สงครามบางแก้ว
สงครามที่บางแก้ว | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-พม่า | |||||||
![]() สงครามที่บางแก้ว | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
![]() |
![]() | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() | ||||||
กำลัง | |||||||
5,000 คน[1] | 20,000 คน[2] |
สงครามบางแก้ว หรือ ยุทธการที่บางแก้ว หรือ การรบที่บางแก้ว หรือ นางแก้ว เป็นการสู้รบระหว่างสยามในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสมัยกรุงธนบุรี และพม่ารัชสมัยพระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์โก้นบองในพ.ศ. 2318 ซึ่งอะแซหวุ่นกี้ได้ส่งกองทัพขนาดเล็กจำนวน 5,000 คนมาโจมตีสยาม ฝ่ายพม่ามาตั้งค่ายที่บางแก้วจังหวัดราชบุรีในปัจจุบัน แต่ถูกทัพฝ่ายสยามเข้าล้อมนำไปสู่ความอดอยากและพ่ายแพ้ยอมจำนนต่อสยามในที่สุด
เหตุการณ์นำ[แก้]

กบฎมอญต่อพม่า พ.ศ. 2317[แก้]
ในพ.ศ. 2315 พระเจ้าศิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศราชของพม่า กราบทูลพระเจ้ามังระแห่งอังวะ ว่าฝ่ายสยามหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกสลายพ่ายแพ้ให้แก่พม่านั้น กลับตั้งตัวฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกภายใต้การนำของพระยาตากและตั้งราชธานีใหม่ที่บางกอก[3][2] พระเจ้ามังระมีพระราชดำริว่า หากปล่อยให้สยามและสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงฟื้นฟูสยามขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นมาอีกจะเป็นภัยอันตรายในอนาคต สมควรที่จะจัดทัพพม่าเข้าไปปราบปรามสยามให้ราบคาบอีกครั้ง พระเจ้ามังระทรงแต่งตั้งเจ้าเมืองพุกาม หรือปะกันหวุ่น[4] ชื่อว่าแมงยีกามะนีจันทา (Mingyi Kamani Sanda)[2] เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่
ต่อมาในพ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระทรงให้แพกิจจาแม่ทัพนำตราลงมาให้แก่ปะกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ให้เกณฑ์ทัพมอญจำนวน 5,000 คน[2] เข้าสมทบกับทัพของแพกิจจา เพื่อยกทัพเข้าโจมตีเมืองธนบุรีผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์ โดยให้ตั้งค่ายยุ้งฉางอยู่ที่สามสบท่าดินแดง เตรียมเสบียงไว้ล่วงหน้าก่อน ปะกันหวุ่นให้พระยาเจ่ง (Binnya Sein) ตละเสี้ยง และตละเกล็บ ยกทัพมอญจำนวน 2,000 เป็นทัพหน้า เข้ากองของแพกิจจานำทัพหน้ามอญออกจากเมืองเมาะตะมะมาทางด่านเจดีย์สามองค์ มาที่สามสบท่าดินแดงก่อน หลังจากที่พระยาเจ่งยกทัพออกจากเมืองเมาะตะมะแล้ว ปะกันหวุ่นให้จับครอบครัวของทหารมอญที่ออกไปรบมาขูดรีดเอาทรัพย์สินเงินทองจากครอบครัวมอญ จนชาวมอญทั้งหลายได้รับความเดือดร้อน นำความไปบอกแก่พระยาเจ่งและแม่ทัพนายกองมอญที่ท่าดินแดง พระยาเจ่งและแม่ทัพมอญทั้งหลายต่างพากันโกรธเคืองพม่าว่าใช้ให้ตัวมาสงครามไม่เพียงพอยังข่มเหงขูดรีดครอบครัวเบื้องหลังอีก จึงกบฏขึ้นต่อพม่าสังหารแพกิจจาแม่ทัพไปเสีย และยกทัพมอญกลับไปยึดเมืองเมาะตะมะได้สำเร็จ ปะกันหวุ่นเจ้าเมืองเมาะตะมะจึงลงเรือหลบหนีไปยังเมืองย่างกุ้ง
พระยาเจ่งยกทัพต่อจากเมาะตะมะไปโจมตีเมืองย่างกุ้ง ยึดเมืองย่างกุ่งได้ครึ่งเมือง[4] ฝ่ายพม่าส่งแม่ทัพปัญยีเยข่องจอ (Pyanchi Yegaung Kyaw)[2] สามารถขับฝ่ายมอญออกจากเมืองย่างกุ้งได้สำเร็จ ฝ่ายพระยาเจ่งและตละเกล็บพ่ายแพ้ ถอยทัพหนีเข้ามาในสยาม ส่วนตละเกิ้ง[4] (หรือตละเสี้ยง) ถูกฝ่ายพม่าจับกุมตัวได้ ทำให้ชาวมอญเมืองเมาะตะมะจำนวนมากหลบหนีลี้ภัยเข้ามาในสยาม ทั้งทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านแม่ละเมา ในเวลานั้นเองพระเจ้ามังระเสด็จจากเมืองอังวะลงมายกฉัตรพระเจดีย์เกตุธาตุ (เจดีย์ชเวดากอง) ที่เมืองย่างกุ้ง ฝ่ายตละเกิ้งถูกพม่าสอบสวนให้การซัดทอดพญาทะละ (Binnya Dala) อดีตกษัตริย์หงสาวดีซึ่งประทับอยู่ในเมืองย่างกุ้งว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้พวกตนกบฏ พระเจ้ามังระจึงเสด็จไปถามพญาทะละ พญาทะละนอกจากยอมรับข้อกล่าวหาแล้วยังกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นพระเจ้ามังระ[2] พระเจ้ามังระจึงมีพระราชโองการให้ลงพระอาญาประหารชีวิตพญาทะละ พร้อมทั้งอนุชาคือพระอุปราช พระโอรสชื่องะตา (Nga Ta) รวมทั้งประหารตละเกิ้งด้วย[4]
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้หวุ่นยีมหาสีหสุระ (Wungyi Maha Thiha Thura) หรืออะแซหวุ่นกี้ (Athi Wungyi) แม่ทัพพม่าผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามจีน-พม่า นำกำลัง 35,000 คน[2] ยกทัพจากเมืองอังวะลงมาติดตามจับกุมชาวมอญและยกทัพเข้าโจมตีสยามทางเมืองตาก
สงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317[แก้]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพขึ้นโจมตีเมืองเชียงใหม่ ในสงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับอยู่ที่เมืองระแหงหรือเมืองตาก ขุนอินทคีรีนายด่านเมืองตากนำความขึ้นกราบทูลว่าชาวมอญแตกหนีพม่าอพยพเข้ามาทางด่านแม่ละเมามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารจำนวนมาก สมิงสุหร่ายกลั่น ผู้นำชาวมอญได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยากำแหงวิชิต คุมทัพจำนวน 2,000 คนเศษ[3] อยู่รักษาเมืองตากคอยรับชาวมอญ แล้วเสด็จขึ้นไปบัญชาการรบที่ลำพูน ต่อมาฝ่ายกองกำลังพม่าได้ติดตามชาวมอญเข้ามาจนถึงบ้านนาเกาะดอกเหล็กและด่านสตอง พระราชฤทธานนท์จึงนำความขึ้นไปทูลที่ลำพูนว่าทัพพม่าเข้ามาแล้วทางบ้านนายังไม่มีทัพคอยรับ จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ ตั้งทัพป้องกันพม่าด่านทางเมืองตาก และให้พระยากำแหงวิชิตรักษาด่านบ้านนาเกาะดอกเหล็ก
หลังจากที่ทรงมีชัยชนะได้เมืองเชียงใหม่แล้ว ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2318 พระเชียงทองกราบทูลขึ้นไปว่าทัพพม่ามาถึงด่านแม่ละเมาแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงรีบเสด็จยกทัพจากเชียงใหม่ลงมาถึงเมืองตากในเดือนกุมภาพันธ์ มีพระราชโองการให้หลวงมหาเทพและจมื่นไวยวรนาถ[1]ยกทัพหน้าจำนวน 2,000 คน เข้าตีทัพพม่าที่แม่ละเมาแตกพ่ายไปในการรบที่ด่านแม่ละเมา และมีพระราชโองการให้พระกำแหงวิชิตที่บ้านระแหงยกติดตามไปโจมตีทัพพม่าที่ถอยไป จากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จจากบ้านระแหงกลับคืนกรุงธนบุรีในเดือนกุมภาพันธ์นั้น มีชาวมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทางด่านแม่ละเมาเมืองตาก จำนวน 4,335 คน[1] พระราชทานข้าวปลาอาหาร และจัดเรือส่งชาวมอญลงมายังกรุงธนบุรี
การเตรียมทัพของฝ่ายพม่า[แก้]
พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้แมงเยชัยจอ (Minye Zeyakyaw) ขุนนางพม่าซึ่งเคยมีหน้าที่ควบคุมดูแลพญาทะละ บัดนี้พญาทะละถูกประหารชีวิตไปแล้วให้กองของแมงเยชัยจอไปสมทบรวมกันกับทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะเพื่อเข้าโจมตีสยาม เมื่ออะแซหวุ่นกี้ทราบว่าทัพสยามตั้งอยู่ที่เมืองตาก จึงมีคำสั่งให้ส่งกองกำลังของแมงเยชัยจอยกทัพพม่าข้ามผ่านด่านเจดีย์สามองค์เพื่อเข้าโจมตีสยามทางกาญจนบุรีอีกด้านหนึ่ง แต่แมงเยชัยจอแย้งว่า ส่งกองกำลังไปขนาดเล็กอาจถูกทัพสยามดักซุ่มโจมตีได้ ควรจะส่งทัพหลวงใหญ่ไปเลยทีเดียว อะแซหวุ่นกี้ยังยืนยันคำสั่งเดิม ให้เหตุผลว่าทางช่องด่านเจดีย์สามองค์นั้นเสบียงน้อยไม่สามารถรองรับทัพขนาดใหญ่ได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอะแซหวุ่นกี้และแมงเยชัยจอ[2] แมงเยชัยจอไม่พอใจจึงขัดคำสั่งของอะแซหวุ่นกี้ ถอนทัพของตนออกจากสงครามตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะไม่ไปที่ใด
อะแซหวุ่นกี้จึงให้ฉับกุงโบ หรือฉัพพะกุงโบ (Satpagyon Bo)[2] หรือในพงศาวดารไทยเรียกว่า งุยอคุงหวุ่น เป็นแม่ทัพ นำกองกำลังพม่า 5,000 คน เข้ารุกรานสยามทางด่านเจดีย์สามองค์ ฉับกุงโบเป็นแม่ทัพพม่าซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการรบกับไทย[2] เข้าร่วมในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
สงครามบางแก้ว[แก้]
ล้อมพม่าที่บางแก้ว[แก้]
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2317 ฉับกุงโบและอุตตมสิงหจอจัว แม่ทัพพม่า ยกทัพหน้าพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และให้แมงเยรานนอง (Minye Yannaung)[2] หรือ ตะแคงมระหน่อง ยกทัพอีก 3,000 คน เข้ามาสมทบ ในขณะนั้นพระยายมราช (หมัด) ตั้งขัดตาทัพอยู่ที่สามสบท่าดินแดง อุตตมสิงหจอจัวยกทัพเข้าตีทัพพระยายมราชแตกพ่ายไปและเข้ายึดค่ายที่สามสบท่าดินแดงได้สำเร็จ พระยายมราชบอกเข้ามากราบทูลว่ากองทัพพม่ามาเป็นจำนวนมากเหลือกำลังจะต้านทาน ขอพระราชทานทัพไปช่วย[1] สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย พร้อมทั้งพระยาธิเบศร์บดี ถืออาญาสิทธิ์ ยกทัพ 3,000 คนไปตั้งรับพม่าที่ราชบุรี พบกับพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเพชรบุรี แตกทัพพม่าหนีมา จึงมีพระราชโองการให้จับกุมบุตรภรรยาของพระอภัยรณฤทธิ์ไว้ ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ทำราชการศึกครามแก้ตัวให้ได้มิฉะนั้นจะประหารชีวิตเสีย[3][1]
