แสงศตวรรษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แสงศตวรรษ
ภาพใบปิดภาพยนตร์
กำกับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
เขียนบทอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
อำนวยการสร้างอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์
ชาร์ลส์ เดอ โมซ์
นักแสดงนำนันทรัตน์ สวัสดิกุล
จารุชัย เอี่ยมอร่าม
โสภณ ภู่กนก
อาคเนย์ เชื้อขำ
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี
นุติ์ นิ่มสมบุญ
กำกับภาพสยมภู มุกดีพร้อม
ตัดต่อลี ชาตะเมธีกุล
วันฉาย19 เมษายน พ.ศ. 2550 (งดฉาย)
ความยาว105 นาที
ภาษาไทย
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

แสงศตวรรษ (อังกฤษ: Syndromes and a Century) เป็นภาพยนตร์ไทย กำกับโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นหนึ่งในชุดผลงานของผู้กำกับ 6 คนจากทั่วโลก ร่วมกับผู้กำกับจากปารากวัย อิหร่าน ชาด ไต้หวัน และอินโดนีเซีย ที่ได้รับเชิญให้ร่วมผลิตภาพยนตร์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล “นิว คราวน์ โฮป” ในโอกาสเฉลิมฉลอง 250 ปีชาตกาลของ โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท คีตกวีชาวออสเตรีย[1] เมื่อ พ.ศ. 2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากทางการกรุงเวียนนา และออกฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส

ภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษ ได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม จากงานเอเชียน ฟิล์มส์ อวอร์ดส์ ที่ฮ่องกง และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Lotus du Meuilleur Film-Grand Prix ในงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียโดวิลล์ ครั้งที่ 9 ประเทศฝรั่งเศส[2]

การเซ็นเซอร์ในประเทศไทย[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีกำหนดฉายในประเทศไทย ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2550 แบบจำกัดโรง จำนวน 2 โรง แต่ภาพยนตร์ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน และ 10 เมษายน พ.ศ. 2550 โดยมีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออกไป 4 ฉาก ซึ่งทางคณะกรรมการชี้ว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ จึงจะอนุญาตให้ฉายได้ ซึ่งอภิชาติพงศ์ ได้ตัดสินใจที่ไม่ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย

ฉากที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์คือ 1) ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ 2) ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ 3) ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ก่อนจะต้องจากกันเมื่อฝ่ายหญิงต้องย้ายไปทำงานต่างจังหวัด และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง (ในกางเกง) และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน

ทีมงานได้ติดต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อขอรับฟิล์มภาพยนตร์คืนเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ให้ โดยชี้แจงว่า จะคืนให้ก็ต่อเมื่อได้นำฟิล์มไปทำการตัดฉากทั้ง 4 ฉากทิ้งออกเสียก่อน ด้วยเหตุผลว่า หากส่งฟิล์มในสภาพสมบูรณ์คืนแก่ทีมงาน ทางทีมงานอาจถือโอกาสนำกลับมาตัดเองแล้วส่งเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์อีกครั้ง อันจะทำให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาฯ มีความผิดในการปฏิบัติงานทันที [3]

หลังจากเหตุการณ์ไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ อย่างกว้างขวาง ทั้งทางสื่อมวลชน และสังคมอินเทอร์เน็ต[4][5] และผู้ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว นำโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นิตยสารไบโอสโคป มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ และกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเซ็นเซอร์ และระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทย โดยเปิดให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์[6]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 มีประกาศว่าผู้กำกับภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์นี้เข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถูกสั่งให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก โดยอภิชาติพงษ์ใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัด เพื่อแสดงถึงการโดนบังคับตัดออก โดยเข้าฉายที่พารากอนซีนีเพล็กซ์ในวันที่ 10 เมษายน[7]

นักแสดง[แก้]

  • นันทรัตน์ สวัสดิกุล รับบท หมอเตย
  • จารุชัย เอี่ยมอร่าม รับบท หมอหน่อง
  • โสภณ ภู่กนก รับบท หนุ่ม นักเพาะกล้วยไม้
  • อาคเนย์ เชื้อขำ รับบท เปิ้ล หมอฟัน
  • ศักดิ์ดา แก้วบัวดี รับบท พระศักดา
  • นุติ์ นิ่มสมบุญ รับบท โต๋
  • จารุณี แสงทับทิม รับบท จอย แฟนสาวของหมอหน่อง

เรื่องย่อ[แก้]

ภาพยนตร์กล่าวถึง ชีวิตของแพทย์หญิง ในโรงพยาบาลเล็กๆ ในต่างจังหวัด ที่มีความทรงจำที่ดีต่อผู้ป่วยและความรัก และชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่ม ในโรงพยาบาลทันสมัยในเมือง กับผู้ป่วยพิการและคู่รักของเขาที่กำลังจะจากไป โดยได้อิทธิพลมาจากชีวิตจริงของพ่อและแม่ของผู้กำกับ ซึ่งเป็นแพทย์ทั้งคู่

การตอบรับ[แก้]

ในนิตยสาร ฟิล์มแมกซ์ มีนักวิจารณ์ร่วมให้ดาว "แสงศตวรรษ" 7 คน รวม 25.5 ดาว เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 3.64 ดาว (จากคะแนนเต็ม 4 ดาว) โดยนักวิจารณ์ชื่อดังอย่าง มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ และ ก้อง ฤทธิ์ดี ให้คะแนนเต็ม 4 ดาว ขณะที่คนอื่นๆ ไม่มีใครให้ต่ำกว่า 3 ดาวครึ่ง [8]

อ้างอิง[แก้]

  1. แสงศตวรรษ: การไหลเวียนของเรื่องเล่า, โอเพ่นออนไลน์, 30 มีนาคม พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  2. "เจ้ย" ไม่หั่น "แสงศตวรรษ" กองเซ็นเซอร์เล่นแง่ ไม่ตัดไม่คืนฟิล์ม เก็บถาวร 2007-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์, 11 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  3. งดฉาย แสงศตวรรษ เก็บถาวร 2007-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บล็อกของภาพยนตร์แสงศตวรรษ, 10 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  4. ประกาศ งดฉายแสงศตวรรษ...และรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บบอร์ด ไบโอสโคป, 10 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  5. ขอเชิญร่วมลงชื่อและแสดงความคิดเห็นที่ท่านมีต่อระบบการเซ็นเซอร์ไทย โดยมีภาพยนตร์เรื่องแสงศตวรรษเป็นกรณีศึกษา เก็บถาวร 2007-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บบอร์ด เว็บไซต์มูลนิธิหนังไทย, 11 เมษายน พ.ศ. 2550, เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2550
  6. Free Thai Cinema Movement
  7. เจ้ย​ ​ตัดสินใจยอมฉาย​ ​แสงศตวรรษ​ ​ฉบับ​เซ็นเซอร์ เก็บถาวร 2008-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน มูลนิธิหนังไทย 29 มีนาคม 2551. เรียกข้อมูล 7 เมษายน 2551
  8. คอลัมน์วิจารณ์ นิตยสารฟิล์มแมกซ์ เดือนธันวาคม 2550 หน้า 57

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • เว็บไซต์ทางการ เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • เว็บไซต์ทางการ (ภาษาไทย) เก็บถาวร 2007-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Free Thai Cinema Movement การเข้าชื่อเรียกร้องให้ทบทวนระบบการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย
  • รายงานความเคลื่อนไหวของแสงศตวรรษ
  • Syndromes and a Century (2006) ที่สยามโซน
  • Hunt, Matthew (2020). Thai Cinema Uncensored. Chiang Mai: Silkworm Books. ISBN 9786162151699.