ข้ามไปเนื้อหา

ภาพยนตร์ไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพยนตร์ไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในเมืองไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้าง คือ บริษัทภาพยนตร์ ยูนิเวอร์ซัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย[1] พ.ศ. 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย[2]

ในช่วงหลัง พ.ศ. 2490 ถือเป็นช่วงยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไทย สตูดิโอถ่ายทำและภาพยนตร์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากนั้นประเทศไทยเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นช่วงซบเซาของภาพยนตร์ไทย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมา และได้เปลี่ยนไปใช้ฟิล์ม 16 มิลลิเมตรในการผลิตภาพยนตร์หลาย 100 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น และเมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขัน ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมืองและสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี 2510-2522 ซึ่งเป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเปลี่ยนมาใช้ฟิล์ม 35 มม. เสียงในฟิล์มแบบมาตรฐานสากลแทนฟิล์ม 16 มม. และการพากย์สด[3] ในช่วงเวลานั้นผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนตร์แอ็กชั่นที่โดดเด่นที่สุดคือฉลอง ภักดีวิจิตร เป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ พี ฉลอง หรือ ฟิลิป ฉลอง ในระดับสากล [4] ด้วยความคิดสร้างสรรค์ประกอบกับความต้องการที่จะนำภาพยนตร์ไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้ผลงานของฉลองมีความเป็นสากล แตกต่างจากหนังไทยในเวลานั้น[5] ฉลองกลายเป็นผู้กำกับชาวไทยคนแรกที่สามารถทำกำไรจากการเจาะตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ จากภาพยนตร์แอคชั่นปี 2516 เรื่อง 'ทอง'(S.T.A.B.)[6] ต่อมาภาพยนตร์ไทยในช่วงปี พ.ศ. 2530-2539 โดยในตอนต้นทศวรรษวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ นอกจากภาพยนตร์ประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ และหนังเกรดบี ก็มีการผลิตมามากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีภาพยนตร์ที่มุ่งสู่ตลาดโลก เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ที่สามารถขึ้นไปอยู่บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสในประเทศสหรัฐอเมริกา และยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์ ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้[7]

ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนได้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์ และการมอบรางวัลทางภาพยนตร์อยู่หลายโครงการ

ประวัติ

[แก้]

ยุคเริ่มต้น

[แก้]
ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีนักแสดงไทยทั้งหมด

ชาวสยามได้รู้จักและชื่นชมซีเนมาโตกราฟ ประดิษฐกรรมภาพยนตร์ของตระกูลลูมิแอร์แห่งฝรั่งเศส โดยนักฉายภาพยนตร์เร่คนหนึ่ง นาม เอส. จี. มาร์คอฟสกี เข้ามาจัดฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ กรุงเทพ ชาวสยามเรียกมหรสพนี้ว่า หนังฝรั่ง เป็นมหรสพฉายแสงเล่นเงาบนจอผ้าขาว ทำนองเดียวกับ หนังใหญ่ หนังตะลุง มหรสพดั้งเดิมที่ชาวสยามรู้จักกันดีอยู่แล้ว[8] ปี พ.ศ. 2447 คณะฉายภาพยนตร์แบบหนังเร่ชาวญี่ปุ่นนำหนังเข้ามาฉาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์การสู้รบระหว่าง ญี่ปุ่นกับรัสเซีย เมื่อเห็นว่าการฉายหนังครั้งแรกได้ผลดี จึงกลับมาฉายหนังเร่ในเมืองไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ได้สร้างโรงภาพยนตร์ชั่วคราวขึ้น[9] จนในที่สุดตั้งโรงฉายหนังฝรั่งเป็นโรงถาวรรายแรกของสยาม เปิดฉายหนังประจำ บริเวณหลังวัดตึก ถนนเจริญกรุง[8] ชาวสยามจึงได้ดูหนังฝรั่งกันทุกคืน จึงค่อย ๆ เปลี่ยนมาเรียกมหรสพชนิดนี้ว่า หนังญี่ปุ่น แทนคำว่าหนังฝรั่ง

พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์ชาวอเมริกันจากบริษัทยูนิเวอร์ซัล ได้มาถ่ายภาพยนตร์ในประเทศไทยเรื่อง นางสาวสุวรรณ โดยได้รับความช่วยเหลือ จากกรมมหรสพหลวงและกรมรถไฟหลวง โดยใช้นักแสดงไทยทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเมืองไทย โดยมีนายเฮนรี่ แมคเรย์ กำกับการแสดง นายเดล คลองสัน ถ่ายภาพ นำแสดงโดย ขุนรามภรตศาสตร์ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร และหลวงภรตกรรมโกศล ซึ่งถือได้ว่าทั้งสามได้เล่นเป็นพระเอก นางเอกและผู้ร้าย คนแรกของเมืองไทย[10] ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ออกฉายในกรุงสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ท่ามกลางความตื่นเต้นของประชาชน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 คณะสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวูดอีกคณะ เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "ช้าง" โดยใช้ผู้แสดงเป็นชาวสยามทั้งหมดเช่นกัน ในเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง ออกฉายในประเทศสยามนั้น คนไทยได้สร้างหนังบันเทิงและนำออกฉายแล้วหลายเรื่อง ผู้คนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กันมากเท่าที่ควร[1]

ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489)

[แก้]

บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์สร้างหนังเรื่องแรกเสร็จ ให้ชื่อเรื่องว่า โชคสองชั้น เนื้อเรื่องแต่งโดย หลวงบุณยมานพพานิช (อรุณ บุณยมานพ) กำกับการแสดงโดย หลวงอนุรักษ์รถการ (เปล่ง สุขวิริยะ) ถ่ายภาพโดยหลวงกลการเจนจิต ผู้แสดงเป็นพระเอกคือ มานพ ประภารักษ์ ซึ่งคัดมาจากผู้สมัครทางหน้าหนังสือพิมพ์ ม.ล. สุดจิตร์ อิศรางกูร นางเอกละครร้องและละครรำมีชื่ออยู่ในขณะนั้น หลวงภรตกรรมโกศล ตัวโกงจากเรื่อง นางสาวสุวรรณ แสดงเป็นผู้ร้าย [11] ภาพยนตร์ออกฉายเป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ที่มีมหาชนไปดูกันมากที่สุด ได้การยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย[2] อีกเดือนเศษต่อมา บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย จึงสร้างหนังของตนเรื่อง ไม่คิดเลย สำเร็จออกฉายในเดือนกันยายนปีนั้น

ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องต่างเป็นภาพยนตร์เงียบที่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้น ทั้งสองบริษัทได้พยายามสร้างภาพยนตร์เรื่องต่อ ๆ มา และมีผู้สร้างภาพยนตร์รายใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดารายอดนิยมที่มีชื่อเสียงในยุคบุกเบิกนี้ คือ แม่น ชลานุเคราะห์ และ แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี (พระเอกหนังบู๊คนแรกของไทย) ปี พ.ศ. 2470 เป็นปีที่เริ่มยุคหนังเสียง ที่เรียกว่า ภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม (sound on film) หรือ ภาพยนตร์พูดได้ (talkie) ของฮอลลีวู้ด ปี พ.ศ. 2471 ก็เริ่มมีผู้นำอุปกรณ์และภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเข้ามาฉายในกรุงเทพ[8]

ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก โดยพี่น้องวสุวัต ประเดิมถ่ายทำได้แก่ภาพยนตร์ข่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จนิวัต พระนคร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉาย สู่สาธารณะที่ โรงภาพยนตร์พัฒนากร ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ได้รับความชื่นชม ต่อมา พี่น้องวสุวัต ซึ่งขณะนั้นเรียกชื่อ กิจการสร้างภาพยนตร์ของพวกตน เป็นทางการว่า บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

ภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง ถือเป็นภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก ฉายในช่วงวันขึ้นปีใหม่ เดือนเมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งพิเศษกว่าทุกปีเพราะเป็นปีที่รัฐบาลจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศจะเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงมากกว่าปรกติ ภาพยนตร์เสียงเรื่อง หลงทาง จึงประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง[2]

ยุคนี้จัดว่าเป็นยุคทองยุคหนึ่งของวงการหนังไทย เพราะบริษัทเสียงศรีกรุงสร้างหนังตามที่เห็นว่าเหมาะสม และยังได้พัฒนาการสร้างหนังอยู่ตลอดเวลา หนังของบริษัทนี้ได้รับการต้อนรับในทุกแห่ง ยังเป็นที่กำเนิดของดาราคู่แรกของ วงการภาพยนตร์ไทย คือ จำรัส สุวคนธ์ และ มานี สุมนนัฎ[12] และยังเกิดบริษัทคู่แข่งอย่าง บริษัทไทยฟิล์มของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ,พจน์ สารสิน ,หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ,ประสาท สุขุม และ ชาญ บุนนาค

