มหาสงครามเหนือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาสงครามเหนือ
ส่วนหนึ่งของ สงครามรัสเซีย-สวีเดน สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ สงครามรัสเซีย-เดนมาร์ก สงครามรัสเซีย-ตุรกี

ตามเข็มนาฬิกาจากภาพบน: ยุทธการโพลทาวา ยุทธการกันกุท ยุทธการนาร์วา ยุทธการเลสนายา ยุทธการกาเดอบุช และยุทธการสตอร์คีโร
วันที่22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1700 — 10 กันยายน ค.ศ. 1721
สถานที่
ผล ฝ่ายสวีเดนพ่ายแพ้และถูกชิงดินแดนไป ส่วนฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะ
จักรวรรดิรัสเซียก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งยุโรปและทำให้อำนาจของจักรวรรดิสวีเดนและเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียลดลง
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
รัสเซียได้ดินแดนเอสโตเนีย อินเกรีย และลิโวเนียของสวีเดน รวมถึงดินแดนเคกซ์โฮล์มและไวเบิร์กอีกด้วย ปรัสเซียได้บางส่วนของพอเมอเรเนีย ฮาโนเวอร์ได้รเบรเมิน-แวร์เดิน ส่วนโฮลล์ชไตน์-ก็อธธอร์ปเสียอาณาจักรดยุคแห่งชเลสวิชให้กับราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์
คู่สงคราม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
รัสเซีย จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย
รัสเซีย อเล็กซานเดอร์ เมนชิคอฟ
รัสเซีย บอริส เชร์เมเทฟ
เดนมาร์ก เฟรเดอริคที่ 4
เดนมาร์ก คริสเตียน เรเวนโลว
เดนมาร์ก ทอร์เดนสโจลด์
ฟรีดริช ออกัสตัสที่ 1/2
ราชอาณาจักรปรัสเซีย ฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1
อีวาน มาเซปปา
อีวาน สโครพาดสกี
จอร์จที่ 1
ดมีตรี คานเตเมียร์
กำลัง
ไม่ทราบจำนวนรวมแน่ชัด
สวีเดน 177,000—393,400—135,000 นาย
2ออตโตมัน 100,000-200,000 นาย
คอสแซค 8,000-40,000
โปแลนด์ 16,000 นาย
โจรสลัด 1,400 คน[ต้องการอ้างอิง]
ทหารทั้งหมดอย่างน้อย 310,000 นาย
รัสเซีย 170,000 นาย
เดนมาร์ก/นอร์เวย์ 40,000 นาย
โปแลนด์/แซ็กซอน+100,000 นาย
เยอรมัน ปรัสเซีย และฮาโนเวอร์ไม่ทราบจำนวน
ความสูญเสีย
ทหารสวีเดนราว 25,000 นายเสียชีวิตในสนามรบ, 175,000 นายเสียชีวิตจากความอดอยาก, โรคระบาด, ความทุรกันดาร และอื่นๆ[1]

ทหารรัสเซียอย่างน้อย 75,000 นาย ทหารโปแลนด์/แซ็กซอน 14,000-20,000 นาย และทหารเดนมาร์กอีก 8000 ในยุทธการใหญ่และ 60000 กว่าคนตลอดเวลาที่เข้าร่วมสงคราม[2]


นอกจากนั้นทหารรัสเซียกว่า 30000 คนเสียชีวิตในสนามรบ ส่วนอีก 9000 คนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในที่สุด

1ทหารขั้นต้น ค.ศ. 1700 ค.ศ. 1707 ตามลำดับ


2เข้าร่วมต่อสู้ในยุทธการเดียว, ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวตลอดสงคราม

มหาสงครามเหนือ (อังกฤษ: Great Northern War; รัสเซีย: Северная война; สวีเดน: stora nordiska kriget) เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1700 ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 10 กันยายน ปี ค.ศ. 1721 รวมระยะเวลาทั้งหมดเป็น 21 ปี นำโดยจักรวรรดิรัสเซียแห่งฝ่ายพันธมิตรเข้าปะทะกับจักรวรรดิสวีเดนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปเหนือ ก่อนจะนำมาด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรและการก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดของรัสเซียเหนือคาบสมุทรบอลติก รวมถึงการเข้ามามีอิทธิพลในยุโรปของรัสเซียจวบจนปัจจุบัน ส่วนสวีเดนต้องตกอยู่ใต้ "ยุคแห่งเสรีภาพ" อันมีระบบรัฐสภาปกครองประเทศอันเนื่องมาจากการสวรรคตของพระเจ้าคาร์ลที่ 12[3][4]นำไปสู่ยุคราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนถึง 54 ปี[4]

สงครามนี้นำด้วยกองทหารสองเหล่าทัพ โดยมีฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้เปิดฉากต่อสู้ก่อน นำโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซีย พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งแซกซ์-โปแลนด์-ลิทัวเนีย ซึ่งต่อมาได้ถอนกำลังออกในปี ค.ศ. 1700 และปี ค.ศ. 1706 ตามลำดับ แต่ในปี ค.ศ. 1709ก็ได้นำกองทัพเข้ามาสมทบต่อจนสิ้นสงคราม นอกจากนี้ยังมี พระเจ้าจอร์จที่ 1นำทัพจากฮาโนเวอร์เข้ามาร่วมสงครามในปี ค.ศ. 1714 และได้นำทัพจากบริเตนใหญ่เข้ามาสมทบภายหลังในปี ค.ศ. 1717 รวมทั้งพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 1 แห่งบรานเดนบูร์ก-ปรัสเซียที่นำกองทัพเข้ามาสมทบในปี ค.ศ. 1715 อีกด้วย ส่วนทางด้านฝ่ายสวีเดนนั้นนำด้วยพระเจ้าคาร์ลที่ 12 โดยมีกองทัพแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป รวมทั้งทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียที่นำโดยกษัตริย์สตานิสลอว เลซซิงสกีในปี ค.ศ. 1704 ถึงปี ค.ศ. 1710 และกองทัพคอสแซคภายใต้การนำทัพของอีวาน มาเซปปา รองผู้บัญชาการทัพสูงสุดแห่งชนชาติยูเครน รวมถึงสุลต่านอาห์เมดที่นำทัพออตโตมันร่วมสงครามกับฝ่ายสวีเดนแล้วมุ่งหน้าปะทะกับกองทัพรัสเซียเป็นหลักอีกด้วย

