-7157-4.
- Smith, David James (2010). One Morning in Sarajevo. Hachette UK. ISBN 978-0-297-85608-5.
He was photographed on the way to the station and the photograph has been reproduced many times in books and articles, claiming to depict the arrest of Gavrilo Princip. But there is no photograph of Gavro's arrest—this photograph shows the arrest of Behr.
- Souter, Gavin (2000). Lion & Kangaroo: the initiation of Australia. Melbourne: Text Publishing. OCLC 222801639.
- Smele, Jonathan. "War and Revolution in Russia 1914–1921". World Wars in-depth. BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2011. สืบค้นเมื่อ 12 November 2009.
- Speed, Richard B, III (1990). Prisoners, Diplomats and the Great War: A Study in the Diplomacy of Captivity. New York: Greenwood Press. ISBN 978-0-313-26729-1. OCLC 20694547.
- Spreeuwenberg, P (2018). "Reassessing the Global Mortality Burden of the 1918 Influenza Pandemic". American Journal of Epidemiology. 187 (12): 2561–2567. doi:10.1093/aje/kwy191. PMC 7314216. PMID 30202996.
- Stevenson, David (1988). The First World War and International Politics. Oxford University Press. ISBN 0-19-873049-7.
- Stevenson, David (1996). Armaments and the Coming of War: Europe, 1904–1914. New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-820208-0. OCLC 33079190.
- Stevenson, David (2004). Cataclysm: The First World War as Political Tragedy. New York: Basic Books. pp. 560pp. ISBN 978-0-465-08184-4. OCLC 54001282.
- Stevenson, David (2012). 1914–1918: The History of the First World War. Penguin. ISBN 978-0-7181-9795-7.
- Stevenson, David (2016). Mahnken, Thomas (บ.ก.). Land armaments in Europe, 1866–1914 in Arms Races in International Politics: From the Nineteenth to the Twenty-First Century. Oxford University Press. ISBN 978-0-19-873526-7.
- Stone, David (2014). The Kaiser's Army: The German Army in World War One. Conway. ISBN 978-1-84486-292-4.
- Strachan, Hew (2003). The First World War: Volume I: To Arms. New York: Viking. ISBN 978-0-670-03295-2. OCLC 53075929.
- Taliaferro, William Hay (1972) [1944]. Medicine and the War. ISBN 978-0-8369-2629-3.
- Taylor, Alan John Percivale (1998). The First World War and its aftermath, 1914–1919. Folio Society. OCLC 49988231.
- Taylor, John M. (Summer 2007). "Audacious Cruise of the Emden". The Quarterly Journal of Military History. 19 (4): 38–47. ISSN 0899-3718. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 August 2021. สืบค้นเมื่อ 5 July 2021.
- Terraine, John (1963). Ordeal of Victory. J.B. Lippincott. ISBN 978-0-09-068120-4. OCLC 1345833.
- Thompson, Mark (2009). The White War: Life and Death on the Italian Front, 1915-1919. Faber & Faber. ISBN 978-0571223336.
- Todman, Dan (2005). The Great War: Myth and Memory. A & C Black. ISBN 978-0-8264-6728-7.
- Tomasevich, Jozo (2001). War and Revolution in Yugoslavia: 1941–1945. Stanford University Press. ISBN 978-0-8047-7924-1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 January 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2013.
- Torrie, Glenn E. (1978). "Romania's Entry into the First World War: The Problem of Strategy" (PDF). Emporia State Research Studies. Emporia State University. 26 (4): 7–8.
- Tschanz, David W. Typhus fever on the Eastern front in World War I. Montana State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 June 2010. สืบค้นเมื่อ 12 November 2009.
- Tuchman, Barbara Wertheim (1966). The Zimmermann Telegram (2nd ed.). New York: Macmillan. ISBN 978-0-02-620320-3. OCLC 233392415.
- Tucker, Spencer C.; Roberts, Priscilla Mary (2005). Encyclopedia of World War I. Santa Barbara: ABC-Clio. ISBN 978-1-85109-420-2. OCLC 61247250.
