ความตกลงฉันทไมตรี
ภาพโปสเตอร์ภาษาฝรั่งเศสในปีค.ศ.1904 ที่มีบริแทนเนียกับมารียานเต้นรำด้วยกัน เป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ | |
วันลงนาม | 8 เมษายน ค.ศ.1904 |
---|---|
ผู้ลงนาม | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 สหราชอาณาจักร |
ภาษา | ฝรั่งเศส และอังกฤษ |
เหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง |
---|
|
ความตกลงฉันทไมตรี (ฝรั่งเศส: entente cordiale) เป็นความตกลงหลายฉบับที่ลงนามเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1904 ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส นอกเหนือไปจากความกังวลเร่งด่วนเรื่องการขยายอาณานิคมที่ระบุไว้ในความตกลงแล้ว การลงนามความตกลงฉันทไมตรียังถือเป็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งเป็นระยะระหว่างทั้งสองชาติและรัฐก่อนหน้ามานานเกือบสหัสวรรษ และทำให้การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นทางการ จากที่เคยปรากฏนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามนโปเลียน ความตกลงฉันทไมตรี ร่วมกับภาคีอังกฤษ-รัสเซีย และพันธมิตรฝรั่งเศส-รัสเซีย ในภายหลังได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรไตรภาคีระหว่างสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัสเซีย
ประวัติ
[แก้]คำในภาษาฝรั่งเศสว่า Entente-Cordiale (มักแปลว่า "ความตกลงฉันทไมตรี" หรือ "ความเข้าใจฉันทไมตรี") ใช้ในภาษาอังกฤษครั้งแรกใน ค.ศ. 1844 เพื่อแสดงถึงความตระหนักในผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศส ในปัจจุบัน คำดังกล่าวแทบทุกครั้งจะหมายถึง ความตกลงฉันทไมตรีครั้งที่สอง นั่นคือ ความตกลงลายลักษณ์อักษรและลับส่วนหนึ่งที่ลงนามในกรุงลอนดอนระหว่างชาติทั้งสองเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1904
ความตกลงดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำหรับทั้งสองประเทศ ฝรั่งเศสเคยแยกตัวโดดเดี่ยวจากชาติยุโรปอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความพยายามของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ออทโท ฟอน บิสมาร์ค ในการทำให้ฝรั่งเศสห่างเหินจากพันธมิตร เมื่อเยอรมนีคิดว่าฝรั่งเศสอาจมุ่งแก้แค้นหลังความพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ค.ศ. 1870-71 สหราชอาณาจักรยังคงดำเนินนโยบาย "การโดดเดี่ยวอย่างสง่างาม" บนภาคพื้นทวีปยุโรปเป็นเวลาเกือบศตวรรษ โดยจะเข้าแทรกแซงกิจการของภาคพื้นทวีปเฉพาะเมื่อเห็นว่าจำเป็นต่อการคุ้มครองผลประโยชน์ของอังกฤษและเพื่อรักษาไว้ซึ่งสมดุลแห่งอำนาจบนภาคพื้นทวีป สถานการณ์สำหรับทั้งสองประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีรากเหง้ามาจากความสูญเสียความมั่นใจของอังกฤษหลังความอัปยศอดสูที่ประสบระหว่างชัยชนะยืดเยื้อในสงครามบัวร์ครั้งที่สอง และความกลัวที่เพิ่มมากขึ้นว่าตนจะถูกโดดเดี่ยวในการเผชิญกับเยอรมนีที่เร่งพัฒนาศักยภาพและก้าวร้าว เดือนมีนาคม ค.ศ. 1881 รัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส เลออน แกมเบ็ตตา และเจ้าชายอัลเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด พบปะกันเพื่อพูดคุยถึงการจัดตั้งพันธมิตรต่อต้านเยอรมนี อย่างไรก็ตาม การแย่งชิงแอฟริกาทำให้การประนีประนอมดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ ในการริเริ่มของรัฐมนตรีกระทรวงอาณานิคม โจเซฟ เชมเบอร์แลน มีการประชุมอังกฤษ-เยอรมนีหลายรอบระหว่าง ค.ศ. 1898 และ 1901 แต่หลังจากเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด อัลเบิร์ตเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระองค์ก็ทรงลดความเห็นชอบในไตรพันธมิตร ละทิ้งการเจรจากับกรุงเบอร์ลิน และทรงฟื้นฟูแนวคิดของพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสขึ้นมาอีก
