มานี สุมนนัฏ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มานี สุมนนัฎ)
มานี สุมนนัฏ
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม
อำเภอบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์
เสียชีวิต23 มิถุนายน พ.ศ. 2533 (74 ปี)
คู่สมรสสง่า สามโกเศศ
อาชีพนักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2478–2481
สังกัดภาพยนตร์เสียงศรีกรุง

ฉวีวรรณ ดอกไม้งาม หรือ ฉวีวรรณ สามโกเศศ เป็นที่รู้จักในชื่อ มานี สุมนนัฏ (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533) เป็นนักแสดงหญิงชาวไทยสังกัดบริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด มีผลงานแสดงภาพยนตร์และร้องเพลงประกอบ[1] ช่วงปี พ.ศ. 2478–2481 เธอได้รับสมญาว่าเป็น "ดาวจรัสแสงแห่งศรีกรุง" และ "ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย"[2]

ประวัติ[แก้]

มานีเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอบ้านแก่ง จังหวัดนครสวรรค์ มีชื่อจริงแต่แรกเกิดว่าฉวีวรรณ ดอกไม้งาม บิดาเป็นพ่อค้าไม้ เธอมีน้องสาวคนหนึ่งชื่ออนงค์ มารดาของอัญชลี จงคดีกิจ นักร้องและนักแสดงหญิงชาวไทย[3]

ส่วนตัวมานีชอบภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจ มักตามมารดาไปดูภาพยนตร์บ่อย ๆ

มานีสมรสกับสง่า สามโกเศศ และมิได้กลับหวนคืนสู่วงการอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคชราอย่างสงบ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ขณะอายุ 74 ปี[4]

การทำงาน[แก้]

พ.ศ. 2477 เธอได้พบกับหลวงภรตกรรมโกศล (มงคล สุมนนัฏ) ผู้เป็นทั้งนักแสดงในเรื่องและเป็นผู้นำหนังเรื่อง ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ มาเร่ฉายที่ปากน้ำโพ ได้ชักชวนเธอเข้ามาสู่วงการ โดยฝากกับมานิต วสุวัต ผู้อำนวยการบริษัทศรีกรุง ใช้ชื่อว่า "มานี สุมนนัฏ"

ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก พญาน้อยชมตลาด ของศรีกรุง ออกฉายในปี พ.ศ. 2478 ได้รับคำวิจารณ์ชื่นชมความสามารถจากหนังสือพิมพ์อิสสระ ฉบับเดือนตุลาคมว่า "....มานีได้ถึงแล้วซึ่งการเป็นที่พอใจของเวทีภาพยนตร์ เธอแสดงความองอาจอย่างที่จะหาความองอาจจากหญิงไทยได้ยาก บทปลูกเสน่หายาใจที่เธอจะพึงแสดงตามบทนั้น แม่หญิงสาวของเราคนนี้ได้สละทุกอย่างเพื่อวางสภาพความจริงให้คงไว้และเป็นไปตามหลักฐานภาพยนตร์ที่ดี" ด้วยเหตุนี้มานีจึงเป็นนักแสดงระดับดาราคนแรกของประเทศไทย[5]

จำรัส สุวคนธ์ และมานี สุมนนัฎ ดาราคู่แรกของไทย

จากความตั้งใจในการแสดง ทำให้เธอเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทจากภาพยนตร์เรื่อง เมืองแม่หม้าย จนได้ฉายาว่า "ดาวจรัสแสงแห่งศรีกรุง" และรับสิทธิพิเศษในการนั่งเก้าอี้พิเศษแบบฮอลลิวูดที่จะมอบแด่ผู้กำกับชั้นนำของโรงถ่าย[1] หลังจากนั้นได้แสดงคู่กับจำรัส สุวคนธ์ ครั้งแรกในภาพยนตร์รักตลก กลัวเมีย ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2479 ทุกเรื่องล้วนทำรายได้ดีและสร้างชื่อเสียงแก่นักแสดงอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องหลังสุด

ตั้งแต่นั้นมาชื่อ "มานี-จำรัส" ได้รับการจารึกในฐานะดาราคู่ขวัญคู่แรกของวงการภาพยนตร์ไทย บทบาทการแสดงโด่งดังถึงจุดสูงสุดเมื่อได้แสดงร่วมกันในภาพยนตร์เพลง "ระดับซูเปอร์" ที่ใช้ทุนสูงกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพลงหวานใจ ออกฉายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2480 ซึ่งประสบความสำเร็จมากอีกเช่นเคย และนับเป็นครั้งแรกในภาพยนตร์ไทยที่นางเอกชั้นนำใส่ชุดทูพีชชิ้นน้อยนิดซึ่งเป็นแฟชั่นใหม่ล่าสุดเข้าฉากถ่ายทำ[6] เธอเคยกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไว้ว่า "ดิฉันนึกในใจว่า ถ้าเราแสดงไม่ดี ผู้กำกับก็ต้องลอยคออยู่ในน้ำอาจถึง 2–3 ชั่วโมงก็ได้"[1]

