สตรีในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พยาบาลในประเทศไทย

บทบาทของสตรีในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากและพบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น[1] โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในทวีปเอเชียที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2475[2][3] อย่างไรก็ดี บทบาทด้านการพัฒนาชาติยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยในการเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่เพียงพอและจากทัศนคติของสังคม[4] อย่างไรก็ดีพวกเธอก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคมในภาพรวมมากกว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[ต้องการอ้างอิง]

การศาสนา[แก้]

ศาสนาพุทธ

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้บวชเป็นภิกษุณี (เถรวาท) หลายรูป โดยบวชมาจากคณะภิกษุณีสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เช่น ภิกษุณีธัมมนันทา ซึ่งมีสำนักภิกษุณีเป็นเอกเทศคือทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม​ แต่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์เพราะ​เคยมีประเด็นถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่งว่าปัจจุบันนี้สามารถบวชภิกษุณีได้หรือไม่ มีข้อสรุปจากทางพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ก็ต่อเมื่อบวชต่อสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือต้องบวชทั้งฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นการลงญัตติจตุตถกรรมวาจาทั้งสองฝ่าย จึงจะสามารถเป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นในเมื่อภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทำการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้ การที่มีข้ออ้างว่าสายมหายานสืบสายวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ไปก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการสืบสายทางมหายานมีข้อวินัยและการทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่ไม่ถูกต้องกับพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท

การเมือง[แก้]

ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้แก่ การกีดขวางทางโครงสร้าง อุปสรรคทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีคุณวุฒิ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า[4][5] วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492 อรพินท์ ไชยกาล (ภรรยาเลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรีและสมาชิสภาผู้แทนราษฎร) เป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร[2]ในรัฐสภาไทย[3] ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี[6] ซึ่ง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ วิมลศิริ ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นสตรีไทยสองคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะล่วงมาถึงพุทธทศวรรษ 2540 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหญิงยังมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด[7] โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารของไทย

อย่างไรก็ดี สตรีในประเทศไทย (หรือสยาม) มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 2475 และมีสิทธิเลือกตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2440 ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีตามหลังประเทศนิวซีแลนด์[8]

งานราชการ[แก้]

ธุรกิจ[แก้]

ในแวดวงการประกอบการ ประชากรผู้หญิงไทยคิดเป็นแรงงาน 47% ของทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนผู้หญิงทำงานที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยยังเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องค่าจ้างเนื่องจากผู้หญิง "กระจุกตัวอยู่ในงานรายได้ต่ำ"[4][5] ในด้านสวัสดิการหญิง ผู้หญิงไทยบางคนยังมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการถูกสามีข่มขืน การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และรูปแบบอื่นของความรุนแรงในครัวเรือนและอาชญากรรมทางเพศ[4][5]

การสมรส[แก้]

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้หญิงไทยเฉลี่ยแล้วสมรสโดยมีอายุน้อยกว่าชาย และครัวเรือน 24% ที่ระบุว่าหญิงเป็น "หัวหน้าครอบครัว"[4] ในปี พ.ศ. 2550 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า หลังสงครามเวียดนาม ประเทศไทยได้กลายมาเป็นจุดหมายของ "แหล่งพักผ่อนและสันทนาการ" และ "การท่องเที่ยวทางเพศ" สำหรับชายต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้มีการแต่งงานกับหญิงไทย ในหมู่ชายต่างประเทศที่มาแต่งงานเหล่านี้เป็นชายจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งแสวงหาคู่และการปลดภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกษียณ ขณะที่หญิงไทยแต่งงานกับชายต่างประเทศเพื่อชดใช้ชีวิตที่ผ่านมาที่เคยเป็นโสเภณี จากการถูกทิ้งโดยอดีตคนรัก และเป็นทางหนีจาก "ความยากจนและความไม่มีความสุข" แต่ไม่ใช่หญิงไทยทุกคนที่แต่งงานกับชายต่างประเทศจะเคยเป็นโสเภณีมาก่อน[9]

บทบาทและสถานภาพของสตรีในประวัติศาสตร์[แก้]

ภาพวาดวีรกรรมสมเด็จพระศรีสุริโยทัย (โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์)

สังคมไทยในอดีตเป็นแบบ "ผัวเดียวหลายเมีย" หมายความว่า ชายมีสถานะเหนือหญิงในทุกด้าน[7] ในสมัยสุโขทัย ตำหนิชายที่มีชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ไม่ห้ามชายมีภรรยาหลายคน ต่อมา ในสมัยอยุธยา กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1904 ยังได้แบ่งภรรยาออกเป็น 3 ประเภท และชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ ทั้งยังมีภาษิตที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน"[10] ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าไม่ยุติธรรม ให้ยกเสีย เนื่องจากกรณีถวายฎีกาของอำแดงเหมือน จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงมีกฎหมายให้ชายมีภรรยาได้เพียงคนเดียว[7]