สงครามเปิดฉากด้วยการที่กองทัพพันธมิตรแห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ แซกโซนี โปแลนด์-ลิทัวเนีย และรัสเซียกรีฑาทัพเข้าโจมตีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป ลิโวเนีย และอินเกรียอันเป็นดินแดนของจักรวรรดิสวีเดนซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าคาร์ลที่ 12ที่ในสมัยนั้นยังทรงพระเยาว์ จึงขาดความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก ฝ่ายสวีเดนจึงได้แต่ตั้งหน้ารับการโจมตีของฝ่ายพันธมิตรอยู่ท่าเดียว จนกระทั่งยุทธการนั้นจบลงด้วยสนธิสัญญาสงบศึกแห่งทราเวนดอล นับตั้งแต่นั้นมหาสงครามเหนือก็ได้เริ่มขึ้น และกลายเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ยุโรปเลยทีเดียว

หลังจากระยะสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 21 ปีแล้ว จักรวรรดิสวีเดนได้เริ่มทำสนธิสัญญาสต็อกโฮล์มเพื่อสงบศึกกับฮาโนเวอร์และปรัสเซียในปี ค.ศ. 1719 ต่อมาในปี ค.ศ. 1720 ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกเฟรเดริกส์เบิร์กกับฝั่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ แต่ก็ยังยืนกรานที่จะเปิดสงครามกับรัสเซียต่อไป จนกระทั่งปี ค.ศ. 1721 สวีเดนแพ้สงครามในที่สุด จนสวีเดนต้องทำสนธิสัญญาสงบศึกนีสตาดกับรัสเซีย โดยสนธิสัญญาทั้งสามฉบับสวีเดนต้องเสียสินทรัพย์และดินแดนเป็นจำนวนไม่น้อยเป็นค่าปฏิกรรมสงครามเลยทีเดียว ท้ายที่สุดแล้วสวีเดนจึงต้องสูญเสียอำนาจในการปกครองดินแดนหลายๆ ส่วน นอกจากนั้นยังโดนลดอำนาจในคาบสมุทรบอลติกลงและยังต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองเพราะสิ้นราชวงศ์ในสงคราม[4]อีกด้วย ส่วนรัสเซียนั้นหลังจบสงครามก็ได้เริ่มต้นยุคแห่งการแผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ก่อนที่จะหยุดลงในสองศตวรรษหลังจากนั้นเอง แต่อิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อยุโรปและต่อประชาคมโลกยังคงมีอยู่ แม้จะน้อยลงบ้างก็ตาม

สาเหตุ[แก้]

พรมแดนของจักรวรรดิสวีเดนในสมัยนั้น

ปี ค.ศ. 1560 ถึงปี ค.ศ. 1658 จักรวรรดิสวีเดนแผ่ขยายอาณาเขตของตนเข้าไปในคาบสมุทรบอลติกอันประกอบไปด้วยเอสโตเนีย ลิโวเนีย อินเกรีย และคาเรเลีย รวมถึงช่วงสงครามสามสิบปี สวีเดนยังได้ครอบครองดินแดนพอเมอเรเนีย วิสมาร์ วาร์เดน และแคว้นดยุคเบรเมน อันเป็นดินแดนของบรานเดนบูร์ก-ปรัสเซียในขณะนั้น และในปี ค.ศ. 1645ถึงปี ค.ศ. 1658 ยังแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในเขตประเทศเดนมาร์ก-นอร์เวย์แล้วชิงเอาเขตโอเรซุนด์มาอีกด้วย

สาเหตุทีสวีเดนในสมัยนั้นสามารถพิชิตดินแดนต่างๆ ได้อย่างง่ายดายถึงแม้ขนาดกองทัพจะเล็กกว่ากองทัพอื่นมากก็เนื่องมาจากความแข็งแกร่งของกองทัพสวีเดนที่ผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์หลายๆ ด้านมาแล้ว รวมถึงความทันสมัยของทหารและพลเรือนสวีเดนในศตวรรษที่ 17อีกด้วย อันเนื่องมาจาก ณ ยุคสมัยนั้น สวีเดนภายใต้การปกครองของพระเจ้าคาร์ลที่ 12และราชวงศ์ ทรงควบคุมการใช้ทรัพยากรทั้งในเมืองหลวงและทั่วทั้งจักรวรรดิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะสมรภูมิไหน กองทัพสวีเดนก็สามารถทำการพิชิตและเจาะทะลวงไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยปืนคาบศิลาขนาดเล็กๆ กว่ากองทัพทั่วไปประกอบกับประสบการณ์การใช้อาวุธอย่างชำนาญและการเดินทัพของตัวกองทัพด้วยแล้ว ก็ทำให้สวีเดนสามารถเอาชนะกองทัพต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม สวีเดนก็ยังคงมีจุดอ่อนอย่างใหญ่หลวงที่เป็นอุปสรรคต่อกองทัพ คือการที่ราชวงศ์ไม่สามารถบำรุงรักษาและพัฒนากองทัพของตนเองเป็นเวลานานได้ จึงประกาศออกไปว่า ในการสงคราม หากกองทัพสามารถหาสินทรัพย์มาบำรุงรักษากองทัพจากการปล้นสะดมและการเก็บส่วยจากดินแดนในครอบครองได้ตามใจชอบ หากแต่ค่าใช้จ่ายในการสงครามนั้นก็ยังสูงเกินกว่าค่าภาษีรวมกับเงินหลวงของดินแดนในแต่ละพื้นที่ แม้แต่เงินในคลังหลวงสวีเดนยังไม่พอใช้ในสงครามและการกระจายทรัพยากรให้กับกำลังพลได้ นี่จึงกลายเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่ยาวนานบานปลายตามมา