ในเวลานั้น กองทัพกองกำลังไทยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือล้านนา สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้ทัพซึ่งกำลังเดินทางลงมากลับจากศึกเมืองเชียงใหม่ ให้รีบยกทัพต่อไปตั้งรับพม่าที่ราชบุรี ห้ามมิให้แม่ทัพนายกองคนใดจอดเรือแวะบ้านโดยเด็ดขาด พระเทพโยธาจอดเรือแวะบ้าน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงลงพระอาญาใช้ดาบตัดศีรษะของพระเทพโยธาประหารชีวิตด้วยพระองค์เอง[3][1] แล้วเสียบประจานไว้ที่หน้าป้อมวิไชยประสิทธิ์ เมื่อพระยาเจ่งและบรรดาชาวมอญเดินทางมาถึงธนบุรีแล้ว ทรงจัดตั้งกองมอญขึ้น ทรงแต่งตั้งขุนนางชาวมอญชื่อมะโดด (มอญ: မဍောတ်) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นหลวงบำเรอภักดิ์ในสมัยอยุธยา ขึ้นเป็นพระยารามัญวงศ์ที่จักรีมอญ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญ และทรงแต่งตั้งพระยาเจ่งเป็นที่พระยาเกียรติ์[5] ตละเกล็บเป็นที่พระยาราม มีพระราชโองการให้พระยารามัญวงศ์ (มะโดด) นำทัพกองมอญยกทัพไปรับพม่าที่ราชบุรี และทรงให้มีตราขึ้นไปถึงเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ที่เชียงใหม่ ให้เกณฑ์ทัพฝ่ายหัวเมืองเหนือและตะวันออกทั้งปวงมาช่วยที่ราชบุรี
ฝ่ายพม่าที่สามสบท่าดินแดง แบ่งกำลังออกโจมตีเมืองต่างๆจับผู้คนชาวสยาม ทั้งกาญจนบุรี ราชบุรี นครไชยศรี และสุพรรณบุรี ที่เมืองนครไชยศรี กองตำรวจหลังซึ่งเชิญตราพระราชสีห์ไปที่เมืองสุพรรณบุรี ถึงตำบลบ้านภูมิพบพม่าสามสิบคนจึงขี่ม้าไล่จนทำให้ตราพระราชสีห์สูญหาย พม่าเข้าล้อมบ้านภูมิ จึงมีพระราชโองการให้พระยาพิชัยไอศวรรย์ (หยางจิ้นจง) ผู้ว่าที่โกษาธิบดี ยกทัพ 1,000 คน ไปตีพม่าที่นครไชยศรี[3][1]
ทางกาญจนบุรี ฝ่ายพม่าตะแคงมระหน่องเป็นแม่ทัพใหญ่ ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก (เมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน) อะแซหวุ่นกี้ส่งกำลังจากเมาะตะมะมาสมทบอีก 1,000 คน รวมมีกำลัง 4,000 คน ตะแคงมระหน่องแบ่งกำลังพล 2,000 คน ให้งุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัว ลงมาตามแม่น้ำแม่กลองไปตั้งที่บ้านบางแก้วหรือนางแก้ว (อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี) แขวงเมืองราชบุรี เมื่อพระยายมราช (หมัด) ถอยทัพกลับมาแล้ว พระองค์เจ้าจุ้ยและพระยาธิเบศร์บดีจึงให้หลวงมหาเทพนำทัพกองหน้าจำนวน 1,000 คน เข้าประชิดค่ายพม่าบางแก้วทางทิศทางด้านตะวันตก และให้เจ้ารามลักษณ์ยกทัพอีก 1,000 คน เข้าประชิดทางตะวันออก พระองค์เจ้าจุ้ยและพระยาธิเบศร์บดีตั้งทัพอยู่ที่โคกกระต่าย[3][1] พระยายมราช (หมัด) ตั้งรับพม่าอยู่ที่ดงรังหนองขาว (ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง) ทางตะวันออกของปากแพรกกาญจนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้าบุญจันทร์ และเจ้าพระยาศรีธรรมธิราช (อดีตเคยเป็นพระยาธิเบศร์บดีในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์) เป็นผู้รักษาพระนครธนบุรี เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318 วันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 3 สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับเรือพระที่นั่งกราบยาวเสด็จยกทัพพยุหยาตราทางชลมารค พร้อมด้วยท้าวพระยาข้าทูลละอองฯจำนวนมาก เสด็จยกทัพจำนวน 8,863 คน[3][1] พร้อมแตรสังข์ปี่แพทย์เรือนำ ปืนใหญ่น้อย 277 กระบอก ยกมาทางนาวาประทับพักที่เมืองสมุทรสาครบุรีท่าจีนรอน้ำขึ้น แล้วเสด็จยกทัพต่อไปตามแม่น้ำไปทอดพระเนตรค่ายบางกุ้ง แล้วจึงเสด็จกลับมายังค่ายเมืองราชบุรี มีพระราชโองการให้พระยาวิจิตรนาวีไปสืบข่าวทัพไทยและพม่าที่บางแก้ว งุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าที่บางแก้ว มีความประมาทแก่ฝ่ายไทย ถือว่าตนเองมีประสบการณ์ในการรบกับไทย[2][3] ตั้งค่ายอยู่นิ่งเฉยปล่อยให้ฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมไว้ที่บางแก้ว คิดว่าจะสามารถตีฝ่าวงล้อมของฝ่ายออกมาอย่างง่ายดาย ฝ่ายพม่าร้องออกมาเป็นภาษาไทยว่า "ตั้งค่ายมั่นแล้วฤๅยัง" ฝ่ายไทยตอบกลับว่า "ยังไม่ได้มั่น แต่บัดนี้ตั้งค่ายล้อมพม่าไว้รอบแล้ว"[3] ฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมพม่าที่บางแก้วไว้ถึงสามชั้น พระยาวิจิตรนาวีกลับจากบางแก้วมากราบทูล ว่าทัพฝ่ายไทยได้เข้าล้อมค่ายพม่าที่บางแก้วไว้มิดชิดหมดสิ้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จจากราชบุรี ไปบางแก้วทอดพระเนตรค่ายล้อมบางแก้ว มีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์ (มะโดด) หลวงบำเรอภักดิ์ และหลวงราชเสนา ไปตั้งค่ายที่เขาชะงุ้มอีกค่ายหนึ่ง ทางตะวันตกของบางแก้ว และให้เจ้าพระยาอินทรอภัยไปตั้งที่สระน้ำเขาชั่วพราน (เขาช่องพราน) อีกสามค่าย จำนวน 300 คน
