สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำราชอาณาจักรไทย

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสประจำราชอาณาจักรไทย เป็นสถานเอกอัครราชทูตของโปรตุเกสในประเทศไทย ปัจจุบันตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 30 (กัปตันบุช) ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นสถานเอกอัครราชทูตที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2363 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแก่โปรตุเกสเพื่อเป็นที่ตั้งของโรงสินค้า และเป็นที่พักของการ์ลุช มานูแวล ดา ซิลไวรา (Carlos Manuel da Silveira) กงสุลโปรตุเกสคนแรก พื้นที่กว้าง 50 วา ยาว 72 วา โดยสร้างอาคารหลังแรกด้วยไม้ไผ่ ฉาบด้วยปูนปลาสเตอร์ ทาสีขาว[1] พร้อมทั้งมีชาวโปรตุเกสพำนักอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่โดยรอบ สังเกตได้จากมีโบสถ์กาลหว่าร์

ต่อมาอาคารดังกล่าวได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2403 แต่ก็หยุดชะงักเมื่อ พ.ศ. 2410 เมื่อทูตอังตอนียู ฟรึดึรีกู มอร์ (António Frederico Moor) หมดวาระ จนกระทั่งอังตอนียู ฟึลีซียานู มาร์กึช ปึไรรา (António Feliciano Marques Pereira) ทูตคนใหม่มารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2418 ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2418

ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการปรับปรุงอาคารหลังนี้หลายส่วน เช่น เพิ่มระบบไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ

สถาปัตยกรรม[แก้]

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ประกอบด้วยอาคารทำเนียบทูตและสำนักงาน

ทำเนียบทูตมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม เดิมทีวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทั้งหมดส่งตรงมาจากโปรตุเกส แต่เรือที่ขนส่งล่มระหว่างทาง จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุท้องถิ่นของไทยแทน[2] หลังคาทรงปั้นหยา บริเวณทางเข้ามีมุขหลังคาจั่วอยู่กึ่งกลางด้านหน้าแบบสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ หน้าจั่วมีตราแผ่นดินของประเทศโปรตุเกส ภายในอาคารชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ ชั้นบนมีระเบียงยาวด้านหน้าและหลัง ทางเข้าประดับกระเบื้องเซรามิกลายครามจากโปรตุเกส[3]

สำนักงานเป็นอาคารปูนสองชั้นสีเหลืองอ่อนที่ดูทึบ แต่เดิมอาคารหลังนี้ใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือ ปัจจุบันสำนักงานได้รับการตกแต่งแบบทันสมัย

ด้านหน้าทำเนียบทูตมีสนามหญ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา มุมหนึ่งเป็นที่ตั้งของศาลา เป็นผลงานจากนักออกแบบโปรตุเกสร่วมกับช่างไม้จากเชียงใหม่[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ให้ภาพเล่าเรื่อง...นิทรรศการภาพถ่ายสถานทูตโปรตุเกส". กรุงเทพธุรกิจ.
  2. "เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล". โพสต์ทูเดย์.
  3. รัตติกาล สร้อยทอง. "สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย". กรมศิลปากร กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
  4. ทรงกลด บางยี่ขัน. "เยี่ยมสถานทูตสุดฮิปที่ดัดแปลงจากโกดังเก่า และบ้านพักทูตริมแม่น้ำเจ้าพระยา". เดอะคลาวด์.