ทางด้านจักรวรรดิรัสเซียในสมัยนั้นถูกผูกมัดด้วยสนธิสัญญาสโตลโบโวในปี ค.ศ. 1617 โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการเสียดินแดนให้กับสวีเดนและสิทธิขาดของสวีเดนในรัฐบอลติกเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับดินแดนบริเวณคาบสมุทรบอลติกได้ จนกระทั่งสถานการณ์เกิดพลิกผันขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อพระราชอำนาจของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งจักรวรรดิรัสเซียเริ่มแผ่ขยายและขึ้นมามีอิทธิพลขึ้นกับยุโรปในสมัยนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ในดินแดนบอลติกในสมัยนั้น จนกระทั่ง รัฐบุรุษโยฮันน์ พาทคัลได้ทำสัญญาลับเพรียโบชอนสกี[5][6](อังกฤษ: Treaty of Preobrazhenskoye) ขึ้นในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1699 ในเขตพระราชฐานแห่งพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เมืองเพรียโบชอนสกีอันเป็นเขตหนึ่งของกรุงมอสโก และในที่ประชุมแห่งกรุงราวา อันมีพระเจ้าฟรีดริช ออกัสตัสที่ 2แห่งแซกซ์-โปแลนด์-ลิทัวเนียเป็นองค์ประชุมอีกด้วย โดยตามสนธิสัญญานับเป็นการรวมทัพของราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ จักรวรรดิรัสเซีย เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย และรัฐผู้คัดเลือกแซกโซนีเพื่อตั้งตนต่อสู้กับฝ่ายจักรวรรดิสวีเดนในนามกองทัพพันธมิตร ก่อนที่กองกำลังผสมทั้งสามจะกรีฑาทัพเข้าเปิดสงครามในปี ค.ศ. 1700 นั้นเอง

กองกำลัง[แก้]

ฝ่ายสวีเดน[แก้]

ปี ค.ศ. 1697 พระเจ้าคาร์ลที่ 12ในพระชนมายุเพียง 14 พรรษาทรงเข้าพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปต่อจากพระเจ้าชาลส์ที่ 11 ซึ่งเสด็จสวรรคตในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1697 โดยพระองค์ยังเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนยุคแห่งเสรีภาพอีกด้วย พระเจ้าคาร์ลที่ 12ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะนำจักรวรรดิสวีเดนออกจากภาวะสงครามในขณะนั้นและจดจ่ออยู่กับการปฏิรูปด้านต่างๆแทน รวมถึงยังพัฒนาส่วนราชวงศ์และกองทัพให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่น่ายกย่องและเคารพนับถือพระองค์หนึ่งเลยทีเดียว พระองค์ไม่โปรดที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความหรูหราฟู่ฟ่า เสวยพระสุรา หรือใช้ภาษาฝรั่งเศสแทนภาษาของประเทศ แต่พระองค์ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตบนหลังม้าเข้าต่อสู้กับศัตรูโดยไม่ปรารถนาสังคมชั้นสูง พระองค์มุ่งเป้าหมายไปที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราชเพื่อขับพระองค์ออกจากบัลลังก์ฐานที่ทำลายข้อตกลงในสนธิสัญญาสโตลโบโว โดยมีคาร์ล กุสตาฟ เรห์นสเคียลด์ แมกนัส สเตนบก และอดัม ลุดวิก เลเวนฮาปท์ พระสหายคนสนิทเป็นผู้บัญชาการศึกเคียงพระองค์ นอกจากนั้นทัพที่เข้าร่วมยังมีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป นำโดยชาลส์ เฟรเดอริก ดยุคแห่งฮ็อลชไตน์อันดำรงศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 หนึ่งในรัชทายาทผู้มีสิทธิเรียกร้องราชบัลลังก์ แต่สิทธินั้นกลับไปตกอยู่ที่อัลริค เอเลโอเนราแทน นอกจากนั้นยังมีเจ้าหญิงเฮดวิก โซเฟีย พระราชธิดาในพระเจ้าชาลส์ที่ 11 เป็นผู้นำดัชชี่แห่งฮ็อลชไตน์อีกด้วย

ฝ่ายสวีเดนยังมีอดีตศัตรูอย่างคอสแซคซาโพโรเซียนที่นำโดยอีวาน มาเซปปา ในตอนแรกคอสแซคอยู่ฝั่งพันธมิตร แต่ในปี ค.ศ. 1708 กลับเปลี่ยนข้างมาอยู่ฝั่งสวีเดนในภายหลังแทน

ฝ่ายพันธมิตร[แก้]

ปี ค.ศ. 1682 พระเจ้าปีเตอร์มหาราชขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฟีโอดอร์ที่ 3 แต่ก็ยังไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่แท้จริงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1689 พระองค์ปฏิรูปจักรวรรดิรัสเซียในหลายๆ ด้าน ให้กลายเป็นจักรวรรดิที่เรืองอำนาจทั้งด้านการค้าและด้านกองทัพไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ นั่นทำให้รัสเซียในรัชสมัยของพระองค์แพร่ขยายอำนาจออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นคาบสมุทรบอลติก ทะเลดำ หรือประเทศบริเวณทะเลแคสเปียน จักรวรรดิรัสเซียภายใต้การนำของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชพร้อมด้วยอเล็กซานเดอร์ ดานิโลวิช เมนชิคอฟและอดัม ลุดวิก เลเวนฮาปท์ก็สามารถบุกเข้าไปยึดครองมาได้ นั่นทำให้รัสเซียอันเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามมีจุดมุ่งหมายที่ใหญ่ที่สุดได้กลายเป็นประเทศผู้นำฝ่ายพันธมิตรในสมัยนั้น

ขณะเดียวกันนั้นเอง พระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่งแห่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีซึ่งดำรงค์ศักดิ์เป็นประยูรญาติห่างๆ ของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์[7] ได้เข้าประชุมร่วมกับพระเจ้าปีเตอร์มหาราชถึงแผนการที่จะรวมกองทัพพันธมิตรเข้าต่อสู้กับฝ่ายสวีเดนที่กรุงปราวา เดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1698 โดยในขณะนั้นพระองค์ไม่อาจรู้เลยว่าในภายภาคหน้าอีกเพียงแค่สองปี สงครามจะนำความปราชัยและความอดสูมาให้โปแลนด์-ลิทัวเนียมากแค่ไหนเลยทีเดียว

