ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าอุทุมพร)

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
ขุนหลวงหาวัด
พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่ปรากฏในเอกสารการบันทึกราชสำนัก[ก]
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2301 (2 เดือน)
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ถัดไปสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
สมุหนายกเจ้าพระยาอภัยราชา (ประตูจีน)
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ดำรงพระยศพ.ศ. 2298 - 2301
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ก่อนหน้าเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์
ถัดไปสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (กรุงรัตนโกสินทร์)
พระราชสมภพพ.ศ. 2265
สวรรคตพ.ศ. 2339 (74 พรรษา)
มัณฑะเลย์ ราชอาณาจักรพม่า
มเหสีเจ้าฟ้าท้าวต่อย[1]
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระราชมารดากรมหลวงพิพิธมนตรี
ส่วนบุคคล
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดปองเล อมรปุระ
อุปสมบทราว พ.ศ. 2303
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ไทย อาณาจักรอยุธยา
แผนก/สังกัดกองทัพกรุงศรีอยุธยา
การยุทธ์สงครามพระเจ้าอลองพญา

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 3 (พระราชพงศาวดารพม่าเรียก สุรประทุมราชา)[2] เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีพระสมัญญานามว่า ขุนหลวงหาวัด

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ทรงเป็นแม่กองในการบูรณะพระมหาธาตุ หลังพระราชบิดาสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงได้ทรงรับราชสมบัติเป็นระยะเวลาอันสั้น ทรงสร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดอุทุมพราราม หรือวัดเจ้าดอกเดื่อ และโปรดให้ปฏิสังขรณ์หลังคาพระมณฑปพระพุทธบาท หุ้มทองสองชั้น อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าเอกทัศซึ่งเป็นพระเชษฐาทรงปรารถนาราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงสละราชสมบัติแล้วเสด็จออกผนวช จนกระทั่งเกิดสงครามคราวพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาจึงลาพระผนวชมาช่วยศึก จากนั้นกลับทรงพระผนวชอีกครั้งจนกรุงศรีอยุธยาแตก จึงถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะพร้อมเชลยกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงกรุงอังวะ ทรงพระผนวชและประทับอยู่ที่วัดเยตะพัน ทางใต้กรุงอังวะ จนย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงอมรปุระ ใน พ.ศ. 2323 จึงเสด็จไปประทับที่กรุงอมรปุระ จนกระทั่งสวรรคต ใน พ.ศ. 2339

นอกจากนั้นเชื่อว่าพบพระบรมสถูปบริเวณสุสานล้านช้าง อมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ยังมีพงศาวดารของพม่าที่จดบันทึกจากปากคำของพระองค์และเชลยไทยในพม่า พบหนังสือเล่มนี้อยู่ในหอหลวงพระราชวังมัณฑะเลย์ มีชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ยังพบหมู่บ้านที่อยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ ในปัจจุบัน มีชื่อว่า "มินตาซุ" แปลว่า "เยี่ยงเจ้าชาย"

พระราชประวัติ

[แก้]

ประสูติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ราษฎรเรียกว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ[3] เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็ก (ลำดับที่ 8) ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) บุตรีของนายทรงบาศซึ่งเป็นเจ้าพระบำเรอภูธร เชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรีในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีแห่งกรุงศรีอยุธยา[4] ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา 7 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้ากษัตรีย์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เจ้าฟ้าจันทรวดี และเจ้าฟ้านุ่ม[5] สาเหตุที่พระนามว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ หรือ เจ้าฟ้าอุทุมพร เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงสุบินเมื่อก่อนเจ้าฟ้าดอกเดื่อจะประสูติว่า ทรงได้ดอกมะเดื่อซึ่งเป็นของที่หายากยิ่งในโลก จึงทรงนำพระสุบินมาพระราชทานเป็นพระนามของ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ[6]

ก่อนครองราชย์

[แก้]
พระปรางค์วัดวรโพธิ์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงเป็นแม่กองในการบูรณะ

พระราชบิดาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2275[3] ครั้นเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ทรงเจริญชันษาครบที่จะจัดพระราชพิธีลงทรง พระราชบิดาจัดการพระราชพิธี และมีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร[7] จากนั้นได้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อมีพระชนม์ควรทรงกรมได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรม มีพระนามว่า กรมขุนพรพินิต[8]

หลังจากเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถูกลงโทษโบยจนสวรรคต ในปี พ.ศ. 2298 อันเนื่องมาจากทรงถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับ เจ้าฟ้านิ่มกับเจ้าฟ้าสังวาลย์[9] ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงว่างลง แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมิได้ทรงสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใดขึ้นแทน จนถึงปี พ.ศ. 2300 กรมหมื่นเทพพิพิธจึงปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม และพระยาพระคลัง แล้วกราบทูลขอให้สถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แม้กรมขุนพรพินิตจะปฏิเสธเพื่อถวายตำแหน่งแด่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น มีวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิจ กอปด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาด ควรจะดำรงเศวตรฉัตรรักษาแผ่นดินได้" จึงทรงตั้งกรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล[10] แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรยังคงประทับ ณ พระตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวงดังเดิม[11] สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าเอกทัศเสด็จไปออกไปทรงผนวชที่วัดละมุด ปากจั่น เพื่อไม่ให้กีดขวางการสถาปนา[12] พระกรณียกิจขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมือปี พ.ศ. 2300 พระปรางค์มหาธาตุวัดวรโพธิ์หักลง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองในการบูรณะพระมหาธาตุ ทรงรับพระราชโองการ ไปสั่งแก่เสนาบดีให้จัดแจงนายกอง ช่างอิฐ ช่างปูน ทำสิ่งที่ค้างคาไว้ให้เสร็จ[13]