ภาพยนตร์เงียบค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไปและถูกแทนที่โดยภาพยนตร์เสียง ภาพยนตร์นำเข้าหลายเรื่องไม่มีบรรยายไทยจึงจำเป็นต้องพากย์เสียงบรรยาย นักพากย์ที่มีชื่อเสียง คือ ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง)

ต่อมา ทิดเขียวก็ได้ผันตัวเองไปเป็นนักพากย์หนังพูดด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทิดเขียวทดลองพากย์เป็นภาพยนตร์อินเดีย เรื่อง อาบูหะซัน[13] ด้วยความคึกคักของกิจการภาพยนตร์ต่างประเทศพากย์ไทย ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยบางรายซึ่งไม่มีทุนรอนมากนักเริ่มมองเห็นทางที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องลงทุนมากมายวิธีดังกล่าวคือ ลงมือถ่ายทำโดยไม่บันทึกเสียงเช่นเดียวกับภาพยนตร์เงียบ หลังจากนั้น จึงเชิญนักพากย์ฝีมือดีมาบรรเลงเพลงพากย์ในภายหลัง ผู้ที่เริ่มบุกเบิกวิธีดังกล่าว คือ บริษัทสร้างภาพยนตร์ 2 ราย ได้แก่ บริษัทบูรพาภาพยนตร์ และบริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ ซึ่งได้ทดลองสร้างหนังเรื่อง อำนาจความรัก และ สาวเครือฟ้า ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมอย่างดียิ่ง จึงทำให้เกิดผู้สร้างรายเล็กรายใหญ่ตามมาหลายราย[2]

ในช่วงปี พ.ศ. 2483 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. ผู้สร้างหนังในประเทศไทยจึงหันมาใช้ฟิล์มขนาด 16 มม. แทนฟิล์มขนาด 35 มม. กิจการหนังพากย์สามารถยืนหยัดจนผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ด้วยการหันมาใช้ฟิล์ม 16 มม. ซึ่งยังพอหาได้จากท้องตลาด ดังนั้น ตลอดเวลาที่เกิดสงครามจึงมีหนังพากย์ 16 มม. ออกฉายโดยตลอดแม้จะไม่ต่อเนื่องก็ตาม[2]

ในช่วงสงคราม ผู้สร้างหนังหลายรายสามารถสร้างหนังออกมาได้เรื่อย ๆ การสร้างหนังไปหยุดชะงักลงอย่างถาวรก็ในช่วงปลาย ๆ สงคราม ทั้งนี้เพราะในช่วงเวลานั้น กรุงเทพถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ไฟฟ้าดับอยู่เสมอ โรงหนังหลายโรงจึงต้องปิดกิจการชั่วคราว[14]

ภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. (2490 - 2515)

[แก้]
ภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง นำแสดงโดย พระนางคู่ขวัญ 'มิตร-เพชรา'

ผู้สร้างหนังไทยหันมานิยมสร้างด้วยฟิล์ม 16 มิลลิเมตร แทน 35 มิลลิเมตร ที่เคยสร้าง ภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ละออ ทิพยวงศ์ สอางค์ ทิพยทัศน์ ประชุม จุลละภมร และเกื้อกูล อารีมิตร ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำชมเชย[15]

การสร้างภาพยนตร์ไทยในระบบ 16 มม. ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. จะไม่จัดว่าได้มาตรฐาน แต่การถ่ายทำสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถล้างฟิล์มแล้วนำออกฉายได้เลยแล้ว อีกทั้งต้นทุนต่ำกว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบ 35 มม. และสามารถกอบโกยกำไรได้อย่างงดงาม จึงเป็นแรงจูงใจให้มีนักสร้างภาพยนตร์มือสมัครเล่น กระโดดเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างกันมาก โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2500-2515 [16] ช่วงเวลา 15 ปีเต็มอันเป็นช่วงรุ่งเรือง ของภาพยนตร์ไทยในระบบ 16 มม. นี้ แต่ก็เป็นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และในบางครั้งภาพยนตร์เหล่านี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันจนดูเป็นสูตรสำเร็จ ที่เน้นความเพลิดเพลินเพื่อนำคนดูออกจากโลกแห่งความจริงเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะต้องมีครบรสทั้งตลก ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา บู๊ล้างผลาญรวมไปถึงโป๊บ้างในบางฉาก เรื่องราวมักเป็นแบบสุขนาฏกรรมและจบลงด้วยธรรมะชนะอธรรมเสมอ

ปัจจัยสำคัญของภาพยนตร์ยุคนี้ คือ ดาราในยุคนั้น มิตร ชัยบัญชาได้เล่นหนังเป็นพระเอกมาแล้วถึง 300 เรื่อง [17] ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีดาราหญิงอยู่กลุ่มหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอันดับดารายอดนิยม นับตั้งแต่วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อมรา อัศวนนท์ และ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ทั้งนี้ ก่อนปี พ.ศ. 2502 คู่พระ-คู่นางที่ผูกขาดวงการภาพยนตร์ไทยก็ยังไม่ปรากฏ มีเพียงกลุ่มนักแสดงชั้นนำที่คนดูให้การยอมรับหรือชื่นชมเท่านั้น จนมาในปี พ.ศ. 2505-2513 พระเอก-นางเอก ของวงการภาพยนตร์ไทยจึงได้ถูกผูกขาดโดย 'มิตร-เพชรา'[16]

ระบบการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ยุคนั้น ตัวแสดงพูดไปตามบทโดยไม่มีการบันทึกเสียง นักพากย์จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกับคนดูได้ ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงให้ผู้ชมมาชมภาพยนตร์ ในช่วงเวลานั้นนักพากย์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ได้แก่ รุจิรา-มารศรี พันคำ (พร้อมสิน สีบุญเรื่อง) เสน่ห์ โกมารชุน จุรี โอศิริ สีเทา สมพงษ์ วงศ์รักไทย ฯลฯ

ภาพยนตร์ไทยกับการสะท้อนภาพสังคม (2516 - 2529)

[แก้]

ในภาวะที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เป็นต้นมาจนถึงราวปี พ.ศ. 2529 มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมือง และสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2529 โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2521-2525 นั้น เป็นช่วงที่หนังสะท้อนสังคมโดดเด่นที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือยุคทองของหนังสะท้อนสังคม[18]

ภาพยนตร์เรื่องเขาชื่อกานต์ นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์ และภิญโญ ทองเจือ

เมื่อ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2513 และส่งผลให้หนัง 16 มม. ถึงจุดจบตามไปด้วย เป็นช่วงเวลาที่กิจการสร้างหนังไทยกำลังเปลี่ยนทั้งระบบ จากการสร้างภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร พากย์สด ไปเป็นการสร้างภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม อันเป็นผลจากการตั้งเงื่อนไขในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของรัฐบาล[8] ในช่วงนั้นได้มีผู้กำกับหัวก้าวหน้าอย่างเปี๊ยก โปสเตอร์ ที่สร้าง โทน ด้วยระบบ 35 มม. แม้ว่าเนื้อหาจะเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ทว่าแฝงแรงบันดาลใจให้คนหลายคน โดยเฉพาะ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย และสักกะ จารุจินดา ทำหนังเชิงวิพากษ์สังคมก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16

ภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ มีปัญหากับเซ็นเซอร์ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาพูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรง[19] ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง[20] ในระยะไล่เลี่ยกัน สักกะ จารุจินดา ได้นำ ตลาดพรหมจารี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากทั้งนักวิจารณ์และคนดู[18]

ในภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงแรม ได้มีภาพส่วนหนึ่งเป็นภาพเหตุการณ์จริงในการเดินขบวน เมื่อเข้าฉายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 เทพธิดาโรงแรม ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หลังจากนั้น ท่านมุ้ยได้สร้างหนังออกมาอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นหนังรักและหนังวิพากษ์สังคม อย่างเช่น เทวดาเดินดิน เป็นหนังอีกเรื่องที่เรียกได้ว่าสร้างขึ้นมาด้วยเจตจำนงที่จะวิพากษ์วิจารณ์สังคมเมื่อประชาธิปไตยเบ่งบานจนเฟ้อ หลังจากโศกนาฏกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านไป บ้านเมืองกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง เมื่อ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี บ้านเมืองไม่ผิดแผกจากยุคเผด็จการทหาร คนทำหนังส่วนใหญ่จึงต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ผู้สร้างหนังจำต้องยุติบทบาททางการเมืองของตนเองลงโดยปริยาย หนังที่ผลิตออกมาในช่วงนี้กลับสู่ความบันเทิงเต็มรูปแบบอีกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นหนังตลกที่ครองตลาด ไม่ว่าจะเป็น รักอุตลุด หรือ เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง ของสมพงษ์ ตรีบุปผา[18]