และในปี ค.ศ. 1699 พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 4[7] ยังได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 5 แห่งเดนมาร์ก และยังคงตั้งตนเป็นศัตรูกับจักรวรรดิสวีเดนสืบต่อจากพระปณิธาณของพระราชบิดาต่อไปอีกด้วย พระองค์จึงได้นำทัพเข้าร่วมกับสงครามในครั้งนั้นจนกระทั่งประสบกับความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิสวีเดนในปี ค.ศ. 1700 พระองค์จึงถอนตัวออกจากสงครามโดยที่ไม่สามารถกอบกู้ดินแดนของเดนมาร์กกลับมาจากสวีเดนได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1709 พระองค์ได้นำกองทัพเดนมาร์กเข้าร่วมสงครามและยืดเยื้อไปจนถึงปี ค.ศ. 1720 จักรวรรดิสวีเดนจึงทำสนธิสัญญาเฟรเดอริกสเบิร์ก (อังกฤษ: Treaty of Frederiksborg) เพื่อสงบศึกกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก-นอร์เวย์ พระองค์จึงได้ดินแดนส่วนของเดนมาร์กกลับมาในที่สุด

กองทัพพันธมิตรยังมีพระเจ้าฟรีดิช วิลเฮล์มที่ 1 อันทรงพระสมญานามว่า "กษัตริย์ทหาร" นำกองทัพเข้าร่วมในฐานะกษัตริย์แห่งปรัสเซียและอิเลคเตอร์แห่งบรานเดนบูร์ก และพระเจ้าจอร์จที่ 1ซึ่งนำกองทัพของพระองค์เข้าร่วมในฐานะราชอาณาจักรฮาโนเวอร์ ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์อีกด้วย

กำลังทัพ[แก้]

ปี ค.ศ. 1700 พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงมีกองกำลังทหารไว้ในครอบครองถึง 77,000 นาย และในปี ค.ศ. 1707 ยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 120,000 นายอีกด้วย โดยเมื่อรวมกับกองทัพประเทศอื่นแล้ว ทัพสวีเดนจึงมีกองกำลังมากถึง 393,400 นายเลยทีเดียว

ทว่าในด้านของรัสเซียนั้น แม้จะพร้อมที่จะรวมทัพใหญ่เข้าสู้ได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าสู้พร้อมๆ กันได้ทั้งหมด อีกทั้งยังต้องกระจายกำลังทหารเข้าปกป้องเขตประเทศต่างๆ อีกด้วย ในที่สุดพระเจ้าปีเตอร์มหาราชจึงตัดสินใจรวบรวมกำลังและปลุกใจทหารเข้าสู้กับทัพสวีเดนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 170,000 นาย โดยมีนายทหารจากเดนมาร์กร่วม 40,000 นาย โปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีมากกว่า 100,000 นาย และยังมีทหารไม่ทราบจำนวนจากปรัสเซียและฮาโนเวอร์อีกด้วย

ค.ศ. 1700[แก้]

การปิดล้อมแห่งทิวนิ่ง[แก้]

ผังป้อมทิวนิ่ง

ปี ค.ศ. 1700 เดนมาร์ก-นอร์เวย์ โปแลนด์-ลิทัวเนีย-แซกโซนี และรัสเซียเปิดฉากสงครามด้วยการกรีฑาทัพเข้าล้อมป้อมทิวนิ่ง โดยทั้งสามกองกำลังเข้าตีป้อมทางหน้าทั้งสามด้าน ส่วนกองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์เข้าโจมตีฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป[8]และทัพราชวงศ์ของจักรวรรดิสวีเดน[9] และนำไปสู่การวางทัพล้อมป้อมทิวนิ่งในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1700[8] จนกระทั่งถูกทัพเรือสวีเดนเข้าตลบหลังกะทันหันด้วยการเปลี่ยนรูปแบบทัพไปโจมตีด้านหน้าจากกรุงโคเปนเฮเกน ทำให้พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 4 ต้องถูกถอนกำลังออกจากสงครามด้วยสนธิสัญญาสันติภาพทราเวนดอล (อังกฤษ: Treaty of Travendal ; สวีเดน: Travendahlischer Friede)ในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1700[10] โดยมีเนื้อหาดังนี้

  • เดนมาร์กจะต้องยอมรับในเอกราชของฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ปกับเดนมาร์กต้องทำให้ดินแดนทับซ้อนรวมถึงฮ็อลชไตน์เองเป็นอิสระจากเดนมาร์ก
  • เดนมาร์กจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 260,000 ริกสดาลเลอร์ให้แก่ฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • เดนมาร์กต้องให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่ตั้งตนเป็นศัตรูของจักรวรรดิสวีเดนและฮ็อลชไตน์-ก็อธธอร์ป
  • เดนมาร์กมีสิทธิตั้งกองกำลังป้องกันตนเองได้ แต่กำลังทหารต้องไม่เกิน 6,000 นาย
  • เดนมาร์กต้องถอนกำลังออกจากกลิยุคสแตตต์ให้หมดสิ้น
  • สังฆมณฑลลิวเบกจะต้องสถาปนาและยอมรับราชวงศ์โฮลสไตน์-ก็อธธอร์ปอย่างแท้จริง
  • เดนมาร์กจะต้องส่งกำลังเสริมไปช่วยสวีเดนในยุทธการนาร์วา

ด้วยเหตุนี้กองทัพเดนมาร์กจึงต้องถอนตัวออกจากสงครามไปถึง 8 ปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1709 การพ่ายแพ้ของจักรวรรดิสวีเดนในยุทธการโปลตาวามาเยือน[11] ทำให้สัญญาเสื่อมสภาพลง เดนมาร์ก-นอร์เวย์จึงกรีฑาทัพเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายพันธมิตรอีกครั้ง

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 กรีฑาทัพขึ้นเทียบฝั่งฮัมเลเบก

การเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก[แก้]

การเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก (อังกฤษ: Landing on Humlebæk) เกิดจากการนำทัพราชนาวีสวีเดนเข้าเทียบฝั่งเดนมาร์กโดยพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1700 ถือเป็นการโต้กลับครั้งแรกของฝ่ายสวีเดน ในเวลานั้นแม้จะมีเพียงสวีเดนแค่ฝ่ายเดียว แต่ยุทธการการบุกเข้าโจมตีโดยกะทันหันก็ทำให้เดนมาร์กคาดไม่ถึงเช่นกัน นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เดนมาร์กพ่ายแพ้สวีเดนในยุทธการทิวนิ่งไปในที่สุด

