ไพรวัลย์ ลูกเพชร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไพรวัลย์ ลูกเพชร
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด14 ธันวาคม พ.ศ. 2484
สมนึก นิลเขียว
เสียชีวิต17 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ( 60 ปี)
ร.พ.ชลประทาน ตำบลบางตลาด
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
คู่สมรสวิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณ (หย่า)
พรรณี ลูกเพชร
บุตร3 คน
อาชีพนักร้อง นักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2504 - 2545

ไพรวัลย์ ลูกเพชร (14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2545) นักร้องเพลงลุกทุ่งชาวตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติ[แก้]

เข้าสู่วงการจาการที่พ่อแม่นำไปฝากคณะลิเกเมืองเพชร แต่ใจไม่รัก จึงไปสมัครวงดนตรีบางกอก ช่ะ ช่ะ ช่า ของครูสมพงษ์ วงศ์รักไทย และครูชุติมา สุวรรณรัตน์ เมื่อวงบางกอก ช่ะ ช่ะ ช่า ยุบวงลง ครูได้นำไปฝากกับวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งแต่เพลงและอัดแผ่นเสียงให้ เพลงที่มีชื่อเสียงเช่น คำเตือนของพี่, ดาวบ้านนา, แม่ผักบุ้งบ้านดอน, เสียงจากไพรวัลย์, คำประณาม, สำรวยลืมคำ

ต่อมาไพรวัลย์ ลาออกจากวงดนตรีสุรพล สมบัติเจริญ และตั้งวงดนตรีเอง มีผลงานโด่งดังจากเพลงคู่จากการประพันธ์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เช่น มะนาวไม่มีน้ำ, กีฬารัก, ไม่รู้ไม่ชี้ และได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง และร้องเพลงนำในภาพยนตร์ เช่น มนต์รักลูกทุ่ง, มนต์รักแม่น้ำมูล, ชาติลำชี, เพลงรักบ้านนา

ไพรวัลย์ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2514 จากเพลง "เบ้าหลอมดวงใจ" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2521 จากเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง และได้รับรางวัลพระราชทาน จากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย จากเพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ของครูไพบูลย์ บุตรขัน และเพลง "ไอ้หนุ่มตังเก" ของครูชลธี ธารทอง.

ถูกลอบยิง[แก้]

ราวปี พ.ศ. 2528 ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีข่าวพัวพันกับคดีฆาตกรรมนายอุทัย ถัดหลาย โดยมีชนวนเหตุมาจากการที่นางวรรณา ชูเปีย ผู้กว้างขวางในสถานีขนส่งหมอชิตและเป็นหญิงคนสนิทของไพรวัลย์ ได้ร่วมขบวนการปลอมตั๋ว บขส. แต่ถูกนายอุทัย ที่เป็นช่างเครื่องจับได้ จึงทำการขู่แบล็คเมล์นางวรรณา สร้างความไม่พอใจให้นางวรรณา อย่างมาก หลังจากนั้นนายอุทัย ถัดหลาย ถูกยิงเสียชีวิต โดยนายบุญส่ง สิทธิน้อย มือปืนที่ตกเป็นผู้ต้องหาให้การซัดทอดไพรวัลย์ ลูกเพชร (ในเวลาต่อมาศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องนายบุญส่งในคดีฆาตกรรมนายอุทัย)

หลังเกิดเหตุที่นายอุทัย ถูกยิงเสียชีวิตไม่นาน ขณะที่ไพรวัลย์ ลูกเพชรกำลังขับรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่เพื่อไปทำธุระ โดยมีนางวรรณา ชูเปีย สาวคนสนิทโดยสารไปด้วยได้ถูกคนร้ายลอบยิง ในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด ทำให้นางวรรณา จึงเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ส่วนไพรวัลย์ถูกยิงที่ต้นคอ และถูกนำส่งร.พ.ชลประทาน แม้แพทย์จะสามารถช่วยชีวิตไว้ได้ แต่เนื่องจากประสาทไขสันหลังขาด ทำให้ไพรวัลย์ ลูกเพชรเป็นอัมพาตครึ่งตัว แต่ยังนั่งรถเข็นบันทึกเสียงและตระเวนร้องเพลงบนเวทีต่อไป

ผลงานภาพยนตร์[แก้]

  • ชาติลำชี (2512)
  • มนต์รักลูกทุ่ง (2513)
  • มนต์รักจากใจ (2514)
  • แสนทนง (2515)
  • ไอ้แดง (2516)
  • เพลงรักบ้านนา (2520)
  • ไอ้ขุนเพลง (2523)
  • รักข้ามรั้ว (2525)
  • หล่อลากดิน (2525)
  • เสียงเพลงนักเลงโหด (2525)
  • แผ่นดินเหล็ก (2526)
  • อีแต๋น ไอเลิฟยู (2527)

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ไพรวัลย์ ลูกเพชร มีบุตรชายและบุตรสาวที่เกิดกับวิภารัตน์ เปรื่องสุวรรณภรรยาคนแรก 2 คน คือเลิศชาย และวิรัตน์ตา ลูกเพชร และมีบุตรชายที่เกิดกับนางพรรณี ภรรยาคนสุดท้าย 1 คน คือนายกฤติวุฒิ ลูกเพชร

อ้างอิง[แก้]

  • เจนภพ จบกระบวนวรรณ. เพลงลูกทุ่ง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-83-0
  • ฐานข้อมูลท้องถิ่น จ.เพชรบุรี[ลิงก์เสีย] สมนึก นิลเขียว -- เพชรบุรี