ในสมัยรัฐบาลธานินทร์ มีมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ จากเมตรละ 2.20 บาท เป็นเมตรละ 30 บาท ส่งผลทำให้ผู้สั่งหนังเทศต้องชะลอการสั่งหนังลงชั่วคราว ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้สร้างหนังไทยได้รับความคึกคักขึ้น ในช่วงเวลานี้เองมีการผลิตหนังไทยเพิ่มถึงปีละ 160 เรื่อง

ปี พ.ศ. 2521-2523 หนังสะท้อนสังคมโดยกลุ่มผู้สร้างที่เป็นคลื่นลูกใหม่ได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างมากมาย อาทิ ครูบ้านนอก เทพธิดาบาร์ 21 น้ำค้างหยดเดียว เมืองขอทาน ฯลฯ ในจำนวนนี้ ครูบ้านนอก ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด แม้กลุ่มนักแสดงจะเป็นคนหน้าใหม่แทบทั้งสิ้น

ภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ (2530 - 2539)

[แก้]
ภาพยนตร์เรื่องบ้านผีปอบ

ในช่วงต้นทศวรรษ วัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของคนทำหนังไทยตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2531-2532 หลังความสำเร็จของ ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย, ปลื้ม ,ฉลุย และบุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. 2531) เรื่องหลังเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับรุ่นเดียวกับยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ บัณฑิตก็กลายเป็นคนทำหนังร่วมสมัยที่มีหนังทำเงินและหนังคุณภาพมากที่สุด ระหว่างปี 2531-2538 บัณฑิตทำหนังชุดบุญชูถึง 6 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2534 ไทเอนเตอร์เทนเมนท์ ประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เรื่อง กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้

นอกจากหนังประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ (เป็นแนวพิเศษที่แยกออกมาจากหนังชีวิต นิยมสร้างกันในช่วงปี พ.ศ. 2532-2535 โดยมีตลาดวิดีโอเป็นเป้าหมายหลัก) ส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี หรือ หนังลงทุนต่ำของผู้สร้างรายเล็ก ๆ หนังที่โดดเด่นในบรรดาหนังเกรดบี คือ หนังผีในชุดบ้านผีปอบ ซึ่งสร้างติดต่อกันมากว่า 10 ภาคในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2537 เหตุเพราะเป็นหนังลงทุนต่ำที่ทำกำไรดี โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด

ในช่วงปลายทศวรรษ คนทำหนังไทยได้ปรับปรุงคุณภาพของงานสร้าง จนกระทั่งหนังไทยชั้นดีมีรูปลักษณ์ไม่ห่างจากหนังระดับมาตรฐานของฮ่องกง หรือ ฮอลลีวูดแต่จำนวนการสร้างหนังก็ลดลง จากที่เคยออกฉายมากกว่า 100 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2533 ลดลงเหลือเพียงราว 30 เรื่องในปี พ.ศ. 2539 ทางด้านรายได้ จากเพดานรายได้ จากระดับ 20-30 ล้านบาท (ต่อเรื่อง) ในระหว่างปี 2531-2534 สู่ระดับ 50- 70 ล้านบาท ในระหว่างปี 2537-2540 แต่ยังห่างจากความสำเร็จของหนังฮอลลีวูดที่พุ่งผ่าน 100 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539

การเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทยนั้น มีผลจากการเติบโตของตลาดวิดีโอ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของหนังฮอลลีวูดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบโรงหนังในกรุงเทพฯ สู่ระบบมัลติเพล็กซ์ ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2537 โรงหนังขนาดย่อยในห้างที่มีระบบเสียงและระบบการฉายทันสมัยเหล่านี้ นอกจากจะถูกสร้างให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนเมืองแล้ว ยังมุ่งรองรับหนังฮอลลีวูดเป็นหลัก ทำให้หนังไทยถูกลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ[21]

ภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน

[แก้]
2499 อันธพาลครองเมือง

เมื่อเริ่มต้นทศวรรษใหม่ในปีพ.ศ. 2540 ก็มีปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการหนังไทยอีกครั้ง นั่นคือความสำเร็จชนิดทำลายสถิติหนังไทยทุกเรื่อง ด้วยรายได้มากกว่า 75 ล้านบาทจากหนังของไทเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2548 ทางด้านการทำรายได้มีการสร้างสถิติอย่างต่อเนื่อง ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล 20 อันดับแรกล้วนอยู่ในช่วง ปี 2540 – 2548 มีภาพยนตร์ไทย 9 เรื่องสามารถทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท โดยภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท (2544) รายได้ภายในประเทศกว่า 550 ล้านบาท[22] เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด นางนาก ที่ออกฉายต้นปี 2542 กวาดรายได้ไปถึง 149.6 ล้านบาท บางระจัน ของ ธนิตย์ จิตต์นุกูล กวาดรายได้ 151 ล้าน มือปืน/โลก/พระ/จัน ของผู้กำกับฯ ยุทธเลิศ สิปปภาค 123 ล้าน และ สตรีเหล็ก ของ ยงยุทธ ทองกองทุน 98.7 ล้าน ในปี 2544 ถือเป็นปีทองที่น่าจดจำของวงการภาพยนตร์ไทย[23]

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกำลังเข้าไปสู่ยุคการแข่งขันที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นเป็นเพราะกระแสโลกที่เป็นตัวกำหนดรสนิยมของการดูภาพยนตร์ของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป พร้อม ๆ กับการเข้ามาของกลุ่มผู้กำกับฯ คลื่นลูกใหม่ ที่มีศิลปะในการจัดการทางด้านธุรกิจ การใช้สื่อโฆษณาทุกรูปแบบกระตุ้นผู้บริโภค

แนวภาพยนตร์ มีทั้งแนวอิงประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ตลก ภาพยนตร์สยองขวัญ ภาพยนตร์ที่สร้างให้เกิดกระแสสังคม ภาพยนตร์ที่สะท้อนอุดมคติของความเป็นไทย ภายหลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ผู้คนเริ่มหันกลับมาค้นหาคุณค่าของความเป็นไทยด้วยความรู้สึกชาตินิยมจึงถูกปลุกขึ้นมาในช่วงนี้[24]

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ไทยยังได้การยอมรับในต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่องต้มยำกุ้ง หรือ The Protector ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถขึ้นไปอยู่บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิส[25] ภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้ตีตลาดต่างประเทศ อย่างภาพยนตร์เรื่อง Goal Club เกมล้มโต๊ะ, สุริโยไท, จัน ดารา, บางระจัน, ขวัญเรียม, นางนาก, สตรีเหล็ก, ฟ้าทะลายโจร, บางกอกแดนเจอรัส และ 14 ตุลา สงครามประชาชน และมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่เป็นที่ยอมรับในเทศกาลภาพยนตร์อย่าง บางกอกแดนเจอรัส (2543) ไปเปิดตัวที่งานเทศกาลหนังที่โทรอนโต หรือ เรื่องรักน้อยนิดมหาศาล ของเป็นเอก รัตนเรือง[26] และในปี 2550 ภาพยนตร์ในรูปแบบชายรักชายเรื่อง เพื่อน...กูรักมึงว่ะ โดยผู้กำกับ พจน์ อานนท์ คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ประเทศเบลเยียมมาได้[27]

ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2556 ปัจจุบันเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดในประเทศ โดยทางจีทีเอช ผู้ผลิต ประมาณว่าภาพยนตร์ทำรายได้ทั่วประเทศ 1,000 ล้านบาท[28] (เฉพาะกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดเชียงใหม่ 568.55 ล้านบาท)

ประเภทของภาพยนตร์ไทย

[แก้]
องค์บาก

หนัง​บู๊-หนังต่อสู้

[แก้]

