ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดให้บริการ
เจ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งจังหวัดราชบุรี
จังหวัดนครปฐม
จังหวัดสุพรรณบุรี
ปลายทาง
จำนวนสถานี1
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟระหว่างเมือง
ระบบรถไฟชานเมือง
ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เส้นทาง
ผู้ดำเนินงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
ประวัติ
เปิดเมื่อ16 มิถุนายน พ.ศ. 2506; 60 ปีก่อน (2506-06-16)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง78 กิโลเมตร (48 ไมล์)
รางกว้าง1,000 mm (3 ft 3 38 in) มีเตอร์เกจ
ที่หยุดรถไฟกำแพงแสน

ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี เป็นทางรถไฟสายหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายเหนือและทางรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน โดยเริ่มสำรวจแนวทางการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 และเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2501 - 2504 ทางรถไฟสายนี้ไม่ได้รับงบประมาณจึงหยุดการก่อสร้างชั่วคราว หลังจากนั้นเมื่อได้รับงบประมาณจึงทำการก่อสร้างต่อและเปิดเดินรถเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2506 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในอดีตทางรถไฟสายนี้มีสถานีรายทางมากถึง 11 สถานี (ไม่รวมชุมทางหนองปลาดุก) คือ สถานีรถไฟยางประสาท สถานีรถไฟดอนขุนวิเศษ สถานีรถไฟกำแพงแสน สถานีรถไฟหนองฟัก สถานีรถไฟทะเลบก สถานีรถไฟสะพังเขิน สถานีรถไฟศรีสำราญ สถานีรถไฟหนองผักชี สถานีรถไฟบ้านมะขามล้ม สถานีรถไฟสะแกย่างหมู และสถานีรถไฟสุพรรณบุรี ปัจจุบันทางรถไฟสายนี้ได้ยุบสถานีรายทางเหลือเพียงสถานีเดียว คือ สถานีสุพรรณบุรี ที่เหลือมีฐานะเป็นเพียงที่หยุดรถ และป้ายหยุดรถ ประกอบด้วย ป้ายหยุดรถไฟทุ่งบัว ที่หยุดรถไฟโรงเรียนการบิน ที่หยุดรถไฟศรีสำราญ ป้ายหยุดรถไฟดอนทอง และที่หยุดรถไฟมาลัยแมน ในเส้นทางนี้มีขบวนรถไฟเพียงวันละ 2 ขบวน คือ ขบวนรถชานเมืองที่ 355/356 กรุงเทพ-สุพรรณบุรี-กรุงเทพ[1]

หมายเหตุ : ขบวนรถชานเมืองที่ 355 - 356 ต้นทาง/ปลายทางที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก ไม่มีเดินรถช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุก - สถานีสุพรรณบุรี

อนาคตของทางรถไฟสายสุพรรณบุรี ตามรายละเอียดแผนแม่บทการพัฒนาทางรถไฟ ปี 2561 ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี จะถูกควบรวมเข้ากับทางรถไฟสาย E-W Corridor เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งต้นทางจากสถานีท่ากิเลน อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี รอการเชื่อมต่อกับทางรถไฟไปทวาย - ชุมทางหนองปลาดุก - สถานีหนองผักชี - สร้างทางใหม่ ไปตัดกับชุมทางบ้านภาชี ซึ่งจะลดรถไฟสินค้าที่วิ่งผ่านจากเหนือ-อิสาน-ตะวันออก ไปใต้ได้ทั้งหมด และยังสร้างโอกาสการพัฒนาการขนส่งสินค้า ระหว่าง ตะวันออก-ตะวันตก พร้อมเชื่อมต่อการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย[2] รวมทั้งรถไฟสายสุพรรณบุรี อนาคตถูกตัดเส้นทางรถไฟใหม่ช่วง สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ (MR1-7) และ สุพรรณบุรี-นครปฐม (MR1-8) เป็นหนึ่งในโครงข่าย mr map ช่วง เชียงราย-นราธิวาส[3]

โครงการพัฒนาทางรถไฟสายใหม่ ช่วงกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านภาชี[แก้]