ก่อนหน้าที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12จะกรีฑาทัพเข้าบุกตำบลฮัมเลเบกของเดนมาร์ก พระองค์ได้ตระเตรียมการไว้ก่อน โดยรวบรวมกำลังพลแนวหน้าไว้ถึง 16,000 นายที่ดินแดนสแกเนีย และกองหลังอีก 10,000 นายที่พรมแดนของนอร์เวย์ แล้วเคลื่อนทัพจากเมืองคาร์ลสโครนามายังช่องแคบโอเรซุนด์ด้วยกองเรือรบ 38 ลำ ระหว่างนั้นกองทัพสวีเดนยังพบกับอุปสรรคสำคัญ นั่นคือกองเรือเดนมาร์ก 40 ลำที่แล่นขวางเอาไว้ แต่ที่สุดแล้วก็ได้รับการช่วยเหลือจากกองเรือบริติช-ดัตช์ ทำให้กองเรือสวีเดนสามารถเคลื่อนทัพต่อไปได้จนถึงตำบลฮัมเลเบกในที่สุด

การเทียบท่าเข้าบุกยังชายฝั่งฮัมเลเบกนับเป็นการตัดสินพระทัยของพระเจ้าคาร์ลที่ 12ที่นำพาชัยชนะมาให้สวีเดนได้ไม่น้อย หากเพราะเดนมาร์กไม่ทันได้ตั้งตัวอะไรเลย จึงเป็นเวลาที่เหมาะแก่การบุกเข้าโจมตีอย่างยิ่ง และถึงฝั่งเดนมาร์กจะมีกำลังพลมากถึง 5,000 คนอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็มีเพียงแค่ทหาร 350 นายและชาวนา 350 คนที่วางกำลังป้องกันชายฝั่งเท่านั้น ขณะที่ทางสวีเดนได้แบ่งทัพไว้สองกอง โดยให้ทหารจำนวน 2,500 นายจาก 4,700 นายเข้าบุกเป็นแนวหน้า ถึงแม้เดนมาร์กจะส่งกองกำลังทหารม้าเข้าปิดล้อมไว้ แต่ก็ยังเสียเปรียบสวีเดนที่อยู่ในน้ำอยู่ดี สงครามครั้งนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ที่ทรงร่วมรบกับทัพหน้าของพระองค์อย่างไม่หวั่นเกรงทั้งบนบกและในน้ำอีกด้วย

ท้ายที่สุด ด้วยกำลังเสริมของสวีเดนที่บุกประชิดเข้ามาทางกรุงโคเปนเฮเกนเรื่อยๆ จนมีกำลังทหารทั้งหมด 10,000 นาย ประกอบกับทัพของเดนมาร์กที่เอาแต่ถอยหลังกลับเมืองหลวง ทำให้เดนมาร์กต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกทราเวนดอลตามที่กล่าวมาอย่างไม่มีทางเลือกในที่สุด

ชัยชนะแห่งกองทัพสวีเดน

ยุทธการนาร์วา[แก้]

หลังจากเดนมาร์กพ่ายแพ้ต่อสวีเดนในการเทียบท่าแห่งฮัมเลเบก สวีเดนที่กำลังฮึกเหิมก็ได้เบนความสนใจไปที่จักรวรรดิรัสเซียอันได้ชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเองทันที นั่นทำให้พระเจ้าคาร์ลที่ 12ยาตราทัพภาคสนามเข้าบุกรัสเซียในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1700[12]เมืองนาร์วา โดยมีจุดประสงค์ที่จะดันกองทัพรัสเซียกลับไปยังเขตแดนรัสเซียให้ได้ตามประสงค์

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 พร้อมด้วยคาร์ล กุสตาฟ เรห์นสเคียลด์ และออตโต เวลลิงก์ สองแม่ทัพใหญ่จัดกำลังทหารโดยให้ 8,000 นายเข้าปะทะในยุทธการนาร์วา แล้วอีก 2,500 นายรักษาดินแดนอยู่ที่ตัวเมืองสวีเดน ในขณะที่ฝั่งจักรวรรดิรัสเซียมีกองกำลังทหารถึง 30,000-35,000 นาย[13] นำโดยพระเจ้าปีเตอร์มหาราชและแม่ทัพอีกหกนาย ทั้งสองเข้าปะทะกันในวันพายุหิมะรุนแรง และทางลมยังจะดูเป็นใจให้สวีเดนอีกด้วย กระนั้นแล้วพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ก็ยังทรงเล็งเห็นถึงประสิทธิภาพของชาวรัสเซียแม้จะมองไม่เห็นในสภาพอากาศแบบนี้ จึงสั่งการให้แบ่งทัพออกเป็นสองปีก เข้าล้อมทัพรัสเซีย แล้วใช้ทัพหลักที่สามเข้าปะทะจนต้อนให้ทัพรัสเซียเข้าไปอยู่ที่สะพานข้ามแม่น้ำนาโรวาได้สำเร็จ ด้วยกลยุทธ์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทำให้ครั้งนั้นสะพานข้ามแม่น้ำนาโรวาถล่มลงมา ส่งผลให้ทหารรัสเซียตกลงไปตายถึง 6,000-18,000 คน[14][15]เลยทีเดียว

ไม่เพียงแค่นั้น ทางด้านทหารรัสเซียที่ยอมจำนนให้กับทัพสวีเดนยังได้แอบลำเลียงอาวุธสำคัญไปมอบให้กับทัพสวีเดนอีกด้วย พระเจ้าปีเตอร์มหาราชรู้แก่พระทัยดีว่าถ้าหากยังดันทุรังสู้ต่อจะเป็นเช่นไรจึงถอยทัพกลับ[16] ชัยชนะครั้งนี้พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงมั่นพระทัยเป็นอย่างมากว่าหลังจากนี้รัสเซียจะไม่สามารถกลับมารุกรานสวีเดนได้อีกและประเมินรัสเซียต่ำลงไปมากจนถึงยุทธการโปลตาวา ในขณะที่พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 กลับเก็บความพ่ายแพ้นี้รวมถึงในวันข้างหน้าไว้เป็นบทเรียนสำคัญและเก็บกลยุทธ์ทุกอย่างที่สวีเดนมีไปพัฒนากองทัพรัสเซียให้เต็มประสิทธิภาพ

ค.ศ. 1701[แก้]

พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ในศึกข้ามฟากแห่งดิวน่า

ศึกข้ามฟากแห่งดิวน่า[แก้]