ขุนปลัดเมืองราชบุรีมากราบทูลว่า พม่าจากเมืองทวายยกมาทางด่านเจ้าขว้าวประมาณ 2,000 คน จับชาวด่านไปได้สองคน จะยกมาทางด่านเจ้าขว้าวอีกหรือไม่ไม่ทราบชัด[3][1] จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย และพระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง หรือ เฉินเหลี่ยน) ยกทัพลงไปรักษาค่ายเมืองราชบุรี ให้รื้อค่ายไปทั้งที่ริมแม่น้ำทั้งหมดปักขวากหนามรายรอบ
เนเมียวแมงละนรธา แม่ทัพพม่าจากปากแพรก ยกทัพ 1,000 คน[1] มารบกับเจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาชั่วพรานถึงสามครั้งในคืนเดียว สมเด็จพระเจ้าตากสินจะเสด็จยกไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัย แต่พระยาเทพวรชุนและหลวงดำเกิงรณภพห้ามไว้และทูลอาสายกไปเอง[3] จึงทรงให้เกณฑ์ทหารกองในกองนอกและกองอาจารย์ ได้ 745 คน ให้พระยาเทพวรชุนและหลวงดำเกิงฯยกเป็นกองโจรไปช่วยเจ้าพระยาอินทรอภัยที่เขาชั่วพราน
ในเดือนมีนาคม เจ้ารามลักษณ์ฯส่งเณรจวงวัดบางนางแก้ว ซึ่งถูกพม่าจับไปหนีกลับมาได้ มากราบทูลข้อราชการ ให้การว่า พม่าอยู๋ในค่ายบางแก้วประมาณ 1,000 คนเศษ เสบียงอาหารลดน้อยถอยลงกินได้อีกสิบวัน ส่วนน้ำไว้ดื่มได้อีกครึ่งเดือน ฝ่ายไทยยิงปืนเข้าไปในค่ายถูกพม่าเสียชีวิตไปจำนวนมาก ต้องขุดหลุมฝังศพกลบไว้ก่อน สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสถามเณรจวงว่า หนีมาเองหรือพม่าใช้ให้มา เถรจวงตอบว่าหนีมาเอง ถ้าพม่าจับได้อาจถูกสังหารไปแล้ว[1] ทรงให้อองวาจาล่ามพม่า สอบถามเชลยพม่าที่เจ้าพระยาอินทรอภัยจับมาได้ ให้การว่า แม่ทัพพม่าที่ยกมาตีค่ายสระน้ำเขาชั่วพราน ชื่อว่า เนเมียวแมงละนรธา มีกำลัง 1,000 คน แม่ทัพที่ค่ายบางแก้ว ชื่อยุยองโป (ฉับกุงโบ) มีกำลัง 1,000 คน ที่ปากแพรกกาญจนบุรี ชื่อว่า สะแคงมระนอง (ตะแคงมระหน่อง) เป็นน้าของพระเจ้าอังวะ คุมทัพใหญ่ 3,000 คน และแม่ทัพไม่ทราบชื่อ คุมกำลัง 1,000 จากทวายมาทางด่านเจ้าขว้าวราชบุรี[1]
สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เข้าล้อมทัพพม่าของงุยอคงหวุ่นที่บางแก้วไว้ จนกว่าจะขาดเสบียงและหิวโหย ถ้าหากพม่าที่บางแก้วยกทัพฝ่าวงล้อมออกมา ให้สกัดกั้นไว้แต่ห้ามยกเข้าชิงค่าย ถ้าหากฝ่ายพม่าสามารถฝ่าวงล้อมออกไปได้ จะลงพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต[3] มีพระราชโองการให้เฆี่ยนขุนอากาศสรเพลิง 60 ที โทษข้อหายิงปืนเกนหาม ยิงทีละนัดไม่ได้ยิงพร้อมกันตามรับสั่งฯ ทำให้ข้าศึกรู้ตัวหนีไป[3][1] มีพระราชดำรัสว่า "ข้าราชการทั้งปวง ใช้ให้ไปทำศึกบ้านเมืองใด พ่อมิได้สะกดหลังไปด้วย ก็ไม่สำเร็จราชการ ฯลฯ"[3][1] มีพระราชโองการให้ให้ตักน้ำจากโคกกระต่ายไปเลี้ยงทัพหน้าไม่ให้ขาดแคลนน้ำดื่ม
เสียค่ายเขาชะงุ้ม[แก้]
ฝ่ายพม่าที่บางแก้วพยายามฝ่าวงล้อมออกมาทางค่ายของหลวงมหาเทพ หลวงมหาเทพระดมยิงปืนจนฝ่ายพม่าถอยกลับเข้าไป ตะแคงมระหน่องนายทัพพม่าที่ปากแพรกส่งกองกำลังมาโจมตีล้อมค่ายเขาชะงุ้มของพระยารามัญวงษ์เพื่อช่วยเหลืองุยอคงหวุ่นที่บางแก้ว จึงมีพระราชโองการให้พระยาธิเบศร์บดี พร้อมทั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์เป็นทัพหน้า พระยาธิเบศร์บดีเป็นทัพหลวง ยกทัพไปช่วยเหลือพระยารามัญวงษ์ออกจากที่ล้อม นำไปสู่การรบที่เขาชะงุ้ม ได้รบกันอย่างรุนแรง ทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทยสูญเสียนายกองไปจำนวนมาก พระยาธิเบศร์บดีตั้งค่ายไม่สำเร็จ ต้องถอยลงมา มีพระราชโองการให้ช่วยพระยารามัญวงศ์และกองมอญออกมาให้ได้ จนพระยารามัญวงศ์ และหลวงงบำเรอภักดิ์ จึงสามารถฝ่าวงล้อมพม่าออกมาหาพระยาธิเบศร์บดีได้สำเร็จ แต่ฝ่ายพม่าสามารถเข้ายึดเขาชะงุ้มได้ ฝ่ายไทยจึงเสียค่ายเขาชะงุ้มให้แก่พม่า พม่าสามารถตั้งมั่นที่เขาชะงุ้มทางตะวันตกของบางแก้วได้สำเร็จ
ทัพหัวเมืองมาสมทบ[แก้]