แนวเส้นทางจะเป็น การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ความกว้าง 1 เมตร หรือ Meter Gauge โดยจะมีการออกแบบแนวเส้นทาง รถไฟเพื่อให้สามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ชม. และเพื่อความปลอดภัยการก่อสร้างทางรถไฟสาย ใหม่นี้ได้กำหนดให้มีแนวรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทาง และออกแบบบริเวณที่เป็นจุดตัดรถไฟกับถนนเป็นจุดตัดต่างระดับ เส้นทางโครงการเริ่มต้นจากสถานีท่ากิเลนและสิ้นสุดแนวเส้นทางโครงการที่สถานีชุมทางบ้านภาชีแนวเส้นทางแบ่งเป็น 6 ช่วง คือ

  • ช่วงที่ 1 จากสถานีรถไฟท่ากิเลนถึงสถานีรถไฟวังเย็น จะเป็นการก่อสร้างทางคู่ใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมโดยก่อสร้างอยู่ในเขตทางของการรถไฟเดิม ระยะทาง 23 กม.
  • ช่วงที่ 2 หลังจากผ่านสถานีรถไฟวังเย็น จะตัดแนวเส้นทางรถไฟใหม่มาตามแนวทิศตะวันออกเป็นแนวเลี่ยงตัว จังหวัดกาญจนบุรี ที่เป็นชุมชนหนาแน่น และมีรัศมีโค้งแคบทำให้รถไฟไม่สามารถทำความเร็วได้ตามที่ต้องการ จนมาบรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมที่บริเวณสถานีรถไฟท่าเรือน้อย โดยเส้นทางในช่วงนี้จะเป็นการเวนคืนเพื่อตัดแนวเส้นทางรถไฟใหม่ทั้งหมดระยะทาง 29 กม.
  • ช่วงที่ 3 จากสถานีรถไฟท่าเรือน้อยถึงสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก จะเป็นการก่อสร้างทางคู่ใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมโดยก่อสร้างอยู่ในเขตทางของการรถไฟเดิม ระยะทาง 30 กม.
  • ช่วงที่ 4 สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก–สถานีรถไฟหนองผักชี จะเป็นการก่อสร้างทางคู่ใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิมโดยก่อสร้างอยู่ในเขตทางของการรถไฟฯ สายชุมทางหนองปลาดุก–สุพรรณบุรี โดยรูปแบบโครงสร้างทางรถไฟในช่วงที่ผ่านอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จะเป็นแบบสะพานช่วงสั้นเพราะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากระยะทาง 63 กม.
  • ช่วงที่ 5 จากสถานีหนองรถไฟผักชี–สถานีรถไฟมาบพระจันทร์จะตัดเป็นแนวเส้นทางรถไฟใหม่ทั้งหมดมาตามแนวทิศตะวันออก โดยแนวเส้นทาง จะเป็นแบบสะพานช่วงสั้นเพราะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากระยะทาง 67.5 กม.
  • ช่วงที่ 6 จากสถานีรถไฟมาบพระจันทร์–สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี จะเป็นการก่อสร้างทางคู่ใหม่ขนานกับแนวเส้นทางรถไฟเดิม โดยก่อสร้างอยู่ในเขตทางของการรถไฟฯ สายเหนือ ระยะทาง 8.5 กม. รวมระยะทางทั้งหมด 221 กม. โดยแบ่งเป็นการก่อสร้างทางคู่แนวเส้นทางใหม่ 96.5 กม. และเป็นการก่อสร้างทางคู่ใหม่ขนานกับแนว เส้นทางรถไฟเดิม 124.5 กม.

จังหวัดและอำเภอที่ผ่าน[แก้]

เขต / อำเภอ จังหวัด
บ้านโป่ง ราชบุรี
เมืองนครปฐม / กำแพงแสน นครปฐม
สองพี่น้อง / บางปลาม้า / เมืองสุพรรณบุรี สุพรรณบุรี
รายชื่อสถานีรถไฟ สายสุพรรณบุรี

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-03-10.
  2. โครงการพัฒนารถไฟสายใหม่ ช่วงกาญจนบุรี - สุพรรณบุรี - ชุมทางบ้านภาชี สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566
  3. "เส้นทาง MR-Map – MR-MAP" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-15. สืบค้นเมื่อ 2023-03-15.