ข้ามไปเนื้อหา

รถไฟฟ้าในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางในประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยกรุงเทพมหานครเป็นเมืองแรกที่มีระบบรถไฟฟ้า ตามมาด้วยนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ตามลำดับ

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

[แก้]
แผนที่เส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 ในเส้นทางหมอชิต - อ่อนนุช และ สนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน โดยในปัจจุบันมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 10 สาย ครอบคลุมระยะทาง 276.15 กิโลเมตร

โครงการรถรางรอบพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

[แก้]

กรุงเทพมหานครเคยมีแผนเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนรอง รถราง (Tram) รอบพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่า พร้อมเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีส้มในอนาคต[1]

ภายในท่าอากาศยาน

[แก้]

ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยวิ่งระหว่างอาคารผู้โดยสารหลักถึงอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) โดยมีระยะทาง 1 กิโลเมตร ในปัจจุบันมีให้บริการเพียงสายเดียว

โครงการในต่างจังหวัด

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2536 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมและดูแลในเรื่องของระบบขนส่งสาธารณะระบบราง หรือรถไฟฟ้าในขณะนั้นได้เปิดเผยโครงการการจัดสร้างระบบขนส่งในหัวเมืองใหญ่ 8 เมือง อันได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โครงการที่ดูเป็นรูปเป็นร่างที่สุดในตอนนั้นก็คือโครงการของจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการทำแผนพัฒนาและสำรวจเส้นทางที่เหมาะสมกับประชาชนแล้วเสร็จ[2]

จังหวัดขอนแก่น

[แก้]

เทศบาลนครขอนแก่น

รถไฟฟ้าในเทศบาลนครขอนแก่น เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่ 5 เทศบาล ประกอบด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ และ เทศบาลตำบลท่าพระ รูปแบบขนส่งที่เลือกใช้คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา[3]

ความคืบหน้า

  • ตุลาคม พ.ศ. 2560 บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด[4] เจ้าของโครงการได้มีการประกวดราคาและให้ยื่นข้อเสนอโครงการก่อสร้าง และเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ในระหว่างการเตรียมประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในการก่อสร้างโครงการ ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2561 ที่ประชุม สนข. มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยหลังจากนี้ สนข. จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปตามลำดับ
  • 23 เมษายน พ.ศ. 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น โดยจะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 [5] และมีมติอย่างเป็นทางการจากกระทรวงคมนาคมให้เทศบาลขอนแก่นดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าด้วยตนเอง โดยให้ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเท็ม จำกัด หรือ เคเคทีเอส เป็นผู้ดำเนินการรถไฟฟ้าสายแรกของขอนแก่น อย่างไรก็ตามเทศบาลฯ มีความยินดีที่จะให้เคเคทีเอสเข้าร่วมดำเนินการหาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีความต้องการที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ให้ครบตามแผน
  • 28 สิงหาคม พ.ศ. 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เผยแพร่สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น โดยทาง รฟม. จะชะลอการดำเนินการ และให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการโครงการนี้ต่อไป
  • 17 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่นดังกล่าว เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) [6] โดยโครงการจะเป็นระบบ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน 10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร
  • ปี พ.ศ. 2565 ได้มีการสร้างรถแทรม โดยเป็นฝีมือคนไทย เป็นของโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เพื่อเป็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น สายเหนือ – ใต้[7] โดยจะมีการทดลองกลางปี โดยเส้นทางจะวิ่งรอบบึงแก่นนคร และหลังจาก 3 ปี จึงเริ่มเปิดใช้งาน โดยเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในภาคอีสานที่เปิดใช้[8]

จังหวัดเชียงใหม่

[แก้]