ครองราชย์และทรงพระผนวช

[แก้]
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ณ ศาลพระเจ้าอุทุมพรบริเวณวัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (ร้าง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรหนัก มีพระราชดำรัสตรัสหาพระราชโอรสผู้ใหญ่ซึ่งประสูติจากพระสนม คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ตรัสว่ามอบพระราชสมบัติให้แก่กรมพระราชวังบวรฯ และให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 กรมถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทต่อหน้าพระที่นั่ง ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งทรงพระผนวชอยู่ก็ลาผนวชเมื่อได้ทราบความว่าสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรหนัก[11] เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ได้เตรียมกองกำลังจะก่อกบฏ แต่เมื่อพระเจ้าอุทุมพรทรงส่งพระราชาคณะ 5 รูป คือ พระเทพมุนี พระพุทธโฆษาจารย์ พระธรรมอุดม พระธรรมเจดีย์ และพระเทพกวี ไปเกลี้ยกล่อมก็กลับพระทัยมาถวายสัตย์ แต่หลังจากอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ พระเจ้าอุทุมพรก็ให้วางกำลังดักรอที่พระตำหนักตึก จับเจ้าสามกรมไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 6 แล้วตั้งการปราบดาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2301[14] หลังจากสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงได้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า วัดอุทุมพราราม หรือวัดเจ้าดอกเดื่อ ตั้งอยู่นอกเกาะพระนครศรีอยุธยา ด้านทิศตะวันออก ไม่ไกลจากวัดประดู่ทรงธรรมและวัดอโยธยา (วัดเดิม) มากนัก[15] และโปรดให้ปฏิสังขรณ์หลังคาพระมณฑปพระพุทธบาท หุ้มทองสองชั้น สิ้นทอง 244 ชั่ง[16]

ถึงกระนั้นสมเด็จพระเชษฐาธิราชปรารถนาราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน โดยทรงขึ้นไปประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ไม่ยอมเสด็จไปประทับที่อื่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไม่ทรงทราบว่าจะทำประการใด จึงถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐา แล้วเสด็จด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคไปผนวชที่วัดอโยธยา (วัดเดิม) แล้วเสด็จจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก โดยทรงครองราชย์ได้เพียง 10 วัน[17] อย่างไรก็ดีในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม และคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวระยะเวลาทรงครองราชย์แตกต่างกัน คือ 3 เดือน[18]

หลังจากเจ้าฟ้าอุทุมพรเสด็จพระราชดำเนินออกไปทรงผนวชแล้ว เหล่าขุนนางผู้ใหญ่บางคน อย่างเช่น เจ้าพระยาอภัยราชา และพระยาเพชรบุรีไม่เห็นด้วย ถ้าปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศบริหารบ้านเมือง จะเป็นภัยนำประเทศชาติสู่ความฉิบหาย[19] จึงไปทูลกรมหมื่นเทพพิพิธให้ไปกราบทูลว่า จะถอดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งสิริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศออกจากราชสมบัติแล้วขอให้เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งลาพระผนวชออกมารับราชสมบัติใหม่ เมื่อได้ทราบความนี้ เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงเสด็จไปในพระราชวังแล้วนำความกราบทูลพระเชษฐา ด้วยเกรงว่าเมื่อทำการสำเร็จแล้วผู้ก่อการอาจจับทั้งพระเชษฐาและพระองค์สำเร็จโทษ ขึ้นครองราชย์เสียเอง จากนั้นเสด็จกลับไปยังวัดประดู่ทรงธรรม ต่อมากรมหมื่นเทพพิพิธและเหล่าขุนนางเหล่านั้นถูกลงโทษ[20]

ลาพระผนวชสู้ศึกและขุนหลวงหาวัดครั้งที่ 2

[แก้]
พระตำหนักคำหยาด ที่เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงประทับเป็นเวลาสั้น ๆ

