ยุคแห่งการสำรวจ
ยุคแห่งการสำรวจ หรือ ยุคแห่งการค้นพบ (อังกฤษ: Age of Exploration หรือ Age of Discovery) เป็นช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์โลกที่เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ชาวยุโรปออกเดินทางไปสำรวจทางทะเลในโลกที่กว้างออกไปจากตัวทวีปยุโรปเองโดยมีจุดประสงค์เพื่อหาคู่ค้าขายใหม่ และโดยเฉพาะเพื่อการแสวงหาสินค้าเพื่อสนองความต้องการของตลาดตามต้องการ สินค้าที่เป็นที่ต้องการกันมากในยุโรปในขณะนั้นคือทอง เงิน และ เครื่องเทศ
ยุคแห่งการสำรวจประจวบกับช่วงที่ชาวยุโรปตะวันตกเริ่มใช้เข็มทิศในการกำหนดและระบุเส้นทาง การใช้วิธีการเดินเรือเดินทะเลแบบใหม่ การมีแผนที่ใหม่ และความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ ความก้าวหน้าเหล่านี้ช่วยในการแสวงหาเส้นทางการค้าขายใหม่ไปยังเอเชียโดยเลี่ยงอุปสรรคถ้าการใช้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมหาอำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่วิวัฒนาการขึ้นสำหรับการเดินทางทางทะเลคือเรือชนิดใหม่สองแบบที่ออกแบบโดยโปรตุเกส--เรือคาร์แร็ค (Carrack) และ เรือคาราเวล (Caravel) ที่วิวัฒนาการมาจากการออกแบบเรือในยุคกลางที่ใช้ในการเดินเรือในทะเลเหนือและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เรือสองชนิดนี้เป็นเรือสองชนิดแรกที่ให้ความปลอดภัยพอที่จะฝ่าคลื่นฝ่าลมในมหาสมุทรแอตแลนติกได้เมื่อเทียบกับเรือรุ่นก่อนหน้านั้นที่ใช้กันเฉพาะในบริเวณที่คลื่นลมไม่รุนแรงเทียบเท่ากับการเดินทางกลางมหาสมุทร
การสำรวจทางบก
[แก้]ก่อนหน้าที่จะถึงยุคแห่งการสำรวจก็ได้มีชาวยุโรปที่ได้ทำการเดินทางโดยทางบกจากยุโรปไปยังเอเชียหลายครั้งในสมัยยุคกลางตอนปลาย[1] ขณะที่การรุกรานของมองโกลในยุโรปเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของความมั่นคงในยุโรปโดยการปล้นสะดมและการทำลายต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐมองโกลต่าง ๆ ในบริเวณส่วนใหญ่ของยูเรเชียเป็นการทำให้เกิดเส้นทางการค้าขายและการคมนาคมที่ติดต่อกันตั้งแต่จากตะวันออกกลางไปจนถึงเมืองจีน[2] ชาวยุโรปหลายกลุ่มก็ถือโอกาสใช้เส้นทางเหล่านี้ในการเดินทางไปสำรวจทางตะวันออก ผู้เดินทางเกือบทั้งหมดในช่วงแรกเป็นชาวอิตาลีเพราะการค้าขายระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางแทบทั้งหมดตกอยู่ในมือของพ่อค้าจากนครรัฐต่าง ๆ ในอิตาลี นอกจากนั้นการที่อิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการค้าขายกับบริเวณลว้านก็ยิ่งเป็นการทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจทางด้านการค้าในดินแดนที่ไกลออกไปจากนั้น การสำรวจนอกจากจะมีเหตุผลมาจากความต้องการทางการค้าแล้วก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ เช่นการสำรวจของผู้นำคริสเตียนเช่นเจ้าชายเฮนรีนักเดินเรือก็เริ่มนำคณะสำรวจเพื่อหวังที่จะหาผู้ที่จะหันมานับถือคริสต์ศาสนาเพิ่มขึ้น ฉะนั้นสาเหตุของการออกทำการสำรวจจึงมีด้วยกันหลายประการ
นักเดินทางคนแรกในกลุ่มนี้ก็ได้แก่จิโอวานนิ ดา ปาน เดล คาร์ปิเน (Giovanni da Pian del Carpine) จากอุมเบรียผู้เดินทางไปยังมองโกเลียระหว่างปี ค.ศ. 1241 ถึงปี ค.ศ. 1247[2] แต่นักเดินทางคนสำคัญที่สุดและมีชื่อที่สุดก็เห็นจะเป็นมาร์โค โปโลผู้บันทึกการเดินทางของการสำรวจไปทั่วเอเชียตั้งแต่ ค.ศ. 1271 จนถึง ค.ศ. 1295 และบรรยายว่าได้มีโอกาสเข้าไปในราชสำนักของราชวงศ์หยวนของกุบไล ข่าน การเดินทางของมาร์โค โปโลบันทึกในหนังสือชื่อ “บันทึกการเดินทาง” ซึ่งเป็นหนังสือที่แพร่หลายและอ่านกันไปทั่วยุโรป ในปี ค.ศ. 1439 นิคโคโล เด คอนติ (Niccolò de' Conti) ก็พิมพ์บันทึกการเดินทางไปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี ค.ศ. 1466 ถึงปี ค.ศ. 1472 พ่อค้าชาวรัสเซียอฟานาซิ นิคิติน (Afanasy Nikitin) ก็เดินทางไปอินเดียและเขียนบรรยายไว้ในหนังสือ “การเดินทางเลยไปจากสามทะเล” (A Journey Beyond the Three Seas)