หลังจากที่สวีเดนมีชัยเหนือรัสเซียในยุทธการนาร์วามาได้ประมาณสิบเดือนกว่า สมเด็จพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 แห่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีก็ได้กรีฑาทัพเข้าร่วมเป็นกองกำลังผสมกับกองทัพรัสเซียในเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1701 ณ ริมแม่น้ำเดากาวา กรุงริกาและลิโวเนีย เพื่อเข้าปะทะกับกองทัพสวีเดน โดยครั้งนั้นมีทหารรัสเซียถึง 10,000 นาย และทหารแซกซอนร่วมด้วยอีก 9,000 นาย รวมยอดทั้งหมดของกองกำลังพันธมิตรเป็น 19,000 นาย[17] ส่วนกองกำลังสวีเดนมีเพียง 7,000 นาย[17] แต่มีกองราชนาวีสมทบมาด้วย

การปะทะระลอกแรก กองทัพสวีเดนระดมยิงปืนใหญ่จากฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำเดากาวาใส่ค่ายกองทัพฝ่ายพันธมิตรอย่างไม่ทันให้ได้ตั้งตัว ทันทีที่ควันปืนเริ่มสลายออกไป กองทัพแซกซอนก็เริ่มรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วเปิดกำลังเข้าจู่โจมกองทัพสวีเดนกลับทันที ในขณะที่กองทัพสวีเดนภายใต้พระบัญชาแห่งพระเจ้าคาร์ลที่ 12 ก็ยังคงเดินหน้าเข้าปะทะอย่างไม่หวั่นเกรงและไม่มีใครถอยกลับ หลังจากการปะทะระลอกแรกผ่านไปชั่วครู่ กองทัพสวีเดนก็เข้าโจมตีฝ่ายตรงข้ามเป็นระลอกที่สองอีกครั้ง กระทั่ง 2 ชั่วโมงผ่านไป กองทัพสวีเดนก็สามารถเอาชนะกองทัพพันธมิตรและข้ามแม่น้ำเดากาวาไปได้สำเร็จ

กลวิธีการศึกของสวีเดนในครั้งนี้สามารถเอาชนะฝ่ายเจ้าบ้านอย่างโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้อย่างง่ายดายก็เพราะมีการติดตั้งปืนใหญ่บนเรือเล็กๆ ได้ ทำให้ฝ่ายสวีเดนสามารถระดมยิงปืนใหญ่และปล่อยระเบิดควันลวงสายตาได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีการวางกลยุทธ์ล่วงหน้าอีกด้วย

บอริส เปโตรวิช เชรเมเทฟ

ยุทธการเราเกจ์[แก้]

หลังจากที่สวีเดนข้ามแม่น้ำเดากาวาไปได้แล้วสองเดือน บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียก็ได้ยาตราทัพสามเหล่าจากราพินนา เนียว-คาซาริทส์ และเราเกจ์ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1701 เพื่อเข้าปะทะกันอีกครั้งที่เราเกจ์และลิโวเนียตะวันออกในดินแดนเอสโตเนียปัจจุบัน ถึงรัสเซียจะกรีฑาทัพมาเป็นจำนวน 7,000 นายที่มากกว่าสวีเดนที่มีเพียง 2,000 แต่ผลของสงครามครั้งนี้ยังคงเป็นเช่นเดิม รัสเซียต้องปราชัยให้กับสวีเดนเหมือนอย่างทุกครั้ง สงครามครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงระดับประสิทธิภาพของสองกองทัพ โดยรัสเซียต้องสูญเสียทหารไปมากถึง 2,000 กว่าคน ในขณะที่สวีเดนสูญเสียทหารไปไม่ถึงร้อยคนเท่านั้น

ค.ศ. 1702[แก้]

สมรภูมิรบแห่งเออร์ราสต์เฟอร์

ยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์[แก้]

ไม่นานนัก หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือนกว่า บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียก็ได้นำทัพกลับมาโจมตีสวีเดนในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1702 ณ สมรภูมิเออร์ราสต์เฟอร์ ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย ยุทธการครั้งนี้กองทัพรัสเซียยังคงยกพลมาถึง 12,000 นาย ขณะที่สวีเดนยังคงยกทัพมาน้อยนิดเพียงแค่ 2,200 นายเท่านั้น การศึกครั้งนี้กองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายด้วยการสังหารกองทัพสวีเดนลงถึง 750 นาย จับนายทหารอีก 350 คนไปเป็นเชลยสงครามและยังได้ยุทโธปกรณ์สงครามของสวีเดนมาครองถึง 4 กระบอก ถึงแม้กองทัพรัสเซียจะสูญเสียกองทหารไปมากถึง 3,000 กว่าคนก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นชัยชนะครั้งแรกของรัสเซียในสงครามครั้งนี้ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของกองทัพรัสเซียไปในภายภาคหน้าอีกเช่นกัน

ยุทธการฮัมเมลชอฟ[แก้]

ครึ่งปีผ่านมาหลังจากยุทธการเออร์ราสต์เฟอร์ผ่านไป กองทัพรัสเซียด้วยกำลังทหาร 24,000 นาย[18]ได้ยกทัพมาที่กรุงตาร์ตู ดินแดนสวีดิชลิโวเนีย เพื่อเข้าโจมตีกองทัพสวีเดนที่มีกำลังรบเพียง 5,700 นาย[18] สงครามครั้งนั้นยังคงนำด้วยสองแม่ทัพอันเป็นศัตรูเก่ามาหลายยุทธการ นั่นคือบอริส เชรเมเทฟ แห่งรัสเซีย และวิลเฮล์ม อันตง วอน ชลิพเพนบาร์ชแห่งสวีเดน โดยทั้งสองกองทัพได้เข้าปะทะกันที่สมรภูมิใกล้เมืองฮัมเมลชอฟ ในตอนแรกกองทหารสวีเดนสามารถเอาชนะรัสเซียแล้วชิงเอาปืนใหญ่มาได้ 5-6 กระบอก แต่ในเวลาต่อมา เมื่อกองทัพหลวงแห่งรัสเซียเดินทางมาถึง กองทัพสวีเดนก็เปิดศึกด้วยการเข้าโจมตีทันที หากแต่กองทหารราบรัสเซียได้กระจายทัพเข้าล้อมกองทัพสวีเดนไว้แล้วจึงเริ่มโจมตีกลับทันที ด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่สำนักพระราชวังรัสเซียภายใต้การบัญชาของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ได้ทำการฝึกฝนทหารรัสเซียเป็นอย่างดี จึงทำให้สงครามครั้งนี้รัสเซียมีชัยเหนือสวีเดนได้อย่างสวยงาม โดยสามารถสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามได้ถึง 1,000-2,000 นาย เกณฑ์ไปเป็นเชลยสงครามได้ถึง 238 คน และยังยึดปืนใหญ่กลับมาไว้ในครอบครองได้ถึง 15 กระบอก ในขณะที่ทหารฝ่ายของตนบาดเจ็บสาหัสและล้มตายเพียงแค่ 1,000 นายจากทั้งหมด 24,000 นายเท่านั้น ชัยชนะครั้งที่สองของรัสเซียครั้งนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันถึงแสนยานุภาพทางการทหารที่พัฒนาขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดของรัสเซียเป็นอย่างดี