ในปี พ.ศ. 2297 พระเจ้าอลองพญาสามารถปราบปรามเมืองพม่าและเมืองมอญได้สำเร็จ พระองค์จึงให้เตรียมกองทัพเพื่อยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2302 จนเมื่อพม่ายกทัพเข้ามาใกล้พระนคร บรรดาขุนนางราษฎรทั้งหลายจึงพากันไปกราบทูลวิงวอนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรให้ลาพระผนวชออกมาเพื่อช่วยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศป้องกันพระนครศรีอยุธยา โดยสัญญาว่าหากรบพม่าชนะจะให้พระเจ้าอุทุมพรกลับมาเป็นกษัตริย์[21] โดยการปรับปรุงการตั้งรับข้าศึกจนพม่าไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ ต้องยอมเลิกทัพกลับไป เพราะพระเจ้าอลองพญาทรงประชวรแล้วสวรรคตระหว่างทาง[22] ในตอนแรกไทยไม่รู้ว่าพระเจ้าอลองพญาทรงประชวร และคิดว่าอาจเป็นกลอุบายเลิกทัพ ครั้นรู้ว่าเลิกทัพกลับไปแน่ พระเจ้าอุทุมพรจึงมีรับสั่งให้พระยายมราชกับพระยาสีหราชเดโชยกทัพไปติดตามพม่า ตามไปถึงเมืองตากก็ไม่ทันข้าศึก จึงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์อันใดก็เลิกตาม[23]

เมื่อพม่าเลิกทัพไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าอุทุมพรเข้าเฝ้าในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงถอดพระแสงดาบพาดไปบนพระเพลา สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เข้าพระทัย จึงเสด็จฯ ออกไปทรงพระผนวชยังวัดโพธิ์ทองหยาด ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอ่างทอง และไปประทับที่พระตำหนักคำหยาด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชบิดาสร้างไว้เป็นที่ประทับแรมเมื่อเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง ราษฎรจึงพากันขนานพระนามพระองค์ว่า "ขุนหลวงหาวัด" จากนั้นเสด็จฯ กลับมาประทับ ณ วัดประดู่ทรงธรรมตามเดิม[24]

สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

[แก้]

หลังจากศึกอลองพญา พม่าเกิดปัญหาสงครามภายในหลายปี พระนครศรีอยุธยาจึงเว้นว่างจากศึกการสงคราม ระหว่างนั้นเจ้าฟ้าอุทุมพรยังทรงผนวชเรื่อยมา จนกระทั่งพระเจ้ามังระปราบปรามเมืองพม่าและหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเสร็จ จึงโปรดให้มังมหานรธาและเนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพยกกองมาตีกรุงศรีอยุธยา การยกกองมาตีครั้งนี้ได้เตรียมพร้อมตั้งแต่ พ.ศ. 2307 และมีการกำหนดเส้นทางการเข้าตีมาอย่างดี โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางใต้ และเส้นทางเหนือ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ทรงทราบ จึงโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์กองทัพจากหัวเมืองมาช่วยพระนคร แล้วจึงให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองฝ่ายใต้จัดกองทัพออกไปรับศึกพม่า ส่วนกองทัพหัวเมืองนอกจากนั้น ให้เกณฑ์เข้าบรรจบกับทหารกรุงศรีอยุธยาขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินกำแพงเมืองโดยรอบ และกวาดต้อนพลเรือนและเสบียงอาหารเข้าไว้ในพระนคร[25]

เมื่อกองทัพของกรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปรับศึก พ่ายแพ้ถอยทัพกลับมายังกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าก็ยกทัพเข้าประชิดพระนคร เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศจึงพระราชตรัสให้นิมนต์พระราชาคณะจากวัดต่าง ๆ นอกพระนครให้เข้ามาอยู่ในพระนครศรีอยุธยา รวมถึงเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช จึงได้เสด็จฯ เข้ามาประทับ ณ วัดราชประดิษฐาน ขุนนางและราษฎรจึงชวนกันไปกราบทูลให้ลาพระผนวชมาช่วยรบพม่า แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงไม่ยอมลาพระผนวชในครั้งนี้ แม้ราษฎรจะเขียนหนังสือใส่บาตรจนเต็มตอนออกบิณฑบาตรก็ไม่ยอม[26]

ต่อมามังมหานรธาแม่ทัพใหญ่ของพม่าป่วยตายในค่ายสีกุก เนเมียวสีหบดีจึงเป็นแม่ทัพใหญ่แทน จากนั้นก็ให้ตั้งค่ายล้อมพระนครศรีอยุธยาและเร่งโจมตี โดยตั้งค่าย ณ วัดกระซ้าย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร์ วัดแดง ปลูกหอรบขึ้นทุก ๆ ค่าย เอาปืนใหญ่ ปืนน้อยขึ้นระดมยิงเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา[27] จนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่าได้เผาทำลายเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปยังค่ายพม่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์สวรรคตระหว่างเสด็จพระราชดำเนินหนีออกจากพระนคร[28] เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวชอยู่และประทับอยู่ที่วัดราชประดิษฐานก็น่าจะถูกพม่ากวาดต้อนไปไว้ที่ค่ายพร้อมกับพระวงศานุวงศ์[29]

เส้นทางกวาดต้อนเชลย

[แก้]