แต่การเดินทางเหล่านี้ก็มีได้มีผลทันที จักรวรรดิมองโกลล่มสลายอย่างรวดเร็วเกือบทันทีที่ก่อตั้งเสร็จ ไม่นานหลังจากนั้นเส้นทางการเดินทางไปยังตะวันออกก็ทำได้ยากขึ้นและเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น นอกจากนั้นกาฬโรคระบาดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินทางและการค้าต้องมาหยุดชะงักลง[3] เส้นทางไปยังตะวันออกทางบกควบคุมโดยการค้าขายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและจักรวรรดิอิสลามผู้ควบคุมทั้งการขนย้ายและการตั้งราคาสินค้า การขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จำกัดการเดินทางค้าขายทางบกข้ามทวีปโดยชาวยุโรป
โปรตุเกสเป็นผู้นำ
[แก้]การเดินทางเพื่อการสำรวจหาเส้นทางค้าขายทางทะเลใหม่ไปยังเอเชียมิได้เริ่มขึ้นโดยชายยุโรปอย่างจริงจังจนมากระทั่งเมื่อมีการวิวัฒนาการเรือคาร์แร็ค และต่อมา เรือคาราเวลขึ้น[4] สาเหตุที่กระตุ้นการริเริ่มการสำรวจเกิดขึ้นหลังจากการยึดคอนสแตนติโนเปิลโดยชนเติร์กในปี ค.ศ. 1453 จากนั้นจักรวรรดิออตโตมันก็มีอำนาจควบคุมการค้าขายในบริเวณนั้น และกีดกันชาวยุโรปจากการใช้เส้นทางเส้นทางสายไหม หรือ การค้าขายไหมและการค้าเครื่องเทศ และเส้นทางการค้าขายผ่านทางแอฟริกาเหนือที่มีความสำคัญสำหรับยุโรปในการเป็นเส้นทางการค้าผสมระหว่างทางบกและทางทะเลผ่านทางทะเลแดงไปยังเอเชีย ทั้งเครื่องเทศและไหมเป็นธุรกิจใหญ่ในยุคนั้น รวมทั้งเครื่องเทศที่ใช้ประโยชน์ทั้งในการถนอมอาหารและปรุงรสซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างน้อยก็สำหรับผู้มีฐานะดีหรือผู้มีอันจะกิน
สมัยการสำรวจตอนต้นระหว่าง ค.ศ. 1419 ถึง ค.ศ. 1498
[แก้]การเดินทางสำรวจในระยะแรกนำโดยโปรตุเกสภายใต้การนำของเจ้าชายเฮนรีนักเดินเรือ การเดินเรือของชาวยุโรปก่อนหน้าการเดินทางของเจ้าชายเฮนรีส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางเลียบฝั่งทะเล ถ้าเดินทางไกลออกไปโดยไม่เห็นแผ่นดินก็จะเดินตามเส้นทางใช้กันมาแล้วที่บรรยายอย่างละเอียดในแผนที่เดินเรือพอร์โทลาน แผนที่เดินเรือพอร์โทลานแสดงรายเอียดทางลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแผ่นดินที่ทำให้นักเดินเรือสามารถบอกถึงจุดที่เริ่มเดินทางได้ และเดินทางตามเข็มทิศและสามารถบอกได้ว่าเดินทางตรงตามเส้นทางหรือหันเหจากเส้นทางจากโดยการเปรียบเทียบลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เห็นว่าเหมือนกับหรือต่างจากที่บรรยายไว้ในแผนที่ แต่วิธีนี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการผิดพลาด นักเดินเรือชาวยุโรปจึงพยายามเดินทางเลียบฝั่งทะเลโดยตลอดและพยายามเลี่ยงการเดินเรือที่มองไม่เห็นฝั่งทะเลเป็นเวลานาน ๆ นอกจากนั้นการเดินทางไกลออกไปจากฝั่งก็ยังเป็นการเสี่ยงต่อตำนานลึกลับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพรายทะเลสัตว์ทะเลต่าง ๆ หรือการตกขอบโลกซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้นักเดินเรือสยองขวัญกันไปตาม ๆ กัน การเดินเรือของเจ้าชายเฮนรีจึงเป็นการท้าทายความเชื่อต่าง ๆ ที่ว่านี้ ในปี ค.ศ. 1419 เจ้าชายเฮนรีก็ทรงพบหมู่เกาะมาเดราในมหาสมุทรแอตแลนติก และในปี ค.ศ. 1427 อะโซร์ส (Azores) โปรตุเกสยึดดินแดนทั้งสองที่พบเป็นอาณานิคม