สมรภูมิแห่งคลิสโซว์

ยุทธการคลิสโซว์[แก้]

สืบเนื่องมาจากการที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12 ทรงสืบรู้มาทีหลังว่าพระเจ้าออกัสตัสที่ 2โปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีทรงเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการรวมตัวของระหว่างกองกำลังสามเหล่าทัพ คือกองทัพรัสเซียของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช กองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ของพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 4 และกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของตัวพระองค์เอง[8] หลังจากที่พระเจ้าคาร์ลที่ 12ทรงมีชัยเหนือกองทัพรัสเซียในยุทธการนาร์วาแล้ว[19] พระองค์ก็ได้ผลักกองกำลังโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีให้กลับไปยังเขตของตนได้สำเร็จ และอีกสองปีให้หลัง พระองค์ยังติดตามพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ไปในโปแลนด์-ลิทัวเนียต่ออีกด้วย[20]

ณ ดินแดนคลิสโซว์ ตอนใต้ของเมืองเคียลเซอ เวลา 11 นาฬิกา วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 พระเจ้าคาร์ลที่ 12[21] พร้อมด้วยทหารราบ 8,000 นาย ทหารม้า 4,000 นาย และปืนครก 4 กระบอก[21] ได้ยาตราศึกเข้าปะทะกับกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีของพระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ที่มีกองทหารราบ 7,500 นาย ทหารม้าแซกซอน 9,000 นาย ทหารม้าโปแลนด์ 6,000 นาย และปืนครกยาว 46 กระบอก[21] รวมแล้วฝั่งสวีเดนมีกำลังรบ 12,000 นาย ในขณะที่ฝั่งโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีมีกำลังรบมากถึง 22,500 นาย นับว่ามากกว่าฝั่งสวีเดนเกือบ 2 เท่าทีเดียว

พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ได้แบ่งทัพออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนซ้ายอันเป็นของชาวแซกซอนจะนำโดยโยฮันน์ แมธเธียส วอน ชูเลนเบิร์ก ทัพกลางอันเป็นกำลังผสมนำโดยตัวพระองค์เอง ปีกขวาฝ่ายทหารม้านำโดยจาคอบ เฮนริช วอน เฟลมมิง และปีกขวาฝ่ายทหารราบชาวโปลิชนำโดยฮีโรนิม ออกัสติน ลูโบเมิร์สกี[21] แล้วเข้าโอบกองทัพสวีเดน แต่แล้วกองทัพสวีเดนก็ใช้กลศึกพลิกกลับมาใช้ปีกกองทัพที่กระจายตัวอยู่ด้านนอกโอบเข้าอีกเป็นชั้นที่สอง ทำให้กองทัพชาวโปแลนด์ปีกขวาและทัพแซกซอนปีกซ้ายพ่ายแพ้อย่างยับเยิน[21] ทำให้ลูโบเมิร์สกีต้องตัดสินใจถอยทัพหนี เปิดโอกาสให้ทัพแซกซอนอ่อนแอลงอย่างรวดเร็วและทำให้พระเจ้าคาร์ลที่ 12 สามารถเข้าบุกตีค่ายทหารของฝ่ายโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้โดยง่ายภายในครึ่งชั่วโมง ทำให้พระเจ้าออกัสตัสที่ 2 ต้องถอยทัพหนีลงหนองน้ำไปในที่สุด[21]

ชัยชนะครั้งนี้แม้สวีเดนจะได้ยุทโธปกรณ์สงคราม เสบียงและสัมภาระของทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียมาครอง แต่ก็ต้องแลกด้วยการสูญเสียพี่เขยอย่างดยุคเฟรเดอริคที่ 4 แห่งโฮลสไตน์-ก็อธธอร์ปของพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จากการถูกพระแสงปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามเข้าจนสิ้นพระชนม์ในที่สุด ขณะที่อีกด้านนั้นทัพแซกซอนก็ยังคงรอดมาได้ด้วยการนำทัพของแม่ทัพชูเลนเบิร์กแห่งแซกซอนโดยสวัสดิภาพ ยุทธการครั้งนี้กองทัพสวีเดนสามารถสังหารทหารกองทัพโปแลนด์-ลิทัวเนียและแซกโซนีได้มากถึง 2,000 นาย จับไปเป็นเชลยสงครามได้มากถึง 1,000 นาย[21] ขณะที่สวีเดนมีทหารที่บาดเจ็บสาหัส 900 นายและล้มตายเพียงแค่ 300 นายเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1702 กองทัพสวีเดนภายใต้พระบัญชาแห่งพระเจ้าคาร์ลที่ 12 จึงได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองคราคอว์ในดินแดนของโปแลนด์-ลิทัวเนีย กองทัพฝ่ายเจ้าบ้านจึงต้องย้ายทัพไปยังเมืองซานโดเมียร์ซเพื่อตั้งรับขึ้นอีกครั้ง

พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ท่ามกลางกองทัพรัสเซียในการปิดล้อมเนอเตเบิร์ก

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์ก[แก้]