ภาพยนตร์แนวต่อสู้หรือ หนังบู๊​แอคชั่น เป็นภาพยนตร์แนวที่โดดเด่นที่สุดแนวหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์ไทย เมื่อมิตร ชัยบัญชาและสมบัติ เมทะนีได้แสดงเป็นพระเอกในภาพยนตร์แนวนี้อยู่หลายร้อยเรื่อง[29] ซึ่งในยุคนี้จะมีสูตรสำเร็จประการหนึ่ง ที่ได้รับการขนานนามว่า "ระเบิดภูเขา เผากระท่อม" เช่น ผลงานของฉลอง ภักดีวิจิตร[30] ในปัจจุบัน มีนักแสดงภาพยนตร์แอคชั่นอย่าง ทัชชกร ยีรัมย์ โด่งดังถึงขนาดถูกยกเปรียบเทียบกับนักแสดงภาพยนตร์แอคชั่นระดับโลก เช่น “บรู๊ซ ลี” และ “เฉินหลง” จากบทบาทความความสำเร็จใน “องค์บาก” มาสู่ “ต้มยำกุ้ง” การแสดงของทัชชกร ไม่ใช้สลิง และไม่ใช้ตัวแสดงแทน[31] ภาพยนตร์ของทัชชกร ได้รับการยอมรับในวงการภาพยนตร์ต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เกิดมาลุย ภาพยนตร์แอคชั่นในการกำกับการแสดงของ พันนา ฤทธิไกร ซึ่งการต่อสู้ได้รูปแบบมาจากกังฟู ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการการต่อสู้ระดับโลก และได้เพิ่มเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อย่างมวยไทยลงไปด้วย [32]

ยังมีภาพยนตร์ต่อสู้ที่สอดแทรกความตลกขบขันอย่างภาพยนตร์เรื่อง มือปืนโลก/พระ/จัน ในปี พ.ศ. 2544 กำกับโดย ยุทธเลิศ สิปปภาค[33] ฯลฯ

ภาพยนตร์การ์ตูน

[แก้]

ภาพยนตร์การ์ตูนไทย เกิดขึ้นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บุคคลที่ถือว่ามีบทบาทต่อวงการการ์ตูนไทย คือ ปยุต เงากระจ่าง ภาพยนตร์การ์ตูนไทยสำเร็จเรื่องแรก ชื่อ เหตุมหัศจรรย์ เป็นภาพยนตร์การ์ตูน ขนาดสั้น ความยาว 12 นาที นำออกฉายเป็นรายการพิเศษสำหรับสื่อมวลชนและผู้ชมเฉพาะ ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย [34] ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงได้รับการนำออกฉายสู่สาธารณชน ประกอบในรายการฉาย ภาพยนตร์เรื่อง ทุรบุรุษทุย ต่อมา ปยุตได้สร้างภาพยนตร์การ์ตูน 20 นาที อีก 2 เรื่อง ได้แก่ หนุมานเผชิญภัย (ครั้งใหม่) (2500) ของสำนักข่าวสารอเมริกัน และ เด็กกับหมี (2503) ขององค์การ สปอ. และภาพยนตร์การ์ตูนขนาดยาว เรื่องแรกของประเทศไทย เรื่อง "สุดสาคร" ใช้เวลาการทำงานร่วม 2 ปี สุดสาครภาพยนตร์การ์ตูน ขนาดยาวเรื่องแรกฉาย ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2522[35]

ในปี พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่องก้านกล้วย ใช้ทุนสร้างกว่า 150 ล้านบาท โดยการจับมือของสองบริษัทใหญ่ คือ บริษัท สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท กันตนาแอนนิเมชั่น จำกัด ก้านกล้วย เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติ (3D) โดยทีมงาน คมภิญญ์ เข็มกำเนิด ซึ่งเคยสร้างผลงานในการ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อดังของ วอลต์ ดิสนีย์ และ บลูสกาย สตูดิโอ อย่าง Tarzan, Ice Age และ Atlantis[36] ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ 98 ล้านบาท[37]

ตลก

[แก้]
พี่มาก..พระโขนง ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย

ไม่ว่าภาพยนตร์ประเภทไหนของหนังไทย ไม่ว่าจะเป็น แอคชั่น สยองขวัญ หรือหนังรัก ก็จะสอดแทรกความตลกเป็นส่วนประกอบด้วย

หนังตลกในอดีตที่โด่งดัง เช่นเรื่อง เงิน เงิน เงิน ในปี พ.ศ. 2508 พระเอกนางเอกมิตร-เพชราเรียกแฟนถล่มทลาย ทำรายได้มากเป็นประวัติการณ์[38] ส่วนดาราตลกที่มีชื่อเสียง อย่าง ล้อต๊อก ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี “ตุ๊กตาทอง” 2 เรื่อง คือ จากเรื่อง โกฮับ และเรื่อง หลวงตา นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำจากเรื่อง เงิน เงิน เงิน[39](สร้างครั้งที่ 2 พ.ศ. 2526)

ภาพยนตร์เรื่องราวที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตนักศึกษา นักเรียนที่มีเนื้อหาสนุกสนาน เฮฮา ก็ได้รับความนิยม อย่างภาพยนตร์เรื่องบุญชู หรือ กลิ่นสีและกาวแป้ง สร้างขึ้นในปี 2531 [40] ส่วนหนังตลกในปัจจุบันมีมากมายและสามารถทำรายได้ดี ไม่ว่าจะเป็น มือปืนโลก/ พระ/ จัน, หลวงพี่เท่ง, สตรีเหล็ก, บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม, พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า และ ATM เออรัก เออเร่อ เป็นต้น [41]

ในปี พ.ศ. 2556 ภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของแม่นากพระโขนง ผีพื้นบ้านไทย ทีมีเนื้อหาผี รักใคร่ และตลก สร้างโดย จีทีเอช ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ สามารถทำรายได้ถึง 568.55 ล้านบาท มีรายได้สะสมมากกว่าภาพยนตร์เรื่อง ATM เออรัก เออเร่อ (150.11 ล้านบาท) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ค่ายเดียวกัน จึงนับเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรายได้มากที่สุดของจีทีเอช และเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ในประเทศสูงสุด[42][43]

อิงประวัติศาสตร์

[แก้]
สุริโยไท

เป็นอีกประเภทของภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท ภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างสูงถึง 400 ล้านบาท ใช้เวลาการถ่ายทำ 2 ปี เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ที่เสนอเรื่องราวของประเทศไทยสมัยอยุธยา ช่วง พ.ศ. 2069 – 2092[44] ภาพยนตร์เรื่อง บางระจัน เรื่องราวเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2308 ณ หมู่บ้านบางระจัน กำกับภาพยนตร์โดย ธนิตย์ จิตนุกูล [45] ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้สูงสุดในปี พ.ศ. 2543[46]

โหมโรง เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบัลดาลใจจาก หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ท่านเป็นบรมครูทางด้านดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ 8 โดยตัวละครจะดำเนินเรื่องในยุคสมัยรัชกาลที่ 8[47] อีกภาพยนตร์ทุนสร้างสูงของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล คือ ภาพยนตร์สัปตภาคเรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ใช้เวลาค้นคว้าในสถานที่จริงกว่า 6 ปี รวมการถ่ายทำอีกกว่า 3 ปี[48]

รักร่วมเพศ

[แก้]

เกย์และกะเทยมักมีบทบาทในภาพยนตร์ไทยอยู่หลายครั้ง และได้พัฒนามาเป็นตัวละครหลักของภาพยนตร์ ในปี พ.ศ. 2529 ภาพยนตร์เรื่อง ฉันผู้ชายนะยะ ภาพยนตร์ที่สร้างมาจากละครเวทีของ อาจารย์เสรี วงศ์มณฑา สะท้อนถึงกาลเวลาที่สังคมไทยยอมรับการเปิดเผยเรื่องลักเพศอย่างตรงไปตรงมา เป็นภาพยนตร์ชีวิต และภาพยนตร์ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ประเภทนี้ คือ เพลงสุดท้าย โดยผู้กำกับ พิศาล อัครเศรณี ภาคที่ 1 และภาคที่ 2 ในปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529 ตามลำดับ เป็นภาพยนตร์ที่ได้นำเรื่องราวของสาวประเภทสองคณะโชว์คาบาเร่ต์ เมืองพัทยามาสร้างเป็นภาพยนตร์[49] และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ก็ถูกนำมาสร้างใหม่อีกครั้ง

จนกระทั่งปี 2543 ภาพยนตร์โดยผู้กำกับ ยงยุทธ ทองกองทุน เรื่องสตรีเหล็ก ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลชาย จากลำปาง ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จด้วยรายได้ 98.7 ล้านบาท และได้สร้างภาคต่อในภาคสองก็ทำรายได้อีก 71.2 ล้านบาท

สตรีเหล็กได้นำทางให้กับหนังประเภทนี้ตามกันมาอย่าง พรางชมพู กะเทยประจัญบาน, ปล้นนะยะ, ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก, บิวตี้ฟูล บ๊อกเซอร์, Go Six: โกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน ตอแหล, หอแต๋วแตก เป็นต้น[50]