จุดมุ่งหมายหลักของเจ้าชายเฮนรีในการเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสำรวจฝั่งทะเลทางด้านตะวันตกของแอฟริกา และเขียนแผนที่เดินเรือพอร์โทลาน นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลข้างเคียงที่รวมทั้งเหตุผลทางการค้า และทางศาสนา เป็นเวลาหลายศตวรรษเส้นทางการค้าขายที่เชื่อมแอฟริกาตะวันตกกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเส้นทางที่ต้องเดินผ่านทางด้านตะวันตกของทะเลทรายซาฮารา เส้นทางนี้เป็นเส้นทางการค้าขายทาสและทองที่ควบคุมโดยรัฐอิสลามในแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของทั้งโปรตุเกสและสเปน พระมหากษัตริย์โปรตุเกสจึงทรงหวังที่จะหาทางเลี่ยงการค้าขายที่ต้องผ่านรัฐอิสลามโดยการค้าโดยตรงกับแอฟริกาตะวันตกทางทะเล และรัฐเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็นรัฐคริสเตียนซึ่งทำให้เป็นพันธมิตรในการต่อต้านรัฐอิสลามในอัลมัฆริบ[5] ในปี ค.ศ. 1434 นักสำรวจชาวโปรตุเกส Gil Eanes ก็สามารถพิชิตอุปสรรคของแหลมโบฮาดอร์ (Cape Bojador) ได้ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1455 พระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ก็ทรงออกพระบัญญัติ “โรมานัสพอนทิเฟ็กซ์” (Romanus Pontifex) ที่ระบุว่าประเทศใดที่พบที่ไกลไปจากแหลมโบฮาดอร์เป็นของโปรตุเกส[6]
ภายในยี่สิบปีการสำรวจของโปรตุเกสก็ทำให้สามารทำการค้าขายทาสและทองได้โดยตรงกับคู่การค้าที่ปัจจุบันคือเซเนกัล และมีการสร้างป้อมการค้าขึ้นที่เอลมินา (Elmina) แหลมแวร์เด (Cape Verde) กลายเป็นอาณานิคมผู้ผลิตน้ำตาลเป็นแห่งแรก[7] ในปี ค.ศ. 1482 การสำรวจภายในการนำของ Diogo Cão ก็ทำให้เกิดการติดต่อกับราชอาณาจักรคองโก[8] จุดสำคัญที่เป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อในปี ค.ศ. 1487 เมื่อบาร์ตูลูเมว ดีอัช (Bartolomeu Dias) เดินทางรอบแหลมกูดโฮพ และพบว่าเป็นทางที่ใช้เดินทางติดต่อกับมหาสมุทรอินเดียได้จากด้านมหาสมุทรแอตแลนติก การสำรวจทางบกของ Pero da Covilha ทำให้ได้ข้อมูลสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับทะเลแดงและฝั่งทะเลเควเนีย ในปี ค.ศ. 1498 วาสโก ดา กามาเดินทางไปถึงอินเดีย
ในขณะเดียวกันดิโอโก ซิลเวสก็พบซานตามาเรีย ในปี ค.ศ. 1427 และในปีต่อ ๆ มาโปรตุเกสก็พบเกาะอื่นในหมู่เกาะอะโซร์ส เกาะเทอร์เซรา (Terceira island) กลายมาเป็นฐานทางการเดินเรือสำหรับการสำรวจใน เทอรราโนวา และนิวฟันด์แลนด์ โดยพี่น้อง คาร์เท รีอาล (Corte Real) ราวปี ค.ศ. 1500 และจากปากคำของบิดาของ คาร์เท รีอาล กล่าวว่า โจเอา วาซ (João Vaz) เป็นผู้พบทวีปอเมริกาในการเดินทางสำรวจจครั้งหนึ่งก่อนหน้าโคลัมบัส
การค้นพบโลกใหม่
[แก้]คู่อริของโปรตุเกสคาสตีล (อาณาจักรก่อนหน้าที่จะมาเป็นราชอาณาจักรสเปน) เริ่มการสำรวจมหาสมุทรแอตแลนติกช้ากว่าราชอาณาจักรเพื่อนบ้าน การสำรวจไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 หลังจากการรวมราชบัลลังก์คาสตีล และ ราชบัลลังก์อารากอน หลังจากเสร็จสิ้นจาก “การพิชิตดินแดนคืน” สเปนจึงเข้าเริ่มการเส้นทางการค้าขายใหม่และอาณานิคมโพ้นทะเลอย่างเต็มตัว ในปี ค.ศ. 1492 กษัตริย์และกษัตรีย์แห่งสหราชอาณาจักรสเปนก็พิชิตอาณาจักรอีเมียร์แห่งกรานาดาได้ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่แต่เดิมเป็นแหล่งสินค้าจากแอฟริกาโดยการส่งบรรณาการ สเปนตัดสินใจให้ทุนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในการนำขบวนการสำรวจ โดยหวังว่าการเดินทางไปยังเอเชียโดยการเดินทางไปทางตะวันตกแทนที่จะไปทางตะวันออกจะเป็นการเลี่ยงการที่จะต้องเดินทางผ่านแอฟริกาที่ควบคุมโดยโปรตุเกสได้[9]