จังหวัดเชียงใหม่

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่และชานเมืองเชียงใหม่ โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ[9] แผนแม่บทรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่แบ่งออกเป็นสามสายทั้งแบบระดับดินและใต้ดิน มูลค่าลงทุนรวมทั้งสิ้น 95,321 ล้านบาท[10] ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เส้นทาง มูลค่าลงทุน
(ล้านบาท)
ระยะทาง (กิโลเมตร) จำนวนสถานี ต้นทาง ปลายทาง
สายสีแดง 28,726.80 16.50 16 โรงพยาบาลนครพิงค์ แยกแม่เหียะสมานสามัคคี
สายสีน้ำเงิน 30,399.82 10.47 13 สวนสัตว์เชียงใหม่ แยกศรีบัวเงินพัฒนา
สายสีเขียว 36,195.04 11.92 10 แยกรวมโชคมีชัย ท่าอากาศยานเชียงใหม่
รวม 95,321.66 38.89 37*

หมายเหตุ: * กรณีนับสถานีร่วมเป็นหนึ่งสถานี

แผนแม่บทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่กำหนดเส้นทางออกเป็น 3 สาย ระยะทางรวม 34.93 กิโลเมตร

จังหวัดนครราชสีมา

[แก้]

เทศบาลนครนครราชสีมา

เทศบาลนครนครราชสีมา เป็น 1 ใน 3 เทศบาล ที่มีโครงการก่อสร้างรถราง โดยเสนอโครงการระบบรถราง[11]

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของขนส่งมวลชนในเมืองนครราชสีมา โดยให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นผู้ศึกษาและออกแบบ รูปแบบขนส่งที่เลือกใช้คือ ระบบรถรางเบาระดับพื้น (High Floor)[12]

เส้นทาง

[แก้]

สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) จำนวน 20 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร

รายชื่อสถานีรถไฟรางเบา มีจำนวน 20 สถานี ประกอบด้วย

  • สถานีตลาดเซฟวัน
  • สถานีตลาดมิตรภาพ
  • สถานีอู่เชิดชัย
  • สถานีสำนักคุมประพฤติ
  • สถานีชุมชนประสพสุข
  • สถานีสวนภูมิรักษ์
  • สถานีหัวรถไฟ
  • สถานีเทศบาลนคร
  • สถานีแยกเต๊กฮะ
  • สถานีตลาดใหม่แม่กิมเฮง
  • สถานีราชดำเนิน (ฝั่งขาไป)
  • สถานีคลังพลาซ่าใหม่ (ฝั่งขากลับ)
  • สถานีธนาคารยูโอบี (ฝั่งขากลับ)
  • สถานีถนนชุมพล (ฝั่งขากลับ)
  • สถานีแยกประปา
  • สถานีโรงเรียนสุรนารีวิทยา
  • สถานีราชภัฏ
  • สถานีโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส
  • สถานีราชมงคล
  • สถานีบ้านนารีสวัสดิ์

สายสีส้ม จำนวน 17 สถานี ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร

สายสีม่วง จำนวน 9 สถานี ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร

รวมระยะทาง 28.12 กิโลเมตร

ส่วนต่อขยาย มี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวม 20 สถานี ระยะทางรวม 21.97 กิโลเมตร

ความคืบหน้า

[แก้]
  • 20 ตุลาคม 2560 ได้มีการประชุมฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจัดทำเอกสารส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณา
  • 23 เมษายน 2561 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมา โดยจะรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2561[13] ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และกระทรวงคมนาคมแล้ว  จะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาต่อไป [14]
  • 21 ธันวาคม 2561 สนข รวมกับหน่วยงานในจังหวัด รวมดำเนินการเผยแพร่และสร้างความเข้าใจกับระบบขนส่งมวลชล และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เป็นระบบรถไฟฟ้า Light Rail Transit (LRT) มี 3 เส้นทาง โดยจะเร่งให้ทันการเปิดใช้บริการในเส้นทางแรก (สายสีเขียว)ในปี 2566 เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขณะนี้การดำเนินการอยู่ระหว่างขั้นตอนออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมา[15]
  • 30 พฤษภาคม 2562 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ในสัญญาจ้างนี้จะครอบคลุมเส้นทาง สายสีเขียว เริ่มต้นจาก สถานีเซฟวัน ไปถึง สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.10 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินมูลค่าการลงทุนโครงการนี้ที่ 8,000 ล้านบาท[16]
  • 13 สิงหาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้จัดการประชุมสัมมนาการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ในวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลา 8.30-12.00น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ[17]
    • โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว เส้นทาง ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทระบบรถรางไฟฟ้า หรือ Tram เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือรางบนถนนในระดับดิน เริ่มต้นจากตลาดเซฟวัน เบี่ยงเข้าสืบศิริซอย 6 ไปยังถนนมุขมนตรี เข้าสู่ตัวเมือง จากนั้นเลี้ยวขวาออกไปทางโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาอาชีวศึกษา จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนสุรนารายณ์ สิ้นสุดที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์