การปิดล้อมแห่งเนอเตเบิร์กเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702[22] โดยเป็นศึกที่กองทัพรัสเซียอันประกอบด้วยทหารราบกว่า 35,000 นาย นำโดยพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 และบอริส เชรเมเทฟ เข้าล้อมป้อมเนอเตเบิร์กของกองทัพสวีเดนที่มีกองทหารเพียงแค่ 389 นายเท่านั้น โดยแต่เดิม บอริส เชรเมเทฟ แม่ทัพแห่งรัสเซียได้ตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำเนวาอยู่ก่อนแล้วด้วยกำลังพลถึง 12,000 แล้วกองทัพของพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 จึงได้ตามมาสมทบในอีกสิบวันให้หลังจนครบ 35,000 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1702 กองทัพรัสเซียภายใต้คำสั่งของบอริส เชรเมเทฟจึงออกเดินหน้ามุ่งไปยังป้อมเนอเตเบิร์ก[23]แล้วเริ่มเปิดศึกต่อฝ่ายสวีเดนทันที โดยทางกองทัพรัสเซียใช้กลยุทธ์การระเบิดป้อมเข้าสู้ แม้สุดท้ายแล้วกลยุทธ์จะล้มเหลวเพราะปืนใหญ่ระเบิดออกก็ตาม แต่ด้วยการปิดล้อมและการต่อสู้ติดต่อกันมาหลายวันทำให้ทหารสวีเดนต้องบาดเจ็บสาหัส อดอาหาร ติดเชื้อ และตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ฝ่ายสวีเดนต้องยอมจำนนต่อกองทัพรัสเซียเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1702 ในที่สุด [24]

หลังสงครามครั้งนี้ จักรวรรดิรัสเซียก็ได้ป้อมเนอเตเบิร์กและดินแดนรอบป้อมมาครองในที่สุด รวมถึงยังได้รับพระราชทานนามใหม่จากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชว่า "ป้อมชลิสเซลเบิร์ก"[23] อันมีความหมายว่า "กุญแจแห่งดินแดน" และใช้ป้อมเป็นที่ตั้งมั่นเพื่อเข้ายึดดินแดนทางตะวันตกอีกด้วย โดยขณะนั้นพระองค์ไม่ทรงทราบเลยว่าต่อไปในภายภาคหน้า ป้อมนี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการรวบรวมดินแดนรอบแม่น้ำเนวา แต่ต้องแลกกับการที่ต้องเสียเวลาในการบูรณะซ่อมแซมป้อมที่โดนระเบิดของฝ่ายตัวเองถึง 16,554 ลูก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ป้อมบูรณะเสร็จอย่างรวดเร็ว พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 ยังได้เสด็จมาฉลองชัยชนะที่ป้อมพร้อมกับแต่งตั้งอเล็กซานเดอร์ เมนชิคอฟ ขึ้นเป็นแม่ทัพประจำป้อมอีกด้วย[22]

อ้างอิง[แก้]

  1. Ericson, Lars, Svenska knektar (2004) Lund: Historiska media
  2. Lindegren, Jan, Det danska och svenska resurssystemet i komparation (1995) Umeå : Björkås : Mitthögsk
  3. Roberts, Michael (2003). The Age of Liberty: Sweden 1719-1772. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-52707-1.
  4. 4.0 4.1 4.2 Lindqvist, Herman (2009-11-29). "Karl XII:s död ger inte forskarna någon ro". Aftonbladet.
  5. Anisimov, Evgeniĭ Viktorovich (1993). The reforms of Peter the Great. Progress through coercion in Russia. The New Russian history. M.E. Sharpe. p. 53. ISBN 1-56324-047-5.
  6. Groß, Reiner (2007) (in German). Die Wettiner. Kohlhammer Urban Taschenbücher. 621. Kohlhammer. pp. 181–182. ISBN 3-17-018946-8.
  7. 7.0 7.1 Charles XII of Sweden, Frederick IV of Holstein-Gottorp, August II and Frederik IV of Denmark–Norway were all grandsons of Frederik III of Denmark–Norway
  8. 8.0 8.1 8.2 Frost (2000), p.228
  9. Frost (2000), p.227
  10. Frost (2000), p.229
  11. Frost (2000), p.294
  12. Frost, Robert I (2000). The Northern Wars. War, State and Society in Northeastern Europe 1558-1721. Longman. pp. 230. ISBN 978-0-582-06429-4.
  13. Frost, Robert I (2000). The Northern Wars. War, State and Society in Northeastern Europe 1558-1721. Longman. pp. 230, 232. ISBN 978-0-582-06429-4.
  14. Беспалов А. В. Северная война. Карл XII и шведская армия. Путь от Копенгагена до Переволочной. 1700-1709. - М: Рейтар, 1998. С. 43
  15. Peter Ullgren, Det stora nordiska kriget 1700-1721 (2008) Stockholm, Prisma. Sidan 57. ISBN 978-91-518-5107-5
  16. Peter The Great - Swift
  17. 17.0 17.1 Olle Larsson, Stormaktens sista krig (2009) Lund, Historiska Media. Page 108. ISBN 978-91-85873-59-3
  18. 18.0 18.1 "Northern Wars, Oskar Sjöström" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-02-18. สืบค้นเมื่อ 2009-02-18.
  19. Frost (2000), p.230
  20. Frost (2000), pp.229ff, 263ff
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 21.6 Frost (2000), p.272
  22. 22.0 22.1 The Century. 21. The Century Co.. 1881.
  23. 23.0 23.1 Alexandr Konstantinovich Chicherin (Александр Константинович Чичерин) (1883). Исторія Леиб-Гвардіи Преображенскаго полка: 1683-1883 г..
  24. Исторія Петра Великаго. В Тип. К. Жернакова. 1843.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Sweden and the Baltic, 1523 – 1721, by Andrina Stiles, Hodder & Stoughton, 1992 ISBN 0-340-54644-1
  • The Struggle for Supremacy in the Baltic: 1600-1725 by Jill Lisk; Funk & Wagnalls, New York, 1967
  • The Northern Wars, 1558-1721 by Robert I. Frost; Longman, Harlow, England; 2000 ISBN 0-582-06429-5
  • Norges festninger by Guthorm Kavli; Universitetsforlaget; 1987; ISBN 82-00-18430-7
  • Admiral Thunderbolt by Hans Christian Adamson, Chilton Company, 1958
  • East Norway and its Frontier by Frank Noel Stagg, George Allen & Unwin, Ltd. 1956
  • Public Domain บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติChisholm, Hugh, บ.ก. (1911). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]