จากชื่อเสียงของมานี-จำรัส พวกเขาได้กลายเป็นผู้นำการแต่งกายที่ล้ำยุคของประชาชนยุคนั้น กล่าวคือบุรุษจะหวีผมแสกกลางเรียบแปล้ ไว้หนวดเรียวริมฝีปากอย่างนักแสดงฮอลลิวูด ส่วนสตรีจะเขียนคิ้วโก่ง ไว้ผมทรงชิงเกิล ใส่เสื้อเอวจัมพ์ และสวมชุดว่ายน้ำอวดขาอ่อนตามอย่างนักแสดง[7]

ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย แสดงคู่กับจำรัส สุวคนธ์

ในที่สุด มานีได้ตัดสินใจเลือกยุติชีวิตการแสดงไว้กับภาพยนตร์รักตลกเรื่อง หลอกเมีย คู่กับจำรัส สุวคนธ์เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนสมรสกับสง่า สามโกเศศแล้วออกจากวงการบันเทิงไป

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

จากผลงานการแสดงภาพยนตร์เรื่อง เพลงหวานใจ กับจำรัส สุวคนธ์ ซึ่งเป็นดาราคู่ขวัญและกลายเป็นภาพจำ ด้วยเหตุนี้โรงภาพยนตร์ศรีศาลายาจึงได้มีการก่อสร้างสระประติมากรรม โดยจำลองมาจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์ดังกล่าว ที่เรืออากาศเอกของไทย (จำรัส สุวคนธ์) ผู้ขับเครื่องตกในประเทศสมมติชื่อซานคอซซาร์ แล้วพบกับพระราชินี (มานี สุมนนัฏ) ที่กำลังสรงน้ำอยู่ริมห้วย ด้วยเหตุนี้สระประติมากรรมนั้นจึงสร้างให้เป็นรูปปั้นสตรีแช่อยู่ในสระน้ำ[2]

และในวาระครบ 100 ปีชาตกาลเมื่อปี พ.ศ. 2558 ไปรษณีย์ไทยจึงได้จัดทำดวงตราไปรษณียากรชุดพิเศษ "100 ปี มานี สุมนนัฏ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย" แก่หอภาพยนตร์ โดยมีทั้งหมดสี่ดวงที่นำเสนอภาพยนตร์ที่มานีแสดงไว้[8]

ผลงาน[แก้]

ภาพยนตร์
ปี เรื่อง บทบาท
2478 พญาน้อยชมตลาด เม้ยเจิง
เมืองแม่หม้าย นางพญาแห่งเมืองลับแล
2479 กลัวเมีย ภรรยา
2480 เพลงหวานใจ ราชินีแห่งซานคอซซาร์
2481 หลอกเมีย ลาวรรณ
เพลงประกอบ
ปี ชื่อ
2478 "มอญกล่อมวัง"
(ประกอบภาพยนตร์เรื่อง พญาน้อยชมตลาด)
"บวงสรวง"
(ประกอบภาพยนตร์เรื่อง เมืองแม่หม้าย)
2479 "ใจสนองใจ"
(ประกอบภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย)
"ชื่นชีวิต"
(ประกอบภาพยนตร์เรื่อง กลัวเมีย)

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 ""ปุ๊ อัญชลี" ประทับรอยมือลานดารา หอภาพยนตร์-ร่วมรำลึก 100 ปี "มานี สุมนนัฏ"". ไทยพีบีเอส. 1 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.
  2. 2.0 2.1 "100 ปี ชาตกาล 3 บุคคลเด่นและดัง ในปี 2558". ผู้จัดการออนไลน์. 8 ธันวาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2023.
  3. ""ปุ๊" ปลื้มประทับมือเคียงข้างคุณป้า เผยเคล็ด 60 ยังแจ๋ว ที่ฟิตไปทั้งตัว". ไทยรัฐออนไลน์. 25 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.
  4. "มานี สุมนนัฎ (ดาวจรัสแสง แห่งศรีกรุง)". thaifilm.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010.
  5. "หอภาพยนตร์จัด ๑๐๐ ปี มานี สุมนนัฏ ดาราดวงแรกแห่งโลกภาพยนตร์ไทย". หอภาพยนตร์ (องค์กรมหาชน). สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016.
  6. ภาพนิ่งฉากเพลงในห้วยเรื่อง เพลงหวานใจ, หลักหนังไทย. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). 2555. หน้า 258. ISBN 978-616-543-150-7.
  7. "ศิลปะการแสดง". ลักษณะไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016.
  8. "100 ปี มานี สุมนนัฏ". แสตมป์ที่ฉันรัก. ข่าวสดรายวัน. 6 ธันวาคม 2015. p. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2016.