เมื่อสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นกำลังปะทุขึ้น ฝรั่งเศสและอังกฤษพบว่าต่างฝ่ายต่างอยู่บนขอบที่จะถูกลากเข้าสู่ความขัดแย้งในฝ่ายพันธมิตรของตน ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นของรัสเซีย ขณะที่อังกฤษเพิ่งลงนามในพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่สงคราม ทั้งสองชาติจึงได้ "สลัดความขัดแย้งแต่โบราณ"[1] และตกลงข้อขัดแย้งในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย และมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสได้เจรจาความตกลงว่าด้วยปัญหาอาณานิคม และได้มีการลงนามในอนุสัญญาอันเป็นผลจากการเจรจา เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1904 อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ฉันทไมตรีดังกล่าวมีความหมายอย่างไรต่อกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ
เอกสารลงนาม
[แก้]ความตกลงฉันทไมตรีประกอบด้วยเอกสารสามฉบับ ดังนี้
- เอกสารฉบับแรกและที่สำคัญที่สุด คือ แถลงการณ์ว่าด้วยอียิปต์และโมร็อกโก โดยฝรั่งเศสให้สัญญาว่าจะไม่เข้าไปขัดขวางการปฏิบัติของอังกฤษในอียิปต์ แลกกับการที่อังกฤษให้สัญญาว่าจะอนุญาตให้ฝรั่งเศสรักษาความสงบและจัดหาการสนับสนุนในโมร็อกโก มีการรับประกันการเดินทางผ่านคลองสุเอซ และทำให้อนุสัญญากรุงคอนสแตนติโนเปิลมีผลใช้บังคับ และห้ามการก่อสร้างป้อมปราการบนพื้นที่บางส่วนของชายฝั่งโมร็อกโก สนธิสัญญาดังกล่าวยังมีภาคผนวกลับซึ่งจัดการกับความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการของประเทศใดประเทศหนึ่ง
- เอกสารฉบับที่สองเกี่ยวกับเกาะนิวฟันด์แลนด์และบางส่วนของแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ฝรั่งเศสยกเลิกสิทธิที่ได้รับจากสนธิสัญญาอูเทร็คท์เหนือชายฝั่งตะวันตกของนิวฟันด์แลนด์ แม้ว่าฝรั่งเศสจะยังมีสิทธิ์ในการจับปลาชายฝั่ง แลกกับอังกฤษยกเมืองยาบูเตนดา (ใกล้กับพรมแดนปัจจุบันระหว่างเซเนกัลกับแกมเบีย) และอิลเดอลอส (ในกินีปัจจุบัน) ข้อกำหนดเพิ่มเติมจัดการกับปัญหาพรมแดนที่ถือครองระหว่าฝรั่งเศสและอังกฤษทางตะวันออกของแม่น้ำไนเจอร์ (ในไนเจอร์และไนจีเรียปัจจุบัน)
- แถลงการสุดท้ายเกี่ยวกับสยาม มาดากัสการ์และนิวเฮบริเดส (วานูอาตู) ในสยาม อังกฤษยอมรับเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสทางตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แลกกับฝรั่งเศสยอมรับอิทธิพลของอังกฤษเหนือดินแดนทางตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองประเทศไม่ยอมรับแนวคิดใด ๆ ในการผนวกดินแดนสยาม อังกฤษเพิกถอนการคัดค้านการริเริ่มภาษีศุลกากรในมาดากัสการ์ ทั้งสองตกลงจะร่วมมือกันในความตกลงซึ่งจะ "ทำให้ความยากลำบากอันเกิดขึ้นจากการขาดอำนาจตามกฎหมายเหนือชนพื้นเมืองแห่งนิวเฮบริเดสสิ้นสุดลง"
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Entente Cordiale (European history) -- Britannica Online Encyclopedia". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2010-03-08.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ความตกลงระหว่างประเทศ
- พันธมิตรทางการทหาร
- พันธมิตรทางการทหารเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร
- พันธมิตรทางการทหารเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส
- สนธิสัญญาด้านพันธมิตรทางการทหาร
- สนธิสัญญาในคริสต์ศตวรรษที่ 20
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1801–1922)
- สนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3
- จักรวรรดิบริติชในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- ฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- ฝ่ายสัมพันธมิตร (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)