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เจ้าฟ้าอุทุมพรได้ถูกกวาดต้อนไปที่พม่าพร้อมด้วยเจ้านายและเชลยชาวไทยอื่น ๆ สำหรับเส้นทางกวาดต้อนเชลยชาวกรุงศรีอยุธยาไปยังรัตนปุระอังวะนั้น มีการกวาดต้อน 2 เส้นทาง คือเส้นทางเมืองอุทัยธานีกับเส้นทางเมืองกาญจนบุรี เพื่อไปบรรจบกันที่เมืองเมาะตะมะ สำหรับเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวชอยู่ ถูกกวาดต้อนทางเมืองอุทัยธานี[30] เนเมียวสีหบดียกทัพขึ้นไปเมืองอุทัยธานีทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นขึ้นบกที่ชัยนาทแล้วเดินไปทางเมืองอุทัยธานีเก่า ปัจจุบันคือ อำเภอหนองฉางจากนั้นไปทางอำเภอลานสัก ซึ่งปัจจุบันคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มุ่งไปยัง ด่านหนองหลวง (ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) และด่านแม่กลอง (ตำบลแม่กลอง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก)[31] จากนั้นเนเมียวสีหบดีน่าจะเดินทัพที่มีเจ้าฟ้าอุทุมพรเลียบแม่น้ำเมยขึ้นไปทางเหนือ แล้วออกเมืองเมียวดีไปยังเมืองเมาะตะมะ[32]

เมื่อนำทัพมาบรรจบกันที่เมืองเมาะตะมาแล้ว เนเมียวสีหบดีได้กวาดต้อนเชลยซึ่งเป็นพระราชวงศานุวงศ์และเชลยส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาไปทางบก ส่วนทางเรือได้นำเรือพระที่นั่ง ปืนใหญ่ และสิ่งของต่าง ๆ ขึ้นไปถวายพระเจ้ามังระที่กรุงรัตนะปุระอังวะ[33] แต่จากหลักฐานในคำให้การของมหาโค มหากฤช นายโค เป็นไพร่วัย 27 ปี ที่ถูกล่ามตามเจ้าฟ้าอุทุมพร ได้พลัดหลงกับเจ้าฟ้าอุทุมพรที่เมืองแปร[34][35] แสดงให้เห็นว่าทรงถูกกวาดต้อนไปทางน้ำ เนื่องจากเมืองแปรเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอิรวดีก่อนที่จะขึ้นไปถึงกรุงอังวะ เจ้าฟ้าอุทุมพรและพระราชวงศานุวงศ์และเชลยชาวอยุธยาและหัวเมืองใกล้เคียง ได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงรัตนปุระอังวะ ก่อนถูกส่งไปอยู่ตามเมืองต่าง ๆ[36]

บั้นปลายพระชนมชีพ

[แก้]

สิงหาคม พ.ศ. 2310 เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวช พระราชวงศานุวงศ์กรุงศรีอยุธยาและเชลย เดินทางไปถึงเมืองอังวะ เนเมียวเสนาบดีได้นำเข้าเฝ้าพระเจ้ามังระ จากนั้นพระราชวงศานุวงศ์ที่ประกอบด้วย พระมเหสี พระกนิษฐภคินี พระเชษฐภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระภาคิไนยที่เป็นสตรี พระเจ้ากรุงอังวะโปรดให้ประทับในเขตพระราชฐาน ส่วนพระอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระภาคิไนยที่เป็นบุรุษ โปรดให้ประทับนอกเขตพระราชฐาน ส่วนขุนนางกรุงศรีอยุธยาและไพร่บ้านพลเมือง ก็ได้รับพระราชทานถิ่นที่พักอาศัย[37]

เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระผนวชประทับอยู่ที่กรุงอังวะนั้น ปรากฏหลักฐานในคำบอกเล่าของชาวพม่าว่า ได้ประทับอยู่ที่วัดเยตะพัน (วัดมะเดื่อ) ทางใต้ของกรุงอังวะเป็นเวลา 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2310 ถึง 2325 และได้มีการสร้างพระพุทธรูปจากไม้มะเดื่อ[38]

ปี พ.ศ. 2326 พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบอง ได้ย้ายราชธานีจากกรุงรัตนปุระอังวะไปยังกรุงอมรปุระ ดังนั้นพระราชวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาซึ่งประทับอยู่ในพระราชวังจึงได้ย้ายไปยังพระราชวังแห่งใหม่ในกรุงอมรปุระด้วย ส่วนเจ้าฟ้าอุทุมพรไปประทับจำพรรษาที่ ปองเลไต๊ (ตึกปองเล) ปัจจุบันคือ วัดปองเล ในย่านตลาดระแหง กรุงอมรปุระ[39][40] ปรากฏหลักฐานพม่าออกพระนามของพระองค์ว่า "เจ้าฟ้าทอกมหาเถระ"[41]

สวรรคต

[แก้]

เจ้าฟ้าอุทุมพรที่ทรงพระผนวชและประทับอยู่กรุงอมรปุระจนถึง พ.ศ. 2339 จึงสวรรคตในสมณเพศ[42] ส่วนสถานที่สวรรคตและสถานที่ถวายพระเพลิง จากสมุดภาพชื่อ เตวั้งรุปซุงประบุท แปลว่า เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน บันทึกโดยราชเลขาราชจอว์เทง ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าปดุง มีภาพที่บรรยายเป็นภาษาพม่า ระบุว่า พระบรมศพนั้นได้ถวายพระเพลิงที่ ลินซินกง คือ สุสานล้านช้าง ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเจ้ามังระพระราชทานให้เชลยชาวยวน (เชียงใหม่) และชาวอยุธยาอยู่อาศัย รวมระยะที่ทรงพระผนวชอยู่ในกรุงรัตนปุระอังวะและกรุงอมรปุระจนสวรรคต เป็นเวลา 19 ปี[43]

