ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัศนี ปราโมช
องคมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
3 มีนาคม พ.ศ. 2527 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต2 เมษายน พ.ศ. 2560 (82 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุการเสียชีวิตมะเร็งปอด
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา (ชลวิจารณ์)
บุพการี
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ พลเรือเอก

พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช (1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 - 2 เมษายน พ.ศ. 2560) อดีตองคมนตรี และอดีตผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์

พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี มีชื่อเล่นว่า "ตุ้ย" เป็นบุตรของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช ณ อยุธยา สมรสกับท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา (สกุลเดิม ชลวิจารณ์) มีบุตรทั้งหมด 5 คน

ม.ล.อัศนี ปราโมช มีผลงานทางดนตรีมากมาย เป็นนักไวโอลิน นักวิโอล่า ผู้ประพันธ์เพลง และผู้อำนวยเพลง เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ทำให้ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อปี พ.ศ. 2537

การศึกษา

[แก้]

ในวัยเด็ก ท่านได้รับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จปริญญาตรี จากนั้นก็ได้เข้าศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิตที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายเกรส์ อินน์ จนสำเร็จเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ

การทำงาน

[แก้]

หม่อมหลวงอัศนีเข้ารับราชการทหารที่กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม จนได้รับยศเป็นร้อยเอก จากนั้นก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้าทำงานที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 มาจนถึงบั้นปลายของชีวิต

ในปี พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงอัศนีดำรงตำแหน่งองคมนตรี[1]

ด้านการทหาร ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น

  • พลเรือตรีในตำแหน่งนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2535
  • พลเรือเอกในตำแหน่งนายทหารพิเศษ ประจำกองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ผลงานทางดนตรี

[แก้]

หม่อมหลวงอัศนีได้รับอิทธิพลในด้านดนตรีและศิลปะมาจากหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ตั้งแต่วัยเด็ก ท่านเริ่มเล่นดนตรีด้วยการฝึกไวโอลิน และได้รวมตัวกันเล่นดนตรีวงควอเตทภายในครอบครัวบ่อยครั้ง เมื่อเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านได้ใช้เวลาว่างศึกษาเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง ทั้งยังได้เข้าร่วมกิจกรรมทางดนตรีกับทางมหาวิทยาลัยเป็นประจำ

เมื่อเดินทางกลับจากศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2501 ท่านได้ร่วมกับ ศาตราจารย์กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และชาวต่างชาติอีก 2 คน ตั้งวงสตริงควอเตทขึ้น ต่อมาวงสตริงควอเตทได้พัฒนาไปเป็นวงโปรมิวสิกา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และก็ได้รับความสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ (สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน) ให้ใช้สถานที่ฝึกซ้อม ทั้งยังได้ส่งนายฮันส์ กุนเธอร์ มอมเมอร์ มาช่วยควบคุมวง

วงดนตรีโปรมิวสิกานี้ นับเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มและรับหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าวง ผู้จัดการวง ผู้แสดงเดี่ยว และผู้อำนวยเพลง จนกระทั่งเกิดการรวมตัวครั้งใหม่เป็นวงดนตรีที่ใหญ่ขึ้น มีชื่อว่า วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ หรือ บางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า (B.S.O.) นอกจากการเป็นนักดนตรี และผู้อำนวยเพลงแล้ว หม่อมหลวงอัศนียังมีผลงานประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสาน อาทิ

  • เรียบเรียงเสียงประสานเพลงพระราชนิพนธ์หลายเพลง อาทิ ความฝันอันสูงสุด แผ่นดินของเรา เราสู้ เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย ยามเย็น ลมหนาว อาทิตย์อับแสง ฯลฯ
  • ปี 2521 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงบัลเล่ต์ ปางปฐม
  • ปี 2527 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงทัศนะ (View) ซึ่งวงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนได้นำไปแสดงที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๒๘
  • ปี 2529 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงศรีปราชญ์ (Tone Poem) เพื่อให้วงดุริยางค์เยาวชนอาเซียนแสดงที่กรุงเทพมหานคร ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
  • ปี 2531 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลง สำหรับวันฉัตรมงคล เพื่อให้วงดุริยางค์ ราชนาวีแสดงในงานดนตรีกาชาดคอนเสิร์ต
  • ปี 2533 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงประกอบบัลเล่ต์ชื่อ จันทกิรีเพื่อการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • ปี 2535 ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงประกอบบัลเล่ต์ชื่อ ศรีปราชญ์ ขึ้นใหม่เพื่อการแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • ประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสานเพลงพนาไพร เพื่อให้วงดุริยางค์ราชนาวีแสดงในงานดนตรีกาชาดคอนเสิร์ต ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • เรียบเสียงประสานเพลงปลุกใจและเพลงรักชาติในช่วงที่ประเทศชาติประสบกับภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หลายเพลง อาทิ แด่ทหารหาญในสมรภูมิ จากยอดดอย วีรกรรมรำลึก ตื่นเถิดไทย อยุธยารำลึก ฯลฯ

พลเรือเอก หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อ พ.ศ. 2537

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งองคมนตรี (นายจิตติ ติงศภัทิย์ หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช)
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๐
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๑๙, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๕๓ ง หน้า ๑๔๕๐, ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๐๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๘๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๑, ๑๔ ธันวาคม ๒๕๒๗

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]