เจ้าฟ้าจันทวดี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าฟ้าจันทวดี
เจ้าฟ้า
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระมารดากรมหลวงพิพิธมนตรี
ศาสนาพุทธ

เจ้าฟ้าจันทวดี หรือ เจ้าฟ้าบัวจัน[1] พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับกรมหลวงพิพิธมนตรี เป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรและสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[2]

เจ้าฟ้าจันทวดี เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี ใน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระองค์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าบัวจัน คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่าพระชนนีสืบเชื้อสายพราหมณ์จากเมืองเพชรบุรี[3] พระองค์มีพระพี่น้องร่วมพระชนกชนนีแปดพระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าสิริประชา (หรือประชาวดี), เจ้าฟ้าสิริประภา (หรือประภาวดี), เจ้าฟ้ากษัตรีย์, สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, เจ้าฟ้าบัวจัน (หรือจันทรวดี), เจ้าฟ้านวน (หรือนุ่ม) และสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[2]

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พม่าได้ทำการกวาดต้อนเจ้านายอยุธยา 869 องค์ และผู้สืบเชื้อสายพระราชวงศ์อีก 2,000 คนเศษ แต่ปรากฏว่าเหลือเจ้านายบางส่วนตกค้างที่ค่ายโพธิ์สามต้น และบางส่วนหนีรอดออกไป[4] เจ้าฟ้าจันทวดีถูกกุมขังในค่ายโพธิ์สามต้นไม่ได้ถูกกวาดไปพม่า โดยถูกจองจำพร้อมกับเจ้านายฝ่ายในจำนวนหนึ่ง[5] ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[6]

"...ในเขตแดนแว่นแคว้นสยามประเทศ เหตุว่าหาเจ้าแผ่นดินจะปกครองบมิได้ เหมือนดุจสัตถันดรกัล์ปและทุพภิกขันดรกัล์ป และพระราชวงศานุวงศ์ ซึ่งเหลืออยู่พม่ามิได้เอาไปนั้น ตกอยู่ ณ ค่ายโพธิ์สามต้นก็มีบ้าง ที่หนีไปเมืองอื่นนั้นก็มีบ้าง และเจ้าฟ้าสุริยา 1 เจ้าฟ้าพินทวดี 1 เจ้าฟ้าจันทวดี 1 พระองค์เจ้าฟักทอง 1 ทั้ง 4 พระองค์นี้ เป็นราชบุตรีพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และเจ้ามิตรบุตรีกรมพระราชวัง 1 หม่อมเจ้ากระจาดบุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร 1 หม่อมเจ้ามณีบุตรีกรมหมื่นเสพภักดี 1 หม่อมเจ้าฉิมบุตรีเจ้าฟ้าจีด 1 เจ้าทั้งนี้ตกอยู่กับพระนายกอง ณ ค่ายโพธิ์สามต้น อนึ่งพระองค์เจ้าทับทิมบุตรีสมเด็จพระอัยกานั้น พวกข้าไทพาหนีออกไป ณ เมืองจันทบูร เจ้าตากก็สงเคราะห์รับเลี้ยงดูไว้..."

ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก อันเป็นที่สิ้นสุดสงครามกู้กรุงศรีอยุธยา พระองค์ก็ทรงอุปการะเจ้าหญิงอยุธยามาไว้ในราชสำนักธนบุรี แต่เจ้าฟ้าจันทวดี สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว ดังปรากฏใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ความว่า[6]

"...อนึ่ง ซึ่งพระขัตติยวงศ์ครั้งกรุงเก่านั้น บรรดาเจ้าหญิงทรงพระกรุณาโปรดเลี้ยงไว้ในพระราชวัง และเจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าจันทวดี สองพระองค์นั้นดับสูญสิ้นพระชนม์ ยังอยู่แต่เจ้าฟ้าพินทวดี พระองค์เจ้าฟักทอง พระองค์เจ้าทับทิม ซึ่งเรียกว่าเจ้าครอกจันทบูรนั้น และเจ้ามิตร บุตรีกรมพระราชวัง โปรดให้ชื่อ เจ้าประทุม หม่อมเจ้ากระจาด บุตรีกรมหมื่นจิตรสุนทร โปรดให้ชื่อ เจ้าบุปผา กับหม่อมเจ้าอุบล บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมเจ้าฉิม บุตรีเจ้าฟ้าจีด ทั้งสี่องค์นี้ทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นห้าม..."

เจ้าฟ้าจันทวดี ทรงมีข้าหลวงคนหนึ่งมีนามว่า ทองอยู่[7][8] ต่อมาได้เป็นพระชายาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ผู้คนพากันเรียกพระชายาว่า เจ้าครอกทองอยู่[9] หรือ เจ้าครอกวังหลัง ทรงมีชื่อเสียงในด้านการทำขนมค้างคาว ซึ่งขึ้นชื่อพอ ๆ กับขนมไส้หมูของกรมหลวงนรินทรเทวี จนกระทั่งชาววังเรียกขานกันว่า "ขนมค้างคาวเจ้าครอกทองอยู่ ขนมไส้หมูเจ้าครอกวัดโพธิ์"

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คำให้การชาวกรุงเก่า/ภาคที่-๒-ว่าด้วยตำนานแลทำเนียบต่างๆ/บาญชีพระนามเจ้านาย
  2. 2.0 2.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 624
  3. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 478
  4. "ชะตากรรมเจ้าหญิงอยุธยาหลังกรุงแตก ย้อนบันทึกพม่าที่น่าสลดใจ". ศิลปวัฒนธรรม. 7 เมษายน 2563. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "สงครามกู้อิสรภาพจากพม่า". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 ปรามินทร์ เครือทอง (7 มกราคม 2563). ""ท้องกับเจ๊ก" การเมืองราชสำนักฝ่ายใน เรื่องซุบซิบเจ้าหญิงอยุธยาในพระเจ้าตากสินฯ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 145-146. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2020-06-24.
  8. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า 38. ISBN 974-221-818-8
  9. กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหน้า-วังหลัง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2549. 200 หน้า. หน้า 105. ISBN 974-941-205-2