มรดก

[แก้]

พระบรมสถูป

[แก้]
ตรงกลางภาพคือเจดีย์ทรงระฆังที่เชื่อว่าขุดพบพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ส่วนด้านซ้ายคือกู่ทรงสี่เหลี่ยม

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการกล่าวถึง พระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยามในพม่า ของพระเจ้าอุทุมพร ในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือเรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ซึ่งทรงบันทึกเมื่อครั้งเสด็จเมืองพม่าครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2478[44]

29 มิถุนายน 2556 ทีมนักโบราณคดีไทยและพม่านำเสนอแผนบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณสุสานที่ประดิษฐานพระสถูป บริเวณสุสานล้านช้าง อมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ไม่ไกลจากสะพานไม้สักอูเบ็ง ภายใต้งบประมาณดำเนินการราว 100 ล้านบาทหรือมากกว่านั้น ฝ่ายไทยจะบูรณะบริเวณพระสถูปบรรจุพระอัฐิซึ่งอาจจะใช้พื้นที่ราว 20 เอเคอร์ (50.5 ไร่เศษ) ในบริเวณสุสานเก่าแก่ที่ใช้มาหลายยุค ทั้งนี้เพื่อให้เป็นสวนประวัติศาสตร์ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้เดือนกุมภาพันธ์ 2556 เมื่อทีมนักโบราณคดีพม่าและไทยได้พบบาตรวางบนพานแว่นแก้ว มีฝาประดับโลหะแวววาวและทำลวดลายคล้ายมุก มีร่องรอยปิดทองคำเปลว ข้างในบรรจุเศษผ้าเหลืองของพระสงฆ์ สิ่งของอื่น ๆ อีกหลายรายการรวมทั้งอัฐิที่เหลือจากการเผา หลักฐานเหล่านี้นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[45] ข้อสันนิษฐานเกิดจากการพิจารณารูปพรรณสัณฐานไม่ได้ว่าเป็นแบบมอญ หรือพม่า คนเฒ่าคนแก่ในย่านนั้นก็เรียกสถูปนี้ว่า "โยเดียเซดี" (Yodia Zedi) แปลว่า สถูปอยุธยา[46] สิ่งชี้ชัดสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ภายในสุสานลินซิน เพราะ พบหลักฐานที่บ่งชี้ได้คือสุสานลินซินกง เป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติเท่านั้น มีอิฐที่ใช้สร้างสถูปเป็นชนิดเดียวกับสร้างเมืองอมรปุระ ภาชนะทรงบาตรที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐินั้น เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นยุคที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคต และมีลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า ประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบพระบรมอัฐิ ที่มีสายรัดประคดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงให้เห็นว่านอกจากเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ ยังเป็นพระสงฆ์หรือมหาเถระชั้นผู้ใหญ่[47]

อย่างไรก็ดี มีข้อโต้แย้งว่าเป็นพระบรมสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ทิน มอง จี เห็นว่า น่าจะเป็นสถูปบรรจุอัฐิธาตุของบุคคลผู้มีความสำคัญในช่วงเวลานั้น ที่อาจจะเป็นชาวล้านช้างหรือชาวโยดายาที่ถูกกวาดต้อนมากับการสงครามในสมัยราชวงศ์อลองพญา[48] จากการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2557 นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี กรมศิลปากร เห็นว่า พระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรควรตั้งอยู่ที่เมืองซะไกง์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองรัตนปุระอังวะ มากกว่าเมืองมัณฑะเลย์ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เห็นว่า ด้วยหลักฐานและเอกสารยังไม่ชัดเจน จึงไม่อาจสรุปได้ว่า สถูปองค์ดังกล่าวเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิหรือไม่ ควรจะมีการศึกษาให้รอบด้านก่อน เช่นสืบค้นจากครอบครัวเชื้อสายไทยที่ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่โดยไม่อพยพไปอยู่ที่อื่น รวมไปถึงตรวจสอบเอกสารจากหอจดหมายเหตุในมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง อินเดีย และอังกฤษ[49] นิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ ที่ได้ลงไปสำรวจพื้นที่จริงและได้แสดงความเห็นจากรายงานสรุป พบว่า เอกสารที่ภาคเอกชนอ้างถึงว่าสถูปองค์นี้บรรจุพระบรมอัฐิ ที่จริงแล้วรายงานไม่ได้บอกรายละเอียดขนาดนั้น และตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงชื่อ "ลินซินกง" ซึ่งแปลว่า สุสานล้านช้าง ทำไมถึงไม่เรียก "โยเดียกง" และยังกล่าวว่า รายงานที่ทางกลุ่มทำงานเอกชนส่งมาให้กรมศิลปากรพิจารณา เห็นว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเชื่อ โดยไม่กล่าวถึงว่าหลักฐานที่พบ เช่น ภาชนะ บาตร มาได้อย่างไร และยังถือว่ารายงานจากเอกชนฉบับนี้ ไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น[50]

