โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท
ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก
สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยมหิดล
Collaborative Project to Increase Production of Rural Doctor, Mahidol University Affiliated Institution
ชื่อย่อPI
สถาปนาพ.ศ. 2540
เพลงฝันอันยิ่งใหญ่
สีสีเขียว
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์
โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
โรงพยาบาลราชบุรี

คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เดิมคือ โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ กลุ่มนักศึกษาแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก เป็นโครงการที่ริเริ่มจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 เพื่อตอบสนองนโยบายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2540 เป็นกลุ่มสถาบันผลิตแพทย์ ลำดับที่ 13 ของประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก (Medical Education Center; MEC) ของกระทรวงสาธารณสุขและเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่ไม่ได้มีสถานะเป็น คณะหรือหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหิดล[1] โดยมีโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์แพทย์ศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง ในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และ โรงพยาบาลราชบุรี (ภายหลังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ไปร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจึงเหลือเพียง 3 แห่ง)

ประวัติ[แก้]

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

ในช่วงปี พ.ศ. 2537 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในส่วนภูมิภาค โดยให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มและกระจาย แพทย์ลงสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น จัดทำโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทขึ้น (The Collaborative Project to Increase Production of rural Doctor; CPIRD) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย ดำเนินการโครงการ ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท[2]


จากแนวทางดังกล่าว ทำให้ศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย; กสพท. (ชุดก่อตั้ง) ซึ่งงานส่วนหนึ่งคือ การประสานงานเรื่องโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และในขณะนั้นท่านก็ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงเป็นผู้ผลักดันแนวคิดในความร่วมมือการผลิตแพทย์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท นี้ด้วย


ปี พ.ศ. 2540 เนื่องด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในสังกัดอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งในขณะนั้น โรงเรียนแพทย์ทั้งสองแห่งไม่สามารถรองรับนักศึกษาแพทย์โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทได้ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 280 มีมติอนุมัติให้รับ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรับผิดชอบดำเนินการคัดเลือกนักศึกษา และจัดการเรียนการสอนนักศึกษาโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นแรกจำนวน 16 คน โดยในระดับปรีคลินิกชั้นปีที่ 1-3 มีคณะวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการ และฝ่ายการศึกษาเป็นผู้ประสานงาน ส่วนทางโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมารับผิดชอบจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4-6


ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ให้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลราชบุรี รับผิดชอบจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในระดับคลินิก ชั้นปีที่ 4-6 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ขยายโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทเพิ่มอีก 2 ปี จากปีพ.ศ. 2538-2547 เป็น พ.ศ. 2538-2549


ภายหลัง กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้ง สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข[3] เพื่อรับผิดชอบโครงการแทนสถาบันพระบรมราชชนก และได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ทางกลุ่มนักศึกษาแพทย์ฯ ได้ขออนุโลมใช้ชื่อเรียกกลุ่มนักศึกษาฯ ขณะที่ยังศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดลว่า แพทยศาสตร์พระบรมราชชนก (PI) ตามโครงการรุ่นก่อตั้งสมัยที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ยังสังกัดสถาบันพระบรมราชชนกอยู่ ซึ่งมีรหัสประจำตัวนักศึกษาคือ XX22XXX PIMD/B และใช้ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเข็มลำดับที่ 13 ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) จากทั้งหมด 22 สถาบันแพทย์


วันที่ 15 มิถุนายน 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2556 เป็นเวลา 8 ปี โดยมีเป้าหมายรับนักศึกษาแพทย์ตลอดโครงการ 3,807 คนและอนุมัติงบประมาณดำเนินการประเภทอุดหนุนทั่วไป 300,000 บาทต่อคนต่อปีรวมทั้งสิ้น 6,853 ล้านบาท


เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเพิ่มโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี และโรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นสถาบันสมทบจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ปีที่ 4-6 ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ของกระทรวงสาธารณสุข


ปี พ.ศ. 2562 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 136 ตอนที่ 43 ก หน้า 50 ได้ประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562 [4] โดยให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถออกปริญญาบัตรขั้นสูงเองได้

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

  • ชื่อหลักสูตร หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต; Doctor of Medicine Program
  • ชื่อปริญญา แพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) มหาวิทยาลัยมหิดล; Doctor of Medicine (M.D.), Mahidol University
  • ระบบการศึกษา หลักสูตร 6 ปี

ภาพลักษณ์ของบัณฑิตแพทย์ในโครงการ[แก้]

“ เป็นแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดล่าสุดโดยแพทยสภา และเน้นหนักให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีประสบการณ์และมีเจตคติที่ดีต่อการปฏิบัติงานในชนบท พร้อมที่จะให้บริการสาธารณสุขเชิงรุกแก่ประชาชนทั้งชุมชน”

สถาบันร่วมผลิตแพทย์[แก้]

โรงพยาบาลที่ร่วมผลิตแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล มีทั้งสิ้น 4 โรงพยาบาล โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก ในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมผลิตแพทย์ เพื่อเป็นหน่วยงานในการจัดการเรียนการสอน ดังนี้

สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด ปีการศึกษาที่เริ่มรับนักศึกษา
1. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา (ปัจจุบันได้ย้ายไปร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) จังหวัดนครราชสีมา 2540
2. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ 2542
3. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 2542
4. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี 2542

สถานที่จัดการเรียนการสอน[แก้]

  • นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกทุกศูนย์ฯ

เรียนวิชาพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

  • นักศึกษาชั้นปีที่ 2-3
    • ศูนย์แพทยศาสตร์ฯ รพ.ราชบุรี เรียนที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    • ศูนย์แพทยศาสตร์ฯ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาคปลาย
    • ศูนย์แพทยศาสตร์ฯ รพ.มหาราชนครราชสีมา กลับไปเรียน เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาที่สังกัด
    • ศูนย์แพทยศาสตร์ฯ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ และ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช
  1. เรียนวิชาพยาธิวิทยาระบบ-การตรวจทางปฏิบัติการคลินิก ที่ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล
  2. เรียนวิชาสุขศาสตร์ วิชาเวชศาสตร์เขตร้อน และวิชาพื้นฐานสู่คิลานศาสตร์ ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล
  3. เรียนวิชาจิตเวชศาสตร์1 ที่สถาบันจิตเวชสมเด็จเจ้าพระยา กทม.
  4. เรียนวิชานิติเวชศาสตร์1 ที่ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • นักศึกษาชั้นปีที่ 4-5-6 ของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกทุกศูนย์ฯ

เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกที่สังกัดจนจบหลักสูตร

กิจกรรมของนักศึกษาในโครงการ[แก้]

ปริญญา และการชดใช้ทุนเมื่อสำเร็จการศึกษา[แก้]

เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแล้ว จะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) จากมหาวิทยาลัยมหิดล นักศึกษาแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทซึ่งเป็นคู่สัญญากับกระทรวงสาธารณสุข จะต้องกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา หรือที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

  • ผู้ที่จบการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทในโควตาปกติ CPIRD

จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี กรณีที่ผิดสัญญา ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขต้องชดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาทถ้วน) แทนการปฏิบัติงาน

  • ผู้ที่จบการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ที่รับทุนการศึกษาในโควตาทุน ODOD

จะต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในอำเภอ หรือในจังหวัดที่เป็นภูมิลำเนา หรือในจังหวัดที่ขาดแคลนแพทย์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นเวลา 12 ปี กรณีที่ผิดสัญญา ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขต้องชดใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) แทนการปฏิบัติงาน

ผู้รับทุนจะได้รับอนุญาตให้ลาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในระหว่างปฏิบัติงานชดใช้ทุน หลังฝึกอบรมแล้วให้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นต้นสังกัด และระยะเวลาในการฝึกอบรมไม่นับรวมเป็นระยะเวลาในการชดใช้ทุน ตามเงื่อนไขเวลาและสาขาวิชาดังนี้

  1. ผู้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบ 4 ปี สามารถฝึกอบรมใน สาขาเวชศาสตร์ป้องกันคลินิก (Clinical Preventive Medicine), สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine)
  2. ผู้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบ 5 ปี สามารถฝึกอบรมใน สาขาศัลยศาสตร์ (Surgery), สาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic surgery)
  3. ผู้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบ 6 ปีสามารถฝึกอบรมใน สาขาอายุรศาสตร์ (Internal medicine), สาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา (Obstetrics and Gynaecology), สาขากุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
  4. การเข้าฝึกอบรมสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจาก ข้อ (1) (2) และ (3) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของกระทรวงสาธารณสุขและต้นสังกัด

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต[แก้]

โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เปิดรับสมัครนักศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในระบบโควตาพื้นที่ ซึ่งคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์จะต้องมีภูมิลำเนาและกำลังศึกษาในจังหวัดที่ตั้งของโรงพยาบาลที่ร่วมผลิตแพทย์ เปิดรับสมัครช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน ของทุกปี ในเวลาราชการ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ตนมีสิทธิ์สมัคร

การคัดเลือกนักศึกษาใช้วิธีสอบวัดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นข้อสอบทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลและศูนย์แพทยฯ จัดสอบโดยตรงช่วงเดือน พฤศจิกายน / ธันวาคม โดยในปีการศึกษา 2558 เปิดรับนักศึกษาเป็นรุ่นที่ 19 จำนวนรับทั้งสิ้น 144 คน

  • ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำนวน 48 คน

เขตจังหวัดที่มีสิทธิ์สมัคร ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ

  • ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จำนวน 32 คน

เขตจังหวัดที่มีสิทธิ์สมัคร ได้แก่ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี และ จ.กำแพงเพชร

  • ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำนวน 32 คน

เขตจังหวัดที่มีสิทธิ์สมัคร ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช จ.กระบี่ จ.พังงา จ.ตรัง และ จ.ภูเก็ต

  • ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชบุรี จำนวน 32 คน

เขตจังหวัดที่มีสิทธิ์สมัคร ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.นครปฐม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2011-02-24.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-21. สืบค้นเมื่อ 2011-02-24.
  3. http://www.cpird.in.th/
  4. "พระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ. 2562" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-07-11. สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.