ในเวลานั้นเอง กองทัพของเจ้าพระยานครสวรรค์ยกทัพเดินทางมาถึงราชบุรี จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครสวรรค์ถืออาญาสิทธิ์ พร้อมพระราชทานกองเกนหัดถือปืน 40 คน กองนอกถือปืน 150 คน ยกไปช่วยพระยาธิเบศร์บดีตีทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม ทรงถอดพระธำมะรงค์เพชรองค์หนึ่งให้แก่เจ้าพระยานครสวรรค์ พระราชทานพรว่า "ชยตุ ภวังค์ สัพพสัตรู วินาสสันติ"[3][1] แต่ฝ่ายพม่าสามารถปักหลักอยู่ที่เขาชะงุ้มได้อย่างมั่นคง จึงมีพระราชโองการให้พระยาธิเบศร์บดีและเจ้าพระยานครสวรรค์ถอยมมาตั้งรับพม่าที่บางแก้ว ห่างจากค่ายพม่าที่บางแก้วประมาณห้าเส้น และส่งตัวพระยารามัญวงษ์ (มะโดด) หลวงบำเรอภักดิ์ และหลวงราชเสนา มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินที่พลับพลาโคกกระต่าย ในเดือนมีนาคม ตะแคงมระหน่องแม่ทัพพม่าที่ปากแพรก ส่งทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยายมราช (หมัด) ที่หนองขาว พระยายมราชบอกลงมากราบทูลว่าพม่าถูกปืนตายจำนวนมากแต่กระสุนดินดำของฝ่ายไทยจวนจะหมดแล้วขอพระราชทานไปเพิ่ม สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำรัสตอบไปว่าให้รอกระสุนดินดำจากเจ้าพระยาจักรีที่กำลังจะยกทัพมาถึง
กรมการเมืองคลองวาฬ (ตำบลคลองวาฬ) บอกส่งมาว่าทัพพม่าจากเมืองมะริดยกทัพเข้ามาทางด่านสิงขรโจมตีบ้านทัพสะแก ขอพระราชทานกองทัพไปช่วย ทรงมีตราตอบออกไปว่าราชการศึกทางราชบุรียังติดพันอยู่ ขอให้ทางกรมการเมืองคลองวาฬรองรับสู้พม่าคอยท่าไปก่อน ทันใดนั้นหลวงมหาแพทย์เดินทางจากธนบุรีมาถึงราชบุรีเข้าเฝ้ากราบทูลว่า สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชมารดา ได้ประชวรสิ้นพระชนม์[3] ได้เชลยพม่าสองคนจากค่ายบางแก้ว ให้การว่าฝ่ายพม่าที่ถูกล้อมอยู่ที่บางแก้วนั้น ขาดเสบียงอาหารและขาดน้ำอย่างมาก น้ำไม่เพียงพอฝ่ายพม่าต้องขุดบ่อหาน้ำแต่ไม่สำเร็จ ปืนใหญ่น้อยที่ฝ่ายไทยยิงเข้าไปนั้นถูกพม่าล้มตายไปจำนวนมาก จึงมีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์ยกทัพกองรามัญใหม่ 400 คน ไปเป็นกองโจรโจมตีทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม
เจ้าพระยาจักรียกทัพจากเชียงใหม่ลงมาจนถึงราชบุรีในเดือนมีนาคม เจ้าพระยาจักรีนำขุนนางเมืองน่านมาเข้าเฝ้าที่โคกกระต่าย กราบทูลว่าได้เกลี้ยกล่อมเมืองน่านเข้าสวามิภักดิ์ต่อธนบุรีได้สำเร็จ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพระโสมนัส พระราชทานแสงดาบฝักทองด้ามทอง กับพระธำมะรงค์ให้แก่เจ้าพระยาจักรี และมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพ ถือพระอาญาสิทธิ์ยกไปตั้งทัพที่วัดมหาธาตุเขาพระ และตั้งค่ายเป็นแนวรายป้องกันมาจนถึงบางแก้ว อย่าให้พม่าวกออกหลังได้ และดำรัสให้หลวงบำเรอภักดิ์นำกอง 400 คน ไปคอยสังเกตการณ์พม่าซึ่งมาตักน้ำที่หนองน้ำเขาชะงุ้มนั้น[3]
พม่าที่บางแก้วยกทัพพยายามฝ่าวงล้อมออกมาทางค่ายของพระยาพิพัฒโกษาและพระยาเพชรบุรี ถูกฝ่ายไทยยิงปืนระดับถอยกลับเข้าไปอีกครั้ง และในคืนเดียวกันนั้นพม่ายกออกมาจาหลวงราชนิกูลไม่สามารถ่าวงล้อมออกไปได้อีกเช่นกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทรงม้าไปประทัพที่หลังค่ายของหลวงมหาเทพ ทรงให้ชายมอญชื่อจักกายเทวะตะโกนเข้าไปในค่ายบางแก้วเป็นภาษาพม่าว่า ให้พม่าทั้งปวงยอมแพ้ออกมาหาแต่โดยดี ทรงพระกรุณาไว้ชีวิตทั้งสิ้น งุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าในค่ายบางแก้วร้องตอบออกมาว่า "ท่านล้อมไว้ครั้งนี้ ซึ่งจะหนีไปให้รอดด้วยความตายหามิได้แล้ว แต่เอ็นดูไพร่พลทั้งปวงมากนักจะพลอยตายเสียด้วย ถึงตัวเราผู้เป็นนายทัพจะตายก็ตามกรรมเถิด แต่จะขอพบตละเกล็บสักหน่อยหนึ่ง"[3] จึงมีพระราชโองการให้พระยาพระราม (ตละเกล็บ) ขี่ม้าพร้อมกั้นร่มระย้าออกไปเจรจาความกับงุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่า ฝ่ายพม่าบางแก้วเขียนข้อความเป็นภาษาพม่าใส่ใบตาลขดส่งออกมาจากในค่าย
เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เดินทางยกทัพมาถึงราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานร่มแพรแดงมีระย้าให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ และให้ยกทัพไปเข้าร่วมการล้อมค่ายพม่าบางแก้ว ต่อมาเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพหัวเมืองเหนือไปล้อมพม่าที่เขาชะงุ้ม
พระยาเพชรบุรี คิดย่อท้อไม่เป็นใจในราชการ วางแผนว่าถ้าพม่ายกออกมารบกับค่ายของตนเอง แล้วต้านทานทัพพม่าไม่ได้ จะหนีกลับไปยังเมืองเพชรบุรี บ่าวของพระยาเพชรบุรีมากราบทูลฟ้องนายของตน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการจับกุมตัวพระยาเพชรบุรีมาสอบสวน พระยาเพชรบุรีให้การยอมรับ จึงให้ลงพระราชอาญามัดมือไพล่หลัง นำตัวไปตระเวนประจานรอบกองทัพ แล้วประหารชีวิตตัดศีรษะ[3]