ผลสืบเนื่อง

[แก้]

หมู่บ้านที่อยู่รอบเมืองมัณฑะเลย์ ในปัจจุบัน มีชื่อว่า "มินตาซุ" แปลว่า "เยี่ยงเจ้าชาย" และก็ยังคงมีหลักฐานปรากฏถึงวัฒนธรรมไทยอยู่ เช่น ประเพณีการขนทรายเข้าวัดในวันสงกรานต์ หรือการตั้งศาลบูชาพ่อปู่ หรือ หัวโขน เป็นต้น แม้ผู้คนในหมู่บ้านนี้จะไม่สามารถพูดไทยหรือมีวัฒนธรรมไทยเหลืออยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นเชลยมาจากไทย ปัจจุบันคนไทยกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า "โยเดีย" (Yodia)[51]

พระเจ้ามังระให้คนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปลำดับเรื่องราวในพงศาวดารไทยจดบันทึกไว้และพระองค์ได้เป็นผู้ให้ปากคำเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาแก่พม่า ต่อมาเมื่ออังกฤษยึดพม่าในปี พ.ศ. 2492 พบหนังสือเล่มนี้อยู่ในหอหลวงพระราชวังมัณฑะเลย์ มีชื่อว่า "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ต้นฉบับเดิมเป็นภาษามอญ ได้นำมาไว้ที่หอสมุดเมืองร่างกุ้ง ต่อมาหอวชิรญาณได้ขอคัดลอกมาแปลเป็นฉบับภาษาไทย โดยใช้ชื่อว่า คำให้การชาวกรุงเก่า เพราะเห็นว่าเป็นคำให้การของคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปหลายคน ไม่ใช่เจ้าฟ้าอุทุมพรเพียงพระองค์เดียว[52] สำหรับคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมก็ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เพราะเข้าใจว่าเป็นคำให้การของพระองค์[53]

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางเปิดโลกเพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายแก่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้หล่อฐานชั้นล่างแล้วให้กาไหลทอง พร้อมจารึกข้อความเพื่อทรงอุทิศพระราชกุศลถวาย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่หอราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[54] นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูป 2 องค์ คือ พระพุทธรูปเจ้าฟ้าเอกทัศน์ เจ้าฟ้าอุทุมพร ที่วัดท่าสำเภาเหนือ จังหวัดพัทลุง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างใหญ่ศิลปะอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระพุทธรูปสำริด ประทับยืน พระหัตถ์ ปางประทานอภัย ขนาดองค์ย่อมกว่าพระพุทธรูปเจ้าฟ้าเอกทัศน์[55]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

มีการนำพระราชประวัติมาสร้างเป็นนวนิยาย ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่มีเรื่องราวในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาถึงช่วงเสียกรุงอยู่หลายเรื่อง อย่างเช่น สายโลหิต, ฟ้าใหม่, ขุนรองปลัดชู และ ศรีอโยธยา

สำหรับ สายโลหิต เป็นนวนิยายของโสภาค สุวรรณ ผ่านตัวละครขุนไกรและดาวเรือง สร้างเป็นละครโทรทัศน์แล้ว 4 ครั้ง[56] สำหรับในฉบับปี 2561 ที่ออกฉายทางช่อง 7 บทสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร แสดงโดยเพชรฎี ศรีฤกษ์[57] ส่วนละครเรื่อง ฟ้าใหม่ ออกฉายในปี พ.ศ. 2547 สร้างจากบทประพันธ์ของศุภร บุนนาค ผู้รับบทเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คือ ดนุพร ปุณณกันต์[58] ภาพยนตร์ไทย ในปี พ.ศ. 2554 เรื่อง ขุนรองปลัดชู หรือชื่อเต็มว่า ขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม มีเรื่องราวเกี่ยวกับขุนรองปลัดชู ขุนนางระดับล่างของวิเศษไชยชาญ เรื่องนี้ผู้รับบทเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร คือ นพเก้า พุ่มคล้าย[59] ถัดมาในปี 2558 ละครโทรทัศน์เรื่อง บางระจัน ผู้รับบท ขุนหลวงวัดประดู่โรงธรรม คือ วิศววิท แซ่อุ้ย และละครในปี 2560 เรื่อง ศรีอโยธยา กำกับโดยหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ดำเนินเรื่องผ่าน 3 รัชกาล โดยได้เพ็ญเพ็ชร เพ็ญกุล รับบทเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[60]

ทัศนะ

[แก้]