โสเภณีในประวัติศาสตร์มีมาแต่สมัยใดไม่ทราบได้ แต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการตั้งโรงหญิงนครโสเภณีเป็นการผูกขาด และเก็บอากรโสเภณี อยู่ในย่านที่เรียกว่า "สำเพ็ง" (ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เรียกย่านโสเภณีว่าสำเพ็งเหมือนกัน) ในสมัยรัชกาลที่ 4 อากรโรงโสเภณีเก็บได้ปีละ 50,000 บาท ในสมัยนั้นมีหญิงลักลอบค้าประเวณีกันทำให้อาณาจักรขาดรายได้ จึงออกประกาศ "ห้ามอย่าให้ไทย มอญ ลาว ลักลอบไปซ่องเสพเมถุนธรรมด้วย แขก ฝรั่ง อังกฤษ คุลา มลายู" หากจับได้มีโทษประหารชีวิต บรรดาญาติพี่น้องก็ถูกลงโทษหนักเบาด้วยเพราะไม่ตักเตือน[11]: 213–4 

สำหรับบทบาทด้านการเมือง สตรีสมัยอยุธยามีบทบาททางการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งพงศาวดารอยุธยาเน้นว่าการเข้าสู่อำนาจของหญิงนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและความยุ่งยาก ดังเช่นกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์[7] ในกฎหมายอยุธยา หญิงเป็นสมบัติของชายเสมอ เริ่มจากเป็นสมบัติของบิดา แล้วเป็นสมบัติของสามี และเป็นสมบัติของเจ้าของ (กรณีตกเป็นทาส) นอกจากนี้ ยังมีตำนานว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและท้าวสุรนารีเป็นวีรสตรีผู้สร้างวีรกรรมในประวัติศาสตร์

หญิงเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหญิงได้เป็นกำนันตลาดหรือนายอากรตลาดในรัชกาลที่ 2 มีผลงานสร้างสรรค์บทกวี และบางคนได้เรียนหนังสือ[7] พระราชบัญญัติเรื่อง "ผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร พ.ศ. 2410" ห้ามไม่ให้สามีขายภรรยาหากภรรยาไม่ยินยอม หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องสิทธิสตรีขึ้น มีหนังสือพิมพ์สตรีเกิดขึ้นหลายฉบับ[7]

สถานภาพของหญิงในสังคมดีขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกได้ให้สิทธิแก่ชายและหญิงในการเลือกตั้ง หญิงได้รับเลือกเป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478[7] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513[12] จำนวนสตรีในประเทศไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติมีมากขึ้นเนื่องจากสตรีในประเทศไทยมีความต้องการได้สัญชาติของคนต่างชาติ

พ.ศ. 2525 มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้หญิงเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้

สตรีมีบทบาทในทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยอัตราการมีงานทำของสตรีอยู่ที่ร้อยละ 44.1 ใน พ.ศ. 2547 ทำงานในภาคเกษตรกรรมสูงสุด (ร้อยละ 40.4) ตามมาด้วยภาคบริการและอุตสาหกรรม (ร้อยละ 40.2 และ 19.5 ตามลำดับ)[13] สถิติสตรีเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง และประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น และช่วยเศรษฐกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างลดลง[13] สตรีมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงกว่าชาย สตรียังมีสถิติทำงานในแวดวงราชการสูงกว่าชายโดยอยู่ที่ร้อยละ 60.1[13]

อ้างอิง[แก้]

  1. 100 ปี วันสตรีสากล news.sanook.com
  2. 2.0 2.1 Sopchokchai, Orapin. Female Members of Parliament, Women's Political Participation at the National Level, Women's Political Participation in Thailand, TDRI Quarterly Review, Vol. 13, No. 4, December 1998, pp. 11-20
  3. 3.0 3.1 Iwanaga, Kazuki. Women in Politics in Thailand, Working Paper No. 14, Centre for East and South-East Asian Studies, Lund University, Sweden, 2005
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Key Figures เก็บถาวร 2016-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Gender Statistics, Social Statitsics Division, National Statistical Office, Bangkok.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Women's rights situation in Thailand" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-03-28. สืบค้นเมื่อ 2011-05-15.
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน 17 ราย)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. บทบาทและสถานภาพของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 27-8-2554.
  8. Bowie, Katherine (undefined NaN). "Women's Suffrage in Thailand: A Southeast Asian Historiographical Challenge". Comparative Studies in Society and History. 52 (4): 708–741. doi:10.1017/S0010417510000435. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. Bernstein, Richard. Variations on a theme: Thai women and foreign husbands, Letter from Thailand, Asia-Pacific, The New York Times, August 12, 2007
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-11. สืบค้นเมื่อ 2013-10-05.
  11. จิตร ภูมิศักดิ์. (2550). โฉมหน้าศักดินาไทย, กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 9, ISBN 9789748075242. (สาธารณสมบัติ)
  12. มองทะลุม่านมายาคติ “หญิงไทยกับสามีฝรั่ง” : เมื่อสิ่งที่เห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น
  13. 13.0 13.1 13.2 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (พฤศจิกายน 2548). บทบาทการทำงานของสตรีไทย. สืบค้น 27-8-2554.

ดูเพิ่ม[แก้]

บทอ่านเพิ่ม[แก้]