สยองขวัญ

[แก้]

บ้านผีปอบ ภาพยนตร์ที่ถูกสร้างภาคต่อเกือบ 20 เรื่องแล้ว และยังมีในชื่ออื่น ๆ ซึ่งเนื้อหาคล้ายกันอีกเกือบ 10 เรื่อง[51] ในปี 2542 ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก ของ นนทรีย์ นิมิบุตร ทำรายได้ 149.6 ล้านบาท และได้สร้างกระแสให้กับหนังประเภทนี้[52] ซึ่งต่อมาได้ก่อให้เกิดหนังประเภทนี้ตามมาอีกมากมาย เฉพาะในปี 2549 มีภาพยนตร์ประเภทนี้ถึง 14 เรื่อง จาก 42 เรื่องของทั้งปี[53]

ภาพยนตร์เรื่อง ผีสามบาท นับเป็นภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญเรื่องแรกที่แบ่งเนื้อหาในเรื่องออกเป็นตอน ๆ ซึ่งต่อมาในภายหลังได้มีภาพยนตร์ไทยในแนวเดียวกันนี้อีกหลายเรื่อง อาทิ อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (พ.ศ. 2545), หลอน (พ.ศ. 2546), สี่แพร่ง (พ.ศ. 2551), ห้าแพร่ง (พ.ศ. 2552), ตายโหง (พ.ศ. 2553) เป็นต้น

มีภาพยนตร์สยองขวัญหลายเรื่องที่สอดแทรกความตลก ขำขันไว้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง บุปผาราตรี โดยยุทธเลิศ สิปปภาค ที่ออกฉายในเทศกาลหนังนานาชาติที่โทรอนโต และภาพยนตร์เรื่อง กระสือวาเลนไทน์ เป็นต้น รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง พี่มาก..พระโขนง ที่ดัดแปลงจากผีพื้นบ้านไทยเรื่อง แม่นากพระโขนง

ภาพยนตร์เพลง

[แก้]
มนต์รักทรานซิสเตอร์

ปี พ.ศ. 2513 ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ของ "ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์" ที่นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์ เป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่งที่สมบูรณ์ และโด่งดังมากในสมัยนั้น ร่วมเพลงลูกทุ่งถึง 14 เพลง เช่น เพลง มนต์รักลูกทุ่ง, รักร้าวน้องช้ำ, แม่ร้อยใจ, สิบหมื่น โดยมีนักร้องลูกทุ่งร่วมแสดงหลายคนด้วยกัน อาทิ ไพรวัลย์ ลูกเพชร, บรรจบ เจริญพร, ศรีไพร ใจพระ และบุปผา สายชล และพรไพร เพชรดำเนิน[54] ภาพยนตร์ทำรายได้ 6 ล้านกว่าบาทในสมัยนั้น และยังยืนโรงฉายได้นานกว่า 6 เดือน[55]

ภาพยนตร์ของดอกดิน กัญญามาลย์ในปี พ.ศ. 2514 เรื่องไอ้ทุย นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และ เพชรา เชาวราษฏร์ ก็เป็นภาพยนตร์เพลงจากกระแสเพลงลูกทุ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น[56]

ในปี 2544 ภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ กำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง เป็นภาพยนตร์เพลงที่ไปคว้ารางวัลเทรดวินส์ อวอร์ดจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซีแอตเติล ครั้งที่ 28 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา[57] ปีถัดมา ก็ได้มีภาพยนตร์ทำนองนี้ในเรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม (พ.ศ. 2545)

ภาพยนตร์ชีวิต

[แก้]

ในปี 2520 ภาพยนตร์ที่ได้สร้างความซาบซึ้งตรึงใจให้กับผู้ชม ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี ที่สร้างขึ้นจากบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างสถิติทางด้านรายได้ ยอดคนดู ระยะเวลาที่ยืนโรงฉาย ฯลฯ ด้วยสโลแกนที่วางคู่มากับตัวหนังว่า 'เราจักสำแดงความเป็นไทยต่อโลก' และยังได้รับรางวัลจากต่างประเทศอีกด้วย

พ.ศ. 2522 บ้านทรายทอง ภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมจากปลายปากกาของ ก.สุรางคนางค์ เป็นเรื่องราวของ "พจมาน" เด็กสาวผู้มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีและชาติกำเนิดของตน แม้จะเป็นเพียงสามัญชนคนธรรมดาก็ตาม ได้ไปอาศัยอยู่กับครอบครัวหม่อมพรรณราย วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง และเมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2522 นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ ก็สามารถทำรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับค่าเงินในสมัยนี้ก็คงอยู่ราว ๆ 200 ล้านบาท[58]

พ.ศ. 2546 ภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กของตัวละครเอก ได้สร้างความประทับใจให้กับกลุ่มคนดูทุกรุ่น ตั้งแต่เด็กไปจนถึงกลุ่มคนวัยทำงาน และผู้ใหญ่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ด้วยสถิติ 137 ล้านบาท จาก งบการสร้าง 30 ล้าน[59]

ภาพยนตร์ชีวิตเรื่อง รักแห่งสยาม ภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2550 กำกับโดยชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ความยาวกว่าสองชั่วโมงครึ่ง เป็นหนังรักหลายรูปแบบที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัวที่มีปัญหาหนัก[60] ซึ่งหนังเรื่องนี้หลังออกฉายได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งตามเว็บบอร์ด[61] รวมถึงกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งแง่บวกและแง่ลบ[60]

วัยรุ่น

[แก้]

ภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จ คือ ภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน ที่สร้างในปี พ.ศ. 2519 ของผู้กำกับภาพยนตร์เปี๊ยก โปสเตอร์ นำแสดงโดยไพโรจน์ สังวริบุตร และ ลลนา สุลาวัลย์[62] ทำรายได้ร่วม ทำเงินมากมาย 6-7 ล้านบาท และสร้างภาคต่อ ภาค 2 (รักอุตลุด) และภาค 3 (ชื่นชุลมุน) และ ภาคที่ 4 (ตั้ม-โอ๋ รีเทิร์น) ในปี พ.ศ. 2548

กลางปี พ.ศ. 2534 กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ ผลงานกำกับภาพยนตร์ของ คิง-สมจริง ศรีสุภาพ นำแสดงโดย มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ และ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นที่โด่งดังมาก สร้างสถิติภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงที่สุดในประวัติศาตร์ในเวลานั้น โดยเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้เกิน 25 ล้านบาท[63] และยังเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ มอส ปฏิภาณ และ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง ซึ่งแจ้งเกิดพวกเขาในวงการบันเทิง และปลุกกระแสภาพยนตร์วัยรุ่นให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ในระยะปี พ.ศ. 2535 ภาพยนตร์ไทยประเภทวัยรุ่น ได้รับการต้อนรับจากแฟนภาพยนตร์วัยรุ่น ทำให้เกิดกระแสผลิตภาพยนตร์วัยรุ่นต่อเนื่องกันอยู่หลายปี ผู้ชมภาพยนตร์ไทยมีแต่เด็กวัยรุ่นระดับนักเรียน[8] เช่น โจ๋ไม่โจ๋หัวใจให้โจ๋ รองต๊ะแล่บแปล๊บ สะแด่วแห้ว เป็นต้น ซึ่งในยุคนี้ภาพยนตร์ไทยในแนวนี้ได้รับการวิจารณ์ว่า ทำให้ภาษาไทยเสื่อมเสียเพราะมักจะตั้งชื่อที่เป็นศัพท์สแลงหรือภาษาเฉพาะวัยรุ่นไม่มีในหลักการใช้ภาษา

ในปี พ.ศ. 2549 ภาพยนตร์เรื่อง Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เป็นภาพยนตร์วัยรุ่น กำกับโดย นิธิวัฒน์ ธราธร มีกระแสตอบรับที่ดี ทั้งรายได้และรางวัล โดยกวาดรายได้ไปประมาณ 70 ล้านบาท และอีก 3 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี[64] รวมถึงสาขารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

วิทยาศาสตร์

[แก้]
2022 สึนามิ วันโลกสังหาร

ภาพยนตร์ไทยในแนววิทยาศาสตร์หรือที่นิยมเรียกว่าไซไฟนั้น เมื่อเทียบกับในแนวอื่น ๆ นั้นจัดว่ามีอยู่ไม่มากนัก สำหรับแรกเรื่อง ๆ ของภาพยนตร์ไทยที่นับได้ว่าอยู่ในแนวนี้ ได้แก่ มันมากับความมืด ในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล และเป็นบทบาทการแสดงนำครั้งแรกของ สรพงษ์ ชาตรี นักแสดงคู่บารมีของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ที่ภายหลังได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2551 ด้วย[65]