โคลัมบัสมิได้พบเส้นทางไปยังเอเชียแต่ไปพบดินแดนที่ชาวยุโรปมาเรียกกันว่า “โลกใหม่” ซึ่งก็คือทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1500 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเปดรู อัลวาเรซ กาบรัลก็เดินทางไปสำรวจดินแดนในอเมริกาใต้ที่ปัจจุบันเรียกว่าบราซิล การเลี่ยงเส้นทางที่ไม่ให้ทับกันระหว่างสองมหาอำนาจนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างสองราชอาณาจักร[10] ในที่สุดพระสันตะปาปาก็เข้ามาแก้ไขปัญหาในปี ค.ศ. 1494 ในข้อตกลงในสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส (Treaty of Tordesillas) ที่แบ่งโลกระหว่างสองมหาอำนาจ โปรตุเกส “ได้รับ” ทุกอย่างนอกยุโรปทางตะวันออกของเส้นที่แล่น 270 ลีก (League) ทางตะวันตกของหมู่เกาะแหลมแวร์เดที่ทำให้โปรตุเกสมมีอิทธิพลในการควบคุมแอฟริกา เอเชีย และทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกา (บราซิล) ส่วนสเปนได้ทุกอย่างทางตะวันตกของเส้นแบ่งที่ระบุ ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นดินแดนที่ยังไม่ได้รับการสำรวจที่มารู้จักกันต่อมาว่าเป็นทางเด้านตะวันตกของทวีปอเมริกาและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
ในระยะเริ่มต้นโคลัมบัสและนักสำรวจสเปนก็ผิดหวังกับการค้นพบต่าง ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับแอฟริกาหรือเอเชีย ชาวหมู่เกาะแคริบเบียนดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่ค้าขายกับสเปนได้ ฉะนั้นหมู่เกาะเหล่านี้จึงกลายมาเป็นจุดสำคัญในการยึดเป็นอาณานิคมแทนที่ จนกระทั่งเมื่อตัวทวีปเองได้รับการสำรวจสเปนจึงพบความมั่งคั่งที่พยายามแสวงหามานานในรูปของทองจำนวนมหาศาล สเปนพบจักรวรรดิต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาที่ทั้งใหญ่และมีประชากรพอ ๆ กับยุโรปเอง และสเปนก็สามารถพิชิตดินแดนเหล่านี้ได้โดยกองกิสตาดอร์ (conquistador) เพียงจำนวนไม่กี่คนกับกองทัพของชนท้องถิ่น จักรวรรดิสำคัญ ๆ ที่สเปนพิชิตได้ก็ได้แก่จักรวรรดิแอซเท็คในเม็กซิโกที่พิชิตได้ในปี ค.ศ. 1521 และ จักรวรรดิอินคาในเปรูปัจจุบันที่พิชิตได้ในปี ค.ศ. 1532 ในช่วงนี้ยุโรปประสบกับปัญหาโรคระบาดร้ายแรง เช่นฝีดาษที่นำความหายนะมาสู่ประชากรในทวีปอเมริกาใต้อย่างย่อยยับ หลังจากก่อตั้งอำนาจการปกครองขึ้นแล้วสเปนก็เริ่มส่งทองและเงินที่พบกลับสเปน
ในปี ค.ศ. 1519 ราชบัลลังก์สเปนก็ให้ทุนนักเดินเรือชาวโปรตุเกสเฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน จุดประสงค์ของการสำรวจครั้งนี้ก็เพื่อหาเส้นทางไปยังหมู่เกาะเครื่องเทศโดยการเดินทางไปทางตะวันตก ซึ่งถ้าพบก็จะทำให้สเปนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมืองในบริเวณภูมิภาคนี้ของโลก[11] คณะการสำรวจสามารถข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนพบหมู่เกาะเครื่องเทศได้และเป็นนักเดินทางกลุ่มแรกที่ทำการเดินเรือรอบโลก (circumnavigation) และเดินทางกลับสเปนอีกสามปีต่อมา แต่มาเจลลันมิได้นำชัยชนะกลับสเปนด้วยตนเองเพราะมาเสียชีวิตในยุทธการมัคตาน (Battle of Mactan) ในฟิลิปปินส์เสียก่อน ซึ่งทำให้ต้องทิ้งให้ Juan Sebastián Elcano เป็นผู้นำในการเดินทางสำรวจต่อจนจบ ในบางด้านการสำรวจประสบความล้มเหลวเพราะเป็นเส้นทางที่ไม่เหมาะสมกับการที่จะใช้เป็นเส้นทางการค้า ช่องแคบมาเจลลัน (Strait of Magalhães) อยู่ไกลไปทางใต้จนเกินไป และมหาสมุทรแปซิฟิกก็มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล ฉะนั้นเส้นทางนี้จึงไม่สามารถใช้แทนการเดินทางรอบแอฟริกาของโปรตุเกสได้[12] สเปนสามารถสร้างอำนาจในภูมิภาคแปซิฟิกแต่ไม่ใช่จากการสำรวจที่ทำโดยมาเจลลัน แต่จากเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ที่พบโดยนักสำรวจอื่น ๆ เส้นทางตะวันออกไปยังฟิลิปปินส์เดินเป็นครั้งแรกโดยอัลวาโร เดอ ซาเวดรา (Alvaro de Saavedra) ในปี ค.ศ. 1527 เส้นทางตะวันตกขากลับยากกว่าแต่ในที่สุดก็พบโดยอันเดรส์ เดอ อูร์ดาเนตา (Andrés de Urdaneta) ในปี ค.ศ. 1565[13] เส้นทางนี้ใช้โดยกองเรือมะนิลา (Manila galleon) อยู่เป็นเวลานาน กองเรือมะนิลาเป็นกองเรือค้าขายซึ่งเป็นการเชื่อมการค้าขายระหว่างจีน ทวีปอเมริกา และ ยุโรป โดยเส้นทางทรานสแปซิฟิก และ เส้นทางทรานสแอตแลนติก (Transatlantic)