- Tucker, Spencer C.; Wood, Laura Matysek; Murphy, Justin D. (1999). The European powers in the First World War: an encyclopedia. Taylor & Francis. ISBN 978-0-8153-3351-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 August 2020. สืบค้นเมื่อ 6 June 2020.
- Tucker, Spencer (2002). The Great War, 1914-1918. Routledge. ISBN 978-1134817504.
- Turner, L.F.C. (1968). "The Russian Mobilization in 1914". Journal of Contemporary History. 3 (1): 65–88. doi:10.1177/002200946800300104. JSTOR 259967. S2CID 161629020.
- Velikonja, Mitja (2003). Religious Separation and Political Intolerance in Bosnia-Herzegovina. Texas A&M University Press. p. 141. ISBN 978-1-58544-226-3.
- von der Porten, Edward P. (1969). German Navy in World War II. New York: T.Y. Crowell. ISBN 978-0-213-17961-8. OCLC 164543865.
- Westwell, Ian (2004). World War I Day by Day. St. Paul, Minnesota: MBI Publishing. pp. 192pp. ISBN 978-0-7603-1937-6. OCLC 57533366.
- Wheeler-Bennett, John W. (1938). Brest-Litovsk:The forgotten peace. Macmillan.
- Williams, Rachel (2014). Dual Threat: The Spanish Influenza and World War I (PHD). University of Tennessee. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2021. สืบค้นเมื่อ 17 February 2022.
- Willmott, H.P. (2003). World War I. Dorling Kindersley. ISBN 978-0-7894-9627-0. OCLC 52541937.
- Winter, Denis (1983). The First of the Few: Fighter Pilots of the First World War. Penguin. ISBN 978-0-14-005256-5.
- Winter, Jay, บ.ก. (2014). The Cambridge History of the First World War (2016 ed.). Cambridge University Press. ISBN 978-1-316-60066-5.
- Wohl, Robert (1979). The Generation of 1914 (3rd ed.). Harvard University Press. ISBN 978-0-674-34466-2.
- Zeldin, Theodore (1977). France, 1848–1945: Volume II: Intellect, Taste, and Anxiety (1986 ed.). Clarendon Press. ISBN 978-0-19-822125-8.
- Zieger, Robert H. (2001). America's Great War: World War I and the American experience. Rowman & Littlefield. ISBN 978-0-8476-9645-1.
- Zuber, Terence (2011). Inventing the Schlieffen Plan: German War Planning 1871–1914 (2014 ed.). OUP. ISBN 978-0-19-871805-5.
แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ
[แก้]- Collins, Ross F., บ.ก. (2008). World War I: Primary Documents on Events from 1914 to 1919. Greenwood Press. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 July 2018. สืบค้นเมื่อ 12 June 2015.
- Hammond's Frontier Atlas of the World War. C. S. Hammond & Company. 1916. Containing Large Scale Maps of All the Battle Fronts of Europe and Asia, Together With a Military Map of the United States.
ประวัติศาสตร์และความทรงจำ
[แก้]- Cornelissen, Christoph, and Arndt Weinrich, eds. Writing the Great War – The Historiography of World War I from 1918 to the Present (2020) online free เก็บถาวร 29 พฤศจิกายน 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Deak, John (2014). "The Great War and the Forgotten Realm: The Habsburg Monarchy and the First World War". Journal of Modern History. 86 (2): 336–380. doi:10.1086/675880. S2CID 143481172.
- Iriye, Akira (2014). "The Historiographic Impact of the Great War". Diplomatic History. 38 (4): 751–762. doi:10.1093/dh/dhu035.
- Jones, Heather (2013). "As the centenary approaches: the regeneration of First World War historiography". Historical Journal. 56 (3): 857–878. doi:10.1017/s0018246x13000216.
- Jones, Heather (2014). "Goodbye to all that?: Memory and meaning in the commemoration of the first world war". Juncture. 20 (4): 287–291. doi:10.1111/j.2050-5876.2014.00767.x.