สำหรับเรื่องอื่น ๆ ในแนววิทยาศาสตร์ ก็ได้แก่ กาเหว่าที่บางเพลง ในปี พ.ศ. 2538 ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน ในปี พ.ศ. 2542, ปักษาวายุ, สุริยะฆาต และ อมนุษย์ ในปี พ.ศ. 2547[66]

ในปี พ.ศ. 2552 2022 สึนามิ วันโลกสังหาร จากการอำนวยการสร้างและกำกับของ ทรนง ศรีเชื้อ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคลื่นสึนามิที่ถล่มกรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งใช้เงินทุนสร้างถึง 160 ล้านบาท แต่ทว่าเมื่อเข้าฉายแล้วไม่ประสบความสำเร็จเลยทั้งทางรายได้ โดยทำรายได้ไปเพียงแค่ 3.7 ล้านบาทเท่านั้น และคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทางลบแทบทั้งสิ้น[67]

ฟิล์มนัวร์

[แก้]

ภาพยนตร์ในแบบฟิล์มนัวร์ คือ ภาพยนตร์ที่มีการจัดแสงในโทนต่ำ เนื้อหากล่าวถึงอาชญากรรมและสะท้อนถึงด้านมืดในตัวมนุษย์ โดยมากแล้วจะมีในภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่สำหรับภาพยนตร์ไทยแล้ว มีภาพยนตร์ประเภทนี้น้อยมาก โดยเรื่องแรกที่อาจเรียกได้ว่ามีลักษณะของฟิล์มนัวร์ได้ คือ กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน ในปี พ.ศ. 2534 จากการกำกับของ มานพ อุดมเดช ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย แม้จะไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ จากนั้นจึงทิ้งช่วงไปหลายปี จึงมี ดอกไม้ในทางปืน ในปี พ.ศ. 2542 จากผู้กำกับคนเดียวกัน

ส่วนผลงานเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ ห้องน้ำ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ซีดี จากการผลิตของ อาร์.เอส.ฟิล์ม, จอมขมังเวทย์ ในปี พ.ศ. 2548, เฉือน ในปี พ.ศ. 2552 และ นาคปรก ในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้น[68]

ภาพยนตร์นอกกระแส

[แก้]
แสงศตวรรษ

ภาพยนตร์นอกกระแส (อินดี้) ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์สั้นหรือภาพยนตร์ยาว ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าฉายตามโรงใหญ่ในรอบฉายปรกติเหมือนภาพยนตร์ทั่วไป ด้วยเหตุที่สั้นเกินไป หรือไม่มีจุดขายเพียงพอ แต่มักถูกเรียกว่า หนังที่มีคุณค่ากว่า

ปี พ.ศ. 2527 ผลงานของ ยุทธนา มุกดาสนิท ผีเสื้อและดอกไม้ ก็คว้ารางวัลชนะเลิศในเทศกาลภาพยนตร์ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดในระดับเอเชียแปซิฟิก

หนังนอกกระแสอย่าง สุดเสน่หา หรือ Blissfully Your ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในปี พ.ศ. 2544 เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รางวัล “Un Certain Regard Award” เป็นรางวัลในประเภท "น่าจับตามอง" และ ในปี พ.ศ. 2545 สัตว์ประหลาด เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้ รางวัลจูรีไพรซ์[69] ในสายการเข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำ นับเป็นที่ 3 รองจากรางวัลสูงสุด

ในปี พ.ศ. 2550 ภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คว้ารางวัล 4 รางวัลจากเทศกาลหนัง ทั้งรางวัลลำดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากฮ่องกงฟิล์มอวอร์ด รางวัลภาพยนตร์ที่น่าจับตามองจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากประเทศฝรั่งเศส[70] ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2553 อภิชาติพงศ์ ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ จากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 จากภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ นับเป็นภาพยนตร์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลนี้[71]

ในส่วนของภาพยนตร์สั้น มีการประกวดภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทยเปิดกว้างมากกว่า โดยเป็นการประกวดซึ่งเปิดโอกาสให้กับคนทั่วไปหรือนักเรียนหนังนำผลงานของตนเองส่งเข้าประกวด ไม่จำกัดหัวข้อ และรับผลงานที่เป็นวิดีโอด้วย ซึ่งทำให้ง่ายในขั้นตอนการผลิต มีอิสระทางความคิดและไม่ต้องลงทุนมาก การจัดการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540

จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสนใจจัดฉายหรือประกวดภาพยนตร์สั้นขึ้นมากมาย เช่น งานส่งฝันสู่ฟิล์ม โดยนิตยสารซีนีแมก, ประกวดภาพยนตร์สั้นในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ, ประกวดหัวข้อคนไทยกับสายน้ำในเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย, ประกวดหนังทดลองในเทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ, งานซิตี้ออนเดอะมูฟ, ประกวดหัวข้อ กิน ในงานกินอ่านในย่านแพร่ง, งาน Best 2000 โดยกรมส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น[72]

เทศกาลภาพยนตร์และการแจกรางวัล

[แก้]

เทศกาลภาพยนตร์

[แก้]

เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ (Bangkok Film Festival) เป็นเทศกาลภาพยนตร์แรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ริเริ่มในปี พ.ศ. 2541[73] จัดเป็นประจำทุกปี โดยรวมภาพยนตร์จากนานาชาติและภาพยนตร์ไทย และมีการประกวดภาพยนตร์ของนักทำหนังรุ่นใหม่ ส่วนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ (Bangkok International Film Festival) เริ่มจัดเมื่อปี 2545 จุดเด่นของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพนี้ คือ มีการแจกรางวัลต่าง ๆ[74]

นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ (The World Film Festival of Bangkok) จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 โดยจะจัดในช่วงเดือนตุลาคม ดำเนินการโดยหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยได้รับความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูตต่าง ๆ[75]

การแจกรางวัลภาพยนตร์

[แก้]

ในประเทศไทยได้มีการมอบรางวัลให้แก่บุคคลในวงการผลิตภาพยนตร์ไทย ที่มีผลงานดีเด่นที่สุดในสาขาต่าง ๆ ในแต่ละปี การจัดประกวดรางวัลเพื่อมอบให้แก่บุคคลในวงการภาพยนตร์ไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 สมาคมหอการค้ากรุงเทพ จึงได้จัดการประกวดรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยมขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย โดยได้ตั้งรูปลักษณ์รางวัลไว้ 2 ประเภท คือ รางวัลสำเภาทอง มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม และรางวัลตุ๊กตาทองรูปนางรำ ต่อมามีการออกแบบรางวัลขึ้นใหม่เป็นรูปพระสุรัสวดี จึงเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น รางวัลพระสุรัสวดี จัดได้อยู่ 8 ครั้งแล้วหยุดไป ต่อมาได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2517 โดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย[76]

ในปี พ.ศ. 2522 รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จัดโดยสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย จุดประสงค์ก็ไม่ต่างจากรางวัลแรกอย่างพระสุรัสวดีเท่าใดนัก จนกระทั่งต้องงดจัดไปในปี 2531 หลังจากนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นคุณค่าของภาพยนตร์ที่มีต่อสังคมไทย และเพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี และมีสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติเข้ามาเป็นผู้จัดการประกวด โดยใช้ชื่อว่า "รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ" ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์"[77]

และในปี พ.ศ. 2533 ได้เกิดรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิงโดยมี นคร วีระประวัติ (บรรณาธิการฟลิกส์) เป็นประธานชมรมฯ มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของเหล่านักวิจารณ์บันเทิงไทย โดยรางวัลพระสุรัสวดี (รางวัลตุ๊กตาทอง), รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ถือเป็นรางวัลสำคัญหลัก 3 รางวัลที่มีการจัดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัลที่ริเริ่มจัดแจกในภายหลัง โดยมากมักเป็นรางวัลที่สำนักพิมพ์-นิตยสารภาพยนตร์ต่าง ๆ ตั้งคณะกรรมการของตนขึ้นเพื่อพิจารณารางวัลแก่ภาพยนตร์ไทย หรือเป็นรางวัลที่เกิดจากการการออกเสียงของผู้ชมภาพยนตร์เลือกมอบรางวัลแก่ภาพยนตร์ไทยโดยมีผู้จัดงานเป็นนิตยสารภาพยนตร์หรือเว็บไซต์-เว็บบอร์ดเกี่ยวกับภาพยนตร์ ได้แก่ สตาร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ อวอร์ดส์ (Star Entertainment Awards) ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2545, คมชัดลึก อวอร์ด ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2546, ไบโอสโคป อวอร์ด (Bioscope Awards) ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2546 โดยนิตยสารไบโอสโคป, สตาร์พิคส์ อวอร์ด (Starpics Thai Film Awards) ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2546 โดยนิตยสารสตาร์พิกส์, เฉลิมไทย อวอร์ด (Chalermthai Awards) ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2546 โดยการออกเสียงของสมาชิกเว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com) , รางวัลสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (Thai Film Director Award) ที่เริ่มจัดในปี พ.ศ. 2553 จัดโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ฯลฯ

