วัดประดู่ทรงธรรม
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วัดประดู่ทรงธรรม | |
---|---|
ที่ตั้ง | ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดประดู่ทรงธรรม หรือ วัดประดู่โรงธรรม สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง บริเวณกลุ่มวัดในเขตอโยธยา เดินทางโดยรถยนต์ตามเส้นทางถนนจากวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้มไปทางทิศเหนือ
ประวัติ
[แก้]วัดประดู่ทรงธรรมในปัจจุบันเกิดจากการรวมพื้นที่วัดโบราณ 2 วัดคือ วัดประดู่ และ วัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) สำหรับวัดประดู่ ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ในคราวที่พระภิกษุสงฆ์ของวัดประดู่ 8 รูป ได้ช่วยเหลือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ให้หลบหนีจากการก่อกบฏของพวกญี่ปุ่นที่หมายปลงพระชนม์ชีพ เมื่อ พ.ศ. 2153
ยี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ยี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ ๕๐๐ ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณพระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นพอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา ๘ รูปพาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้านี้ญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้ว ยี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ยี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ แลไล่รบยี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก ยี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวังลงสำเภาหนี ตั้งแต่นั้นมา สำเภาเมืองยี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขายณกรุงเลย พระมหาอำมาตย์ ให้ไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระราชวัง เพลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง พร้อมด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ทรงพระกรุณาตรัสว่า ราชการครั้นนี้พระมหาอำมาตย์มีความชอบ มาก ให้เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการ ให้วิเศษแต่งกับปิยะจังหันถวายพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเป็นนิจอัตรา
— พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
ในบันทึกของเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ได้กล่าวว่าเจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)) ได้ทำการบูรณะวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งในบันทึกของหมอแกมป์เฟอร์เรียกว่า วัดพระยาพระคลัง ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าคือวัดสมณโกฎฐารามกับวัดกุฎีดาว แต่จากการเทียบแผนที่หมอแกมป์เฟอร์ของอชิรวิชญ์ อันธพันธ์ พบว่าตำแหน่งวัดพระยาพระคลังตรงกับวัดประดู่และวัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) จึงสันนิษฐานว่าวัดประดู่อาจเป็นวัดพระยาพระคลังก็เป็นได้[2] [3]
พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้สละราชสมบัติให้สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ทรงพระผนวชและพำนักที่วัดประดู่
ครั้นแรมเดือน ๗ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราชแล้ว ถึงเดือน ๘ ข้างขึ้น ก็เสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งเป็นกระบวนพยุหยาตรา ออกไปพระผนวชวัดเดิม แล้วเสด็จไปอยู่ณวัดประดู่
— พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรได้ลาพระผนวชมาช่วยทำการศึก เมื่อพม่าเลิกทัพไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ทรงพระผนวชอีกครั้งยังวัดโพธิ์ทองคำหยาด จากนั้นเสด็จฯ กลับมาประทับ ณ วัดประดู่ตามเดิม เมื่อสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้เสด็จฯ จากวัดประดู่มาประทับยังวัดราชประดิษฐานในพระนคร
เมื่อแรกรวมวัดเข้ากันในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเรียกชื่อวัดว่า วัดประดู่โรงธรรม ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น วัดประดู่ทรงธรรม จนถึงปัจจุบัน อนึ่ง พื้นที่ของวัดประดู่ทรงธรรมในปัจจุบันคือพื้นที่ของวัดโรงทาน (วัดโรงธรรม) ส่วนวัดประดู่ที่เป็นที่ผนวชของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนั้น ตั้งอยู่เหนือวัดโรงทาน(วัดโรงธรรม) โดยมีคลองวัดประดู่กั้นระหว่างทั้ง 2 วัด ปัจจุบันวัดประดู่ยังเหลือซากวัดร้างอยู่ ส่วนคลองวัดประดู่ถูกถมบางส่วน
-
อุโบสถ
-
เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
-
จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหาร
ความสำคัญ
[แก้]สถานที่สำคัญภายในวัด คือพระอุโบสถสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการบูรณะใหม่ในราวสมัยรัชกาลที่ 4 มีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราว ทศชาติชาดกพุทธประวัติภาพขบวนเสด็จทางสถลมารควิถีชีวิต และการละเล่นของคนไทยในสมัยก่อน ปัจจุบัน วัดประดู่ทรงธรรมเป็นแหล่งศิลปศาสตร์พุทธศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะมนต์คาถาการตีเหล็กของหลวงพ่อเลื่อง และหลวงพ่อรอดเสือพระเถระเจ้าอาวาส ในสมัยก่อน นอกจากนี้ภายในวัดประดู่ฯ ยังมีพันธุ์ไม้โบราณขนาดใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่รอบวัด พาให้ร่มรื่นแก่ผู้มาเยือน
14°21′49.7″N 100°35′11.1″E / 14.363806°N 100.586417°E
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- ↑ อชิรวิชญ์ อันธพันธ์ (2563). ไขปริศนา "วัดพระยาพระคลัง" จากแผนที่ของหมอแกมป์เฟอร์. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41. ฉบับที่ 5 มีนาคม.
- ↑ https://www.blockdit.com/articles/5ebe15cf70eebe0811c5f0ea
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9