ในทัศนะของศาสตราจารย์สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่า ในประวัติศาสตร์ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวที่ถูกบันทึก ผลิตซ้ำ และเล่าผ่านบทบาทและความสำคัญของผู้นำยุคเสียกรุงและกู้กรุง ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ สมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หากแต่หนึ่งในรัฐบุรุษสำคัญของยุคผลัดเปลี่ยนแผ่นดินซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่รองราชาผู้ปราชัย กล่าวกันว่า "พระเจ้าอุทุมพรทรงได้เป็นวีรบุรุษที่ถูกลืม หากแต่พระองค์ไม่ได้รับความสนใจเพียงพอจากนักวิชาการช่วงหลังที่ตัดสินความสำคัญของผู้ครองแผ่นดินยุคเปลี่ยนผ่าน ผ่านผลแพ้ชนะของสงครามรบพม่าในปี พ.ศ. 2309–2310 เมื่อนำการปราชัยของกรุงศรีอยุธยามาเป็นตัวตั้ง ความสำคัญของพระเจ้าอุทุมพรก็ถูกลดทอนลงด้วยพระองค์ถูกตัดสินว่าไม่เป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เพราะมิยอมลาพระผนวชออกมารบป้องกันพระนคร จนดูประหนึ่งว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่กรุงปราศจากพระเจ้าอุทุมพรมาช่วยบัญชาการรบ"[61]

ในปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวร เพราะความเจ็บช้ำที่สยามยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไป ทรงพระราชนิพนธ์ระบายความคับแค้น ไว้ตอนหนึ่ง "กลัวเป็นทวิราช บ่ตริป้องอยุธยา เสียเมืองจึงนินทา บ่ละเว้นฤๅว่างวาย" ว.วินิจฉัยกุล อธิบายว่า ทวิราชหรือสองพระราชา นั้นหมายถึงพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ และเขียนไว้ว่า "ทำไมสองพระนามจึงเป็นที่ติฉินนินทาต่อมายาวนาน ก็เพราะคนไทยที่เหลือรอดมาตั้งอาณาจักรธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ถือกันว่าสองพระองค์ควรรับผิดชอบยิ่งกว่าคนไทยอื่น ๆ กรณีเสียกรุงฯ ครั้งที่สอง"[62]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
หมายเหตุ

ทิน มอง จี, มิกกี ฮาร์ต และปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส (ซึ่งน่าจะอ้างอิงจากมิกกี ฮาร์ต) อธิบายว่าภาพนี้น่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (แม้ตามต้นฉบับเอกสารการบันทึกราชสำนักพร้อมด้วยภาพเขียน บันทึกโดยจอ เทง ราชเลขาธิการและพระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง จะบันทึกไว้ว่า

"ในรัชกาลสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [คือพระเจ้ามังระ] เมืองรัตนปุรตติยธานี [อังวะ] ไปตีกรุงศรีอยุธยา สามารถตีกรุงศรีอยุธยาและจับพระมหากษัตริย์อัญเชิญมาที่พม่า ในรัชสมัยของพระอนุชาในสมเด็จพระไปยกาธิราชช้างเผือก [พระเจ้าปดุง] สมัยอมรปุระ เสด็จมาประทับที่อมรปุระและสวรรคตในสมณเพศ ทำพิธีพระศพและถวายพระเพลิงที่สุสานลินซิงกง ภาพนี้คือพระเจ้าเอกาทัสส์"

และวทัญญู ฟักทอง และ รศ ดร. ศานติ ภักดีคำสรุปว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตามที่เอกสารกล่าวไว้ ณ เบื้องต้น[63][64][65]) โดยมองว่าอาจเป็นความผิดพลาดของผู้เขียนที่จดพระนามผิด เพราะสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์มิได้สวรรคตในสมณเพศที่พม่า[39][40][66][67]