การหดตัวของเอกสิทธิ์ของโปรตุเกส
[แก้]เมื่อได้รับการพิทักษ์จากสเปนผู้เป็นคู่แข่งโดยสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส โปรตุเกสก็ดำเนินการสำรวจและการยึดอาณานิคมต่อไป และเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางไปถึงและติดต่อค้าขายกับญี่ปุ่น ในรัชสมัยของพระเจ้ามานูเอลที่ 1 ราชบัลลังก์โปรตุเกสก็ดำเนินโครงการที่จะควบคุมดินแดนและเส้นทางการค้าขายที่พบมา ยุทธวิธีของแผนการนี้คือการสร้างป้อมตามเมืองท่ารายทางเพื่อที่จะใช้ในการควบคุมเส้นทางการค้าขายหลักทางตะวันออก ฉะนั้นป้อมและอาณานิคมจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นบนอาณานิคมโกลด์โคสต์ (Colony of Gold Coast) ลูอันดา โมซัมบิก แซนซิบาร์ โมมบาซา โซโคตรา ออร์มุซ โกลกาตา รัฐกัว บอมเบย์ รัฐมะละกา มาเก๊า และ เกาะติมอร์
แต่โปรตุเกสมีปัญหาในการขยายจักรวรรดิลึกจากฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินที่พบ ส่วนใหญ่ก็มุ่งมั่นอยู่แต่กับการสร้างเสริมบริเวณชายทะเล โปรตุเกสเป็นราชอาณาจักรมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะมีกำลังคนหรืองบประมาณพอที่จะบริหารและป้องกันอาณานิคมและเส้นทางการค้าต่าง ๆ ที่ได้มาอย่างมีประสิทธิภาพ ป้อมที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีกำลังคนที่จะรักษาและไม่มีอาวุธพอเพียง โปรตุเกสจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันกับมหาอำนาจที่แข็งแกร่งกว่าที่เริ่มขยายอำนาจเข้ามาในเส้นทางการค้าของตนเองได้ วันแห่งความมีเอกสิทธิ์ในการค้าขายกับตะวันออกก็เริ่มจะนับวันได้ ในปี ค.ศ. 1580 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปนก็กลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโปรตุเกสด้วย พระองค์ทรงเป็นทายาทที่ถูกต้องของลูกพี่ลูกน้องของพระองค์พระเจ้าเซบาสเตียนแห่งโปรตุเกสผู้เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท (พระเจ้าฟิลิปที่ 2 เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ามานูเอลที่ 1) แต่การรวมสองจักรวรรดิอันใหญ่หลวงก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยปราศจากผู้ท้วงติง นักสำรวจฝ่ายดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษก็หันหลังให้กับ “พระบัญญัติแบ่งโลก” (Inter caetera) ซึ่งเป็นพระบัญญัติที่ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มอบสิทธิในการเป็นเจ้าของดินแดนที่พบให้แก่สเปน การก่อตั้งสถานีการค้าเพิ่มขึ้นโดยดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษทางตะวันออกก็ทำให้ประเทศเหล่านั้นมั่งคั่งขึ้น ขณะเดียวกันโปรตุเกสก็เริ่มอ่อนแอลงจากการสูญเสียสถานีการค้าและอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตก ตะวันออกกลาง และ ตะวันออกไกล บอมเบย์ถูกยกให้เป็นของขวัญการเสกสมรสของเจ้าหญิงโปรตุเกสกับพระมหากษัตริย์อังกฤษ ดินแดนอื่นเช่นมาเก๊า เกาะติมอร์ รัฐกัว และ โมซัมบิกยังคงอยู่ในความครอบครองของโปรตุเกส ขณะที่บราซิลและแองโกลากู้คืนมาได้จากดัตช์
การเข้าเกี่ยวข้องของยุโรปเหนือ