- Kitchen, James E.; Miller, Alisa; Rowe, Laura, บ.ก. (2011). Other Combatants, Other Fronts: Competing Histories of the First World War. Excerpt เก็บถาวร 2 พฤษภาคม 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kramer, Alan (2014). "Recent Historiography of the First World War – Part I". Journal of Modern European History. 12 (1): 5–27. doi:10.17104/1611-8944_2014_1_5. S2CID 202927667.
- Kramer, Alan (2014). "Recent Historiography of the First World War (Part II)". Journal of Modern European History. 12 (2): 155–174. doi:10.17104/1611-8944_2014_2_155. S2CID 146860980.
- Mulligan, William (2014). "The Trial Continues: New Directions in the Study of the Origins of the First World War". English Historical Review. 129 (538): 639–666. doi:10.1093/ehr/ceu139.
- Reynolds, David (2014). The Long Shadow: The Legacies of the Great War in the Twentieth Century. Excerpt and text search เก็บถาวร 3 พฤษภาคม 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Sanborn, Joshua (2013). "Russian Historiography on the Origins of the First World War Since the Fischer Controversy". Journal of Contemporary History. 48 (2): 350–362. doi:10.1177/0022009412472716. S2CID 159618260.
- Sharp, Heather (2014). "Representing Australia's Involvement in the First World War: Discrepancies between Public Discourses and School History Textbooks from 1916 to 1936". Journal of Educational Media, Memory, and Society. 6 (1): 1–23. doi:10.3167/jemms.2014.060101.
- Trout, Stephen (2013). On the Battlefield of Memory: The First World War and American Remembrance, 1919–1941.
- Turan, Ömer (2014). ""Turkish Historiography of the First World War". Middle East". Critique. 23 (2): 241–257. doi:10.1080/19436149.2014.905079. S2CID 144673625.
- Winter, Jay; Prost, Antoine (2005). The Great War in History Debates and Controversies, 1914 to the Present. Cambridge University Press. excerpt เก็บถาวร 4 สิงหาคม 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- American Battle Monuments Commission (1938). American Armies and Battlefields in Europe: A History, Guide, and Reference Book. US Government Printing Office. OCLC 59803706.
- Balakian, Peter (2003). The Burning Tigris: The Armenian Genocide and America's Response. New York: HarperCollins. ISBN 978-0-06-019840-4. OCLC 56822108.
- Bond, Brian (1968). "The First World War". ใน C.L. Mowat (บ.ก.). The New Cambridge Modern History. Vol. XII: The Shifting Balance of World Forces 1898–1945 (2nd ed.). pp. 171–208 – โดยทาง archive.org.
- Duffy, Michael (2006). Somme. First World War.com. ISBN 978-0-297-84689-5. สืบค้นเมื่อ 25 February 2007.
- Wikisource. – โดยทาง
- scans of each page of vol 30-31-32
(12th ed.). 1922. Comprises the 11th edition plus three new volumes 30-31-32 that cover events since 1911 with thorough coverage of the war as well as every country and colony.
- Fortescue, Granville Roland (28 October 1915). "London in Gloom over Gallipoli; Captain Fortescue in Book and Ashmead-Bartlett in Lecture Declare Campaign Lost". The New York Times.
- Hirschfeld, Gerhard; และคณะ, บ.ก. (2012). Brill's Encyclopedia of the First World War.
- Jenkins, Burris A. (2009). Facing the Hindenburg Line. BiblioBazaar. ISBN 978-1-110-81238-7.
- Goldrick, James (1995). "10. The Battleship Fleet: The Test of War, 1895–1919". ใน Hill, J. R. (บ.ก.). The Oxford Illustrated History of the Royal Navy. New York: Oxford University Press. pp. 299–318. ISBN 978-0-19-211675-8.
- Larsen, Daniel (2014). "Intelligence in the First World War: The state of the field". Intelligence and National Security. 29 (2): 282–302. doi:10.1080/02684527.2012.727070. S2CID 154714213.
- Lyons, Michael J. (1999). World War I: A Short History (2nd ed.). Prentice Hall. ISBN 978-0-13-020551-3.
