ถ้ำฤๅษีเขางู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถ้ำฤๅษี เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่หน้าสุด บริเวณเชิงเขาด้านสวนสาธารณะเขางู ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี พบพระพุทธรูปจำหลักหรือพระพุทธรูปที่สลักบนฝาผนังถ้ำ 2 องค์ องค์แรกประทับห้อยพระบาท (ปรลัมพปาทาสนะ) พระหัตถ็ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ซ้ายวางในพระเพลา ลักษณะท่าที่ประทับมีความใกล้เคียงกับพระประธานอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ที่ได้มาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดนครปฐม จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการได้ตีความออกมาหลายทาง กล่าวคือ

รศ.ดร.ผาสุข อืนทราวุธ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ ทวารวดี:การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี[1] มีใจความว่า พระพุทธรูปขนาดใหญ่ในอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาทแบบยุโรป ที่พบที่เมืองนครปฐมโบราณละเมืองราชบุรี เป็นรูปแบบนิยมของชาวพุทธที่นับถือนิกายมหายานในอินเดียถาคเหนือ (รูปแบบศิลปกรรมสมัยคุปตะและหลังคุปตะ) และภาคตะวันตก ในช่วงพุทธศตวรรษที่12 – 13 ดังจะเห็นตัวอย่างจาก ภาพสลักรูปพระพุทธเจ้านั่งห้อยพระบาทอยู่ในซุ้มหน้าสถูปเจติยสถานหมายเลข 26 และประดับผนังภายในเจติยสถานหมายเลขที่ 19 ที่ถ้ำอชัญฏา

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์[2] อาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นไว้ในหนังสือ อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19[3] ว่า นิการเถรวาทนิยมสร้างรูปพระสมณโคดมประทับห้อยพระบาท (ปรลัมพปาทาสนะ) พระหัตถ์ขวาอยู่ในปางแสดงธรรม (วิตรรกมุทรา) พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระพุทธรูปห้อยพระบาทในถ้ำฤๅษีนั้น ก็เป็นพระสมณโคดม มีจารึกภาษาบาลีและมอญระหว่างพระบาท ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แสดงความเห็นไว้ในหนังสือศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย[4] ว่า พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท (แบบยุโรป) ปางแสดงธรรม เป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดสมัยทวารวดี มีรูปแบบคือ พระพุทธรูปประทับเหนือบัลลังก์ห้อยพระบาทสองข้าง พระชงฆ์แยกห่างจากกัน ส้นพระบาทชิดกัน จีบพระอังคุฐกับดัชนีเป็นวงกลม และวางพระหัตถ์ซ้ายไว้บนพระเพลา จะต่างกับแบบคุปตะที่ ของคุปตะจะแสดงวิตรรกมุทราด้วยการจีบพระหัตถ์ขวาเป็นวงกลม ส่วนพระหัตถ์ซ้ายประคองไว้

บริเวณระหว่างพระบาทมีจารึกว่า ‘ปุญกรมชฺระ ศฺรีสมาธิคุปฺต’ แปลว่า ‘พระศรีสมาธิคุปตะ ผู้มีบุญอันประเสริฐ ’ หรือ ‘การบุญของฤๅษี ... ศรีสมาธิคุปตะ’ จารึกถ้ำเขางูนี้มีการเสนอความคิดเห็นไว้อย่างหลากหลาย ทั้งด้านลักษณะอักษร ภาษา คำแปล และความหมายต่างๆกล่าวคือ

แนวคิดเป็นภาษาบาลี ในฝั่งนี้มีนักวิชาการเสนอไว้ท่านเดียวคือ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์[5] ที่เสนอว่า จารึกอักษรนี้เป็นภาษามอญและภาษาบาลี แปลว่า ‘การบุญของฤๅษี ... ศรีสมาธิคุปตะ’

แนวคิดว่า จารึกเป็นภาษาสันสกฤต ในฝั่งนี้มีนักวิชาการเสนอไว้หลายท่านว่าเป็นอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต แต่ในด้านคำอ่านและความหมายกลับีความเห็นแตกต่างกันออกไป ในข้างต้น ผู้ที่ได้อ่านคำอ่านและคำแปลของจารึกนี้อาจเข้าใจคำว่า ‘คุปตะ’ ในแง่ของชื่อราชวงศ์หรือยุคสมัยของอินดียที่มีอิทธิพลต่อศิลปะสมัยทวารวดี แต่ก็มีรายงานการศึกษาหลายชิ้นที่เสนอว่าน่าจะหมายถึงชื่อบุคคล

จากการสำรวจข้อมูลจากหนังสือและบันทึกของนักวิชาการท่านต่าง ๆ เกี่ยวกับจารึกนี้ของตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จะทำให้เห็นพัฒนาการของการค้นคว้าจารึกและผู้ศึกษาจารึกในช่วงแรก ว่า พันตรี เดอ ลาช็องกีแอร์ เคยสำรวจถ้ำฤๅษีเขางูนี้ แต่ไม่ได้สังเกตเห็นจารึก ต่อมา ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านจารึกนี้ มีคำอ่านว่า ปุญ วฺระ ฤษิ -- ศฺรีสมาธิคุปต แต่ไม่ได้แปลไว้ ต่อมาในปี2529 นายชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณของกรมศิลปากร ได้อ่านและแปลอีกครั้ง แต่พบว่าก่อนที่นายชะเอมจะอ่านจารึกนี้ ได้มีคนลักลอบมาแก้ไขจารึกนีไปแล้ว[6]

อีกฟากของผนังถ้ำฤๅษีนี้มีพระพุทธรูปยืนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ เป็นศิลปะสมัยทวารวดี นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิอื่นๆอีกหลายองค์

อ้างอิง[แก้]

  1. ผาสุข อืนทราวุธ, ทวารวดี:การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี, (กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์อักษรสมัย,2542) หน้า159-164.
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/141/4.PDF
  3. พิริยะ ไกรฤกษ์,อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19, (กรุงเทพมหานคร:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,2544) ,หน้า 79-81
  4. ศักดิ์ชัย สายสิงห์,ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย, (กรุงเทพมหานคร:เมืองโบราณ,2547) ,หน้า 196-199
  5. พิริยะ ไกรฤกษ์,อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19, (กรุงเทพมหานคร:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด,2544) ,หน้า 79-81
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2008-10-06.