จังหวัดพิษณุโลก

[แก้]

เทศบาลนครพิษณุโลก

เทศบาลนครพิษณุโลก เป็น 1 ใน 3 เทศบาล ที่มีโครงการก่อสร้างรถราง โดยเสนอโครงการระบบรถราง[11]

จังหวัดอุดรธานี

[แก้]

เทศบาลนครอุดรธานี

อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองอุดรธานี โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

จังหวัดสงขลา

[แก้]

อำเภอหาดใหญ่

  • วันที่ 30 ตุลาคม 2561 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดการประชุมเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ใช้ระบบการลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) เป็นระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วย 12 สถานี แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีคลองหวะ ถึงสถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร โดยเป็นโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล[18]
  • วันที่ 25 มกราคม 2564 การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา[19]
  • วันที่ 4 สิงหาคม 2566 การแถลงข่าวโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรล สถานีคอหงส์ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่าทางโครงการฯ ได้ผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายในปี พ.ศ.2567 และเข้าสู่การสรรหาผู้ร่วมลงทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป[20]

จังหวัดภูเก็ต

[แก้]

จังหวัดภูเก็ต

รถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยเสนอโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ที่ปรึกษาทำการศึกษารูปแบบการเปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) ตามขั้นตอน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง[21] โดยอยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบโครงการเพื่อเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี[22][11]

ความคืบหน้า

[แก้]
  • เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งรับทราบรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นทางเลือกโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เพิ่มเติมอีก 2 รูปแบบ คือ ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (รถแทรม) และรถโดยสารด่วนพิเศษไฟฟ้า (BRT) โดยผลการศึกษาที่ รฟม. สรุปเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้จะเป็นรถแทรมป์ล้อเหล็ก โดยจะนำรายงานดังกล่าวนี้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไปซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสังเกตในการเลือกระบบขนส่งมวลชนที่ลดต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่งหากพิจารณาให้ปรับเป็นรถโดยสารด่วนพิเศษไฟฟ้า (BRT) รฟม.จะต้องทำการศึกษาปรับปรุงรายงาน PPP และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขึ้นมาใหม่[23]


รายชื่อสถานี มีจำนวน 21 สถานี ดังนี้

  • สถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต (ยกระดับ)
  • สถานีเมืองใหม่
  • สถานีโรงเรียนเมืองถลาง
  • สถานีถลาง (ใต้ดิน)
  • สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์-ท้าวศรีสุนทร
  • สถานีเกาะแก้ว
  • สถานีขนส่ง
  • สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  • สถานีทุ่งคา
  • สถานีเมืองเก่า
  • สถานีหอนาฬิกา
  • สถานีบางเหนียว
  • สถานีห้องสมุดประชาชน
  • สถานีสะพานหิน
  • สถานีศักดิเดชน์
  • สถานีดาวรุ่ง
  • สถานีวิชิต
  • สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก
  • สถานีป่าหล่าย
  • สถานีบ้านโคกโตนด
  • สถานีห้าแยกฉลอง

จังหวัดชลบุรี

[แก้]

เมืองพัทยา

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าเมืองพัทยา

รถไฟฟ้าในเมืองพัทยา เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองพัทยา เนื่องจากพัทยาเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาก ทำให้เมืองพัทยาต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยเสนอโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ปัจจุบันโครงการนี้ อยู่ระหว่างพักการดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากได้รับการคัดค้านจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่[24]