[แก้]ประเทศนอกคาบสมุทรไอบีเรียต่างก็ไม่ยอมรับสนธิสัญญาตอร์เดซิยัส เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และ อังกฤษต่างก็มีประวัติทางทะเลมาเป็นเวลานาน แม้ว่าไอบีเรียจะพยายามปกปิดความคืบหน้าต่าง ๆ ทางการเดินเรือ แต่ในที่สุดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแผนที่ก็เผยแพร่ขึ้นมาทางตอนเหนือของยุโรป
โครงการการสำรวจแรกของยุโรปเหนือในปี ค.ศ. 1497 เป็นโครงการของอังกฤษที่นำโดยชาวอิตาลี จอห์น แค็บบอท (จิโอวานนิ คาโบโต) ซึ่งเป็นโครงการที่ตามมาด้วยโครงการอื่นอีกหลายโครงการของฝรั่งเศสและอังกฤษในการสำรวจอเมริกาเหนือ สเปนพยายามดำเนินการสำรวจทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีกำลังคนพอ เพราะกำลังคนและงบประมาณส่วนใหญ่ไปมุ่งอยู่กับการสำรวจตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกาที่สเปนทราบอยู่แล้วว่าเป็นขุมทอง ในปี ค.ศ. 1524 จิโอวานนิ ดา แวร์ราซซาโน (Giovanni da Verrazzano) กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางไปถึงฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน การเดินทางสำรวจของแค็บบอท ฌาก การ์ตีเย (การสำรวจครั้งแรก ค.ศ. 1534) และนักสำรวจอื่น ๆ เป็นการสำรวจที่มีจุดประสงค์ในการแสวงหาช่องทางตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Passage) ในการใช้เป็นเส้นทางการค้ากับเอเชีย[ต้องการอ้างอิง] และช่องทางที่ว่าก็ไม่เป็นที่พบ แต่การเดินทางก็ทำให้พบสิ่งอื่น ๆ และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักล่าอาณานิคมจากหลายประเทศจากทางตอนเหนือของยุโรปก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งทะเลทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ
การขยายตัวของยุโรปเหนือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของอำนาจของโปรตุเกสในแอฟริกาและในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ดัตช์ ฝรั่งเศส และอังกฤษส่งเรือไปผ่านไปในดินแดนที่เป็นของโปรตุเกส แต่โปรตุเกสก็ไม่มีหนทางใดที่จะหยุดยั้งได้เพราะขาดกำลังคนและทุนทรัพย์ นอกจากนั้นประเทศเหล่านี้ก็ยังก่อตั้งสถานีค้าขายของตนเองขึ้นมาด้วย ส่วนแบ่งทางการตลาด (market share) ของโปรตุเกสและสเปนก็เริ่มลดลง[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนั้นแล้วยุโรปเหนือก็ขยายการสำรวจไปยังบริเวณที่ยังไม่ได้รับการสำรวจในมหาสมุทรแปซิฟิกและฝั่งทะเลทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ นักสำรวจดัตช์เช่น วิลเล็ม ฟานส์ซุน (Willem Janszoon) และ อาเบล ทัสมันเดินทางไปสำรวจฝั่งทะเลของทวีปออสเตรเลีย ขณะที่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 นักสำรวจชาวอังกฤษเจมส์ คุกเป็นผู้เขียนแผนที่โพลินีเซีย คุกเดินทางไกลไปถึงอะแลสกาโดยทิ้งชื่อต่าง ๆ ไว้เป็นที่ระลึกเช่นอ่าวบริสตอล หรืออ่าวเล็กคุกในอะแลสกา
การสิ้นสุดของยุคแห่งการสำรวจ
[แก้]เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เรือของยุโรปก็ได้รับการวัฒนาการดีขึ้นจนนักเดินเรือผู้มีผู้เชี่ยวชาญสามารถนำเดินทางไปยังจุดหมายใดก็ได้ในโลก การสำรวจทางทะเลก็ยังคงดำเนินต่อไป ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ฝั่งตะวันตกและฝั่งเหนือของออสเตรเลียก็ได้รับการเขียนเป็นแผนที่ แต่ฝั่งตะวันออกยังคงต้องรอต่อมาอีกร้อยปี ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 มหาสมุทรแปซิฟิกก็กลับมาเป็นจุดสนใจของนักสำรวจ และทะเลอาร์กติกและอันตาร์กติกก็ไม่ได้รับการสำรวจจนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักสำรวจเข้าไปถึงใจกลางของทวีปอเมริกาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และก็ยังคงมีอาณาบริเวณที่ยังไม่ได้รับการสำรวจจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ดินแดนตอนกลางของออสเตรเลียและแอฟริกาไม่ได้รับการสำรวจโดยชาวยุโรปจนคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะในบริเวณเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่มีประโยชน์ต่อการค้าขาย นอกจากนั้นก็ยังเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยโรคร้ายของเมืองร้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