เชิงอรรถ
  1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 552
  2. นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1136
  3. 3.0 3.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 172
  4. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 3
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 624
  6. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 5
  7. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 10
  8. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 14
  9. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 17
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 367
  11. 11.0 11.1 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 173
  12. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 18
  13. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 22
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 370
  15. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 31
  16. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 175
  17. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 332
  18. คำให้การขุนหลวงหาวัด, หน้า 134
  19. เพลิง ภูผา. รัฐประหารยึดบัลลังก์กษัตริย์บนแผ่นดินอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, 2557. หน้า 178.
  20. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 34
  21. จารี จันทราภา. ผูกพันธนาการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. หน้า 56.
  22. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 337
  23. ประชุมพงศาวดาร, เล่มที่ 6. กรุงเทพฯ : องค์การค้าครุสภา, 2506. หน้า 88.
  24. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 340
  25. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 57
  26. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 348
  27. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 352
  28. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 356
  29. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 69
  30. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 77
  31. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 77
  32. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 80–81
  33. พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน, หน้า 357
  34. กิเลน ประลองเชิง (26 Nov 2013). "คำให้การมหาโค". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 21 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 10. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2552), หน้า 90
  36. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 106
  37. สุเนตร ชุตินธรานนท์. สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2552), หน้า 120
  38. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 130
  39. 39.0 39.1 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (1 Oct 2012). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.
  40. 40.0 40.1 วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (23 Dec 2016). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 14 Jan 2018.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  41. พม่าอ่านไทย, หน้า 100
  42. พม่าอ่านไทย, หน้า 100
  43. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 135
  44. "'สถูปพระเจ้าอุทุมพร'จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า". คมชัดลึก. 6 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 30 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  45. "ลุ้นสัปดาห์นี้แผน 100 ล้าน ปฏิสังขรณ์สถูปพระเจ้าอุทมพรในพม่า". ผู้จัดการออนไลน์. 10 Jul 2013. สืบค้นเมื่อ 8 Oct 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  46. "พม่าเปิดทางไทยส่งนักโบราณคดี ขุดค้นสถูป'พระเจ้าอุทุมพร'". ไทยรัฐออนไลน์. 14 Feb 2013. สืบค้นเมื่อ 21 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  47. "เปิดหลักฐานชัด 7 ข้อ สถูปพม่าบรรจุพระบรมอัฐิ 'เจ้าฟ้าอุทุมพร' จริง". ไทยรัฐออนไลน์. 5 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  48. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ (23 Dec 2016). "สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า "คุณหมอทิน มอง จี"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 21 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  49. "'สถูปพระเจ้าอุทุมพร'จุดประกายค้นหาชาวอยุธยาในพม่า". คมชัดลึก. 6 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 8 Oct 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  50. "2 รัฐบาลไม่รับรอง ขุดพบ 'สถูปพระเจ้าอุทุมพร' ที่พม่าจริง". ไทยรัฐ. 4 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 8 Oct 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  51. "มีสถูปกษัตริย์อยุธยาอยู่ในเมียนมาร์จริงหรือ?". วอยซ์ทีวี. 31 Oct 2013. สืบค้นเมื่อ 21 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  52. “พระตำหนักคำหยาด”ที่ปลีกวิเวกของกษัตริย์ผู้ไม่พิสมัยในราชบัลลังก์!!!
  53. คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง. สืบค้นเมื่อ 18 Jul 2019.
  54. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 30
  55. วรวิทย์ สินธุระหัส. "พระพุทธรูปเจ้าฟ้าเอกทัศน์ เจ้าฟ้าอุทุมพร พระพุทธรูปทรงเครื่องภาคใต้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอยุธยา" (PDF). วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา. สืบค้นเมื่อ 8 Oct 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  56. ""สายโลหิต" ละครพีเรียดครบรส ปลุกเลือดรักชาติ". ศิลปวัฒนธรรม. 17 Mar 2017. สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  57. "เรื่องย่อละคร สายโลหิต". กระปุก. สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  58. "เรื่องย่อละคร ฟ้าใหม่". กระปุก. สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  59. "ขุนรองปลัดชู : การฟื้นฟูวีรกรรมสามัญชนที่ถูกลืม". สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  60. "เรื่องย่อ ภาพยนตร์ซีรีส์ "ศรีอโยธยา"". ผู้จัดการออนไลน์. 3 Dec 2017. สืบค้นเมื่อ 22 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  61. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์, หน้า 7
  62. บาราย. "คัมภีร์จากแผ่นดิน (ทวิราช)". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 8 Oct 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  63. ศานติ ภักดีคำ, รศ. ดร. (5 Mar 2018). "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด: จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ". ศิลปวัฒนธรรม. (39:5), หน้า 72-92
  64. "แปล พาราไบเก ฟันธงไม่ใช่ พระเจ้าอุทุมพร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. 12 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.[ลิงก์เสีย]
  65. "ชะลอสร้างอนุสรณ์พระเจ้าอุทุมพร". ข่าวสด. 12 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.[ลิงก์เสีย]
  66. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้, หน้า 154
  67. "ยันเดินหน้าอนุสรณ์สถาน 'พระเจ้าอุทุมพร' แม้ถูกระงับ!". ไทยรัฐออนไลน์. 20 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 25 Mar 2018.
บรรณานุกรม
  • พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ). เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒. กรุงเทพฯ : บันทึกสยาม, 2553.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ภาค 2. กรุงเทพฯ : พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนพระราชกุศลทานมัยในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสฐสุดา, พระอรรคชายาเธอ กรมขุนอรรควรราชกัญญา, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี, 2455.
  • ศานติ ภักดีคำ. ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. 168 หน้า. ISBN 978-974-02-1612-4
  • กรมศิลปากร. คำให้การขุนหลวงหาวัด. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2555. ISBN 978-616-505-785-1
  • ศานติ ภักดีคำ (ผู้ตรวจสอบชำระและบรรณาธิการ). พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากฉบับตัวเขียน. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2558.
  • หม่องหม่องทิน. พม่าอ่านไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555.
  • เทปสนทนาเรื่อง วาระสุดท้าย...ของ อาณาจักรอยุธยาและราชวงศ์อลองพญา โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และวีระ ธีรภัทร (เมษายน พ.ศ. 2544)

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(พ.ศ. 2275 - 2301)

พระเจ้ากรุงอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2301)
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
(พ.ศ. 2301 - 2310)
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลแห่งกรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์บ้านพลูหลวง)

(พ.ศ. 2300 - พ.ศ. 2301)
สมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์
(อาณาจักรธนบุรี)