เจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลที่ 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดาจันทร์
ในรัชกาลที่ 4
Chan Suksathit in King Rama IV.jpg
เกิดจันทร์ สุขสถิตย์
สยาม
เสียชีวิต24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448
สยาม
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตรพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
บิดามารดาพระยาพิพิธสมบัติ (สุก)
ชาวเมืองตราด (ธิดาหยง จีนฮกเกี้ยน และอิ่ม)

เจ้าจอมมารดาจันทร์ในรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรีคนรองสุดท้องของพระยาพิพิธสมบัติ (ทองสุก) ผู้สำเร็จราชการเมืองตราด มีมารดาเป็นชาวจังหวัดตราด คุณตาชื่อ “หยง” เป็นจีนฮกเกี้ยนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายที่เมืองตราด คุณยายชื่อ “อิ่ม” เป็นคนพื้นเพเมืองตราด

เมื่อพระยาพิพิธสมบัติถึงแก่อนิจกรรมในตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บุตรชายคนหนึ่งของพระยาพิพิธสมบัติได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตราดสืบต่อจากบิดา ท่านเจ้าเมืองคนใหม่นี้ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาถ” และพระยาพิพิธฤทธิเดชวิเศษสิงหนาถนี้เองที่เป็นผู้ชักชวนให้เจ้าจอมมารดาจันทร์ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยรุ่นสาวมีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปทั่วเมืองตราด ให้เข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณในพระบรมมหาราชวัง จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณชุบเลี้ยงให้เป็นพระสนมเอก พระราชทานเครื่องยศพานทองคำ เครื่องใช้สอยทองคำ หีบทองลงยาราชาวดี กับได้เบี้ยหวัดเงินปี ปีละ 10 ชั่ง

เจ้าจอมมารดาจันทร์ได้รับราชการสนองคุณพระกรุณา ฯ ถวายพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสิ้น 4 พระองค์ คือ

  • พระองค์ที่ 1 คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติ ณ วันเสาร์ เดือนสิบเอ็ด ขึ้นห้าค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช 1214 ตรงกับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2395 สิ้นพระชนม์ด้วยโบราณโรคที่วังสามเสน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2449 พระชันษา 55 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2449 ในระหว่างพระชนม์ชีพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงรับราชการสนองคุณพระกรุณาฯ ถวายพระประสูติกาลพระราชโอรสเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล แต่สิ้นพระชนม์เสียในวันประสูติ
  • พระองค์ที่ 2 คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงมัณยาภาธรประสูติ ณ วันพุธ ขึ้นห้าค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ฉศก ตรงกับวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 สิ้นพระชนม์เมื่อวันจันทร์ แรมสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีระกา พุทธศักราช 2428 พระชันษา 32 ปี ที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกศกุดั่นใหญ่ ตั้งเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันจันทร์ แรมสิบสองค่ำ เดือนแปด ปีจอ อัฐศก จุลศักราช 1248 พ.ศ. 2429 พระอังคารแห่ไปลอยน้ำที่หน้าวัดยานนาวา พระอัฐิแห่อัญเชิญไปไว้ที่วังกรมหลวงอดิศรอุดมเดช
  • พระองค์ที่ 3 คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายศุขสวัสดี ประสูติ ณ วันศุกร์ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนสี่ ปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1217 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2398 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2467 สิริพระชันษาได้ 69 ปี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พระนามกรมว่า “กรมหลวงอดิศรอุดมเดช” และทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “ศุขสวัสดิ์”
  • พระองค์ที่ 4 คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายเกษมศรีศุภโยค ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือนเก้า แรมสิบสองค่ำ ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 1219 ตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2400 สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักวังสามเสน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 สิริพระชันษา 49 ปี ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พระนามกรมว่า “กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ” และทรงเป็นองค์ต้นราชสกุล “เกษมศรี”

ในระหว่างการรับราชการในพระบรมมหาราชวังเพื่อสนองคุณพระกรุณานั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยในเรื่องศิลปะการแสดง โดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครแสดงโดยสตรีล้วนขึ้นเป็นครั้งแรก และยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ทำประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 อนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่น รัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน เจ้าจอมมารดาจันทร์จึงได้ตั้งโรงละครขึ้นคณะหนึ่งในพระบรมมหาราชวังเพื่อสนองพระบรมราโชบายนี้ ทำการฝึกซ้อม และจัดแสดงจนเป็นที่รู้จัก ซึ่งตัวละครจากโรงละครของเจ้าจอมมารดาจันทร์นี้ ต่อมาได้เป็นครูหัดละครให้โรงละครอื่น ๆ ต่อไปอีกหลายคน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมมารดาจันทร์ได้ย้ายออกมาอยู่กับพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี ที่วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ฐานะทางยศศักดิ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมเนียมสำหรับเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน คือ เครื่องยศหีบหมากทองลงยาราชาวดีก็เปลี่ยนเป็นหีบทองเกลี้ยง นามก็เรียกว่า “จันทร์เจ้าจอมมารดา” แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามอย่างเดิมกับบ่งรัชกาลไว้ท้ายว่า “เจ้าจอมมารดาจันทร์ในรัชกาลที่ 4”

ในปัจฉิมวัย ท่านได้ป่วยเป็นโรคชรามาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 ได้รับพระราชทานหมอหลวงไปรักษาอาการแต่หาคลายไม่ ครั้นถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เวลาบ่ายห้าโมงก็ถึงแก่กรรม [1]

อ้างอิง[แก้]

  • กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2547.
  • “วชิรญาณ เล่ม1 ฉบับที่ 1 จ.ศ. 1246 และพระประวัติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ กับประวัติเจ้าจอมมารดาจันทร์ในรัชกาลที่ 4.” อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพนางสายหยุด ตะเวทีกุล. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท., 2541.
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง. เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 ปี. กรุงเทพมหานคร : most.go.th, 2549. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2549, จาก http://www.most.go.th/200year/king200year.htm เก็บถาวร 2008-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  1. ข่าวตาย