  • รายชื่อสถานีรถไฟฟ้า:[25]
    • สถานีแหลมบาลีฮาย
    • สถานีพัทยาใต้
    • สถานีพัทยากลาง
    • สถานีพัทยาเหนือ
    • สถานีศาลาว่าการเมืองพัทยา
    • สถานีขนส่งพัทยา
    • สถานีโพธิสาร
    • สถานีสุขุมวิท-พัทยา 33
    • สถานีชัยพรวิถี
    • สถานีขนส่งพัทยาใหม่

โครงการรถไฟรางเบาหรือแทรม จะเป็นรถไฟที่วิ่งบนพื้นราบ หรือวิ่งบนถนนเส้นเดิมที่มีอยู่ และไม่ใช่รถไฟลอยฟ้าที่ชาวพัทยา​ คัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อทัศนียภาพ โดยจะเป็นการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อตัวเมืองกับโครงการรถไฟความเร็วสูง และยังพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เป็นอย่างดี

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ฟื้น 5 เมืองเก่าควบคู่ กทม.นำร่อง "พะเยา ตาก โคราช สกลฯ สตูล" ห้าม! เขตพระนครมี "หาบเร่"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-20. สืบค้นเมื่อ 2016-04-02.
  2. https://thestandard.co/chiangmai-public-transit-master-plan/
  3. "บิ๊กตู่" อนุมัติ "ขอนแก่น" สร้างรถรางไฟฟ้าแห่งแรก ระยะทาง 26 กม.เปิดบริการปลายปี61
  4. KKTS - ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด
  5. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น
  6. ผลประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/61
  7. "เผยโฉมแทรมน้อยฝีมือคนไทย ก่อนก้าวต่อไปรถไฟรางเบาขอนแก่น". mgronline.com. 2022-02-26.
  8. "ขอนแก่นเปิดตัว "แทรม" รถไฟฟ้ารางเบาสายแรกของอีสาน "ธีระศักดิ์" เผย! กลางปีนี้ทดสอบวิ่งรอบบึงแก่นนคร (มีคลิป)". KKL ขอนแก่นลิงก์. 2022-02-26.
  9. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกา กำหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. 2562 เล่ม 136 ตอนที่ 44 ก. วันที่ 6 เมษายน 2562.
  10. ลุยสร้างรถไฟฟ้าหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช พิษณุโลก มูลค่า 1.8 แสนล้าน ข่าวสด. 17 ตุลาคม 2561.
  11. 11.0 11.1 11.2 "สนข.เล็งผุดรถราง "โคราช-พิษณุโลก-ภูเก็ต" เชื่อมรถไฟความเร็วสูงแก้จราจรเขตเมือง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-26. สืบค้นเมื่อ 2014-03-24.
  12. เผยร่างแผนที่เส้นทางรถราง LRT เมืองโคราช พร้อมรายชื่อสถานีในเขตเมืองนครราชสีมา
  13. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมา
  14. ลุยพีพีพีรถไฟฟ้าภูเก็ต
  15. พระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมา
  16. wekorat (2019-06-02). "เซ็นสัญญาแล้ว! รถไฟฟ้ารางเบา สายสีเขียวโคราช เซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ เตรียมเปิดประมูลปลายปีหน้า | WeKorat by Wongnai" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  17. wekorat (2020-08-13). "คืบหน้ารถรางไฟฟ้าโคราช รฟม. ประกาศทดสอบความสนใจภาคเอกชน-องค์กรท้องถิ่น | WeKorat by Wongnai" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  18. ระบบรถไฟรางเดี่ยว (Monorail):องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
  19. เดินหน้า 4 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
  20. อบจ.สงขลาหนุนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แถลงจัดศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรล สถานีคอหงส์
  21. ลุยพีพีพีรถไฟฟ้าภูเก็ต
  22. โครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต - (แก้ไขชื่อกระทู้)
  23. รฟม.ปรับโมเดล “รถไฟฟ้าภูเก็ต” เป็น BRT ประหยัด 5,000 ล้าน เร่งชง “ศักดิ์สยาม” ตัดสินใจ
  24. เมื่อเมืองพัทยาจะมีระบบรถไฟฟ้าบ้าง
  25. โผบัญชีรายชื่อสถานีรถไฟ Monorail พัทยา

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]