ฝ่ายพระยารามัญวงษ์ และพระยาพระราม (ตละเกล็บ) เจรจากับงุยอคงหวุ่ง แม่ทัพพม่าที่บ้างแก้ว งุยอคงหวุ่นว่าตละเกล็บเป็นแม่ทัพมอญมาเข้ากับฝ่ายไทยงุยอคงหวุ่นไม่ไว้ใจ ต้องการพบกับแม่ทัพผู้ใหญ่ตำแหน่งระดับสูง งุยอคงหวุ่นส่งนายทัพพม่าคนหนึ่งออกมาหาตละเกล็บ จึงมีพระราชโองการให้ตละเกล็บพานายทัพพม่าคนนั้นไปพบกับพระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี ตละเกล็บบอกถ้อยความแก่นายทัพพม่า ให้กลับไปบอกแก่งุยอคงหวุ่นว่า "ถ้านายมึงออกมาถวายบังคม กูจะช่วยให้รอดจากความตาย ถ้ามิออกมาจะฆ่าเสียทั้งสิ้น"[3] ฝ่ายนายทัพพม่าแจ้งว่าขอให้เวลาฝ่ายพม่าปรึกษาตัดสินใจกันก่อน ตละเกล็บจึงให้ปล่อยนายทัพพม่ากลับเข้าไป
พระกุยบุรีและพระคลองวาฬ บอกเข้ามากราบทูลว่า พม่าประมาณ 400 คน ยกเข้ามาโจมตีเมืองบางสะพาน ได้รบกันเป็นสามารถ พม่าเผาเมืองบางสะพานเสียแล้วฝ่าวงล้อมออกไป พม่ายกทัพไปทางเมืองปะทิว จึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอเจ้าบุญจันทร์และเจ้าพระยาศรีธรรมธิราชซึ่งเป็นผู้รักษากรุงธนบุรีในขณะนั้น มีหนังสือตอบพระกุยบุรีไปว่า ให้วางยาเบื่อในหนองน้ำบ่อน้ำที่ทางพม่ายกมานั้นให้หมดสิ้น อย่าให้ทัพพม่ามีน้ำกินได้ และให้นำตัวเชลยพม่าห้าคนมาลงพระอาญาตัดมือตัดเท้าเสีย แล้วเขียนป้ายแขวนคอไปว่า บอกแก่เจ้านายมันให้เร่งยกมาอีกเถิด[3]
เกลี้ยกล่อมแม่ทัพพม่า[แก้]
สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทอดพระเนตรค่ายของเจ้าพระยาอินทรอภัยและพระโหราธิบดีที่เขาช่องพราน พระยารามัญวงษ์ (มะโดด) พบเส้นทางลำเลียงของพม่าและจับชาวพม่ามาได้สองคนถวาย ให้การว่าลำเลียงเสบียงมาจากปากแพรกมาส่งที่เขาชะงุ้ม จึงมีพระราชโองการให้หลวงภักดีสงคราม จากกองของพระเทพวรชุน ให้คุมกำลัง 500 คน ไปถมห้วยน้ำหนองบงในเส้นทางที่พม่าจะยกมาให้หมดสิ้น หากถามไม่ได้ให้นำไม้เบื่อไม้เมาและสิ่งปฏิกูลทิ้งลงในน้ำ อย่าให้พม่ามีน้ำกิน และเป็นกองโจรคอยตีสกัดเส้นทางลำเลียงของพม่า
เจ้าพระยาสุรสีห์และเจ้าพระยานครสวรรค์เข้าล้อมค่ายพม่าที่เขาชะงุ้มไว้ ฝ่ายพม่าเขาชะงุ้มยกออกมาตีฝ่าวงล้อมแต่ไม่สำเร็จ ถูกปืนฝ่ายไทยน้อยใหญ่ถอยกลับเข้าไป สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพจากโคกกระต่ายขึ้นไปช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ที่เขาชะงุ้ม แล้วเสด็จกลับมาประทับที่โคกกระต่าย
ฝ่ายงุยอคงหวุ่นส่งแม่ทัพพม่าเจ็ดคนออกมาเจรจาด้วยพระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ และเจ้าพระยาจักรี ว่าถ้าท่านแม่ทัพช่วยกรุณาทูลขอไว้ชีวิต จะยินยอมออกมาสวามิภักดิ์ถวายบังคมกันทั้งสิ้น ฝ่ายพระเจ้าหลานเธอ และเจ้าพระยาจักรี สั่งให้ล่ามพม่าบอกกลับไปว่า จะทูลขอให้ไว้ชีวิตจงออกมากันเถอด ให้คุมตัวแม่ทัพพม่าไว้สองคนเป็นตัวประกัน แล้วปล่อยแม่ทัพพม่าที่เหลืออีกห้าคนกลับเข้าไปบอกความ เพราะครั้งก่อนแม่ทัพพม่าบอกว่าจะออกมาสวามิภักดิ์แต่ไม่ออกมาเป็นเท็จไปครั้งหนึ่งแล้ว หากครั้งนี้เป็นเท็จอีกจะช่วยไม่ได้
พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ยกทัพเมืองนครราชสีมา 900 คนมาถึงราชบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินพิโรธพระยานครราชสีมาว่ายกทัพมาถึงช้ากว่าหัวเมืองทั้งปวง พระยานครราชสีมาทูลแก้ว่าที่เกณฑ์ทัพมาล่าช้าเนื่องจากเลกไพร่ในสังกัดครั้งตั้งแต่ยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ หนีตาทัพกลับบ้าน จึงเที่ยวจับกุมตัวไพร่ที่หนีทัพเหล่านั้นมาพร้อมทั้งบุตรภรรยา เป็นชายหญิงรวมกันเก้าสิบหกคน จึงตรัสว่าเลกไพร่หนีตาทัพจะไว้ชีวิตไว้มิได้ ลงพระราชอาญาให้ตัดศีรษะประหารชีวิตทั้งสิ้นทั้งบุตรภรรยา ที่ริมนอกค่ายโตกกระต่าย[3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้พระยานครราชสีมาเข้าช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพเข้าล้อมพม่าที่เขาชะงุ้ม ปลูกนั่งร้านเอาปืนใหญ่ขึ้นยิงใส่ค่ายพม่า
งุยอคงหวุ่งให้อุตตมสิงหจอจัวปลัดทัพ กับแม่ทัพนายกองพม่าสิบสามคน นำอาวุธต่างๆมัดออกมาถวายเจ้ารามลักษณ์ พระเจ้าหลานเธอเจ้ารามลักษณ์ จึงให้พระยาพิพัฒโกษาและหลวงมหาเทพ จับกุมมัดตัวอุตตมสิงหจอจัวและแม่ทัพพม่าอีกสิบสามคน นำมาถวายที่โคกกระต่าย แม่ทัพพม่าทั้งสิบสี่คนกราบทูลว่า นำเครื่องศาสตราวุธออกมาถวายบังคม ถ้าหากทรงพระกรุณาไว้ชีวิตจะถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นข้าทูลละอองฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าแม่ทัพใหญ่งุยอคงหวุ่นยังไม่ออกมา ถึงทรงให้จำอุตตมสิงหจอจัวและแม่ทัพพม่าทั้งหลายไว้ก่อน จนกว่าแม่ทัพพม่านายใหญ่จะออกมา ทรงให้อุตตมสิงหจอจัวไปป่าวตะโกนแก่งุยอคงหวุ่นให้ออกมา แล้วให้นำอุตตมสิงหจอจัวและนายทัพพม่าไปจำไว้ในตะราง