และยังมีรางวัลเชิดชูเกียรติที่มอบให้กับศิลปินที่ทำงานในวงการภาพยนตร์อย่าง รางวัลศิลปาธร ในสาขาภาพยนตร์[78] และศิลปินแห่งชาติ ในสาขาศิลปะการแสดง

การอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย

[แก้]

100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู

[แก้]

มีหลายหน่วยงาน จัดตั้งอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย เช่น หอภาพยนตร์แห่งชาติ ริเริ่มโครงการ โครงการ 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู เป็นบัญชีภาพยนตร์ที่คนไทยควรดู เพื่อให้เข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคมไทย เข้าใจหนังไทย และชื่นชมหนังไทย ในรอบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา [79]

25 ภาพยนตร์ที่เป็นมรดกของชาติ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2555 กระทรวงวัฒนธรรมได้ขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ไทย 25 เรื่องให้เป็นมรดกของชาติ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทั้งที่เป็นสารคดีและภาพยนตร์การแสดง โดยพิจารณาจากการที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหามาทดแทน มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ มีความสมบูรณ์ครบถ้วนตรงตามต้นฉบับ หรือเป็นภาพยนตร์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสังคม [80] ได้แก่

การเซ็นเซอร์ในภาพยนตร์ไทย

[แก้]

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในประเทศไทย เกี่ยวข้องกับหน่วยงานคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ หรือ กองเซ็นเซอร์ ซึ่งได้ยึดเอาพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473 เป็นบรรทัดฐาน ในมาตรา 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ทำ หรือฉาย หรือแสดง ณ สถานที่มหรสพ ซึ่งภาพยนตร์หรือประกาศกอปรด้วยลักษณะฝ่าฝืน หรืออาจฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ถึงแม้เพียงว่าการทำหรือฉาย หรือการแสดงภาพยนตร์ หรือประกาศนั้น ๆ น่าจะมีผลเช่นว่านั้น ก็ห้ามดุจกัน” [81]

ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเอาแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์จากสหรัฐอเมริกาเข้ามา ก่อให้เกิดการเข้มงวดกวดขันในทุกรูปแบบ รวมทั้งในวงการภาพยนตร์ด้วย เมื่อเข้าสู่ยุคเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก ภาพยนตร์เรื่องใดที่เข้าข่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เช่นภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ โดยการกำกับของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ถูกเชิญให้เข้าชี้แจงต่อจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ว่ามีเจตนาทำลายเสถียรภาพรัฐหรือไม่ อีกทั้งตลาดพรหมจารี ของสักกะ จารุจินดา, เทพธิดาโรงแรม ที่มีฉากหนึ่งจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516[82] ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านพ้น ประชาชนตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตน ขณะเดียวกันสื่อภาพยนตร์ก็สนองตอบต่อบรรยากาศทางสังคมขณะนั้นด้วย โดยสะท้อนออกมาในภาพยนตร์ว่าด้วยเสรีภาพในเรื่องเซ็กซ์อย่างเต็มที่ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง รสสวาท, ตลาดพรหมจารี และ เทพธิดาโรงแรม

การเติบโตของเทคโนโลยีสื่อขนานใหญ่และยากแก่การควบคุมขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการตรา “พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พุทธศักราช 2530” ที่รวมเอาสื่อวีซีดี ดีวีดี วิดีโอเกม เลเซอร์ดิสก์ และซีดีรอมไว้ด้วย[83] ภายใต้คำแถลงของผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรมขณะนั้นที่ว่า “แม้จะได้รับอนุญาตจากกองเซ็นเซอร์ให้สามารถเผยแพร่ได้ ก็ยังมีสิทธิ์ติดคุก หากมีผู้ร้องทุกข์จนเป็นคดีในศาล ว่า ภาพที่ปรากฏเป็นภาพลามกตามกฎหมายอาญา 287“ เป็นผลทำให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” (Self-censorship) ตัวอย่างเช่นในภาพยนตร์ วีซีดี ดีวีดี และโทรทัศน์ เหล่าผู้ประกอบการจำต้องร่วมเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะหวั่นทางเรื่องกฎหมาย

นอกจากการเซ็นเซอร์จะสะท้อนบรรยากาศแห่งยุคสมัยแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรายังได้เห็นการเซ็นเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เป็นต้นว่า สั่งให้เปลี่ยนชื่อเรื่อง (อาจารย์ใหญ่ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ศพ) ให้ถ่ายทำบางฉากใหม่ (องคุลีมาล, หมากเตะรีเทิร์นส) ขึ้นคำเตือน (Invisible waves / ฉากสูบบุหรี่, มนุษย์เหล็กไหล / ฉากเล่นไพ่) ตัดบางฉากออกไป (สุดเสน่หา / ตัดฉากเลิฟซีนของคู่รักวัยทอง) ฯลฯ [84]

