สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครือข่ายความสัมพันธ์ของชาติยุโรปก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ออตโตมันร่วมกับเยอรมนีหลังสงครามเริ่มไม่นาน ขณะที่อิตาลีวางตัวเป็นกลางในปี ค.ศ. 1914 ก่อนจะเข้ากับฝ่ายไตรภาคีในปี ค.ศ. 1915
แผนที่โลกแสดงประเทศที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1917 สีเขียวคือฝ่ายสัมพันธมิตร สีส้มคือฝ่ายมหาอำนาจกลาง และสีเทาคือประเทศเป็นกลาง

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นสงครามทั่วโลกที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เมื่อมีการลงนามสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับจักรวรรดิเยอรมัน การระบุสาเหตุที่แท้จริงของสงครามยังคงเป็นที่ถกเถียง นักวิชาการพยายามค้นหาว่าเหตุใดมหาอำนาจสองฝ่าย (จักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี กับฝ่ายรัสเซีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร) จึงสู้รบกันในปี ค.ศ. 1914 และวิเคราะห์ว่าสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งนี้ได้หรือไม่

ปัจจัยทั่วไปที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้แก่ ระบบเครือข่ายพันธมิตรอันซับซ้อน[1] การแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจ คติแสนยนิยมและจักรวรรดินิยม การเจริญของแนวคิดชาตินิยม และสุญญากาศทางอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมถอย[2] ปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญรวมถึงกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตที่ไม่ได้รับการแก้ไข ความเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของยุโรปที่รับรู้ได้[3] วิธีการปกครองที่สับสนกระจัดกระจาย การแข่งขันในทางอาวุธช่วงทศวรรษก่อนหน้า และการวางแผนปฏิบัติการทางทหาร[4]

นักวิชาการมุ่งความสนใจไปที่ฤดูร้อน ค.ศ. 1914 หลังการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์แห่งออสเตรีย โดยกัฟรีโล ปรินซีป ชายชาวเซิร์บ-บอสเนีย[5] เกิดวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาตึงเครียดทางการทูตและการทหารในยุโรป วิกฤตการณ์ถูกยกระดับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียที่มีพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม สิ่งหนึ่งที่ยกระดับวิกฤตการณ์นี้คือ การประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด (เช่น เยอรมนีที่เชื่อว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นกลาง[6] หรือเชื่อว่าสงครามจะไม่ยืดเยื้อ สิ้นสุดก่อนคริสต์มาส ค.ศ. 1914[7]) ความเชื่อที่ว่าสงครามเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไปจนถึงการแผ่ขยายของวิกฤตการณ์อันเป็นผลมาจากความล่าช้าและความเข้าใจผิดทางการทูต ซึ่งก่อนหน้าวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม มหาอำนาจต่างขัดแย้งกันด้วยปัญหาในยุโรปและอาณานิคมมานานหลายทศวรรษ ซึ่งความขัดแย้งนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1867[8]

นักวิชาการยังคงมีความเห็นไม่ลงรอยในเรื่องสาเหตุที่แท้จริงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เนื่องจากมีมุมมองต่อปัจจัยหลักและความสำคัญของแต่ละปัจจัยต่างกันไป นอกจากนี้การศึกษาสาเหตุยังเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาจากหลักฐานที่พบและอุดมการณ์ของตัวนักประวัติศาสตร์ ทัศนะหลักที่แบ่งนักประวัติศาสตร์ออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการีเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดเหตุการณ์[9] ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นผลพวงจากปัจจัยต่าง ๆ จำนวนมาก สองทัศนะนี้ยังสามารถแยกย่อยได้เป็นความเห็นว่าเยอรมนีจงใจก่อสงคราม[10] ความเชื่อว่าสงครามไม่ได้ถูกวางแผนไว้ แต่ต้นเหตุหลักมาจากเยอรมนี[11] และความเห็นว่ามหาอำนาจอื่นมีส่วนในการก่อสงครามเช่นกัน[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. "What were the causes of World War One?". BBC Bitesize. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  2. Diab, Khaled (September 3, 2015). "The Middle Eastern century that wasn't". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  3. Van Evera, Stephen (Summer 1984). "The Cult of the Offensive and the Origins of the First World War". International Security. 9 (1): 58–107. doi:10.2307/2538636. JSTOR 2538636.
  4. Sagan, Scott D. (Fall 1986). "1914 Revisited: Allies, Offense, and Instability". International Security. 11 (2): 151–175. doi:10.2307/2538961. JSTOR 2538961. S2CID 153783717.
  5. Henig, Ruth (2006). The Origins of the First World War. Routledge. ISBN 978-1-134-85200-0.
  6. "Why did Britain go to war? - Background". The National Archives. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  7. "Over By Christmas". National WWI Museum and Memorial. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  8. Lieven, D. C. B. (1983). Russia and the Origins of the First World War. St. Martin's Press. ISBN 978-0-312-69611-5.
  9. "Germany gives Austria-Hungary "blank check" assurance". HISTORY. November 5, 2009. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  10. Sheffield, Gary (November 8, 2008). "First World War - This war was no accident". The Guardian. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.
  11. Herwig, Holger H. "Andreas Hillgruber: Historian of 'Großmachtpolitik' 1871-1945," pages 186-198 from Central European History Volume, XV 1982 page 190
  12. "World War One: 10 interpretations of who started WW1". BBC. February 12, 2014. สืบค้นเมื่อ December 17, 2020.