ผลกระทบกระเทือนต่อโลกของยุคแห่งการสำรวจ
[แก้]เส้นทางข้ามมหาสมุทร (Trans-Oceanic) ใหม่นี้เป็นการนำมหาอำนาจยุโรปเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมเมื่อยุโรปเข้ามาควบคุมประเทศต่าง ๆ เกือบทั้งโลก ความต้องการของยุโรปในการทำการค้าขาย หาวัตถุดิบ ค้าทาส และขยายจักรวรรดิมีผลต่อบริเวณต่าง ๆ ของโลก สเปนดำเนินนโยบายการทำลายวัฒนธรรมต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาจนวอดวาย และแทนที่วัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยวัฒนธรรมของตนเองและบังคับให้ชนท้องถิ่นละทิ้งประเพณีทางศาสนาของตนเองและเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา พฤติกรรมนี้กลายเป็นมาตรฐานทั่วไปของชาติต่าง ๆ ในยุโรปในการปฏิบัติต่อดินแดนต่าง ๆ ที่เข้ายึดครองโดยเฉพาะดัตช์ รัสเซีย ฝรั่งเศส และอังกฤษ ศาสนาใหม่เข้ามาแทนที่ศาสนาที่ชาวยุโรปถือว่าเป็น “ลัทธิเพกัน” นอกจากศาสนาแล้วก็ยังมีการบังคับใช้ภาษา ระบบการบริหาร และประเพณีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศในบริเวณต่าง ๆ เช่นอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อาร์เจนตินา ชนท้องถิ่นถูกขับออกจากที่อยู่อาศัยเดิมหรือถูกจำกัดให้อยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่เจ้าของอาณานิคมก่อตั้งให้ ประชากรท้องถิ่นถูกลดจำนวนลงไปเป็นจำนวนมาก และในที่สุดก็กลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องอาศัยพึ่งพารัฐบาลของอาณานิคมที่เข้ามายึดครอง
ทางฝั่งแอฟริกาก็เช่นกัน รัฐต่าง ๆ เป็นแหล่งสำคัญของการค้าทาสซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบริเวณไม่แต่เพียงชายฝั่งของแอฟริกา และทางโครงสร้าของสังคมและทางเศรษฐกิแต่ยังลึกเข้าไปถึงใจกลางของทวีปด้วย
ในอเมริกาเหนือชาวยุโรปก็มีปัญหากับชนพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนหน้าที่ชาวยุโรปจะเข้ามายึดครอง ชาวยุโรปได้เปรียบกว่าชนพื้นเมืองหลายประการ นอกจากนั้นแล้วก็ยังนำเชื้อโรคใหม่เข้ามาเผยแพร่ที่เป็นผลให้จำนวนประชากรพื้นเมืองที่ไม่เคยประสบกับเชื้อโรคใหม่นี้ต้องเสียชีวิตไปถึง 50-90% ของจำนวนประชากรทั้งหมด[14]
ผลกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของยุคแห่งการสำรวจต่ออำนาจของยุโรป
[แก้]เมื่อสินค้าต่าง ๆ ที่เคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยมาจากการสำรวจเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นก็ทำให้ราคางสินค้าเหล่านี้เริ่มคงตัว การค้าขายทางมหาสมุทรแอตแลนติกมาแทนที่อำนาจการค้าขายของอิตาลีและเยอรมนีที่เคยใช้ทะเลบอลติกในการเดินทางขนส่งสินค้ากับรัสเซีย และมาแทนการค้าขายผ่านชาติอิสลาม นอกจากนั้นสินค้าใหม่ก็ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โครงสร้างทางสังคม เมื่อน้ำตาล เครื่องเทศ ไหม และเครื่องถ้วยชามของจีนเข้ามาในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของยุโรป
ศูนย์กลางเศรษฐกิจยุโรปเปลี่ยนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาเป็นยุโรปตะวันตก เมืองแอนต์เวิร์ปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดัชชีแห่งบราบองต์ กลายเป็น "ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งหมด"[15] ความมั่งคั่งที่สเปนประสบประจวบกับภาวะเงินเฟ้อทั้งภายในสเปนและยุโรปโดยทั่วไป ภายในไม่กี่สิบปีการทำเหมืองในทวีปอเมริกาก็มีผลผลิตมากกว่าการทำเหมืองในยุโรปเอง สเปนยิ่งต้องพึ่งรายได้จากการค้าจากทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้นจนในที่สุดก็นำไปสู่การล้มละลายของสเปนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1557 ที่เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายทางการทหารที่มากขึ้นจนเกินตัว[16] การทวีตัวของราคาเป็นผลให้มีการหมุนเวียนทางการเงินในยุโรปมากขึ้นและทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าในบรรดาชนชั้นกลางในยุโรป ที่มามีอิทธิพลต่อสถานะภาพทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมในหลายประเทศในยุโรปโดยทั่วไป
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Ancient Silk Road Travelers". www.silk-road.com. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02.
- ↑ 2.0 2.1 Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 328
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 329
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 332
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance ยุโรป 2nd ed. pg. 333
- ↑ Daus, Ronald (1983). Die Erfindung des Kolonialismus. Wuppertal/Germany: Peter Hammer Verlag. p. 33. ISBN 3-87294-202-6.
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 334
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 335
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 341
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 345
- ↑ Jensen, De Lamar (1992), Renaissance Europe 2nd ed. pg. 349
- ↑ Fernandez-Armesto, Felipe (2006). Pathfinders: A Global History of Exploration. W.W. Norton & Company. p. 200. ISBN 0-393-06259-7.
- ↑ Fernandez-Armesto, Felipe (2006). Pathfinders: A Global History of Exploration. W.W. Norton & Company. p. 202. ISBN 0-393-06259-7.
- ↑ The Story Of... Smallpox – and other Deadly Eurasian Germs
- ↑ Dunton 1896, p. 163.
- ↑ Savoring Africa in the New World by Robert L. Hall เก็บถาวร 2010-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Millersville University
บรรณานุกรม
[แก้]- Cipolla, Carlo Cipolla. European Culture and Overseas Expansion.
- Bernard DeVoto (1952). The Course of Empire. Houghton Mifflin.
- Fiske, John (1892). The Discovery of America: With Some Account of Ancient America and the Spanish Conquest. Houghton Mifflin.
- Love, Ronald S. (2006). Maritime Exploration in the Age of Discovery, 1415-1800. Greenwood Press.
- O'Sullivan, Daniel. The Age of Discovery.
- Perry, J. H. The Discovery of the Sea.
- Penrose, Boies. Travel and Discovery in the Renaissance: 1420–1620.
- Sletcher, Michael Sletcher (2005). "British Explorers and the Americas". ใน Will Kaufman and Heidi Macpherson (บ.ก.). Britain and the Americas: Culture, Politics, and History. Oxford University Press.
- Wright, John K. (March 1947). "Terrae Incognitae: The Place of the Imagination in Geography". Annals of the Association of American Geographers. 37(1): 1–15.
- Dunton, Larkin (1896). The World and Its People. Silver, Burdett.