- Meltzer, Allan H. (2003). A History of the Federal Reserve – Volume 1: 1913–1951. Chicago: University of Chicago Press. pp. 65–90. ISBN 978-0-226-52000-1.
- Moon, John Ellis van Courtland (July 1996). "United States Chemical Warfare Policy in World War II: A Captive of Coalition Policy?". The Journal of Military History. 60 (3): 495–511. doi:10.2307/2944522. JSTOR 2944522.
- Page, Thomas Nelson. "Chapter XI: Italy's Attitude in the Beginning of the War". Italy and the World War. Brigham Young University. cites "Cf. articles signed XXX in La Revue de Deux Mondes, 1 and 15 March 1920"
- Prior, Robin (1999). The First World War. London: Cassell. ISBN 978-0-304-35256-2.
- Repington, Charles à Court (1920). The First World War, 1914–1918. Vol. 2. London: Constable. ISBN 978-1-113-19764-1 – โดยทาง archive.org.
- Sisemore, James D. (2003). The Russo-Japanese War, Lessons Not Learned (MMAS thesis). US Army Command and General Staff College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2009. สืบค้นเมื่อ 1 March 2021.
- Symonds, Craig L. (2016). The U.S. Navy: A Concise History. New York: Oxford University Press. pp. 68–70. ISBN 978-0-19-939494-4.
- Taylor, Alan John Percivale (1963). The First World War: An Illustrated History. Hamish Hamilton. ISBN 978-0-399-50260-6. OCLC 2054370.
- Wilgus, William John (1931). Transporting the A.E.F. in Western Europe, 1917–1919. New York: Columbia University Press. OCLC 1161730.
- Winegard, Timothy. "Here at Vimy: A Retrospective – The 90th Anniversary of the Battle of Vimy Ridge". Canadian Military Journal. 8 (2).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- มัลติมีเดียประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- มรดกของสงคราม, เนเธอร์แลนด์
- บริการแบบสอบถามสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ มหาวิทยาลัย Gettysburg เก็บถาวร 2015-09-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ภาพถ่ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เก็บถาวร 2008-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เอกสารสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- แผนที่ของสงคราม เก็บถาวร 2009-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บทความวิกิพีเดียที่ต้องการอ้างอิงหมายเลขหน้าตั้งแต่July 2020
- บทความที่มีแหล่งอ้างอิงไม่น่าเชื่อถือตั้งแต่June 2018
- สงครามเกี่ยวข้องกับทวีปยุโรป
- ความขัดแย้งในระดับโลก
- สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- สงครามเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชีย
- สงครามเกี่ยวข้องกับทวีปแอฟริกา
- สงครามเกี่ยวข้องกับเขตโอเชียเนีย
- สงครามในคริสต์ทศวรรษ 1910
- สงครามเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร
- สงครามเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส
- สงครามเกี่ยวข้องกับรัสเซีย
- สงครามเกี่ยวข้องกับอิตาลี
- สงครามเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น
- สงครามเกี่ยวข้องกับสหรัฐ
- สงครามเกี่ยวข้องกับเยอรมนี
- สงครามเกี่ยวข้องกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
- สงครามเกี่ยวข้องกับราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค
- สงครามเกี่ยวข้องกับฮังการี
- สงครามเกี่ยวข้องกับจักรวรรดิออตโตมัน
- สงครามเกี่ยวข้องกับบัลแกเรีย
- สงครามเกี่ยวข้องกับกรีซ
- สงครามเกี่ยวข้องกับโปรตุเกส
- สงครามเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐจีน
- สงครามเกี่ยวข้องกับไทย
- สงครามเกี่ยวข้องกับเกาหลี
- สงครามเกี่ยวข้องกับไต้หวัน
- สงครามเกี่ยวข้องกับบริติชอินเดีย
- สงครามเกี่ยวข้องกับอินเดีย
- สงครามเกี่ยวข้องกับบราซิล
- สงครามเกี่ยวข้องกับโซเวียตรัสเซีย (ค.ศ. 1917–1922)