อาคารอีสต์เอเชียติก
อาคาร อีสต์ เอเชียติค | |
---|---|
The East Asiatic Company Thailand Headquater (former) | |
อาคารอีสต์เอเชียติกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | อาคารอนุรักษ์ |
สถาปัตยกรรม | นีโอคลาสสิกทรงปัลลาดีโอ |
เมือง | ซอยเจริญกรุง 40 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เริ่มสร้าง | ราว พ.ศ. 2434 (ราว 133 ปี ) |
ปรับปรุง | พ.ศ. 2544 |
ผู้สร้าง | บริษัท อีสต์เอเชียทิค |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | ก่ออิฐถือปูน |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | อันนีบาเล รีกอตตี |
อาคารอีสต์เอเชียติก หรือ ตึกเก่า บริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นอาคารอนุรักษ์ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 40 (ซอยโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์) ติดกับท่าเรือโอเรียนเต็ล ตรงข้ามกับโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ในอดีตอาคารแห่งนี้ เคยเป็นที่ทำการของบริษัทค้าไม้ บริษัทอีสต์เอเชียติก (The East Asiatic Company: EAC) จากเดนมาร์ก ประจำกรุงเทพมหานคร อาคารได้รับการออกแบบโดยอันนีบาเล รีกอตตี (Annibale Rigotti) ในช่วงปี พ.ศ. 2434 โดยก่อสร้างตามรูปแบบนีโอคลาสสิกทรงปัลลาดีโอ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น
ประวัติ
[แก้]อาคารหลังนี้คาดว่าสร้างขึ้นมาราวปี พ.ศ. 2434 เพื่อใช้เป็นสำนักงานของบริษัทอีสต์เอเชียติก บริษัทสัญชาติเดนมาร์กประจำประเทศไทย ซึ่งเปิดทำการมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2427 โดย มร.เอ็ช เอ็น แอนเดอร์เซ่น กัปตันเรือชาวเดนมาร์ก
เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโกดังเก็บสินค้าของบริษัท ต่อมาได้รื้อและสร้างอาคารนี้ขึ้นมาใหม่เพื่เป็นสำนักงานแห่งใหม่จากสำนักงานเดิมซึ่งเช่าพื้นที่อยู่ในโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล
ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 บริษัทได้ย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่ที่ลุมพินี ทาวเวอร์บนถนนสาทร[1] อาคารหลังนี้ได้ถูกขายให้กับเจริญ สิริวัฒนภักดี และมีกำหนดว่าจะสร้างเป็นโรงแรม แต่ต่อมาก็ต้องหยุดชะงักเนื่องจากต้องนำงบประมาณไปทุ่มกับการพัฒนาอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ บนถนนสาทรแทน[2]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2566 แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ได้ลงนามร่วมกับกลุ่มโรงแรมโนบุในการพัฒนาอาคารดังกล่าวเป็นโรงแรม "เดอะ พลาซ่า แอทธินี โนบุ โฮเทล แอนด์ สปา แบงค็อก" โดยกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2569[3]
การจัดสรรพื้นที่
[แก้]ภายหลังที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และมีการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2544 ปัจจุบัน อาคารอยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท เจริญกรุงสตูดิโอ จำกัด[4] บริษัทบริการให้เช่าสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์, โทรทัศน์, ถ่ายภาพ และผลิตผลงานเชิงพาณิชย์ จึงไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปถ่ายภาพด้านในและด้านหน้าอาคาร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2561 อาคารนี้ได้เปิดให้สาธารณะได้เข้าชมด้านใน ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
[แก้]รูปแบบของอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมฟื้นฟูเรอแนซ็องส์ของยุโรป
ตัวอาคารทางเข้าหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีบันไดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ชั้น 2 บริเวณกึ่งกลางอาคาร มีการก่ออิฐฉาบปูน 3 ชั้น ด้านบนเป็นดาดฟ้า การประดับตกแต่งอาคารค่อนข้างเรียบง่าย ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย การทำบันไดทางขึ้นด้านหน้าลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4
ผนังด้านหน้าอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนกลางทำเป็นส่วนเน้น ของอาคาร โดยออกแบบให้ยื่นออกมาจากผนังด้านข้างเล็กน้อย และมีขนาดกว้างกว่าผนังอีก 2 ส่วนที่ขนาบข้าง ด้านบนเป็นผนังที่ก่ออิฐฉาบปูน ทำสัญลักษณ์เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ยอดโค้งครึ่งวงกลม ภายในปั้นปูนลายสมอเรืออยู่ภายในธง
อาคารชั้น 1 และชั้น 2 ผนังส่วนกลางอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 3 ซุ้ม (ส่วนละซุ้ม) และผนังที่ขนาบด้านข้างทั้ง 2 ข้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 2 ซุ้ม ผนังชั้น 2 ของอาคารตกแต่งด้วยลายปูนปั้น บริเวณระหว่างซุ้มโค้งของผนังชั้น 3 แบ่งเป็นส่วนๆ ตามชั้น 1 และ 2 แต่ละส่วนเจาะเป็นซุ้มหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกันส่วนละ 2 ซุ้ม[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://asaconservationaward.com/index.php/2016-06-13-15-23-31/commercial2527/333-governor-officeoftheeastasiatic-bkk-province
- ↑ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=6574[ลิงก์เสีย]
- ↑ อีไฟแนนซ์ไทย, สำนักข่าว. "AWC จับมือ Nobu Hospitality พัฒนา `Plaza Athenee` นิวยอร์ก-กรุงเทพฯ โรงแรมระดับอัลตร้าลักซ์ชูรี่". efinancethai.com.
- ↑ https://facebook.com/media/set/?set=a.1621588194764504.1073741834.1509344475988877&type=3
- ↑ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=6574[ลิงก์เสีย]