5 มีนาคม พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยเนื้อหาโดยรวม ภาครัฐยังคงให้อำนาจ เข้ามาควบคุมจัดการสื่อภาพยนตร์ไม่ต่างจาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเรียกร้องของคนในอุตสาหกรรมหนังไทย และวิพากษ์วิจารณ์ตลอดปี 2550 ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการเซ็นเซอร์จัดเรทภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายในประเทศไทย และภาพยนตร์ทุกเรื่องที่จะเข้าฉายจะต้องถูกจัดเรท เพื่อความเหมาะสมกับกลุ่มอายุผู้ชม 7 เรท คือ ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู ,ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมทั่วไป ,ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 13 ปีขึ้นไป ,ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ,ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป ,ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และ ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย[85] โดยการกำหนดประเภทภาพยนตร์นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552[86]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ประวัติภาพยนตร์ไทย" เว็บไซต์ rimpingfunds.com เก็บถาวร 2007-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "ความรุ่งโรจน์ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุคเบิก เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" เว็บไซต์ thaifilm.com
  3. "ทอง". www.fapot.or.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. Antithawat, Suthakorn. "The Wild Bunch: A Brief Overview Of Thai Action Films". www.fareastfilm.com (ภาษาอิตาลี). สืบค้นเมื่อ 11 February 2023.
  5. "ทอง". www.fapot.or.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. "The Wild Bunch: A Brief Overview Of Thai Action Films". www.fareastfilm.com (ภาษาอิตาลี).
  7. ""ลุงบุญมีระลึกชาติ"ของ"เจ้ย"คว้าปาล์มทองคำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-05-27.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 โดม สุขวงศ์ "หนึ่งศตวรรษภาพยนตร์ในประเทศไทย" เว็บไซต์ thaifilm.com เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. "ประวัติภาพยนตร์ไทย" เว็บไซต์ rimpingfunds.com เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. ประวัติภาพยนตร์ไทย เก็บถาวร 2007-08-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ thainationalfilm.com
  11. ประวัติภาพยนตร์ไทย ตอนที่ 3 เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ rimpingfunds.com
  12. ประวัติภาพยนตร์ไทย ตอนที่ 4เว็บไซต์ rimpingfunds.com เก็บถาวร 2007-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. ประวัติของ พรานบูรพ์ (2) เก็บถาวร 2012-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย คีตา พญาไท 22 มีนาคม 2547 18:39 น.
  14. ประวัติภาพยนตร์ไทย ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เก็บถาวร 2007-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ rimpingfunds.com
  15. ประวัติภาพยนตร์ไทย หน้า 10 เก็บถาวร 2008-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thainationalfilm.com
  16. 16.0 16.1 วิมลรัตน์ อรุณโรจน์สุริยะ, ภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ thaifilm.com
  17. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2513
  18. 18.0 18.1 18.2 อัญชลี ชัยวรพร, หนังไทยกับการสะท้อนภาพสังคม (2516 - 2529) เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. 2 ทศวรรษ (หนัง) การเมือง 'ต้องห้าม'!? เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายวัน 3 มีนาคม 2549 09:03 น.
  20. อนุสรณ์ ศรีแก้ว, ปัญหาสังคมในภาพยนตร์ของม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534
  21. สุทธากร สันติธวัช, หนังไทยในทศวรรษ 2530 - 2540 เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. พันทิวา อ่วมเจิม, 2544 : ปีทองของ “หนังไทย” จากซบเซาสู่รุ่งเรือง เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  23. วิเคราะห์สถานการณ์ภาพยนตร์ไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เว็บไซต์ siamzone.com
  24. พัฒนาการของภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2540-2548 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
  25. "ปรากฏการณ์"ต้มยำกุ้ง"สร้างประวัติศาสตร์ หนังไทยเรื่องแรก ถล่มBOX-OOFICE ฮอลลีวู้ดกระจุย 3 วันครองอันดับ 4 หนังทำเงินสูงสุดกวาดรายได้กว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-11.
  26. หนังไทยโกอินเตอร์ Positioning Magazine สิงหาคม 2548
  27. ""พจน์ อานนท์"เป็นปลื้ม"เพื่อน...กูรักมึงว่ะ"คว้ารางวัล"หนังยอดเยี่ยม"ที่เบลเยี่ยม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-01. สืบค้นเมื่อ 2007-12-09.
  28. ""จีทีเอช" จัดงานฉลองรายได้ "พี่มาก..พระโขนง"10 ล้านคนดู 1000 ล้านรายได้ 10000 ล้านคำขอบคุณอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา แขกร่วมงานมากมาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-29. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  29. Thai Actors thaiworldview.com
  30. "ระเบิดภูเขา...เผากระท่อม..." คำพูดสูตรสำเร็จของคนทำหนังสมัยก่อนเค้าพูดกัน...ประโยคเต็มๆใครพอทราบบ้างครับ? จากพันทิปดอตคอม
  31. ฟรานซิส นันตะสุคนธ์, แรงดัง พลังฮีโร่...โทนี่ จา Positioning Magazine สิงหาคม 2548
  32. อรวรรณ บัณฑิตกุล, "พ่อมด" เบื้องหลังแผ่นฟิล์ม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2546
  33. Killer Tattoo imdb.com
  34. "ปยุต เงากระจ่าง นักวาดการ์ตูนเคลื่อนไหวมือหนึ่งของไทย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-12-12. สืบค้นเมื่อ 2002-12-12.
  35. "ปยุต เงากระจ่าง (นักวาดการ์ตูนเคลื่อนไหวมือหนึ่งของไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-23. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
  36. ข้อมูลเรื่องก้านกล้วย เว็บไซต์ pantip.com
  37. “วิสูตร” ยันเสียงแข็ง “ปีนี้ปีดี จีทีเอช” เตรียมโปรเจกต์ใหม่รับปีหน้า เก็บถาวร 2007-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ siamrath.co.th
  38. คอลัมน์รู้ไปโม้ด มิตร ชัยบัญชา
  39. ศิลปินแห่งชาติ เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ art.culture.go.th
  40. หลากชีวิตในกลิ่นสีและกาวแป้ง เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ tkpark.or.th
  41. จับกระแสหนังไทยไม่เซ็กซ์ ไม่ผี ไม่จี้ ไม่บู๊ - ไม่มีคนดูซะงั้น เก็บถาวร 2005-12-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 8 กันยายน 2548 18:15 น.
  42. Thailand Yearly Box Office www.boxofficemojo.com
  43. ALL-TIME THAILAND BOX OFFICE www.boxofficemojo.com
  44. "ข่าวอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-30. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
  45. ข้อมูลภาพยนตร์บางระจัน เว็บไซต์ pantip.com
  46. ฟิล์มบางกอก เก็บถาวร 2007-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน bectero.com
  47. กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” sanook.com
  48. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตำนานสมเด็จพระนเรศวร thaicinema.org
  49. กลุ่มผู้รักร่วมเพศกับยุคสื่อมวลชนไทยเบ่งบาน กระทู้ในพันทิป.คอม
  50. ฟรานซิส นันตะสุคนธ์, มองผ่านโลกเกย์ยุคใหม่จาก “ภาพยนตร์” Positioning Magazine เมษายน 2548
  51. ปอบ หวีด สยอง (Body Jumper) โดย เดียวดายใต้เงาจันทร์
  52. เผยโฉม“ผู้กำกับ”ผู้ทรงอิทธิพลวงการหนังไทยปี49 เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ daradaily.co.th
  53. ธุรกิจสาระ-บันเทิงปี 50 : ปรับโมเดลธุรกิจ...จับกระแสมือถือ-อินเทอร์เน็ต positioningmag.com
  54. พรไพร เพชรดำเนิน ข้อมูลจาก ลูกทุ่งดอตคอม
  55. รังสี ทัศนพยัคฆ์ ตำนานแห่ง "มนต์รักลูกทุ่ง" และ "แม่นาคพระโขนง" เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deedeejang.com
  56. "ทีเค ปาร์ค ท้าขนหัวลุกกับภาพยนตร์สั้นผี 84 นาที พร้อมอมยิ้มไปกับหนังใหญ่ ไอ้ทุย!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
  57. ข่าววันที่ 25 มิถุนายน 2545 ผู้จัดการออนไลน์
  58. ณัชชา/กิ่งสุรางค์ สกู๊ปประจำฉบับ: เปิดตำนาน "บ้านทรายทอง" กระทบไหล่ พจมาน สว่างวงศ์ เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  59. GTH แฟนฉัน Model เก็บถาวร 2007-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน brandage.com
  60. 60.0 60.1 นิตยสารไบโอสโคป ฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550
  61. เปิดใจจูบแรกของ “พิช” กับผู้ชาย เจ้าตัวย้ำผมไม่ใช่เกย์ เก็บถาวร 2011-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการออนไลน์ 3 ธันวาคม 2550 21:11 น.
  62. ข้อมูลภาพยนตร์เรื่องวัยอลวน 4 เว็บไซต์ Pantip.com
  63. รายการดารามหาชน - คำถามเกี่ยวกับมอสปฏิภาณ ออกอากาศเมื่อ 25 พ.ย.2548
  64. สรุปอันดับภาพยนตร์จากสถิติของสยามโซน.คอม ปี 2549
  65. ""สรพงศ์" ยึดซื่อสัตย์เป็นแนวทาง ปลื้มได้เป็นศิลปินแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-23. สืบค้นเมื่อ 2010-10-10.
  66. รวมหนังไทยแนว Sci-Fi
  67. 13-04-2022 สึนามิ วันโลกสังหาร - วิจารณ์ จากสยามโซน
  68. ภาพยนตร์ : ความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และบริบทศึกษากรณี ฟิล์ม นัวร์ (Film Noir) โดย กฤษดา เกิดดี : วารสารนิเทศศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2541) โดย คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  69. อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล nangdee.com
  70. เจ้ย'เซ็งระบบเผด็จการ' รู้เหตุหนังไทยไม่พัฒนา komchadluek.net
  71. ""ลุงบุญมีระลึกชาติ"ของ"เจ้ย"คว้าปาล์มทองคำ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-25. สืบค้นเมื่อ 2010-05-27.
  72. หนังไทยนอกระบบ กับ ความตื่นตัวของยุคสมัย เก็บถาวร 2008-01-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยธัญสก พันสิทธิวรกุล
  73. เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ sanook.com
  74. ททท.จัดงานบางกอกฟิล์มต้อนรับศักราชใหม่[ลิงก์เสีย] โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 ธันวาคม 2547 18:31 น.
  75. เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่สอง (World Film Festival of Bangkok) เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน thaifilm.com
  76. "วารสารหนัง : ไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 10 (เมษายน-มิถุนายน 2544)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
  77. ประวัติย่อรางวัลหนังไทย เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน deknang.com
  78. งานแถลงข่าว“ศิลปาธร” รางวัลแห่งเกียรติยศ ของผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
  79. 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู ฉายตลอดปี เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิหนังไทย
  80. [1]เก็บถาวร 2012-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 25 หนังไทยขึ้นทะเบียนมรดกชาติ เปิดโรงหนังดูฟรี จากผู้จัดการออนไลน์
  81. "พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-13. สืบค้นเมื่อ 2007-06-26.
  82. 2 ทศวรรษ (หนัง) การเมือง 'ต้องห้าม'!? เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายวัน 3 มีนาคม 2549 09:03 น.
  83. ข่าวที่ 04/02-1[ลิงก์เสีย] สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
  84. รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล ตัด-เบลอ-ดูด-เตือน-เฉือน-ระงับ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sarakadee.com
  85. "พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกาศใช้แล้ว!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-10. สืบค้นเมื่อ 2008-03-26.
  86. เรตติ้งภาพยนตร์บังคับใช้จริง 12 ส.ค.นี้ dailynews.co.th

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]