ทรงให้อุตตมสิงหจอจัวไปร้องเรียกงุยอคงหวุ่นอีกครั้ง งุยอคงหวุ่นตอบว่าส่งแม่ทัพพม่าออกมาหลายคน เป็นตายร้ายดีอย่างไรไม่ทราบความ มีแต่คนมาร้องเรียกอยู่อย่างเดียวไว้ใจไม่ได้ อุตตมสิงหจอจัวตอบกลับว่าปล่อยนายทัพพม่ากลับเข้าไปมิได้จะพิโรธฆ่าเสีย งุยอคงหวุ่นเรียกร้องว่าให้ส่งแม่ทัพพม่ากลับเข้ามา แล้วใช้อาวุธทั้งหลายที่ล้อมค่ายอยู่นี้สังหารเถอด อุตตมสิงหจอจัวจึงปล่อยตัวแม่ทัพพม่าเข้าไปในค่ายพม่าสองคน ไปบอกแก่งุยอคงหวุ่นว่าพระเจ้าตากสินทรงพระเมตตาไม่ได้ฆ่า งุยอคงหวุ่นเถียงว่า นายทัพชั้นผู้น้อยคงไม่ตาย ไม่แม่ทัพใหญ่อย่างเราคงตายแน่แท้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นเหลือพระกำลังที่จะเกลี้ยกล่อมให้งุยอคงหวุ่นยอมออกมา บรรดาข้าหลวงกราบทูลให้ยิงปืนถล่มค่ายอีก ฝ่ายพม่าจะตกใจกลัวหนีออกมาหมด มีพระดำรัสว่าอันจะฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่จะเป็นบาปกรรมไม่มีประโยชน์อันใด[3] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้เบิกตัวอุตตมสิงหจอจัวมาสอบสวน ให้การว่าอะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพใหญ่ ตั้งรี้พลพม่าอยู่ที่เมะตะมะจำนวนมาก รอคอยฟังข่ายจากตะแคงมระหน่องที่ปากแพรก จะยกทัพยงมาช่วยหนุนอีก
สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสเรียกประชุมขุนนาง เรื่องอะแซหวุ่นกี้จะยกทัพมา ทรงให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ จันทบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช และพัทลุง มาช่วยรับศึกอะแซหวุ่นกี้ เจ้าพระยาจักรีทูลว่าทัพหัวเมืองเหล่านั้นอยู่ห่างไกลเห็นจะยกมาไม่ทัน ทัพในกรุงธนบุรีและทัพหัวเมืองเหนือ ยังเพียงพอที่จะต้านทานทัพอะแซหวุ่นกี้ได้ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นชอบด้วย มีพระราชโองการว่าหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งสี่เมืองนั้นยังไม่ได้ทำสงครามกับพม่า มีท้องตราออกไปให้เมืองเหล่านั้นส่งข้าวสารมาเป็นเสบียง เมืองนครศรีธรรมราชส่ง 600 เกวียน เมืองจันทบุรี เมืองไชยา และเมืองพัทลุง ส่งเมืองละ 400 เกวียน[3] ถ้าไม่มีข้าวให้ส่งเงินเข้ามาแทน และมีพระราชโองการห้ามมิให้แม่ทัพนายกองยกติดตามพม่าไป เกรงว่าพม่าจะซ่อนกำลังไว้โจมตีตามทาง ให้ยกไปโจมตีปากแพรกแห่งเดียวเท่านั้น
แม่ทัพพม่ายอมจำนน[แก้]
อุตตมสิงหจอจัวไปเจรจากับงุยอคงหวุ่นที่บางแก้วเป็นครั้งที่สาม งุยอคงหวุ่นตอบว่าจะเข้ามาฆ่าก้เข้ามาเถอดไม่ออกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้อุตตมสิงหจอจัวแต่งหนังสือเป็นภาษาพม่า เข้าไปแก่งุยอคงหวุ่นว่าให้จงรีบออกมาสวามิภักดิ์ ถ้าไม่ออกมาจะยกเข้าไปสังหารพม่าเสียให้หมด ฝ่ายงุยอคงหวุ่นให้นำอาวุธพม่าออกมาถวายทั้งหมด แล้วผลัดว่าจะออกมาถวายบังคมวันรุ่งขึ้น ถึงวันรุ่งขึ้นงุยอคงหวุ่นส่งเมี้ยวหวุ่นกับปะกันเลชูออกมาก่อน เมี้ยวหวุ่นและปะกันเลชูกราบทูลว่า พวกตนทำสงครามพ่ายแพ้ถึงที่ตายทั้งสิ้น ขาดจากการเป็นข้าของพระเจ้าอังวะแล้ว จะขออาสาทำราชการกับสยามจนสิ้นชีวิต และอาสาไปเกลี้ยกล่อมงุยอคงหวุ่นให้ออกมา เมี้ยวหวุ่นและปะกันเลชูกลับเข้าไปเกลี้ยกล่อมงุยอคงหวุ่น จนงุยอคงหวุ่นยอมออกมาถวายบังคมในที่สุด พร้อมทั้งแม่ทัพพม่าที่เหลือและไพร่พม่าอีก 328 คน เป็นการสิ้นสุดสงครามการล้อมค่ายพม่าบางแก้ว ตั้งแต่วันเดือนสามขึ้นสิบสามค่ำ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2318) จนถึงวันเดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ[3] (31 มีนาคม พ.ศ. 2318) เป็นเวลาทั้งสิ้น 47 วัน ทรงมีพระราชโองการให้พระยารามัญวงษ์นำกำลังมอญเข้าไปอยู่ในค่ายพม่าบางแก้ว แกล้งพูดจากันเป็นภาษาพม่า อย่าให้ตะแคงมระหน่องที่ปากแพรกรู้ว่าฝ่ายไทยได้ค่ายบางแก้วแล้ว
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2318 มีพระราชโองการให้แต่งทัพไปโจมตีพม่าที่ปากแพรก ให้พระอนุชิตราชายกทัพ 1,000 คน ยกทัพเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันตก ให้หลวงมหาเทพยกทัพอีก 1,000 คน ยกทัพเลียบแม่น้ำฝั่งตะวันออก เข้าโจมตีปากแพรกทั้งสองทัพ มีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มให้ได้ ฝ่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม ยกทัพออกมาตีค่ายของพระมหาสงครามแตกไป เจ้าพระยาจักรียกทัพเข้าตอบโต้พม่าที่เขาชะงุ้มแตกไปได้ ทัพพม่าเขาชะงุ้มแตกถอยกลับไปทางปากแพรก พบกับทัพของพระอนุชิตราชาและหลวงมหาเทพถูกฆ่าฟันล้มตายอีก ตะแคงมระหน่องลงโทษประหารตัดศีรษะแม่ทัพพม่าที่แตกมาจากเขาชะงุ้มหลายคน จากนั้นตะแคงมระหน่องจึงถอยทัพจากปากแพรกกลับไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะ
เมื่อได้ชัยชนะเหนือพม่าแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินประทับที่โคกกระต่าย มีพระราชโองการให้พระยายมราชคุมเชลยพม่าจำใส่คุกไว้ ได้เชลยพม่าจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคกลับธนบุรี
ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง[แก้]
ในชั้นแรกอะแซหวุ่นกี้ส่งทัพพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ฝ่ายไทยประสบปัญหากองทัพส่วนใหญ่อยู่ที่ล้านนาทางเหนือ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้เร่งทัพจากทางเหนือลงมาตั้งรับพม่าที่ราชบุรี ทรงให้พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอยกทัพส่วนหนึ่งมาตั้งรับพม่าก่อนที่บางแก้ว จากนั้นทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือจึงค่อยทยอยเข้ามาสมทบที่ราชบุรี จนกระทั่งกองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนมากถึง 20,000 คน[2] ตามพงศาวดารพม่า ฝ่ายพม่ามีกำลังน้อยกว่าจึงพ่ายแพ้ไป
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปูนบำเหน็จให้แก่พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอที่มีความชอบในสงครามบางแก้ว ตั้งขึ้นทรงกรมดังนี้;[3]
- พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์
- พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ เป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม
- พระเจ้าหลานเธอ เจ้าบุญจันทร์ เป็นกรมขุนรามภูเบศร์
ตะแคงมระหน่องถอยทัพไปรายงานแก่อะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะว่า ทัพพม่าของฉับกุงโบพ่ายแพ้ต่อไทยในการรบที่บางแก้ว อะแซหวุ่นกี้จึงโทษแมงเยชัยจอ แม่ทัพพม่าที่ขัดคำสั่งของอะแซหวุ่นกี้ ว่าเป็นต้นเหตุให้ฝ่ายพม่าได้รับความปราชัย อะแซหวุ่นกี้ถวายรายงานแก่พระเจ้ามังระว่า แมงเยชัยจอเป็นกบฏอ้างว่าพระเจ้ามังระสวรรคตแล้วเจ้าชายอาเมียงสะแคง (Prince of Amyin) พระอนุชาของพระเจ้ามังระได้ราชสมบัติ พระเจ้ามังระจึงทรงมีตราให้แมงเยชัยจอยกทัพจากเมืองเมาะตะมะกลับเมืองอังวะ แล้วส่งกองกำลังมาจับแมงเยชัยจอและแม่ทัพนายกองในสังกัดที่กลางทาง แมงเยชัยจอทูลพระเจ้ามังระว่า ถูกอะแซหวุ่นกี้กดขี่ข่มเหงให้ยกทัพจำนวนน้อยไปเสี่ยงตายในสยาม พระเจ้ามังระตรัสว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงแมงเยชัยจอควรจะต้องถวายฎีกามาโต้แย้งกับอะแซหวุ่นกี้ ไม่ควรขัดคำสั่งนายทัพของตนเอง พระเจ้ามังระจึงทรงปลดแมงเยชัยจอออกจากตำแหน่ง ลงพระราชอาญาประหารชีวิตแม่ทัพนายกองในสังกัดของแมงเยชัยจอ และส่งตัวแมงเยชัยจอให้แก่อะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะ มีพระราชโองการให้อะแซหวุ่นกี้ลงโทษแมงเยชัยจอตามสมควร อะแซหวุ่นกี้ไว้ชีวิตแมงเยชัยจอ และให้แมงเยชัยจอเข้าร่วมกองทัพของอะแซหวุ่นกี้[2]
หลังจากสิ้นสุดสงครามบางแก้ว ฝ่ายสยามได้มีเวลาพักศึก 5 เดือน[5] หลังจากความพ่ายแพ้ที่บางแก้ว อะแซหวุ่นกี้ยกทัพขนาดใหญ่จำนวน 35,000 คน เข้ารุกรานหัวเมืองเหนือของสยาม ทางด่านแม่ละเมา นำไปสู่สงครามอะแซหวุ่นกี้ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2318 ปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถามแม่ทัพพม่างุยอคงหวุ่น และอุตตมสิงหจอจัว ว่าจะให้เข้าร่วมทัพสยามไปรบกับพม่าทำได้หรือไม่ งุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัวทูลว่า จะให้ไปรบกับชาติอื่นยินดีถวายชีวิต แต่ให้ไปรบกับพม่าด้วยกันเองมีความอับอายไม่กล้าสู้หน้า สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงตระหนักว่าแม่ทัพพม่าที่จับมาได้จากสงครามบางแก้ว ไม่มีความภักดีที่แท้จริง หากยกทัพจากธนบุรีปล่อยให้เชลยพม่าอยู่ในธนบุรีอาจก่อกบฏขึ้นได้ จึงลงพระราชอาญาประหารชีวิตงุยอคงหวุ่น อุตตมสิงหจอจัว รวมทั้งแม่ทัพพม่าทั้งหลายจากสงครามบางแก้วไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2319[3]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 3.23 3.24 3.25 3.26 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๔: คำให้การชาวอังวะ.
- ↑ 5.0 5.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
- ↑ Whiting, Lawrence (11 Feb 2016). Buddhism in Thailand - a guide for expats and visitors. Booksmango.